แม่สามแลบ
เป็นชื่อของหมู่บ้าน
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าแม่น้ำคง อยู่ในเขตตำบลสบเมย
ห่างจากอำเภอ สบเมย ประมาณ
62
กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 1194 เป็นแหล่งที่
นักท่องเที่ยว นิยมไปล่องเรือ ตามลำน้ำสาละวิน ซึ่งมีลักษณะเป็นหุบเขาสูงชัน
ฝั่งตรงกันข้ามเป็นเขตสหภาพพม่า บางช่วงมีหาดทรายขาวสะอาด ช่วงที่นิยมล่อง
คือช่วงแม่สามแลบถึงสบเมย เป็นจุดที่แม่น้ำเมย ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน
และช่วงแม่สามแลบ ถึงอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
บ้านแม่สามแลบ
มีชื่อเรียกตามภาษากะเหรี่ยงว่า ซอเลอะท่า
ซึ่งเป็นชื่อลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ก่อตั้งเมื่อปี 2504 มีนายละหม่อง (
เสียชีวิตแล้ว ) กับนางพอช่า ( ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ ) หลบหนีภัยสงครามจากประเทศพม่าเข้ามาบุกเบิกเป็นที่พักพิง
แรกเริ่มมีบ้านเพียงไม่กี่หลังคา
แต่หลังจากการค้าขายชายแดนขยายตัวมากขึ้น
รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ในสมัยนายพล อูนุ
ทำให้ชาวบ้านจากฝั่งพม่าอพยพเข้ามาอยู่ที่บ้านแม่สามแลบมากขึ้น
ในช่วงที่แม่สามแลบยังไม่เป็นหมู่บ้านนั้น
การเดินทางเข้าออกพม่ากับไทยไปมากันอย่างอิสระ
มีทั้งคนจากฝั่งไทยไปแต่งงานฝั่งพม่า คนพม่ามาแต่งงานในฝั่งไทย แต่พอมีหมู่บ้าน
มีหน่วยงานราชการเข้ามาจึงรู้กันว่าที่นี้เป็น ชายแดน
ก่อนนั้นบ้านแม่สามแลบอยู่ใน
อ.แม่สะเรียง ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ หมู่ที่1 ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย
มีผู้ใหญ่บ้านรวมกับคนปัจจุบันทั้งหมด 6 คน มีประชากรรวม 1,427 คน ชาติพันธุ์
กะเหรี่ยง ไทใหญ่ และกระเหรี่ยงนับถือศาสนาอิสลาม
โดยเป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านห้วยกองก๊าด
บ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งเรียงรายอยู่ริมฝั่งถนนที่ทอดยาวไปจรดริมฝั่งน้ำ
โดยมีการอยู่อาศัยลักษณะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ช่วงตอนในสุดที่เป็นท่าเรือ
ที่ตั้งของสถานีอนามัย โรงเรียน ที่ทำการอบต.
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านค้าคือกลุ่มคนสัญชาติไทย ถัดมาคือกลุ่มมุสลิม
กลุ่มไทใหญ่และกลุ่มกะเหรี่ยง
ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ราบทำให้การสร้างบ้านของคนที่นี่มีเอกลักษณ์แปลกตา
คือเมื่อมองในระดับสายตาจะเป็นเพียงบ้านขั้นเดียวขนาดกะทัดรัดเรียงชิดติดกัน
แต่มีการต่อเติมลงไปด้านล่างอีก 2-3 ชั้นเลยทีเดียว