ภูมิปัญญาชาวบ้าน
การนั่งห้าง
เป็นการจับสัตว์ป่าขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพื่อคอยยิงสัตว์ เช่น กระทิง หมูป่า
กวาง สมเสร็จและเสือ เป็นต้น ปกติทำในป่าลึกบนไม้ที่ไม่เล็ก และใหญ่เกินไป
ขึ้นลงได้สะดวกและสัตว์ปีนขึ้นไปไม่ได้ ความสูงของจุดที่ผูกห้าง ต้องสูงพอที่ไม่ให้สัตว์ทำร้ายถึง
ไม่ให้สัตว์ได้กลิ่น และไม่ให้อยู่ในระดับสายตาของสัตว์
การนั่งห้างเพื่อยิงสัตว์เป็นอาหาร ให้นั่ง ณ จุดที่สัตว์ออกมาหากิน เช่น
จุดที่มีหญ้าอ่อนหรือจุดที่สัตว์ลงมากินน้ำหรือกินดินโป่ง (ดินเค็ม) ส่วนการนั่งห้างเพื่อยิงเสือ
ให้นั่ง ณ จุดที่มีซากสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสืออยู่
- ข้อปฏิบัติในการนั่งห้าง
พรานป่าถือว่าในป่าใหญ่มักมีอะไรหลายอย่างที่ไม่น่าเชื่อเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น
เห็นเสือเป็นคนที่รู้จักกันมาเรียกให้ลงจากห้าง การเข้าป่านั่งห้างจึงห้ามไม่ให้ใครตามไปและถ้าเห็นใครมาเรียกก็ไม่ให้ลงจากห้างเป็นอันขาด
การจับช้างป่า
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในเขตอำเภอท่าแซะ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์มีช้างป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
มีการตั้งคอกจับช้างป่า เพื่อนำมาฝึกสอนไว้ใช้งาน
การจับช้างป่า ผู้จับต้องมีความชำนาญป่า ต้องใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ในการดักจับ
สันนิษฐานว่าวิธีการตั้งคอกจับช้าง และการฝึกช้างได้แบบอย่างมาจากชนชาวเขา
เช่น กะเหรี่ยง ตองซู่ หรือเผ่าอื่น ๆ จึงทำให้เกิดภาษาที่ใช้ในการฝึกช้างโดยเฉพาะขึ้นมาที่ไม่เน้นภาษาไทย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีการตั้งคอกจับช้างป่ากันมาก จึงมีกฎเกณฑ์และกฎหมายต่าง ๆ ออกมามากมาย
- การเตรียมการเมื่อถึงฤดูจับช้างป่า
การตั้งคอกจับช้างนิยมทำกันในฤดูแล้งระหว่างเดือนยี่ถึงเดือนห้า เพราะเป็นช่วงว่างจากการทำนา
โดยรวมกลุ่มกัน มีผู้นำกลุ่มและแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบในแต่ละหน้าที่ดังนี้
เจ้าอนุญาต คือ ผู้ที่มีหลักฐานสำคัญ
เป็นผู้ติดต่อยื่นเรื่องต่อทางราชการ ขออนุญาตจับช้างป่า
นายคอก เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการทำคอกและควบคุมคนงาน
หมอเฒ่า เป็นผู้ชำนาญในการทำพิธีจับช้าง
มีหน้าที่ทำพิธีเซ่นไหว้ บนบานและมีโองการพิเศษในการจับช้าง จึงเป็นบุคคลสำคัญในการจับช้าง
ตลอดจนความปลอดภัยจากภัยอันตรายต่าง ๆ
ห้วยสิทธิ์ คือ กองเสบียงอาหาร
จัดการส่งเสบียงอาหารและเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ส่วนมากจะใช้ช้างขนไปส่งเป็นระยะ
ๆ
กองตำนูน คือ ผู้ชำนาญป่า เสาะหาทำเลที่เหมาะสมที่จะตั้งคอกจับช้าง และรู้แหล่งที่อยู่อาศัยของโขลงช้างป่า
ลูกคอก คือ คนงานที่ทำหน้าที่ตามที่นายคอกกำหนด
ช้างต่อ คือ ช้างที่เลี้ยงไว้จนเชื่อง
มีขนาดใหญ่ เพื่อใช้ลากเข็นช้างป่าที่ดักจับได้ออกจากคอกและนำไปฝึกหัด
- การสร้างคอกช้าง สร้างด้วยไม้เสาขนาดใหญ่ประมาณต้นหมาก
หรือต้นมะพร้าว ปากคอกกว้างประมาณ หกศอกความลึกเหมาะสม ท้ายคอกจะแคบเข้าเหมือนก้นซ่อน
(เครื่องมือจับปลา) ผูกคานติดเสาเป็นแถว มีไม้ค้ำเสาจากภายนอก เรียกว่า นางกรัน
นางเรียง มีเชือกหวายผูกโยงอย่างมั่นคงมีประตู ทำด้วยไม้เกือบเท่าต้นเสา เสี้ยมโคนแหลมขันชะเนาะ
เรียกบานประตูว่าค้องพัด บนค้องพัดมีนั่งร้านสำหรับหมอเฒ่าเรียกว่า ห้างกะราด
เมื่อทำคอกเสร็จ จะมีการเตรียมงานอื่น ๆ โดยแบ่งคนงานออกเป็นพวก ๆ แบ่งหน้าที่กันคือ
พวกที่หนึ่ง พันเชือกพวนโดยใช้หวายโป่ง หรือหวายที่มีความมั่นคงแข็งแรงตามจำนวนที่ต้องการ
พวกที่สอง จัดทำขาทรายซ้ายขวาจากประตูคอก ทะแยงเป็นปีกกาค่อย ๆ กว้างออกไประยะใกล้ปากคอกใช้ไม้เสาหลักเป็นระยะ
ๆ คล้ายทำรั้ว ครอบคลุมบริเวณที่มีโขลงช้างป้าอาศัยอยู่ระหว่างขาทรายทั้งสองข้างจะต้องถางป่าสำหรับให้คนวิ่งได้เป็นระยะ
ๆ แต่ละระยะมีร่างร้าน (ห้าง) สำหรับลูกคอกเฝ้าระวัง
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ไต้พัน ซึ่งใช้น้ำมันยางคลุกใบไม้แห้ง ห่อพันด้วยใบหรือกาบหมากยาวประมาณ
๑/๒ เมตร ถึง ๑ เมตร ผูกไม้ปักเป็นระยะ ๆ ไปตามขาทราย
- การไล่ช้าง
เมื่อการเตรียมการทุกอย่างพร้อมแล้วก็เริ่มเดินทางหาโขลงช้าง โดยมีตำนูน เป็นหัวหน้า
มีลูกน้องสอง - สามคน หรือแบ่งเป็นสองสามพวก หาบเสบียงกรังรอนแรมไปในป่าเป็นระยะทางห่างไกลนับสิบกิโลเมตร
เมื่อพบโขลงช้างจะสังเกตอยู่ไกล ๆ แล้วทำเสียงให้โขลงช้างบ่ายหน้าไปยังทิศทางที่ตั้งคอกไว้
การทำเสียงบางครั้งใช้เคาะไม้ หรือถ้าอยู่ในระยะไหล ๆ ก็ใช้เสียงปะทัด หรือปืน
พวกตำนูนจะทำงานกันทั้งวันทั้งคืน เมื่อโขลงช้างเข้าสู่เขตขาทรายแล้ว
ต้องเพิ่มความระมัดระวังโดยเฉพาะเวลากลางวัน
ในช่วงนี้พวกลูกคอกจะวิ่งส่งข่าวกันเป็นระยะ ๆ จนถึงคอก เมื่อโขลงช้างหากินเข้าไปใกล้คอกทุกคนจะซุ่มรอเงียบ
ๆ ตกกลางคืนพอช้างเข้าบริเวณขาแข็ง ลูกคอกตามห้างต่าง ๆ ก็วิ่งจุดไต้พร้อมกัน
พร้อมกับจุดไต้แถวสลักหลัง เรียกว่า กรวก และจุดปะทัดสะกัดไล่เป็นระยะ ๆ โขลงช้างก็จะแตกตื่นไปสู่ที่มืดคือ
บริเวณปากคอก จะเข้าสู่คอกเป็นแถวหมอเฒ่าซึ่งเฝ้านับช้างอยู่บนกะราด โดยมีเสียงกระดิ่งเป็นเครื่องวัด
เมื่อเสียงกระดิ่งเงียบลง หมายถึงช้างหมดโขลงแล้ว หมอเฒ่าจะสับหวายขันชะเนาะบานประตู
(ค้องพัด) ให้หลุ่มปิดปากคอกพร้อมกับตะโกนดัง ๆ ว่าช่วยคอกโว่ย ๆ
ทั้งคืน ทั้งเสียงช้างและเสียงคนดังสนั่นป่า ช้างถ่ายอุจาระปัสสาวะด้วยความตกใจจนเป็นทะเลโคลน
ช้างดิ้นรนอยู่ได้ไม่นานนักเพราะคอกแคบ ช้างไม่สามารถกลับตัวไปมาได้ เสาหลักจะยิ่งแน่นขึ้นเพราะดินถูกเหยียบย่ำแสงไต้ที่จุดรอบ
ๆ คอกสว่างไสว เชือกพวนที่เตรียมไว้ ปลายด้านหนึ่งจะผูกติดไว้กับตอไม้ที่อยู่รอบนอกคอก
แล้วทำเป็นบ่วงบาศคล้องประกันขาช้างจากด้านหลัง โดยคล้องจากตัวที่อยู่ด้านปากคอกก่อนตามลำดับ
ช้างจะพยายามใช้งวงดึงเชือกคอก ทำงานกันตลอดคืนสุดแล้วแต่จำนวนของช้าง
- ช้างต่อ (ช้างชัก)
เป็นชาวบ้านที่มีขนาดใหญ่แข็งแรง มีความสามารถพิเศษพร้อมทั้งหมอควาญ การที่จะใช้ช้างต่อกี่เชือกขึ้นอยู่กับจำนวนช้างป่า
ขั้นตอนแรก คนงานจะพังท้ายคอกแล้วนำช้างต่อเข้าไปนำช้างตัวแรกออก โดยเอาเชือกพวนที่ผูกช้างป่ามาคล้องกับเชือกพวนที่ผูกไว้ที่คอช้างต่อทั้งสองข้าง
ระยะห่างประมาณสองวา แล้วแก้เชือกที่ผูกประกันขาทั้งสองข้างออก ช้างต่อจะดึงและพาช้างป่าซึ่งดิ้นรนสุดกำลังจนอ่อนแรงลงในที่สุด
คนงานจึงเอาเชือกพวนที่ผูกขาหลัง และเชือกพวนที่ผูกอยู่ที่คอช้างป่าไปผูกตรึงกับต้นไม้ไว้
ส่วนช้างเชือกอื่น ๆ ก็ทำเช่นเดียวกัน
- การตรวจช้างของทางราชการ
เมื่อได้ช้างเข้ามาในคอกเรียบร้อยแล้ว เจ้าอนญาตก็รีบให้คนไปติดต่อสรรพากรจังหวัดและอำเภอ
ทางเจ้าหน้าที่ก็จะรับเดินทางมา ส่วนใหญ่ใช้ช้างเป็นพาหนะ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบช้างทุกเชือกตามกฎหมาย
ถ้าเป็นช้างแม่ลูกอ่อนหรือช้างไม่ได้ขนาด หรือช้างแก่เฒ่าก็สั่งให้ปล่อยไป
จากนั้นจะตรวจสอบขนาดของช้างเพื่อคำนวณเก็บภาษี
- การแบ่งปันช้าง
เจ้าอนุญาตกับนายคอกจะเป็นผู้ดำเนินการแบ่งปันส่วนช้างให้กับทุก ๆ คนที่อยู่ในกลุ่มโดยเจ้าอนุญาต
นายคอก ห้วยสิทธิ (กองเสบียง) หมอเฒ่า หัวหน้าตำนูน จะมีสิทธิเลือกช้างก่อน
ส่วนคนงานลูกคอก จะได้รับส่วนแบ่งกันไป เพราะจำนวนคนมีมากจึงต้องมีอัตราส่วนในการแบ่งปันช้างดังนี้
ช้างเชือกหนึ่งแบ่งเป็นสองซีก ซีกหนึ่งมีสองขา ขางหนึ่งมีสี่เล็บ เล็บหนึ่งมีสองเสี้ยว
รวมช้างเชือกหนึ่งจะมี ๑๖ เล็บ หรือ ๓๒ เสี้ยว
เมื่อจัดแบ่งกันตามรายละเอียดดังกล่าว ช้างเชือกหนึ่งจะมีผู้ได้ส่วนต่าง ๆ
ไปหลายราย โดยเฉพาะพวกลูกคอกใครจะรวมกับใครก็ให้ตกลงกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ให้ผู้จัดการดังกล่าวข้างต้นเป็นผู้ชี้ขาด
- การนำช้างกลับบ้าน
ก่อนเดินทางกลับกลุ่มผู้จับช้างจะจัดเก็บคอกช้างให้เรียบร้อย ซึ่งต้องใช้เวลาหลายวัน
เมื่อจัดการทุกอย่างเสร็จ ผู้ได้รับส่วนแบ่งก็จะนำช้างกลับไปยังสถานที่ฝึกช้าง
ซึ่งได้เลือกทำเลที่มีอาหารช้างอุดมสมบูรณ์เพียงพอ จากนั้นจะจ้างควาญช้างนำช้างเข้าสถานที่ฝึกแล้วจึงให้ให้อาหาร
และทำการผูกตรึง (ผายหลัก) ทั้งสองขา และเชือกพวนที่คล้องคอ
- การสร้างบินพาดหัดช้าง
การจัดสร้างที่สำหรับฝึกหัดช้างเรียกว่า บินพาด
มีลักษณะทำเป็นโรงไม้ซุง หรือปีกไม้กระดานปูพื้น ขนาดความกว้างยาวเท่า ๆ กับตัวช้าง
ใช้เสาหลักใหญ่ ๆ สองเสา ใช้ไม้ขนาดไม่ใหญ่นักผูกคาดเป็นคานเรียกว่า งาเทาะ
ขนาดตัวช้างและให้ช้างยกงวงขึ้นพาดได้ นอกจากนั้นต้องมีหลักตรึง และไม้คานอื่น
ๆ ขนาบอีกตามความจำเป็น พร้อมกับร้านนั่งนอนสำหรับผู้ฝึกโดยเฉพาะ
- การฝึกหัดช้าง เมื่อสร้างบินพาดเสร็จ
จะมีพิธีจัดช้างเข้าบินพาดโดยหมอเฒ่าคนเดิม มีการบนบานศาลกล่าวด้วยคาถาอาคม
เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจ ปัดไล่พวกอ้ายราน (ผีชนิดหนึ่ง) แล้วใช้ช้างต่อลากเข้าป่าเข้าเทียบบินพาดผูกตรึงทั้งขาหน้า
ขาหลัง และคอ จากนั้นเริ่มฝึกช้างให้คุ้นเคยด้วยวิธีต่าง ๆ ผู้ฝึกปรนนิบัตคือ
เจ้าของที่เป็นหุ้นส่วน หรือควาญช้าง ตกบ่ายต้องพาช้างไปอาบน้ำ กลางคืนจึงนำไปผูกผายหลัก
(ล่าม) ให้ช้างได้นอนพักผ่อน ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ประมาณครึ่งเดือนไปถึงเดือนที่ห้าช้างก็จะเริ่มใช้งานได้
ปัจจุบันไม่พบการตั้งคอกจับช้างในป่าในเขตจังหวัดชุมพรอีกแล้ว เนื่องจากสภาพธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป
และไม่มีความจำเป็นในการนำช้างป่ามาฝึกใช้งานอีก
การจังลิงป่า
การจับลิงป่าต้องใช้คอกซึ่งเป็นกับดัก ทำด้วยไม้ไผ่ กว้างประมาณ ๑๕๐ เซนติเมตร
ยาว ๒๐๐ เซนติเมตร สูง ๑๕๐ เซนติเมตร โครงของกรงเป็นไม้จริง แล้วใช้ไม้ไผ่ตอกเป็นซี่
ๆ ประตูทางเข้าสามารถยกขึ้นด้านบนและตกลงมาเมื่อลิงมาติดกับดัก การติดตั้งกับดักมีคออ่อน
ซึ่งทำจากไม้ไผ่ที่เหลาให้บางและสามารถห้อยตัวได้ เหยื่อล่อจะผูกติดกับคออ่อนซึ่งเป็นข้าว
ลูกเดือย กล้วย ฯลฯ เมื่อลิงมากินเหยื่อก็จะทำให้ไม้ที่เกี่ยวไว้กับคออ่อนหลุดออก
ทำให้เชือกที่ติดอยู่กับประตูหลุด ทำให้ประตูตกลงมาปิดปากคอก ลิงป่าก็จะถูกขังอยู่ในกับดัก
แล้วนำมาฝึกต่อไป
การวางกับดัก
จะทำในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ คือฤดูที่ข้าวไร่หรือลูกเดือยออกผลผลิตเพราะลิงป่าจะมากินผลผลิตทางการเกษตร
การวางกับดักให้วางห่างจากไร่ไปประมาณ ๒๐ เมตร โดยตั้งไว้ในที่โล่งให้ลิงเห็นเหยื่อล่อที่ใส่ไว้จนเต็มคอกกับดัก
เมื่อได้เห็นลิงแล้วจะคัดเลือกเอาตัวที่มีอายุพอเหมาะ ถ้าตัวใดหรือมีอายุมากก็จะหัดได้ยาก
ลักษณะของลิงที่ดีคือ ลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก หางใหญ่ ท่าทางคล้ายคนเช่น คางคล้ายคน
การนั่งชันเข่าคล้ายคน มักเป็นลิงที่มีบุคคลิกดี หัดง่าย
การขุดเรือ
การขุดเรือในประเทศไทยมีอยู่ทั่วไป เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มน้ำ
จังหวัดชุมพรไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า มีการขุดเรือใช้แต่สมัยใด
การขุดเรือที่รู้จักกันแพร่หลายมีสองแบบคือ เรือขุดเบิกขวาน และเรือขุดเบิกไฟ
- การกำหนดสัดส่วนของเรือ
เพื่อทำการฟันเรือได้รูปร่างสมส่วนตามที่ต้องการ โดยมีวิธีการตีเส้นกึ่งกลางลำเรือและแบ่งออกเป็นสี่ส่วน
ส่วนที่แบ่งครึ่งลำเรือเรียกว่า ส่วนห้า ส่วนที่แบ่งครึ่งของส่วนห้าเรียกว่า
ส่วนสาม
- การขุดเรือเบิกขวาน
ใช้ขวานหลายแบบ แต่งจากไม้ทั้งต้นจนเป็นเรือที่สมบูรณ์แบบปัจจุบันช่างใช้วิธีนี้กับการขุดเรือขนาดเล็ก
ยาวประมาณ ๘ - ๙ ศอก เมื่อได้ไม้ตามขนาดที่ต้องการแล้วผ่าครึ่งไม้ซุงออกเป็นสองส่วนเท่า
ๆ กัน โดยใช้เลื่อย
การโกลนเรือ เริ่มต้นด้วยการตีเส้นตามยาว ไม้กลางลำเรือและเส้นด้านข้าง
โดยเส้นข้างจะห่างจากริมปีกไม้ประมาณ ๔ - ๕ นิ้ว แล้วแบ่งส่วนครึ่งไม้เรียกว่า
ส่วนห้า แล้วลากเส้นทะแยงมุมจากจุดที่กำหนดห่างจากหัวเรือประมาณหนึ่งศอก เส้นนี้จะช่วยการขึ้นเรือได้
จากนั้นใช้ขวานโกลนให้เป็นรูปเรือ
เมื่อได้รูปเรือที่โกลนแล้วใช้กระแมะขุดไม้ให้ได้รูปเรือตามต้องการ เนื่องจากกระแมะมีลักษณะโค้ง
จึงทำให้ท้องเรือที่ขุดมีลักษณะโค้งมนได้รูปทั้งด้านนอก และด้านในลำเรือ ความหนาของเรือเมื่อขุดเสร็จแล้ว
๒ เซนติเมตร หัวเรือยาวประมาณ ๑ ศอก (เรือเล็ก) ความหนาของหัวเรือหนาประมาณ
๗ - ๘ นิ้ว การกำหนดความหนาของเรือใช้วิธีเจาะรูสัก วิธีเจาะรูสัก ใช้เหล็กไชเพื่อกะระยะความหนาของเรือโดยให้ห่างเป็นระยะ
ๆ พอประมาณ บริเวณที่ขุดยากที่สุดคือ ส่วนที่ประจบกันของหัวเรือ ที่เป็นซองซึ่งเล็กเรียวและแคบ
ต้องใช้ความชำนาญจึงจะขุดได้สวยงาม
เรือขนาด ๘ - ๙ ศอก ใช้เวลาขุดประมาณ ๑ สัปดาห์ ราคาปัจจุบันการขุดเรือคิดเป็นความยาวในราคาศอกละ
๓๐๐ บาท โดยที่เจ้าของเรือต้องมีไม้เตรียมไว้ให้ เรือเล็กยาวประมาณ ๘ ศอก
มีราคาประมาณ ๗,๐๐๐ - ๘,๐๐๐ บาท เรือเมื่อขุดเสร็จแล้วต้องลงน้ำมันชันเพื่อรักษาเนื้อไม้
และใส่กระทงให้เรียบร้อย
- การขุดเรือเบิกไฟ
จะใช้ไม้ทั้งต้น โดยตัดหัวและท้ายเรือให้ได้ขนาด เริ่มการขุดเรือด้วยการเปิดปีกไม้ตามยาวให้เรียบ
กว้างประมาณ ๑๐ - ๑๕ เซนติเมตร ลากเส้นกลางหน้าไม้ที่เปิดไว้ แล้ววัดขนาดของหัวเรือท้ายเรือให้ได้ขนาดตามที่กำหนดไว้
แล้วใช้ขวานปลีในการขุด ร่องฝั่น คลอดลำเรือ เว้นแต่หัวเรือและท้ายเรือ ร่องฝั่นมีความลึกประมาณ
หนึ่งศอก กว้างประมาณ หนึ่งคืบ จากนั้นให้คว่ำเรือลงแล้วพันแก้มหมูคือ การแต่งหัวเรือและท้ายเรือส่วนที่เหลือ
เมื่อขั้นตอนนี้เสร็จจะเห็นเป็นรูปร่างเรือชัดเจนขึ้น ตัดหลังให้เสมอกัน แต่งผิวให้เรียบตรงแนวเส้นผ่ากลางไม้
แล้วใช้กระแมะขุดเรือส่วนหัวและท้ายเรือ ตั้งแต่ส่วนสามถึงส่วนห้า คือส่วนที่ขุดร่องฝั่นไว้แล้วเรียกว่า
เว้นแขนช้าง
ใช้ขวานปลีขุดท้องเรือเข้าไป ขุดในร่องฝั่นตั้งแต่ส่วนสามถึงส่วนห้า ให้ได้ท้องเรือที่กลม
ถ้าดูภาพด้านหน้าตัด ลักษณะท้องเรือจะมีรูปคล้ายตัว C
- การตีไฟป่า
เป็นวิธีการขั้นต่อมา โดยใช้ไฟในการขยายความกว้างของลำเรือ โดยจะใช้เศษไม้ที่เหลือจากการขุดและโกลนเรือ
และจุดไฟในท้องเรือที่เป็นรูปตัว C เมื่อไม้ถูกความร้อนก็จะอ่อนตัวให้ใช้ไม้ตัดเป็นท่อน
ๆ ทำเป็นกระทง เพื่อใช้ดันแคมเรือให้ขยายออกโดยจะใช้ไม้ค่อยตีเปลี่ยนขนาดไปตามลำดับ
จนกว่าท้องเรือจะขยายจนได้ที่ แล้วใช้กระแมะขุดแต่งในอีกครั้งหนึ่ง ให้ได้ท้องเรือที่กลมมน
คส่ำเรือลงแล้วใช้กระแมาะปัดหลังอีกครั้งหนึ่ง
การตีไฟป่าครั้งที่สอง หงายเรือขึ้นแล้วใช้ไฟรมหลัง
คือ การก่อไฟรอบ ๆ ลำเรือ แล้วใช้กระทงขยายแคบแรืออีกครึ้งหนึ่ง เมื่อได้ขนาดเรือตามต้องการแล้ว
ให้ใช้กระแมะ แต่งในอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้ได้ความหนาของเรือมีขนาดเท่ากันตลอดทั้งลำเรือ
ใช้วิธีไชรูสิ่ว อุดรูดัน
ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากในการขุดเรือ เพราะเป็นการกำหนดความหนาของเรือ ซึ่งจะต้องเท่ากันทั้งสองข้างลำเรือ
การอุดรูดัน มีวิธีการคือ เหลาไม้ดัน (เป็นไม้ชนิดเดียวกับเรือ) เมื่อตอกเข้าไปแล้วต้องอุดรูดันแนบสนิท
ชนิดลมไม่ลอดการไชรูสิ่วต้องไชตลอดทั้งลำเรือ เว้นเป็นระยะเพื่อให้ได้ความหนาของเรือตามที่ต้องการ
การตัดไม้ดันต้องให้เท่ากับส่วนความหนาของเรือตามที่ต้องการ ต้องขุดให้ถึงรูดันที่อุดไว้
หลังจากที่ได้เรือตามขนาดและรูปร่างที่ต้องการและใช้กบมือในการเกลาเรือให้เรียบร้อยสวยงาม
จากนั้นจึงใส่กระทงเรือเพื่อป้องกันเรือเสียรูปบิดเบี้ยวไป
- การยาชัน
ใช้ผงชันผสมน้ำมันยาง นวดให้เข้ากันจนเหนียวปั้นได้ ยาทับรอยแตกรั่วต่าง ๆ
แล้วลงน้ำมันยาง ด้วยการนำน้ำมันยางมาทาให้ทั่วทั้งลำเรือ เป็นการรักษาเนื้อไม้ให้คงทนยิ่งขึ้น
- ความเชื่อเกี่ยวกับการขุดเรือ
นายช่างขุดเรือจะนำเครื่องมือขุดเรือมาทำพิธีไหว้ครูอาจารย์ หรือบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดวิชาช่าง
วันทำพิธีคือ วันที่มีประเพณีการตั้งตายาย ซึ่งจะทำกันที่บ้าน ในวันขึ้น สิบห้าค่ำ
เดือนสี่ และเมื่อต้องเดินทางไปขุดเรือในที่ต่าง ๆ ก่อนเริ่มลงมือขุด ต้องมีการจุดธูปบอกกล่าวแก่บรรพบุรุษหรือครู
ที่ทำการสอนช่างมา เพื่อให้การขุดเรือสำเร็จลุล่วงด้วยดี
การใส่กระทงเรือมีข้อห้ามไว้ว่า ห้ามใส่ตรงกับส่วนสาม และส่วนห้า และต้องใส่กระทงให้เป็นจำนวนคู่เท่านั้น
ดังคำที่ว่า บ้านคี่เรือคู่ (บันไดบ้านต้องมีจำนวนคี่)
ห้ามไม่ให้ผู้อื่นมาติชมหรือแสดงความคิดเห็นขณะกำลังขุดเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขุดเรือเบิกไฟเพราะจะทำให้เรือเสียรูปทรงได้
|