พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง ตั้งอยู่ภายในวัดม่วง ตำบลบ้านม่วง ริมแม่น้ำแม่กลอง
วัดม่วงเป็นวัดเก่าแก่ ตามประวัติบอกไว้ในคัมภีร์ใบลานเขียนด้วยอักษรมอญว่า
มีอายุอยู่ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงเวลานั้น
ชุมชนบ้านม่วงและบริเวณสองฝั่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
มีกลุ่มชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายมอญ อยู่ร่วมกันกับกลุ่มชนอื่น เช่น ไทย
จีน ลาว ญวน เขมรและกะเหรี่ยง มีการผสมผสานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน
เกิดเป็นเอกลักษณ์ของคนในท้องถิ่นและความที่ชุมชนบ้านม่วงมีวิถีชีวิตผูกผัน
อยู่กับประเพณีและความเชื่อดั่งเดิม
ทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นขุมทรัพย์ทางความรู้ด้านมอญศึกษาแก่ผู้สนใจมากมาย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งค้นคว้ารวบรวมประวัติความเป็นมา
วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นชาวมอญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
แบ่งการจัดแสดงออกเป็นห้องต่างๆ สามารถเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายโดยเริ่มจาก
ห้องโถง มอญในตำนาน มอญในทางประวัติศาสตร์ ภาษามอญและจารึกภาษามอญ
ประเพณีวัฒนธรรมมอญ มอญอพยพ มอญในไทยและผู้นำทางวัฒนธรรม
มีการจัดแสดงโบราณวัตถุ
โดยมีวัดม่วงซึ่งตามปกติที่สืบค้นได้ชี้ชัดให้เห็นว่ามีอายุการสร้างเก่าแก่มานานกว่า
๓๐๐ ปีมาแล้ว เป็นวัดที่สำคัญและศูนย์กลางกิจกรรมและจิตใจของชุมชน
ด้วยความที่บ้านม่วงเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงมีวิถีชีวิตผูกพันกับประเพณีและความเชื่อดั้งเดิม
และการที่เจ้าอาวาสวัดม่วง (พระครูวรธรรมพิทักษ์)
รวมทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการที่จะสืบทอดความภาคภูมิใจในมรดกวัฒนธรรมข้างต้นไว้ในรูปของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
เพื่อให้เป็นแหล่งค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาวิถีชีวิต
ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมประเพณีของอดีตจนถึงปัจจุบันไว้
จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดตั้ง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง
ขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕
อันแล้วเสร็จและเปิดบริการให้ผู้สนใจเข้าชมได้โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประทานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๒๖
กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖
เนื้อหาในการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วงสามารถจำแนกออกได้เป็น ๕
ส่วนด้วยกัน คือ
ส่วนแรก
เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับความสำคัญของลุ่มแม่น้ำแม่กลองอันมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
รวมทั้งความสำคัญในฐานะที่เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อค้าขายทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ซึ่งหลักฐานที่ปรากฏจะมีทั้งโบราณวัตถุ ประเภทขวานหิน เครื่องปั้นดินเผา
เครื่องมือเครื่องใช้สำริด เครื่องประดับจากหินสี ฯลฯ
ส่วนที่สอง
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น
โดยจัดแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านม่วงและชุมชนใกล้เคียง
ความสัมพันธ์ของกลุ่มชนต่าง ๆ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
บทบาทของชาวจีนต่อการเกิดชุมชนแบบตลาดและบทบาทของคณะเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในหมู่ชาวไทยเชื้อสายมอญในฐานะผู้นำระบบการรักษาพยาบาลแบบใหม่มาสู่ท้องถิ่น
ซึ่งการจัดแสดงส่วนนี้จะใช้ภาพถ่ายเก่าเป็นส่วนสำคัญบ่งบอกให้ผู้เข้าชมเข้าใจ
ส่วนที่สาม
เป็นเรื่องราวของบ้านม่วงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเด่นที่มีความสำคัญที่สุดในการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์
เพราะการจัดแสดงส่วนนี้จะบ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มั่นคงของชาวไทยเชื้อสายมอญบ้านม่วงที่เป็นผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนาและเป็นผู้ให้คุณค่าอย่างสูงต่อการศึกษา
โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในการให้การศึกษาและการอบรมสั่งสอนให้เชื่อมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา
และมีพระสงฆ์เป็นผู้นำทางภูมิปัญญาของท้องถิ่นสืบเนื่องเสมอมา
ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากหลักฐานเกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้เนื่องในศาสนาเป็นจำนวนมากที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์
ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์ใบลาน ธรรมาสน์ ภาพพระบฏ ตู้พระธรรม กล่องใส่คัมภีร์ใบลาน
ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน ฯลฯ
ส่วนที่สี่
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านม่วงที่มีทั้งวิถีชีวิตประจำวัน
การประกอบอาชีพ คติความเชื่อ และประเพณีในรอบปี
ซึ่งจัดแสดงโดยใช้ภาพถ่ายและศิลปะโบราณวัตถุเป็นส่วนสำคัญในการบอกกล่าวเรื่องราวถ่ายทอดสู่ผู้เข้าชม
ส่วนที่ห้า
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงในชุมชนบ้านม่วงและท้องถิ่นใกล้เคียง
ซึ่งจะใช้ภาพถ่ายเป็นส่วนสำคัญในการสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต
การประกอบอาชีพ
คติความเชื่อและประเพณีในรอบปีของชาวบ้านม่วงและท้องถิ่นใกล้เคียง
นอกจากนั้นภายในวัดยังมีศูนย์มอญศึกษา
เปิดสอนภาษามอญให้กับบุคคลทั่วไปทุกวันพุธ และวันพฤหัสบดี
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วงเปิดให้เข้าชมในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา
09.00�16.00 น. โดยไม่เสียเข้าชม (หากสนใจเข้าชมวันจันทร์-ศุกร์
กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม และ
เข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้าหรือทำหนังสือเรียนเจ้าอาวาสวัดม่วง)
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3237 2548,
086-004 0786,
089-885 8817 หรือที่เว็บไซต์ www.monstudies.org
พิพิธภัณฑ์
พื้นบ้านวัดม่วงขอเชิญชวนผู้เข้าชมที่เดินทางมาเป็นหมู่คณะตั้งแต่ 10
คนขึ้นไปลองลิ้มชิมรสอาหารคาวหวานพื้นบ้านแบบมอญ เช่น แกงบอน น้ำปลายำ แกงมะตาด
ในราคาเป็นกันเอง ติดต่อล่วงหน้าที่คุณสอางค์ พรหมอินทร์
บริเวณวัดยังมีศูนย์ทอผ้าพื้นบ้าน จำหน่ายผ้าทอมือ ผ้าขาวม้าฝีมือชาวบ้าน
เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น.
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 086-111 1367
การเดินทาง
รถยนต์
จากตัวเมืองราชบุรีไปตามทางหลวงหมายเลข 4
แล้วแยกเข้าอำเภอบ้านโป่ง ไปตามทางหลวงหมายเลข 3089
(โคกสูง-เบิกไพร)
(ทางไปถ้ำเขาช่องพราน) จากนั้นข้ามสะพานแม่น้ำแม่กลองตรงไปประมาณ
7
กิโลเมตรและจากปากทางแยกเข้าไปอีก 2.5
กิโลเมตร ก็จะถึงพิพิธภัณฑ์
รถโดยสารประจำทาง
จากกรุงเทพฯ นั่งรถสายกรุงเทพฯ-กาญจนบุรีมาลงที่อำเภอบ้านโป่ง
แล้วนั่งรถโดยสารประจำทางสายบ้านโป่ง-โพธาราม มาลงที่หน้าวัดม่วง