อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎ
พระราชวังสนามจันทร์ตั้งอยู่ในตัวเมือง ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์
ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ
2
กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 888 ไร่
3 งาน 24 ตารางวา
พระราชวังแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้น ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร
เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2450 โดยหลวงพิทักษ์มานพ (น้อย
ศิลปี) ซึ่งต่อมาเลื่อนยศเป็นพระยาศิลป์ประสิทธิ์ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง
พระที่นั่งเมื่อแรกสร้างมีเพียง 2 พระที่นั่ง ได้แก่
พระที่นั่งพิมานปฐม และพระที่นั่งอภิรมย์ฤดี และพระราชทานนามตามประกาศลงวันที่
27 สิงหาคม พ.ศ. 2454
และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ทำพิธียกพระมหาเศวตฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นรัตนสิงหาสน์
ภายในพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน
พ.ศ. 2466
การสร้างพระราชวังแห่งนี้มีมูลเหตุจูงใจมาจากการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ซึ่งทำให้พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยเมืองนครปฐมเป็นอย่างยิ่งทรงเห็นว่าเป็นเมืองที่เหมาะสมสำหรับประทับพักผ่อนเนื่องจากมีภูมิประเทศที่งดงาม
ร่มเย็น นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชดำริที่ลึกซึ้ง นั่นก็คือ
ทรงเห็นว่านครปฐมเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสำหรับต้านทานข้าศึกซึ่งจะยกเข้ามาทางน้ำได้อย่างดี
ด้วยทรงจดจำเหตุการณ์ เมื่อ ร.ศ.112
ที่ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาปิดปากอ่าวไทยได้
และไม่ต้องการที่จะให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพดังกล่าว จึงตั้งพระทัยที่จะสร้างพระราชวังสนามจันทร์ไว้สำหรับเป็นเมืองหลวงที่สองหากประเทศชาติประสบปัญหาวิกฤติพระราชวังสนามจันทร์
มีอาณาเขตกว้างขวางประกอบด้วยสนามใหญ่อยู่กลาง มีถนนโอบเป็นวงโดยรอบ
และมีคูน้ำล้อมอยู่ชั้นนอก ส่วนพระที่นั่งต่าง ๆ
นั้นรวมกันอยู่ส่วนกลางของพระราชวังเท่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่
พระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวังสนามจันทร์
เป็นตึก
2 ชั้นแบบตะวันตกตัวอาคารก่ออิฐถือปูน
ทรงใช้เป็นที่ประทับโดยเฉพาะก่อนเสด็จฯขึ้นครองราชย์ เป็นที่ทรงพระอักษร
ที่เสด็จออกขุนนาง
ที่รับรองพระราชอาคันตุกะและออกให้ราษฎรเข้าเฝ้ามากกว่าพระที่นั่งอื่นๆ
ภายในพระที่นั่งมีห้องต่างๆ อาทิ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องเสวย
ห้องภูษา ฯลฯ
มีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาอยู่องค์หนึ่งและมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังฝีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร(จันทร์
จิตรกร) งดงามน่าชม และที่พระที่นั่งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ประทับทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ขององค์พระปฐมเจดีย์บนแท่นไม้สักมีขนาด
2 เมตร ชื่อว่า "พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย์"
ขณะนี้ทางการได้รื้อนำไปตั้งไว้หน้าพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ส่วนพระที่นั่งพิมานปฐมนั้น
ปัจจุบันใช้เป็นส่วนหนึ่งของศาลากลางจังหวัดนครปฐมพระที่นั่งอภิรมย์ฤดี
เป็นตึก 2 ชั้น
อยู่ด้านใต้ของพระที่นั่งพิมานปฐม
ขณะนี้ใช้เป็นที่ทำการของศาลากลางจังหวัดนครปฐม
พระที่นั่งวัชรีรมยา
เป็นตึก 2 ชั้น
สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทย
หลังคาซ้อน มียอดปราสาทมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีงดงาม มีช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้ง
หางหงส์ครบถ้วน
พระที่นั่งองค์นี้เคยใช้เป็นที่บรรทมเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของศาลากลางจังหวัด
พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์
อยู่ถัดจากพระที่นั่งวัชรีรมยาโดยมีโถงใหญ่และหลังคาเชื่อมต่อกัน เป็นศาลาโถง
ทรงไทย ยกสูงจากพื้นดินประมาณหนึ่งเมตรและมีอัฒจันทร์ลงสองข้าง
หน้าบันอยู่ทางทิศเหนือเป็นรูปจำหลักท้าวอมรินทราธิราชประทานพรประทับอยู่ในพิมานปราสาทสามยอด
พระหัตถ์ขวาทรงวชิระ
พระหัตถ์ซ้ายประทานพรแวดล้อมด้วยบริวารประกอบด้วยเทวดาและมนุษย์ห้าหมู่
พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ออกงานสโมสรสันนิบาต
เป็นท้องพระโรงเวลาเสด็จออกขุนนาง
เป็นที่ประชุมข้าราชการและกองเสือป่า
และใช้เป็นโรงละครสำหรับแสดงโขนอีกด้วย จึงมีชื่อเรียกติดปากชาวบ้านว่า
"โรงโขน" พระที่นั่งมีลักษณะพิเศษ คือ
ตัวแสดงจะออกมาปรากฏกายภายนอกฉากบนเฉลียงถึง 3 ด้าน
มิใช่แสดงอยู่เพียงบนเวที โรงละครที่มีลักษณะดังกล่าวนี้มีอีก 2
แห่งคือ
โรงละครสวนมิสกวันและหอประชุมโรงเรียนวชิราวุธ ปัจจุบันพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ใช้เป็นหอประชุมของจังหวัดนครปฐม
หรือใช้ในพิธีต่าง ๆ ของทางราชการ
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามจันทร์ เป็นพระตำหนัก 2
ชั้นคล้ายปราสาทขนาดย่อมสีไข่ไก่ หลังคามุงกระเบื้องสีแดง
สถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองส์ของฝรั่งเศสกับอาคารแบบฮาร์ฟทิมเบอร์ของอังกฤษ
สร้างแบบตะวันตกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักนี้ราวปี พ.ศ. 2451
โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร
เป็นสถาปนิกออกแบบ ชั้นบนมีห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม และห้องสรง
ชั้นล่างทางทิศตะวันตกเป็นห้องรอเฝ้าฯ
และเคยใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวในการออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตรายสัปดาห์
พระตำหนักหลังนี้ใช้เคยเป็นที่ประทับเมื่อเวลามีการซ้อมรบเสือป่า ณ
พระราชวังสนามจันทร์และทรงใช้เป็นที่ประทับตลอดช่วงปลายรัชกาลเมื่อเสด็จพระราชวังสนามจันทร์
พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
เป็นเรือนไม้สักทอง 2
ชั้นแบบตะวันตกทาสีแดง ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค
พระตำหนักองค์นี้สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
เชื่อมติดต่อถึงกันด้วยฉนวนทางเดินทอดยาวลักษณะเป็นสะพาน หลังคามุงกระเบื้อง
ติดหน้าต่างกระจกตลอดความยาวสองด้าน
จากชั้นบนด้านหลังพระตำหนักชาลีฯ
ข้ามคูน้ำมาเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีฯ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างพระตำหนักนี้ราวปี พ.ศ. 2459
โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ
พระตำหนักทั้งสองหลังสร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากบทละครเรื่อง
My friend Jarlet ของ Arnold Golsworthy
และ E.B. Norman
ซึ่งทรงแปลบทละครเรื่องนี้เป็นภาษาไทยชื่อว่า "มิตรแท้"
โดยทรงนำชื่อตัวละครในเรื่องมาเป็นชื่อของพระตำหนัก
พระตำหนักทับแก้ว เป็นตึกหลังเล็กซึ่งเคยเป็นที่ประทับในฤดูหนาว
ปัจจุบันได้ปรับปรุง และตกแต่งสวยงาม ใช้เป็นบ้านพักของปลัดจังหวัดนครปฐม
ภายในอาคารยังมีเตาผิงสำหรับให้ความอบอุ่น
และมีภาพเขียนขาวดำของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวบนแผ่นหินอ่อนสีขาวที่ผนังห้อง
อนึ่งที่ดินบริเวณเบื้องหลังทับแก้วประมาณ
450
ไร่ ได้กลายเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร
พระตำหนักทับขวัญ
เป็นเรือนไทยภาคกลางที่สมบูรณ์แบบ
สร้างด้วยไม้สักทองใช้วิธีเข้าไม้ตามแบบฉบับบ้านไทยโบราณ
ฝาเรือนทำเป็นฝาปะกนกรอบลูกฟัก เชิงชายและไม้ค้ำยันสลักเสลาสวยงาม
หลังคาเดิมมุงจาก หลบหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา
นายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างคือ พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ (น้อย
ศิลปี) พระตำหนักทับขวัญประกอบด้วยกลุ่มเรือน 8
หลัง ได้แก่ เรือนใหญ่ 4 หลัง
เรือนเล็ก 4 หลัง สร้างให้หันหน้าเข้าหากัน 4
ทิศบนชานรูปสี่เหลี่ยม เรือนหลังใหญ่เป็นหอนอน 2
หอ (ห้องบรรทมเป็นหอนอนที่อยู่ทางทิศใต้)
อีก 2 หลังเป็นเรือนโถงและเรือนครัวซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน
ส่วนเรือนเล็กอีก 4 หลังนั้นตั้งอยู่ตรงมุม 4
มุมๆ ละ 1 หลัง ได้แก่ หอนก 2
หลัง เรือนคนใช้และเรือนเก็บของ
เรือนทุกหลังมีชานเรือนเชื่อมกันโดยตลอด
บริเวณกลางชานเรือนปลูกต้นจันทน์แผ่กิ่งก้านไว้ให้ร่มเงา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อรักษาศิลปะบ้านไทยแบบโบราณและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่
เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2454
พระองค์ได้ประทับแรม ณ พระตำหนักองค์นี้เป็นเวลา 1
คืน และเมื่อมีการซ้อมรับเสือป่า
พระตำหนักองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่าราบหนักรักษาพระองค์
เทวาลัยคเณศวร์
หรือเรียกว่า ศาลพระพิฆเนศวร
ตั้งอยู่กลางสนามหญ้าใหญ่ของพระราชวังสนามจันทร์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างศาลเทพารักษ์ขึ้นสำหรับพระราชวังสนามจันทร์
ประดิษฐานพระพิฆเนศวร์ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาการ
เพื่อความเป็นสิริมงคลและเมื่อมองจากพระที่นั่งพิมานปฐมจะเห็นพระปฐมเจดีย์
เทวาลัยคเณศวร์และพระที่นั่งพิมานปฐมอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน
ศาลนี้เป็นศูนย์กลางของพระราชวังสนามจันทร์มีผู้ศรัทธานับถือกันมาก
จนเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของพระราชวังสนามจันทร์
อนุสาวรีย์ย่าเหล เป็นรูปหล่อด้วยโลหะขนาดเท่าตัวจริงของสุนัข
ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง
ย่าเหลเป็นสุนัขพันธุ์ทางหางเป็นพวง สีขาวด่างดำ หูตก
เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม เป็นสุนัขของหลวงชัยอาญา (โพธิ์ เคหะนันท์)
ซึ่งเป็นพะทำมะรง (ผู้ควบคุมนักโทษ)
พระองค์ทรงพบเข้าเมื่อครั้งเสด็จฯตรวจเรือนจำ จึงนับว่าเป็นโชคของย่าเหลที่ทรงพอพระราชหฤทัยและทรงนำย่าเหลมาเลี้ยงไว้ในราชสำนัก
ด้วยความที่ย่าเหลเป็นสุนัขที่เฉลียวฉลาด
และจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านจนเป็นที่โปรดปรานมาก
เป็นเหตุให้มีผู้อิจฉาริษยาและลอบยิงย่าเหลตายในที่สุด
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโศกเศร้าอาลัยย่าเหลมาก
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หล่อรูปย่าเหลด้วยทองแดงตั้งไว้หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
และทรงพระราชนิพนธ์กลอนไว้อาลัยย่าเหลติดไว้ที่แท่นใต้รูปหล่อนั้นด้วย
เรือนพระธเนศวร ในสมัยก่อนเคยใช้เป็นบ้านพักอาศัยของเจ้าพระยาบุรุษรัตนราชวัลลภ
ภายในจัดแสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและพระบรมวงศานุวงศ์
มีห้องแสดงเรือกอและสิ่งของซึ่งนำมาจากหลายที่ เช่น
จากพระตำหนักสวนจิตรลดาหรือพระราชวังบางปะอินนอกจากนี้
ภายในพระราชวังสนามจันทร์ยังมีบ้านพักข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้า
และฝ่ายในที่ตามเสด็จ บ้านพักเหล่านี้ บางหลังก็ชำรุดทรุดโทรม
แต่หลายหลังยังอยู่ในสภาพดีที่เห็นได้ก็คือ
บ้านพักเจ้าพระยารามราฆพ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กซึ่งครั้งนั้นเรียกว่า
"ทับเจริญ"
ปัจจุบันนี้ได้ใช้เป็นสถาบันวัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตกพระราชวังสนามจันทร์
เป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่
6
ทรงโปรดมากเป็นพิเศษ จะเห็นได้จากการที่เสด็จฯ
แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังแห่งนี้อยู่เนืองๆ
โดยเสด็จฯแปรพระราชฐานให้ตรงกับฤดูการซ้อมรบของพวกเสือป่า
พระองค์จึงทรงถือโอกาสออกตรวจตรา
และบัญชาการซ้อมรบของพวกเสือป่าด้วยพระองค์เองเสมอ
ปัจจุบันก็ยังมีอาคารซึ่งปลูกสร้างขึ้นเพื่อกิจการของเสือป่าเหลืออยู่ให้เห็น
เช่น อาคารที่พักของเสือป่าม้าหลวง และเสือป่าพรานหลวงกับโรงพยาบาลเสือป่า
เป็นต้น