อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ตั้งอยู่ในท้องที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองตาก และอำเภอแม่สอด ติดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 (ตากแม่สอด) ห่างจากตัวอำเภอเมืองตากประมาณ 35 กิโลเมตร ซึ่งประกาศทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ละเมา ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 954 (พ.ศ.2524) เนื้อที่ประมาณ 79,550 ไร่ และประกาศทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท้อห้วยตากฝั่งขวา ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 145 (พ.ศ.2509) เนื้อที่ประมาณ 85, 700 ไร่ รวมเนื้อที่สองอำเภอ 165,250 ไร่ หรือ 264.4 ตารางกิโลเมตร ประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพียง 93,125 ไร่ หรือ 149 ตารางกิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช เดิมมีชื่อว่า อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่ เนื่องจากมีต้นกระบากที่ใหญ่สุดในประเทศไทยเท่าที่สำรวจพบในขณะนี้ โดยมีนายสวาท ณ น่าน ช่างอันดับ 2 สถานีโทรคมนาคม จังหวัดตาก ซึ่งได้รับการบอกเล่าจากชาวเขาเผ่ามูเซอ ว่ามีต้นไม้ขนาดใหญ่ประมาณสิบคนโอบอยู่ต้นหนึ่ง และมีสะพานหินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อได้ไปสำรวจพบเห็นว่าเป็นสภาพธรรม ชาติที่สวยงามควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ จึงได้ทำหนังสือถึงกองอุทยานแห่งชาติ จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2519 และวันที่ 6 มกราคม 2520 รายงานถึงลักษณะทางธรรมชาติซึ่งมีความโดดเด่น ได้แก่ ต้นกระบากใหญ่ สะพานหินธรรม ชาติ น้ำตกห้วยหอย และน้ำตกแม่ย่าป้า
นอกจากนี้ยังมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และมีสัตว์ป่าที่ชุกชุม ทางกองอุทยานแห่งชาติจึงได้มีคำสั่งให้ นายสมยศ สุขะพิบูลย์ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลานสางในขณะนั้น ออกไปตรวจสอบพบเห็นว่าเป็นจริงดังคำบอกเล่า มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้ และไปดำเนินการสำรวจเพื่อกำหนดพื้นที่ป่าห้วยแม่ละเมาห้วยยะอุ ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท้อห้วยตากฝั่งขวา ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก เนื้อที่ประมาณ 93,125 ไร่ หรือ 149 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ นำเสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 210 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2524 กำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็น อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติอันดับที่ 40 ของประเทศไทย
ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ พิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่องค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นสิริมงคลแก่อุทยานแห่งชาติ ตลอดจนเพื่อเป็นการรำลึกถึงสถานที่อันมีค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ได้แก่ จังหวัดตาก เห็นสมควรเปลี่ยนชื่อ อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่ เป็น อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติ เพื่อใช้พระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นชื่ออุทยานแห่งชาติ และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2529 ให้ใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช
นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทางลักษณะภูมิประเทศแล้ว อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชยังมีเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์อีกด้วย กล่าวคือ ในสมัยโบราณพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นเส้นทางการเดินทัพของขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด (อำเภอแม่สอดในปัจจุบัน) เพื่อบุกเข้าตีเมืองตากซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของไทยในขณะนั้น นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางเดินทัพของพม่า โดยพระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่า คราวยกทัพกลับจากการล้อมกรุงศรีอยุธยาขณะเสด็จกลับระหว่างทางทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ในป่าแห่งนี้
ลักษณะภูมิประเทศ
ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน มีพื้นที่ราบอยู่เพียงเล็กน้อย อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางโดยเฉลี่ยประมาณ 800900 เมตร ยอดสูงสุดอยู่ที่ดอยมณฑา บ้านห้วยช้างไล่ ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,027 เมตร มีแนวเทือกเขาถนนธงชัยผ่านกลางอุทยานแห่งชาติตามแนวตะวันออกเฉียงใต้ตะวันตกเฉียงเหนือ ลักษณะเป็นสันปันน้ำซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอเมืองตากกับอำเภอแม่สอด เป็นต้นกำเนิดของห้วยสำคัญๆ ทางด้านอำเภอแม่สอด จำนวน 10 ห้วย ไหลไปรวมกันเป็นห้วยแม่ละเมาลงสู่แม่น้ำเมย ทางด้านอำเภอเมืองตากมีจำนวน 7 ห้วย ซึ่งไหลมารวมเป็นห้วยแม่ท้อ
แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิง
ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ย 22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36 องศาเซลเซียส ต่ำสุด 3 องศาเซลเซียส มีฝนตกชุกในเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม นอกจากนี้ยังสามารถพบเห็นทะเลหมอกที่สวยงามตลอดแนวเขาทั่วไปในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวอีกด้วย
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าประกอบไปด้วย ป่าดงดิบ ส่วนใหญ่อยู่บริเวณต้นกระบากใหญ่ และสะพานหินธรรมชาติ มีพันธุ์ไม้หลักที่สำคัญคือ ก่อ ยาง กระบาก มะหาด ยมหอม อบเชย กฤษณา มณฑา เป็นต้น ป่าดิบเขา อยู่บริเวณใกล้สันปันน้ำ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญคือ ก่อ ยาง แดงน้ำ และไม้เนื้ออ่อนชนิดต่างๆ ป่าเต็งรัง และ ป่าเบญจพรรณ จะมีอยู่ทั่วไป มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญคือ เต็ง รัง เหียง สัก พลวง ตะแบก ประดู่ มะค่าโมง มะค่าแต้ ยมหิน แดง เก็ดแดง ฯลฯ และไม้ไผ่ชนิดต่างๆ
สำหรับสัตว์ป่าที่สำรวจพบมีหลายชนิด อาทิเช่น เก้ง กวางป่า เลียงผา หมี ลิง ค่าง หมูป่า ชะนี กระต่าย งู กระรอก ผีเสื้อ ไก่ป่า เสือไฟ เสือลายเมฆ และนกชนิดต่างๆ ฯลฯ
ต้นกระบากใหญ่
ขึ้นในบริเวณหุบเขาของป่าดงดิบ มีขนาดความโตวัดโดยรอบได้ 16.10 เมตร ความสูง 50 เมตร ต้องใช้คนประมาณ 12 คน จึงจะโอบได้รอบลำต้น อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ประมาณ 2.5 กิโลเมตร ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติซึ่งเป็นทางเดินลงเขาชันมาก ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ผู้สนใจจึงควรมีสุขภาพแข็งแรง และควรเตรียมน้ำดื่มให้พร้อมสำหรับการเดินลงไปเที่ยวชมและเดินกลับขึ้นมา ระหว่างทางมีป้ายให้ความรู้เรื่องธรรมชาติอยู่เป็นระยะๆ
กิจกรรม -ชมพรรณไม้ - ดูนก - ดูผีเสื้อ - เดินป่าศึกษาธรรมชาติ
สะพานหินธรรมชาติ
มีลักษณะเป็นแท่งหินขนาดใหญ่เชื่อมติดกับหน้าผาสองข้างเข้าด้วยกัน คล้ายสะพาน มีความกว้างและความสูงประมาณ 25 เมตร ยาวประมาณ 30 เมตร เบื้องล่างมีลำธารไหลผ่านตลอดทั้งปี
สภาพป่าโดยรอบเขียวชอุ่มร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ ใกล้กับสะพานหินมีถ้ำหินงอกหินย้อยงดงาม สะพานหินธรรมชาติอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 10 กิโลเมตร ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางก่อนเข้าไปเที่ยวชมทุกครั้ง
กิจกรรม -ชมทิวทัศน์ - ชมวัฒนธรรมประเพณี - ดูนก - ดูผีเสื้อ - เดินป่าระยะไกล - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
น้ำตกปางอ้าน้อย
เป็นน้ำตกขนาดกลางที่อยู่ใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ กว้างประมาณ 8 เมตร สูง 20 เมตร มีน้ำไหลตลอดทั้งปี เดินต่อจากต้นกระบากใหญ่เลียบลำน้ำไปตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงน้ำตก
กิจกรรม -ชมพรรณไม้ - ดูนก - ดูผีเสื้อ - เที่ยวน้ำตก
น้ำตกสามหมื่นทุ่ง
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่ง เกิดจากลำห้วยสามหมื่นทุ่งหลวง สูงประมาณ 50 เมตร มีน้ำไหลตลอดทั้งปี อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 64 กิโลเมตร ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางในการเที่ยวชม
กิจกรรม -ดูนก - เที่ยวน้ำตก - ชมพรรณไม้ - ชมวัฒนธรรมประเพณี
น้ำตกผาขาวผาแดง
เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยผาขาว ผาแดง กว้างประมาณ 10 เมตร ชั้นสูงที่สุด 30 เมตร มี 2 ชั้น จะมีน้ำไหลจากน้ำตกในช่วงหน้าฝน ส่วนช่วงหน้าแล้งน้ำจะลอดผ่านถ้ำธารลอดแทน ฤดูที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม - เดือนธันวาคม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 35 กิโลเมตร ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง
กิจกรรม -ชมพรรณไม้ - ชมวัฒนธรรมประเพณี - ดูนก - ดูผีเสื้อ - เดินป่าระยะไกล - เที่ยวน้ำตก
ถ้ำธารลอดผาขาวผาแดง
เกิดจากลำห้วยผาขาว ผาแดง ไหลเลาะลงถ้ำด้านล่าง ความลึกที่สำรวจได้ 100 เมตร มีหินงอกหินย้อยสวยงาม มีลำธารไหลผ่านตลอดทั้งปี อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 32 กิโลเมตร ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางก่อนทุกครั้ง
กิจกรรม -ชมพรรณไม้ - ดูนก - ดูผีเสื้อ - เดินป่าระยะไกล - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
น้ำตกปางอ้าใหญ่
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ความสูงประมาณ 80 เมตร จำนวน 4 ชั้น อยู่ห่างจากจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 24 กิโลเมตร ฤดูกาลที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม - เดือนกุมภาพันธ์ ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง
กิจกรรม -ดูนก - ดูผีเสื้อ - เดินป่าระยะไกล - เที่ยวน้ำตก
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ
อุทยานแห่งชาติได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวได้ศึกษาหาความรู้ดังนี้
เส้นทางจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว - ต้นกระบากใหญ่ ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร เส้นทางจากต้นกระบากใหญ่ - น้ำตกปางอ้าน้อย ระยะทาง 1 กิโลเมตร เส้นทางจากลานจอดเฮลิคอปเตอร์ - น้ำตกปางอ้าน้อย ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช
หมู่ 10 ต.แม่ท้อ อ. เมืองตาก จ. ตาก 63000
โทรศัพท์ 0 5551 1429 โทรสาร 0 5551 1429
การเดินทาง
รถยนต์
จากจังหวัดตาก เดินทางโดยรถยนต์ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 (ตาก แม่สอด) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 26 แยกเลี้ยวขวาเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ รถยนต์สามารถเดินทางได้สะดวกทุกฤดูกาล
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์
อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมเต็นท์และสถานที่กางเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง สำหรับอัตราค่าบริการอยู่ระหว่าง 250-500 บาท ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ เช่น
รายการที่ 1
- เต็นท์ ขนาด 3 คน พร้อมเครื่องนอน (พร้อมเครื่องนอน จำนวน 3 ชุด)ราคา 250 บาท/คืน
- เต็นท์เคบิน ขนาด 6 คน (พร้อมเครื่องนอน 6 ชุด) ราคา 500 บาท/คืน
แต่ละประเภทจะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอน ที่รองนอน ผ้าห่ม/ถุงนอน กรณีที่นำเต็นท์ไปกางเอง ต้องเสียค่าบริการสถานที่ 30 บาท/คน/คืน หากไม่มีเครื่องนอนก็ใช้บริการเครื่องนอนของอุทยานฯ มีอัตราค่าบริการเครื่องนอนกรณีนำเต็นท์ไปเอง มีดังนี้
1) ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอน ถุงนอน ที่รองนอน ราคา 150 บาท/ชุด/คืน
2) ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอนใหญ่ ที่นอน ผ่าห่ม ราคา 200 บาท/ชุด/คืน
บริการอาหาร
มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว แต่ในวันธรรมดาหากจะเข้าพักและต้องการอาหาร ให้โทรติดต่อล่วงหน้าที่งานบ้านพัก อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน เพื่อความสะดวกของท่าน
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.