วัดจอมคีรีนาคพรต
ประวัติและที่ตั้ง
วัดจอมคีรีนาคพรต (วัดเขา) ตั้งอยู่เลขที่ 3 บ้านเขาบวชนาค
หมู่ที่ 4 ต.นครสวรรค์ออก อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ริมถนนพหลโยธิน
ก่อนข้ามสะพานเดชาติวงศ์เข้าสู่ตัวเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กม.
บนเนื้อที่ 74 ไร่ 3 งาน 18 ตารางวา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.
2015 รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมัยกรุงศรีอยุธยา
วัดจอมคีรีนาคพรตเป็นวัดโบราณ เดิมมีชื่อเรียกว่า
"วัดลั่นทม" บ้าง "วัดเขา" บ้าง "วัดเขานครสวรรค์" บ้าง จนถึงสมัย ร.4
ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "วัดเขาบวชนาค" แต่หลักฐานจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
มีชื่ออย่างอื่นคือ "วัดสุวรรณคีรีนาคพรต" ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2425 พระยาราชสัมภารากร
(เลื่อน สุรนันท์) ได้เขียนบอกชื่อขณะเดินทางผ่านไปเมืองเชียงใหม่ว่า
"วัดหัวเมือง" ประมาณปี พ.ศ. 2449
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
วัดนี้จึงมีชื่ออย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบันว่า "วัดจอมคีรีนาคพรต"
แต่คนทั่วไปยังคงเรียกว่า "วัดเขาบวชนาค" หรือเรียกแบบย่อ ๆ ว่า "วัดเขา"
ในอดีตวัดจอมคีรีนาคพรตมีหลายชื่อก็เพราะ
- ชื่อว่า "วัดลั่นทม" ก็เพราะว่า
มีต้นลั่นทม(ลีลาวดี)เป็นจำนวนมากขึ้นรอบบริเวณรอบโบสถ์
- ชื่อว่า "วัดเขา"หรือ "วัดเขานครสวรรค์"
ก็เพราะในเมืองนครสวรรค์ มีวัดนี้เพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่บนเขา
สมัยนั้นวัดคีรีวงศ์และวัดวรนาถบรรพต(วัดเขากบ)ยังไม่ได้สร้าง
- ชื่อว่า "วัดเขาบวชนาค" ก็เพราะว่า
เดิมในจังหวัดนครสวรรค์มีวัดนี้เพียงแห่งเดียวที่บวชนาคได้
เพราะอุโบสถวัดนี้มีวิสุงคามสีมาถูกต้องตามพระธรรมวินัย
สามารถใช้เป็นที่อุปสมบทกรรมได้ ส่วนวัดอื่น ๆ ยังไม่มีความพร้อมในส่วนนี้
- ชื่อว่า "วัดจอมคีรีนาคพรต" ก็เพราะว่า
วัดนี้มีพญานาคซึ่งเป็นเทพชั้นผู้ใหญ่มาบำเพ็ญพรต(รักษาศีล)และอารักขา
แม้ในซุ้มเรือนแก้วของอุโบสถก็มีรูปนาค ๓ เศียรทั้งสองข้าง
วัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศตะวันออก
ฝั่งเดียวกับสถานีรถไฟนครสวรรค์ใต้สะพานเดชาติวงศ์เพียงเล็กน้อย
ปัจจุบันนี้การคมนาคมดีขึ้น จึงสะดวกต่อการสัญจรไปมา ถ้านั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ
ลงที่สถานีนครสวรรค์ (หนองปลิง)
จะมีรถเมล์ประจำทางและแท็กซี่คอยให้ความสะดวกจนถึงซุ้มประตูวัด
ส่วนทางเรือนั้นไม่ค่อยสะดวกเหมือนแต่ก่อน
เพราะประชาชนหันมานิยมการขึ้นรถเพราะสะดวกกว่าหลายเท่า
ดังนั้นความสำคัญของเรือจึงน้อยลง
แต่ก็ยังมีเรือแล่นผ่านไปมาอยู่เสมอ
สำหรับภายในบริเวณวัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง
เป็นที่ตั้งโรงอุโบสถที่ศักดิ์สิทธิ์และวิหาร รวมทั้งมณฑปและเจดีย์
อีกส่วนหนึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา เป็นที่ตั้งศาลาการเปรียญ กุฎิ
สำหรับภิกษุสามเณรได้อาศัยบำเพ็ญสมณะธรรมและเป็นที่บำเพ็ญบุญของพุทธศาสนิกชน
ถาวรวัตถุ โรงอุโบสถที่เรียกว่า"โบสถ์เทวดาสร้าง"
เป็นทรงแบบโบราณเครื่องบนเป็นไม้สักล้วน มุงกระเบื้องยาว 6 วา 2 ศอกกว้าง 4 วา
1 ศอก มีพะไลโดยรอบไม่ปรากฎแน่ชัดว่าสร้างมาตั้งแต่ครั้งไหน
ทราบแต่ว่ามีการปฏิสังขรณ์บ้างเป็นครั้งคราว
ตำนานโบสถ์เทวดาสร้าง
วัดจอมคีรีนาคพรต
มีสิ่งพิเศษกว่าวัดอื่นๆในประเทศคือ โบสถ์ที่นี่เป็นโบสถ์โถง
ชาวบ้านเรียกว่า"โบสถ์เทวดาสร้าง" คือมีลักษณะเป็นรูปศาลาโถง
ไม่มีผนังทั้งสี่ด้าน ทรงแบบโบราณ เครื่องบนเป็นไม้สักล้วน มุงกระเบื้องยาว 6
วา 2 ศอก กว้าง 4 วา 1 ศอก มีพะไลโดยรอบ
ตำนานเรื่องโบสถ์เทวดาสร้างนี้ เล่ากันต่อๆมาว่า
เมื่อชาวบ้านเริ่มสร้างอุโบสถ
ได้ติดตั้งเสาพร้อมเครื่องบนให้เป็นรูปโครงของอุโบสถ
ตกกลางคืนก็ได้ยินเสียงมโหรีปี่พาทย์ มีเสียงอึกทึกครึมโครมและแสงสว่าง
ซึ่งสว่างไปทั่วบริเวณยอดเขา ชาวบ้านต่างพากันแปลกใจจึงปลุกกันลุกขึ้น
ทุกคนได้ยินเสียงนั้นเหมือนกัน ด้วยความสงสัยจึงพากันไปดูก็ปรากฏแก่ตาว่า
งานที่ทำไว้นั้นสำเร็จหมดและไม่ปรากฏว่ามีใครเข้าไปทำเลยแม้แต่คนเดียว
คือไม่พบมนุษย์ผู้ใดในที่นั้นเลย จึงเป็นที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์มาก
พวกชาวบ้านจึงหยุดการก่อสร้างไว้เพียงเท่านั้น
เพราะเห็นว่าเทวดาลงมาสร้างไว้สำเร็จแล้ว
ยังมีวัตถุประกอบเรื่องนี้อีกแห่งหนึ่งอยู่ทางเหนือของภูเขาที่ตั้งวัดนี้ประมาณ
400 เมตร มีภูเขาลูกหนึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า
เขาโรงครัว
ว่าเป็นที่เทวดาทำครัว เพราะมีหินเป็นรูปขนมจีน รูปครก
และเครื่องประกอบการทำครัวต่างๆ ปรากฏอยู่ และที่เชิงเขาด้านหนึ่งเรียกกันว่า
ทะเลน้ำข้าว
เพราะพื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่เรียบไม่มีหญ้าขึ้นปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
เรื่องราวของตำนานนี้เกิดขึ้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
พม่ายกทัพมาตีไทย ขณะที่ทหารไทยได้ตั้งค่ายพักแรมอยู่ตามบริเวณวัดเขาบวชนาค
วันหนึ่งปรากฏว่าเกิดพายุฝนหนัก
ทหารทั้งสองทัพได้พากันเข้าไปอาศัยอยู่บริเวณอุโบสถนี้
ปรากฏว่าทหารเข้าพักอาศัยได้หมดทั้งกองทัพ ทั้งๆ
ที่อุโบสถไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากนัก
โดยอภินิหารนี้เองชาวจังหวัดนครสวรรค์จึงเชื่อว่าเป็นโบสถ์เทวดาสร้างจริง
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5
แห่งราชวงศ์จักรีได้เสด็จประพาสจังหวัดนครสวรรค์
ยังได้ทดลองว่าโบสถ์จะบรรจุคนได้มากจริงหรือไม่
โดยทรงนำข้าราชบริพารที่ตามเสด็จทั้งหมดเข้าในอุโบสถนี้ ก็ไม่เต็มอีก
ทำให้ชาวจังหวัดนครสวรรค์มีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่าเป็นโบสถ์ที่เทวดาสร้างจริงๆ
เนื่องจากบริเวณวัดจอมคีรีนาคพรตเป็นป่าทึบรกรุงรังมาก
บังเอิญเกิดไฟป่าไหม้ครั้งใหญ่ ถาวรวัตถุของวัด เช่น หลังคาวิหาร
และมณฑปถูกไฟไหม้เกือบหมด
คงเหลือแต่โบสถ์เทวดาสร้างเพียงหลังเดียวเท่านั้นที่รอดพ้นจากไฟไหม้อย่างน่าอัศจรรย์
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด
๑. โบสถ์เทวดาสร้าง มีลักษณะเป็นรูปศาลาโถง
ไม่มีผนังทั้งสี่ด้าน ทรงแบบโบราณ เครื่องบนเป็นไม้สักล้วน มุงกระเบื้องยาว 6
วา 2 ศอก กว้าง 4 วา 1 ศอก มีพะไลโดยรอบ
โบสถ์นี้มีลักษณะพิเศษกว่าโบสถ์ทั่วไปคือ
๑.๑ ชายคาต่ำ
โบสถ์หลังนี้มีชายคาที่ต่ำกว่าโบสถ์ทั่วไป เป็นการบังคับกลาย ๆ ว่า
เมื่อจะเข้าไปกราบพระประธานภายใน ต้องก้มหัวคืออ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไปเท่านั้น
ถ้าไม่ก้ม จะได้รับอันตรายคือศีรษะจะชนชายคาโบสถ์ เป็นปริศนาธรรมว่า
เมื่อจะเข้าไปในสถานที่ใด ๆ ให้อ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไป ถ้าไม่ถ่อมตน
จะได้รับอุปสรรคหรืออันตรายจากที่นั้น ๆ
๑.๒. โล่งโถง คือปราศจากประตู หน้าต่าง
และฝาผนัง (ลูกกรงเหล็กเพิ่งจะสร้างทีหลังเพื่อกันขโมย)
ความจริงแม้โบสถ์หลังนี้จะมีขนาดเล็ก แต่เมื่อเป็นโบสถ์โล่งโถงไม่มีฝาผนัง
จึงเป็นโบสถ์ที่บรรจุหรือรองรับคนได้ไม่จำกัด เพราะความจุของโบสถ์หลังหนึ่ง ๆ
ถูกจำกัดด้วยฝาผนัง แต่โบสถ์หลังนี้ไม่มีฝาผนัง ดังนั้นความจุจึงไม่ถูกจำกัด
นี่คือคำเฉลยปริศนาของคนโบราณที่ว่า โบสถ์เทวดาสร้าง จุคนได้ไม่เคยเต็ม
คติการสร้างโบสถ์แบบนี้
เป็นการสร้างแบบชาวพุทธโบราณในยุคทวาราวดีและสุโขทัย
โบสถ์หลังนี้ที่เห็นในปัจจุบันคือผ่านการบูรณะมาแล้วหลายครั้งหลายยุคสมัย
ด้านนอกโบสถ์เป็นหินอ่อน นายช่างเขาเว้นช่องให้ดูพื้นเดิมว่าเก่าเพียงไร
เพื่อให้เห็นเนื้อปูนหรือลวดลายเดิมแต่โบราณ (คลิ๊กดู)
๒. พระศรีสรรเพชญ์ พระประธานในซุ้มเรือนแก้ว
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยทวาราวดี(ขอมโบราณ) อายุประมาณพันปีเศษ
หน้าตักกว้าง 6 ศอกเศษ เป็นของสร้างมาแต่เดิมไม่ปรากฎปีที่สร้าง
พระพักตร์ทำนองพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน สถิตในซุ้มเรือนแก้วมีหัวนาค 3 เศียร
เป็นศิลปะแบบขอม ที่บัลลังก์หรือฐานชุกชีมียักษ์ 6 ตนดูแลอยู่ คืออาฬวกยักษ์
ท้าวเวสสุวรรณ และยักษ์อื่น ๆ คอยอารักขา
๓. พระพุทธธัญดร พระปางลีลาในซุ้มเรือนแก้ว
ตั้งอยู่ด้านหลังพระประธาน
หากไม่สังเกตหรือไม่ทราบข้อมูลมาก่อนอาจไม่รู้ว่ามีพระปางลีลาอยู่ตรงนี้อีก ๑
องค์ องค์พระสูงประมาณ 2.5 เมตร ฐานสูงประมาณ 50 ซม.
ที่รู้ว่าเป็นศิลปะทวาราวดีก็เพราะว่า
ยกพระหัตถ์คือมือข้างขวาขึ้นมาที่อุระ(อก) ถ้าเป็นศิลปะสุโขทัยจะยกมือซ้าย (คลิ๊กดูรูปประกอบ)
พระปางลีลาที่มีลักษณะอย่างนี้
อยู่ในโบสถ์หลังพระประธานเช่นนี้ มีแห่งเดียวในประเทศไทย (Unseen
Thailand)
๔. พระอัครสาวกคู่ รูปหล่อพระอัครสาวกทั้งคู่นี้
เป็นองค์เล็ก ๆ เหมือนเด็ก ต่างจากพระอัครสาวกที่เห็นตามวัดทั่วไป
เพราะนี่คืออัครสาวกที่สร้างในสมัยทวาราวดี
๕. ยักษ์ที่พระแท่น
ที่แท่นหรือบัลลังก์มียักษ์หน้าตาน่ากลัวดุร้ายมาอารักขาพระพุทธเจ้าอยู่ ข้างละ
3 ตน รวมเป็น 6 เป็นของเก่าโบราณสร้างสมัยเดียวกัน
ยักษ์เหล่านี้ในอดีตเคยเป็นอสูรไม่ดี
คือเป็นยักษ์มิจฉาทิฐิไม่เลื่อมใสในพระศาสนา
ต่อมาพระพุทธองค์ทรงทรมานให้หายพยศ สอนให้รู้บาป บุญ คุณ โทษ
จึงปวารณาตัวมารับใช้พระศาสนา ปัจจุบันถึงแม้จะเป็นยักษ์ที่ใจดีแล้วก็ตาม
แต่กายก็ยังไม่เปลี่ยนไปตามจิต ยักษ์เหล่านี้เขาว่าเป็นอาฬวกยักษ์และท้าวเวสสุวรรณ
๖. วิหาร ยาว 15 วา กว้าง 5 วาเศษ
ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ รอบผนังของพระวิหาร
มีพระสมัยกรุงสุโขทัย พระนาคปรกสลักด้วยหิน สมัยลพบุรี
นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปยืนปางต่างๆ ที่ชำรุดหักพังลงบ้างแล้ว
เพราะถูกคนร้ายคอยงัดคอยแงะเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ได้ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ให้คงอยู่ในสภาพเดิมแล้ว
๗. มณฑปครอบรอยพระพุทธบาท กว้าง 4 วา ยาว 4 วา
หลังคายอดเป็นพระเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาท ๔ รอยจำลอง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงสร้าง
และน่าจะเป็นสมเด็จพระปิ่นเกล้าด้วย
๘. ศาลายาว สำหรับพระอาศัย ยาว 6 วาเศษ กว้าง 3
วาเศษ นอกจากนั้นก็มีพระเจดีย์หลายองค์
แต่ที่ขนาดใหญ่และเป็นของโบราณนั้นมีอยู่องค์หนึ่ง วัดโดยรอบได้ 20 วา
สูงประมาณ 10 วาเศษ บันไดลงจากเขาถึงพื้นลานวัดเป็นบันไดอิฐถือปูน แบ่งเป็นตอนๆ
รวมความยาวประมาณ 200 ฟุต ตอนกลางของบันไดทำเป็นรูปพญานาคทั้งสองข้างหันศรีษะลงสู่แม่น้ำ
ต่อจากนั้นเป็นคอนกรีตทอดยาว เป็นแนวตรงลงสู่สะพานศาลาท่าน้ำ (แม่น้ำเจ้าพระยา)
ยาว 250 เมตร กว้าง 2 เมตร
๙. สะพาน เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก
และมีลูกกรงตลอดทั้งสองข้าง กว้างประมาณ 2 เมตร ยาว 60 เมตร
ถึงศาลาท่าน้ำซึ่งกว้าง 5 เมตร ยาว 10 เมตร
นอกจากนี้ยังมีสิ่งปลูกสร้างอีกหลายแห่ง เช่น ศาลาเฉลิมธรรม ศาลารวมสุข เมรุ
ศาลาธรรมเวช และเสนาสนะสำหรับภิกษุสงฆ์อาศัยบำเพ็ญสมณะธรรม มีกุฏิจำรัสอุปถัมภ์
กุฏิสายทองคำ กุฏิสว่างอุปถัมภ์ และกุฏิเก่าแก่สมัยอาจารย์ยวงปฏิสังขรณ์ไว้ 2
หลัง ซุ้มประตูวัดด้านทิศตะวันออกติดกับถนนพหลโยธิน ทำด้วยคอนกรีต กรมผสมที่ 4
สร้างถวายถนนแยกจากถนนพหลโยธินผ่านอาคารโรงเรียนของวัดจอมคีรีนาคพรตเข้าสู่วัด
และเข้าค่ายจิรประวัติ เป็นถนนถาวร กว้าง 6 เมตร รถยนต์เข้าออกสะดวกมาก
๑๐. ระฆังใบใหญ่โบราณ คาดว่าน่าจะสร้างในสมัย ร.5
หรือ ร.6 สำหรับตีบอกเวลาในอดีต
๑๑. ระฆังแขวน มีจำนวนหลายสิบใบรายรอบวัด
เอาไว้ตีเพื่อความเป็นสิริมงคลของนักท่องเที่ยว
๑๒. พระเจดีย์ทรง ๘ เหลี่ยม คู่กับวิหารรัชกาลที่ ๔
แปดเหลี่ยมหมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ น่าจะเป็นที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุ
๑๓. ใบเสมาคู่ สมัยสุโขทัย
บทสรุป
วัดจอมคีรีนาคพรตแห่งนี้
น่าจะสร้างตั้งแต่สมัยทวาราวดียุคที่ขอมยังมีอำนาจอยู่ในดินแดนแถบนี้
สิ่งที่เหลือให้เห็นคือพระประธานและบริวารของท่านในโบสถ์
เพราะที่นี่เป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยทวาราวดีก่อนสุโขทัยประกาศเอกราชไม่ขึ้นต่อขอมลพบุรี
(ละโว้ปุระ) จากลักษณะของพระประธาน ๒ องค์ จากลักษณะของโบสถ์
จากลักษณะของใบเสมาคู่ จากความใหญ่โตขององค์พระ ทำให้สามารถสรุปได้ว่า
วัดแห่งนี้ในอดีตคงจะเป็นวัดที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญมากของนครสวรรค์
ตามความเข้าใจของ
WM
คิดว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไทย)
และนายช่างผู้หล่อพระพุทธชินราชและพระปางลีลาที่สุโขทัยที่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดในประเทศ
คงเคยมากราบนมัสการและได้รับอิทธิพลแนวความคิดจากพระประธานองค์นี้
แล้วจึงไปสร้างพระพุทธชินราช เพราะสุโขทัยกับนครสวรรค์ห่างกันไม่ไกล
แต่พระพุทธชินราชและพระปางลีลาสมัยสุโขทัยสร้างทีหลัง
ดังนั้นจึงสร้างได้งดงามกว่า และประณีตกว่า
จุดที่น่าสังเกตคือ
ซุ้มเรือนแก้วของพระพุทธรูปทั้งสอง
ซุ้มเรือนแก้วของพระประธานที่นี่มีหัวเป็นนาค หัวพญานาคอย่างนี้เป็นศิลปะขอม (คลิ๊กที่ภาพดูเพื่อเปรียบเทียบกัน)
ถ้าใครดูหัวนาคเป็นจะแยกออกได้ว่า นาคอย่างนี้ศิลปะไทย นาคอย่างนี้ศิลปะเขมร
นาคอย่างนี้ศิลปะลาว
ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 32
สายเอเชียก่อนถึงสะพานเดชาติวงศ์เลี้ยวซ้ายเข้าวัด
ระยะทางห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร
กิจกรรมที่น่าสนใจในวัดจอมคีรีนาคพรต(วัดเขา)
เที่ยวขมวัด ไหว้พระ นมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง
ชมทิวทัศน์
ประเพณีที่น่าสนใจของวัดจอมคีรีนาคพรต(วัดเขา)
ทุกๆ เดือน 12
ของปีจะมีงานนมัสการและปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองนี้เรียกว่า งานวัดเขา
ช่วงเวลาที่เหมาะสม
สำหรับการมาท่องเที่ยววัดจอมคีรีนาคพรต(วัดเขา)
ตลอดทั้งปี
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
ศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวจังหวัดนครสวรรค์
อาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ โทร. 0-5622-1602,
0-5622-1034,
0-5622-1656
ต่อ 114 โทรสาร 0-5623-1841,
0-5622-162 ต่อ 111
สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคกลาง เขต 7
ถนนรอบวัดพระธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี (รับผิดชอบจังหวัดลพบุรี สิงห์บุรี
ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์) โทร. 0-3642-2768-9 โทรสาร 0-3642-4089