ชายทะเลท้ายเหมือง
อุทยานแห่งชาติเขาลำปี
หาดท้ายเหมือง
เป็นพื้นที่ทางทิศตะวันออกของชายฝั่งทะเลอันดามัน มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 72
ตารางกิโลเมตร หรือ 45,000 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่ ตำบลลำแก่น ตำบลทุ่งมะพร้าว
ตำบลท้ายเหมือง ตำบลบางทอง และตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง
จังหวัดพังงา มีสภาพพื้นที่แยกจากกันเป็น 2 ส่วน โดยมีถนนเพชรเกษม
(ทางหลวงหมายเลข 4) เป็นเส้นแบ่ง คือ บริเวณหาดท้ายเหมือง
ซึ่งอยู่ริมทะเลอันดามัน มีชายหาดยาวประมาณ 13.6 กิโลเมตร
มีส่วนกว้างที่สุดประมาณ 1,600 เมตร ส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 350 เมตร
ปลายสุดของหาดเป็นแหลม เรียกว่า แหลมอ่าวขาม (เขาหน้ายักษ์)
ทางด้านตะวันออกของพื้นที่แห่งนี้มีคลองน้ำกร่อยขนาดใหญ่ คือ คลองทุ่งมะพร้าว
และคลองหินลาด ซึ่งมีน้ำจืดส่วนใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาลำปี และบริเวณเทือกเขาลำปี
ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน เรียงตัวยาวไปตามแนวเหนือ
ใต้
เรียกว่าเทือกเขาลำปี
ประกอบด้วย
เขาขนิม เขาลำปี เขาโตนย่านไทร และเขาลำหลัง
และมีสภาพพื้นที่แปรเปลี่ยนสูงขึ้นจากประมาณ 40
100
เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณรอบ ๆ
เขตอุทยานแห่งชาติสู่พื้นที่ภูเขาสูงในตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ ยอดเขาสูงสุด
คือ เขาขนิมอยู่ทางด้านทิศเหนือของพื้นที่ มีความสูง 622 เมตร
จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาลำปี
หาดท้ายเหมือง
เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำลำธารหลายสาย เช่น คลองลำปี คลองขนิม คลองลำหลัง
คลองพลุ คลองคำนึง คลองอินทนิน และคลองบางปอ เป็นต้น ลักษณะพื้นที่มีความลาดชัน
โดยมีความลาดชันเฉลี่ยประมาณ 10
25%
โดยมีที่ทำการอุทยานแห่งชาติตั้งอยู่บริเวณหาดท้ายเหมือง
ภูเขาในเขตอุทยานแห่งชาติบริเวณเขาลำปี
นอกจากจะเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าจำนวนมากแล้ว
ยังเป็นแหล่งต้นน้ำซึ่งจะไหลรวมลงสู่ลำน้ำสายสำคัญ 2 สาย คือ คลองทุ่งมะพร้าว
และคลองคัน ลุ่มน้ำคลองทุ่งมะพร้าว มีพื้นที่รับน้ำประมาณ 42.94 ตารางกิโลเมตร
ประกอบด้วยลำน้ำสาขาย่อยที่สำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำคลองอินทนิน ลุ่มน้ำคลองขนิม
ลุ่มน้ำคลองลำปี ลุ่มน้ำคลองปะเต และลุ่มน้ำย่อยอื่น ๆ ส่วนลุ่มน้ำคลองคัน
มีพื้นที่รับน้ำประมาณ 14.06 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยลำน้ำสาขาย่อยคือ
คลองคำนึง คลองนาตาคำ คลองห้วยทราย คลองห้วยกลั้ง และลำน้ำสาขาย่อยอื่น ๆ
รวมพื้นที่อุทยานแห่งชาติบริเวณเขาลำปี ประมาณ 57 ตารางกิโลเมตร หรือ 35,625
ไร่ สำหรับพื้นที่บริเวณหาดท้ายเหมือง มีพื้นที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร หรือ
9,375 ไร่ หรือประมาณ 20% ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งหมด
สภาพภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติเขาลำปี จะเห็นได้ว่าภูเขาบริเวณนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำสายสำคัญดังกล่าว ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงบริเวณภูเขา
โดยเฉพาะหากป่าไม้ถูกทำลายจะก่อให้เกิดการชะล้างหน้าดินซึ่งจะส่งผลให้ตะกอนไหลลงไปทับถมในลำคลองมากขึ้น
ทำให้คลองตื้นเขินอย่างรวดเร็ว
จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านระบบนิเวศวิทยา
นอกจากนั้นยังทำให้มีโอกาสเกิดอุทกภัย กล่าวคือ
ปริมาณน้ำท่าที่จะไหลในหน้าฝนจะมีมากกว่าปกติอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้
ในขณะที่หน้าแล้งนั้นจะประสบภาวะขาดแคลนน้ำ
ซึ่งสภาพดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบต่อสภาพสมดุลของบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติและโดยรอบ
โดยเฉพาะในหน้าแล้งจะก่อให้เกิดปัญหาการรุกของน้ำเค็ม
เนื่องจากปริมาณน้ำที่ใช้ดันน้ำเค็มมีไม่เพียงพอ
จะเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี
หาดท้ายเหมือง ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ซึ่งมีกำลังแรงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม
พัดพาความชุ่มชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมายังแผ่นดิน
ทำให้เกิดฝนตกชุกในช่วงเวลาดังกล่าว
พื้นที่นี้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือน้อย
เนื่องจากมีเทือกเขาสูงทอดตัวในแนวเหนือ
ใต้
เป็นแนวกั้นทำให้ลมมีกำลังอ่อนลง อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนพฤศจิกายน
ซึ่งลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง
ก็สามารถส่งผลให้เกิดฝนตกได้บ้างแต่มีปริมาณไม่มากนัก
ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงฤดูแล้ง ท้องฟ้ามีเมฆปกคลุมน้อยลง
อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณฝนจะมีน้อย
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าในบริเวณเทือกเขาลำปีเป็น ป่าดิบชื้น พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง หลุมพอ
ตะเคียนทอง ตะเคียนชันตาแมว กระบาก เทพทาโร ยมหอม สุเหรียน ทุ้งฟ้า พลอง ฉก ฯลฯ
พืชพื้นล่าง ได้แก่ ปุด เร่วดง หวายขม หวายขริง หวายกำพวน ไผ่ หมากผู้หมากเมีย
คล้า กล้วยป่า และบริเวณที่ใกล้ลำธารจะเป็นเฟินตีนตะขาบ โปรงทอง ลำเพ็ง ผักกูด
และกูดขน เป็นต้น เป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น
เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวรุ้ง ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกหว้า นกแสกแดง นกเค้าป่าสีน้ำตาล
นกโพระดก นกพญาไฟ ชะนีมือขาว ลิงเสน ลิงกัง ค่าง สมเสร็จ เก้ง และเลียงผา
เป็นต้น
บริเวณหาดท้ายเหมืองเป็นที่ราบชายฝั่งด้านตะวันตกเป็นหาดทรายขาว
ด้านตะวันออกจรด ป่าชายเลน ที่ขึ้นอยู่ริมคลอง พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่
โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนดำ ตะบูนขาว ลำพู ถั่วดำ ถั่วขาว แสมขาว
และแสมดำ บางส่วนเป็นป่าจากล้วน ป่าชายเลนนี้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน
เป็นแหล่งสืบพันธุ์ และสถานที่วางไข่ของสัตว์บกและสัตว์น้ำต่างๆ เช่น กุ้ง หอย
ปู ปลาต่างๆ
จึงเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของนกและสัตว์ป่าหลากหลายชนิด เช่น
นกกาน้ำเล็ก นกยางทะเล เหยี่ยวแดง นกแต้วแล้วป่าโกงกาง ลิงแสม พังพอนกินปู
เหี้ย งูปากกว้างน้ำเค็ม งูสามเหลี่ยม งูแสมรัง และปลาซิวข้าวสารชวา เป็นต้น
บริเวณชายหาดจะเป็น ป่าชายหาด มี สนทะเล จิกเล หูกวาง หยีทะเล ปอทะเล เมา
มะนาวผี และรักทะเล ส่วนพืชพื้นล่างได้แก่ สังหยู สาบเสือ ลำเท็ง ปรงทะเล
เตยทะเล ผักบุ้งทะเล และถั่วทะเล ขึ้นอยู่ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลากชนิด
เช่น เหยี่ยวขาว นกออก ไก่ป่า นกกวัก นกหัวโตทรายเล็ก นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่
นกบั้งรอกใหญ่ นกกะเต็นอกลาย นกตะขาบดง นกแซงแซวหางปลา ลิ่นชวา กระแตใต้
ค้างคาวขอบหูขาวเล็ก ชะมดแผงสันหางดำ พังพอนเล็ก แย้ จิ้งเหลนบ้านเป็นต้น
บริเวณศูนย์กลางพื้นที่หาดท้ายเหมืองประมาณ 1,000 ไร่ มีสภาพเป็น ป่าพรุ
ที่มีน้ำจืดขังอยู่เกือบตลอดปี สภาพดินเป็นดินทรายละเอียดขาวนวล
สังคมพืชที่เด่นชัดในสภาพป่านี้คือ เสม็ดขาว บริเวณที่ดอนจะมีเสม็ดแดง ชะมวงป่า
มะพลับพรุ ตีนเป็ด และหว้าน้ำ ขึ้นปะปน พืชอิงอาศัยที่ขึ้นรอบลำต้นไม้ขนาดใหญ่
เช่น กระแตไต่ไม้ สไบสีดา เกล็ดนาคราช เฟินก้ามปู และเฟินข้าหลวง โดยมี
กระดุมเงิน โคลงเคลง ปลาไหลเผือก เข็มป่า รามใหญ่ กะทือ ย่านาง มันเทียน
หวายลิง และเอื้องหมายนา เป็นพืชพื้นล่าง
สัตว์ป่าที่สำคัญและสำรวจพบในป่านี้ได้แก่ นกยางกรอกพันธุ์จีน นกอีลุ้ม
นกกระแตแต้แว้ด นกตบยุงหางยาว นกกะเต็นอกขาว หมูหริ่ง นากใหญ่ขนเรียบ หมีขอ
หมูป่า กระรอกลายท้องแดง เต่านา ตะกวด งูหลามปากเป็ด งูเหลือม กบนา ปลาดุกลำพัน
และปลาหัวตะกั่ว เป็นต้น
ในบริเวณแหล่งน้ำ ห้วย และลำคลองต่างๆ สำรวจพบปลาน้ำจืด 31 ชนิด ได้แก่ ปลาสลาด
ปลาซิวใบไผ่ ปลาแขยงหิน ปลาดุกลำพัน ปลาซิวข้าวสารแคระ ปลาแรด ปลาช่อน ปลาก้าง
ปลานิล เป็นต้น สัตว์น้ำที่พบบริเวณชายฝั่งหาดท้ายเหมืองได้แก่ ปลาทราย
ปลากระบอก เต่ากระ เต่าหญ้า ปูลม ปูแสม หอยมวนพลู หอยตลับลาย กุ้งฝอย กุ้งตะกาด
แมงกะพรุน ฯลฯ