ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี



| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

           วรรณกรรมลายลักษณ์อักษร  ได้แก่ จารึก ตำรา และวรรณกรรมอื่น ๆ ดังนี้

               - จารึกที่ถ้ำเขาเงิน  เป็นจารึกบนแผ่นศิลา พระปรมาภิไธยย่อ จปร. ไขว้กับจุลศักราช ๑๐๘ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จ ฯ ประพาสทางชลมารคถึงถ้ำเขาเงิน ตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน ซึ่งมีพระเจดีย์ที่สร้างค้างอยู่ ณ ชะง่อนศิลาหน้าถ้ำ พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ บูรณะพระเจดีย์แล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ (จ.ศ.๑๑๑) มีการฉลองและได้โปรดเกล้า ฯ ให้จารึกประกาศพระราชูทิศไว้ในแผ่นศิลาติดไว้ที่ฐานพระเจดีย์
               - ตำรา  การบันทึกเรื่องราวลงในสมุดไทย หรือที่เรียกในภาษาถิ่นใต้ว่า บุด (สมุด) เท่าที่พบในจังหวัดชุมพร มีทั้งที่เป็นบุดดำและบุดขาว ชาวชุมพรดั้งเดิมถือว่าบุดเป็นของสูงมีค่า จึงจัดเก็บไว้ในที่สูงบนหิ้งบูชา ห้ามเปิดอ่านเล่น จะเปิดอ่านได้เฉพาะผู้มีวิชาความรู้เท่านั้น
           รูปแบบการแต่งตำรา  นิยมแต่งเป็นร้อยกรอง ที่แต่งเป็นร้อยแก้วได้แก่ตำรายา บรรดาตำราต่าง ๆ พอประมวลได้ดังนี้คือ ตำรายา ตำราสิทธิโชค ตำราจับช้าง กฎหมาย พิธีกรรมต่าง ๆ และคำสอน
               - วรรณกรรมอื่น ๆ  ที่เป็นนิทาน นิยาย มีอยู่น้อยมาก เท่าที่พบมีเรื่องไชยเชษฐ์ ซึ่งทำให้ได้รู้ถึงวิถีชีวิต ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม สำนวนภาษา รูปแบบคำประพันธ์ และความไพเราะของบทร้อยกรอง
การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์ ดนตรี
           การละเล่นของเด็ก  เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเด็ก ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ ฝึกฝนและพัฒนาทักษะทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งสังคมประกอบกันไป
           อุปกรณ์ที่นำมาเล่นเป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น วิธีการเล่นไม่ซับซ้อน บางชนิดมีเพลงประกอบ
           การละเล่นของเด็กในเขตจังหวัดชุมพรมีหลายชนิดที่เหมือนกับการละเล่นของเด็กในภาคอื่น ๆ ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคกลาง เช่น งูกินหาง มอญซ่อนผ้า ตี่จับ เตย รีรีข้าวสาร วิ่งเปี้ยว หมากเก็บ ซ่อนหา ลูกข่าง กระโดดเชือก ตบแปะ แมงมุม จ้ำจี้ กระดานหก ฯลฯ
           การละเล่นของผู้ใหญ่  นิยมเล่นกันในเทศกาลและยามว่างจากงาน ซึ่งนอกจากให้ความบันเทิงแล้วยังแสดงวิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม นบประเพณีของคนไทยในท้องถิ่น
           การเล่นที่เหมือนกับภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคกลาง มีอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น
               - รำแม่ศรี  ไม่ปรากฏว่าเริ่มแต่เมื่อใด ปัจจุบันขาดการสืบทอดและอนุรักษ์ ท้องถิ่นทีเคยเล่นรำแม่ศรีมีอยู่หลายแห่งด้วยกันคือ สนามบิน ทุ่งพรุแรด หูรอ สะพานยาง นาทุ่ง ในเขตอำเภอเมือง ฯ ปากน้ำหลังสวน ในเขตอำเภอหลังสวน และปากน้ำตะโกในเขตอำเภอทุ่งตะโก
           การเล่นรำแม่ศรีนิยมเล่นในวันตรุษสงกรานต์ หรือยามว่างงานในตอนกลางคืน โดยนำอุปกรณ์วางไว้กลางวง อาจเป็นกะลามะพร้าวหรือครกตำข้าวก็ได้ สำหรับให้คนทรงขึ้นไปนั่งยอง ๆ บนนั้น แล้วเอาผ้ามาผูกตาไม่ให้มองเห็น ส่วนคนอื่นที่เหลืออยู่นั้น จะยืนเป็นวงกลมล้อมรอบคนทรงนั้น ร้องเพลงพร้อมตบมือ แล้วเดินเวียนไปรอบ ๆ วงจนกว่าคนทรงนั้นจะเกิดอาการสั่นและลุกขึ้นยืนรำ ตอนนี้พวกที่ร้องเพลงตบมือก็ให้คนทรงทำตามคำสั่งทุกอย่าง เมื่อเล่นสนุกสนานพอสมควรแล้ว แม่ศรีจะออกจากร่างทรง คนทรงจะล้มลงนอนสักพักและกลับคืนเป็นปกติ จากนั้นก็เปลี่ยนคนทรงอื่น ๆ ต่อไปจนกว่าจะเลิกเล่น
           บทขับร้องก่อนเข้าและเข้าทรงแล้ว มีบทร้องก่อนเข้าทรงห้าท่อน ดังนี้
                   ท่อนที่ ๑  แม่ศรีเอย แม่ศรีสาวสะ ยกมือไหว้พระ ว่ามีคนชม คิ้วเจ้าก็ต่อ คอเจ้าก็กลม ชักผ้าปิดนม ชมแม่ศรีเอย
                   ท่อนที่ ๒  แม่ศรีเอย แม่ศรีพุ้งพิ้ง นมยานตุ้งติ้ง แม่ทิ้งเจ้าไว้
                                   หมากก็ต้อง พลูก็ต้อง ใส่เชี่ยนหมากทอง มารองรับไหว้
                   ท่อนที่ ๓  เชิญเอ๋ยเชิญลง เชิญพระองค์สี่ทิศ องค์ไหนศักดิ์สิทธิ์ เนรมิตลงมา ผีลงไม่ได้ ไต่ไม้ลงมา หนามพุทราเกี่ยวตาเจ้าไว้
                                   หมากก็ต้อง พลูก็ต้อง ใส่เชี่ยนหมากทอง มารองรับหน้า
                   ท่อนที่ ๔  ลงแล้วเหวย ลงแล้ววา ผีลงไม่ได้ เรียกนายลงมา เหล้าสองไห ไก่น้อยสองตัว กระเทียมสองหัว เครื่องเซ่นผีป่า
                   ท่อนที่ ๕  เชิญลงเถิดแม่คุณ อย่าให้คนทรง เขามานั่งท่า เชิญเลื่อนเถิด แม่คุณเลื่อน แม่ศรีแก้มเกลื้อน เลื่อนจากท้ายครก
           บทขับร้องเมื่อเข้าทรงแล้ว จะเป็นเพลงแบบไทย ๆ ที่ผู้ร่วมเล่นช่วนกันร้อง ได้แก่เพลงศรีนวลหรือเพลงไทยเดิม แม่ศรีจะลุกขึ้นรำอย่างสวยงาม มีท่ารำแปลก ๆ เป็นที่สนุกสนาน  เมื่อร้องรำจนแม่ศรีอ่อนแรง ก็จะพากันหยุด ทุกครั้งที่จบเพลงแต่ละชุด แม่ศรีจะล้มลง พี่เลี้ยงต้องเข้ารับร่างเอาไว้ในนอนหนุนตัก แล้วพ่อครูหรือแม่ครูจะกู่กรอกเข้าไปในหูคนทรงดัง ๆ หลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้คนทรงรู้สึกตัวคืนสติกลับมา
               - การเล่นลูกช่วง  เป็นประเพณีพื้นเมืองของชาวชุมพรในวันตรุษสงกรานต์ หลังจากที่ได้ทำบุญกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เวลา
ประมาณเที่ยงวันก็จะมีการเล่นตีคลีหรือบางทีเรียกว่าการเล่นลูกช่วง โดยใช้ลานวัดเป็นสถานที่สำหรับใช้เล่น
           การเล่นจะแบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายละเท่า ๆ กัน จำนวนแล้วแต่จะตกลงกัน ประกอบด้วยผู้เล่นทั้งชายและหญิง บางแห่งอาจแบ่งเป็นหมุ่บ้านแข่งขันกัน
                   อุปกรณ์การเล่น  ใช้ลูกคลีทำด้วยผ้าม้วนให้แข็ง แล้วใช้ผ้าห่ออีกชั้นหนึ่ง พันเป็นเกลียวให้มีหางยาวประมาณ ๔๐ - ๕๐ เซนติเมตร
                   วิธีเล่น  เริ่มเล่นโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายโยนลูกช่วงไปให้ยังฝ่ายตรงข้าม เมื่อฝ่ายตรงข้ามรับลูกชาวงได้ให้ขว้างกลับมายังฝ่ายโยน ถ้าลูกช่วงถูกตัวผู้เล่นฝ่ายโยนคนใด ให้คนที่ถูกลูกช่วงเป็นเชลยของฝ่ายที่ขว้าง แล้วผลัดกันเป็นฝ่ายโยนเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหมดตัวเหลือน้อย
หรือยอมแพ้ฝ่ายแพ้จะถูกปรับโดยขอให้ดื่มน้ำหรือรำวง แล้วแต่จะตกลงกัน
               - เพลงพื้นบ้าน  ขับร้องด้วยภาษาถิ่น มีทำนองเนิบนาบ มีสัมผัสแสดงถึงความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน และปฎิภาณไหวพริบที่ว่าได้โดยฉับพลัน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า มุดโต เนื้อเพลงเป็นทั้งทางโลกและทางธรรมผสมผสานเข้าด้วยกัน ทำให้มีคุณค่าทั้งด้านความบันเทิง ความรู้ ชี้นำวิธีการดำเนินชีวิต สั่งสอน อบรม
           เพลงพื้นบ้านมีไว้ขับร้องในโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเช่น กล่อมลูกให้นอนหลับ เกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวบอกข่าวเรื่องราว สั่งสอนอบรม เป็นต้น

               - เพลงกล่อมเด็ก หรือเพลงกล่อมน้อง มีทำนองช้าเนิบนาบ ชวนให้ง่วงนอนทั้งเนื้อร้องและลีลาการขับร้องแสดงความเอื้ออาทร ห่วงใยระหว่างแม่ลูก ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กบางตอน มีดังนี้
           ขวัญอ่อนเห้อ นอนให้เป็นสุข แม่ไม่มาปลุกเอย อย่าลุกรบกวน ผูกหมอนแม่ตั้ง รองหลังนิ่มนวล อย่าลุกรบกวนขวัญอ่อนเข้านอนเปลเอย

               - เพลงนา  เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวชุมพรอย่างแท้จริง ดังมีสำนวนว่า มวยไชยา เพลงนาชุมพร มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ท่วงทำนองเนิบนาบ ไม่มีดนตรีประกอบนิยมขับร้องในอำเภอเมือง ฯ แถบตำบลหาดพันไกร ตำบลนาชะอัง ตำบลวังไผ่ ตำบลบางลึก ตำบลนาทุ่ง และในเขตอำเภอปะทิว อำเภอสวี
           การขับร้องจะร้องเป็นคู่ คนหนึ่งเป็นแม่เพลงร้องนำเรียก ต้นไฟ แม่คู หรือแม่เพลง มีคนรับทอดอีกคนหนึ่งเรียก ท้ายไฟ เป็นการผลัดเปลี่ยนช่วยกันร้องนำและรับ การรับอย่างกลมกลืนเรียกว่า ทอย เพื่อกันลืมและช่วยขัดเกลาสำนวนอีกด้วย
           โอกาสในการขับร้องคือเวลาเก็บเกี่ยวข้าวในนา และในโอกาสทั่วไป มีธรรมเนียมการร้องโดยเริ่มจากการบูชาคุณพระรัตนตรัย คุณบิดามารดา ครู อาจารย์ เจ้าฟ้าพระมหากษัตริย์ แล้วจึงดำเนินเรื่อง
           เนื้อร้อง มีการไหว้ครู ชมธรรมชาติ เกี้ยวพาราสี และเรื่องราวทั่ว ๆ ไป แล้วจบด้วยบทลา ตัวอย่างบางตอนของเพลงนา มีดังนี้

ไหว้ครู            ก่อนจะร้องเพลงนา   หัตถ์ซ้ายขวากราบไหว้   มโนน้อมพร้อมกาย   บริสุทธิสดใส
                ทุกอย่างพร้อมน้อมมนัส   คุณพระรัตนตรัย.....
                      คุณบิดามารดา   ตัวลูกยาเคารพ พระคุณล้ำเลิศภพ   เลี้ยงลูกมาจนใหญ่   ให้ลูกดีมีสุข
                ลูกพ้นทุกข์เพราะใคร.....
                      คุณครูบาอาจารย์   พระคุณท่านสอนสั่ง   ให้ความรู้สอนสั่ง   ให้ความรู้คอยระวัง   หมั่นอบรม
                บ่มนิสัย   หวังให้ศิษย์ก้าวหน้า   พัฒนาชาติไทย.....
เทียบพุ่ม          พี่นี้เหมือนกระต่าย   ที่ปองหมายจันทร์เจ้า   ได้แต่มองคอยเฝ้า   มีแต่เศร้า
                หมองศรี   ตั้งร้อยวันพันหน  จันทร์ไม่หล่นสักที.....
ชมโฉม           เหมือนเทพีบ้านนา   เหมือนเทพธิดาบ้านทุ่ง   หึงหวงใครที่อาจมุ่ง หมายมา
                มุ่งมาสอย   คิดสักนิดนะน้องหนา   อย่าลืมหนุ่มนาที่รอคอย.....
บทลา              โอกาสหน้าถ้ามี   เหมือนกับที่เขาว่า   คงจะได้พบหน้า   ได้ปราศรัยไถ่ถาม
                วันนี้ขอลาไป   แสนอาลัยนงราม

               - เพลงบอก  นิยมขับร้องกันทั่วไปในจังหวัดในภาคใต้ เช่น ชุมพร สุราษฎรธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุงและสงขลา แต่เพลงบอกชุมพรมีลักษณะเฉพาะตัว ที่แตกต่างกันออกไป
           การขับร้องเพลงบอก แต่เดิมนิยมว่ากันเฉพาะเทศกาลตรุษสงกรานต์ เป็นทำนองบอกเล่าไปตามหมู่บ้านใกล้เคียงให้ทราบว่าเป็นวันสงกรานต์ ชื่อนางสงกรานต์ จำนวนนาคที่ให้น้ำ จำนวนฝนที่จะตก และคำทำนายของโหรในปีเถลิงศก เจ้าของบ้านหรือผู้ฟังอาจสอบถามปัญหาข้อสงสัยต่าง ๆ ผู้ขับร้องก็จะตอบโดยสอดแทรกคำคม
คติ สุภาษิต คำสอนเกี่ยวกับชีวิต การจูงใจให้เด็กสนใจศึกษาเล่าเรียน ให้พัฒนาคุณภาพชีวิต และเหตุการณ์เฉพาะหน้าทั่วไป ทำให้ผู้ถามและผู้ฟังสนุกสนาน และได้สาระประโยชน์ไปด้วยกัน
           ผู้ว่าเพลงบอกเป็นผู้มีปฎิภาณไหวพริบ แะลมีความรอบรู้เรื่องราวต่าง ๆ ดี เพราะต้องว่ากันสด ๆ มีแม่เพลงหนึ่งหรือสองคนเป็นต้นบท มีลูกคู่รับประมาณสามถึงสี่คน หรือมากกว่าก็ได้ มีฉิ่งเป็นเครื่องกำหนดจังหวะ หรืออาจมีกรับแกระ ประกอบอีกก็ได้
           เมื่อคณะเพลงบอกไปถึง พอเริ่มเข้าประตูรั้วบ้าน หรือบริเวณบ้าน ก็จะเริ่มร้องเพลงโดยร้องไปเดินไป เนื้อร้องเป็นทำนองชมนกชมไม้ ชมบ้านเรือน เจ้าของบ้านจะเตรียมสุราอาหาร ปูเสื่อสาดให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง คณะเพลงบอกก็จะร้องเพลง และรับประทานอาหารจนอิ่มแล้ว ก่อนกลับก็จะมีการให้ศีลให้พรเจ้าภาพ ตัวอย่างบางตอนของเพลงบอกมีดังนี้

ชมบ้านเรือน           ชมพันธุ์พฤกษานานาประเภท  (ทอย)      ทั้งขอบเขตปริมณฑลนั้นต้นไผ่
                         นี้ใบไม้ผลมั่นหล่นอยู่เรียงราย
                               ใบมันหล่นลงเมื่อแห้ง (ทอย)      ติดฤดูแล้วใบมันตาย มันไหลง หน
                         มันหล่นหาย กวาดมันไม่ทัน
วันตรุษ                    ผมไหว้เจ้าบ้านท่านที่เคารพ  (ทอย)      ขอนอบนบจำนงเนียร
                         สิบนิ้วน้อมต่างธูปเทียน      เวียนว่ายเหนือเกศา (รับ)
                               ขอพึ่งบารมีคุณพี่เจ้าบ้าน (ทอย)      ผมเซซานเข้ามาหา
                         เหมือนนกน้อยพลัดรังมา      ขอพึ่งพาได้ใบบุญ (รับ)
สร้างกุศล                 จารึกลงในแผ่นทอง (ทอย)      เราพี่น้องรักศาสนา
                          ไม่เสียทีที่เกิดมา      ควรสร้างบารมี  (รับ)
                                อย่าทำให้เสียซึ่งกำเนิด  (ทอย)      ได้เกิดมาในชาตินี้
                          สร้างความดีเอาไว้      คงไม่ตายโลน  (รับ)

               - เพลงเรือ  เป็นเพลงพื้นบ้านสืบทอดกันมานาน แสดงความผูกพันต่อสายน้ำ ใช้ขับร้องขณะพายเรือในขบวนแห่ชักพระทางน้ำในวันพระเสด็จ คือวันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด หรือในวันทอดกฐิน
           ขณะพายเรือไปก็ร้องรำทำเพลงพายเกาะกันไปเป็นกลุ่ม ๆ หยอกเย้ากันไปด้วยถ้อยคำที่คล้องจองเรียบง่ายแต่ไพเราะด้วยอรรถรสเป็นที่มาของเพลงเรือ
           ผู้เล่นเพลงเรือได้แก่ทุกคนในลำเรือ ซึ่งเป็นเรือซึ่งเป็นเรือหญิงหรือเรือชายล้วนทั้งลำ มีผู้ร้องนำเรียกพ่อเพลงหรือแม่เพลง โดยมีฝีพายทุกคนในเรือเป็นคู่ เรือลำหนึ่ง ๆ มีผู้ร้องนำและลูกคู่ตั้งแต่เจ็ดคนสำหรับเรือเล็ก จนถึง ๒๐ - ๓๐ คน แล้วแต่ขนาดของเรือ เสียงขับเพลงเรือจากบรรดาเรือที่มีอยู่มากมาย จะดังไปทั้งลำน้ำสลับเสียงโห่ฮา ด้วยความสนุกสนานรื่นเริงใจ
           เนื้อเพลงเรือมีทั้งแบบชมโฉม ชมนาง ชมไม้ ชมความงามอื่น ๆ และพรรณาเรื่องราวต่าง ๆ ส่วนแบบชิงชู้เป็นการร้องว่าแก้กันเป็นคู่ ๆ (คู่ลำเรือ) จะว่ากันคนละคราวหรือคนละบทก็ได้ ตามความพอใจตัวอย่างเพลงเรือบางตอนมีดังนี้

      เอิงเงย เฉิดฉาย   สลักลายเหมาะสม   สวยสอดยอดพนม  น่าชมเสียจริง
ลวดลายพรายพราว  ประดับแก้วเพริดพริ้ง  สดใสใหญ่ยิ่ง สุดจะอิงนิยาย
      มีกนกเครือวิลัย  หน้าบัลลังก์หลากหลาย บัวคว่ำบัวหงาย ลงรักปิดทอง
ช่างสวยสุดซึ้ง หนึ่งไม่มีสอง  มีองค์พระทอง อยู่ในห้องชั้นใน
 ฯลฯ
จัดการสมโภช ได้ประโยชน์มากหลาย  คนไทยสืบสาย รักษาประเพณี
ทำบุญไห้วัด จัดเสริมศักดิ์ศรี  รักสามัคคี น้องพี่ผมเฮย

               - เพลงกรรมตัก (คำตัก)  ใช้ร้องเล่นในงานบวชนาค ขณะแห่นาคเข้าวัดหลังจากทำขวัญนาคแล้วเนื้อเพลงเกี่ยวกับการบวชเช่น นาคลาพ่อ ลาแม่ ลาญาติ ลาคนรัก ระหว่างที่บวชอยู่จะศึกษาเล่าเรียนประพฤติปฎิบัติตนให้สมกับอยู่ในสมณเพศ พ่อแม่สั่งนาคให้ตั้งใจบวชเรียน ประพฤติตนตั้งมั่นอยู่ในศีลจริยวัตรอันดีงาม
           แม่เพลง อาจเป็นหญิงหรือชายก็ได้ โดยจะขับร้องกลอนสด ลูกคู่มีกี่คนก็ได้ร้องรับพร้อม ๆ กัน ก่อให้เกิดความไพเราะแม้จะไม่มีดนตรี อรรถรสของเพลงอยู่ที่สำนวน คำสั่งสอน ความกตัญญูรู้คุณ และการสืบทอดพระพุทธศาสนาของเจ้านาค
           การร้องเพลงกรรมตัก นอกจากจะนิยมร้องในวันบวชนาคแล้วยังใช้ร้องเล่นในโอกาสอื่น ๆ เช่นเวลานวดข้าว และร้องเล่นเพื่อความเพลิดเพลินบรรเทิงใจ ตัวอย่างบางตอนของเพลงกรรมตัก มีดังนี้

นาคลาพ่อแม่ ญาติพี่น้อง           ฤกษ์งามยามดีเอย   ชอบเวลานาทีครันได้ฤกษ์ดี  เอ้ย  ครัน
                                        ครันเสร็จการธุระในเรื่องเจ้านาค  ทำขวัญเอย   ญาติกาพร้อมมากมานั่งให้มาดเอ้ยลา
พ่อแม่สอนลูกก่อนบวช             เชิญไปเถอะพ่อไปเอย  ไม่ต้องโศกเศร้าอาลัยน้ำใจพ่อศรัท เอ้ย ธา
                                        ลูกเข้าไปทำหน้าที่สวดมนต์ปฎิบัติเอย   อย่าลืมเสียลูก   จงปฎิบัติแต่ชั่ว  เอ้ย  คราว
               - เพลงเห้  ใช้ขับร้องในเทศกาลสงกรานต์ เป็นวันสนุกสนานรื่นเริง เที่ยวเตร่พักผ่อนหย่อนใจ ร้องรำทำเพลงกันบ้างก็เที่ยวกลางคืนร้องเพลงเห้เรียกเจ้าบ้าน ลงมาคุยร้องรำด้วยกัน บ้างก็ร้องเพลงเพื่อจัดพุ่มหาเงินมาบำรุงวัด เที่ยวไปหลาย ๆ บ้าน เจ้าบ้านยินดีจัดหมากพลู บุหรี่ ลงมาต้อนรับ
           การร้องเพลงเห้มีแพร่หลายในอำเภอท่าแซะ มีนายเพลงร้องไปเที่ยวหนึ่ง แล้วลูกคู่รับวรรคที่สองพร้อมกัน ส่วนเนื้อเรื่องที่หยิบมากล่าวจะเป็นเรื่องใดก็ได้ ว่าไปได้เรื่อย ๆ ไม่จำกัดความยาว ตัวอย่างบางตอนของเพลงเห้ มีดังนี้
      มาถึงปากทวารพวกฮาน เชิญนั่ง ยกหัตถ์ขึ้นตั้งเหนือเศียร
(ลูกคู่รับ)  เห้ ราเหย ยกมือขึ้นตั้งเหนือเศียรเฮย
       ไหว้ภูมิบ้านภูมิเรือนเหมือนเจ้าบ้านไหว้  คิดคำทั้งหลาย อย่าได้ถือ
(ลูกคู่รับ) เห้ ถือเหย ผิดคำทั้งหลายอย่าได้ถือ เฮย
               - ลำตัดพื้นบ้าน (ลำตัดป่า)  นิยมเล่นกันมานาน และยังมีสืบทอดมาถึงปัจจุบัน การเล่นมี รำมะนาสามลูก คือ ใหญ่ กลางและเล็ก มีระนาดซออู้ ซอด้วง เป็นเครื่องดนตรี มีผู้เล่นสี่ห้าคน นิยมเล่นเมื่อเสร็จการทำงานตอนกลางวันแล้ว พอตกค่ำก็ร้องรำทำเพลงกันตามหมู่บ้านในชนบท หมุนเวียนกันไปตามบ้านเพื่อน ๆ ว่ากันแต่กลอนไม่จับเรื่องราว
ที่จับทัพเป็นเรื่องต่าง ๆ ก็มี โดยใช้คนไปยืนสองคนว่ากลอนต่อกัน มีลูกรับผลัดเเปลี่ยนกันว่าทำนองต่าง ๆ ต่อมาก็แสดงเรื่องมีตัวเจ้าเมือง นางเมือง พระเอก พระรอง ตา ยาย เป็นไปตามเรื่องที่จะแสดงโดยเอาเรื่องราวจากวรรณคดีต่าง ๆ เช่น อิเหนา สังข์ทอง ไกรทอง ลักษณวงศ์ จันทรโครพ ฯลฯ นำมาแสดงเป็นตอน ๆ ให้เหมาะกับตัวแสดง ตัวอย่างบทลำตัดบางตอนมีดังนี้
      สิบนิ้วสาธุ ผมยกมือขึ้นไหว้พระองค์ พระพุทธ ธรรม สงฆ์ ระลึกถึงคุณรัตนะ
กราบคารวะ ทั้งสามองค์  (ลูกคู่รับ)
      สุริโยโอภาส พระหนุ่มน้อยวรนาถ ออกมานั่งเล่น  (ซ้ำ)
นั่งลบหนุ่ม ๆ สาว ๆ  ไปเสียทั้งเช้าทั้งเย็น  (ลูกคู่รับ)
               - สวดมาลัย  มาจากคำเต็มว่า สวดพระมาลัย ใช้สวดในงานศพ หลังจากพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม แล้วก็จะมีการแสดงสวดมาลัยต่อจนสว่าง
           จุดมุ่งหมายของการสวดมาลัย ก็เพื่อสั่งสอนให้สาธุชนกลัวบาป และเป็นวิธีแก้ความเงียบเหงา ในขณะเฝ้าศพ และให้เจ้าภาพ หรือญาติผู้ตายคลายความเศร้าโศกด้วย
           แต่เดิมพระสงฆ์เป็นผู้สวดพระมาลัย จำนวนสี่รูปหรือหนึ่งเดียว โดยมีตาลปัตรบังหน้า ใช้บทสวดจากหนังสือพระมาลัยที่เรียกว่า พระมาลัยคำสวด  (คำสอน)
           สำหรับผู้สวดมาลัยที่เป็นคฤหัสถ์ คณะหนึ่งเรียกว่า วงมาลัย วงหนึ่งมีสี่ถึงหกคน หรืออาจมากกว่านี้ก็ได้ผู้เล่นจะเป็นผู้ชายหรือผู้ชายรวมกับผู้หญิงก็ได้ จะนั่งล้อมกันเป็นวง กางคัมภีร์  หรือบทร้องไว้ตรงกลาง มีแม่เพลงสองคนเรียกว่า แม่ครูคู่ หรือต้นเพลง ที่เหลือเป็นลูกคู่หรือคู่หู ลูกคู่มีหน้าที่ร้องรับการสวดของแม่เพลง และมีการแสดงท่าทางประกอบด้วย อาจมีขลุ่ยและรำมะนามาเป็นเครื่องดนตรีประกอบด้วยหรือไม่ก็ได้ การแต่งกายส่วนใหญ่แต่งกายตามปกติ แต่บางวงอาจแต่งกายตามเนื้อเรื่อง
           การสวดมาลัยเริ่มต้นด้วย การตั้งนะโม และไหว้คุณ คือไหว้ครู อาจารย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ ต่อจากนั้นสวดบทในกาล อันเป็นบทเริ่มเนื่อเรื่องในหนังสือพระมาลัย ที่เรียกว่า บทในกาลนั้น เพราะคำขึ้นต้นของบทสวดตอนนี้ขึ้นต้นว่า ในกาลอันลับล้น เป็นการเล่าประวัติของพระมาลัย ที่ได้โปรดสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในสวรรค์และนรก ผู้ร้องบทนี้ต้องเป็นผู้ชาย
           เมื่อจบบทในกาลแล้ว จะขึ้นบท ลำนอก หรือเรียกว่าเรื่องเบ็ดเตล็ด คือเป็นเรื่องจากวรรณคดีต่าง ๆ เช่นขุนช้างขุนแผน สังข์ทอง พระอภัยมณี อิเหนา จันทโครพ เป็นต้น ส่วนมากร้องเป็นเพลงลำตัด ชาวบ้านเรียกว่า บทยักมาลัย
           ปัจจุบันการสวดมาลัย มีอยู่เพียงแห่งเดียวที่ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง ฯ

               - หนังตะลุง  หนังตะลุงชุมพรได้แบบอย่างมาจากจังหวัดสงขลา เริ่มที่บ้านทุ่งคาใกล้ตัวเมืองชุมพร โดยหนังนกแก้วผู้เป็นชาวสงขลา
           หนังตะลุงชุมพร มีลักษณะแตกต่างจากหนังตะลุงในภาคใต้อื่น ๆ ในด้านท่วงทำนอง ลีลาการขับร้อง ตัวตลก และขั้นตอนการเชิด ขั้นตอนการเล่นเริ่มจากการลงโรง (โหมโรง) ออกรูปพระอิศวร (จังหวัดอื่นนิยมออกรูปฤาษี) ออกรูปฤาษีปรายหน้าบท รูปบอกเรื่อง และเล่นเรื่องตามลำดับ
           หนังตะลุงใช้เล่นในงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานแก้บน งานรื่นเริง เทศกาล ไม่แสดงในงานศพ และงานแต่งงาน
               - โนรา  สันนิษฐานว่า ชาวชุมพรได้รับแบบอย่างจากจังหวัดทางภาคใต้ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า เริ่มเล่นโนราที่ชุมพรในสมัยใด
           โนราแสดงในงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานแก้บน งานเทศกาลรื่นเริงต่าง ๆ ไม่นิยมแสดงในงานศพ และงานแต่งงาน
           ท่ารำหลัก ๆ ของโนรามีสอบสองท่า เรียกว่าท่าแม่บท แต่ละท่ายังแตกออกเป็น ท่าแม่ลายอีกเป็นจำนวนมากมายนับร้อยท่า ท่ารำหลายท่ามีความคล้ายคลึงกับภาคกลาง แต่ลีลา และวิธีการแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
           การแต่งกาย ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ชาวชุมพรแต่งกายตามแบบโบราณ ทั้งหญิงและชายดังนี้
               - ผู้หญิง  นุ่งผ้าโจงกระเบน ผ้าดอก ห่มผ้าสไบเฉียง คนสูงอายุนิยมสวมเสื้อคอกระเช้า เสื้อกั๊กบ่าเล็ก ๆ ถ้าไปงานพิธีหรือไปวัด จะสวมเสื้อมีแขน ผ้าพาดบ่า หรือห่มสไบเฉียง ไว้ผมยาวโดยเกล้าเป็นผมมวย สับผมด้วยหวีโค้งหิ้วกระเช้าหมาก
               - ผู้ชาย  ผู้ที่เป็นข้าราชการนุ่งผ้าโจงกระเบน ส่วนมากนิยมผ้าม่วง สวมเสื้อราชประแตน สวมถุงน่องรองเท้า ส่วนชาวบ้านที่มีฐานะเวลาออกงานจะนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม ผ้าขาวม้าคาดเอว คนทั่วไปจะนุ่งกางเกงขาสั้น รัดเข็มขัดถ้ามีฐานะดีมักใช้เข็มขัดทอง (ทองคำ) นาคหรือเงิน ทรงผมเป็นทรงดอกกระทุ่ม หรือตัดข้าง ๆ เกรียนบนศีรษะไว้ยาวหวีผมแสกกลาง
           สมัยก่อนผู้มีฐานะทั้งชายและหญิงนิยมสวมสายสร้อยทอง (ทองคำ) กันเต็มคอ สวมแหวนหลาย ๆ วงเกือบทุกนิ้ว เด็กนิยมไว้จุก สวมกำไลข้อเท้าทำด้วยทองคำ นาค หรือเงิน หญิงสาวก็นิยมสวมกำไลข้อมือ ข้อเท้าเช่นกัน
           การกินอยู่  สมัยก่อนสงครามมหาเอเซียบูรพา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ การจัดอาหารการกินนิยมจัดเป็นสำรับใส่ถาดหรือใส่กระเทาะ (ทำด้วยไม้) หรือจัดใส่โตก ผู้มีฐานะดีจะใช้โตก นั่งกินบนพื้นนิยมนั้งเป็นวงสำรับ โตก หรือกระเทาะ ผู้ชายนั่งสมาธิ ผู้หญิงและเด็กนั่งพับเพียบ คนสูงอายุมักนั่งชันเข่าข้างหนึ่ง
ถ้าเป็นข้าราชการมีฐานะก็จะมีคนคอยรับใช้อีกด้วย
           อาหารโดยทั่วไปจะตักใส่ถ้วย แล้วตั้งรวมไว้ในสำรับกับข้าว (ถาด โตก กระเทาะ) ตักข้าวสวยใส่จานหรือโคม ใช้มือเปิบอาหารใส่ปาก วิธีการดังกล่าวนี้ยังพอพบเห็นอยู่ตามชนบท แต่ค่อย ๆ หมดไป
           กิริยามารยาท  โดยทั่วไปชาวชุมพรเป็นคนสุภาพ อ่อนน้อม กิริยามารยาทเรียบร้อย พูดจาไพเราะอ่อนหวานตามแบบคนไทยโดยทั่วไป ผู้น้อยให้เกียรติผู้ใหญ่ เคารพนบนอบไม่แข็งกระด้างและตีตัวเสมอ เวลาเข้าหาผู้ใหญ่จะอยู่ในอาการสำรวม เดินค้อมตัว รู้จักกล่าวคำขอโทษ ขออภัย ขอบใจ ขอบคุณและเสียใจ กับบุคคลทั่วไป
           ลักษณะเด่นประกานหนึ่งของประเพณี การแนะนำตัวของชาวชุมพร เมื่อจะแนะนำใครต้องบอกถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ด้วย เป็นการลำดับความเป็นมาในครอบครัว อันเป็นลักษณะของสังคมไทย
           ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนมีลักษณะเป็นสังคมชนบท มีการคบหาสมาคมกันอย่างใกล้ชิด ในหมู่ญาติมิตร เวลามีงานประเพณีต่าง ๆ มักมีการเชิญญาติมิตรเพื่อนบ้าน หรือคนรู้จักมักคุ้นไปร่วมงานกันอย่างอบอุ่น และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
           ประเพณีการทำนา  เริ่มจากการไหว้ผีคอก ทำขวัญคอก พิธีปักยันต์ข้าว พิธีรวบข้าว และพิธีทำขวัญข้าว เป็นต้น ประเพณีดังกล่าวนี้ ในสมัยโบราณถือกันเคร่งครัดมาก ปัจจุบันที่อำเภอท่าแซะยังมีผู้นิยมถือประเพณีนี้กันมาก
               - พิธีไหว้ผีคอก หรือทำขวัญคอก  สมัยก่อนต้องใช้ควายในการทำนา จึงมีการเลี้ยงควายไว้เป็นฝูง เมื่อสิ้นฤดูทำนา ชาวบ้านจะปล่อยควายไปหากินตามทุ่งเลี้ยงสัตว์ หรือตามทุ่งนา พอเริ่มฤดูทำนาคือในเดือนหก ชาวบ้านจะทำพิธีไหว้ผีคอกหรือทำขวัญคอกโดยไปตัดต้นไม้เล็ก ๆ มาทำคอกชั่วคราว แล้วปักหลักหลุง (ไม้หลักใหญ่)
ไว้กลางคอกทำเครื่องสังเวย ได้แก่ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว อาหารคาวหวาน มีไก่หนึ่งตัว เหล้าหนึ่งขวดไว้ที่โคนหลักหลุง ทำพิธีบอกกล่าวให้เจ้าที่เจ้าทาง คุ้มครองป้องกันควายจากโรคภัยไข้เจ็บ ทำการผูกเสาด้วยด้ายขาว ด้ายแดงและผูกที่ควายตัวที่เป็นจ่าฝูงด้วย
           เสร็จพิธีแล้วนำควายเข้าขังในคอก ถ้าไม่ทำพิธีนี้ถือว่าจะใช้ควายไม่ได้ พิธีนี้นิยมทำในวันอังคาร
           วันแรกเหยียบนาหรือไถนาโดยมากเป็นวันพุธ หยอดกล้าและปักดำใช้ในวันจันทร์ และวันพฤหัสบดีและวันศุกร์
               - พิธีปักยันต์ข้าว  ชาวนาจะทำกันตอนข้าวเริ่มตั้งท้อง เพื่อต้องการให้ข้าวออกรวงได้เต็มที่ อีกประการหนึ่ง เพื่อไม่ให้สัตว์มาทำลายข้าว ผู้ทำพิธีต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการท่องบทกลอนทำพิธีได้ถูกต้อง
                   อุปกรณ์ในพิธีประกอบด้วยใบตาลสามใบ ผูกด้วยด้ายขาวด้ายแดง แล้วนำไปผูกติดกับทางระกำ จากนั้นนำไปปักไว้ในนาข้าวเพื่อให้คอยดูแลนาข้าว
               - พิธีรวบข้าว  เมื่อข้าวตกรวงสุกเต็มที่จวนจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว ชาวนาจะมีพิธีรวบข้าว โดยต้องหาฤกษ์ดี มีผู้รู้ทำพิธีเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการเก็บเกี่ยวข้าว ไม่ให้เจออุปสรรคจากภัยธรรมชาติ และป้องกันสัตว์เข้ามาทำลายข้าวในนา ก่อนเก็บเกี่ยวข้าวต้องทำพิธีนี้ก่อน
                   เครื่องทำขวัญข้าวในการรวมข้าวประกอบด้วยหว้าหนึ่งกิ่ง ใบร่มข้าวหนึ่งใบ หวายน้ำหนึ่งทาง หวายขมหนึ่งทางน้ำข้าวหนึ่งต้น กล้าหนึ่งต้น ใบฝักข้าวหนึ่งใบ ชะนูดพระหนึ่งต้น บังเลหนึ่งต้น ผูกด้วยย่านยายเภา และด้ายแดงด้ายขาวผูกติดกับหลักรวบต้นข้าวมาผูกห้า - เจ็ดกอ ขณะผูก ผู้ทำพิธีจะว่ามนต์คาถาประกอบด้วย
                   บนหลักมีเครื่องพิธีกรรม ประกอบด้วยขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ข้าวเหนียวหนึ่งช้อน ข้าวเจ้าหนึ่งช้อน ไข่ไก่ หนึ่งฟอง ปลาห้าชนิดคือปลาสลิด ปลาสลาด ปลาหมอ ปลากระดี่และปลาโอ เทียนหนึ่งเล่ม ธูปสามดอก หมากหนึ่งคำ ดอกไม้สามดอกใส่ในชาม
               - การเก็บข้าว  ชาวชุมพรยังใช้แกะเก็บข้าวเป็นรวง ๆ อยู่ ไม่นิยมใช้เคียวเหมือนในภาคกลาง การเก็บเกี่ยวจะขอแรงชาวบ้านมาช่วยการเก็บข้าวเป็นราย ๆ ไป การที่ไม่ใช้เคียวเพราะมีคตินิยมว่าจะทำให้ข้าวตกหล่น กลัวขวัญแม่โพสพจะหลีกหนีไป ขณะเก็บข้าวจะมีการร้องเพลงนาด้วย
               - พิธีทำขวัญข้าวหรือเชิญขวัญข้าว  เมื่อนวดข้าวเสร็จแล้ว ก่อนจะนำขึ้นคุกข้าว (ยุ้งข้าว)  เพื่อเป็นการตอบแทนคุณแม่โพสพที่ประทานข้าวมาให้ ต้องทำพิธีเชิญขวัญข้าวซึ่งจะทำกันที่บริเวณลานนวดข้าวหลังจากนวดข้าวเสร็จแล้ว ของที่ใช้ในการทำพิธี ประกอบด้วยขนมโค ขนมแดง ขนมขาว ขนมทอด กล้วย อ้อย ถั่ว งา กุ้ง หอย ปู ปลา ข้าวสุก ผักพล่า ยำ ไข่ไก่ ไข่เป็ด เป็นต้น นำมาใส่บายศรีและถาดเพื่อทำพิธี เจ้าของบ้านจะเชิญชาวบ้านมาร่วมในพิธี ผู้ทำพิธีจะกางร่มไว้กลางกองข้าวเพื่อให้แม่โพสพเข้ามาอยู่ในร่ม แล้วนำบายศรีและสำรับกับข้าวมาตั้งไว้ ผู้ทำพิธีว่าคำกลอนที่กล่าวถึงเรื่องแม่โพสพ เมื่อจบแล้วโห่ขึ้นสามลา
               - พิธีตักข้าว  เมื่อข้าวใส่คุก (ยุ้ง) แล้วต้องทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง ถ้ายังไม่ทำพิธีตักข้าว จะนำข้าวออกจากคุก (ยุ้ง) ไม่ได้
                   เมื่อได้วันดีแล้ว ใช้กระแซงตักข้าวใส่ไว้ มีเครื่องทำขวัญด้วยด้ายแดง ด้ายขาว ผูกแล้วนำข้าวออกจากคุก ซึ่งอาจต้องดูวันดีอีก ถ้าตรงวันศุกร์ วันแรมแปดค่ำ สิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ (วันพระ วันโกน) แล้ว เจ้าของข้าวจะไม่ยอมเอาข้าวออกจากคุก (ยุ้ง)

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์