ภาษาและวรรณกรรม
ตำนาน
ตำนานพระพุทธบาท
ตามความในปุณโณวาทสูตรมีว่า เมื่อครั้งพุทธกาลที่หมู่บ้านสุนาปรันตบะ มีชายสองคนพี่น้อง
ผู้พี่ชื่อมหาบุญ
ผู้น้องชื่อจุลบุญ
ทั้งสองคนได้ผลัดเปลี่ยนกันออกไปค้าขายนอกบ้าน วันหนึ่งมหาบุญได้นำกองเกวียนจำนวน
๕๐๐ เล่ม บรรทุกสินค้าออกไปเร่ขายยังเมืองต่าง ๆ จนไปถึงเมืองสาวัตถี เช้าวันหนึ่งมหาบุญเห็นชาวเมืองต่างพากันถือเครื่องสักการะมุ่งไปสู่วัดพระเชตุวัน
พื่อฟังพระธรรมเทศนาจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มหาบุญทราบว่า บัดนี้พระรัตนตรัยคือ
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก ก็เกิดความปิติยินดียิ่งนัก
จึงได้เดินทางไปร่วมฟังธรรมด้วยความเลื่อมใส เมื่อฟังธรรมจบ มหาบุญก็กราบทูลอาราธนาต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และคณะสงฆ์ไปรับฉันภัตตาหารยังที่พักหมู่เกวียนของตน
เช้าวันต่อมา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยคณะสงฆ์ ได้ไปรับบิณฑบาตที่กองเกวียนของมหาบุญ
มหาบุญเกิดศรัทธาเลื่อมใสเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงตัดสินใจมอบกองเกวียนให้อยู่ในความควบคุมดูแลของนายบาญชี
แล้วสั่งให้นายบาญชี กลับไปบอกจุลบุญว่า ตนจะบวชเป็นภิกษุในสำนักสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อมหาบุญบวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เช้าวันหนึ่ง พระภิกษุมหาบุญ
ได้เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านสุนาปรันตปะ จุลบุญเห็นเข้าก็จำได้ จึงได้นิมนต์ให้ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน
และนิมนต์ให้จำพรรษาในถิ่นนั้น ขณะนั้นเป็นฤดูฝน จุลบุญ ไปค้าขายทางบกไม่ได้
จึงได้เตรียมเรือจะออกไปค้าขายทางทะเล วันที่จะออกเดินเรือ จุลบุญได้นิมนต์พระภิกษุมหาบุญให้ไปฉันภัตตาหารในเรือของตน
จุลบุญได้สมาทานศีลห้า และกล่าวคำขอร้องต่อพระภิกษุมหาบุญว่า หากในระหว่างที่เดินเรือ
ถ้ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นก็ขอให้พระภิกษุมหาบุญไปช่วยเหลือด้วย พระภิกษุมหาบุญก็รับคำ
เมื่อเรือของจุลบุญออกทะเลไปได้เจ็ดวัน เสบียงบนเรือก็หมดลงจึงได้แวะไปจอดเรือที่เกาะแห่งหนึ่ง
พบว่าบนเกาะมีไม้จันทน์แดงอยู่มาก จึงเอาสินค้าบนเรือทิ้ง และช่วยกันตัดไม้จันทน์แดงขนใส่เรือแทน
เพื่อนำไปขาย บรรดาปีศาจและยักษ์ที่อยู่บนเกาะนั้นพากันโกรธ พอเรือออกสู่ทะเลจึงบันดาลให้เกิดพายุพัดกระหน่ำเรือจนเกือบจมลง
จุลบุญจึงได้ระลึกถึงพระภิกษุมหาบุญให้มาช่วยเหลือ พระภิกษุมหาบุญทราบด้วยทิพยจักษุ
จึงได้มาช่วยเหลือให้เรือพ้นจากอำนาจของพวกปีศาจและยักษ์ จนคณะของจุลบุญกลับสู่ถิ่นเดิมได้อย่างปลอดภัย
พวกลูกเรือเมื่อทราบว่าพวกตนพ้นอันตรายมาได้เพราะบารมีของพระภิกษุมหาบุญ ก็สำนึกในพระคุณ
จึงได้นำไม้จันทน์แดงไปถวาย แต่พระภิกษุมหาบุญไม่ยอมรับไม้นั้น พระภิกษุมหาบุญปรารถนาจะสงเคราะห์คนเหล่านี้
จึงไปกราบทูลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปโปรด พวกของจุลบุญดีใจมาก
เมื่อทราบว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จมาแสดงธรรมแก่พวกตน จึงพากันนำไม้จันทน์แดงไปสร้างเป็นมณฑป
๕๐๐ หลัง เพื่อคอยรับเสด็จสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับคณะสงฆ์
ในบริเวณที่ไม่ไกลจากบ้านสุนาปรันตปะ มีดาบสตนหนึ่งชื่อสัจจพันธดาบส อาศัยอยู่บนภูเขาสัจจพันธคีรี
ชาวบ้านในถิ่นนั้นเคารพนับถือมาก สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระประสงค์จะสงเคราะห์ดาบสตนนี้ด้วย
จึงสั่งให้พระอานนท์เตรียมพระภิกษุ ๔๙๙ รูป เพื่อไปโปรดสัจจพันธดาบส และชาวบ้านสุนาปรันตปะในวันเดียวกัน
พระอินทร์ได้ทราบเรื่องนี้จึงสั่งให้พระวิษณุกรรมเนรมิตบุษบก ๕๐๐ หลัง นำไปประดิษฐานที่ใกล้ประตูวัดพระเชตวัน
พอรุ่งเช้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยหมู่สงฆ์ก็ประทับบุษบกลอยมาทางอากาศไปยังสัจจพันธคีรี
ทรงแสดงธรรมโปรดสัจจพันธดาบสให้ตั้งอยู่ในมรรคผล และให้บรรพชา จากนั้นก็พาคณะสงฆ์พร้อมด้วยสัจจพันธดาบส ไปยังหมู่บ้านสุนาปรันตปะ รับบิณฑบาตที่นั่น และทรงแสดงธรรมโปรดชาวบ้าน แล้วตรัสสั่งให้พระสัจจพันธดาบสอยู่ที่สัจจพันธคีรี
เพื่อสงเคราะห์ประชาชนในถิ่นนั้น พระสัจจพันธดาบสน้อมรับพระพุทธฎีกาและได้กราบทูลขอเจดียสถานไว้เป็นที่สักการะ
พระบรมศาสดาก็ทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นั้นแล้วเสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร
กาลต่อมาได้มีการพบรอยพระพุทธบาทในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้า
ทรงธรรมในสมัยอยุธยา
ตำนานพระพุทธฉาย
เมื่อครั้งพุทธกาลมีพราหมณ์ผู้หนี่งมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ขอบรรพชาอุปสมบท
แล้วได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม กับพระโมคคัลลานะที่ฆาฏบรรพต (ภูเขาพระพุทธฉายปัจจุบัน)
จนบรรลุพระอรหันต์ แล้วได้กลับมาอยู่ที่เดิม พระโมคคัลลานะ ได้กราบทูลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
ที่ภูเขาฆาฏกบรรพตนั้นมีพรานผู้หนึ่งชื่อ ว่าฆาฏกพราน เป็นผู้มีจิตใจมุทะลุ
ควรที่พระองค์จะเสด็จไปโปรดเป็นอย่างยิ่ง
พระบรมศาสดาจึงได้เสด็จมาทางอากาศมาขอพักกับพรานฆาฏกะ พรานก็บอกว่าให้ขึ้นไปพักที่หน้าผาบนภูเขา
ตลอดคืนนั้นฝนตกหนัก รุ่งเช้าพรานจึงได้ขึ้นไปดูว่าพระบรมศาสดาจะประทับอยู่อย่างไร
ก็ปรากฏเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า พระพุทธองค์ไม่ทรงเปียกฝนแต่อย่างใด เพราะเชิงผาได้ชะโงกออกมาบังฝนให้
พรานเกิดความเลื่อมใสศรัทธา พระพุทธองค์ได้แสดงธรรมโปรดพรานให้เลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตผู้อื่น
พรานก็น้อมรับคำสั่งสอนมาประพฤติปฏิบัติ เมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จกลับ พรานฆาฏกะก็ทูลขอเจดียสถานไว้เป็นที่ระลึก
พระพุทธองค์จึงทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้พระฉายา (เงา) ของพระองค์ติดที่หน้าผานั้นเพื่อไว้ให้เป็นที่เคารพสักการะสืบต่อไป
พระพุทธฉายจึงมีปรากฏอยู่ที่เขาลมหรือเขาปัถวีหรือเขาฆาฏกะที่วัดพระพุทธฉาย
ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง
ตำนานบ้านดงเมือง
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าบ้านดงเมืองซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านดงหวาย ตำบลบัวลอย
อำเภอหนองแค ในอดีตเป็นเมืองใหญ่ มีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีลำน้ำไหลผ่านระหว่างหมู่บ้านต่าง
ๆ เหนือสุดถึงบ้านหนองโน ลงมาทางใต้ผ่านบ้านดงเมือง บ้านอู่ตะเภา บ้านหนองแซงใหญ่
บ้านโคกกลาง บ้านโคกขึ้เหล็ก บ้านกระทงลอย ไปถึงเขตอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แต่ปัจจุบันลำน้ำดังกล่าวตื้นเขินหมดแล้ว เมืองใหญ่ดังกล่าวไม่ทราบชื่อเมืองเดิม
แต่ชาวบ้านเรียกว่า เมืองลับแล ต่อมาเมืองนี้ถูกข้าศึกรุกราน ผู้คนพากันอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น เมืองก็กลายเป็นเมืองร้าง ต่อมาผู้คนจากบ้านท่าช้าง
และบ้านสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ได้อพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณนี้ ได้ขุดพบหลักฐานเมืองเก่า
เช่น ซากเจดีย์ รากฐานของอาคาร เศษกระเบื้อง ถ้วย ชาม หม้อ รวมทั้งลูกปัดหินสีต่าง
ๆ เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ในพื้นที่กว้างประมาณ ๑๕๐ ไร่
ตำนานบ้านอู่ตะเภา
บ้านอู่ตะเภาหรือบ้านตลาดอู่ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าหากผู้ใดถูกตะขาบกัด
ต้องหามันปูมาทาก็จะหาย อาการปวดบวมจากพิษตะขาบ ด้วยเหตุนี้พวกปูจึงโกรธตะขาบมาก
ที่เป็นต้นเหตุให้พวกปูต้องตาย ดังนั้นเมื่อปูเจอตะขาบก็จะตรงเข้าทำร้ายตะขาบเสมอ
มีเรื่องเล่าว่ามีพ่อค้าสองสหายชื่อหูดแสนเปา และท้าวแสนปม ได้นำอัญมณีและของใช้นานาชนิดบรรทุกเรือสำเภามาค้าขาย
พอเรือมาถึงถิ่นนี้พวกปูที่อยู่ในน้ำเห็นใบพายของพลเรือ เข้าใจว่าเป็นขาของตะขาบ
จึงช่วยกันเอาก้านหนีบใบพายและดึงจนเรือสำเภาจมลง หูดแสนเปาและท้าวแสนปม ก็จมน้ำตายด้วย
เวลาผ่านพ้นไปนาน แม่น้ำสายนี้เกิดตื้นเขินขึ้นมาตามลำดับ เสากระโดงเรือสำเภาก็ปรากฎขึ้น เหนือพื้นดินอยู่ทางใต้ของอุโบสถวัดตะเภา ในปัจจุบันเคยมีผู้พบแก้วแหววนเงินทองลูกปัดและเครื่องใช้ต่าง
ๆ จมดินอยู่ บางครั้งวันดีคืนดีชาวบ้านจะได้ยินเสียงสะเทือนเลื่อนลั่นมาจากบริเวณที่สำเภาล่ม
เสียงคล้ายฟ้าร้อง ต่อมาได้มีผู้พบสมอเรือในบริเวณเดียวกันนี้ เสากระโดงเรือนั้นได้ผุพังไปนานแล้ว
หมู่บ้านตะเภา ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลม่วงหวาน อำเภอหนองแซง
ตำนานบ้านท่าสนุก
เต่เดิมบ้านท่าสนุกเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีผู้อาศัยไม่มากนัก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก
กลางขุนเขาและป่าดง ในหมู่บ้านนี้มีเศรษฐีคนหนึ่ง มีลูกสาวสวยมาก เศรษฐีรักและหวงลูกสาวคนนี้มาก
ได้ตั้งกติกาขึ้นมาว่า ผู้ที่จะมาแต่งงานกับลูกสาวของตน จะต้องเป็นคนมีเงินมากเท่านั้น
ต่อมาได้มีชายหนุ่มผู้หนึ่งมาจากบ้านแสลงพัน (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอมวกเหล็ก)
ได้ยินคำกล่าวถึงความสวยของหญิงสาวผู้นี้ จึงได้ดั้นด้นมาดู เมื่อเห็นแล้วก็เกิดความลุ่มหลงอย่างมาก
แต่ตนเป็นคนยากจนสุดที่จะหาทรัพย์มาให้ได้มากตามที่เศรษฐีต้องการ เศรษฐีจึงได้ตั้งข้อกำหนดว่า
ถ้าชายผู้นี้สามารถหาทรัพย์ให้ได้มากภายในเวลาหนึ่งเดือน ก็จะยอมยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย
ชายหนุ่มไม่รู้ที่จะไปหาเงินทองที่ไหนได้มากในห้วงเวลาดังกล่าว ก็ได้แต่หมกมุ่นครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา
จนเวลาล่วงไปจวบครบกำหนดหนึ่งเดือน คืนหนึ่งเขาฝันว่าปู่โสมมาบอกที่ฝังทรัพย์ให้ทราบ
โดยบอกให้ล่องเรือไปตามลำน้ำป่าสัก เลยถ้ำพระไปจะมีหน้าผาหินเป็นรูปคล้ายเสือหมอบอยู่
และหากมองเลยขึ้นไปก็จะเห็นก้อนหินมีรูปเหมือนหมีหมอบ ลักษณะที่เห็นจะเป็นหมีอยู่เหนือ
เสืออยู่ใต้ แล้วให้วัดจากคางเสือลงมาประมาณสามศอก ก็จะพบที่ซ่อนสมบัติ รุ่งเช้าเขาจึงเดินทางไปตามที่ปู่โสมบอกในฝัน
ก็พบที่ซ่อนสมบัตินั้นเป็นพื้นหินแข็ง ลำพังตนคนเดียวไม่สามารถขุดหินนี้ได้สำเร็จ
จึงไปหาเพื่อนมาช่วยขุดโดยบอกว่า เมื่อพบสมบัติก็จะแบ่งให้ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อขุดพบสมบัติแล้ว
เขาก็โลภจึงคิดหาอุบายให้ตนได้สมบัตินั้นแต่ผู้เดียว
ปู่โสมผู้เฝ้าทรัพย์รู้ความในใจของเขา จึงบันดาลให้ไหใส่สมบัติที่ขุดขึ้นมา
หล่นลงไปในวังน้ำลึกที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว สุดความสามารถที่คนจะลงไปงมได้
เมื่อเหตุการณ์กลับกลายไปเป็นเช่นนั้น ชายหนุ่มก็เสียใจมากถึงกับเสียสติไปในที่สุด
หากใครล่องเรือไปตามลำน้ำป่าสัก เลยบ้านท่าสบกไปเล็กน้อย จะมองเห็นหน้าผาที่มีค้อนหินเป็นรูปเสือ และรูปหมีปรากฎอยู่
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
ประเพณีกำฟ้า
เป็นประเพณีที่ชาวไทยพวนยึดถือปฎิบัติสืบต่อกันมา ส่วนใหญ่กระทำบางท้องที่ของอำเภอหนองโดน
คำว่า กำ หมายถึง
การยึดถือ หรือยอมรับปฎิบัติตามจารีตประเพณีของบรรพบุรุษ มีสัจจะจริงไม่ยอมละเมิดฝ่าฝืน
โดยมีความเชื่อว่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษยังมีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ สามารถดลบันดาลให้คุณให้โทษได้
ส่วนคำว่า ฟ้า
หมายถึง แถน คือเทพยดาหรือเทพเจ้าบนสวรรค์ผู้ทรงอานุภาพอาจดลบันดาลให้คุณให้โทษได้
และคำว่า ฟ้า ยังหมายความรวมถึงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษไทยพวนในอดีตที่ชาวไทยพวนเคารพนับถือกราบไหว้
ดังนั้น คำว่า กำฟ้า
จึงหมายถึง การน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ โดยขอเทิดทูนไว้เหนือฟ้า
วันกระทำพิธี จัดเป็นวันนักขัตฤกษ์ประจำปีของชาวพวนทั่วไป ซึ่งจะกระทำในวันขึ้นสามค่ำ
เดือนสาม ในวันดังกล่าวชาวไทยพวนจะพร้อมใจกันหยุดงาน เพื่อทำบุญตักบาตร โดยจัดเตรียมอาหารคาวหวานต่าง
ๆ ที่สำคัญคือ ข้าวจี่ ซึ่งทำจากข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน มีขนาดเท่ากำปั้น ทาด้วยไข่ แล้วนำไปย่างไฟพอออกสีเหลือง นำไปถวายพระตอนเช้า
นอกจากนั้นยังมีการนำพันธุ์ข้าวส่วนหนึ่งแบ่งใส่ถุงมาเข้าสู่พิธีเรียกว่า
พิธีสู่ข้าวขวัญ ข้าวที่ผ่านการทำพิธีแล้วนี้ เจ้าของจะนำไปคลุกเคล้าปนกับพันธุ์ข้าวที่บ้าน
เพื่อเป็นสิริมงคล และเตรียมที่จะนำไปปลูกในปีต่อไป เชื่อกันว่าข้าวเหล่านี้จะงอกงามเจริญเติบโตได้ผลผลิตดี
เมื่อฤดูกาลเก็บเกี่ยวเวียนมาถึงอีกครั้ง ก็จะเก็บเกี่ยวแบ่งส่วนหนึ่งเข้าพิธสู่ขวัญข้าว
วนเวียนแช่นนี้ทุกปี
หลังจากทำบุญกำฟ้าแล้ว ชาวไทยพวนจะร่วมกันจัดให้มีการละเล่นพื้นเมืองต่าง
ๆ เช่น มอญซ่อนผ้า ชักคะเย่อ สะบ้า ลูกช่วง เป็นต้น พอใกล้ดวงอาทิตย์ตก ก็จะนำคบไฟไปจุดไว้
แล้วไปชุบน้ำให้ดับตามแสงตะวัน เรียกว่า เสียแสง
เมื่อไฟดับแล้วจะอธิษฐานขอให้ความทุกข์ และโรคภัยทั้งหลายดับสิ้นไปพร้อมกับแสงตะวัน
และขอให้อยู่เย็นเป็นสุข วันกำฟ้าซึ่งเริ่มตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกก็จะเสร็จสิ้นลงในปีนั้น
ประเพณีตักบาตรดอกไม้
ความเป็นมาของประเพณีนี้ ตามพุทธทำนายกล่าวไว้ว่า ณ เมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นเจ้าเมืองต้องการได้รับดอกมะลิสดจากนายสุมนะมาลาการเป็นประจำวันละแปดกำมือ
เมื่อได้รับดอกมะลิแล้ว พระองค์ก็จะมอบบำเหน็จรางวัลให้แก่นายมาลาการทุกครั้ง
วันหนึ่งนายมาลาการออกไปเก็บดอกมะลิอยู่ได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังเสด็จออกบิณฑบาต
พร้อมพระภิกษุสงฆ์อีกจำนวนหนึ่ง ได้เห็นฉัพพรรณรังษีของพระพุทธองค์ฉายประกอบอยู่โดยรอบพระวรกายหกสีด้วยกันคือ
สีนิล (เป็นสีเขียวเหมือนดอกอัญชัน)
สีปิด (สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง)
สีโลหิต (สีแดงเหมือนตะวันอ่อน)
สีโอทาต (สีขาวเหมือนแผ่นเงิน)
สีมันเชฐหงษบาท (สีเหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่)
สีประภัสสร (สีเลื่อมลายเหมือนแก้วผลึก)
นายมาลาการเห็นเช่นนั้นก็เกิดศรัทธา กระหายใคร่อยากจะหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้าถวายหรือตักบาตรถวายพระพุทธองค์
ครั้นจะนำข้าวปลาอาหารไปตักบาตร ก็ไม่รู้ว่าจะเอาที่ไหน ครั้นจะเอาดอกมะลิที่เก็บมาได้ทั้งแปดกำมือ
ถวายพระพุทธองค์ก็เกรงว่าจะไม่มีดอกมะลินำไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร ทำให้นายมาลาการคิดอัดอั้นตันใจอยู่ไปมา
สุดท้ายด้วยแรงศรัทธาต่อพระพุทธองค์ นายมาลาการก็ตัดสินใจนำกระเช้าดอกมะลิขึ้นมาตั้งจิตอธิษฐานมีความว่า
"เราจะนำดอกไม้ทั้งแปดกำมือนี้ ถวายบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แม้ว่าพระเจ้าพิมพิสารจะไม่ได้ดอกมะลิเหล่านี้ จะสั่งจองจำ จะรับสั่งให้ประหารชีวิต...
หรือจะพึงขับเราออกไปจากแว่นแคว้นก็ตามที เราขอรับโทษทัณฑ์ เพราะเราถือว่าพระราชานั้น
ถึงแม้จะพระราชทานของมีค่า บำเหน็จรางวัลให้แก่เราเป็นประจำทุกวันก็ตามที
แต่นั่นเป็นเพียงเลี้ยงชีวิตในอัตภาพนี้เท่านั้น แต่การนำเอาดอกไม้ถวายบูชาแด่พระบรมศาสดานี้
จะให้ประโยชน์สุขทั้งภพนี้และภพหน้า ดังนั้นจึงขอยอมบริจาคแม้ชีวิตของเรา
เพื่อพระตถาคต...."
เมื่ออธิษฐานแล้ว นายมาลาการก็เข้าไปใช้ดอกมะลิหว่านโปรยไปยังพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน
กันนี้สองกำมือด้วยแรงอธิษฐานดอกมะลิแทนที่จะหล่นลงสู่พื้นดิน กลับลอยวนอยู่เหนือพระเศียรของพระพุทธองค์สามรอบ
แล้วรวมกันเป็นเพดานลอยเป็นแพคุ้มกันแดดแก่พระพุทธองค์
นายมาลาการโปรยดอกมะลิไปอีกสองกำมือ ดอกมะลิก็ลอยวนเวียนสามรอบอีกเช่นกัน
แล้วย้อนทยอยมาเป็นแพอยู่ทางด้านพระพักตร์ ครั้งที่สามที่หว่านไปอีกสองกำมือดอกมะลิก็ลอยวนเวียนเช่นเดียวกันสามรอบ
แล้วทยอยลงมาเป็นแพอยู่ทางด้านปฤษฎางค์พระพุทธองค์ และอีกสองกำมือสุดท้ายที่นายมาลาการโปรยบูชาพระพุทธองค์
ดอกมะลิก็ลอยวนสามรอบแล้วทะยอยอยู่ทางด้านซ้ายพระหัตถ์พระพุทธองค์
ดอกมะลิทั้งแปดกำมือ ที่นายมาลาการหว่านโปรยถวายบูชา พระพุทธองค์แต่ละดอกหันขั้วเข้าหาพระวรกายของพระพุทธองค์
และหันกลีบดอกออกภายนอก เว้นเป็นช่องว่างไว้ด้านหน้าของพระพุทธองค์สำหรับพุทธดำเนิน
มีรัสมีแผ่ซ่านออกประหนึ่งสายฟ้าแลบรอบ ๆ พระวรกายพระพุทธองค์หนึ่งแสนสี พระพุทธองค์ก็เสด็จพุทธดำเนินบิณฑบาตรไปตามลำดับ
ฝ่ายนายมาลาการนั้นหลังจากที่ได้นำดอกมะลิบูชาพระพุทธองค์ แล้วก็ได้เดินตามพระพุทธองค์ไปชั่วระยะหนึ่ง
ได้เข้าไปในพุทธรัศมีทำให้ผิวพรรณของเขาบังเกิดขึ้น ๕ ประการ ในขณะเดียวกันเรื่องนี้ได้ล่วงรู้ไปถึงชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลาย
ต่างพากันมาถวายบิณฑบาตรแด่พระบรมศาสดาอย่างล้นหลาม ได้เห็นความมหัศจรรย์ด้วยตาของตนเอง
ต่างพากันเดินตามพระบรมศาสดาไปด้วยความเลื่อมใสศรัทธา
ส่วนนายมาลาการเมื่อกลับไปยังเคหะสถานของตน ก็ถูกภรรยาต่อว่าและขอหย่าขาดเพราะภรรยา
เกรงว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่เป็นที่พอพระทัย ของพระเจ้าพิมพิสารเกรงว่าตนที่เป็นภรรยาจะพลอยได้รับโทษไปด้วย
แล้วนำความไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารเป็นการออกตัวไว้ก่อน แต่พระเจ้าพิมพิสารทรงบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว
ทรงทราบเรื่องแล้วก็ทรงคิดอยู่ในพระราชหฤทัยว่า หญิงคนนี้เป็นคนพาล
พระเจ้าพิมพิสารเมื่อได้ทราบข่าวพระบรมศาสดาเสด็จออกบิณฑบาตรมาถึงใกล้พระราชวัง
จึงเสด็จ ฯ ไปถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วเสด็จตามพระบรมศาสดาไปด้วยความเลื่อมใส
แล้วได้ปรารถนาจะทูลเสด็จ ฯ ให้เข้าไปในพระราชวัง แต่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระอาการที่จะประทับนิ่งอยู่
ไม่ยอมเข้าไปประทับในพระราชวัง ทั้งนี้พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์ที่จะประกาศกิตติคุณของนายมาลาการให้ปรากฎแก่มหาชน
ดังนั้นพระเจ้าพิมพิสารจึงรีบรับสั่งให้ทาสบริวารปลูกสร้างปะรำชั่วคราว โดยที่พระองค์ได้พระราชทานสิ่งของในการปลูกสร้างปะรำละแปดชิ้น
เมื่อสร้างปะรำเสร็จพระพุทธองค์ได้เสด็จเข้าประทับเป็นประมุข แวดล้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์แพดอกมะลิที่นายมาลาการถวายเป็นพุทธบูชา
ยังเป็นแพครอบอยู่ทั้งหมด ปรากฎแก่มหาชนที่ติดตามมาต่างพากันโห่ร้องกันสนั่นด้วยความชื่นชมโสมนัส
เมื่อพระพุทธองค์ปกระทับอยู่ได้เวลาอันสมควรแล้ว ก็เสด็จพุทธดำเนินไปสู่พระเชตวัน
โดยมีพระเจ้าพิมพิสารและมหาชนตามเสด็จไปตลอดทาง ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จเข้าสู่พระเชตวัน
ดอกมะลิที่เป็นแพรอบพระองค์นั้น ก็ล่วงหล่นตรงประตูพระวิหารนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับในวิหารแล้ว
ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า
"วันนี้ตั้งแต่เช้าเสียงสีหนาทดังสนั่น และการยกท่อนผ้าที่มหาชนกระทำย่อมเป็นไปได้ยากลำบาก
ถ้าผู้ใดกระทำได้เยี่ยงอย่างนายมาลาการ เธออย่าได้คิดว่าการประกอบกรรมดี ถึงแม้ว่ามีสิ่งของเพียงเล็กน้อยเธอก็ทำได้
แต่การกระทำของนายมาลาการได้หมายยอมเสียสละแม้ชีวิต พระเจ้าพิมพิสารจะสั่งประหารชีวิตเขาก็ยอมด้วยเขามีน้ำใจเลื่อมใสในเรา
เขาจักไม่ไปสู่ทุคติตลอดแสนกัลป์ทีเดียว แล้วตรัสอีกว่า
นายมาลาการจะดำรงอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จะไม่ไปสู่ทุคติตลอดแสนกัลป์
นี่แหละคือผลแห่งกรรม ภายหลังเขาจะเป็นพระปัจเจกพุทธะ นามว่า สมนะ"
ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อเสด็จกลับสู่พระราชวังแล้ว ก็มีรับสั่งให้นายมาลาการมาพบ
แล้วตรัสถามเรื่องดอกมะลิ ที่นายมาลาการนำไปบูชาพระบรมศาสดา นายมาลาการทูลตอบว่า
"ถึงแม้พระราชาจะขับไล่ จะรับสั่งประหารชีวิต ก็ยอมทุกอย่างเพราะได้นำดอกมะลิไปถวายบูชาแด่พระบรมศาสดาแล้ว
ด้วยศรัทธา"
เมื่อได้รับรู้ถึงความศรัทธาของนายมาลาการที่มีต่อพระบรมศาสดาเช่นนั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงบำเหน็จรางวัลความดีความชอบให้นามาลาการ พระราชทานสิ่งของอย่างละแปดคือ ช้างแปดเชือก ทาสแปดคน ทาสีแปดคน เครื่องประดับชุดใหญ่
แปดเครื่อง นารีแปดนาง ที่นำทาจากรราชตระกูลประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
และบ้านสวยแปดหลัง นับแต่นั้นมานายมาลาการก็มีชีวิตอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
ปราศจากทุกข์ใด ๆ
ด้วยอานิสงฆ์ดังกล่าว ชาวพุทธทั่วไปจึงถือเป็นประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นประจำทุกปี
ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
การตักบาตรดอกไม้ เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาวจังหวัดสระบุรี ถือเอาวันเข้าพรรษา
ในวันแรมค่ำ เดือนแปดของทุกปี จะมีประชาชนจากทุกสารทิศ พากันไปทำบุญตักบาตร
เนื่องในวันเข้าพรรษาที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท
เมื่อเสร็จจากการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าแล้ว ก็จะพากันไปเก็บดอกไม้ชนิดหนึ่ง
คล้ายต้นกระชาย หรือต้นขมิ้น มีหลายสี เช่น สีเหลือง สีขาว เรียกกันว่า ดอกเข้าพรรษา
ไม้ดอกดังกล่าวชอบขึ้นตามไหล่เขา และจะมีในช่วงเข้าพรรษา ประเพณีตักบาตรดอกไม้จะทำในตอนบ่ายของวันเข้าพรรษาบริเวณวัดพระพุทธบาท โดยพระภิกษุทั้งวัด จะออกจากศาลาการเปรียญ ไปเริ่มต้นขบวนที่วงเวียนถนนสายคู่
เดินรับบิณฑบาตรดอกไม้จากพุทธศาสิกชน ตลอดสองข้างทางที่ยืนรอคอยอยู่ เป็นแนวตลอดไปบริเวณบันไดนาค
สู่มณฑปพระพุทธบาท มีขบวนกลองยาวและฟ้อนรำร่วมด้วย
|