เขาวังอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)
เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ ๓ ยอด
ยอดที่สูงที่สุดสูง ๙๕ เมตร แต่เดิมชาวบ้านเรียกภูเขานี้ว่า เขาสมน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้
จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระสมุหกลาโหมเป็นแม่กองก่อสร้าง
จนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๓ ทรงพระราชทานนามว่าพระนครคีรี
แต่ชาวเมืองเพชรเรียกกันติดปากว่าเขาวัง สืบมาจนบัดนี้ พระนครคีรีมีพระที่นั่ง
พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่าง ๆ มากมาย
ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนิโอคลาสสิคผสมสถาปัตยกรรมจีน
ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ๆ ๓ ยอดด้วยกัน ดังนี้
ยอดเขาด้านทิศตะวันออก บริเวณไหล่เขาเป็นที่ตั้งของวัดมหาสมณาราม
ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนฝีมือขรัวอินโข่งบนผนังทั้งสี่ด้าน
เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนบนยอดเขาเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว
เป็นวัดประจำพระราชวังพระนครคีรี เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ซึ่งเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ
ภายในวัดพระแก้วประกอบด้วยพระอุโบสถขนาดเล็ก ประดับด้วยหินอ่อน
ด้านหลังเป็นพระพุทธเสลเจดีย์
ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นหอระฆังรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมขนาดเล็ก
เขายอดกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุจอมเพชร มีความสูง ๔๐ เมตร
บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน จากจุดนี้สามารถมองเห็นพระที่นั่งต่าง ๆ
บนยอดเขาอีก ๒ ยอด รวมทั้งทิวทัศน์ของตัวเมืองเพชรบุรีได้อีกด้วย
ยอดเขาด้านทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับอันได้แก่
พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์
พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา หอชัชวาลเวียงชัย
หอพิมานเพชรมเหศวร์ พระที่นั่งสันถาคารสถาน หอจตุเวทปริตพัจน์
ศาลาทัศนานักขัตฤกษ์ นอกจากนี้แล้วยังมีโรงรถ โรงม้า ศาลามหาดเล็ก ศาลาลูกขุน
ศาลาด่าน ศาลาเย็นใจ ทิมดาบองครักษ์ โรงครัว ตามแบบพระราชวังทั่วไป
รอบพระราชวังมีป้อมล้อมอยู่ทั้ง ๔ ทิศคือ ป้อมธตรฐป้องปกทางทิศตะวันออก
ป้อมวิรุฬหกบริรักษ์ทางทิศใต้ ป้อมวิรูปักษ์ป้องกันทางทิศตะวันตก และป้อมเวสสุวรรณรักษาทางทิศเหนือ
กรมศิลปากรได้ใช้บางส่วนของพระราชวังบนยอดเขาด้านทิศตะวันตกนี้จัดตั้งเป็น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุต่าง ๆ ได้แก่
เครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รูปหล่อโลหะสำริดและทองเหลืองที่ใช้สำหรับตกแต่งห้องต่าง ๆ ในพระที่นั่ง
และเครื่องกระเบื้องของจีน ญี่ปุ่น และยุโรป
เฉพาะส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๑๕ น.
ทุกวัน
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๓๐๑๖.๓๐ น.
ค่าเข้าชม (รวมค่าเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี) ชาวไทย ๒๐ บาท
ชาวต่างประเทศ ๔๐ บาท นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี
(เขาวัง)ได้โดยการเดินขึ้นหรือโดยสารรถรางไฟฟ้า (ตั๋วไป-กลับ) เสียค่าบริการ
ผู้ใหญ่ ๓๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ (๐๓๒) ๔๒๕๖๐๐
วัดพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่เชิงเขาวังด้านทิศใต้ ถนนคีรีรัฐยา
ไม่ไกลจากศาลหลักเมือง เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีลักษณะงดงามและมีขนาดใหญ่
สร้างด้วยอิฐตลอดทั้งองค์และลงรักปิดทอง ฝีมือช่างสมัยอยุธยา
วัดเขาบันไดอิฐ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔ และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวง ๓๑๗๑
ห่างจากเขาวังประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นเขาขนาดย่อมมียอดสูง ๑๒๑ เมตร
วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียง
สมเด็จพระเจ้าเสือเคยเสด็จมาฝากตัวเป็นศิษย์ของวัดนี้
ในอดีตวัดเขาบันไดอิฐมีชื่อเสียงมากทางวิทยาคมในช่วงที่หลวงพ่อแดง
พระเกจิชื่อดังของจังหวัดเพชรบุรีเป็นเจ้าอาวาส
ทำให้มีผู้ให้ความเคารพและเดินทางมาสักการะเป็นจำนวนมาก
วัดนี้เป็นวัดที่มีชื่อเสียงทางด้านความงามของศิลปะปูนปั้นชั้นครูที่ฝากผลงานไว้เหนือหน้าบันพระอุโบสถ
นอกจากนั้นบริเวณวัด ยังมีถ้ำให้ชมอีกหลายแห่ง ถ้ำแรก คือ ถ้ำประทุน
มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามผนังถ้ำทั้งสองด้าน ลึกเข้าไปจะเป็นถ้ำ
พระเจ้าเสือ ที่ชื่อเช่นนี้เพราะมีเรื่องเล่ากันมาว่า
พระเจ้าเสือได้เสด็จมาหาอาจารย์แสง
และได้ถวายพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรประดิษฐานไว้ในถ้ำแห่งนี้
ถัดจากถ้ำนี้เข้าไปทางด้านใต้จะมีถ้ำพระพุทธไสยาสน์
จะมีพระนอนองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่
และตรงซอกผนังถ้ำมีประทุนเรือทำด้วยไม้เก่าแก่มาก
เป็นประทุนเรือที่พระเจ้าเสือถวายอาจารย์แสง นอกจากถ้ำทั้งสามนี้แล้ว
ยังมีถ้ำอื่น ๆ เช่น ถ้ำพระอาทิตย์ ถ้ำพระจันทร์ ถ้ำสว่างอารมณ์ ถ้ำช้างเผือก
และถ้ำดุ๊คซึ่งมีชื่อตามดุ๊คโยฮันฮัลเบิร์ต ผู้สำเร็จราชการเมืองปอร์นสวิค (Braunschweig)
ประเทศเยอรมัน ผู้เคยมาเยือนเพชรบุรีและมาเที่ยวถ้ำแห่งนี้
ถ้ำเขาหลวง อยู่บนเขาหลวง ห่างจากเขาวังประมาณ ๕ กิโลเมตร
จากเชิงเขามีบันไดคอนกรีตนำสู่ทางลงถ้ำ เขาหลวงเป็นภูเขาขนาดเล็กมีความสูง ๙๒
เมตร มีหินงอกหินย้อยสวยงาม
ภายในมีปล่องที่แสงอาทิตย์สามารถส่องเข้ามาภายในถ้ำได้ทำให้สวยงามยิ่งขึ้น
ถ้ำเขาหลวงถือเป็นถ้ำใหญ่และสำคัญที่สุดในเมืองเพชร
ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์อันสำคัญยิ่ง
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดให้สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งเคยเสด็จประพาสมาและทรงโปรดถ้ำแห่งนี้มาก
ทั้งยังทรงบูรณะพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณภายในถ้ำนี้หลายองค์ด้วยกัน
และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบันไดหินลงไปในถ้ำ
ตรงทางเข้าเชิงเขาหลวงด้านขวามือมีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง ชาวเมืองเรียกว่า
วัดถ้ำแกลบ ปัจจุบันชื่อ วัดบุญทวี ซึ่งเป็นวัดใหญ่ น่าชมมาก
เพราะท่านเจ้าอาวาสวัดนี้เป็นช่าง ได้ออกแบบและสร้างศาลาการเปรียญที่ใหญ่โต
ประตูโบสถ์เป็นไม้สลักลายสวยงามมาก วัดถ้ำแกลบนี้มีตำนานเล่าว่า
ปากถ้ำแกลบที่วัดนี้คือ
ทางเข้าสู่เมืองลับแลอันเป็นเมืองที่มีแต่หญิงสาวทั้งนั้น
แต่ก็เป็นเพียงตำนานของชาวเมืองเพชรนับร้อยปีมาแล้ว
วัดมหาธาตุวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชร ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ
๕๐๐ เมตร ภายในวัดมีพระปรางค์ห้ายอด สร้างตามศิลปะขอม
ปรางค์แต่ละองค์สร้างด้วยศิลาแลง ปรางค์องค์ใหญ่สูง ๔๒ เมตร
ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ
ภาพปูนปั้นที่ประดับอยู่ตามพระอุโบสถวิหารหลวง
รวมถึงศาลาภายในวัดล้วนเป็นฝีมือช่างเมืองเพชร ซึ่งงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นอกจากนั้นในวิหารยังบรรจุพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเพชรบุรีนับถือมาก คือ
รูปหลวงพ่อวัดมหาธาตุ รูปหลวงพ่อบ้านแหลม และรูปหลวงพ่อวัดเขาตะเครา
วัดใหญ่สุวรรณาราม อยู่ที่ถนนพงษ์สุริยา ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๑
กิโลเมตร วัดนี้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา
และได้มีการบูรณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภายในวัดมีศาลาการเปรียญ
เป็นพระตำหนักไม้สักทั้งหลังที่พระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา
พระราชทานแด่พระสังฆราชชาวเพชรบุรี ศาลาการเปรียญนี้มีการแกะสลักไม้ที่สวยงาม
โดยเฉพาะบานประตูสลักลายก้านขดปิดทอง และยังมีธรรมาสน์เทศน์
ซึ่งแกะสลักลงรักปิดทอง รูปทรงเป็นบุษบกที่งดงามและสมบูรณ์
บนผนังภายในพระอุโบสถ มีภาพเขียนเทพชุมนุม อายุกว่า ๓๐๐ ปี
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมศิลปกรรมในพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ
ต้องไปติดต่อขอกุญแจที่เจ้าอาวาส
วัดกำแพงแลง ตั้งอยู่ที่ถนนพระทรง ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๒
กิโลเมตร วัดนี้เดิมเป็นเทวสถานในสมัยขอม สร้างตามลัทธิศาสนาพราหมณ์
ต่อมาเมื่ออิทธิพลของศาสนาพุทธได้แผ่ขยายเข้ามาในบริเวณนั้น จึงได้ดัดแปลงเทวสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน
และหินยานตามลำดับ เทวสถานที่สร้างขึ้นเดิมมีปรางค์ ๕ หลัง ทำด้วยศิลาแลง
ปัจจุบันเหลือเพียง ๔ หลัง สันนิษฐานว่าปรางค์แต่ละหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป
เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระนางอุมา เพราะเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙
มีผู้ขุดพบรูปสลักของพระนางอุมาในปรางค์องค์หนึ่งที่พังลง วัดนี้เมื่อดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแล้วได้สร้างพระอุโบสถขึ้น
โดยมิได้เปลี่ยนสภาพเดิมไปมากนัก จะเห็นได้ว่ารอบ ๆ วัด
ยังมีกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบอยู่
หาดเจ้าสำราญ
เป็นชายหาดที่เคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากตั้งแต่สมัยโบราณ
ตามประวัติเล่ากันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เคยเสด็จมาที่นี่พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ
ทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของหาดแห่งนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวัน
จนกระทั่งชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า หาดเจ้าสำราญ มาจนปัจจุบัน
หาดเจ้าสำราญเจริญถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ ๖
หาดเจ้าสำราญมีชื่อเสียงกว่าชายทะเลแห่งใด ๆ ในเมืองไทยสมัยนั้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างพระตำหนักที่ประทับขึ้น ณ ริมหาดแห่งนี้เรียกว่า พระตำหนักหาดเจ้าสำราญ
สำเร็จในปีพ.ศ. ๒๔๖๑ ต่อมารื้อไปสร้างใหม่ที่บริเวณอำเภอชะอำ เรียกชื่อว่า
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน บริเวณหาดมีที่พักและร้านอาหารบริการด้วย
การเดินทาง อยู่ห่างจากตลาดเมืองเพชรบุรี ๑๕ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข
๓๑๗๗ ผ่านสถาบันราชภัฏเพชรบุรีไปประมาณ ๑๓ กิโลเมตร
สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง
สามารถนั่งรถสองแถวที่วิ่งระหว่างตัวเมือง-หาดเจ้าสำราญ
รถจะจอดบริเวณข้างธนาคารกรุงไทย ถนนวัดท่อใกล้หอนาฬิกา มีบริการตั้งแต่เวลา
๐๗.๓๐-๑๘.๑๕ น.
พระรามราชนิเวศน์ หรือ พระราชวังบ้านปืน ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหม้อ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีพระราชประสงค์ให้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
เพื่อเป็นพระราชนิเวศน์สำหรับประทับแรมในฤดูฝน ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้จัดซื้อที่จากราษฎร
และให้จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง
สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ออกแบบโดยมิสเตอร์คาล เดอริง ชาวเยอรมัน
เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๕๙
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท
และทรงเปลี่ยนเป็นพระรามราชนิเวศน์ ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือ โรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรม
โรงเรียนประชาบาลประจำตำบล
พระรามราชนิเวศน์ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๘.๐๐ ๑๖.๐๐ น.
โดยไม่เสียค่าเข้าชม สำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าชมเป็นหมู่คณะ
และต้องการวิทยากรบรรยาย สามารถทำหนังสือถึงผู้บังคับการทหารบกจังหวัดเพชรบุรี
ค่ายรามราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ๗๖๐๐๐ โทร. (๐๓๒) ๔๒๘๕๐๖-๑๐ ต่อ
๒๕๙