ประวัติความเป็นมาของโบราณสถานสระสี่เหลี่ยม
สระสี่เหลี่ยม
ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลสระสี่เหลี่ยม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
ซึ่งกรมศิลปากรได้มาสำรวจและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานวัตถุไว้เมื่อ พ.ศ.2474
ตัวสระเป็นรูปศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมขนาด 5
X 5 วาลึก 2 วาเศษ
ได้ขุดตัดดินเป็นหน้าเรียบลึกลงไปเป็นแนวดิ่งได้มุมฉากทั้งสี่ด้านคล้ายกับใช้เครื่องจักรตัด
ทางด้านตะวันตกมีบันไดหินลงไป 12 ขั้น ปี พ.ศ. 2512 กรมชลประทานได้ขุดคลองจากท่าลาด
อำเภอพนมสารคาม
ผ่านเข้ามาใกล้ได้ขุดดินถมบันไดบางส่วนเหลือไว้ให้เห็นได้เพียงเล็กน้อย
ทางราชการจึงได้ตั้งชื่อของตำบลนี้ตามลักษณะของรูปสระว่า ตำบลสระสี่เหลี่ยม
สังกัดอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีครั้งสมัยพระอินอาษาเป็นเจ้าเมืองพนัสตามหลักฐาน
ทางประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏว่าผู้ใดขุดสระนี้
แต่มีเรื่องเล่าสืบต่อกันว่าพระรถผู้ครองเมืองพระรถได้ขุดสระนี้ไว้เพื่อให้น้ำไก่
จึงสันนิษฐานว่า สระนี้ขุดขึ้นมาพร้อมกับเมืองพระรถ (ต.พระธาตุ) ในสมัยทวาราวดี
ราวพุทธศตวรรษที่ 13-17ผู้ที่ขุดต้องมีบุญบารมีครองบ้านครองเมือง
ที่นี่คงเป็นชุมชนแห่งหนึ่งในสมัยนั้นยังมีรอยเท้าคนโบราณปรากฏอยู่บนหินขอบสระด้านทิศเหนือ
กาลต่อ ๆ มาผู้คนโบราณอาจอพยพย้ายถิ่นฐานหรือล้มตาย
จึงกลายเป็นเมืองร้างไปหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณ พ.ศ. 2372
ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
มีผู้คนจากหน้าพระธาตุ อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยทำมาหากินที่สระสี่เหลี่ยมนี้
กับคนจีนอีกพวกหนึ่งได้ตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายกันอยู่
คนจีนได้ยึดเอาบริเวณสระสร้างห้องแถวเป็นที่อยู่อาศัยและขายของกินของใช้ต่าง ๆ
ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า เนินตลาด
หรือเดิ่นตลาดมีตำนาเล่ากันมาว่า
พระรถในเรื่องพระรถเมรีได้เดินทางจากเมืองพระรถ (ตำบลหน้าธาตุ)
ออกเที่ยวพนันตีไก่กับเจ้าของอู่ทองอู่ไทยที่ตำบลดงน้อย จังหวัดปราจีนบุรี
โดยพนันเอาบ้านเมืองกัน ยังมีหลักฐานทางภูมิศาสตร์
ให้เห็นทางเดินของคนโบราณจากหน้าพระธาตุถึงสระสี่เหลี่ยมและมีคลองจากหน้าพระธาตุมาบ้านคลองหลวงถึงหัวถนน
จากหัวถนนมีถนนดินเป็นแนวมายังสระสี่เหลี่ยมเลยไปยังอำเภอพนมสารคาม สนามชัยเขต
และอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี
เช่นเดียวกับอำเภอพระรถ ในอำเภอพนัสนิคม
นักเลงชนไก่เชื่อกันว่าน้ำในสระแห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์
จึงมีการเอาน้ำในสระนี้ไปให้ไก่เวลาพนันชนไก่ที่มีเดิมพันมาก ๆ
ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้เล่าว่าเมื่อครั้งที่บริเวณสระยังเป็นป่าดงอยู่ลำพังคนเดียวไม่กล้าเข้าไปใกล้
รู้สึกเกรงกลัวอันตรายคล้ายเมืองลับแล ยามดึก 8 ค่ำ
จะได้ยินเสียงควบม้าห้อไปตามทางเกวียนข้างสระ
กลางคืนเห็นแสงดวงใหญ่ลอยขึ้นมาจากสระแล้วหายไปคล้ายผีพุ่งใต้
บางคนเห็นงูใหญ่มีหงอนสีแดงลอยเล่นน้ำอยู่ในสระแล้วเลื้อยเข้าโพรงข้างสระ
บางทีก็พบงูหงอนนี้ไปโผล่ที่ศาลเจ้าหนองโสน อยู่ห่างจากสระนี้กิโลเมตรเศษ ๆ
เข้าใจว่าเป็นทางเดินใต้ดินทะลุถึงกัน
นอกจากนี้ยังมีผู้พบเห็นขันเงินขันหมากทองลอยอยู่ในสระด้วยความโลภ
จึงเอาไม้สอยเขี่ยดึงมา แต่กลับลอยหายวับไปในหลืบหิน
ยังมีผู้พบเห็นสิ่งมหัศจรรย์อีกมาก ปรากฎการณ์เหล่านี้เห็นต่างเวรต่างกรรมกัน
ผู้พบเห็นและผู้เดินทางผ่านสระนี้บางคนกลับไปป่วยไข้แทบปางตายก็มี
ชาวบ้านเชื่อว่าภูตผีปีศาจ
เทวดาอารักษ์เจ้าที่เจ้าทางที่อยู่อาศัยให้คุณให้โทษแก่เขา จึงได้พากันปลูกศาลขึ้น
และทำพิธีเชิญเจ้าเข้าทรง ได้เชิญเจ้าพ่อหลวงดง หรือ ตาหลวง
ขึ้นสถิตในศาลจัดงานปีถวายตลอดมา คนจีนจัดหาหุ่นกระบอกมาเล่นถวาย
มีผู้ถือเจ้าเข้าทรงทุกปีปรากฏว่า ตั้งแต่มีศาลเจ้า และเลี้ยงงานปีแล้ว
ผู้คนจึงอยู่เย็นเป็นสุขดี ปัจจุบันยังมีการเลี้ยงงานปีและถือเจ้าเข้าทรงอยู่เช่นเดิม
แต่มีการทำบุญตักบาตรพระเพิ่มขึ้น ผู้คนทั้งใกล้และไกลต่างเคารพนับถือเจ้าพ่ออยู่
และพากันมาช่วยจัดงานปีตลอดมาเป็นประจำทุกปี