จงจำไว้ไปข้างหน้าจะถาวร |
เหมือนอาภรณ์เครื่องประดับอยู่กับกาย |
จะชูเชิดเฉลิมศรีเป็นที่ยิ่ง |
สรรพสิ่งสวัสดีนั้นมีหลาย |
ล้วนแต่ข้อปฎิบัติอธิบาย |
บรรยายกลกลอนไว้สอนใจ |
แสดงความตามบาลีโลกนิติ |
สุภาษิตของเก่าเก็บมาใส่ |
เด็กใดดีปรีชาปัญญาไว |
ก็หยิบใช้แต่ที่ชอบประกอบการ |
จะเป็นคนควรรู้ระเบียบบท |
พึ่งกำหนดตรึกตรองสองสถาน |
อย่างหนึ่งนั้นรักอยู่กับหมู่พาล |
ร่วมกระพอกจอกจานร้านเรือนเดียว |
อันคนชั่วเช่นกะปิกับปลาร้า |
เอาใบคาเข้าห่อพอประเดี๋ยว |
ดาก็เหม็นเช่นกันฉะนั้นเจียว |
เหมือนอยู่เที่ยวแปดปนกับคนร้าย |
อันคบท่านที่เป็นปราชญ์ฉลาดเลิศ |
จะบังเกิดความสุขทุกข์ร้อนหาย |
ได้สดับตรับธรรมที่บรรยาย |
หมั่นขวนขวายก็จะรู้จิรังกาล |
เหมือนใบพ้อห่อจันทน์อันอย่างยิ่ง |
ใบก็พริ้งเพริดพร้อมด้วยหอมหวาน |
อนึ่งลูกนกสองสัตว์ลมพัดพาน |
ไปตกลงตรงสถานพระสิทธา |
แต่นกหนึ่งพายุพัดพลัดกันไป |
ตกอยู่ในระหว่างโจรอันใจกล้า |
มั่นสั่งสอนการบาปที่หยาบช้า |
สกุณานั้นก็ได้เหมือนใจโจร |
ส่วนโปฎกตกอยู่อาศรมบท |
พระนักพรตค่อยศึกษาวิชาโหร |
นกนั้นรู้สวดมนต์บ่นตะโกน |
จิตก็โอนอ่อนน้อมต่อภูมิธรรม์ |
ใครคบปราชญ์ก็เป็นปราชญ์ปรีชาหาญ |
ใครคบพาลก็เป็นพาลไม่ผิดผัน |
เหมือนหมากม่วงไม้สะเดาเข้าพัวพัน |
รสหวานนั้นขื่นขมไม่สมฤดี |
จะป่วยกล่าวไปไยใจมนุษย์ |
คนชั่วฉุดแล้วคงไม่ตรงที่ |
ถึงมิยอมหมองหน้าคงราคี |
ที่จะดีอยู่นั้นอย่าสงกา |
มีญาติมิตรคิดควรให้รอบคอบ |
เลือกที่ชอบใจจริงจึงคบหา |
ลางมิตรอยู่ลับหลังตั้งนินทา |
มาพูดจ้อต่อหน้าก็ว่าดี |
เห็นซุบซิบหยิบแยบสิ่งใดได้ |
ก็เก็บไปบอนบอกเขาออกมี่ |
ถึงปากหวานปานชะเอมอย่าเปรมปรีดิ์ |
น้ำตาลบี้คลุกเคล้าเข้าตายาย |
อันคนอื่นถึงเขาค่อนก็ควรการ |
มิตรประจานเจ็บอยู่ไม่รู้หาย |
เช่นโรคภัยไข้เจ็บอยู่กับกาย |
อย่าพึงหมายว่าอยู่ใกล้ได้พึ่งพัก |
พฤกษาชาติอยู่ไกลถึงในป่า |
ยังเป็นยาแก้คลายหายประจักษ์ |
เช่นผู้อื่นที่เขามีภักดีรัก |
คุณนั้นหนักเห็นอุกฤษฎ์กว่ามิตรเรา |
สหายใดไข้เจ็บอยู่รักษา |
ช่วยฝนยาพยุงหยอดน้ำข้าว |
เป็นยามโศกผ่อนกระสันต์ค่อยบรรเทา |
ปางหนึ่งเล่ามีผู้โจทย์ต้องโทษทัณฑ์ |
ปางที่เสียสินทรัพย์ต้องปรับไหม |
ก็แก้ไขแคะค่อนช่วยผ่อนผัน |
เมื่อวอดวายก็จะตายไปตามกัน |
ปางหนึ่งนั้นข้าวยากและหมากแพง |
เห็นหน้ามิตรมาละเหี่ยเสียไม่ได้ |
ค่อยแบ่งบั่นปันให้ที่ละแล่ง |
เขาร่วมไร้ได้เช่นนี้มิเสียแรง |
ไม่ควรแหนงหนายกันคุ้งวันตาย |
อนึ่งผู้ใดใครซื่อให้ซื่อต่อ |
เขาขัดคอแล้วให้เหมือนใจหมาย |
ใครคดคิดจิตประทุษกระทำร้าย |
จงอุบายคดตอบให้ชอบที |
อนึ่งผู้ใดใครเขารักเร่งรักบ้าง |
อย่าทำเมินเหินห่างหันหน้าหนี |
ใครนบนอบตอบพลันอัญชลี |
อย่าถือดีด่วนตั้งอหังการ์ |
แม้นมีแขกไทยใครมาหา |
จงพูดจาให้ละออพออ่อนหวาน |
อันหวานอื่นถึงจะล้ำเพียงน้ำตาล |
ไหนจะปานหวานถ้อยวาทีดี |
ประการหนึ่งวาจาเหมือนงางอก |
ให้ลั่นออกแล้วอย่าหดถดถอยหนี |
ศีรษะเต่ายาวสั้นนั้นก็มี |
ไม่ควรที่จะหยิบมาเจรจา |
อย่าพลอดพล่อยถ้อยคำแต่พอควร |
เห็นท่านสรวลสรวลยิ้มอยู่ในหน้า |
เห็นท่านโศกโศกต่อคลอน้ำตา |
ทำมายาพอให้พ้นคนชิงชัง |
เห็นคนซื่อโง่เง่าอย่าโป้ปด |
ใครบ้ายศยอให้สมอารมณ์หวัง |
เนื้อความลับอย่าไปเล่าให้เขาฟัง |
ไม่ควรบังอย่าปิดผิดถึงตัว |
ประหยัดหย่อนผ่อนผันแต่พอพักตร์ |
อย่าสูงศักดิ์เหลือล้นให้คนหวัว |
โบราณว่าฟ้าคะนองแล้วต้องกลัว |
เอามือตัวปิดหูไว้ดูการ |
ซ่อนเงื่อนงำน้ำขุ่นขังอยู่ใน |
ภายนอกนั้นแจ่มใสเสมอสมาน |
เหมือนหินแท่งทับที่ไม่มีราน |
ต่อประหารจึงได้เห็นว่าอัคคี |
จะทำการสารพัดประหยัดยั้ง |
ให้มีทั้งทางไล่ไว้ทางหนี |
จึงจะแก้ตัวตนพ้นไพรี |
เอาใจดีดีต่อด้วยดัสกร |
อันคนเวรถึงจะเวียนมาเป็นมิตร |
ให้ควรคิดเช้าค่ำจงจำสอน |
ได้โอกาสเราประมาทคงม้วยมรณ์ |
จะยืนนอนเดินนั่งเนืองเนืองคะนึง |
อย่าเก็บเอาสุกซนมาปนดิบ |
ควรจะหยิบให้มั่นคั้นให้ขึง |
ควรจะคั้นคั้นข่มให้ล้มตึง |
ที่ควรถึงปล่อยปลดก็ลดละ |
แม้บ่าวไพร่ใช้ชิดจะผิดชอบ |
จงสวนนอบให้สว่างกระจ่างจะ |
อย่าเชื่อคำคนยุทำงุงะ |
เอาธุระดูแลเผื่อแผ่มัน |
จะดูญาติก็เมื่อยากประดากเสีย |
จะดูเมียก็เมื่อไข้ใกล้อาสัญ |
จะดูข้าก็เมื่อหน้างานหนักนั้น |
ได้เห็นกันถ้วนทั่วว่าชั่วดี |
จะยอข้าควรยอต่อแล้วกิจ |
จะยอมิตรอย่าให้มากจะบัดสี |
จะยอครูดูระบอบให้ชอบที |
ยอสตรีชมรูปซูบทรงงาม |
แสวงหาผลนั้นให้หมั่นสู่ |
แสวงรู้รักรู้เร่งไต่ถาม |
แสวงทรัพย์ให้อุตส่าห์พยายาม |
เห็นพาณิชติดตามไปคบค้า |
อนึ่งทรัพย์มีสี่ส่วนให้ควรแบ่ง |
สองส่วนแจกแจกใช้ตามปรารถนา |
อีกส่วนหนึ่งซื้อเสบียงเลี้ยงอาตมา |
ส่วนหนึ่งอย่าหยิบใช้ไว้กับตน |
อันมีเงินแล้วอย่าให้ผู้ใดกู้ |
มีความรู้อยู่ในสมุดไม่เป็นผล |
มีเมียอยู่ต่างบ้านย่านตำบล |
เมื่อยามจนจะต้องการรำคาญแค้น |
เป็นคนตรงสงวนวงศ์ให้จงหนัก |
ถนอมรักษาตัวเหมือนหัวแหวน |
อย่าปนปัดให้เขาอยู่มาดูแคลน |
ถึงหากแค้นรักนวลสงวนกาย |
จงดูเยี่ยงจามรีมีสัตย์มั่น |
แต่ขนข้องอยู่เท่านั้นไม่หนีหาย |
ค่อยเปลื้องปลดเสียหมดราคีคาย |
ไม่เสียดายชีวาตม์จะขาดกระเด็น |
ชมพูนุชเนื้อทองเรืองรองรูป |
ใส่เข้าสูบสิบเที่ยวเฝ้าเคี่ยวเข็ญ |
พอเทน้ำลงที่ร้อนก็ผ่อนเย็น |
ไม่เจ็บเช่นช่างช้ำด้วยกล่ำกลอม |
ทั้งกิริยาพาทีก็ดีพร้อม |
จึงชุบย้อมกล่อมเกลี้ยงเคียงประคอง |
แม้นทาสีมิใช่เช่นทาสา |
อย่าเรียกหาขึ้นบนเตียงเข้าเคียงสอง |
มันรู้รสกำเริบฤทธิ์จิตคะนอง |
เหมือนแมงป่องยกหางอ้างอวดกาย |
คำโบราณท่านว่าถ้าสีหราช |
เคียงโคนาคลาคลาดไม่เฉิดฉาย |
อันสินธพเทวาม้าพระพาย |
เข้าฝักฝ่ายอยู่กับลาพาไม่งาม |
อนึ่งอย่าแคะควักดีเอาที่หนู |
หาเลือดปูริแงะแกะก้าม |
เที่ยวค้นคว้าตีนงูดูสุดทราม |
เขาจะหยามเย้ยเยาะหัวเราะเอา |
อย่าเชือดเฉือนเนื้อหนูไปเพิ่มช้าง |
อย่าคัดง้างปลวกเตี้ยเติมภูเขา |
แบ่งพิษงูเพิ่มนาคยากไม่เบา |
อย่ารองเอาน้ำค้างใส่สาคร |
อย่าเอาภัยในพนมข่มราชสีห์ |
เอาวารีขู่ให้มังกรหยอน |
เอามะพร้าวไปขายสวนไม่ควรจร |
เอาบทกลอนอวดกวีเป็นที่อาย |
อย่าอวดดีขี่ช้างซับมันบ้า |
อย่าอวดกล้ายิงปืนปากสลาย |
อย่าเลี้ยงดูลูกจระเข้คะนองร้าย |
เลี้ยงลูกเสือหมีหมายให้คุ้มตน |
อย่าลากคอสรพิษติดตามหลัง |
เที่ยวแหย่รังแตนเล่นไม่เป็นผล |
เอาไม้สั้นรันคูถมูตรระคน |
จะต้องตนเปล่าๆ
ไม่เข้าการ |
อุตส่าห์จำนะจะร่ำสอนให้สิ้น |
อย่าดูหมิ่นของน้อยนั้นสี่สถาน |
หนึ่งงูเล็กเล็กพริกพระกุมาร |
ทั้งไฟถ่านเท่าหิ่งห้อยอย่าไว้ใจ |
เห็นเสือผอมเพียงพินาศจะขาดจิต |
อย่าอวดฤทธิ์คึกคักเข้าผลักไส |
ทั้งทรชนคนชั่วพวกหัวไม้ |
อย่าทำคุณมันให้เสียเงินทอง |
อนึ่งช้างสูญเสียงาชราแก่ |
งูเห่าแม่งูปลาก็อย่าต้อง |
อีกข้าเก่ากล่าวเสนาะเพราะพร้อง |
ทั้งเมียเก่าร่วมห้องต้องระวัง |
อนึ่งถ้าไม้ล้มจะข้ามดูกาลก่อน |
คนล้มนอนแล้วอย่าข้ามไปโดยหวัง |
แม้มิม้วยเขาจะรวยขึ้นสักครั้ง |
จะเป็นที่ชิงชังเราไม่เข้ายา |
ดั่งกวางเห็นเสือหิวหอบฮักฮัก |
ไม่รู้จักกำลังท่านโถมขวิดถลา |
ต่อเสือตบล้มคว่ำคมำมา |
จึงรู้ว่าแรงเสือนั้นเหลือแรง |
จงเจียมจิตคิดเหมือนนกจ้อยจ้อย |
ตัวนั้นน้อยทำรังพอฝังแฝง |
รอดจากภัยพาธาดาเหยี่ยวแร้ง |
พอคล่องแคล่งอยู่สบายจนวายปราณ |
อย่ามักใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์ |
จะพลันหักด้วยกำลังล้มประหาร |
อนึ่งรู้น้อยศึกษาวิชาการ |
สำคัญมั่นประมาณว่ามากมาย |
เหมือนกบเกิดในสระกว้างสักเส้น |
ไม่เคยเห็นน้ำในทะเลหลาย |
ก็สำคัญมั่นใจไม่เคลื่อนคลาย |
ว่ามากมายหนักหนาน้ำสระเรา |
เช่นคนรู้ไม่ถึงไหนขึ้นไปสวด |
ยังไม่ควรที่จะอวดอย่าอวดเขา |
อย่าบรรทุกเกวียนหนักจะหักเพลา |
ลำสำเภาเพียบล้นจะล่มพลัน |
อนึ่งใช่ญาติมิตรสนิทเชื้อเขาเกื้อหนุน |
ควรคิดคุณท่านกว่าจะอาสัญ |
ถึงไม่มีสิ่งไรจะได้ปัน |
อุตส่าห์หมั่นสรรเสริญเจริญพร |
อย่าดูเยี่ยงยูงอกตัญญู |
มิได้รู้คุณท่านที่ทำก่อน |
กลับแกล้งทำเวทนาให้อาทร |
ในอักษรนิทานโบราณมี |
เดิมนกยูงยินยังไม่เลขา |
อีกทั้งกากายยังไม่มีสี |
ยูงไปพบคบค้าแล้วพาที |
ให้กานี้เขียนให้ก่อนผ่อนผลัดกัน |
ฝ่ายออกาพาซื่อถือว่ามิตร |
ค่อยเพ่งพิศเขียนลายให้ฉายฉัน |
จะให้เขาเขียนบ้างเหมือนอย่างนั้น |
ด้วยสำคัญคู่มิตรจิตจะตรง |
นกยูงพาลขี้คร้านจะตรองตรึก |
เอาน้ำหมึกชะโลมให้ดังใจประสงค์ |
กาก็ดำดุจเหนี่ยงนี้เที่ยงตรง |
เพราะอัปมงคลมิตรจิตใจพาล |
อันคนอกตัญญูไม่รู้คุณ |
ถึงการุณย์เช้าค่ำพร่ำว่าขาน |
แล้วเอาทรัพย์นับให้ทั้งจักรวาฬ |
ไม่เนิ่นนานหน่อยจิตที่คิดร้าย |
เช่นกับหงส์สงเคราะห์ภรรยา |
อุตส่าห์มาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย |
แล้วสลัดขนสุวรรณพรรณราย |
ให้เมียขายเลี้ยงอาตมามา |
พราหมณีมีจิตคิดประทุษ |
ปรึกษาบุตรว่าเราคนจนหนักหนา |
ได้ขนทองทีละอันไม่คัณนา |
ทีนี้มาเราจะถอนเสียทั้งกาย |
ฝ่ายหงส์ถึงคำรบครบเจ็ดวัน |
ก็บินผันผยองไปดังใจหมาย |
ประเดี๋ยวหนึ่งถึงที่สถานยาย |
นางพราหมณ์ร้ายออกมารับจับเข้าไป |
ช่วยกับบุตรฉุดชักกระชากถอน |
จนขนล่อนเลี่ยนสิ้นบินไม่ไหว |
ขนที่ถอนไม่เป็นทองต้องฤทัย |
ก็ยากไร้เสื่อมลาภทำลายกาย |
อันกมลคนโลภนี้เหลือรู้ |
ทำให้ตัวชั่วอยู่ไม่รู้หาย |
ฉ้อกระบัดเฟื้องสลึงจนถึงตาย |
เอาติดกายไปได้เมื่อไรเลย |
ต่อท่านผู้เข้าใจทางไตรลักษณ์ |
เห็นประจักษ์อนิจจจังก็ชั่งเฉย |
ถึงสมบัติมั่งคั่งไม่หวังเชย |
เอาเปิดเผยออกแจกจำแนกทาน |
เหมือนแม่น้ำห่อนล้ำกล้ำกลืนชล |
เมฆนั้นห่อนหวงฝนเป็นอาหาร |
บรรดาสรรพพฤกษะมะพร้าวตาล |
ห่อนหวงผลอันตระการเก็บไว้กิน |
ผู้มีทรัพย์สินน้อยก็หย่อนให้ |
คงจะได้ไปข้างหน้าอุตส่าห์ถวิล |
เหมือนบ่อน้อยน้ำใสไหลรินริน |
พอวิดวักตักกินแก้ค่นจน |
ทรัพย์ของผู้มั่งมีตระหนี่เหนียว |
ดังน้ำเชี่ยวในสมุทรสุดขัดสน |
ไม่เป็นที่พึ่งพาประชาชน |
ถึงมากล้นลึกเปล่าไม่เข้าการ |
จะเดินห่างต่างประเทศพินิจก่อน |
ที่นั่งนอนน้ำท่าอีกอาหาร |
ทั้งความโกรธห่อนเหือดจะเดือดดาล |
อย่านอนนานหมั่นนั่งระวังภัย |
อนึ่งนะเสพสูปเพียรชนะภักษ์ |
ที่เรือนไม่รู้จักเขาหาให้ |
จงทดลองถ่องแท้ให้แน่ใจ |
จึงจะไม่มีเหตุเภทพาธา |
อันเรือนมิตรที่สนิทไม่นึกแหนง |
มีแต่ข้าวกับแกงเขาจัดหา |
สำราญเสพรังเกียจนะสงกา |
ก็โอชารสดีด้วยรักกัน |
ผูกสนิทชิดเชื้อนี้เหลือยาก |
ถึงเหล็กฟากรัดไว้ก็ไม่มั่น |
จะผูกด้วยมนต์เสกลงเลขยันต์ |
ไม่เหมือนพันผูกไว้ด้วยไมตรี |
อันรักกันอยู่ไกลถึงขอบฟ้า |
เหมือนชายคาเข้ามาเบียดดูเสียดสี |
อันชังกันนั้นอยู่ใกล้สักองคุลี |
ก็เหมือนมีแนวป่าเข้ามาบัง |
อนึ่งเพื่อนบ้านนั้นจงมีอารีรัก |
อย่าลอบลักกล่าวขวัญเขาลับหลัง |
เราผู้เดียวอย่าไปเที่ยวโดยลำพัง |
เร่งระวังคนชั่วจะชวนชัก |
อันเบี้ยฝิ่นกินกัญชามักพาเพลิน |
ที่ยับเยินยากเย็นเห็นประจักษ์ |
จนโซซูบรูปกายพิกลนัก |
ใครพบพักแทบไม่รู้ว่าผู้ดี |
เห็นยากเขาเอาใส่ที่ในจิต |
อย่าควรคิดเข้าไปเคลียให้เสียศรี |
อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนการก็มี |
ลอกท้องที่สับฟันปลูกมันกลอย |
เห็นเขามั่งมีมากอย่าอยากได้ |
เรายากไร้ก้มหน้าอย่าท้อถอย |
ค่อยหนีบเหน็บเก็บเล็กผสมน้อย |
เหมือนกัดอ้อยเคี้ยวข้างปลายสบายใจ |
อย่าดูเยี่ยงกาบกที่บาปหนา |
เห็นกาน้ำดำปลาขึ้นมาได้ |
กำลังโลภห่อหุ้มไม่เห็นภัย |
คิดจะใคร่เสพบ้างเหมือนอย่างกัน |
ก็บินถลาลงน้ำดำในสระ |
ไม่พบปะปลาสักตัวก็เต็มกลั้น |
ผุดขึ้นมาแหงนหงายสาหร่ายพัน |
ดิ้นยันยันอยู่ในน้ำจำใจตาย |
เหมือนเราท่านที่เป็นคนอยู่บนบก |
ไม่เข้าอกใจชำนาญการซื้อขาย |
อย่าคบแขกเข้าไปค้าซื้อผ้าลาย |
จะต้องตายอยู่เหมือนกาที่ว่าไว้ |
อนึ่งริร่ำทำสิ่งใดผิด |
ควรจะคิดสิ่งนั้นแลเอาแก้ไข |
เหมือนเสี้ยนหนามยอกตำช้ำฤทัย |
เอาหนามได้เขี่ยกันจึงพลันคลาย |
ถ้าทำการสิ่งใดที่ใหญ่ยศ |
อย่ากลัวหมดเงินเบี้ยจะเสียหาย |
หวังไว้ชื่อลือชาว่าฆ่าควาย |
เฝ้าเสียดายพริกแกงไม่เป็นการ |
แสวงมันดั้นป่าไปหาหมู |
อย่ากลัวหอกว่าจะยู่เยินป้าน |
รักจะหยอกยามยังกำลังพาล |
อย่าควรย่านผู้หญิงหยิกขยายไย |
รักเป็นมวยคาดเชือกจะเข้าชก |
กลับกลัวฟกบวมนี้เป็นไฉน |
รักเรียนรู้อายครูนี้เพื่อใด |
อายแก่ไทถอดยศไม่งดงาม |
เรียนคัมภีร์พากเพียรเรียนช้าช้า |
ที่เคลือบไคล้ไตร่ตราตรึกตรองถาม |
ขึ้นภูเขาสูงสู้พยายาม |
อย่าผลีผลามพลาดเซจะเสียตัว |
การโลกีย์กามคุณอย่ามุ่นหมก |
ผ่อนวิตกนั้นให้น้อยค่อยยังชั่ว |
ถึงใหญ่ยศก็อย่าเฝ้าแต่เมามัว |
ระเริงตัวลอยเลิศจนเหลิงลม |
อันธรรมดาน้ำป่วนชวนเป็นตม |
พายุลมแรงแล้ก็แพ้ไม้ |
อนึ่งเริ่มคิดเก็บไว้แต่ในอก |
ต่อคิดตกจึงค่อยแย้มขยายไข |
เช่นกับเดื่อออกดอกไม่บอกใคร |
ครั้นผลใหญ่เห็นทั่วทุกตัวคน |
จะเป็นช่างชอบชำนาญให้ยิ่งผู้ |
รักจะรู้เร่งรู้ให้เป็นผล |
ถึงจะเงื่องเงื่องแต่เอาแง่ปน |
ระวังตนตามประสาปัญญาเยา |
จะเจรจาความถ้อยอย่าพล่อยพลั้ง |
ค่อยหยุดยั้งฟังกระบวนสำนวนเขา |
จะมีแก่นหรือเป็นเปลือกจงเลือกเอา |
เห็นลาดเลาใช้ได้เก็บไว้ดี |
อนึ่งไม่มีธุระอยู่เปล่าเปล่า |
ไปขึ้นเรือนเขาน่าบัดสี |
เขาไม่ถามก็จงอย่าพาที |
เหมือนเภรีใครไม่ค่อนห่อนจะดัง |
อันคนโฉดชั่วช้าบ้าบุ่มบ่าม |
ถามไม่ถามกล่าวถ้อยพล่อยพล่อยพลั่ง |
จนเจ้าเรือนรำคาญขี้คร้านฟัง |
ไม่หยุดยั้งพูดเพลินจนเกินการณ์ |
เห็นโทษเขาแต่สักนิดมาติดต่อ |
เอาเรียงข้อแยกย้ายไปหลายสถาน |
ที่โทษตนอ้ายกะโตโอฬาฬาร |
เกลี่ยสมานปกปิดให้มิดแม้น |
ถ้าอุปมัยก็คล้ายกับตัวเต่า |
เอาหัวเข้าซ่อนไว้มิให้เห็น |
หยิบโทษเหี้ยบรรยายไม่วายเว้น |
ว่าหัวหูดูเป็นกระปมกระเปา |
อนึ่งแมลงป่องยกหางอ้างอวดสกนธ์ |
ก็เฉกชนชั่วช้าที่โฉดเฉา |
นาคราชพิษนั้นไม่บรรเทา |
จะเลื้อยเล่าค่อยเขยื้อนเลื่อนกายา |
อนึ่งพงศ์เผ่าผู้ดีที่มีชาติ |
ดำเนินนาดย่อมเหมือนนางวิสาขา |
ถึงฝนตกต้องสกนธ์ทนทรมา |
ก็ลีลามิได้ด่วนสงวนงาม |
อันชาติไพร่ไม่มีผู่ดีปน |
เดินลุกลนลุกลี้กระผลีกระผลาม |
ทั้งน้ำในใจคอก็หมอความ |
เหมือนหนึ่งหนามเหน็บทั่วทั้งตัวมัน |
ท่านว่าไว้ไข้เจ็บถึงหนักหนา |
ถ้าเยียวยาก็รู้หย่อนค่อยผ่อนผัน |
ถึงจะไม่เร็วหายก็หลายวัน |
หยดนั้นถึงจะยาไม่อยากคลาย |
อันจะหลบหลีกม้าขากระจอก |
สักสี่ศอกเห็นจะได้ดั่งใจหมาย |
หกศอกหลีกโคต่างก็ห่างกาย |
หลีกช้างพลายแปดศอกก็พอควร |
อันจะหลีกทรชนคนพาล |
ชอบทิ้งบ้านเรือนจำหน่ายขายเรือกสวน |
หนีให้ไกลอย่าให้พบมันรบกวน |
จึงจะควรคำโบราณท่านว่าไว้ |
แม่น้ำคุ้งคดเคี้ยวก็ควรจร |
ไม้ที่คดเขาทำศรก็เชื่อได้ |
เหล็กที่คดทำเคียวเกี่ยวข้าวใช้ |
อันคนคดนี้เห็นไม่ต้องการ |
ถึงมาตรแม้นจะเดินไปปะพบ |
เอาทองรานรู่กระเบื้องก็เปลืองทอง |
อนึ่งสตรีถึงจะงามแต่สามผัว |
อย่าคบค้าพาตัวให้มัวหมอง |
บ่าวหนีนายหลายยกอย่าปกครอง |
เอาเป็นเพื่อนพวกพ้องจะมีภัย |
อนึ่งน้ำตาลหวานนักอย่ามักกลืน |
ที่ขมขื่นไม่สู้จัดระมัดไส้ |
จึงเสพแต่ขนุนหนามอันงามใน |
อย่ารักใคร่ผลเดื่อที่ดูแดง |
เช่นวิหคนกยางสำอางสะอาด |
ข้างนอกผาดนวลขาวราวกับแป้ง |
เสพปูหากินที่กรรมร้ายแรง |
เคลือบแฝงภายนอกว่านวลดี |
อันรูปแร้งทรชนเป็นพ้นรู้ |
ไม่น่าดูใกล้เคียงเหนียงยู่ยี่ |
เที่ยวสืบเสาะเสพสัตว์สิ้นชีวี |
ก็กลับดีด้วยในน้ำใจบุญ |
อนึ่งยังไม่เห็นน้ำอย่าทำกระบอก |
ไม่เห็นกระรอกอย่าเพ่อก่งกระสุน |
ดินจะพังฝั่งน้ำอย่าค้ำจุน |
จักรจะหมุนอย่าเอาคอไปรอง้าง |
ที่น้ำเชี่ยวเรี่ยวแรงทุกแห่งหาด |
อย่าคัดวาดลำเรือให้รีขวาง |
อย่าจอดเรือริมต้นไม้ใกล้หนทาง |
อย่ากั้นกางช้างสารจะสู้กัน |
อย่าเห็นกรวดตรัดเตร็จว่าเพชรพลอย |
เห็นหิ่งห้อยว่าดีกว่าสุริย์ฉัน |
อย่ารักทองกาไหล่หนากว่าสุวรรณ |
เห็นกำนั้นดีกว่ากอบไม่ชอบกล |
อย่าเคี้ยวอ้อยว่าอร่อยอ้อยไม่หวาน |
ทุเรียนรานปลูกหญ้าว่าเป็นผล |
อย่ารักทรัพย์สินทักกว่ารักตน |
อย่ารักคนอื่นดีกว่าพี่น้อง |
อันลูกเมียเหมือนหนึ่งกับผืนผ้า |
ถ้าขาดฉีกชั่วแล้วหาก็ได้คล่อง |
น้องที่รักร่วมชีวีพี่ร่วมท้อง |
เหมือนหนึ่งสองแขนติดสนิทกาย |
หนีน้ำบกตกไหนคงไปด้วย |
คงชูช่วยเพื่อนผีไม่หนีหน่าย |
รู้รักกันอย่ารู้มีราคีคาย |
ใครกล่าวร้ายเจ็บแทนด้วยแค้นเคือง |
อนึ่งธรรมเนียมพยัคฆ์มักพึ่งป่า |
ธรรมเนียมปลาชอบใจที่ใหญ่เหมือง |
ธรรมเนียมนกพึ่งไม้มะไฟมะเฟือง |
คนทั้งเมืองชื่นชมร่มโพธิ์สบาย |
อันดอนใดไร้ถ้ำที่สำนัก |
ไม่สมศักดิ์ราชสีห์ก็หนีหน่าย |
สระโกมุทแม้นบุษบาวาย |
หงส์ก็หายห่างไกลมิได้ลง |
อนึ่งพฤกษาสูงใหญ่ใบหล่นสิ้น |
นกก็บินบากไปไม่ประสงค์ |
ที่ต้นไม้ไหนชะอุ่มพุ่มพวงพง |
ก็ร่อนลงจับแจอยู่แซ่เซ็ง |
อนึ่งป่าใดไกลหมู่มฤคร้าย |
ก็อันตรายหมดม้วยไม้ขลู่เขลง |
ที่ป่าใดล้วนสะพรั่งด้วยรังเต็ง |
เพราะเสือเก่งอาจคุ้มจึงพุ่มชิด |
อนึ่งนาอาศัยน้ำฝนขัง |
เลี้ยงเป็ดไก่อาศัยรังบังป้องปิด |
มีเหย้าเรือนหาเพื่อนเป็นคู่คิด |
มีการกิจกอบโกยโปรยให้ปัน |
อนึ่งเราให้เขาไม่ตอบให้มาบ้าง |
อย่าริร้างให้อีกจนอาสัญ |
คนยากเย็นเข็ญใจพึงให้ปัน |
อย่าหมายมั่นจะเอาของสนองคุณ |
ท่านว่าไว้แต่ประถมก็สมบท |
ทรัพย์หมดไม่มีเหลือเพราะเกื้อหนุน |
จะสิ้นซวดชวดค้าเพราะขาดทุน |
จะสิ้นบุญก็เพราะกรรมที่ทำมา |
อนึ่งฟืนไฟในเหย้าเอาเอาออก |
เพลิงข้างนอกอย่าเอาเข้าคูหา |
อย่านำศึกสู่เหย้าเข้าตำรา |
อย่าเปิดฝาเรือนตนให้คนดู |
เมียชั่วจริงนิ่งไว้แต่ในอก |
อย่าหยิบยกออกขยายให้หลายหู |
เหมือนการกิจผิดก็ได้ไว้เป็นครู |
ให้เขารู้เรื่องไปทำไมมี |
จับมัจฉาคว้าไขว่ไว้สองหัตถ์ |
ข้างโน้นพลัดข้างนี้หายไม่วายหนี |
ค่อยจ้องจ้องมองดูให้ดีดี |
เห็นได้ทีจับกำขยำเป็น |
อนึ่งหมูเขามัดไว้จะหาม |
งานใช่งานคานตามไปสอดเล่น |
ชู้ของเขาเคล้าเคลียจะคลึงเคล้น |
อย่าทำเป็นศึกแซกแหวกเข้ากลาง |
อย่าเรียนรู้ขวนขวายแก่ภายแก่ |
อยู่ใกล้แกล่นาเกลือจะกินด่าง |
เป็นชาวสวนหรือควรขาดม่วงปราง |
เขาอยู่กลางป่าไกลยังได้กิน |
เหมือนกบเกิดในสระปทุมเมศ |
ไม่สังเกตเกษตรขจรกลิ่น |
แมลงภู่หมู่ผึ้งภุมริน |
หวังถวิลบินมาชมก็สมคิด |
อันความรู้จริงจริงถึงสิ่งเดียว |
แต่ข้อเขี้ยวขึ้นใจอยู่ในจิต |
ได้เป็นเพื่อนเช้าเย็นอยู่เป็นนิจ |
เลี้ยงชีวิตลูกหลานจนว่านเครือ |
เหมือนชายเปลี้ยดีดกรวดอวดพญา |
เธอชมว่าศิลปศาสตร์ฉลาดเหลือ |
ให้ประทานของเข้าเหย้าเรือนเรือ |
ทั้งผ้าเสื้อสินทรัพย์นับประมาณ |
อีกบ่าวไพร่ไม่น้อยร้อยบ้านส่วย |
ก็รื่นรวยบริบูรณ์จนบุตรหลาน |
ได้กินเฉาะเพราะความรู้ชำนาญ |
เรื่องนิทานเทียบไว้เป็นใจความ |
อนึ่งคนดื้อถือตัวว่าตัวเอก |
วิชาเอกสัพพัญญูรู้เหลือหลาม |
บุญไม่ส่งคงไม่เสร็จสำเร็จความ |
ก็ได้นามอยู่แต่ว่าปัญญาไว |
เมื่อยามยศยศย่องให้ลอยตัว |
เมื่อคราวชั่วกรรมชักให้ตักษัย |
นี่เนื้อแนวหลังล้ำได้ทำไว้ |
อย่าโทษไทเทวาคณายักษ์ |
อย่าโทษภุมภูผาพฤกษาสินธุ์ |
อย่าโทษอินทร์องค์พรหมบรมจักร |
อย่าโทษญาติกากายสหายรัก |
โทษบุญกรรมทำชักให้ชั่วดี |
ข้างแพทย์ดูว่าเป็นลมให้สมบท |
อีแม่มดว่าวุ่นถูกคุณผี |
ข้างโหรเห็นเทวดาเข้ายายี |
ท่านภูรีร้องว่ากรรมเขาทำมา |
ประการหนึ่งร้อนไฟในมนุษย์ |
ไม่ร้อนสุดสู้ไฟดำกฤษณา |
ศัตรูอื่นหมื่นแสนที่ศักดา |
ไม่เหมือนข้าศึกพยาธิ์อยู่ในกาย |
สว่างอื่นอันใดในอากาศ |
ไม่โอภาสเท่าแสงตะวันฉาย |
แรงสิ่งอื่นเข้มแข็งที่แรงร้าย |
ก็แพ้พ่ายแรงกรรมที่ทำไว้ |
ถึงมีฤทธิ์สิทธิศักดิสามารถ |
ยกปราสาทเวชยันต์ก็หวั่นไหว |
ทั้งดำดินบินฟ้านภาลัย |
รู้เท่าไรก็ไม่รอดคงวอดวาย |
ไม่ควรนับกับมนุษย์ปุถุชน |
ที่จะพ้นมัจจุราชอย่ามาตรหมาย |
สิ่งกุศลอุตส่าห์สร้างอย่าห่างคลาย |
เป็นอุบายที่จะให้ไปนิพพาน |
อนึ่งหอมกลิ่นที่จริงสิ่งดอกไม้ |
แต่หอมตามไปไม่ไกลสถาน |
หอมประทินกลิ่นกล่าวคือศีลทาน |
ย่อมแผ่ซ่านหอมหวลไปทวนลม |
อนึ่งดอกเทียนไทหงอนไก่ชบา |
พวงผกางามงดสดสีสม |
แต่ไร้กลิ่นสิ้นดีที่จะชม |
ก็ทิ้งถมอยู่ที่ต้นคนไม่จง |
อันสตรีรูปงามทรามสวาท |
แต่มรรยาทผิดสกุลประยูรหงส์ |
ชายที่ดีเขาไม่มีจิตจำนง |
ก็คงลงอยู่ว่างามทรามกิริยา |
ถึงรูปทรามพอดีดูแต่สุภาพ |
ไม่หยามหยาบมรรยาทสมวาสนา |
จะกล่อมเกลี้ยงนอนเคียงหมอนนอนเต็มตา |
คงดีกว่างามพริ้งเป็นลิงลน |
ชายจะงามความรู้เป็นเครื่องประดับ |
ตกถึงไหนได้ทรัพย์ไม่ขัดสน |
บรรดาหญิงถ้วนทั่วทุกตัวตน |
จะงามล้นเลิศฟ้าเพราะสามี |
สัตว์สี่เท้ากล่าวว่างามที่ใหญ่ยิ่ง |
งามร่างรูปซูบทรงนั้นฤาษี |
จันทร์จะงามแจ่มฟ้าเพราะราตรี |
บุตรที่ดีงามหน้าบิดาตน |
ในคัมภีร์มีบุตรหลายสถาน |
ลูกหนึ่งไซร้ใจพาลไม่เป็นผล |
ลูกหนึ่งนั้นรู้เสงี่ยมเจียมกมล |
หาใส่ตนพอเพียงเลี้ยงชีวี |
ลูกหนึ่งนั้นใจรักเป็นนักปราชญ์ |
เฉลียวฉลาดล้ำบิดามีภาษี |
เป็นอภิชาติบุตรสุดแสนดี |
จะพาทีสอนสั่งก็ฟังคำ |
อันลูกร้ายคล้ายบุตรท่านพราหมณ์แก่ |
ไม่ดูแลเลี้ยงบิดาหาอุปถัมภ์ |
พฤฒาเฒ่าเฝ้าเจ็บใจระกำ |
ก็กล่าวคำเป็นคาถาด่าลูกชาย |
ว่าเลี้ยงบุตรสุดรักนั้นน้อยหรือ |
ไม่แทนเท้าแทนมือได้เหมือนหมาย |
คุณของไม้เท้านี้มีมากมาย |
ได้ค้ำกายย่างย่องจ้องจดจุน |
อนึ่งเดินไปไหนที่ไกลสถาน |
เมื่อพบพานสัตว์ร้ายจะวายวุ่น |
ไม้เท้าปัดวัดเหวี่ยงไปตามบุญ |
คงมีคุณกว่าลูกที่ละเลย |
เช่นเขาพูดเจรจาว่ากันเกลื่อน |
ว่าลูกเหมือนลูกขี้กาเจ้าข้าเอ๋ย |
มีแม่เรือนเปื้อนปอกไม่งอกเงย |
เป็นกะเทยเกิดจะดีมีทำไม |
เมียที่ร้ายหลายอย่างต่างๆ
กัน |
เมียหนึ่งนั้นเหมือนตำแยแส่ไสร้ |
เมียหนึ่งนั้นล้นโลภเหลือออกเบื่อใจ |
เมียหนึ่งไซร้จ่ายทรัพย์เสียยับเยิน |
อีกเมียโทโสพูดไม่หยุดหย่อน |
ตีเมียน้อยอ้อยอ่อนตะออกเพิ่น |
เมียหนึ่งนั้นเคยโอภาสประมาทเมิน |
ก็ออกเดินเดี่ยวดอดด้อมดูชาย |
เป็นบุรุษสุดอยู่เพียงรู้เท่า |
อย่ามัวเมาเชื่อเมียจะเสียหาย |
จงหวนเห็นเช่นกับเขาเล่านิยาย |
ว่ากากายขาวผ่องละอองนวล |
ถึงไม่เห็นจริงเจือต้องเชื่อถือ |
ว่าหญิงซื่อนั้นให้ป้องปิดปากสรวล |
ด้วยแยบคายหลายชั้นเชิงกระบวน |
แก้อับจนเจียนจวนชำนาญชาญ |
ประมาทใจให้อยู่ผู้เดียวสงัด |
ก็แน่ชัดชายจะชมภิรมย์สมาน |
เหมือนน้ำอ้อยใกล้มดอดอยู่นาน |
หญ้าสคราญโคเว้นไม่เห็นเลย |
ที่ลุ่มเลนเสน่หาแห่งกาสร |
หมู่ภมรมาลียินดีเสวย |
สระปทุมเป็นที่หงส์จะลงเชย |
ชายจะเฉยจากสตรีไม่มีแล้ว |
อันเรือแพนั้นเป็นที่ข้ามสมุทร |
เครื่องอาวุธสำหรับตนแห่งคนแกล้ว |
อันหยูกยากับพยาธิไม่คลาดแคล้ว |
นกกับแร้วคงจะรึงอยู่ตรึงตรา |
อันหมู่จระเข้เต่าปลาพึ่งวาริน |
สกุณบินร่อนเร่พึ่งเวลา |
ทารกเล็กเด็กน้อยพึ่งมารดา |
คนเข็ญใจไพร่ฟ้าพึ่งบารมี |
ธรรมเนียมเสือพึ่งพนัศชัฏพึ่งเสือ |
ธรรมเนียมเรือพึ่งพายไม่หน่ายหนี |
ความเท็จพึ่งจริงชั่วกลัวคนดี |
หญิงพึ่งสามีก็พึ่งพัก |
อนึ่งธรรมดาว่าพิชัยรถ |
จะปรากฏงอนระหงเพราะธงปัก |
บ่าวจะงามเฉิดฉายเพราะนายรัก |
ได้ยศศักดิ์เป็นโสดเพราะโปรดปราน |
รำละครฟ้อนดีด้วยรูปเหยาะ |
ร้องจะเพราะเพื่อเสียงสำเนียงหวาน |
เป็นมวยปล้ำล่ำสันจึงทนทาน |
ปากฉาดฉานโต้ตอบจึงชอบที |
ประการหนึ่งถึงเป็นปราชญ์ฉลาดรู้ |
คนไม่ชูก็คงอับลับรัศมี |
เหมือนหนึ่งเพชรมกยกว่าดี |
แม้ไม่มีเหลี่ยมแต่งไม่ต้องการ |
อนึ่งบัวบุษป์บังเกิดในตมเปือก |
อีกช้างเผือกเกิดแต่ป่านาสถาน |
ทั้งทองคำเกิดบ่อบางตะพาน |
ยังประมาณกันว่าเป็นที่รัก |
ก็สมที่ชี้เช่นกันกับนักปราชญ์ |
เกิดในชาติทรชนคนต่ำศักดิ์ |
แต่ตัวดีมีปัญญาสวามิภักดิ์ |
ก็พร้อมพรักนับถือออกชื่อชม |
อนึ่งคนโทษนั้นหมั่นขวนขวาย |
มีทรัพย์หลายเหลือล้ำเพราะส่ำสม |
ทั้งเชื้อไพร่ได้เป็นนายขึ้นนั่งพรม |
พึงนิยมจิตรู้อย่าดูเบา |
อนึ่งนายสี่นี้อย่าเสพแสวง |
เข้าแอบแฝงพึ่งพาอาศัยเขา |
นายที่หนึ่งมักโกรธชักหน้าเง้า |
ร้องเรียกเล่าลมก็เติบกำเริบฤทธิ์ |
นายที่สองตั้งใจใช้จนบอบ |
มีความชอบไม่ยกเอาปกปิด |
นายที่สามนั้นค่อยแกะและเล็มลิด |
ทรัพย์สักนิดก็ไม่เผื่อเอาเจือจาน |
นายที่สี่นั้นดีแต่ข่มคุณ |
ทั้งทารุณพูดจาทั้งว่าขาน |
ไม่ได้เรื่องล้วนเครื่องจะอัปมาณ |
อย่าแผ้วพานหลีกละสละเว้น |
อนึ่งเป็นนายก็เอาใจไพร่มันมั่ง |
อย่าตึงตังไปทีเดียวเฝ้าเคี่ยวเข็ญ |
ถึงตกทุกข์ที่ลำบากได้ยากเย็น |
จะตายเป็นมันไม่ทิ้งจริงจริงเจียว |
อนึ่งบ่าวไพร่ไม่ดีจะตีด่า |
อย่าโกรธาหันหุนให้ฉุนเฉียว |
ประหยัดหย่อนผ่อนใช้แต่ไม้เรียว |
อุตส่าห์เหนี่ยวหน่วงจิตคิดเมตตา |
อันช่างหม้อตีหม้อไม่หวังฉาน |
ตีเอางานงานใช้มิให้หนา |
ดั่งอาจารย์ตีศิษย์ให้วิทยา |
มิใช่ว่าจะประหารให้ไปอบาย |
สิ่งจะสอนสอนสกนธ์ตนเสียก่อน |
จึงจะสอนผู้อื่นได้ดังใจหมาย |
ผจญจิตตนเสียก่อนให้ผ่อนคลาย |
จึงค่อยร่ายไปผจญคนทั้งปวง |
อนึ่งผจญคนเวรเป็นเวรี |
ทำไมตรีเข้าไปให้ใหญ่หลวง |
ผจญคนกลิ้งกลอกหลอกลวง |
เอากระทรวงสัตย์สู้ให้เสื่อมเท็จ |
ผจญคนโลภละโมบนั้น |
ของกำนันให้อักขูหมูไก่เป็ด |
ผจญหมู่ทรชนคนใจเพชร |
ให้อ่อนอาตม์ขาดเด็ดด้วยความดี |
อนึ่งทำศึกสงครามได้ชัยชนะ |
มีเดชะเป็นสง่าชูราศรี |
รบแม่เรือนแพ้พ่ายไม่วายตี |
ก็ได้มีชื่อเชิดว่าชายชาญ |
ไหนจะเท่าบุคคลผจญจิต |
เอาสุจริตเป็นตาต่อประหาร |
ตัดอกุศลสิ้นห่วงบ่วงมาร |
ก็สำราญนิราศทุกข์สุขสบาย |
อนึ่งแพ้ศึกเสียทีในที่รบ |
เขาหลีกหลบรอดชีวิตมามีหลาย |
แพ้ถ้อยความเสียทรัพย์นับกระทาย |
ยังไม่ตายหาใหม่ก็ได้คง |
อันแพ้เมียทำลายสายสินทรัพย์ |
ก็ย่อยยับยุ่ยเป็นผุยผง |
ยากจะอยู่ตราบเท่าชีวิตปลิดปลง |
ญาติวงศ์พงศ์เผ่าเขาไม่แล |
เมื่อคราวดีมีทรัพย์คนนับถือ |
ครั้นสิ้นชื่อคนก็ต่างจะห่างแห |
ชั้นเพื่อนฝูงชอบพอเขางอแง |
ลูกเมียแปรเป็นอื่นตื่นตะโกรง |
ปางมียศก็ปรากฏว่าเลิศลาภ |
ล้มพังพาบสิ้นสง่าที่อ่าโถง |
กาเหยี่ยวแร้งแย่งเนื้อเหลือแต่โครง |
ที่เรือนโรงเยียบสงัดวิบัติเป็น |
ถ้าอุปไมยคล้ายกับไม้เมื่อยามแล้ง |
ใบนั้นแห้งหล่นว่างห่างหายเห็น |
ที่แก่นเปลือกเลือกถากทุกเช้าเย็น |
สำหรับเป็นฟืนโอ้อนิจจา |
เห็นสมความพราหมณ์รู้คัมภีร์เวท |
เมื่อเคราะห์ดีดูวิเศษนั้นหนักหนา |
คราวเคราะห์ขัดวิบัติเข็ญจะเป็นมา |
มนต์และยาเสื่อมสร่างค่อยบางเบา |
อันร่างกายมนุษย์นี้เป็นที่รัก |
เมื่อยามจักไปจริงก็ทิ้งเปล่า |
เหมือนท่อนไม้แก่นปราศอนาถเนา |
สำหรับเน่าผุเปื่อยไม่เป็นการ |
ไม้ที่คดขดวงเป็นกงจักร |
ตามแต่รักจะประดิษฐ์คิดอ่าน |
ที่ตรงกลมล้มลากไปถากกระดาน |
ทั้งกิ่งก้านดาษดื่นทำฟืนใช้ |
ที่ควรเลื่อยเลื่อยชักเขาจักชอย |
เศษเล็กน้อยทำเขียงรองเตียงได้ |
ชั้นโดยต่ำแต่สะเก็ดเก็บก่อไฟ |
กายนี้ไม่มีของที่ต้องการ |
ใครทำบุญบุญนั้นก็ให้ผล |
คงตามตนติดไปในสงสาร |
ใครทำบาปหยาบช้าอันสาธารณ์ |
บาปก็ติดตามผลาญไม่ละทิ้ง |
เหมือนจักรเวียนหมุนไปไม่คลาดเคลื่อน |
กระทบเตือนตัวฬาขามหิงส์ |
ตัวไหนเดินดันแรงขึ้นแข่งชิง |
แอกที่อิงออดเสียดเบียดเบียนคอ |
ควรจะทราบบาปบุญพหุลกรรม |
เหมือนคนปล้ำทั้งสองข้างต่างแข็งข้อ |
ใครแรงมากทรหดไม่ทดท้อ |
ก็ผลักคอคนหิวให้ล้มลง |
ข้างบุญแรงแบ่งบาปให้สาปสูญ |
บุญก็พูนเพิ่มให้ดังใจประสงค์ |
ข้างบาปแรงแบ่งบุญให้ปลดปลง |
บาปก็คงวิ่งเข้าเป็นเจ้างาน |
อนึ่งผู้ใดใหญ่กว่าเยิ่นอายุยิ่ง |
ไม่รู้สิ่งธรรมที่เป็นแก่นสาร |
ลูกอ่อนออกวันเดียวแต่เชี่ยวชาญ |
รู้เล่าอ่านเรียนธรรมก็จำจอง |
พระอริยประยูรบัณฑูรถ้อย |
ว่าเด็กน้อยนั้นเหลือดีไม่มีสอง |
ท่านว่าไว้ให้เห็นเป็นทำนอง |
ให้ตรึกตรองว่าผู้หญิงไม่ใฝ่ธรรม |
อนึ่งปราชญ์ใดเล่าเรียนเพียรหนักหนา |
มีปัญญารู้ยิ่งทุกสิ่งสรรพ์ |
ไม่สำแดงแจ้งออกทุกสิ่งอัน |
ก็อัดอั้นอยู่ไม่รู้ว่าภูรี |
ถ้าอุปไมยก็คล้ายอัปสรสาว |
เมื่อรุ่นราวคราวกำดัดมีรัสมี |
อยู่ร่วมเรือนผัวขวัญเป็นขันที |
ห่อนจะมีเทือกแถวแนวหน่อเนื้อ |
อนึ่งเป็นปราชญ์ปรีชาปัญญาขยัน |
สำแดงธรรมไพเราะเสนาะเหลือ |
แต่น้ำจิตนั้นประหวัดอสัตย์เจือ |
เหมือนดอกเดื่อไปสถิตที่เรือนพาล |
จงตรองเห็นเช่นกับข้างน้ำอ้อย |
ลิ้มที่ไหนก็อร่อยมีรสหวาน |
แม้นดูชื่นใจจิตพินิจนาน |
จะซาบซ่านสุขสบายไม่วายเว้น |
อีกอย่างหนึ่งว่าอย่าดีอย่ามีชั่ว |
อย่าขาดกลัวอย่ากล้าเหมือนว่าเล่น |
ย่อมใช้ทั่วทุกตำรายาเช้าเย็น |
จำไว้เป็นอย่างยิ่งอย่าทิ้งเอย |