วัดพระธาตุจอมมอญ
เป็นวัดที่สร้างเมื่อครั้งตั้งเมืองแม่
สะเรียง และเป็นหนึ่งในสี่เจดีย์ที่สร้างไว้สี่มุมเมือง คือ จอมแจ้ง
จอมทอง จอมกิตติ และจอมมอญ
ชาวบ้านถือว่าเป็นพระธาตุที่มีความศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง
ที่นี่นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของแม่
สะเรียง แล้ว ยังสามารถใช้เป็นจุดชมวิวเมืองแม่ สะเรียง ได้เป็นอย่างดี
สามารถมองเห็นภาพบ้านเรือน ทุ่งนา และแม่น้ำยวมที่ไหลคดเคี้ยวผ่านหุบเขา
หากมาในช่วงหน้าฝนจะเห็นภาพทุ่งนาและป่าเขียวขจีสวยงามน่าชมยิ่ง
ชาวแม่เสรียงจะจัดงาน
ฉลองพระธาตุขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน กรกฎาคม ของทุกปี
การเดินทาง
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกาศ ห่างจากแม่สะเรียง ประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร รถยนต์ส่วนตัว
ใช้ทางหมายเลข ๑๑๙๔ ( แม่สามแลบ ) ประมาณ ๑ กิโลเมตร
จะพบคลองชลประทานให้แยกขวามือก่อนข้ามคลองไปตามถนนลูกรังเลียบคลองชลประทาน
ผ่านบ้านพระมอลอ สังเกตทางซ้ายมือจะเห็นองค์พระธาตุอยู่บนเขา
มีบันไดนำทางขึ้นไปอย่างสบาย รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากตลาด
ตำนานวัดพระธาตุจอมมอญ
ย้อนหลังไปสู่อดีต
1000 กว่าปี
มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ยังมีพระฤาษี 4
ตนเป็นพี่น้องกันได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างพระธาตุสี่มุมเมืองยวม
คือ พระธาตุจอมมอญ พระธาตุจอมแจ้ง
พระธาตุจอมทอง พระธาตุจอมกิตติ
พระฤาษีทั้งสี่พี่น้องเป็นผู้มีตบะเดชะ
มีวิทยาคมแก่กล้ามาก ได้ศึกษาเล่าเรียนเพียรปฏิบัติจากพระฤาษีอีกองค์หนึ่งผู้เป็นอาจารย์ซึ่งมีฤทธิ์มากและมีอายุมากแล้ว
ได้บำเพ็ญเพียรอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งทางเหนือของเมืองยวมกล่าวกันว่าถ้ำนั้นชื่อถ้ำเหง้า หลังจากท่านฤาษีทั้งสี่ตนพี่น้องเรียนศิลปศาสตร์ต่างๆ
จนจบแล้ว
จึงกราบลาอาจารย์ไปบำเพ็ญเพียรสร้างบารมีต่อ
ตำนานกล่าวว่า พระฤาษีทั้งสี่ตนนั้นมีความเก่งไปคนละด้าน
คือฤาษีผู้พี่เก่งในทางรักษาโรค
สามารถปรุงยาชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นคืนชีพได้
ตั้งสำนักอยู่ ณ ดอยจอมกิตติ พระฤาษีผู้น้องรองลงมาเก่งในทางเล่นแร่แปรธาตุ
สามารถแปรเปลี่ยนธาตุหรือซัดตะกั่วให้เป็นทองก็ทำได้
ตั้งสำนักอยู่ชื่อว่า ดอยจอมทองพระฤาษีผู้น้องที่สามเก่งในทางอาคมไสยศาสตร์ทั้งหลาย
พำนักอยู่ที่ ดอยจอมแจ้งฝ่ายฤาษีผู้น้องท้ายสุดเก่งในทางเรียกฝนเรียกลมด้วยอำนาจแห่งพลังจิต
สำเร็จกสิณอภิญญา สามารถเดินเหิรบนน้ำหรือเหาะขึ้นไปบนอากาศก็ได้ด้วยอำนาจแห่งวาโยกสิณ
เพ่งลมจนกายเบาใจเบาพาตัวเองลอยละลิ่วไปในอากาศได้
พระฤาษีตนสุดท้ายนี้พำนักอยู่ ณ ดอยจอมมอญ
ซึ่งสมัยก่อนโน้นเรียกกันว่าดอยสามเส้า
เพราะเป็นภูเขาสามลูกใกล้กัน
ตั้งอยู่เป็นลักษณะคล้ายก้อนเส้านั่นเอง ดอยหัวเกวียนหรือดอยสามเกวียนก็มีผู้เรียก
ยุคพระฤาษี
พระฤาษีสี่พี่น้อง
ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างพระเจดีย์สี่มุมเมืองขึ้น ท่านฤาษีทั้งสี่ตนนั้นได้พำนักอยู่
ณ ดอยสี่มุมเมืองของตน อันดอยจอมมอญนั้นฤาษีผู้น้องท้ายสุดเป็นผู้พำนักเล่ากันว่า พระฤาษีผู้พี่ปรุงยาสำหรับชุบชีวิตคนที่ตายแล้วให้ฟื้นคืนมาได้
แม้แต่ ศพ นั้นจะถูกเผาเป็นขี้เถ้าผุยผงก็สามารถชุบชีวิตคืน เมื่อฤาษีผู้พี่สร้างตัวยาขนานแรกสำเร็จแล้ว ก็จะทดลองตัวยาประกอบขนานอื่นๆ
ได้เอาตัวยาชนิดหนึ่งใส่กะทะใหญ่ต้มจนเดือด แล้วได้กล่าวกับลูกศิษย์ว่าถ้าเรากระโจนลงในหม้อยาใบใหญ่ที่เดือดพล่านอยู่นี้
เมื่อเราจมหายละลายไปในพริบตาแล้ว ขอให้ศิษย์ปรุงยาอีกชนิดหนึ่ง หรืออีกขนานหนึ่งที่เตรียมไว้
และตามด้วยอีกขนานหนึ่งและอีกขนานหนึ่งตามสูตร
ให้ผสมได้ส่วนตามที่สอน และเทผสมตามๆ
กันไปให้ได้จังหวะพอดี พร้อมทั้งบริกรรมพระคาถาวิเศษกำกับ โดยให้สังเกตดูสีน้ำยาในกะทะที่เดือดพล่านนั้น
แล้วก็จมหายไปทันทีเมื่อลูกศิษย์เจอประสบการณ์จริงเข้าเช่นนี้ก็ตกใจมาก ลืมขั้นตอนต่างๆ ที่ท่านอาจารย์สอนเสียสิ้น เทยาใส่ผิดๆ
ถูกๆ มิได้เป็นไปตามคำสั่ง พระฤาษีอาจารย์องค์พี่ใหญ่ จึงสิ้นชีพลงในกะทะน้ำยานั้น และกะทะน้ำยาก็คงถูกเททิ้งไปตามวิธีการเท่าที่ศิษย์จะพึงกระทำได้ ซึ่งอาจจะมีพิธีขอขมาท่านอาจารย์
และอื่นๆ ซึ่งตำนานเดิมมิได้กล่าวไว้
กาลต่อมา ชนรุ่นหลังที่มีวิชาอาคม ก็ได้ค้นพบตัวยาของท่านฤาษี
ติดอยู่ในหินเป็นก้อนๆ หรือดูคล้ายหินชนิดหนึ่งต่างพากันเรียกว่า
ยาฤาษีผสม เมื่อค่อยๆทุบให้แตกจะเห็นเป็นกระเปาะผงยาอยู่ภายใน เมื่อชาวบ้านผู้ใดเจ็บป่วยก็นำไปทำน้ำมนต์ดื่มกิน ปรากฏว่ามีคุณวิเศษรักษาคนป่วยได้อย่างปาฏิหาริย์
(ผงยาภายในกระเปาะนี้เป็นผงยาที่มีสีขาวก็มี
และมีสีเหลือง, สีม่วง,
สีน้ำตาล, สีแดงก็มี
แต่ละก้อนก็มีสีไม่เหมือนกัน)
ตั้งเมืองใหม่และสร้างวัด
ครั้งเมื่อฤาษีอีกสามพี่น้องที่เหลือต่างก็มรณภาพลงไปตามกาลเวลา
เมื่อกาลล่วงผ่านไปได้นับหลายร้อยปี
ก็ยังความรกร้างทรุดโทรมแก่พระธาตุเจดีย์ทั้งสี่มุมเมือง ตามกฏธรรมดาแห่งโลกธรรมปี
พุทธศักราช 1316 สมัยอาณาจักรโยนกนาคนครสิงหนวัต
(เชียงแสน)
ขยายอาณาเขตมาถึงแม่สะเรียงให้เป็นเมืองชายแดนของอาณาจักรยวน (หรือโยนก)
มาช้านาน จนในยุคต่อมาเจดีย์พระธาตุจอมมอญก็ได้ถูกบูรณะขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา
กษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่
องค์ที่ 7 ราชวงศ์มังราย ซึ่งสืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้ากือนา พระราชบิดาซึ่งมีพระราชดำริให้สร้างนครเชียงใหม่ตะวันตก
(คือจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน)
จึงมีรับสั่งให้เจ้าราชภาคินัย
ยกไพร่พลช้างม้าลงมาสร้างเมืองแม่ฮ่องสอน ขุนยวม ปาย
และเมืองยวม มีอาณาเขตกว้างขวางมากจึงได้ให้เกณฑ์ผู้คนให้ย้ายจากตัวนครเชียงใหม่และหัวเมืองรอบนอกให้อพยพครอบครัวลงมาอาศัยและประกอบอาชีพทำมาหากินอยู่ที่เมืองแม่ฮ่องสอนตลอดจนเมืองแม่สะเรียงมากยิ่งขึ้น
จากนั้นเจ้าเมืองและผู้ทรงคุณวุฒิความรู้ต่างก็ได้ปรึกษากันว่า
เราควรบูรณะพระธาตุเจดีย์ไว้ไหว้สักการะบูชากันพร้อมทั้งสร้างวัดไว้เป็นที่พำนักจำวัดของพระภิกษุสามเณร
ซึ่งในขณะนั้นพระธาตุสี่มุมเมืองจึงได้รับการบูรณะซ่อมแซมเพื่อให้วัฒนาถาวรสืบไป
ด้วยเหตุดังนี้ พระธาตุจอมมอญ
จึงมีประวัติว่าเคยได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา โดยพระเจ้าแสนเมืองมามีรับสั่งให้มหาอุปราชนามว่า
เจ้าแสนคำเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างต่อเติมของเดิมที่พระฤาษีได้สร้างไว้แต่กาลก่อนและให้สร้างวัดขึ้นด้วย
เมื่อเจ้าแสนคำได้รับพระราชโอการแล้วพระองค์ก็ยกไพร่พลมาสร้างวัดพระธาตุจอมมอญขึ้นเมื่อประมาณปี
พุทธศักราช 1935
ซึ่งพระเจ้าแสนเมืองมาพระองค์ได้สวรรคตลงก่อน
กาลนั้นพระยาสามฝั่งแกน
ได้ขึ้นครองราชย์แทนซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาที่เจ้าแสนคำกำลังก่อสร้างวัดพระธาตุจอมมอญ
ต่อมาประมาณปีพุทธศักราช 2143
ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้กวาดต้อนรี้พลพม่า
ไทยใหญ่ มอญ
เม็ง กระเหรี่ยง ได้มาตั้งรกรากอยู่ใกล้วัดเก่าเรียกว่าวังดิน
มีพระราชดำริให้บูรณะเจดีย์พระธาตุจอมมอญอันมีพระยาเกียรติพระยาราม
ซึ่งเป็นชาวมอญเป็นผู้ดูแลการก่อสร้างบูรณะซ่อมแซมจนแล้วเสร็จ เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระพี่นางสุพรรณกัลยา อนุมานว่า
เจดีย์พระธาตุจอมมอญ
ที่ได้ชื่อว่าพระธาตุจอมมอญจะด้วยเหตุที่พระยาเกียรติ พระยาราม มีเชี้อสายแห่งมอญ
เป็นผู้ควบคุมดูแลการบูรณะซ่อมแซมในขณะนั้น
เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ จึงได้ให้นามว่า
พระธาตุจอมมอญ
กาลต่อมา
เจดีย์พระธาตุจอมมอญ และอาราม เสนาสนะ และกู่เจ้าแสนคำ
(เจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าแสนคำที่เคยสร้างวัดมาก่อน)
ก็ชำรุดทรุดโทรมคงเหลือแต่ซากปลักหักพังไปตามกาลเวลาและด้วยถูกน้ำป่าไหลหลากมาเชี่ยวกรากท่วมวัด
ที่กู่เจ้าแสนคำนั้นได้มีการฝังสมบัติและมีลายแทง ปรากฏว่าลายแทงได้ถูกหัวขโมยพบเข้าแล้วมาขุดเอาของมีค่าไปหมด ที่เจดีย์พระธาตุบนเขาก็เห็นแต่ซากมีลักษณะเป็นคลุมคล้ายปลักควาย
มีหัวขโมยได้ขึ้นไปลักขุดสมบัติเช่นกันแต่มีเหตุต้องหนีกระเจิดกระเจิงกันไป
ด้วยมีสุนัขในหมู่บ้านเป็นฝูงซึ่งอยู่ห่างไกลกันเป็นกิโลเมตรหนทางก็เป็นป่าเขามืดทึบ
บรรดาสุนัขฝูงนั้นเหมือนจะรู้เหตุร้ายได้เห่าหอนพากันวิ่งจากบ้านเข้าป่าขึ้นไปถึงบนเขาไล่กัดหัวขโมยวิ่งหนีกันไป
หัวซุกหัวซุน
ชาวบ้านก็แตกตื่นไล่ตามฝูงสุนัขไปจนหัวขโมยไม่กล้ามาขุดสมบัติที่ฐานพระเจดีย์เก่าบนเขาอีกเลย
สร้างพระเจดีย์
เจดีย์พระธาตุสี่มุมเมืองนี้
วันดีคืนดีจะปรากฏมีแสงสว่างคล้ายลูกไฟกลมๆ
ใหญ่เท่าลูกมะพร้าวเสด็จลอยไปมาหาสู่กัน
กล่าวกันว่าเป็นพระธาตุเสด็จ
มีชาวบ้านมองเห็นกันอยู่เสมอจึงคิดว่าชะรอยบรรดาเทพเทวาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ทั้งหลาย
ที่ปกปักรักษาพระพุทธศาสนาอยากจะให้สร้างพระเจดีย์ครอบองค์เก่าไว้ จึงได้ปรึกษาหารือกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นมา
ในปี พุทธศักราช 2457
ตรงกับเจ้าคณะอำเภอองค์แรกของแม่สะเรียง
ชื่อท่านพระครูอนุสรศาสนกิจ (ครูบาก๋า)
วัดกิตติวงค์
และตรงกับสมัยนายอำเภอคนที่ 3 มีนามว่า
ร.อ.อ. หลวงสุรัตนาราชกิจ
(จำปา ลาวนานนท์) (พ.ศ.
2454 -2462)
และตรงกับการสร้างวัดจอมแจ้งหนึ่งในบรรดาเจดีย์พระธาตุสี่มุมเมืองด้วย
นับเป็นยุคที่สี่ของการบูรณะเจดีย์พระธาตุจอมมอญ ด้วยแรงศรัทธาของชาวอำเภอแม่สะเรียง นำโดยพ่อหม่อนจอนุ นางโยแฮ
พิกุล บิดาของของพ่อหลวงคำแปง พิกุล ชาวบ้านกะเหรี่ยงพะปลอ (พะปลอ
เป็นชื่อของกะเหรี่ยงที่อพยพมาเป็นคนแรกมาตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้วัดนี้กาลต่อมาจึงเพี้ยนมาเป็น
พะมอลอ ใช้เป็นชื่อหมู่บ้านว่า
บ้านพะมอลอ มาจนถึงทุกวันนี้) ในการบูรณะเจดีย์พระธาตุจอมมอญครั้งนี้ มีครูบาติ๊บ
อภิวํโส วัดชัยลาภ (วัดป่าหนาด
ชื่อเดิมของวัด) เจ้าอาวาสองค์ที่
3 เป็นประธานสร้างเจดีย์ครอบองค์เก่า
เมื่อได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นมาแล้วยังสร้างศาลาบำเพ็ญบุญบนเขาอีกหนึ่งหลัง ข้างล่างเขาหนึ่งหลัง แต่หามีพระภิกษุสงฆ์มาอยู่จำพรรษาไม่ ด้วยเป็นป่ารกชัฎน่าสะพรึงกลัว กล่าวกันว่ามีผีดุไม่มีใครกล้ามาอยู่จึงเป็นวัดร้างเรื่อยมา ทางด้านหลังวัดยังมีถ้ำอยู่แห่งหนึ่งภายในถ้ำนั้นยังมีถ้วยโถโอชามกระเบื้องบ้างถ้วยชามดินเผาบ้างมีอยู่มากมาย เมื่อชาวบ้านมีงานก็ไปขอยืมจากเจ้าถ้ำเจ้าป่าเจ้าเขาเอาไปใช้แล้วก็เอามาคืนไว้อย่างเก่า นานไปเมื่อเอาไปแล้วไม่ยอมเอามาคืนจะไปเอามาอีกก็หาปากถ้ำไม่เจอถูกปิดไปหมดนับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เห็นเป็นถ้ำอีกเลย กล่าวกันว่าในถ้ำยังมีพระพุทธรูป
มีฆ้องใหญ่ใบหนึ่ง
ถ้าตีแล้วเสียงดังกระหึ่มไปหมด
ดังไปถึงหมู่บ้านเมื่อถ้ำถูกปิดแล้วถ้าวันไหนคืนไหนได้ยินเสียงฆ้องดังขึ้น
ก็จะมีคนในหมู่บ้านล้มหายตายจากอยู่เสมอเป็นสัญญาณมรณะของผู้คน แต่มาถึงปัจจุบันไม่เคยได้ยินเสียงฆ้องเลยเป็นเพราะบ้านเมืองเจริญขึ้นมีเสียงรบกวนทั่วทิศก็ว่าได้
เจ้าอาวาสองค์แรก
กาลต่อมา ถึงปีพุทธศักราช
2525 นับว่าเป็นยุคที่การติดต่อคมนาคมดีขึ้ตามลำดับ ได้มีพระธุดงค์องค์หนึ่งมาปักกลดอยู่บนศาลายอดเขาและเป็นเวลาใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว ชาวบ้านก็ดีใจว่าจะมีพระมาอยู่จำพรรษาจึงอาราธนานิมนต์ท่านอยู่จำพรรษา ท่านก็มิได้รับปากว่าจะมาได้ต้องให้หลวงปู่อนุญาตก่อนจึงจะมาได้
ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปุ่ครูบาพรหมา
พฺรหมจกฺโก ( พระสุพรหมยานเถระ)
วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูล ชื่อ พระอาจารย์สวัสดิ์
นริสฺสโร
เมื่อท่านเดินทางกลับวัดพระพุทธบาทตากผ้าไปแล้ว
ไม่นาน
ชาวบ้านก็พากันไปอาราธนานิมนต์และขออนุญาตจากหลวงปู่ให้มาอยู่จำพรรษา
หลวงปู่ท่านไม่อยากให้มาเท่าใดนักด้วยพรรษายังน้อยแต่ชาวบ้านเขามีศรัทธาจริง
ประกอบกับไม่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาเลยและเคยเป็นสถานที่ที่หลวงปู่เคยธุดงค์ไปปลักกลดอยู่
ในสมัยก่อนนานมาแล้วด้วย
ท่านจึงอนุญาตให้พระอาจารย์สวัสดิ์
ไปอยู่สักหนึ่งพรรษา
จากนั้นท่านพระอาจารย์สวัสดิ์
ก็ได้มาอยู่จำพรรษาในปี พุทธศักราช
2525 มาอยู่ด้วยกัน 2 รูป
กับพระอาจารย์พิมล ชาตวีโร
จากนั้นก็มีหลวงพ่อตาคำ สํวโร
ได้เดินทางมาอยู่จำพรรษา ในปีต่อๆ
มาก็ได้ทั้งพระภิกษุสามเณร ญาติโยม
อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายร่วมแรงร่วมใจกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้างพระธาตุจอมมอญ
จนกระทั้งได้ขออนุญาตไปยังกรมการศาสนายกวัดร้างขึ้นเป็นวัดถูกต้องตามกฏหมาย
ทางกรมการศาสนาได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นวัด
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม
พุทธศักราช 2542
ได้แต่งตั้งให้พระอธิการสวัสดิ์ นริสฺสโร
เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก เมื่อวันที่
1 เมษายน พุทธศักราช
2543
และวัดพระธาตุจอมมอญได้รับการคัดเลือกให้เป็นอุทยานการศึกษา
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม
พุทธศักราช 2543
วัดพระธาตุจอมมอญ
นับว่าได้ทำการบูรณะยกฐานะขึ้นเป็นวัดได้สำเร็จหลังสุดในบรรดาพระธาตุสี่มุมเมือง ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองประชาชนชาวแม่สะเรียงได้รู้จักและศึกษาพระธรรมคำสอนทั้งฝ่ายหินยหรือเถรวาทและฝ่ายมหายานหรือมหาสังฆิกวาท
ซึ่งเผยแผ่จากอินเดียแลจีนผืนแผ่นดินใหญ่ ด้วยทางวัดมีจิตใจกว้างขวางเผยแผ่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง
ในพระพุทธศาสนาทั้งในไทย จีน
และอินเดีย คงจะสมกับคำพยากรณ์ของคนโบราณรุ่นปู่
ย่า ตาทวด ด้เคยกล่าวกันต่อๆ มาว่า ต่อไปภายภาคหน้าเกี่ยวกับพระธาตุสี่มุมเมืองนี้
เมื่อใดได้สร้างเป็นสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
อำเภอแม่สะเรียงจะเจริญรุ่งเรืองที่สุด
โดยได้กล่าวเป็นปริศนาพยากรณ์ไว้ว่าจอมมอญมาตอนมติมาต้องที่นี่แล้วมาแจ้งที่นี่
หมายความว่า พระธาตุจอมมอญ
จะมาบูรณะปฏิสังขรณ์ทีหลังเขาหมด หลังจากบูรณะพระธาตุจอมกิตติมาต้องที่นี่ หมายถึงพระธาตุจอมทองซึ่งต่างก็มองเห็นเล็งตรงกันอยู่
และมาแจ้งที่นี่ หมายถึง พระธาตุจอมแจ้ง
และหมายถึงความสว่างไสวความเจริญรุ่งเรืองทั่วอำเภอแม่สะเรียง
ฯ