อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่
ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อสิงหาคม 2534 มีพื้นที่ประมาณ 125ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมเขตอำเภอ
ท้ายเหมือง อำเภอกะปง อำเภอตะกั่ว-ป่า และอำเภอเมือง ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวคือ เขาหลัก จากตัว
อำเภอตะกั่วป่า25 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 4(สายท้ายเหมือง-ตะกั่วป่า) แล้วเลี้ยว ซ้ายที่บริเวณ
กิโลเมตรที่ 56 - 57 ก่อนเข้าเขตอำเภอท้ายเหมือง จะเห็นเขาลูกหนึ่งชื่อเขาหลัก มีศาลเจ้าพ่อเขาหลักตั้งอยู่
บริเวณฝั่งตรงข้ามของเขาหลักจะเป็นชายทะเลเขาหลัก ซึ่งมีลักษณะเป็นหาดหิน ทั้งก้อนเล็กและใหญ่เรียง
รายอยู่มากมาย น้ำตกลำรู่ อยู่ในเขตป่าเทือกเขากระได เป็นน้ำตกที่มีความสูงขนาดกลางรวม 5 ชั้น สามารถ
เดิน ทางโดยใช้ถนนแยกจากทางหลวง 4090 ผ่านที่ว่าการอำเภอกะปง ไปยังหมู่บ้านลำรู่ ประมาณ 9 กิโลเมตร และเดินทางต่อไปยังน้ำตกลำรู่อีก 1 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมี น้ำตกโตนช่องฟ้า อยู่เหนือที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 5 กิโลเมตร ตามถนน เพชรเกษม จะมีป้ายบอกทาง เลี้ยวไปตามถนนลูกรัง 5 กิโลเมตร รถยนต์สามารถเข้าถึงบริเวณน้ำตกได้สะดวก การเดินทาง จากกรุงเทพฯ เดินทางด้วยรถโดยสารสู่ภูเก็ต เมื่อผ่านอำเภอตะกั่วป่าไป 33 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ
แต่เดิมเป็นเพียงวนอุทยานป่าชายทะเลเขาหลัก ซึ่งอยู่ในความดูแลของกองอุทยานแห่งชาติ
ต่อมา ในปี 2527 ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลกะปง จังหวัดพังงา
ได้มีหนังสือเรียนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า พื้นที่บริเวณ
ตำบลกะปง จังหวัดพังงา น้ำตกลำรู่ เป็นน้ำตกที่สวยงาม
ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากะได บริเวณรอบๆ ยังมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์
มีสัตว์ป่านานาชนิด ควรอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าไว้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีบันทึกให้กรมป่าไม้พิจารณา
กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือเสนอกรมป่าไม้ ให้มีคำสั่งให้
เจ้าหน้าที่ออกไปทำการสำรวจบริเวณดังกล่าว ปรากฏว่า พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์
มีจุดเด่นทางธรรมชาติหลายแห่ง เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
ในปี 2528
กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือเสนอกรมป่าไม้
ให้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ
โดยใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติน้ำตกลำรู่
ต่อมา
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีบันทึกสั่งการให้กรมป่าไม้สงวนป่าคลองลำรู่ใหญ่
ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ตามที่ผู้บัญชาการสถานีทหารเรือพังงา
ได้ให้ความเห็นชอบตามมติของสภาตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง
ที่ต้องการสงวนป่าต้นน้ำลำธารคลองลำรู่ใหญ่
ซึ่งกรมป่าไม้ได้ให้กองอนุรักษ์ต้นน้ำทำการตรวจสอบ
และได้มีการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2528
เห็นชอบให้กองอุทยานแห่งชาติสำรวจหาข้อมูลเพื่อพิจารณาจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
กองอุทยานแห่งชาติได้สั่งการให้อุทยานแห่งชาติน้ำตกลำรู่ ทำการสำรวจเพิ่มเติม
และได้รับหนังสือรายงานผลการสำรวจว่า พื้นที่บริเวณน้ำตกลำรู่
และบริเวณป่าต้นน้ำลำธารของตำบลลำแก่น รวมพื้นที่สำรวจประมาณ 150 ตารางกิโลเมตร
มีพื้นที่ครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติ 7 ป่า เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของจังหวัดพังงา
มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ทางธรรมชาติหลายแห่ง
เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้ และต่อมาในปี 2531
อุทยานแห่งชาติน้ำตกลำรู่ได้มีหนังสือขอเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานที่และมีความหมายเด่นชัด
กองอุทยานแห่งชาติได้พิจารณาแล้วจึงอนุมัติให้ใช้ชื่อว่า
อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่
ซึ่งมาจากชื่อพื้นที่บริเวณชายทะเลเขาหลักและน้ำตกลำรู่
อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณป่าเทือกเขาหลัก ป่าเขาโตน ป่าชายทะเลเขาหลัก
ป่าเทือกเขากระได ป่าเขาหลัก ป่าลำรู ป่าควนหัวโตน ป่าเขาพัง และป่าเทือกเขากะทะคว่ำ
ในท้องที่ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า ตำบลกะปง ตำบลเหมาะ อำเภอกะปง ตำบลลำแก่น ตำบลลำภี
อำเภอท้ายเหมือง และตำบลทุ่งคาโงก อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เนื้อที่ 125
ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่
152 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2534 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 66 ของประเทศไทย
ลักษณะภูมิประเทศ
ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน ได้แก่ เขาหลัก เขาลำรู
เขาแสงทอง เขาไม้แก้ว และเขาปลายบางโต๊ะ มียอดเขาสูงที่สุดประมาณ 1,077 เมตร
จากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญ ๆ ของจังหวัดพังงา ได้แก่
แม่น้ำตะกั่วป่า และแม่น้ำพังงา และยังประกอบด้วยคลองและลำห้วยลำเล็กๆ มากมาย
ส่วนบริเวณที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาหลักลำรู่
เป็นพื้นที่ชายฝั่งที่ติดกับทะเล เป็นระบบนิเวศหาดหิน ระบบนิเวศหาดทราย และกลุ่มประการัง
ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลตะวันตกของฝั่งทะเลอันดามัน
จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
ทำให้มีฝนตกเกือบตลอดทั้งปี มีฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือฤดูร้อน
เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
ถึงเดือนธันวาคม โดยจะมีฝนตกชุก
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าโดยทั่วไปภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ประกอบด้วย
ป่าดิบชื้น
มีพื้นที่ขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ไว้เกือบทั้งหมด
มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ยางขน ยางมันหมู ไข่เขียว ตะเคียนราก กระบาก ก้านตอง
บุนนาค ชันรูจี เทพทาโร ทำมัง สะทิบ มังตาน พิกุลป่า แซะ เสียดช่อ หันช้าง สะตอ
เหรียง สัตตบรรณ มะกอกป่า สะท้อนรอก ตาเสือ เงาะป่า และคอเหี้ย เป็นต้น
สำหรับไม้พุ่มที่พบได้แก่ เข็มป่า ไม้เท้ายันยาด โมกแดง คันหามเสือ ตาเป็ดตาไก่
ปอผ่าสาม มะเดื่อขี้นก เตยหนู ลิ้นกวาง คุยช้าง เถาไฟ สะบ้า พริกไทยป่า ย่านอวดน้ำ
เตยย่าน และตะเข็บ พืชล้มลุกที่พบตามพื้นดิน ได้แก่ เปราะป่า กระทือแดง เอื้อง
หมายนา ข่าคม ว่านงดดิน แก้วหน้าม้า ผักหนาม มะพร้าวนกคุ่ม คล้า คลุ้ม เนระพูสีไทย
และว่านพังพอน ส่วนพืชเบียดรากที่พบได้แก่ กระโถนพระราม พันธุ์ไม้จำพวกปาล์มได้แก่
ฉก หมากเจ ชิง กะพ้อ ค้อ เต่าร้างแดง และหวายชะโอนเขา พืชจำพวกหวายและไผ่ ได้แก่
ไผ่เรียบ ไผ่ผาก เป็นต้น พืชอิงอาศัยจำพวกเฟิน ได้แก่ กระปรอกหางสิงห์ เกล็ดนาคราช
กูดหิน กูดหางค่าง ว่านกีบแรด รังไก่ หัวอ้ายเป็ด นอกจากนี้ยังพบพืชเมล็ดเปลือย
ได้แก่ ขุนไม้ ซึ่งพบต้นที่มีขนาดใหญ่มาก เส้นรอบวง 205 เซนติเมตร สูงประมาณ 40
เมตร และพญาไม้
ป่าชายหาด
เป็นสังคมพืชที่ขึ้นอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ที่เป็นดินทราย
และบริเวณฝั่งทะเลที่มีโขดหินกระจายอยู่ทั่วไป
พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าชายหาดจัดเป็นพืชทนเค็ม
เนื่องจากได้รับอิทธิพลของไอเค็มจากน้ำทะเล บริเวณชายฝั่งที่ติดกับทะเล
พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ กระทิง หูกวาง จิกทะเล หยีทะเล โพกริ่ง โพทะเล ปอทะเล
ตีนเป็ดทะเล สนทะเล โกงกางหูช้าง และปรงทะเล พันธุ์ไม้เหล่านี้มีความสูงไม่มากนัก
ลำต้นคดงอ หรือเอนเอียงไปเนื่องจากอิทธิพลของแรงลม ไม้พุ่มที่พบได้แก่ รักทะเล
พืชล้มลุกที่ทอดเลื้อยไปตามหาดทราย ได้แก่ ผักบุ้งทะเล บริเวณชายฝั่งที่เป็นหาดทราย
และบริเวณที่มีโขดหินกระจายอยู่โดยทั่วไป ซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งขึ้นมาก
นอกจากนี้พบพันธุ์ไม้
ป่าชายเลน
ที่ส่วนสืบพันธุ์ถูกน้ำทะเลพัดพามาติดที่ชายฝั่ง สามารถงอกตั้งตัว และเติบโตอยู่ได้
ได้แก่ แสมทะเล ฝาดแดง ตะบูนขาว เล็บมือนาง ถั่วขาว พังกาหัวสุมดอกแดง โกงกางใบเล็ก
โกงกางใบใหญ่ จีง้ำ และตาตุ่มทะเลเนื่องจากสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ
และองค์ประกอบของพืชพันธุ์ของป่า มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืช อาหาร และแหล่งน้ำ
จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สำคัญ ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประกอบด้วย
เลียงผา สมเสร็จ กระแตใต้ บ่าง หมีขอ พังพอนเล็ก กระจ้อน ค้างคาวขอบหูขาวใหญ่
ค้างคาวขอบหูขาวกลางค้างคาวหน้ายาวใหญ่ เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย
กิ้งก่าบินปีกสีส้ม กิ้งก่าเขาหนามยาว ตะกวด งูแสงอาทิตย์ งูลายสอสวน งูกะปะ
และงูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง เป็นต้น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
มักพบอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำขังหรือที่ชื้นแฉะ สัตว์กลุ่มนี้ออกหากินในกลางคืน ได้แก่
อึ่งกรายลายเลอะ จงโคร่ง กบหลังตาพับ และอึ่งข้างดำ เป็นต้น นก
พบได้ทั่วไปในอุทยานแห่งชาติ เช่น เหยี่ยวรุ้ง นกออก นกเขาเขียวและนกพญาไฟใหญ่
เป็นต้น ส่วนนกขนาดใหญ่ที่พบได้มี 3 ชนิด คือ นกเงือกปากดำ นกแก๊ก และนกกาฮัง
ผีเสื้อ
ที่พบมากและกระจายทั่วพื้นที่ ได้แก่ ผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู ผีเสื้อหนอนมะนาว
ผีเสื้อหางติ่ง ชะอ้อน ผีเสื้อขาวแคระ ผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา ผีเสื้อใบกุ่มธรรมดา
ผีเสื้อหนองคูณธรรมดา ผีเสื้อสีตาลจุดตาห้า ผีเสื้อสายัณสีตาลธรรมดา ผีเสื้อหางแหลม
ผีเสื้อสีอิฐธรรมดา ผีเสื้อแพนซีสีตาลไหม้ ผีเสื้อสะพายขาวปีกโค้ง
ผีเสื้อฟ้าวาวสีต่างฤดู เป็นต้น
สัตว์ทะเล
พบบริเวณชายฝั่งอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ได้แก่ สัตว์กลุ่มปลิง เช่น ปลิงดำ
ปลิงขาว ปลิงลูกปัด เป็นต้น กลุ่มเม่น เช่น เม่นหนามยาว กลุ่มดาวขนนก เช่น ดาวขนนก
กลุ่มปู กลุ่มกุ้ง กลุ่มหอย เช่น หอยสังข์หนาม หอยเบี้ยเสือดาว หอยเบี้ยอารบิก
หอยนมสาว เป็นต้น กลุ่มทากทะเล เช่น ทากปุ่ม เป็นต้น กลุ่มปลา เช่น ปลาไหลมอเรย์ยักษ์
ปลาปากคม ปลากระทุงเหว ปลาข้าวเม่าน้ำลึก ปลาหิน ปลาสิงโต ปลากะรังสายฟ้า
ปลาเก๋าหน้าแดง ปลาอมไข่ ปลาเหาฉลาม ปลากะพงข้างปาน ปลาทราย ปลาแพะ ปลากระดี่ทะเล
ปลาผีเสื้อก้างปลา ปลาโนรีครีบยาว ปลาสลิดหินบั้งหลังเหลือง ปลาการ์ตูนส้มขาว
ปลานกขุนทอง ปลาเขียวพระอินทร์ ปลาพยาบาล ปลาตุ๊ดตู่ ปลาปักเป้าหนามทุเรียน เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่
คลองลำรูใหญ่
ลักษณะเป็นลำห้วยขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยลำห้วยขนาดเล็กจำนวนมาก
แต่ละห้วยมีน้ำตกขนาดเล็กที่สวยงาม เช่น น้ำตกวังกล้วยเถื่อน
เป็นน้ำตกที่มีความสูงขนาดกลาง รวม 7 ชั้น ที่สวยงามยิ่ง
คลองลำรูใหญ่เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของอำเภอท้ายเหมือง
ชายทะเลเขาหลัก
เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นวนอุทยานชายทะเลเขาหลัก
มีลักษณะเป็นชายฝั่งทะเลยุบตัวและชายหาด มีทิวทัศน์ที่สวยงาม
และเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่
อยู่ห่างจากอำเภอตะกั่วป่ามาทางอำเภอท้ายเหมืองตามถนนเพชรเกษม 33 กิโลเมตร
แล้วแยกเข้าไปเพียง 50 เมตร
ฝั่งตรงข้ามเป็นศาลเจ้าพ่อเขาหลักซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของคนทั่วไป
บริเวณนี้ประกอบด้วยแหลมหิน หาดหิน หาดทราย
และปรากฏรอยเท้าที่จารึกบนแผ่นหินอยู่ใต้ต้นไทร มีจุดชมวิวในบริเวณแหลมเขาหลัก
มีทางเดินศึกษาธรรมชาติจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปหาดเล็ก ระยะทาง 2 กิโลเมตร
มีลักษณะเป็นทางเดินเรียบชายฝั่ง
นอกจากนี้ยังมีทางเดินป่าระยะไกลจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปน้ำตกโตนช่องฟ้า
ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร บริเวณชายทะเลเขาหลักยังสามารถดำน้ำชมปะการังน้ำตื้นได้
น้ำตกโตนช่องฟ้า
มีต้นน้ำเกิดจากคลองบางเนียง ประกอบด้วยน้ำตกจำนวน 5 ชั้นใหญ่ๆ
จัดเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปตามถนนเพชรเกษม
แยกเข้าบริเวณวัดพนัสนิคมในหมู่บ้านบางเนียง เป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร
ทางอุทยานแห่งชาติได้จัดเส้นทางเดินป่าบริเวณเทือกเขาหลักไปตามแนวสันเขาถึงน้ำตกโตนช่องฟ้า
ระยะทาง 9 กิโลเมตร
น้ำตกลำพร้าวและน้ำตกหินลาด
มีต้นน้ำเกิดจากคลองปลายบางโต๊ะและน้ำตกทั้งสองอยู่ในลำห้วยเดียวกัน น้ำตกลำพร้าว
มีชั้นน้ำตก 3 ชั้น ส่วนน้ำตกหินลาดมีชั้นน้ำตก 2 ชั้น
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4090 แยกเข้าบ้านทุ่งคาโงก 4
กิโลเมตร แล้วเดินเท้าต่อไปยังน้ำตกอีกเล็กน้อย
น้ำตกลำรู่
เป็นน้ำตกที่มีความสูงขนาดกลาง รวม 5 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี สวยงามน่าชม
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปโดยใช้ถนนแยกจากทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4090 (อำเภอกะปง-บ้านกะปง-หมู่บ้านลำรู่)
ผ่านที่ว่าการอำเภอกะปง ไปยังหมู่บ้านลำรู่ 9 กิโลเมตร
และเดินทางต่อไปยังย้ำตกลำรู่อีก 1 กิโลเมตร
หาดเล็ก
เป็นชายหาดทรายขาวละเอียด และเงียบสงบ สามารถว่ายน้ำ ดำน้ำ
ดูปะการังโดยเดินเท้าจากที่ทำการอุทยาแห่งชาติประมาณ 1.5 กิโลเมตร
ตลอดทางจะเดินผ่านป่า ลัดเลาะไปตามชายทะเลเขาหลัก
สถานที่ติดต่อและการเดินทาง
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่
หมู่ที่ 7 ต.คึกคัก,อ. ตะกั่วป่า จ. พังงา 82190
การเดินทาง
รถยนต์
จากกรุงเทพฯใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาหลักลำรู่ อยู่ใกล้ถนนเพียง 50 เมตร มีจุดสังเกตคือ
ศาลพ่อตาเขาหลัก ซึ่งเป็นที่สักการะของชาวบ้านและคนทั่วไป
เครื่องบิน
จะต้องใช้บริการของสนามบินนานาชาติจังหวัดภูเก็ต
แล้วโดยสารรถมาสู่อุทยานแห่งชาติเขาหลักลำรู่
โดยใช้เส้นทางตามถนนเพชรเกษมมุ่งสู่อำเภอท้ายเหมือง
รถโดยสารประจำทาง
จากสถานีขนส่งสายใต้ มีทั้งรถปรับอากาศ และรถธรรมดาสายกรุงเทพฯ-ภูเก็ต และกรุงเทพฯ-ตะกั่วป่า
ซึ่งอัตราค่าโดยสาร กรุงเทพฯ-พังงา รถยนต์โดยสารธรรมดา ราคา 357 บาท ปรับอากาศ ราคา
459 บาท ปรับอากาศพิเศษ ราคา 685 บาท
ค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานแห่งชาติ
ผู้ใหญ่ คนละ 20-80 บาท (ขึ้นอยู่กับอุทยานฯ)
เด็ก คนละ 10-40 บาท (ขึ้นอยู่กับอุทยานฯ)
กรณีเป็นเด็กอายุต้องต่ำกว่า 14 ปี แต่ถ้าอายุต่ำกว่า 3 ปี
จักไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม
กรณีเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้เก็บค่าธรรมเนียมในอัตราสำหรับเด็ก