จิตรกรรม
ศิลปะการวาดรูประบายสีที่พบในจังหวัดชุมพร เป็นจิตรกรรมฝาผนังซึ่งปรากฎที่ผนังถ้ำบริเวณศาสนสถาน
และที่ประกอบอยู่ในสมุดไทย อายุของภาพเหล่านี้มีทั้งเก่าแก่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
จิตรกรรมฝาผนัง
ที่สำคัญมีอยู่สามแห่งด้วยกัน เรียงตามลำดับอายุได้ดังนี้
- ภาพเขียนสีบนเพิงเขานาพร้าว
อยู่ที่เขานาพร้าว (เขาขุนกระทิง) อำเภอเมือง ฯ เป็นศิลปกรรมบนเพิงหิน กับความสัมพันธ์ต่อการดำรงชีพ
ของกลุ่มชนกลุ่มแรกเริ่มในชุมพร เป็นสิ่งสะท้อนถึงจิตวิญญาณ ความคิดที่เป็นนามธรรมของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ภาพเขียนนี้เขียนด้วยสีแดง เป็นลายเส้นแบบลายเรขาคณิต สันนิษฐานว่า เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองความรู้สึกเชิงสุนทรียะ
หรือใช้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ความเชื่อในกลุ่มชน
- ภาพเขียนถ้ำอ้ายเตย์
อยู่ที่เขารับร่อ เขตวัดถ้ำเทพเจริญ ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ ภายในถ้ำมีภาพเขียนสีสมัยประวัติศาสตร์
เขียนเป็นรูปพระพุทธไสยาสน์ อยู่สูงจากพื้นถ้ำประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ภาพองค์พระยาว
๔,๘๐๐ เมตร กว้าง ๒ เมตร พระเศียรหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระพักตร์หันไปทางทิศตะวันออก
ตัดเส้นสีแดง - ดำ เป็นโครงร่าง รอบองค์พระลงสีเป็นส่วน ๆ พระเศียรและพระเกศสีดำ
พระพักตร์และพระกรลงสีขาว พระวรกายครองผ้าลงสีเหลืองแบบเดียวกับสีผ้าครองของสงฆ์
ไม่แสดงรายละเอียดของพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ ซึ่งมีรูปค่อนข้างเหลี่ยม
มีพระอุษณีย์นูนสูง ต่อด้วยเปลว ซึ่งลงสีขาวตัดสีดำ ส่วนปลายพระบาทไม่ชัดเจน
- จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดสามแก้ว
เขียนขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๑ - ๒๔๗๒ โดยอำมาตย์ตรี พระยาอนุสาตรจิตรกร
ช่างเขียนมีชื่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นภาพพุทธประวัติและภาพเทพเจ้าต่าง
ๆ อันเนื่องด้วยคติพราหมณ์ผสมผสานกับคติทางพระพุทธศาสนา เป็นจิตรกรรมที่ผสมผสานระหว่างภาพไทยโบราณ
และการให้แสงเงาแบบศิลปะตะวันตก แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปตะวันตกในสมัยนั้น
มีข้อความบันทึกไว้ในโบสถ์เกี่ยวกับการเขียนภาพเหล่านี้ ที่เขียนขึ้นด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
เพื่ออุทิศถวายแด่สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ ฯ
จิตรกรรมในสมุดไทย จิตรกรรมจากสมุดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า
หนังสือมุด เท่าที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร มีดังนี้
- จิตรกรรมสมุดไทย
- ภาพประกอบในวรรณกรรมเรื่องไชยเชษฐ
- วรรณกรรมไชยเชษฐ์
สถาปัตยกรรม คือสิ่งก่อสร้าง ถาวรวัตถุซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงสถานะชุมชน
เช่นที่อยู่อาศัย โบสถ์ วิหาร เจดีย์ มีดังนี้
- เรือนพื้นถิ่นในจังหวัดชุมพร
มีลักษณะบ้านเรือนในจังหวัดชุมพรสมัยก่อน สำหรับชาวบ้านทั่ว ๆ ไป มีรูปทรงง่าย
ๆ ใช้วัสดุในท้องถิ่นเช่น พื้นไม้เลื่อยเป็นแผ่นหรือฟาก ฝากั้นไม้แผ่นหรือไม้ไผ่สาน
หรือจากหลังคามุงจาก ตัวบ้านมักยกสูงมีสองระดับ คือ เกย และระเบียง เกยจะยกพื้นสูงกว่าระเบียง
และอยู่ทางทิศใต้หรือหัวนอน ระเบียงอยู่ทางทิศเหนือหรือปลายตีน หน้าบ้านหันไปทางทิศตะวันออก
มีประตู และบันได ลงพื้นดินตรงระเบียง ต่อหลังคาเป็นเพิงยื่นไปทางทิศตะวันออก
มีแคร่หน้าบ้านไว้รับรองแขก ในตัวบ้านบนเกยกั้นห้องหนึ่งห้องทางซีกตะวันตก
นอกจากนั้นเปิดโล่ง ระเบียงด้านตะวันตก มีประตูเปิดออกไปครัวเรือนอีกหลังหนึ่ง
หรือเป็นเพิงต่อกัน นอกจากนั้นยังมียุ้งข้าวหรือคุกข้าวอีกหนึ่งหลัง เพื่อใช้เก็บข้าวเปลือก
- อาคารเรียนปริยัติธรรมวัดประเดิม
อยู่ในเขตตำบลตากแดด อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓ ถึง พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นอาคารแบบแรือนปั้นหยา
ยอดจั่วชายคาตกแต่งด้วยไม้ฉลุ และไม้กลึงลวดลายแบบพื้นเมือง อาคารนี้แบ่งพื้นที่การใช้สอยออกเป็นสามส่วนคือ
แบ่งออกเป็นสองห้อง โดยมีชานเป็นส่วนเชื่อมต่อ ระเบียงจะอยู่ลดระดับต่ำจากชานประมาณ
๓๐ เซนติเมตร เป็นอาคารใต้ถุนโปร่ง
- อุโบสถวัดสามแก้ว
ตั้งอยู่บนเนินเขาสามแก้ว ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง ฯ เป็นสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะรูปทรงแปลกจากที่อื่นคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมลายไทย
หลังคาไม่มีช่อฟ้าในระกา เป็นอาคารทรงไทยผสมอิสลาม หลังคาแบนราบ เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในสมัยก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา
พระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตตโม) อธิบดีสงฆ์วัดราชาธิวาสสมัยนั้น ได้ชักชวนญาติโยมจากกรุงเทพ
ฯ อันมีหม่อมใหญ่ เทวกุล และทายาทเป็นผู้นำและอุปการะในการสร้าง
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษาถิ่นชุมพร
เป็นภาษาที่กระชับสั้น ๆ มีการตัดพยางค์ทำให้คำสั้นลงและมีสำเนียงท้องถิ่น
เนื่องจากจังหวัดชุมพรมีอาณาเขตติดต่อกับภาคกลาง ภาษาถิ่นชุมพรจึงมีความผสมผสานกลมกลืนกันระหว่างภาษาภาคกลางและภาษาภาคใต้
ทำให้ภาษาชุมพรฟังง่าย มีผู้กล่าวว่าคนชุมพรลิ้นอ่อน
คือ สามารถที่จะพูดสำเนียงคนจังหวัดอื่นได้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษามาก จนไม่ทราบว่าเป็นคนจากต่างถิ่น
วรรณกรรม
วรรณกรรมท้องถิ่นมีภาษาถิ่นเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อให้สมาชิกในสังคมสามารถเข้าใจตรงกัน
ไม่ต้องเสียเวลาตีความ สำนวนที่นำมาใช้มักใช้คำถิ่นกลาง ๆ เข้าใจง่าย มักแทรกคำคมสุภาษิต
และอุทาหรณ์ไว้ได้อย่างกลมกลืน มีการสอดแทรกบทตลกไว้ซึ่งมักมีความหมายสองแง่สองง่าม
ปล่อยให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านตีความเอาเอง
- วรรณกรรมมุขปาฐะ
สืบทอดโดยการเล่าสืบต่อกันมา ไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรได้แก่ ปริศนา
คำทาย ตำนาน นิทาน เรื่องเล่า
- ตำนาน
มีทั้งตำนานสถานที่ตำนานวัดและพระธาตุสำคัญ
ตำนานอ่าวพนังตักและบ้านหูรอ
มีความว่า มีหญิงสาวนางหนึ่งชื่อ นางตรรก อายุประมาณ ๒๕ ปี ได้เดินทางรอนแรมมายังถ้ำแห่งหนึ่งอยู่ในป่า
มีสัตว์ชุกชุม ในถ้ำมีฤาษีตนหนึ่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ เมื่อนางตรรกพบกับฤาษี ก็ได้เล่าเรื่องของนางให้ฟัง
ฤาษีได้ฟังแล้วก็มีความสงสาร แต่จะให้อยู่ด้วยกันก็เกรงข้อครหา จึงให้นางตรรกไปอาศัยอยู่ที่เกาะพร้าว
และบอกให้นางบำเพ็ญศีลภาวนา หมั่นทำแต่ความดี นางตรรกก็ปฏิบัติตามคำแนะนำ
พร้อมกับตั้งสัตย์อธิษฐานให้ได้พบกับชายที่ตนรัก นางได้ตั้งตาเฝ้าคอยดูเรือที่ผ่านมาในอ่าวอยู่นาน
คอยเอาหูฟังเสียงเรือ แต่ก็ไม่ได้ข่าวสารจากคนรัก ต่อมานานเข้า ท้องที่แถบนั้นมีผู้คนมาอาศัยมากขึ้น
ทั้งฤาษีและนางตรรกก็หายสาบสูญไป หลังจากนั้นอ่าวนี้ก็ได้ชื่อว่า อ่าวนางตรรก
ต่อมาเพี้ยนเป็นอ่าวพนังตัก ส่วนหมู่บ้านที่มาตั้งใหม่ก็ได้ชื่อว่า บ้านหูรอ
พระธาตุสวี มีความว่า เมื่อประมาณปี
พ.ศ.๑๙๐๓ กองทัพอโยธยา โดยการนำของท้าวพิไชยเทพเรืองพวา (ท้าวอู่ทองหรือพระเจ้าไชยแสน)
ได้กรีฑาทัพไปรุกรานอาณาจักรไทศรีธรรมราช ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่แปด
เมื่อไปถึงเมืองกำเนิดนพคุณ ได้ทราบว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่แปด ได้ยกทัพขึ้นมา
ได้รบพุ่งกัน เมื่อเสร็จสงครามแล้ว พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่แปดจึงยกทัพกลับ
ขณะที่พักรี้พลอยู่ในเขตอำเภอสวีปัจจุบัน ปรากฏว่าสถานที่นั้นเป็นที่ตั้งวัดร้างเก่า
มีเจดีย์โบราณชำรุดปรักหักพังมีกาฝูงหนึ่งต่างกระพือปีก และส่งเสียงร้องเซ็งแซ่เป็นที่น่ารำคาญ
จึงให้ทหารไล่ฝูงกานั้นไป แต่ไม่ได้ผล เมื่อออกไปดูบริเวณนั้น พบว่ามีกาเผือกรวมอยู่ด้วยตัวหนึ่ง
และเมื่อให้ทหารรื้อกองอิฐของเจดีย์ที่หักพังออก ก็พบเจดีย์ใหญ่ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้
พระองค์จึงสั่งให้ระดมกำลังทหารทำอิฐเผาบูรณะเจดีย์จนเสร็จเรียบร้อย จึงนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้
แล้วจัดงานฉลองสมโภช ประทานนามเจดีย์นั้นว่า พระบรมธาตุกาวีปีก ต่อมาคำว่า
ปีก ถูกตัดหายไป จึงเรียกว่า พระธาตุกาวี ต่อมาประมาณปี
พ.ศ.๒๓๗๕ ได้มีเมืองสวี ขึ้นต่อเมืองชุมพร จึงได้เรียกชื่อพระธาตุแห่งนี้ตามชื่อเมือง
เป็นพระบรมธาตุสวี
วัดพะงุ้น เป็นวัดเก่าแก่ดั้งเดิมของอำเภอสวี
เดิมเรียกว่า กะหงุ่น ตามชื่อของลำคลอง เหตุที่เรียกว่า กะหงุ่น เพราะมีกะหงุ่นอยู่ตามลำคลอง
กะหงุ่นมีลักษณะคล้ายจอมปลวกดินสีขาว ผุดโผล่ขึ้นพ้นน้ำเวลาน้ำลด ชาวบ้านถือว่าเป็นของกายสิทธิ์
และมีขุมทรัพย์อยู่ เพราะปรากฏมีลายแทงว่ากล่าวเป็นปริศนาไว้ คำว่า พะงุ้น
เป็นคำที่เรียกกันภายหลัง
บ้านรับร่อ อยู่ในเขตอำเภอท่าแซะ
มีเรื่องเล่าว่าได้มีทหารพม่าเข้ามา เมื่อตอนพม่ายกกองทัพเข้ามาทำสงครามกับไทย
ฝ่ายพม่าต้องการเข้าในวัด ๆ หนึ่งชื่อวัดถ้ำเทพเจริญ อยู่ในเขตตำบลทุ่งข้าม
ใกล้ ๆ กับตำบลรับร่อ ภายในถ้ำมีสิ่งสำคัญและสิ่งมหัศจรรย์คือ มีพระพุทธรูปเรียกว่า
พระปู่หลักเมือง พม่าได้ขุดหาทองใต้ฐานพระ แต่จะด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ
ทหารพม่าเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยล้มตายไปมาก จากนั้นทหารพม่าก็เดินทางมารอทัพที่เขาใกล้บ้านรับร่อ
และใช้ใบตะลังตังช้าง ปูนอน เกิดอาการคันอย่างรุนแรง จึงคิดว่าไทยมีของศักดิ์สิทธิ์ที่น่าเกรงขาม
ทหารพม่าเข้ามาทางปากน้ำชุมพร มารอทัพอยู่ที่หมู่บ้านนี้ จึงเรียกว่า บ้านรอทัพ
หรือ ทัพรอ ต่อมาได้เพี้ยนไปเป็นบ้านรับร่อ
บ้านหินสามก้อน ในเขตตำบลท่าหิน
อำเภอสวี ที่บ้านแห่งนี้มีบ่ออยู่แห่งหนึ่ง ที่ปากบ่อมีหินอยู่สามก้อน ที่ก้นบ่อซึ่งไม่ลึกนักมีไหกระเทียมใส่ทองอยู่
ปากไหใช้ผ้าผูกไว้ มีเรื่องเล่าว่า ถ้าใครขุดบ่อเพื่อเอาไหทอง
ผ้าที่ผูกไหมจะกลายเป็นปลิง ทำให้ไม่มีใครกล้าไปขุดบ่อน้ำนี้เมื่อถึงหน้าแล้ง
ในขณะที่บ่อน้ำอื่น ๆ แห้งหมด บ่อน้ำนี้จะไม่แห้ง
วัดเขาถล่ม อยู่ในเขตตำบลวังไผ่
อำเภอเมือง ฯ มีเรื่องเล่าว่า มีงูใหญ่อยู่สองตัวเฝ้าถ้ำวัดเขาถล่มอยู่
ในถ้ำเคยมีหลวงปู่แดงอาศัยอยู่ด้วย วันใดหลวงปู่แดงออกไปบิณฑบาต ท่านจะสั่งให้งูใหญ่ทั้งสองเฝ้าถ้ำไว้จนกว่าท่านจะกลับ
วันหนึ่ง ท่านลืมสั่งูใหญ่ทั้งสองจึงได้ออกจากถ้ำไปอาละวาดกับราษฎร เมื่องูใหญ่เลื้อยออกจากถ้ำ
ทำให้ถ้ำบางส่วนทรุดถล่มลงมาอย่างเห็นได้ชัด เมื่อหลวงปู่แดงกลับมาพบ ท่านจึงสั่งให้งูใหญ่ทั้งสองเข้าไปอยู่ในถ้ำ
อย่าออกไปไหนอีก
ปัจจุบันที่หน้าถ้ำมีรูปงูใหญ่ที่เป็นหินเฝ้าอยู่ ส่วนหลวงปู่แดงก็จำศีลภาวนาต่อมาจนเป็นหินอยู่ด้วย
บ้านท่าตะเภา ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำท่าตะเภา
ห่างจากปากน้ำชุมพรประมาณ ๑๓ กิโลเมตร ในสมัยโบราณมีเรือสำเภาขนาดใหญ่
จากต่างแดนแล่นเข้าออกซื้อสินค้าได้ และมาจอดที่บริเวณท่าที่ตั้งตลาด จึงเรียกบริเวณนี้ว่า
ท่าตะเภา และเรียกแม่น้ำสายนี้ว่าแม่น้ำท่าตะเภา
วัดคูขุด (สุวรรณนที) อยู่ในเขตตำบลบางหมาก
อำเภอเมือง ฯ มีเรื่องเล่าว่าเมื่อพม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาได้เข้ามาประชุมทัพอยู่ที่เมืองชุมพร เกิดรบกับชาวชุมพรและเป็นฝ่ายชนะจึงได้จับชาวชุมพรมัดมือมัดเท้า
แล้วขุดคลองจับชาวชุมพรเผาทั้งเป็น แต่เกิดปรากฎการณ์คือ เกิดพายุและฝนตกหนักที่เกาะจำเหียง
บนเกาะมีถ้ำแห่งหนึ่งปากถ้ำอยู่ใกล้ระดับน้ำ เมื่อฝนตกและมีพายุทำให้น้ำเกิดเป็นคลื่นกระทบเข้าไปในถ้ำ
ทำให้เกิดเสียงดังคล้ายเสียงปืนใหญ่ยิงมา ทัพพม่าคิดว่าทางเมืองหลวงส่งกำลังมาช่วย
ก็พากันหนีกลับไป โดยไม่ทันได้เผาชาวชุมพร
คลองที่พม่าขุดไว้จึงได้ชื่อว่า คูขุด และเมื่อสร้างวัดขึ้น ณ ที่นั้นจึงให้ชื่อว่า
วัดคูขุด
สลุยและบ้านวังครก
มีที่ตั้งติดต่อกับเขตแดนพม่า มีช่องทางเดินถึงกันได้เรียกว่า ช่องทัพ - ต้นไทร
เป็นที่พักแรมของทหารไทยที่ไปรักษาเขตแดน มีการเตรียมเสบียงอาหาร และตั้งฉางข้าวไว้ระหว่างทาง
และได้จัดเกณฑ์ชาวบ้านมาตำกับข้าวไว้เลี้ยงทหารไทย ชาวบ้านได้นำครกตำข้าว
ที่ทำด้วยไม้เป็นจำนวนมากมาช่วยตำข้าว วันหนึ่งขณะที่ตำข้าวอยู่นั้น กองรักษาด่านทัพต้นไทรบอกมาว่า
มีทหารพม่าจำนวนมากยกทัพมา ชาวบ้านตกใจพากันวิ่งหนีไป ทิ้งสากตำข้าวจำนวนมากไว้
ณ บริเวณนั้น ภาษาชาวบ้านเรียกว่า สากลุย
พื้นที่ดังกล่าวได้ตั้งเป็นหมู่บ้านเรียกว่า หมู่บ้านสากลุย ต่อมาเพี้ยนเป็นสลุย
เป็นชื่อตำบลมาจนทุกวันนี้
ส่วนครกตำข้าว เห็นว่าถ้าทิ้งไว้จะเป็นประโยชน์แก่ข้าศึก จึงช่วยกันนำครกเหล่านั้นไปทิ้งในคลองท่าแซะ
ครกลอยไปตามลำคลองจนถึงวังน้ำวน ก็ลอยวนอยู่ในวังน้ำนั้น ชาวบ้านเรียกว่า
วังครก
บ้านเขาวอ สมัยโบราณการเดินทางใช้สัตว์เป็นพาหนะและต้องเดินทางผ่านป่าเป็นส่วนใหญ่
ครั้งหนึ่งได้มีพระมหากษัตริย์เสด็จผ่านมาในสถานที่แห่งหนึ่ง พร้อมด้วยไพร่พลมากมายและจะเสด็จลงไปทางใต้
การเสด็จครั้งนี้พวกไพร่พลต้องขนทองคำไปด้วย การเสด็จและการขนทองคำในครั้งนั้นใช้วอเป็นที่ประทับ และเป็นที่ใส่ทองรวมด้วยกันสามเล่ม
เมื่อเสด็จผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่งก็เกิดอาเพท วอทั้งสามเล่มร้าว ยอดวอหัก จึงคิดกันว่าจะนำวอและทองคำไปซ่อมที่ใดดี
เมื่อพบถ้ำโพรงถ้ำที่เขาลูกหนึ่ง พระราชาจึงให้ทหารเอาวอและทองคำไปฝังไว้ในถ้ำนั้น
ขณะเดียวกันเสบียงอาหารก็หมดลงไพร่พลอดอาหารเสียชีวิต แล้วเกิดมีก้อนหินตกลงมาปิดปากถ้ำสนิท
และไม่มีผู้ใดสามารถขุดเอาทองคำเหล่านั้นได้ เขาลูกนั้นต่อมาจึงได้ชื่อว่า
เขาวอ อยู่ในตำบลบ้านควน อำเภอหลังสวน
เกาะมัดโพน
เหตุที่เรียกว่าเกาะมัดโพน เพราะสมัยก่อนชาวบ้านได้นำตะโพนมามัดรวมกันไว้ที่เกาะจึงเรียกเกาะนั้นว่า
เกาะมัดโพน
อีกประการหนึ่งกล่าวว่า ในเมืองชุมพรมีสิ่งของที่ขึ้นชื่อด้วยคำว่า มัด คือมัดทวี
มัดโพน มัดกา มัดหวาย รวมกันเรียกว่า มัดโพน คำนี้ต่อมาได้เพี้ยนมาเป็น มัดโพน
สระยายชีและตาเถร
มีเรื่องเล่าว่านานมาแล้ว ยังมีสองสามีภรรยาคู่หนึ่งมีฐานะมั่งมีแต่หัวแข็ง
วันหนึ่ง ๆ ถ้าไม่ได้พนันอะไรกัน หรือไม่ได้โต้เถียงกัน แล้วแทบจะนอนไม่หลับ
วันหนึ่งฝ่ายสามีพูดว่า อยู่กันมานานแต่หามีบุตรไม่ เราควรออกถือบวชเป็นชีปะขาวจะดีหรือไม่
ภรรยาก็ตอบตกลง และท้าพนันว่าใครจะอยู่ในผ้าขาวได้นานกว่ากัน ทั้งสองจึงพากันไปออกบวชเป็นตาเถรกับยายชี
วันหนึ่งยายชีไปหาตาเถร ท้าพนันว่าให้มาขุดสระแข่งกัน ใครขุดได้กว้างใหญ่กว่าเป็นฝ่ายชนะ
ตาเถรก็ตอบตกลงรับคำท้า ทั้งสองขุดสระกันไปจนแก่เฒ่า จึงนำมาเปรียบเทียบกัน
เมื่อรู้แพ้ชนะกันแล้วต่างก็เอาทรัพย์สมบัติฝังไว้ใต้ก้นสระทั้งคู่
สระทั้งสองดังกล่าวยังปรากฎอยู่จนปัจจุบันอยู่ที่วัดปากสระ ตำบลปากสระ ตำบลปากคลอง
อำเภอปะทิว บึงน้ำที่กว้างใหญ่มีพื้นที่ประมาณ ๘ ไร่ น้ำลึกมีศาลาอยู่กลางน้ำมีต้นปะกง
และพืชน้ำอื่น ๆ ขึ้นปกคลุมคือ สระที่ชาวบ้านเรียกว่า สระยายชี
ส่วนสระที่อยู่ทางด้านเหนือ น้ำตื้นมีพื้นที่ประมาณ ๓ ไร่ มีต้นเสม็ดขึ้นปกคลุม
ชาวบ้านเรียกว่า สระตาเถร
บ้านทุ่งวัวแล่น มีเรื่องเล่าว่า
เดิมบริเวณบ้านทุ่งวัวแล่นเป็นป่าใหญ่ติดชายทะเล มีบ้านคนอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน
มีสัตว์ป่าชุกชุม เวลากลางคืน ชาวบ้านต้องคอยระวังสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย
เพราะมีเสือเข้ามาคาบไปกินเสมอ
กิตติศัพท์ความชุกชุมของสัตว์ทำให้มีพรานจากที่ต่าง ๆ เข้ามาล่าอยู่เสมอ แต่ทุกครั้งแม้พรานจะยิงถูกที่สำคัญ
แต่สัตว์ที่ถูกยิงก็สามารถหลบหนีไปได้อย่างปลอดภัย
วันหนึ่งพวกพรานได้ยิงวัวป่าขนาดใหญ่ล้มลง แต่ลุกขึ้นวิ่งหนีไปได้ พรานเหล่านั้นจึงติดตามรอยเลือดไป
และล้อมยิงจนวัวป่าตาย จากนั้นได้ช่วยกันถลกหนังได้ครึ่งตัว วัวป่าตัวนั้นก็ลุกขึ้นวิ่งหายเข้าไปในป่า
พวกพรานได้นำเรื่องมาเล่าต่อ ๆ กันไป บริเวณนี้จึงเรียกว่า ทุ่งวัวแล่น
บ้านสะพลี เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอปะทิว
มีเรื่องเล่าว่าเดิมบริเวณนี้เป็นที่รกทึบ มีสัตว์ป่าชุกชุมและไม่ผู้คนอยู่อาศัย
ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลางในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ได้กรีฑาทัพไปตีหัวเมืองทางใต้
ได้เดินทัพผ่านพื้นที่นี้เป็นเวลาค่ำพอดี จึงให้ทหารปลูกที่ประทับ เพื่อพักการเดินทางชั่วคราวเป็นตำหนักย่อม
ๆ ริมคลองน้ำเล็ก ๆ สายหนึ่ง และให้ออกล่าสัตว์มาเป็นอาหาร ทหารออกไปล่าสัตว์ห่างจากตำหนักไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เข้าเขตป่าทึบภูเขาดินสอและภูเขาอื่น ๆ ติดกันเป็นพืดตามแนวยาวเดียวกัน แต่ไม่ได้สัตว์แม้แต่ตัวเดียว
ก่อนกลับมีทหารคนหนึ่งยิงเนื้อทรายล้มลงก็พากันวิ่งไปยังเนื้อทรายนั้น แต่เนื้อทรายตัวนั้นกลับลุกขึ้นวิ่งหนีไปได้
และเมื่อตามไปยิงซ้ำจนล้มลงอีก พอวิ่งเข้าไปจับเนื้อทรายก็ลุกขึ้นวิ่งหนีไปได้อีกเป็นอยู่เช่นนี้หลายครั้ง
ในที่สุดทหารผู้หนึ่งมีความรู้เกี่ยวกับทิศทางของป่านี้บ้างพอสมควร จึงชวนทหารทั้งหมดตามไปในทิศทางที่เนื้อทรายวิ่งหนีจนพบสระน้ำแห่งหนึ่ง
จึงได้ทำพิธีพลีสระน้ำตามธรรมเนียม การล่าสัตว์โบราณจนถึงบ่ายวันรุ่งขึ้น
พวกล่าสัตว์ก็เดินทางมาที่สระน้ำนี้อีก และทำพิธีลีสระน้ำ หลังจากนั้นก็ปรากฎว่าล่าเนื้อได้มากมาย
ข่าวการล่าสัตว์ดังกล่าวได้แพร่กระจายออกไป จนทำให้นักล่าสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมาหาเนื้อครั้งใดในพื้นที่นี้
จะต้องขึ้นไปบนภูเขาดินสอ แล้วทำพิธีพลีสระน้ำนี้ก่อนทุกครั้ง จึงจะได้สัตว์
สระพลีนี้ต่อมาได้เพี้ยนไปเป็น สะพลี ตรงตามชื่อตำบล
อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า สะพลีเพี้ยนมาจาก สากกับพลี มีความว่าในถ้ำเล็ก ๆ ของภูเขายายหับ
อยู่ในตำบลนี้มีสากหินอันหนึ่ง เมื่อผู้ใดเจ็บป่วยหรือขอความคุ้มครอง ก็จะไปทำพิธีพลีเช่นเดียวกัน
ต่อมาคำว่าสากพลี ได้เพี้ยนเป็น สะพลี ดังกล่าว
บ้านเขาบางผรา เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว
มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า หมู่บ้านบางผรานี้ เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนน้อย
มีแม่น้ำสายเล็ก ๆ สายหนึ่งไหลผ่านไปบรรจบแม่น้ำชุมพร แม่น้ำสายนี้ตื้นและแคบชาวบ้านเรียกว่า
บางคงมีลักษณะคล้ายลำธาร ในบางมีปลาชุกชุมมาก เมื่อชาวบ้านจับปลาได้ก็นอยมนำไปย่าง
หรือหมักเกลือไว้ตากแห้ง ดังนั้นทุกบ้านจึงทำผรา สำหรับย่างปลา หรือตากปลาเค็มกันแทบทุกบ้าน
หมู่บ้านนี้จึงเรียกว่า บางผรา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ที่ตำบลท่ายาง
อำเภอเมือง ฯ
สะพานท่านางสังข์ มีเรื่องเล่าว่า
นานมาแล้วมีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ สังข์ ตั้งบ้านเรือนอยู่กับสามี ที่ริมฝั่งแม่น้ำท่ายาง
ต่อมาได้เกิเหตุร้ายแก่นางคือ ตกดึกของคืนหนึ่ง นางเจ็บท้องจะคลอดลูก สามีไปตามหมอตำแย
ซึ่งต้องข้ามฟากแม่น้ำ และเดินทางไปอีกไกล แต่เมื่อข้ามน้ำเขาก็จมลงไปในสายน้ำที่เชี่ยวกราก
ฝ่ายนางสังข์นอนเจ็บท้องอยู่คนเดียว และคลอดบุตรออกมาแต่ลูกตาย ต่อมาเมื่อทราบว่าสามีก็ตายจึงเศร้าโศกเสียใจยิ่งนัก
และบอกว่าไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อไป บอกชาวบ้านว่าถ้านางตายไปให้เอาบ้าน และที่ดินของนางขาย
เพื่อเอาเงินมาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ เพื่อมิให้ผู้อื่นต้องประสบเคราะห์กรรมเช่นนี้อีก
แล้วนางก็กลั้นใจตาย ชาวบ้านก็ได้จัดการให้ตามที่นางประสงค์ สะพานที่สร้างนี้ให้ชื่อว่าสะพานนางสังข์
เจ้าแม่ทองร่อน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคลองสามแก้ว ในอดีตคลองสามแก้วใหญ่
และลึกมาก แต่ปัจจุบันตื้นเขินในหมู่บ้านนี้มีบ้านหลังหนึ่งเจ้าของชื่อ ทองร่อน
มีลูกสาวสวย
เมื่อลูกลาวโตเข้าวัยสาวก็มีชายหนุ่มมาหมายปองกันมาก ต่อมามีหนุ่มชาวอินเดียและอังกฤษ
ยกขันหมากมาสู่ขอพร้อมกัน พอมาถึงคลองสามแก้ว เรือก็ล่มลงทั้งสองลำโดยไม่ทราบสาเหตุ
แก้วแหวน เงินทองที่เตรียมมาก็จมหาย ทำให้ชาวบ้านไปขุดค้นหากันก็พบแก้วแหวนเงินทองจริง
และเชื่อว่าเจ้าแม่ทองร่อนมีจริง ชาวบ้านแถบนี้นับถือมาก สถานที่ดังกล่าวอยู่ในเขตตำบลชะอัง
อำเภอเมือง ฯ
ดอนตาเถรและดอนยายชี
ดอนตาเถร เป็นควนหรือเขาเล็ก ๆ อยู่หลังที่ว่าการอำเภอปะทิวปัจจุบัน ส่วนดอนยายชี
อยู่ห่างจากดอนตาเถร ประมาณ ๒๐๐ เมตร
มีเรื่องเล่าว่า นานมาแล้วมีผัวเมียคู่หนึ่งมีฐานะร่ำรวย แม่ไม่มีลูก ทั้งที่ใจบุญสุนทาน
จึงได้ทำพิธีบวงสรวงขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่ได้ผล ต่างฝ่ายต่างโทษกัน
จึงหย่ากันแล้วออกบวช ฝ่ายชายไปอยู่ที่ดอนตาเถร ฝ่ายหญิงไปอยู่ที่ดอนยายชี
แต่ยังมีทิฐิไม่ยอมแพ้กัน จึงได้สร้างวัดแข่งกัน แต่สร้างไม่เสร็จถึงแก่กรรมก่อนทั้งคู่
ชาวบ้านจึงเรียกเนินทั้งสองด้วยชื่อดังกล่าว
บางตำนานกล่าวว่า ในสมัยที่สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้แจ้งให้หัวเมืองสิบสองนักษัตร และประชาชนทั่วไปให้ทราบเพื่อช่วยกันสร้างพระบรมธาตุเจดีย์
ข่าวนี้แพร่ไปถึงกรุงศรีอยุธยา มีสองผัวเมียผู้ใจบุญ ได้รวบรวมทรัพย์สินสิ่งของลงเรือสำเภา
พร้อมบ่าวไพร่ไปเมืองนคร ฯ เมื่อเดินทางมาถึงเมืองปะทิว ได้ทราบว่าการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร
ฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งสองผัวเมียเสียใจมากจึงได้ออกบวชทั้งสองคน และเอาทรัพย์สินสิ่งของที่นำมาไปสร้างเจดีย์ที่ยอดเขาแห่งหนึ่งคือ
เขาเจดีย์
ปัจจุบันมีวัดตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา เรียกว่า วัดเขาเจดีย์
เมื่อสร้างพระเจดีย์ที่วัดเสร็จแล้ว ทั้งสองผัวเมียได้แยกย้ายกันไปพำนักที่ดอนตาเถรและดอนยายชี
จนถึงแก่กรรมชาวบ้านจึงเรียกบริเวณทั้งสองว่า ดอนตาเถร และดอนยายชี
|