วัดทองทั่ว
สถานที่ตั้ง เลขที่ ๓๕ หมู่ ๔ ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
ประวัติความเป็นมา
วัดทองทั่ว เป็นวัดเก่าแก่ลำดับที่ ๑๒ ของบรรดาวัดในจังหวัดจันทบุรี
สร้างในยุคเมืองจันทบุรีตั้งอยู่บริเวณใกล้วัดนี้
ยังมีหลักฐานกำแพงเมืองปรากฏอยู่ใกล้วัด มีหลักฐานเก่าให้เชื่อได้ว่าเป็นวัดโบราณ
อาทิ ในเสมาของอุโบสถเก่าเป็นแบบ "ใบเสมาคู่"
วัดนี้มีพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์องค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย จากตำนานเล่ากันมา
สมัยเมืองจันทบุรีตั้งอยู่หน้าเขาสระบาป พระนางกาไวได้เป็นผู้สำเร็จการแทนโอรส
ซึ่งยังทรงพระเยาว์ ต่อมาโอรสของพระเหสีองค์เดิมได้กรีฑาทัพมาตีเมืองจันทบุรี
พระนางกาไวเห็นว่าสู้ไม่ได้ ทรงเอาทองออกมาหว่านล่อทหารข้าศึกให้พะวงเครื่องอัญมณี
พระนางจึงหนีได้สะดวก สถานที่หว่านทองต่อมาเรียกว่า "ทองทั่วหรือโคกทองทั่ว"
เมื่อสร้างวัดนี้เสร็จจึงชื่อว่า "วัดทองทั่ว"วัดทองทั่ว มีเนื้อที่ ๒๔ ไร่ ๓ งาน ๒
ตารางวา มีอาณาเขตติดต่อกับธารน้ำไหลจากเขาสระบาปด้านทิศใต้
ส่วนที่เหลือติดกับที่ของเอกชน มีสิ่งก่อสร้างได้แก่ อุโบสถ สร้าง พ.ศ. ๒๕๒๔
ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ๗ หลัง เป็นไม้ และหอระฆัง โบราณสถาน ได้แก่
อุโบสถหลังเก่าและเจดีย์เก่าแก่ และมีโบราณวัตถุสมัย
ขอมซึ่งทางวัดได้รวบรวมไว้ในโบสถ์หลังเก่าหลายชิ้น
ความสำคัญต่อชุมชน
วัดทองทั่ว เป็นศูนย์กลางของชุมชนในอดีต ปัจจุบันเป็นศาสนสถานสำหรับพุทธศาสนิกชน
และศูนย์รวมของชุมชนในด้านประเพณีทางศาสนา การศึกษา
เพราะในบริเวณวัดมีโรงเรียนของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรี
ซึ่งสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์อารยธรรมในสมัยโบราณ
และประวัติศาสตร์ของจังหวัดจันทบุรี
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
วัดทองทั่ว เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งมีพระอุโบสถและเจดีย์อายุเกือบ ๒๐๐ ปี
ตัวโบสถ์มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๓ เมตรครึ่ง
มีเฉลียงยื่นทางหน้าและหลังอีกด้านละ ๒ เมตรครึ่ง
ตัวโบสถ์ตั้งเป็นแนวเดียวกับเจดีย์ด้านหลัง และมีเจดีย์ด้านหน้า
ซึ่งตั้งอยู่เยื้องไปทางขวาเล็กน้อยลักษณะของโบสถ์ เป็นอาคารทรงไม่สูง
ผนังก่ออิฐถือปูน ผนังเดิมเป็นการฉาบปูนพื้นบ้าน
ปัจจุบันได้มีการซ่อมส่วนฐานและผนังที่ชำรุด มีประตูเข้าด้านหน้า๒ ประตู ด้านหลัง ๒
ประตู หน้าต่างด้านละ ๓ บาน การตกแต่งประตู-หน้าต่าง
มีลักษณะโค้งประดับในส่วนบนด้วยการปั้นปูนและช่องผนังเป็นลักษณะโค้งมนหลังคา
เป็นโครงสร้างไม้ทรงจั่ว มุงกระเบื้องกาบกล้วยในตอนบน
ในส่วนล่างมีการบูรณะเปลี่ยนเครื่องมุงใหม่เป็นกระเบื้องว่าว
ซึ่งมีตัวกลอนและระแนงรองรับกระเบื้อง มีเสาไม้กลม ๘ ต้น
เอียงสอบรับโครงสร้างจากลักษณะทั่วไป ๆ ไป
ถึงแม้ตัวโบสถ์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในยุคหลังก็ยังคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกร่องรอยในการที่จะศึกษาต่อไป
จากหลักฐานข้างเคียงมีใบเสมาหินทรายซึ่งฝังอยู่ในลักษณะคู่ทั้ง ๔
มุมของโบสถ์แต่ละอันมีรูปแกะสลักหิน ซึ่งเป็นรูปแบบตามคติวัดหลวงในอดีต
ด้านหน้าและหลังมีเจดีย์ทรงระฆังกลมซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคตินิยมในการสร้างเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่
๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นทรงพระราชนิยมวัดทองทั่วในปัจจุบันนี้
นอกจากจะมีโบสถ์อายุเกือบ ๒๐๐ ปี
แล้วยังเป็นแหล่งสะสมหลักฐานทางศิลปะสายวัฒนธรรมเขมรไว้จำนวนหนึ่ง
ซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์อารยธรรมเขมรเป็นอย่างดี
เดิมโบราณวัตถุเก็บไว้ใต้ศาลาการเปรียญหรือกุฏิสงฆ์
ต่อมาทางวัดได้นำมาตั้งไว้รอบโคนต้นมะขาม
ใหญ่อายุนับร้อยปี ซึ่งอยู่หน้ากุฏิพระสงฆ์
โดยการก่อปูนขึ้นมาเป็นฐานแล้วยึดติดโบราณวัตถุเหล่านี้เอาไว้
ปัจจุบันได้นำมาไว้ที่อุโบสถหลังเก่า ได้แก่
๑. ทับหลังแบบศิลปถาลาบริวัติ
นับว่าเป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมแบบถาลาบริวัติที่เก่าที่สุด ในประเทศไทย
๒. ทับหลังแบบศิลปไพรกเมง
๓. เสาอิงประดับกรอบประตู หินทรายขาว แบบศิลปถาลาบริวัติ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๕
เซนติเมตร
๔. เสาอิงประดับกรอบประตูรูปแปดเหลี่ยม หินทรายสีเทาแบบศิลปะนครวัดตอนปลาย
๕. ภาพลักษณ์ลายเส้นพระพิฆเณศร และงวง หูช้าง หิน
เป็นประติมากรรมอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘
นอกจากนี้ ในบริเวณวัดทองทั่วเองก็ยังมีโกลนแห่งทับหลัง
หรือกรอบประตูหน้าโบสถ์ฐานโยนิ และสิงห์ หินสลักที่เริ่มขึ้นโกลน
หรือถูกดินฟ้าอากาศชะจนจนสึกกร่อนเป็นโกลน จนไม่สามารถอ่านรายละเอียดได้
เส้นทางเข้าสู่วัดทองทั่ว
จากตัวเมืองจันทบุรี ไปตามถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข ๓) สายจันทบุรี-ตราดประมาณ ๓
กิโลเมตร ถ้ามาจากตัวเมืองจันทบุรีจะเห็นป้ายบอกทาง
เลี้ยวขวาไปตามถนนเข้าวัดและหมู่บ้านประมาณ ๑ กิโลเมตร