ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี



| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน
            จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แสดงถึงพัฒนาการสังคมมนุษย์ของอีสานในอดีต แบ่งออกเป็นสามระดับ คือสังคมล่าสัตว์ สังคมเกษตรกรรม และสังคมเมืองแรกเริ่ม

            สังคมล่าสัตว์  จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่ถ้ำตาลาว บริเวณเพิงผาสำนักสงฆ์ถ้ำช้างสี บ้านคอน้อย ตำบลกองโพน กิ่งอำเภอนาตาล พบเครื่องมือหินในกลุ่มวัฒนธรรมโฮบินเนียม อายุประมาณ ๑๔,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ ปี มาแล้ว แสดงว่าพื้นที่บริเวณนี้มีร่องรอยของมนุษย์ในสังคมล่าสัตว์

            สังคมเกษตรกรรม  มีอายุอยู่ประมาณ ๓,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปี มาแล้ว พบหลักฐานทางโบราณคดี การตั้งถิ่นฐานของสังคมเกษตรกรรม ในบริเวณทางทิศเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของ ลำเซบก ลำเซบาย แม่น้ำชี ครอบคลุมบริเวณลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล เช่น แหล่งโบราณคดีโนนสาวเอ้ บ้านค้อ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง ฯ  แหล่งโบราณคดีบ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน และแหล่งโบราณคดี บริเวณที่ราบใกล้ลำน้ำโขง คือ บ้านดอนแสนพัน ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ หลักฐานที่พบทางโบราณคดี เช่น เศษกระเบื้องดินเผา ลูกปัดแก้ว เครื่องใช้สำริด เป็นต้น
            สังคมเมืองแรกเริ่ม  มีอายุระหว่าง ๒,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว ชุมชนเกษตรกรรมในเขตอีสานใต้ได้พัฒนาไปสู่สังคมเมืองแรกเริ่ม จากการขุดพบกลองมโหรทึก ที่บ้านชะออม บ้านนาโพธิกลาง หรือที่ราบตอนกลางของผาขาม นำไปสู่ชุมชนขนาดใหญ่ที่สร้างคูน้ำคันดิน (โพนดิน) อันเป็นแบบแผนในการก่อตัวของสังคมเมืองแรกเริ่ม แล้วพัฒนาสู่โครงสร้างของรัฐ ภายใต้กระแสวัฒนธรรมอินเดียและจีน
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
            จากการติดต่อทางการค้าระหว่างอินเดียกับจีน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๕ - ๖ ทำให้ดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้า จังหวัดอุบล ฯ ซึ่งมีพื้นที่ตั้งอยู่ตอนในได้รับวัฒนธรรมอินเดีย ในระยะต่อมาคือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ สามารถแบ่งพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่จังหวัดอุบล ฯ ออกได้เป็นสี่ระยะ คือ


            ภายใต้วัฒนธรรมเจนละ (หรือเขมร) ก่อนเมืองพระนคร ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ มีเมืองเศรษฐปุระ เป็นศูนย์กลางศาสนสถานของชุมชน ในพื้นที่จังหวัดอุบล ฯ ได้พบหลักฐานลายลักษณ์อักษรร่วมสมัยของอาณาจักรเจนละ แสดงว่าเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษา มอญ เขมร ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ศูนย์อำนาจของเจนละแบ่งออกเป็น เจนละบก และเจนละน้ำ

            ภายใต้วัฒนธรรมทวาราวดี (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕)  ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ วัฒนธรรมทวาราวดี ซึ่งมีพื้นฐานสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาจากอินเดีย เจริญรุ่งเรืองขึ้นทางภาคกลางของประเทศไทย ได้เริ่มแผ่ไปสู่ภาคอีสานตอนล่าง ผ่านทางนครราชสีมา บริเวณลุ่มน้ำชีตอนล่าง ที่ราบทางตอนเหนือของจังหวัดอุบล ฯ ดังปรากฏหลักฐานที่เป็นพระพุทธรูป และโบราณสถานที่เป็นเนินดินมีใบเสมาปักอยู่ เป็นกลุ่มตามบริเวณที่เป็นชุมชนโบราณ
            แหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมทวาราวดีที่น่าสนใจเช่น บ้านตาดทอง อำเภอเมือง ฯ และบ้านบึงแก อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ในเขตที่ราบริมฝั่งแม่น้ำชี ระหว่างอำเภอเมืองยโสธร กับอำเภอเมืองอุบล ฯ และเขตที่ราบระหว่าง ลำเซบาย กับ ลำเซบก อยู่ระหว่าง อำเภอหัวตะพาน อำเภอม่วงสามสิบ และอำเภออำนาจเจริญ เช่น เนินดินหลังตลาด อำเภอม่วงสามสิบ บ้านเปือยหัวดง ตำบลเปือย จังหวัดอำนาจเจริญ โบราณวัตถุบางชิ้นมีการผสมผสาน ระหว่างศิลปะเจนละ และศิลปะทวาราวดี และในระยะต่อมาจึงปรากฏร่องรอยของวัฒนธรรมเขมรสมัยเมืองพระนคร
            ภายใต้วัฒนธรรมเจนละสมัยเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘) ประมาณกลางศตวรรษที่ ๑๔ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (ครองราชย์ พ.ศ.๑๓๔๕ - ๑๓๙๓) ได้รวบรวมอาณาจักรเจนละบก และเจนละน้ำให้เป็นปึกแผ่น ในนามอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของยุคพระนคร พร้อมกับการฟื้นตัวของศาสนาพราหมณ์ และการขยายตัวของพุทธศาสนา แบบทวาราวดี (พ.ศ.๑๔๒๐ - ๑๔๓๒) ในสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ อาณาจักรกัมพูชาเริ่มขยายอำนาจทางการเมืองเข้ามายังเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีของวัฒนธรรมเขมร สมัยเมืองพระนครบริเวณที่ราบสูงโคราช มีจารึกหลายหลักในเขตจังหวัดอุบล ฯ และจังหวัดยโสธร
            จากภาพถ่ายทางอากาศ แสดงถึงร่องรอยชุมชนโบราณในเขตทางตอนเหนือของจังหวัดอุบล ฯ ตามวัฒนธรรมเขมรยุคพระนคร เช่น การสร้างบาราย แนวคูน้ำคันดิน โดยเฉพาะชุนชนโบราณรูปสี่เหลี่ยมบริเวณบ้านคูเมือง
ยุคสร้างบ้านเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์

            พระวอ พระตา  เสนาบดีเมืองเวียงจันทน์ เกิดขัดแย้งกับพระเจ้าสิริบุญสารผู้ครองเวียงจันทน์ จึงพาพรรคพวกไพร่พลอพยพ ข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองหนองบัวลำภู พระเจ้าสิริบุญสาร ส่งกองทัพไปปราบปรามแต่ไม่สำเร็จ จึงขอกำลังจากเชียงใหม่มาช่วย พระวอพระตาเกรงว่าจะสู้ไม่ได้ จึงอพยพไปอยู่นครจำปาศักดิ์ที่บ้านคู่ บ้านแก ฝ่ายเวียงจันทน์ยกทัพตามไป การสู้รบครั้งนั้น พระวอเสียชีวิต พระตาจึงไปขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าตาก ฯ โดยขอเป็นข้าขอบขัณทสีมา
            กลุ่มเชื้อสายพระวอ พระตา เข้าไปตั้งถิ่นฐานที่ดอนมดแดง (จุดที่ลำเซบกไหลไปบรรจบแม่น้ำมูล) พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) ได้ย้ายถิ่นฐานไปยังห้วยแจละแม หรือบ้านท่าบ่อ (จุดที่ลำเซบายไหลไปบรรจบแม่น้ำมูล) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๔ พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ช่วยปราบกบฎอ้ายแก้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ยกฐานะบ้านห้วยแจระแมขึ้นเป็นเมืองอุบล ฯ
            ต่อมาเมื่อเห็นว่าพื้นที่คับแคบ จึงได้อพยพไปตั้งบ้านเรือน ณ ดงอู่ผึ้ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองอุบล ฯ ในปัจจุบัน
การปกครองเมืองอุบล ฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์
            มีการตั้งเมืองต่าง ๆ ในบริเวณเมืองอุบล ฯ รวม ๑๗ เมืองคือ
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ตั้งเมืองยโสธร และเมืองเขมราฐ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๗ และตั้งเมืองโขงเจียม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๔
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งเมืองเสนางนิคม เมืองเดชอุดม เมืองคำเขื่อนแก้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๘ และตั้งเมืองบัว (บุณฑริก) เมื่อปี  พ.ศ.๒๓๙๐
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งเมือง อำนาจเจริญ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๐๑ เมืองพิบูลมังสาหาร เมืองตระการพืชผล  และเมืองมหาชนะชัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๖
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งเมืองชานุมานมณฑล และเมืองพนานิคม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๒ เมืองวารินชำราบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๓ เมืองโดมประดิษฐ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔ และเมืองเกษมสีมา (อำเภอม่วงสามสิบ) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๕
            เมืองที่ตั้งทั้งสิบเจ็ดเมืองดังกล่าว มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอก ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ สี่เมือง คือ เมืองอุบล ฯ เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ และเมืองเดชอุดม ที่เป็นเมืองเล็กเทียบได้กับเมืองจัตวาสิบสามเมืองคือ ขึ้นกับเมืองอุบล ฯ เจ็ดเมือง ได้แก่ เมืองเสนางคนิคม เมืองพิบูลมังสาหาร เมืองตระการพืชผล เมืองมหาชนะชัย เมืองชานุมานมณฑล เมืองเกษมสีมา และเมืองพนานิคม ขึ้นกับเมืองเขมราฐสองเมืองคือ เมืองคำเขื่อนแก้ว และเมืองอำนาจเจริญ ขึ้นกับเมืองนครจำปาศักดิ์สี่เมืองคือ เมืองโขงเจียม เมืองบัว เมืองวารินชำราบ และเมืองโดมประดิษฐ์
            การจัดการปกครอง ภายในของเมืองอุบล ฯ เมืองขึ้น และเมืองใกล้เคียงในภูมิภาคนี้ไม่ได้จัดการปกครองภายในเหมือนหัวเมืองทั่วไป แต่ใช้ธรรมเนียมการปกครองที่มีมาแต่ดั้งเดิมของหัวเมืองลาวตะวันออก คือ แบ่งเจ้าหน้าที่ปกครองออกเป็นห้าระดับ แต่ละระดับมีหลายตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ต่างกันดังนี้
            ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเมืองเรียกว่า อาชญาสี่  มีสี่ตำแหน่งคือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร
            เจ้าเมือง  เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด แต่งตั้งกรรมการเมืองชั้นรอง เช่น เมืองแสน เมืองจันทน์ เมืองฮาม ฯลฯ และแต่งตั้งกรรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่คือ อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร
       อุปฮาด  มีหน้าที่รองจากเจ้าเมือง ทำหน้าที่แทนเมื่อเจ้าเมืองไม่อยู่ มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการรวบรวมสรรพบัญชี สำมะโนครัว ส่วยอากร และเกณฑ์ไพร่พลไปทำศึกสงคราม
            ราชวงศ์  เป็นผู้ช่วยเจ้าเมือง และอุปฮาด มีหน้าที่ในกองทัพในการควบคุมไพร่พลออกรบ จัดส่งเสบียงอาหาร และอาวุธยุทธโธปกรณ์ต่าง ๆ
            ราชบุตร  มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับราชวงศ์
            ในแต่ละเมืองจะแบ่งการปกครอง และควบคุมไพร่พลเป็นสี่กอง คือ กองเจ้าเมือง กองอุปฮาด กองราชวงศ์ กองราชบุตร
            ตำแหน่งอาชญาสี่  ถ้าเป็นเมืองเล็กขึ้นกับเมืองใหญ่ เรียกว่าเจ้าเมือง อัครฮาด อัครวงค์  และอัครบุตร
            ตำแหน่งผู้ช่วยอาชญาสี่  มีสี่ตำแหน่งคือ ท้าวสุริยะ หรือท้าวขัตติยะ ท้าวสุริโย ท้าวโพธิสาร และท้าวสิทธิสาร มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีความต่าง ๆ ในศาลเมืองชั้นสูง ควบคุมกำกับดูแลงานเมืองในแผนกต่าง ๆ ของเมือง
            ตำแหน่งขื่อบ้านขาวเมือง  เป็นตำแหน่งรองจากผู้ช่วยอาชญาสี่ มีสิบเจ็ดตำแหน่ง ได้แก่ เมืองแสน มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางทหาร  เมืองจันทน์ มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางพลเรือน  เมืองคุก เมืองฮาม เมืองแพน มีหน้าที่ควบคุมนักโทษ ฯลฯ
            ตำแหน่งพิเศษอื่น ๆ  เป็นตำแหน่งไม่ค่อยสำคัญ เจ้าเมืองจะแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งก็ได้ ได้แก่ ตำแหน่งเพี้ยซาตีนแท่น แล่นตีนเมือง เพี้ยซาบรรทม เพี้ยซาแขกขวา เพี้ยซาแขกซ้าย มีหน้าที่ติดตามเจ้าเมือง ต้อนรับแขกเมือง ฯลฯ
            ตำแหน่งสำหรับหมู่บ้าน  มีสี่ตำแหน่ง ได้แก่ ท้าวฝ่าย เทียบตำแหน่งนายอำเภอ ตาแสง เทียบตำแหน่งกำนัน  พ่อบ้าน หรือนายบ้าน เทียบเท่าตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน จ่าบ้าน เทียบตำแหน่งสารวัตรกำนัน

            บทบาทของเมืองอุบล ฯ  เมืองอุบล ฯ เป็นเมืองขนาดใหญ่ เป็นหัวเมืองเอกขึ้นกับกรุงเทพ ฯ ปกครองดูแลเมืองต่าง ๆ เจ็ดเมือง จัดเก็บส่วยตามที่ทางกรุงเทพ ฯ กำหนด เช่นในปี พ.ศ.๒๓๗๐ เมืองอุบล ฯ มีไพร่หลวงอยู่ ๕,๕๐๐ คน กำหนดให้ส่งส่วย ๒,๐๐๐ คน ปฏิบัติราชการ ๒,๐๐๐ คน และเลี้ยงราชการ ๑,๕๐๐ คน ครั้งนั้นกำหนดให้ไพร่ส่วยเสียค่าส่วยคนละสี่บาทต่อปี ถ้าส่งเป็นสิ่งของคิดเป็นราคาสี่บาทเช่นกัน เมืองอุบล ฯ ส่งส่วยเร่ว ส่วยเงิน ส่วยไหม ส่วยขี้ผึ้ง ส่วยผ้าขาว ฯลฯ เมืองอุบล ฯ จะเป็นผู้รวบรวมเก็บส่วยทั้งเงิน และสิ่งของเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคนั้น เช่น เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองแสนบาง เมืองทองคำใหญ่ เมืองเชียงแตง เมืองสีทันดร เมืองลำเนา หนองปรือ เมืองเขมราฐ เมืองโขงเจียม ฯลฯ รวบรวมไว้ที่เมืองอุบล ฯ แล้วเจ้าเมืองนำส่งกรุงเทพ ฯ โดยทางเรือตามลำแม่น้ำมูล ถึงท่าช้างเมืองนครราชสีมา แล้วบรรทุกโคต่างส่งถึงกรุงเทพ ฯ ต่อไป ในบางกรณีทางกรุงเทพ ฯ อาจใช้ข้าหลวงนำโคต่างจากกรุงเทพ ฯ เพื่อบรรทุกสิ่งของมารับส่วยจากเมืองอุบล ฯ โดยตรง
            ด้านการป้องกันประเทศ  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงจัดให้หัวเมืองต่าง ๆ ทางแผ่นดินสูงตอนริมแม่น้ำโขงเป็นเมืองประเทศราชอยู่สามเมืองคือ เมืองนครพนม เมืองเวียงจันทน์ และเมืองนครจำปาศักดิ์ โดยมอบให้เมืองนครราชสีมาปกครองดูแลหัวเมืองเขมรป่าดงอื่น ๆ และหัวเมืองดอนที่มิได้ขึ้นตรงต่อประเทศราชทั้งสามดังกล่าว ดังนั้น ในระยะนั้นเมืองอุบล ฯ จึงอยู่ในความควบคุมดูแลของเมืองนครราชสีมา และขึ้นตรงต่อสมุหนายก
            ในปี พ.ศ.๒๓๕๓ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไทยต้องยกกองทัพไปตีเมืองมะริด และตะนาวศรี เจ้าพระยาจักรี สมุหนายกผู้รับผิดชอบ หัวเมืองลาวภาคตะวันออก ได้มีสารตรา ส่งเจ้าพระยานครราชสีมาให้เกณฑ์กองทัพเมืองต่าง ๆ ในหัวเมืองลาว เขมรป่าดง ตามจำนวนที่กำหนดทุกเมืองรวมสิบสี่เมืองให้กำลังดังกล่าวเดินทางไปถึงเมืองสระบุรีในวันที่กำหนด
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยทำสงครามกับญวนเป็นเวลานาน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๕ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาราชนิกูล เกณฑ์กองทัพหัวเมืองชั้นใน หนึ่งพันคนยกออกไปรักษาการณ์อยู่ที่เมืองจัมปาศักดิ์ ในปี พ.ศ.๒๓๘๒ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์  สิงหเสนี) แม่ทัพใหญ่ มีบัญชาให้เกณฑ์ไพร่พลจากเมืองต่าง ๆ ของหัวเมืองลาวตะวันออก คือ เมืองสุรินทร์ ๒,๙๐๐ คน เมืองสังขะ ๕๐๐ คน ยกไปรักษาเมืองเสียมราฐ ให้เกณฑ์กำลังจากเมืองสุวรรณ ๒,๖๐๐ คน เมืองยโสธร ๑,๕๐๐ คน เมืองร้อยเอ็ด ๒,๐๐๐ คน เมืองขอนแก่น ๔๐๐ คน เมืองนครราชสีมา ๒,๐๐๐ คน รวม ๘,๕๐๐ คน ยกไปรักษาเมืองพระตะบอง และปากน้ำตึกโช เมืองมงคลบุรี ให้เกณฑ์กำลังจากเมืองขุขันธ์ ๔,๐๐๐ คน เมืองศรีษะเกษ ๓,๓๐๐ คน เมืองนครจำปาศักดิ์ ๒,๕๐๐ คน เมืองสีทันดร ๑,๐๐๐ คน เมืองแสนปาว ๘๐๐ คน เมืองเชียงแตง ๖๐๐ คน เมืองเดชอุดม ๑,๕๐๐ คน เมืองไทรบุรี ๓๐๐ คน รวม ๑๔,๐๐๐ คน รามกับกำลังจากเมืองอุบล ฯ ๔,๐๐๐ คน เมืองเขมราฐ ๑,๗๐๐ คน เมืองมุกดาหาร ๑,๑๐๐ คน เมืองนครพนม ๑,๐๐๐ คน เมืองขึ้นเมืองนครพนม ๕๐๐ คน เมืองหนองหาร ๖๐๐ คน เมืองหนองคาย ๑,๕๐๐ คน รวม ๒๖,๕๐๐ คน ทั้งหมดนี้เมืองอุบล ฯ ได้รับเกณฑ์ไพร่พลมากกว่าเมืองอื่น ๆ

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงเริ่มปฏิรูปการปกครอง ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ ได้จัดแบ่งหัวเมืองฝ่ายอีสานเป็นสี่กองใหญ่ รวมเมืองเอก  เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวาเข้าด้วยกัน แต่ละกองมีข้าหลวงกำกับการปกครองกองละหนึ่งคน มีข้าหลวงใหญ่คอยกำกับดูแลข้าหลวงกำกับกองอีกหนึ่งคน
            เมืองอุบล ฯ อยู่ในกองที่สอง คือหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประกอบด้วยหัวเมืองเอก สิบสองหัวเมือง หัวเมืองโท ตรี จัตวาอีก ๒๙ หัวเมือง รวม ๔๑ หัวเมือง มีพระยาราชเสนา (ทัต  ไกรฤกษ์) เป็นข้าหลวงประจำกอง ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองอุบล ฯ หัวเมืองเอกได้แก่ เมืองอุบล ฯ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ภูหล่นช้าง กมลาสัย เขมราฐ สองคอน แดนดง ยโสธร นอง และศรีสะเกษ
            ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ โปรดเกล้า ฯ ให้รวมหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก และฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกันเรียกว่า หัวเมืองลาวกาว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงพยายามแก้ไขรูปแบบการปกครองของมณฑลลาวกาว ให้เข้ากับลักษณะที่ใช้อยู่ในภาคกลาง ทรงนำพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ซึ่งเริ่มปฏิบัติครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗  ณ วัดศรีทองวนาราม (วัดศรีอุบลรัตนาราม) และในปีเดียวกันได้ทรงยกเลิกตำแหน่งอาชญาสี และให้เรียกชื่อใหม่ ตามระบอบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล คือ
                เจ้าเมือง เรียกว่า ผู้ว่าราชการเมือง
                อุปฮาด  เรียกว่า ปลัดเมือง
                ราชวงค์  เรียกว่า ยกกระบัตรเมือง
                ราชบุตร  เรียกว่า ผู้ช่วยราชการเมือง

            ในปี พ.ศ.๒๔๔๒ ให้เรียกชื่อเมืองชายพระราชอาณาเขต สามมณฑลตามชื่อพื้นที่ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศเรียกชื่อเมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองอุบล ฯ เมืองศรีสะเกษ และหัวเมืองอื่น ๆ ที่รวมกันเป็นมณฑลลาวกาว ว่ามณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ และพระราชทานศักดินาแก่เจ้านาย พระยาท้าวแสนเมือง ประเทศราชให้มีศักดิ์ และสิทธิ์เทียบเท่ากับข้าราชการไทยทั่วไป
            ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ ให้เรียกมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือว่า มณฑลอีสาน และได้แบ่งออกเป็นห้าบริเวณ บริเวณอุบล ฯ มีสามเมือง คือเมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองยโสธร และเมืองเขมราฐ
            ในปี พ.ศ.๒๔๔๔ เกิดขบวนการผู้มีบุญมลฑลอีสาน หลายรายด้วยกัน โดยสะท้อนสภาพปัญหาสังคมในรูปของวรรณกรรม ผญา คำพังเพย กลอนลำ ฯลฯ กลุ่มผู้นำเช่น กองอ้ายมั่น บ้านกระจีน  แขวงเขมราฐ กองอ้ายเล็ก บ้านหนองซำ อำเภอพยัคฆภูมิ เมืองสุวรรณภูมิ กองอ้ายบุญจัน เมืองขุขันธ์ ซึ่งเชื่อถือในพญาธรรมิกราช
            ในปี พ.ศ.๒๔๘๗ ปลายสงครามมหาเอเซียบูรพา ญี่ปุ่นทะยอยส่งเชลยศึกซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดเนเซีย มาเลเซีย อังกฤษ อเมริกา และดัชท์ มายังจังหวัดอุบล ฯ เพราะได้เตรียมให้ภาคอีสานเป็นแนวต้านทานสุดท้าย  เนื่องจากมีพื้นที่ติดต่อกับอินโดจีน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ สงครามมหาเอเซียบูรพายุติลง จังหวัดอุบล ฯ ได้ปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นแล้วส่งเข้าค่ายเชลยที่กรุงเทพ ฯ โดยทางรถไฟ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์