ข้อมูลทั่วไป
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2521 สำนักงานป่าไม้เขตนครราชสีมาได้สำรวจพื้นที่บริเวณน้ำตกเจ็ดสาวน้อยเพื่อจัดตั้งเป็นวนอุทยาน เนื้อที่ที่สำรวจไว้เดิมมี 500 ไร่ แต่ต่อมาเอกชนออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินจำนวน 50 ไร่ จึงเหลือเนื้อที่อยู่เพียง 450 ไร่ และทำการสำรวจเพิ่มเติมป่าสงวนแห่งชาติดงพญาเย็นอีกประมาณ 487.5 ไร่ รวมเป็นเนื้อที่ที่จะผนวกประมาณ 937.5 ไร่ กรมป่าไม้ได้ทำการสำรวจลำห้วยมวกเหล็ก ซึ่งเป็นลำห้วยที่เกิดจากป่าเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ไหลรวมกับแม่น้ำป่าสักที่ตำบลวังม่วง อำเภอมวกเหล็ก (ปัจจุบันคืออำเภอวังม่วง) จังหวัดสระบุรี เนื่องจากเป็นลำน้ำที่ไหลผ่านที่ราบสูงตอนบนของจังหวัดสระบุรีผ่านทิวเขาสลับซับซ้อนของหุบเขาซึ่งไม่สูงมากนักจึงเป็นเหตุที่ทำให้เกิดน้ำตกชั้นเตี้ยๆ เป็นจำนวนมากแต่เป็นน้ำตกที่มีความงดงามตามธรรมชาติที่แปลกออกไปจากน้ำตกแหล่งอื่นๆ มองดูคล้ายกับสายน้ำที่ไหลผ่านสันเขื่อนที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้นไหลเป็นแนวกว้าง ประกอบกับเป็นน้ำตกที่มีสายน้ำไหลตลอดปี กรมป่าไม้จึงได้ประกาศจัดตั้งเป็น วนอุทยานน้ำตกเจ็ดสาวน้อย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2523 อยู่ในท้องที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวาง-มวกเหล็ก แปลง 1 และป่าสงวนแห่งชาติป่าดงพญาเย็น มีเนื้อที่ประมาณ 540 ไร่
ต่อมา นายปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ได้มาตรวจเยี่ยมวนอุทยานน้ำตกเจ็ดสาวน้อยเมื่อเดือนมิถุนายน 2545 ได้เห็นการพัฒนาของวนอุทยาน ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงได้มอบนโยบายว่า ควรจะขยายพื้นที่ตามลำธารเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการรองรับนักท่องเที่ยว และให้ทำการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม โดยให้ศึกษาข้อมูลด้านนิเวศวิทยา และข้อมูลพื้ฐานในการจัดการในด้านต่างๆ ทั้งนี้เพื่อหาความเป็นไปได้ในการกำหนดพื้นที่และวางแผนการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้ว เห็นสมควรกำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวาง และป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 อำเภอมวกเหล็ก และอำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี รวมพื้นที่วนอุทยานน้ำตกเจ็ดสาวน้อย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ประมาณ 17,540 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อยมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนสลับกับที่ราบ ลักษณะพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งมีหน้าดินตื้น มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางอยู่ในช่วง 180-402 เมตร จุดสูงสุดของพื้นที่อยู่บริเวณโชคชัยพัฒนา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 402 เมตร รองลงมาคือเทือกเขาที่อยู่ตอนกลางของพื้นที่ และเทือกเขาบริเวณบ้านดงน้ำฉ่า มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 386 และ 359 เมตร ตามลำดับ บริเวณเชิงเขาด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือของพื้นที่ติดคลองมวกเหล็กซึ่งมีน้ำไหลผ่านตลอดปี และไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักที่อำเภอวังม่วง ส่วนบริเวณตอนกลางของพื้นที่มีลำห้วยเล็กๆ ไหลผ่าน ได้แก่ ห้วยแล้ง ซึ่งเป็นลำห้วยที่มีน้ำไหลเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติได้รวบรวมข้อมูลจากการเก็บข้อมูลปริมาณน้ำฝนของสถานีตรวจวัดอากาศมวกเหล็ก ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ประมาณ 10 กิโลเมตร และจากสถานีตรวจอากาศเกษตรปากช่อง ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ประมาณ 26 กิโลเมตร ปรากฏว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม ซึ่งมีระบบการพัดเวียนประจำเป็นฤดูกาล ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดพาเอาความชื้นจากทะเลและมหาสมุทรเข้ามา ทำให้เกิดฤดูฝน ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดพาเอาความหนาวเย็นมาจากตอนเหนือของทวีปเอเชีย ทำให้เกิดฤดูหนาว ส่วนฤดูร้อนจะอยู่ในช่วงเดือนกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีได้ 1,191 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีเท่ากับ 26 oC
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าปลูก เนื่องจากแต่เดิมเป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทำลายมาก่อนและได้รับการปลูกป่าฟื้นฟู พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตสวนป่าหลังเขา-ท่าระหัด จังหวัดสระบุรี และพื้นที่แปลงปลูกป่าตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 บางพื้นที่เป็นป่าที่ฟื้นตัวตามธรรมชาติ พื้นที่โดยรอบทั้งหมดเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย มีถนนล้อมรอบ จึงถูกตัดออกจากป่าอนุรักษ์แห่งอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง ไม่มีผืนป่าธรรมชาติแห่งอื่นต่อเนื่องหรือใกล้เคียง ดังนั้นจึงไม่มีการแลกเปลี่ยนสายพันธุ์พืช และสัตว์ป่ากับป่าธรรมชาติความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ป่าจึงมีค่อนข้างน้อย
สังคมพืชในอุทยานแห่งชาติสามารถแบ่งออกได้เป็น
ป่าดงดิบ จากการศึกษาพบว่า บริเวณที่เป็นป่าดงดิบธรรมชาติจะพบได้เฉพาะบริเวณที่อยู่ติดลำห้วยมวกเหล็ก และขึ้นกระจายเป็นหย่อมๆ ตามแนวลำน้ำ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ โสกน้ำ ไคร้ย้อย มะแฟน ยางนา ตะเคียนทอง ยมหอม กระทิง สัตตบรรณ อบเชย มะเดื่อ สาธร เฉียงพร้านางแอ มะหาด ฯลฯ พันธุ์พืชที่ขึ้นในน้ำและที่ชื้นได้แก่ ไคร้น้ำ สันตะวา ดีปลีน้ำ บัวสาย เฟินก้านดำ กูดเขากวาง กกรังกา ตีนตุ๊กแก ไม้เถาได้แก่ นมตำเลีย สะบ้า กระเช้าผีมด แสลงพัน เครือออน บันไดลิง หวายชนิดต่างๆ พืชอิงอาศัย เช่น ข้าหลวงหลังลาย กระแตไต่ไม้ เอื้องกระเรกระร่อน เป็นต้น
ป่าเบญจพรรณ พบอยู่ในบริเวณตอนกลางของพื้นที่ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าที่ฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ มีไม้ชั้นบนที่สำคัญ คือ ประดู่ป่า สำโรง กะพี้ งิ้วป่า ตะคร้ำ หว้า แสมสาร มะเดื่อ ไม้ชั้นรองได้แก่ โมกหลวง ตีนนก แคหางค่าง ปีบ หนามคนทา หนามมะเค็ด ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบไผ่ป่า ไผ่คาย ขึ้นทั่วพื้นที่ ส่วนพืชพื้นล่างและพืชคลุมดินประกอบด้วยกล้าไม้ของไม้ชั้นรองและไม้พุ่มเป็นส่วนใหญ่ และยังพบหญ้าคาขึ้นเป็นกลุ่มในบางพื้นที่
สัตว์ป่าที่สำรวจพบในอุทยานแห่งชาติประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบจำนวน 19 ชนิด ได้แก่ เลียงผา หมาจิ้งจอก หมาไม้ ชะมดเช็ด พังพอนธรรมดา ลิ่นพันธุ์มลายู อีเห็นข้างลาย อ้น เม่นใหญ่แผงคอสั้น กระต่ายป่า กระจ้อน กระเล็นขนปลายหูสั้น พญากระรอกบินหูแดง กระรอกหลากสี หนูพุกใหญ่ และหนูท้องขาว เป็นต้น มีนกชนิดต่างๆ ทั้งหมด 78 ชนิด แยกเป็นนกประจำถิ่น 54 ชนิด นกอพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล 23 ชนิด และนกอพยพผ่าน 1 ชนิด ได้แก่ เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ นกแอ่นตาล นกเด้าดินทุ่ง นกปรอดหัวสีเขม่า นกแซงแซวหงอนขน นกกระเต้นน้อยธรรมดา นกกระปูด นกจับแมลงสีฟ้า นกกางเขนดง นกแอ่นพง นกกระแตแต้แว้ด นกตะขาบทุ่ง นกสีชมพูสวน นกอีเสือสีน้ำตาล นกจาบคาหัวสีส้ม นกกินปลีอกเหลือง ไก่บ้าน นกหกเล็กปากแดง นกกวัก นกกะรางหัวขวาน ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลาน สำรวจพบ 17 ชนิด ได้แก่ เต่านา กิ่งก่าเขาเล็ก กิ้งก่าบิน ตะกอง ตุ๊กแกบ้าน จิ้งจกหางหนาม จิ้งจกบ้าน จิ้งเหลนบ้าน ตะกวด เหี้ย งูเหลือม และงูเขียวพระอินทร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสำรวจพบ ผีเสื้อ จำนวน 48 ชนิด ได้แก่ ผีเสื้อถุงทองธรรมดา ผีเสื้อหนอนใบรักฟ้าใหญ่ ผีเสื้อปลายปีกส้มใหญ่ ผีเสื้อจิ๋วหนอนมะพร้าวธรรมดา และผีเสื้อหนอนพุทราธรรมดา ฯลฯ
แหล่งท่องเที่ยว
ชื่อของ น้ำตกเจ็ดสาวน้อย มีที่มาของชื่อตามคำบอกเล่าของชาวบ้านว่ามีนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นหญิงสาวทั้งหมดจำนวน 7 คน มาเล่นน้ำที่น้ำตกแห่งนี้แล้วจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันทั้งหมด แต่บางคนก็ว่า เดิมทางทิศเหนือของน้ำตกมีหมู่บ้านชื่อว่า บ้านเสาน้อย ซึ่งต่อมาได้เรียกเพี้ยนเป็นสาวน้อย อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ้ดสาวน้อยมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่
ด้านธรรมชาติที่สวยงาม
< ภาพขยาย > น้ำตกเจ็ดสาวน้อย
เป็นน้ำตกชั้นเตี้ยๆ จำนวน 9 ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงตั้งแต่ 2-5 เมตร สายน้ำไหลลดหลั่นเป็นธารน้ำตกกว้างคล้ายแก่งขนาดใหญ่ มีอ่างน้ำตื้นๆ หลายแห่งที่สามารถลงเล่นน้ำได้ น้ำตกชั้นที่สวยงามที่สุดคือชั้นที่ 4 ช่วงที่สวยงามที่สุดของน้ำตกจะเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน เมษายน เพราะน้ำใสและยังปลอดภัยแก่ผู้ลงเล่นน้ำเนื่องจากน้ำไม่เชี่ยวเหมือนในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม
กิจกรรม :
เที่ยวน้ำตก
ลำห้วยมวกเหล็ก
ลำห้วยมวกเหล็กเป็นลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ตลอดสายน้ำที่ไหลผ่านในพื้นที่มีระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร มีเกาะแก่งที่ไม่สูงมากนักลดหลั่นกันไป
กิจกรรม :
เที่ยวน้ำตก
อุโมงค์ต้นไม้
เป็นทิวทัศน์ที่มีความสวยงามแปลกตา อยู่บนทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2089 เส้นทางมวกเหล็ก-วังม่วง ทางทิศตะวันตกของพื้นที่ อุโมงค์ต้นไม้เกิดจากต้นไม้ที่อยู่ริมสองข้างทางที่มีเรือนยอดโค้งเข้าหากันจนดูคล้ายอุโมงค์ ก่อให้เกิดความสวยงามและความร่มรื่นแก่ผู้ที่ขับรถผ่านได้ตลอดวัน
สถานที่ติดต่อและ การเดินทาง
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย
หมู่ 9 ต.มวกเหล็ก อ. มวกเหล็ก จ. สระบุรี 18180
โทรศัพท์ 0 3634 4416 อีเมล reserve@dnp.go.th
การเดินทาง
รถยนต์
จังหวัดสระบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ตามถนนพหลโยธิน ระยะทาง 108 กิโลเมตร และตามทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือระยะทาง 113 กิโลเมตร จากตัวเมืองสระบุรีโดยใช้เส้นทางสายหลัก คือ ถนนมิตรภาพ ผ่านอำเภอแก่งคอยไปมวกเหล็ก ระยะทางจากตัวเมืองสระบุรี ถึงทางแยกเข้าสู่ทางหลวงสายมวกเหล็ก-หนองย่างเสือ ระยะทาง 41 กิโลเมตร จากทางแยกเข้าสู่อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อยระยะทาง 12 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ด้านขวาตรงข้ามวัดน้ำตกเจ็ดสาวน้อย
รถไฟ
การเดินทางโดยรถไฟ ต้องนั่งรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ รถจะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีสระบุรี สถานีแก่งคอย และสถานีมวกเหล็ก จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทาง สายสระบุรี แก่งคอย-มวกเหล็ก ไปลงหน้าอุทยานแห่งชาติ
รถโดยสารประจำทาง
การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางเส้นทางกรุงเทพ-สระบุรี หรือกรุงเทพฯ ลพบุรี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง รถจะไปจอดส่งผู้โดยสารที่สถานีขนส่งสระบุรี จากนั้นนั่งรถโดยสารสระบุรี-แก่งคอย มวกเหล็ก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที รถจะไปจอดส่งผู้โดยสารที่หน้าอุทยานแห่งชาติ หรือโดยสารรถโดยสารเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง ลงที่ตลาด อ.ส.ค. จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทางสายสระบุรี-แก่งคอย-มวกเหล็ก ไปลงหน้าอุทยานแห่งชาติ
ที่จอดรถ
มีลานจอดรถ ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
บริการอาหาร
มีร้านขายอาหารไว้ให้บริการในบริเวณลานจอดรถ
ร้านขายเครื่องดื่ม/ร้านกาแฟ
มีร้านขายเครื่องดื่มไว้ให้บริการในบริเวณลานจอดรถ
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปท่องเที่ยว ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
|