โบสถ์คาทอลิก ในปี ค.ศ. 1707 (พ.ศ. 2250)
พระสังฆราช เดอ ชีเช ซึ่งเป็นประมุขพระศาสนจักรแห่งสยาม
อันมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา
ทราบข่าวว่ามีคาทอลิกกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งที่จันทบุรี
คนเหล่านี้เป็นคนญวนหรือเวียตนามที่ลี้ภัยมาอยู่ในดินแดนกรุงสยาม ท่านจึงส่งคุณพ่อเฮิ้ต
(Heutte) มิสชั่นเนอรี่ชาวฝรั่งเศสในอาณัติมาดูแลคาทอลิกกลุ่มนี้
แต่เณรชาวตังเกี๋ย 2
คนที่เดินทางมากับคุณพ่อถูกจับข้อหาว่าจะเดินทางออกพระราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
ต้องโทษจำคุกระยะหนึ่ง
เมื่อพ้นโทษแล้วคุณพ่อจึงได้เดินทางต่อมาถึงจันทบุรีในปี ค.ศ. 1711 (พ.ศ. 2254)
คุณพ่อพบว่ากลุ่มคาทอลิกชาวญวนนั้นมีประมาณ 120-130 คน
จึงร่วมมือกันสร้างโบสถ์น้อยขึ้นหลังหนึ่งบนฝั่งขวา(ฝั่งตะวันตก)ของแม่น้ำจันทบุรี
บนเนินสูงริมฝั่งทางทิศใต้ของวัดจันทนารามประมาณ 200- 300 เมตร
สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งโบสถ์ในปัจจุบัน
หลังจากนั้นก็ได้มีการบูรณะซ่อมแซมเพิ่มเติม
และสร้างขึ้นใหม่อีกหลายครั้งสรุปโดยย่อดังนี้
ค.ศ. 1711 คุณพ่อเฮิ้ต
เจ้าอาวาสองค์แรก
ค.ศ. 1712
โบสถ์น้อยหลังแรกฝั่งตะวันตก
ค.ศ. 1753
โบสถ์น้อยฝั่งตะวันตกหลังที่ 2
ค.ศ. 1834
โบสถ์แรกฝั่งตะวันออก (หลังที่ 3)
ค.ศ. 1855
โบสถ์หลังที่ 2 ฝั่งตะวันออก (หลังที่ 4)
ค.ศ. 1906
วางศิลาฤกษ์วัดหลังปัจจุบัน (หลังที่ 5)
ค.ศ. 1909
พิธีเสกวัดอย่างสง่างาม โดยคุณพ่อ กอลอมเบต์ คุณพ่อเปรีกาล ผู้อำนวยการสร้าง
หลังจากพิธีเสกวัด
ก็ได้มีการติดตั้งนาฬิกาเรือนใหญ่ (เส้นรอบหน้าปัด 4.7 เมตร) บนหอสูง
และมีการติดตั้งส่วนประกอบต่างๆอีกคือปี ค.ศ. 1912-1914 (พ.ศ. 2455-2457)
ติดตั้งกระจกสีเหนือหน้าต่าง และภาพนักบุญต่างๆ ปี ค.ศ. 1921 (พ.ศ. 2464)
ทำเพดานวัด ปีค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) มีพิธีเสกระฆัง 3 ใบ ใบใหญ่หนัก 650 กก.
ใบกลางหนัก 325 กก. ใบเล็กหนัก 160 กก. ทั้ง 3
ใบติดตั้งบนหอสูงข้างเดียวกับที่ติดตั้งนาฬิกา
สรุปได้ว่ากว่าจะสร้างวัดหลังที่ 5 นี้เสร็จสมบูรณ์จริงๆในปี ค.ศ. 1926
รวมระยะเวลาในการสร้างทั้งหมดมากกว่า 200 ปี
สภาพโดยทั่วไป :
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ที่
110 หมู่ 5 ต.จันทนิมิต อ.เมือง จ.จันทบุรี
มีแม่น้ำจันทบุรีไหลผ่านบริเวณด้านหน้า
ทางทิศเหนือของโบสถ์มีอาคารที่ใช้ประกอบกิจกรรมของวัดได้แก่ อาคารสันติสุข (ศาลาพักศพ)
เนิร์สเซอรี่"ยอแซฟพิทักษ์" และหอประชุมนิรมล ทางด้านทิศใต้มีบ้านพักพระสงฆ์
ถ้ำจำลองแม่พระเมืองลูร์ด อาคารแพร่ธรรม โรงเรียนสตรีมารดาพิพักษ์
และศูนย์กลางภคินีรักไม้กางเขน
การปกครอง
อยู่ภายใต้การดูแลของพระสังฆราช และคณะสงฆ์สังฆมณฑลจันทบุรี
มีเจ้าอาวาสที่เคยปกครองวัดนี้มามากกว่า 20 องค์
ลักษณะการก่อสร้าง
มีลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกซึ่งเรียกว่า "ศิลปะแบบโกธิค"
ตัวอาคารยาว 60 เมตร กว้าง 20 เมตร
มีหอแหลมสูงเด่นในตอนเริ่มแรกสร้าง ทั้งสองด้าน ต่อมาปี ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483)
ทางการสั่งให้รื้อออก
เพราะเกรงว่าจะเป็นเป้าของระเบิดทางอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
หอสูงด้านขวามีนาฬิกาเรือนใหญ่ติดตั้งอยู่ เส้นรอบหน้าปัดวัดได้ 4.70 เมตร
จากหอสูงนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองจันทบุรีได้ไกลประมาณ 2 กิโลเมตร
ศิลปะ
วัดหลังนี้ได้รับการประดับประดาตกแต่งทั้งภายในและภายนอกด้วยศิลปะเก่าแก่อย่างสวยงาม
มีคุณค่าทั้งทางด้านศิลปะ ด้านความสวยงาม และด้านของโบราณ (Antiques)
ประกอบด้วยภาพกระจกสีที่เรียกว่า สเตนกลาส
เป็นรูปของนักบุญหลายองค์ติดอยู่บริเวณเหนือพระแท่นบูชา และเหนือหน้าต่าง
ทั้งทางด้านขวาและด้านซ้ายของสักการะสถาน กระจกสีเหล่านี้มีอายุรวม 100 ปี
แต่สีสันยังเด่นชัด ไม่ลอกลบเลือนแต่อย่างใด นับว่าเป็นสิ่งงดงามหาค่ามิได้
นอกจากนี้บริเวณพระแท่นได้รับการตกแต่งแบบโกธิค พื้นปูด้วยหินอ่อน
บริเวณเหนือพระแท่นบูชา มีรูปกางเขนและพระรูป พระนางมารีอาปฎิสนธินิรมล
องค์ประธานของวัดตั้งตระหง่านอย่างงดงาม รวมทั้งรูปปั้นของนักบุญยออากิม
และนักบุญอันนา บิดามารดาของพระนางมารีด้วย
อาสนวิหารแห่งนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์อาคารดีเด่น ประจำปี 2542
จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชินูปถัมภ์