ตลาดน้ำดำเนินสะดวก
|
๏
พี่ดำเนิน เดินนำ
สู่ลำน้ำ
น้องก็จ้ำ น้ำก็จ้อง
เที่ยวมองหา
เช่าเรือเล่น
เช่นเรือเรา เช่าเขามา
ล่องธารา น้องใคร
อยู่ในคลอง ๚ |
ชีวิตหนอชีวิต
...
ทำไมถึงเพลิดเพลินได้ขนาดนี้
... อ๋อ!
เพราะเราเกิดเป็นคนไทยนั่นเอง
ในสมัยก่อนนั้นว่ากันว่าคนไทยเรานิยมสัญจรกันก็ทางน้ำ
โดยใช้แม่น้ำลำคลองเป็นถนน
อืมม์ ... น้องๆ
อย่าเพิ่งงงนะครับ
คงไม่ได้ขี่ช้างม้าวัวควายหรือเกวียนลงคลองหรอกนะจ๊ะ
แต่รุ่นคุณปู่คุณย่า(คุณตาคุณยาย)
ท่านใช้เรือเป็นพาหนะน่ะครับ
น้อยคนนักที่จะบุกเข้าพง
ที่ราชบุรีนี้ก็เช่นกัน
พื้นที่แต่เดิมก็เป็นลำคลองต่างๆ
มากมายทั้งคลองเล็กคลองใหญ่นับร้อย
เนื่องจากชาวบ้านทำสวนทำไร่และทำนา
ครือส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรปลูกพืชผักเลี้ยงชีพ
ดังนั้นการนำพืชไร่ออกมาค้าขายก็ต้องอาศัยคลองน้อยใหญ่
เพื่อเป็นหนทางในการเดินทาง
เมื่อมีคนมากขึ้น
แต่แม่น้ำลำคลองเท่าเดิม
การจราจรก็ติดขัด
ก็คงเหมือน รถติดในสมัยนี้
ซึ่งคงต้องมีการขยับขยายเหมือนการสร้างทางด่วน
แต่ต่างกันที่ว่าไม่ได้ ลอยฟ้า
เท่านั้น
ย้อนไปถึงสมัยอยุธยาก็มีการขุดคลองบางกอกใหญ่
คลองมหาชัยและคลองลัดเกร็ดกันไปแล้ว
พอมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๔
พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะขุดคลองเพื่อเชื่อมโยงแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลองเข้าด้วยกัน
โดยผ่านท้องที่ต่างๆ
ถึงสามจังหวัด
โดยเริ่มจากประตูน้ำบางยาง
แม่น้ำท่าจีน
อำเภอบ้านแพ้ว
จังหวัดสมุทรสาคร
ผ่านไปยังอำเภอดำเนินสะดวก
จังหวัดราชบุรี
ไปเชื่อมกับแม่น้ำแม่กลอง
ที่ประตูน้ำบางนกแขวกอำเภอบางคนที
จังหวัดสมุทรสงคราม
เพื่อความสะดวกในการสัญจร
ดังนั้น
ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๙
พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พระปราสาทสิทธิ์
ซึ่งในกาลต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
(ช่วง บุนนาค) ที่พระสมุหกลาโหม
เป็นผู้อำนวยการในการขุดคลองครั้งนี้
เพื่อเชื่อมสามจังหวัดเข้าด้วยกัน
ดังกล่าวในข้างต้น
โดยใช้แรงงานเป็นลูกจ้างชาวจีน
ขุดด้วยกำลังคนล้วนๆ
ใช้เวลาประมาณ ๒ ปี
จึงแล้วเสร็จ
สิ้นงบประมาณเป็นเงิน ๑,๔๐๐
ชั่ง หรือ ๑๑๒,๐๐๐ บาท
โดยมีขนาดกว้าง ๖ วา ลึก ๖
ศอก รวมระยะทางทั้งสิ้น ๓๒
กิโลเมตร
ทรงพระราชทานนามคลองนี้ว่า
คลองดำเนินสะดวก
เนื่องจากคลองดำเนินสะดวกมีระยะทางยาวถึง
๓๒ กิโลเมตร
จึงอาจเป็นปัญหาได้ เช่น
มีคำถามว่าบ้านอยู่ไหน?
แล้วได้รับคำตอบว่า บ้านอยู่ริมคลองดำเนินสะดวก
ถ้าได้รับคำตอบเพียงเท่านี้เวลาจะไปมาหาสู่กันคงพายเรือกันจนเมื่อยกว่าจะเจอ
ดังนั้นจึงมีการแบ่งระยะทางออกเป็นช่วงๆ
ด้วยการปัก หลักเขต
ทั้งหมด ๘ หลัก
โดยหลักที่ศูนย์จะอยู่ที่ประตูน้ำบางยางส่วนหลักที่
๑ ถึง ๕
จะอยู่ในอำเภอบ้านแพ้ว
หลักที่ ๖ และ ๗
จะอยู่ที่อำเภอดำเนินสะดวก
ส่วนหลักที่ ๘
จะอยู่ที่อำเภอบางคนที
พี่เล็กเคยขับรถจากวัดดอนยายหอม
จังหวัดนครปฐม
ไปทางบ้านแพ้ว
แล้วมีโอกาส
ได้ไปไหว้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
หลวงพ่อโตวัดหลักสี่
ซึ่งอยู่ริมคลองดำเนินสะดวก
ส่วนข้อมูลข้างต้นก็ได้มาจากหนังสือของวัดหลักหกรัตนาราม
อ.ดำเนินสะดวก ราชบุรี
ซึ่งจะสังเกตเห็นว่ามีการตั้งชื่อวัดตามหลักเขตด้วย
เช่น วัดหลักสี่
และวัดหลักหกฯ
โดยที่วัดยังทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นแหล่งความรู้ของชาวบ้านเสมอมา
อนึ่ง
ที่กรุงเทพมหานคร ก็มีเขต
หลักสี่
ซึ่งมาจากหลักบอกระยะทางเช่นกัน
โดยจะมีการปักหลักไว้ริมคลอง
เปรมประชากร ทุก ๆ
ระยะทาง ๑๐๐ เส้น
ซึ่งคลองนี้จะเป็นคลองขุดในสมัยรัชกาลที่
๕
เพื่อเป็นเส้นทางลัดไปสู่อยุธยา
เมื่อทราบประวัติเรื่องคลองดำเนินสะดวกกันมาพอสังเขปแล้วก็ขอเชิญลงคลอง
เดี๋ยวนะครับ น้องๆ ศรีธนนไชยอย่าเพิ่งกระโดดลงไปนะครับ
เพราะมีเรือให้เช่า
สนนราคาเรือพาย (พร้อมฝีพาย)
ก็ประมาณ ๓๐๐
บาทต่อหนึ่งรอบ (ทั่วตลาด)
ซึ่งอยากจะแวะตรงไหน
ซื้ออะไรก็บอกกับฝีพายได้เลย
เช่น แวะซื้อก๋วยเตี๋ยว
น้ำดื่ม
หรือผลไม้ก็ซื้อมารับประทานในเรือได้เลย
ได้สีสันเพิ่มรสชาติดีนะครับ
ลืมบอกไปว่าตลาดน้ำที่ดำเนินสะดวกนี้แต่เดิมเป็นศูนย์รวมในการค้าขาย
พืชผักและผลไม้ตามฤดูกาลจากเรือกสวนไร่นาของเกษตรกรในย่านนั้น
แต่ในระยะหลังนี้
เน้นไปที่การท่องเที่ยว
จึงมีสินค้าอื่นๆ
ไว้ขายมากมาย
เช่นของที่ระลึก
แต่ก็ยังมีสินค้าเช่นผลไม้จากชาวสวน
เช่นส้มโองามๆ
และผลไม้อื่นๆ
มาขายในราคาที่ไม่แพงเพราะมาจากชาวสวนโดยตรง
บริเวณตลาดน้ำดำเนินสะดวกในวันนี้
เป็นกึ่งตลาดบกและตลาดน้ำ
กล่าวคือมีของขายทั้งบนบกและในเรือ
คนซื้อก็ซื้อได้ทั้งบนบกและในเรือ
แต่ถ้ามัวเดินอยู่บนบก
ก็จะอยู่ได้เห็นและชื่นชมเฉพาะ
ตลาดใน เท่านั้น ส่วน ตลาดนอก
จะอยู่ตามลำคลองซึ่งต้องเช่าเรือ
เพื่อล่องเรือพายไปดู
โดยสองฟากของลำน้ำจะมีร้านขายของที่ระลึกตลอดทางน่าชมอย่างยิ่ง
แล้วระหว่างทาง
ก็จะมีเรือจากแม่ค้าและชาวสวนต่างๆ
มาขายของด้วย
สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น
ก็ขอเชิญทัศนาภาพถ่ายจากตลาดน้ำได้เลยครับ
ข้อมูลส่วนหนึ่งได้มาจากหนังสือ
ประวัติคลองดำเนินสะดวก
โดย ท่านพระครูสิริวรรณวิวัฒน์
(วรรณะ วณฺโณ) เจ้าอาวาส
วัดหลักหกรัตนาราม ต.ศรีสุราษฎร์
อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
เมื่อกลางเดือน
ต.ค. ๔๕
ผมได้มีโอกาสพบท่านพระครูสิริวรรณวิวัฒน์
เจ้าอาวาสวัดหลักหกฯ
จึงได้กราบนมัสการขออนุญาตท่านนำเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือของท่านมาเผยแพร่บนเว็บไซท์
ซึ่งท่านมีเมตตาจิตสูง
อนุญาตให้เผยแพร่ได้โดยไม่ซักถามรายละเอียดแต่ประการใดเลย
กระผมจึงขอกราบอนุโมทนาในความอนุเคราะห์ของท่านมา
ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ...
เล็ก อิศรา
|