จันแสนเมืองโบราณ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลจันเสน
สันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยทวารวดี บริเวณเมืองโบราณมีคูเมืองเป็นเนินดินโดยรอบ
เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่มุมทั้งสี่เป็นรูปมนจนเกือบเป็นวงกลม
ล้อมรอบด้วยคูเมืองซึ่งกว้างประมาณ 20 เมตร ปัจจุบันยังมีสภาพเป็นที่ลุ่มน้ำขัง
แต่ยังเป็นร่องรอยพอมองเห็นเค้าคูเมืองได้อย่างชัดเจน มีความยาวประมาณ 800 เมตร
กว้าง 700 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่เศษ
เนื่องจากบริเวณภายในคูเมืองดังกล่าวมีลักษณะเป็นเนินสูงกว่าพื้นที่รอบนอกคูเมือง
ชาวบ้านเรียกว่า โคกจันเสน
ในบริเวณเมืองโบราณได้ขุดพบโบราณวัตถุหลายอย่าง ประเภทที่ทำด้วยเศษดินเผา อาทิ
พระพิมพ์ต่าง ๆ ตุ๊กตา ตะเกียง ประเภทที่ทำด้วยหิน ได้แก่ ฐานบัว ธรรมจักร
ขวานหินขัดที่ทำด้วยโลหะ มีตุ้มหูทำด้วยตะกั่วหรือดีบุก ใบหอกที่ทำด้วยสำริด
ปัจจุบันโบราณวัตถุดังกล่าวเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์จันเสน
ซึ่งตั้งอยู่ในวัดจันเสน เริ่มก่อสร้างโดยพระครูนิสัยจริยคุณ หรือที่ชาวยบ้านเรียกว่า
"หลวงพ่อโอด"
ได้มีดำริที่จะสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์กลางชุมชน
ภายในจัดให้มีส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อใช้แสดงเรื่องราวของจันเสนในอดีต
พร้อมกันไปด้วยพระครูนิวิฐธรรมขันธ์หรือหลวงพ่อเจริญ
เจ้าอาวาสรูปต่อมาเป็นกำลังสำคัญที่สานต่องานพิพิธภัณฑ์จนเสร็จสมบูรณ์โดยงบประมาณในการก่อสร้างนั้นได้มาจากแรงศรัทธาของประชาชน
จันเสนเมืองโบราณ หลวงพ่อโอด อดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน ซึ่งท่านมรณภาพไปตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2532 ท่านเป็นผู้มุ่งมั่นที่จะสร้างมณฑปเจดีย์ขึ้น โดยมีความมุ่งหมายว่า
1. ส่วนยอดของมณฑปเจดีย์จะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
2. องค์เรือนธาตุประดิษฐาน "หลวงพ่อนาค"
พระพุทธรูปปางนาคปรกที่นำมาจากเมืองลพบุรี เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชุมชน
3. อาคารส่วนฐานของพระมหาเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของท่าน
และเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองจันเสน
พระมหาธาตุเจดีย์จันเสน อยู่ในห้องชั้นฐานของพระมหาธาตุเจดีย์
การออกแบบได้ใช้ลักษณะของสถูปในสมัยทวารวดีเป็นพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบ
ใช้รายละเอียดของลวดลายทางสถาปัตยกรรมในสมัยทวารวดี
ซึ่งมีคำจารึกที่ฐานพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันสน
ให้ผู้สนใจได้อ่านประวัติความเป็นมาด้วย พิพิธภัณฑ์นี้
เปิดให้เข้าชมในวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้ที่ต้องการเข้าชมในวันธรรมดา
สามารถติดต่อทางวัดให้เปิดเข้าชมได้ มีเยาวชนอาสาสมัครจากโรงเรียนวัดจันเสน
และโรงเรียนจันเสนเอ็งสุวรรณอนุสรณ์ บริการนำเที่ยวภายในบริเวณเมือง
และนำชมภายในพิพิธภัณฑ์ด้วย สอบถามรายละเอียดโทร. 0 5633 9115-6
นอกจากนี้ในวัดยังมีการรวมกลุ่มของสตรีบ้านจันเสนเพื่อทอผ้าด้วยกี่กระตุก
และจัดตั้งเป็นศูนย์จำหน่ายภายในวัดด้วย ผ้าทอส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้าย
ผ้าทอมัดหมี่จันเสน และผ้ามัดย้อม
การเดินทาง จากกรุงเทพฯใช้ทางหลวงหมายเลข 32 เลี้ยวซ้ายเข้าอินทร์บุรี
(ทางหลวงหมายเลข 11) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3196
เลี้ยวซ้ายตรงป้ายวัดจันเสนเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร
ข้ามทางรถไฟแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าวัดจันเสน
จากนครสวรรค์ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 มุ่งสู่จังหวัดชัยนาท ระยะทางประมาณ 52
กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งหน้าอำเภอตาคลี ระยะทางประมาณ 7
กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3196 ระยะทางประมาณ 28 กิโลเมตร
เลี้ยวขวาก่อนข้ามทางรถไฟเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร สู่วัดจันเสน
ข้อมูล คำจารึกที่ฐานพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน
พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน
เมืองจันเสนเป็นนครโบราณสมัยทวารวดีตอนต้นที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
พัฒนาขึ้นมาจากชุมชนสมัยโลหะตอนปลาย มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
นับได้ว่าเป็นชุมชนแรกเริ่มในสุวรรณภูมิที่มีการติดต่อกับทางอินเดีย
ร่วมสมัยเดียวกับเมืองอู่ทองในลุ่มแม่น้ำท่าจีน และเมืองฟูนัน ใกล้ปากแม่น้ำโขง
ดังเห็นได้จากโบราณวัตถุที่เป็นตราดินเผา เศษภาชนะประดับลวดลาย
ลูกปัดและเครื่องประดับที่เหมือนกับที่พบในอินเดียและแคว้นฟูนัน
การติดต่อกับอินเดีย ทำให้จันเสนเป็นชุมชนที่นับถือพระพุทธศาสนามาแต่เริ่มแรก
ดังจะเห็นได้จากการสร้างรูปเคารพและของสิริมงคลต่างๆ
ทั้งยังมีซากสถูปเจดีย์อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสาริกธาตุ สร้างขึ้นไว้บูชา
เมืองจันเสน เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ชายลำน้ำใหญ่ที่มาจากทางละโว้
และต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงเมืองล่าง และเมืองบนในเขตชัยนาทและนครสวรรค์
ต่อมาทางน้ำได้ตื้นเขินทำให้เส้นทางคมนาคมเปลี่ยน
เมืองจันเสนจึงร่วงโรยไปเช่นเดียวกันกับเมืองโบราณอีกหลายแห่งที่อยู่ลุ่มน้ำนี้
จันเสนกลับกลายเป็นชุมชนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อมีการคมนาคมทางเรือไฟเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ ทำให้ผู้คนจากที่ต่างๆ
ในละแวกไกลและใกล้เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำนาทำไร่ เกิดวัด บ้าน ตลาด โรงสีขึ้น
ความสำคัญของจันเสนในเรื่องความเก่าแก่ปรากฏขึ้นเมื่อมีการค้นพบเมืองโบราณจันเสนจากภาพถ่ายทางอากาศที่มีผลนำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีอย่างมีระบบเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
แต่เมื่อขุดเสร็จแล้วเมืองโบราณจันเสนก็ถูกทิ้งอยู่เช่นเดิม
พระคุณเจ้าพระครูนิสัยจริยคุณ วิสุทธิ์ ปัญญาธโร (หลวงพ่อโอด)
เจ้าอาวาสวัดจันเสน ได้ตระหนักในความสำคัญของเมืองจันเสน
มีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูเมืองจันเสนขึ้น
โดยเห็นว่าจันเสนมีหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นเมืองทางพระพุทธศาสนา
จึงดำริสร้างพระมณฑปเจดีย์ขึ้นในเขตวัดจันเสน เพื่อ
ส่วนยอดเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
องค์เรือนธาตุประดิษฐานหลวงพ่อนาค
อันเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกที่ได้นำมาจากลพบุรี
เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชุมชน
อาคารส่วนฐานของพระมหาเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของพระครูนิสัย จริยคุณ
และทำเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองจันเสน
แสดงโบราณวัตถุที่พบทั้งในเขตเมืองโบราณและบริเวณใกล้เคียงอย่างมีระบบตลอดจนแสดงถึงพัฒนาการของชุมชนจันเสนตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน
พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน
จึงนับเป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองพระพุทธศาสนาที่มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปี
และมีคุณูปการต่อการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชุมชนอีกด้วย
คำแนะนำในการท่องเที่ยว
พิพิธภัณฑ์นี้ เปิดให้เข้าชมในวันเสาร์-อาทิตย์
ผู้ที่ต้องการเข้าชมในวันธรรมดา สามารถติดต่อทางวัดให้เปิดเข้าชมได้
มีเยาวชนอาสาสมัครจากโรงเรียนวัดจันเสน และโรงเรียนจันเสนเอ็งสุวรรณอนุสรณ์
บริการนำเที่ยวภายในบริเวณเมือง และนำชมภายในพิพิธภัณฑ์ด้วย
สอบถามรายละเอียดโทร. 0 5633 9115-6
นอกจากนี้ในวัดยังมีการรวมกลุ่มของสตรีบ้านจันเสนเพื่อทอผ้าด้วยกี่กระตุก
และจัดตั้งเป็นศูนย์จำหน่ายภายในวัดด้วย ผ้าทอส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้าย
ผ้าทอมัดหมี่จันเสน และผ้ามัดย้อม
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
ศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวจังหวัดนครสวรรค์
อาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ โทร. 0-5622-1602 , 0-5622-1034 ,
0-5622-1656 ต่อ 114 โทรสาร 0-5623-1841 , 0-5622-162 ต่อ 111
สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคกลาง เขต 7 ถนนรอบวัดพระธาตุ อำเภอเมือง
จังหวัดลพบุรี (รับผิดชอบจังหวัดลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์)
โทร. 0-3642-2768-9 โทรสาร 0-3642-4089