ประวัติความเป็นมาของวัด
วัดบวรนิเวศวิหาร
หรือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ
ได้ทรงมีพระดำริโปรดให้สร้างขึ้น แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน
วัดบวรนิเวศวิหาร สร้างขึ้นด้วยศิลปะไทยผสมจีน ภายในพระอุโบสถ
มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่
2 องค์ คือ
พระประธาน อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน
เพชรบุรี และ
พระพุทธชินสีห์
อัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
พิษณุโลก
ถัดจากพระอุโบสถออกไปเป็นเจดีย์กลมขนาดใหญ่ สร้างสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 4 หุ้มกระเบื้องสีทอง ในรัชกาลปัจจุบัน รอบฐานพระเจดีย์มี
ศาลาจีนและซุ้มจีน ถัดออกไปเป็นวิหารเก๋งจีน นอกจากนี้ก็มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือขรัวอินโข่ง
ใต้ฐานพุทธบัลลังก์
พระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้ทรงเคยผนวช ณ วัดนี้เมื่อยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ประทับของสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาเปรียญ ๙
ประโยค แต่ในเวลาเดียวกัน พระองค์ก็ทรงเน้นหนักในด้านจิตภาวนา
โดยได้ทรงฝึกสมาธิจิต ทั้งสมถะและวิปัสสนาตามแนวทางพระป่ามาเป็นระยะเวลานาน
พระองค์ยังได้ทรงรับเลือกให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง)
ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวระหว่างที่ทรงผนวชอยู่ด้วย
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ตั้งของ
มหามกุฏราชวิทยาลัย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1
ตุลาคม พ.ศ. 2436 เป็นสถานศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ทรงประกาศตั้งสภาการศึกษา
มหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพุทธศาสนา
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2488
ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาสงฆ์ระดับมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย หลังจากนั้น
เมื่อปี พ.ศ. 2490 คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายก็ประกาศตั้งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในวัดมหาธาตุ
วัดบวรนิเวศวิหารในปัจจุบัน
ยังเป็นที่พักของพระภิกษุนาคหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายรูป
และยังเป็นสถานที่พำนักระหว่างพระภิกษุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งทรงผนวช
รวมทั้งเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร
ครั้งทรง ผนวชอีกด้วย
พระพุทธชินสีห์
พระประธานในพระอุโบสถคือพระพุทธชินสีห์ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างสมัยพระยาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย
พร้อมๆ กับพระพุทธชินราชที่พิษณุโลกและพระศรีศาสดา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ระหว่างทรงครองวัด ได้โปรดให้อัญเชิญพระศรีศาสดาและพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐสถานที่วัดบวรนิเวศวิหารจนบัดนี้
ระหว่างทรงผนวชและประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้ประติมากรของกรมศิลปากรปั้นหุ่นและสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
โดยทรงเสด็จพระราชดำเนินหล่อพระพุทธรูป วันที่ 5 ธันวาคม 2499
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่าพระพุทธนาราวันตบพิตร
ความสำคัญของวัดบวรนิเวศวิหาร
ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
วัดบวรนิเวศวิหารถือเป็นวัดที่มีความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่สำคัญๆ
หลายอย่างถือกำเนิดขึ้น อาทิ
-
ความพยายามในการปฏิรูปสงฆ์ไทย ซึ่งทำให้เกิดนิกายธรรมยุตขึ้นมา
-
ความพยายามในการก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรก ได้แก่
มหามกุฏราชวิทยาลัย สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
-
ความพยายามในการริเริ่มตรวจชำระคัมภีร์ภาษาบาลี
โดยความริเริ่มของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
-
ความพยายามในการก่อตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกที่คนไทยเป็นเจ้าของ
จนวิวัฒนาการมาเป็น
โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย
ดังในปัจจุบัน
-
ความพยายามในการรื้อฟื้น
มหามกุฏราชวิทยาลัย
โดยมีวัดบวรนิเวศวิหารสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จนประเทศไทย
มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ไว้ผลิต
ศาสนทายาทที่เหมาะสมแก่สมัย
การศึกษาปริยัติธรรมในวัดบวรนิเวศวิหาร
วัดบวรนิเวศวิหารได้ส่งเสริมการศึกษาภาษาบาลี
มาตั้งแต่เริ่มมีวัดนี้ โดยเฉพาะในยุคที่
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงครองวัด กล่าวกันว่าทรงเน้นให้ศึกษาอย่างเข้มงวด จนกระทั่งว่าศิษยานุศิษย์ของพระองค์สามารถสนทนาภาษาบาลีได้เพราะ
ทรงจัดให้มีการเรียนการสอนภาษาบาลีแก่พระภิกษุสามเณรภายในวัดอย่างแตกฉานเพื่อให้สามารถอ่านคัมภีร์พระไตรปิฎก
อรรถกถา ฯลฯ ได้จากต้นฉบับใบลาน
หลังจากนั้น เป็นต้นมา
วัดบวรนิเวศวิหารก็ได้เป็นสดมภ์หลักในการตรวจชำระคัมภีร์ใบลาน
ภาษาบาลีแล้วจัดพิมพ์ออกมาในรูปพระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ฯลฯ
ออกมาเผยแผ่ไปทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็น ผลงานของศิษยานุศิษย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งนั้น
วัดบวรนิเวศวิหาร
มีกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ระหว่างทรงผนวช ใน
ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร เล่ม 1 หน้า 22
ทรงทำนุบำรุงการเรียนพระปริยัติธรรมให้รุ่งเรือง ทรงบอกพระปริยัติธรรมเอง
มีภิกษุสามเณรเป็นศิษย์เข้าแปลในสนามหลวง ได้เป็นเปรียญประโยคสูงถึงประโยค ๙
ก็มีหลายรูป พระสำนักอื่นมาขอเรียนบ้างก็มี
ทรงเป็นหลักอยู่ในการไล่หนังสือพระองค์หนึ่ง ครั้งนั้น พระเปรียญพูดมคธได้คล่อง
มีพระลังกาเข้ามาจึงต้องทรงมีหน้าที่เป็นผู้รับรองในราชการ
มีคณะไว้สำหรับพระลังกาที่วัด
วัดบวรนิเวศวิหารเคยมีชื่อเสียงโด่งดังด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม
มาก สามเณรสา
ปุสสเทวะ ผู้สอบได้เปรียญ ๙ ประโยค ถึง 2 ครั้งก็เคยอยู่วัดนี้
ครั้งแรกเมื่อสอบได้เปรียญ ๙ ประโยค ยังเป็นสามเณรสา
ที่วัดราชาธิวาสวิหาร
ครั้งที่ 2 มาสอบได้เปรียญ ๙ ประโยคอีกครั้ง ที่วัดบวรนิเวศวิหารนี้เอง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ผู้ทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาและภาษาบาลีก็เคยทรงครองวัด บวรนิเวศวิหาร
ระหว่างทรงครองวัดในฐานะเจ้าอาวาส พระองค์ก็ทรงจัดพิมพ์ตำรับตำราภาษาบาลีมากมาย
ระยะหลัง มีประชาชน
จำนวนมากมีศรัทธาเลื่อมใสเข้ามาบวชอยู่ในวัดบวรนิเวศวิหารระยะสั้นตลอดทั้งปี
วัดบวรนิเวศวิหารรับภาระในการจัดอบรมหลักสูตร นวกะระยะสั้นเสียเป็นส่วนมาก
เสนาสนะจึงค่อนข้างจำกัด ในที่สุด
วัดบวรนิเวศวิหารจึงหันมาเน้นให้การศึกษาอบรมแก่ผู้บวช ระยะสั้น
ทั้งในพรรษาและนอกพรรษา ปริมาณผู้สอบเปรียญบาลีสูงๆ ได้จึงลดลงมาก
แต่ในยุคสมัยที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
รูปปัจจุบันทรงครองวัด พระองค์ได้ทรงแต่งตั้ง
พระพรหมมุนี (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.๙)
เป็นผู้อำนวยการสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารเพื่อดูแลการศึกษาพระ ปริยัติธรรม
และก็มีพระภิกษุสามเณรสอบเปรียญธรรมได้ทุกๆ ปีไม่เคยขาด
โดยมีวัดธรรมยุตอีกประมาณ ๙ วัดขึ้นกับสำนัก เรียนวัดบวรนิเวศวิหาร อาทิ
วัดดวงแข,
วัดเขมาภิรตาราม, วัดบวรมงคล,
วัดตรีทศเทพ,
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม,
วัดบุรณศิริมาตยาราม
นอกจากนั้น ในยุคสมัยของพระองค์ ยังมีผู้สอบเปรียญ ๙
ประโยคได้ขณะยังเป็นสามเณรและได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็น
นาคหลวง อุปสมบทในพระบรมราชานุเคราะห์ ณ
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง 2 รูป คือ สามเณร
ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์
และสามเณรฉัตรชัย มูลสาร โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์และจัดงานมุทิตาเนื่องในวันประสูติของพระองค์แก่สามเณรทั้งสองรูป
วัดบวรนิเวศวิหารกับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
วัดบวรนิเวศวิหารได้เป็นที่มั่นที่สำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งปริยัติและปฏิบัติ
ในฝ่ายปฏิบัตินั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสร้างวัด
อีกวัดหนึ่งคู่กับวัดบวรนิเวศวิหารคือวัดบรมนิวาส
ไว้เป็นสถานที่สำหรับฝึกวิปัสสนาจารย์โดยเฉพาะในกรณีที่ศิษยานุศิษย์ของพระองค์ประสงค์จะฝึก
ต่อมา วัดบรมนิวาสแห่งนี้ยังกลายเป็นวัดที่พระวิปัสสนาจารย์รุ่นแรกๆ อาทิ
หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ได้มาพำนักอาศัยและศึกษาเพิ่มเติมจนกลายเป็น
พระวิปัสสนาจารย์สายวัดป่าที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้
พระป่าสายธรรมยุตจึงยกย่องพระจอมเกล้าฯ ว่าเป็นผู้วางรากฐานการปฏิบัติสาย
พระป่าไว้อย่างมั่นคง เพราะทรงเน้นศิษยานุศิษย์ของพระองค์ที่อยู่วัดบวรนิเวศวิหารและอยู่ที่วัดบรมนิวาสให้มีศีลสิกขาอย่างเคร่งครัดก่อนจะลงมือ
ปฏิบัติ หมายความว่ามีความรู้ปริยัติที่ถูกต้องก่อนลงมือปฏิบัตินั่นเอง
ส่วนฝ่ายปริยัตินั้น วัดบวรนิเวศวิหารก็มีการอบรมทั้งพระนวกะและผู้ประสงค์จะ
ศึกษาภาษาบาลีระยะยาวอยู่ทุกๆ ปี
ปัจจุบันนี้ วัดบวรนิเวศวิหารยังขยายการเผยแผ่ไปยังต่างประเทศ
โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชทรงกระตุ้นให้เกิดการแปลคัมภีร์
ทางพระพุทธศาสนาเป็นภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นมากมาย
ทำให้หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษามีเผยแพร่ไปยังต่างประเทศด้วย ตำรับตำราที่พระ
องค์ทรงบุกเบิกให้แปลเป็นภาษาอังกฤษมีจำหน่ายที่
มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์
นอกจากนั้น วัดบวรนิเวศวิหารยังเป็นที่ตั้งสำนักงานของ
มูลนิธิแผ่นดินธรรม
ซึ่งผลิตรายการธรรมะออกเผยแผ่
พุทธธรรม ทางโทรทัศน์ช่อง 5
ทุกวันอาทิตย์ เวลา 06.30-7.00 น. และทุกวันพฤหัสบดี ทางโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง
5 เวลา 14.00-14.30 น. ทั้งยังเป็นสำนักงานที่ตั้งของ
ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมและพิทักษ์พระพุทธศาสนาอีกด้วย