ข้อมูลทั่วไป
ม่อนกระทิง ม่อนกิ่วลม และม่อนพูนสุดา
เป็นจุดชมทิวทัศน์ของขุนเข
าและทะเลหมอกที่มีชื่อเสีย
งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที
ยวและนักถ่ายภาพธรรมชาติมานานหลายสิบปี แต่ปัญหาความไม่สงบตามชายแดนไทย-พม่าที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ มาตลอดหลายปี จึงทำให้มีผู้มาเที่ยวลดน้อยลง ปัจจุบันยอดดอยเหล่านี้รวมทั้งถ้ำแม่อุสุซึ่งมีความงดงามมากอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติแม่เมย อุทยานแห่งชาติแม่เมย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 115,800 ไร่ หรือ 185.28 ตารางกิโลเมตร อยู่ในอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ติดชายแดนประเทศพม่า
เริ่มมีการสำรวจว่าจัดตั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เป็นหน่วยงานกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติแม่เมยนั้น เพราะว่ามีแม่น้ำเมยซึ่งกั้นระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า เป็นเขตด้านทิศตะวันตกเกือบ 50 กิโลเมตร จากทิศเหนือจรดทิศใต้ อีกทั้ง แม่น้ำเมยนั้นเป็นแม่น้ำที่แปลกคือ จะไหลมาทางทิศใต้ ขึ้นไปทางทิศเหนือ พื้นที่ที่ทำการสำรวจจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ของวนอุทยานถ้ำแม่อุสุ และรวมพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าสองยางบางส่วน เป็นแนวเทือกเขาถนนธงชัย โดยเริ่มจากตำบลแม่ต้าน ผ่านตำบลแม่สอง จนถึงตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 713,750 ไร่ หรือ 1,142 ตารางกิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติแม่เมย ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ป่าท่าสองยาง ในท้องที่ตำบลแม่สอง และตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 40 ก ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2542 มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 115,800 ไร่ หรือ 185.28 ตารางกิโลเมตร ในท้องที่ตำบลแม่อุสุนั้น เดิมเป็นวนอุทยานถ้ำแม่อุสุมีอาณาเขต ทิศเหนือจดแม่น้ำเมย ทิศใต้จดห้วยโป่งและห้วยม่วง ทิศตะวันออกจดห้วยพูลซะ ห้วยพอนอโก ตามทางหลวงสายแม่สอด-แม่สะเรียง ทิศตะวันตกจดแม่น้ำเมย ในท้องที่ตำบลแม่สอง เดิมเป็นพื้นที่ป่าสัมปทานเก่า อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าสองยาง มีอาณาเขตติดต่อดังต่อไปนี้ คือ ทิศเหนือจดทางหลวงสายแม่สลิด อมก๋อย ทิศใต้จดลำน้ำแม่สองและทางหลวงสายแม่สอดแม่สะเรียง ทิศตะวันออกจดห้วยแม่หลุยและลำน้ำแม่สอง ทิศตะวันตกจดแม่น้ำเมย
ลักษณะภูมิประเทศ
ส่วนมากเป็นภูเขาสลับซับซ้อนมีที่ราบน้อยมาก โดยมีความสูงเฉลี่ย 680 เมตร จากระดับน้ำทะเล จุดสูงสุด 1,250 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ไม้ใหญ่มีน้อย เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของลำน้ำแม่สอง ลำน้ำแม่อุสุ ลำน้ำแม่สลิดหลวง และแม่น้ำเมย
ลักษณะภูมิอากาศ
จะมีฝนตกชุกมากในฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยว ฤดูร้อนอากาศค่อนข้างอบอุ่น และจะหนาวถึงหนาวจัดในฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะแก่การรองเที่ยวชมทะเลหมอกและสภาพทิวทัศน์ทั่วไปเป็นอย่างมากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่เมยอยู่ในบริเวณร่องลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามันพัดผ่าน ประกอบกับอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าเขา ทำให้ได้รับลมมรสุมมากกว่าบริเวณอื่น มีฝนตกชุกเหมือนภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกชุกมากในฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยว ฤดูร้อนอากาศค่อนข้างอบอุ่น และจะหนาวถึงหนาวจัดในฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวชมทะเลหมอก และสภาพทิวทัศน์ทั่วไปเป็นอย่างมาก
พืชพรรณและสัตว์ป่า
พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่เมยสามารถจำแนกสังคมพืชออกได้เป็น ป่าดิบแล้ง พบตามหุบเขาทั่วไปในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300-700 เมตร พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่จำพวก ตะเคียนหิน ตะแบก สมพง ชมพู่ป่า กระบาก ยาง รกฟ้า สมอพิเภก ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวก ไผ่ หวาย เฟิน เร่ว เป็นต้น ป่าดิบชื้น จะพบในระดับสูงขึ้นมา โดยเฉพาะตามหุบเขาและริมห้วยในระดับความสูงจากน้ำทะเล 400-1,200 เมตร เป็นป่าทึบประกอบด้วย ยาง ตะเคียนหิน อบเชย มะไฟป่า อินทนิน ค้อ กระทุ่มน้ำ ลำพูป่า ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวกหวาย เต่าร้าง ไผ่สีสุก ไผ่หก ไผ่หนาม เฟิน ปรง และพืชในวงศ์ขิงข่า เป็นต้น ป่าดิบเขา พบตามภูเขาในระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป พันธุ์ไม้ที่ขึ้นได้แก่ ก่อเดือย ก่อแป้น อบเชย ทะโล้ จำปีป่า ฯลฯ ป่าสนเขา ส่วนใหญ่ขึ้นเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยในระดับความสูง700-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่ขึ้นได้แก่ สนสองใบ สนสามใบ และก่อชนิดต่างๆ ป่าเบญจพรรณ โดยมากพบอยู่ริมห้วยและหุบเขาในระดับ 300-600 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่พบจำพวก สัก แดง ประดู่ มะค่าโมง มะค่าแต้ ชิงชัน ขะเจ๊าะ เสลา ตีนนก โมกมัน ฯลฯ และป่าเต็งรัง มักขึ้นอยู่บนเนินเขา ไหล่เขา และเชิงเขา โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีหินโผล่ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง ส้าน มะขามป้อม ยอป่า สลักป่า ติ้ว แต้ว เป็นต้น
สัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่เมยมีจำนวนน้อย อันเป็นผลเนื่องมาจากการล่า การยิง และถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกทำลาย สัตว์ที่หลงเหลืออยู่จะเป็นสัตว์ขนาดเล็ก สัตว์ใหญ่พบน้อยมาก ที่สามารถพบเห็นได้บ่อย เช่น เก้ง กระจง หมี หมูป่า ลิง ชะนี ค่าง ลิงลม อีเห็น ชะมด เม่น เม่น กระต่ายป่า กระรอก ไก่ป่า นกเงือก นกขุนทอง นกตะขาบทุ่ง นกกะรางหัวหงอก นกเขาเขียว งูเห่า งูจงอาง งูเหลือม งูสิง ตะกวด แย้ กิ้งก่า ตะพาบน้ำ กบ เขียด เป็นต้น
ถ้ำแม่อุสุ
เป็นถ้ำหินปูนที่มีขนาดกว้างใหญ่ มีลำน้ำแม่อุสุไหลเข้าสู่ปากถ้ำซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไหลเวียนไปออกด้านหลังถ้ำลงไปสู่แม่น้ำเมยซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีระยะทางโดยประมาณ 450 เมตร ปากถ้ำกว้างประมาณ 20 เมตร สูงประมาณ 6 เมตร ภายในของถ้ำมีคูหาใหญ่ๆ อยู่ 3 คูหา มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามมาก เวลากลางวัน แสงอาทิตย์ส่องลาดผ่านปล่องถ้ำลงมากระทบหินทราย เกิดประกายแวววาว บริเวณปากทางเข้าถ้ำมีเจ้าหน้าที่นำเที่ยวชมภายใน ทางเดินในถ้ำค่อนข้างสะดวก มีเพียงบางช่วงที่ต้องปีนป่ายก้อนหินบ้าง ใช้เวลาเที่ยวชมประมาณ 1 ชั่วโมง ในช่วงฤดูฝนระดับน้ำในถ้ำจะขึ้นสูงจนไม่สามารถเข้าไปในถ้ำได้ ถ้ำแม่อุสุจึงเที่ยวได้เฉพาะในช่วงฤดูหนาวและฤดูแล้ง ถ้ำแม่อุสุอยู่ห่างจากอำเภอท่าสองยางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 สายแม่สอด - แม่สะเรียง ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามถนน รพช. ผ่านบ้านทีโนะโคะ ระยะทาง 2 กิโลเมตร ถึงถ้ำแม่อุสุ
"ถ้ำนี้ปากถ้ำมีเจ้าหน้าที่มีบ้านเจ้าหน้าที่อยู่
มีหมู่บ้านชาวเขาทางซ้ายมือ
ผมเคยไปนอนพักและเที่ยวถ้ำแม่อุสุนี้
ตื่นเช้ามา
เห็นชาวเขาเดินไปทำสวนทำไร่
เช้าๆ
ทุกวันนี้ยังจำภาพได้อยู่เลยครับ
อากาศก็ดีมากๆ
เที่ยวให้สนุกนะครับ"
กิจกรรม :เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
น้ำตกแม่สลิดน้อย
เป็นน้ำตกสำหรับผู้ที่รักการเดินป่า
เพราะต้องเดินจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมยประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก - กลาง เป็นต้นน้ำของลำห้วย แม่สลิดน้อยเกโกที่ไหลผ่านที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย ซึ่งเป็นชั้น ๆ เรื่อยไปจนถึงชั้นสูงสุด ทางอุทยานแห่งชาติได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกแม่สลิดน้อย สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเดินท่องธรรมชาติ ฟังเสียงสายน้ำ และศึกษาพรรณไม้นานาชนิด อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 1.8 กิโลเมตร ระหว่างเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติมีน้ำตกขนาดเล็กมากมายให้ได้ชม
กิจกรรม :ชมทิวทัศน์
ชมพรรณไม้
เดินป่าศึกษาธรรมชาติ
เที่ยวน้ำตก
น้ำตกชาวดอย
เป็นน้ำตกขนาดกลาง ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติตามถนนแม่สลิด-แม่ระเมิง ประมาณ 5 กิโลเมตร น้ำตกอยู่ห่างจากถนนประมาณ 500 เมตร
กิจกรรม :เที่ยวน้ำตก
ชมทิวทัศน์
เดินป่าศึกษาธรรมชาติ
จุดชมทะเลหมอก
จุดชมทะเลหมอกนี้อยู่หลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย งมีความสูงประมาณ 1,100 เมตร เป็นจุดที่มองเห็นทะเลหมอกได้กว้างไกลมาก รวมทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก อีกทั้งเป็นจุดชมวิวที่ต้อนรับ ผู้ที่นิยมการเดินป่า เพราะจะต้องเดินเท้าเข้าไปประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง และต้องพักค้างแรม 1 คืน เพื่อชมทิวทัศน์ที่สวยงาม
กิจกรรม :แค็มป์ปิ้ง
ชมทิวทัศน์
เดินป่าศึกษาธรรมชาติ
ม่อนครูบาใส
อยู่ใกล้เคียงกับม่อนพูนสุดา ห่างกันประมาณ 200 เมตร สามารถชมทะเลหมอกยามเช้าและชมพระอาทิตย์ตกดินได้ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย ประมาณ 7 กิโลเมตร
กิจกรรม :ชมทิวทัศน์
ม่อนกิ่วลม
ที่ใช้ชื่อว่า ม่อนกิ่วลม ก็เพราะที่แห่งนี้มีช่องหรือกิ่ว ที่มีลมพัดผ่านอยู่เสมอ เป็นจุดชมดวงอาทิตย์ขึ้นยามเช้าที่สวยที่สุดบนเส้นทางสายนี้ ม่อนกิ่วลมอยู่บนความสูง 940 เมตรจากระดับน้ำทะเล มองเห็นทะเลหมอกปกคลุมหุบเขาเบื้องล่าง โดยมียอดเขาสูงต่างๆ โผล่พันสายหมอกแลดูราวกับเกาะใหญ่น้อยกลางทะเลสีขาว อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี สภาพป่าโดยรอบเป็นป่าดิบเขา เดินทางต่อจากม่อนกระทิงลัดเลาะไปตามไหล่เขาอีกประมาณ 8 กิโลเมตร
กิจกรรม :ชมทิวทัศน์
ม่อนพูนสุดา
เป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่ง อยู่ห่างจากม่อนกระทิง 2 กิโลเมตร ชื่อม่อนตั้งขึ้นตามชื่อของนักถ่ายภาพชั้นครูของเมืองไทยคือ อาจารย์พูน เกษจำรัส และภรรยาของท่านชื่อ สุดา เพื่อเป็นเกียรติแด่อาจารย์พูน ในฐานะที่เป็นผู้เดินทางมาถ่ายภาพบนหม่อนนี้เป็นคนแรก
กิจกรรม :ชมทิวทัศน์
ม่อนกระทิง
เป็นจุดชมทะเลหมอกที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง คำว่า ม่อน หมายถึง เนินดินหรือเนินเขาเตี้ยๆ ชื่อม่อนกระทิงมีที่มาจากว่าบริเวณนี้เคยมีกระทิงอาศัยอยู่ชุกชุมจนมีพรานป่าขึ้นมาล่าอยู่เสมอๆ เดินทางจากถ้ำแม่อุสุต่อไปจนพบกับทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1267 สายแม่สลิดหลวง - แม่ระเมิง ให้เลี้ยวขวาขึ้นสู่ดอยแม่ระเมิง ช่วงนี้เป็นทางขึ้นเขาชัน ระยะทางประมาณ 11 กม. จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ม่อนกระทิงอยู่ห่างออกไปอีกไม่ไกล
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติแม่เมย
ต.แม่สอง อ. ท่าสองยาง จ. ตาก 63150
โทรศัพท์ 0 5551 9644-5
การเดินทาง
รถยนต์
จากจังหวัดตาก มาอำเภอแม่สอดและอำเภอท่าสองยาง ประมาณ 84 กิโลเมตร จากอำเภอท่าสองยางใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 (แม่สอด แม่สะเรียง) ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร ถึงทางแยกแม่สลิดหลวง เลี้ยวขวาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1267 (แม่สลิด-อมก๋อย) ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย
ถ้ำแม่อุสุอยู่ห่างจากอำเภอท่าสองยางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 (แม่สอด แม่สะเรียง) ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามถนน รพช. ผ่านบ้านทีโนะโคะ ระยะทาง 2 กิโลเมตร ถึงถ้ำแม่อุสุ
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์
อุทยานแห่งชาติได้จัดเตรียมเต็นท์และสถานที่กางเต็นท์ ไว้ให้บริการ วึ่งสามารถรองรับได้ประมาณ 60-80 คน การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง สำหรับอัตราค่าบริการอยู่ระหว่าง 250-800 บาท ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ
กรณีที่นำเต็นท์ไปกางเอง ต้องเสียค่าบริการสถานที่ 30 บาท/คน/คืน หากไม่มีเครื่องนอนสามารถใช้บริการเครื่องนอนและอุปกรณ์สนามของอุทยานแห่งชาติ โดยมีอัตราค่าบริการ ดังนี้
1) ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอน ถุงนอน ที่รองนอน และชุดสนาม ราคา 150 บาท/ชุด/คืน
2) ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอนใหญ่ ที่นอน ผ่าห่ม และชุดสนาม ราคา 200 บาท/ชุด/คืน