บ้านโคกไม้เดน
เป็นสถานที่ที่มีโบราณวัตถุ ซึ่งแสดงถึงเมืองเก่าแก่สมัยสุโขทัย ได้แก่ ซากกำแพงเนินดิน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร
ได้ขุดพบโบราณวัตถุเป็นรูปปั้นช้างพญาฉัททันต์ ซึ่งมีอายุกว่า 1,000 ปี คำว่า "โคกไม้เดน" เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ศิลป
โบราณที่บ้านโคกไม้เดน เช่น รูปปั้นต่าง ๆ ได้ถูกนำออกแสดงที่ต่างประเทศ โดยนักโบราณคดีชาวอเมริกันและออสเตรเลีย
คนสมัยเก่าเรียกบ้านโคกไม้เดนว่า "เมืองบน" สร้างขึ้นในสมัยทวาราวดี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16 ตัวเมืองบนมีลัษณะ
เป็นรูปรีคล้ายหอยสังข์ขนาดยาวประมาณ 250 เมตร กว้าง 600 เมตร
คล้ายเมืองกำแพงนครปฐมเมืองเสมาจังหวัดนคร ราชสีมา และเมืองพญาแร่จังหวัดชลบุรี
ประวัติความเป็นมา
ณ ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ มีหมู่บ้านติดต่อใกล้เคียงกันหนาแน่นหลายหมู่บ้าน เช่น
บ้านโคกไม้เดน, บ้านท่าน้ำอ้อย, บ้านหางน้ำบ้านบน, บ้านหางน้ำหนองแขม ฯลฯณ
บริเวณหมู่บ้านโคกไม้เดน, หางน้ำบ้านบน และท่าน้ำอ้อยนั้น
ได้พบโบราณสถานและพบบริเวณคูเมืองเก่าอยู่ใกล้วัดบ้านบน
ระหว่างถนนพหลโยธินและวัดพระปรางค์เหลืองเมื่อสอบถามชาวบ้านดู
ก็ได้รับบอกไปตามชื่อหมู่บ้านและวัดว่า เมืองบน
ถ้าเป็นเมืองบน ก็น่าจะมีเมืองล่างเป็นของคู่กัน
บังเอิญมีผู้จำคำพังเพยเก่าแก่พูดกันมาติดปากว่า ฝูงกษัตริย์เมืองบน
ฝูงคนลพบุรี
(จากความจำของ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร)
ถ้าเมืองลพบุรีเป็นเมืองล่างได้ เมืองที่พบโบราณสถานและคูเมืองนี้
ก็อาจเป็นเมืองบนได้กระมัง
แต่ก็มีท่านผู้สูงอายุบางท่านเล่าว่า เดิมบริเวณนี้เป็นอู่เรือสำเภา
เรียกกันว่า อู่บน คู่กับ อู่ล่าง คือบ้านอู่ตะเภา ในอำเภอมโนรมย์
จังหวัดชัยนาท เพราะเหตุนี้กระมัง ผู้ฟังที่ไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด
จึงทึกทักเรียกเสียใหม่ว่า เมืองอุบล
โบราณสถานและคูเมืองดังกล่าวนี้
ตั้งอยู่ตรงฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยาและตะวันตกของเทือกภูเขาโคกไม้เดน
(ไม้เดน เป็นชื่อของไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง มีขึ้นอยู่ทั่วไปตามภูเขา)
ระหว่างกิโลเมตรที่ 307-308 ถนนพหลโยธิน
เส้นทางถนนพหลโยธินแล่นผ่านทับคูเมืองชั้นนอกด้านตะวันออกไปบางตอน
และมีโบราณสถาน เข้าใจว่าเป็นฐานของพระสถูปเจดีย์อยู่ทางเชิงเขาโคกไม้เดน
ด้านตะวันออกและบนยอดเขาปกล้น เท่าที่สำรวจพบแล้วมี 16 แห่ง
ต้นเหตุที่จะพบคูเมืองและโบราณสถานแห่งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อกลางปีที่แล้ว
ดร. ควอริตซ์ เวลส์ (H.G. Quaritch Wales) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ
ได้มีหนังสือมาถึงข้าพเจ้า ว่าจะเข้ามาสำรวจโบราณวัตถุสถานในประเทศทางตะวันออก
และจะเข้ามาประเทศไทยในราวปลายเดือนธันวาคม 2506 หรือราวต้นเดือนมกราคม 2507
แล้วดอกเตอร์เวลส์ กับภรรยาก็เดินทางผ่านประเทศมาเลเซีย
และเข้ามาเมืองไทยทางปักษ์ใต้เมื่อต้นเดือนมกราคม
เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ
ได้พบกับข้าพเจ้าและขอร้องให้จัดเจ้าหน้าที่พาไปตรวจดูโบราณวัตถุสถานหลายแห่ง
เช่น ที่คูบัว จังหวัดราชบุรี อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ศรีเทพ
จังหวัดเพชรบูรณ์ และที่ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
เมื่อปลายเดือนมกราคม 2507
ข้าพเจ้าก็จัดเจ้าหน้าที่และพาหนะให้นำไปทุกแห่งตามประสงค์
ณ ที่ตำบลท่าน้ำอ้อยนั้น ดอกเตอร์เวลส์มีภาพถ่ายทางอากาศ
ซึ่งทหารอังกฤษและอเมริกันได้ถ่ายไว้เมื่อครั้งมหาสงครามโลกครั้งที่ 2
แสดงให้เห็นแผนที่ตั้งเมืองและโบราณสถาน เมื่อดอกเตอร์เวลส์ได้ไปตรวจดูแล้ว
ก็ขอขุดค้นที่บริเวณคูเมืองเพื่อพิสูจน์ดู
และได้โทรเลขมาขออนุญาตขุดดูที่โบราณสถานริมวัดโคกไม้เดนด้วย
ข้าพเจ้าได้ตอบโทรเลขว่า ยินดีอนุญาตให้ขุดค้นได้
แต่มีเงื่อนไขว่าต้องขุดค้นให้ตลอด จะทิ้งไว้ครึ่งๆกลางๆมิได้
และถ้าทุนรอนไม่พอ กรมศิลปากรยินดีช่วยเหลือ
ดอกเตอร์เวลส์เดินทางมาครั้งนี้
โดยทุนของสำนักโบราณคดีและประวัติศาสตร์ให้มาสำรวจเพื่อไปแสดงปาฐกถา
คงจะไม่มีทุนรอนเพียงพอ และอยู่ไม่ได้นาน
จึงมิได้ดำเนินงานขุดค้นตามที่ขออนุญาต
ข้าพเจ้าได้ออกปากยืมภาพถ่ายทางอากาศจากดอกเตอร์เวลส์ให้เจ้าหน้าที่คัดลอกไว้
ต่อมาได้ปรึกษากันกับท่านผู้รู้ในกรมศิลปากร
ต่างก็อยากให้สำรวจขุดค้นให้เป็นที่เปิดเผย
เพื่อประโยชน์เป็นความรู้ก้าวหน้าในทางประวัติศาสตร์
และโบราณคดีบนผืนแผ่นดินไทย
กรมศิลปากรจึงจัดส่งเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร มีนายบรรจบ เทียมทัด
หัวหน้าแผนกขุดแต่งและบูรณะ กองโบราณคดี ในกรมศิลปากรเป็นหัวหน้า
ไปสำรวจและดำเนินการขุดแต่ง ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2507
โดยเริ่มขุดแต่งฐานพระสถูปเจดีย์ ข้างวัดโคกไม้เดนเป็นแห่งแรก
(ได้ขุดแต่งมาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2507เข้าฤดูฝนก็หยุด
และต่อมาได้มอบให้นายระพีศักดิ์ ชัชวาลย์ เป็นหัวหน้าไปดำเนินการขุดแต่งอีกใน
พ.ศ. 2507ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2508 จึงงดไว้ก่อน)
ข้าพเจ้าพร้อมด้วยหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และคณะ
ได้เดินทางไปตรวจการขุดค้นและพิจารณาศิลปโบราณวัตถุ เมื่อวันที่ 8 และที่ 9
พฤษภาคม 2507 นี้ ปรากฏว่าโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ขุดพบเป็นศิลปแบบสมัยทวารวดี
เช่น ที่พบที่จังหวัดนครปฐม, ที่คูบัว จังหวัดราชบุรี, ที่พงตึก
จังหวัดกาญจนบุรี และที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
แต่สิ่งของที่ได้พบซึ่งไม่มากนัก ฝีมือไม่ประณีตเท่าของที่พบ ณ
สถานที่ดังกล่าวข้างต้น
ถึงกระนั้นก็เป็นหลักฐานสำคัญยิ่งในการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีสมัยทวารวดี
เมืองบน ซึ่ง ดร. ควอริตซ์ เวลส์
และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรสำรวจพบ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2507มีลัษณะเป็นรูปรี
หรือหอยสังข์ ขนาดยาวประมาณ 750 เมตร กว้าง 600 เมตร คล้ายเมืองกำแพงแสน
จังหวัดนครปฐม, เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี, เมืองเสมา จังหวัดนครราชสีมา,
เมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์, เมืองพระรถ จังหวัดปราจีนบุรี
และเมืองพญาเร่ จังหวัดชลบุรี I เรียบเรียงโดย บรรจบ เทียมทัด (พ.ศ. 2508)
เมื่อเปรียบเทียบกับตะเกียงของชาวโรมัน อายุราว 1,900 ปี ซึ่งขุดพบที่กรุงโรม
ประเทศอิตาลีแล้ว ลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน
อันเป็นหลักฐานส่วนหนึ่งยืนยันจดหมายเหตุของชาวกรีก ชาวโรมันสมัย พ.ศ. 600-700
ซึ่งกล่าวว่าได้มีการคมนาคมติดต่อมายังแว่นแคว้นสุวรรณภูมิ
ศาสตราจารย์ Ch. Picard ได้เขียนบทความเรื่องตะเกียงสำริดซึ่งค้นพบที่ตำบลพงตึก
ในประเทศไทย ลงเป็นภาษาฝรั่งเศสตีพิมพ์ในวารสาร Artibus Asiae, Vol. XVIII 2
ซึ่ง มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปลและเรียบเรียงว่า เรื่องตะเกียงสำริดนี้
ศาสตราจารย์ G.Coed?s เป็นผู้เขียนขึ้นเป็นคนแรก ตีพิมพ์ใน Journal of the Siam
Society, Vol.XXI, Pt.2 บทความของศาสตราจารย์ Ch. Picard
มีทั้งคล้อยตามและขัดแย้งกับบทความของศาสตราจารย์ G.Coed?s
ศาสตราจารย์ Picard กล่าวว่าตะเกียงสำริดที่พงตึกนี้เป็นแบบที่ทำขึ้น ณ
เมืองอเล็กซานเดรีย ในประเทศอียิปต์ ในสมัยปโตเลเม คือสมัยที่ชาวกรีกเข้าปกครองประเทศอียิปต์ตั้งแต่
พ.ศ. 220-513 เหตุนั้นตะเกียงนี้คงมีอายุอยู่ก่อนคริสตกาล คือก่อนพุทธศตวรรษที่
6 เป็นแน่ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ Picard
ได้อ้างถึงภาพสลักรูปหน้าชายชราคือเทพเจ้า Silenus
ซึ่งสลักอยู่อยู่บนฝาที่เปิดใส่น้ำมัน
หน้านี้มีเถาวัลย์เป็นเครื่องประดับอยู่ข้างบน Silenus
เป็นครูผู้เฒ่าของเทพเจ้า Dionysus ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่น ศาสตราจารย์
Picard กล่าวว่า ลัทธิการเคารพบูชา Dionysus นี้แพร่หลายอยู่ในประเทศอียิปต์
ตั้งแต่สมัยปโตเลเมลงมา เหตุนั้นจึงเป็นพยานอีกอย่างหนึ่งว่า
ตะเกียงนี้คงจะได้สร้างขึ้นในสมัยนั้น
ในตอนนี้ศาสตราจารย์ Picard ได้แสดงความเห็นแตกต่างกับศาสตราจารย์ เซเดส์
ได้กล่าวว่าตะเกียงนี้คงจะใช้จุดในที่ฝังศพ เพราะเหตุว่ารูปปลา Dolphin
สองตัวบนด้ามถือนั้น นอกจากจะใช้เป็นเครื่องหมายของเมืองที่อยู่ริมทะเลแล้ว
ยังถือกันว่าเป็นพาหนะที่จะนำผู้ที่พระเจ้าประทานความเป็นผู้ไม่ตายให้ไปยังเกาะแห่งความสงบสุขด้วย
นอกจากนี้ Silenus เองก็เป็นลูกของแผ่นดิน และเกี่ยวข้องกับกิจพิธีในการศพ
ศาสตราจารย์ Picard ยอมรับความหมายของปลา Dolphin แต่กล่าวว่า Silenus
นั้นมีชื่อเสียงในการเป็นทหารเอกของ Dionysus ยิ่งกว่า และยังเป็นทหารเอกของ
Dionysus ในการยกทัพไปอินเดียด้วย ศาสตราจารย์ Picard กล่าวว่า
ถ้าตะเกียงโรมันที่พงตึกนี้ใช้สำหรับแขวนในที่ฝังศพจริง
ก็คงจะไม่ได้เป็นสินค้าส่งออกมานอกประเทศ และคงจะไม่ได้พบกันในประเทศไทยเป็นแน่
ต่อจากนั้น ศาสตราจารย์ Picard
ได้กล่าวยืนยันถึงการที่ตะเกียงโรมันนี้ได้เดินทางมาจากประเทศอียิปต์
โดยเทียบเคียงกับตะเกียงแบบ Copte ในประเทศอียิปต์ เลขที่ E.II. 685
ในพิพิธภัณฑสถาน Louvre กรุงปารีส ศาสตราจารย์ Picard กล่าวว่า
ตะเกียงที่พงตึกนี้คงเก่ากว่าตะเกียง Copte ในพิพิธภัณฑสถาน Louver
เพราะด้ามที่ตะเกียง Copte มีลวดลายเป็นรูปพรรณพฤกษามากกว่า
ตะเกียงแบบนี้พบกันแพร่หลายทั่วไปในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ศาสตราจารย์ Picard กล่าวว่าในสมัยปโตเลเมนี้
ได้มีการค้าขายอย่างกว้างขวางไปจนถึงประเทศอัฟกานิสถาน และแหลมอินโดจีน
เมืองอเล็กซานเดรียในประเทศอียิปต์ ก็ได้มีส่วนสำคัญในการค้าขายสมัยนี้
ศาสตราจารย์ Picard ได้กล่าวย้ำถึงข้อความที่ศาสตราจารย์เซเดส์ได้กล่าวไว้แล้วว่า
ภายหลังที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้บุกรุกเข้ามาในประเทศอินเดียราวต้นพุทธศตวรรษที่
3 แล้วก็เกิดมีการค้าขายทางเรืออย่างกว้างขวางระหว่างเมืองอเล็กซานเดรีย
ประเทศอียิปต์ ประเทศอินเดีย และภาคตะวันออกไกล
ท้ายสุด ศาสตราจารย์ Picard กล่าวว่า ที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า เมืองชื่ออเล็กซานดรา
ดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือทางพระพุทธศาสนา น่าจะเป็น เมืองอเล็กซาน เดรียในประเทศอียิปต์นั้นก็เป็นของน่าคิดอยู่เหมือนกัน
ศาสตราจารย์ Picard กล่าวว่า ตะเกียงสำริดนี้ คงมาในสมัยปโตเลเม (พ.ศ. 220-503)
ก่อนหน้าที่จะมีคณะทูตโรมันไปยังประเทศจีนใน พ.ศ. 709 ดังที่ศาสตราจารย์เซเดส์ได้กล่าวไว้
การค้นพบโบราณวัตถุที่เมืองออกแก้วในแหลมโคชินไชน่าและประเทศอินเดียเอง
ก็ดูจะสนับสนุนความข้อนี้ I เรียบเรียงโดย บรรจบ เทียมทัด (พ.ศ. 2508)
เดิมทีวัดโคกไม้เดนเป็นสันรวก
ซึ่งหลวงพ่อพระครูเงิน วัดพระปรางค์เหลือง ได้นำพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา
มาธุดงค์ในที่นี้ 7 วัน แล้วจึงเดินทางกลับ
ต่อมา พระอาจารย์หุ่น วัดเขาแก้ว กับผู้ใหญ่ยา ปานพรม
ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนบ้านโคกไม้เดน
ได้ร่วมกันสร้างวัดโคกไม้เดนขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือน 12 พ.ศ. 2448
(อยู่ทางทิศตะวันออกของที่ตั้งวัดในปัจจุบัน) รวมอายุวัดโคกไม้เดน ถึง พ.ศ.
2552 นับได้ 104 ปีพ.ศ. 2462 พระปลัดเอี่ยม ได้สร้างเจดีย์บนเขาขึ้นมาองค์หนึ่ง
ซึ่งเห็นอยู่บนยอดเขาไม้เดนต่อมาได้ย้ายที่ตั้งวัดมาตั้งที่ปัจจุบันและเปลี่ยนชื่อเป็นวัดเขาไม้เดน
ออกโฉนดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497
ปัจจุบันมีพระอธิการธีรศักดิ์ ธีรธมฺโม เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาไม้เดน
เก็บรวบรวมโบราณศิลปวัตถุที่พบบริเวณบ้านโคกไม้เดน
ซึ่งมีทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ยุคสุวรรณภูมิ ราว 2,000 ปีมาแล้ว กับยุคทวารวดี
ราว 1,500 ปีมาแล้วเตรียมจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่สร้างอาคาร 2
ชั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว
แต่ขณะนี้ไม่มีทุนจะจัดแสดงให้เสร็จสมบูรณ์ได้
แล้วเกรงว่าโบราณศิลปวัตถุจะเสื่อมสูญไป
จึงขอบอกบุญให้ผู้มีจิตศรัทธาสนับสนุนการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น วัดเขาไม้เดน
บ้านโคกไม้เดน ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพะยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
ลักษณะของสถานที่
เป็นสถานที่ที่มีโบราณวัตถุซึ่งแสดงถึงเมืองเก่าแก่สมัยสุโขทัย ได้แก่
ซากกำแพงเนินดิน
เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ขุดพบโบราณวัตถุเป็นรูปปั้นช้างพญาฉัททันต์
อายุกว่า1,000 ปี คำว่า"โคกไม้เดน" เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง
คนสมัยเก่าเรียกบ้านโคกไม้เดนว่า เมืองบน
ข้อมูลอาหารพื้นเมือง ( ถ้ามี )
ลูกชิ้นปลากรายลวก,ปลาช่อนตะไคร้,ปลาบึกผัดฉ่า,ปลาตะโกกนึ่งบ๊วย,กุ้งแช่น้ำปลา
ของฝากของที่ระลึก
ขนมเปี๊ยะนมสด-โมจิ,น้ำผึ้ง,กุนเชียง,แหนมเนื้อ,ผลิตภัณฑ์หินอ่อน,ผลิตภัณฑ์งาช้างแกะสลัก,เครื่องจักสาน|
ข้อมูลอื่นๆ ( มีโชว์ การแสดง )
ชมโบราณสถานและโบราณวัตถุ
ที่อยู่
ต.ท่าน้ำอ้อย
การเดินทางโดยรถยนต์
ห่างจากตัวเมือง 33 กิโลเมตร ตามถนนพหลโยธิน มีทางแยกเข้าบ้านโคกไม้เดน ระยะทาง
3 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคกลางเขต 7
โทร. 0-3642-2768-9 โทรสาร 0-3642-4089 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 1672