www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
จังหวัดชัยนาท
จังหวัดชัยนาทตั้งอยู่ในภาคกลางตอนบน มีลำน้ำสามสายไหลผ่านคือ ลำน้ำเจ้าพระยา ลำน้ำท่าจีน และ
ลำน้ำน้อยไหลผ่านตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดนครสวรรค์จังหวัดอุทัยธานี ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดสิงห์บุรี ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดสิงห์บุรี และทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดสุพรรณบุรี
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มเกือบทั้งหมด มีลักษณะเป็นที่ราบจนถึงพื้นที่ลอนลาดมีเนินเขาเล็ก ๆ ขนาดกว้าวประมาณ ๑ - ๓ กิโลเมตร กระจายอยู่ทั่วไป ที่สำคัญได้แก่ เขาธรรมามูล ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดชัยนาท เขาพลอย เขาขยาย เขาท่าพระ เขากระดี่ เขาใหญ่ เขารัก เขาดิน เขาหลัก เขาไก่ห้อย เขาสารพัดสี เขาราวเทียน เขาสรรพยา เขาแก้ว เขาพนมเกิน และเขาน้อย เป็นต้น
ป่าไม้ในเขตจังหวัดชัยนาทเหลืออยู่น้อยมาก จากข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ มีป่าไม้อยู่เพียงประมาณ ๖๑ ตารางกิโเมตร หรือประมาณ ๓๘,๐๐๐ ไร่ มีป่าสงวนอยู่๒ แห่ง ส่วนใหญ่มีสภาพเสื่อมโทรม
- ป่าสงวนแห่งชาติเขาหลัก - เขาช่องลม มีพื้นที่ประมาณ ๕๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓๔,๔๐๐ ไร่ อยู่ในอำเภอวัดสิงห์และกิ่งอำเภอหนองมะโมง
-
ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาราวเทียน มีพื้นที่ประมาณ ๗๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๔๔,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอหันคาและกิ่งอำเภอเนินขาม
นอกจากนี้ยังมีป่าไม้ขึ้นอยู่ประปรายในส่วนที่เป็นลาดเขาสูง เช่น ในเขตอำเภอหันคามีเขาดู่ เขาราบ เขากล่ำ เขาน้อยและเขาสารพัดดี มีป่าเต็งรังขึ้นอยู่ทั่วไป ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีสภาพป่าบริเวณเขาธรรมามูล และเขากระดี่ ในเขตำอเภอมโนรมย์ที่เขาแหลมมีไม้ขนาดเล็ก ส่วนพื้นที่ล่างเป็นไม้ไผ่รวก และไม้เลื้อยทั่วไป
แหล่งน้ำผิวดินที่สำคัณได้แก่ลำน้ำ ๓ สายคือ
-
ลำน้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านอำเภอมโนรมย์ อำเภอวัดสิงห์ อำเภอเมือง ฯ และอำเภอสรรพยา มีความยาวช่วงนี้ประมาณ ๗๔ กิโลเมตร
-
ลำน้ำท่าจีนหรือ
ลำน้ำมะขามเฒ่า ไหลผ่านอำเภอวัดสิงห์ และอำเภอหันคา มีความยาวในช่วงนี้ประมาณ ๗๔ กิโลเมตร
-
ลำน้อยน้อย ไหลผ่านอำเภอเมือง ฯ และอำเภอสรรคบุรี มีความยาวในช่วงนี้ประมาณ ๓๐กิโลเมตร
นอกจากนี้ยังมีบึงและหนองน้ำธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ ๑๕๒ แห่ง เป็นพื้นที่ประมาณ๑๓,๐๐๐ ไร่ ส่วนใหญ่มีสภาพตื้นเขิน ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี มีบึงสำคัญที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ปลาได้แก่
บึงฉวาก บึงละหานบัว บึงประจำรังและ
บึงละหานใหญ่เป็นต้น
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
ในเขตจังหวัดชัยนาท มีร่องรอยแหล่งชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์กระจายอยู่ตามลุ่มน้ำเจ้าพระยาลุ่มน้ำท่าจีน และลุ่มน้ำน้อย จากการขุดค้นพบว่าบริเวณเขาพลอง บ้านเขาพลองตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมือง ฯ ทางด้านทิศตะวันออกของเขาพลอง ซึ่งเป็นป่าละเมาะชายเขาได้พบภาชนะและเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบที่เผาในอุณหภูมิต่ำ ชิ้นส่วนของกำไลหิน ลูกปัดชิ้นส่วนของอาวุธหอกที่ทำด้วยหิน และโลหะ และยังพบโครงกระดูกมนุษย์ที่ฝังไว้อีกหลายแห่งแสดงว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวาราวดี
บ้านเขาขาย อยู่ในเขตตำบลท่าพระ อำเภอเมือง ฯ พื้นที่เป็นป่าละเมาะชายเขา พบเศษภาชนะดินเผาต่าง ๆ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นแหล่งชุมชนโบราณมาก่อน เนื่องจากอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชนโบราณเขาพลอง
บ้านโพธิ์งาม อยู่ในเขตตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ของวัดโพธิงาม ในพื้นที่บริเวณวัด ได้พบกระดูกช้างเป็นจำนวนมาก พบเศษภาชนะดินเผา หอกโลหะและโครงกระดูกมนุษย์ บริเวณฝั่งตรงข้ามกับวัด เป็นพื้นที่ที่เรียกว่าคลองโพมีสระน้ำโบราณเรียกว่าสระกด สภาพพื้นที่เป็นเนินดิน และคูเมือง พอให้เห็นร่องรอยอยู่บ้างเคยพบพระพุทธรูป และศิลปะวัตถุสมัยลพบุรีในบริเวณคลองโพ สระกรด และพื้นที่ใกล้เคียงสันนิษฐานว่า บริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนโบราณ ที่พัฒนาตัวเองมาจนถึงสมัยลพบุรี
เมืองนางเหล็ก อยู่ที่บ้านเขาแหลม ตำบลไร่พัฒนา อำเภอมโนรมย์ ลักษณะเป็นพื้นที่ราบมีแหล่งแร่เหล็กอยู่ทั่วไปพบตะกรันแร่เหล็ก และซากเตาถลุงเหล็ก ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นที่ประมาณ๗๔ ไร่ ยังคงสภาพเมืองโบราณให้เห็นได้ชัด
เมืองนครน้อย อยู่ที่บ้านหัวถนน ตำบลไร่พัฒนา อำเภอมโนรมย์ ตัวเมืองมีขนาดกว้าง ๒๕๐ เมตร ยาว ๓๐๐ เมตร มีร่องรอยการเป็นเมืองโบราณ
เมืองอู่ตะเภา อยู่ที่บ้านอู่ตะเภา ตำบลอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ ติดกับลำน้ำอู่ตะเภา ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูมีพื้นที่ประมาณ ๒,๙๐๐ ไร่ มีคูน้ำกว้าง ๑๕ เมตร คันดินที่เป็นกำแพงเมืองสูง๙ เมตร บนกำแพงบางตอน มีหินก้อนใหญ่อยู่ด้วย ทางด้านตะวันตกของตัวเมืองขนานไปกับลำน้ำอู่ตะเภาบนกำแพงดินด้านตะวันออกมีช่องกำแพงดินกว้าง ๕ เมตร มีผู้เคยพบเสาหินสีเขียวสูงจากพื้นดิน๑ เมตร กว้าง ๕๐ เซ็นติเมตร พื้นที่บริเวณตัวเมืองสูงต่ำไม่เท่ากัน มีร่องรอยสระน้ำปรากฏอยู่บริเวณใกล้เคียงมีซากโบราณสถานอยู่ทั่วไปทำด้วยศิลาแลง และอิฐดินเผา พบเตาถลุงเหล็กหลายแห่งระฆังหิน หินบดยา ลูกปัด กำไลหิน หอกโลหะ โครงกระดูกมนุษย์ฝังอยู่ตามแนวเนินดินทั่วไปชาวบ้านได้ขุดพบเหรียญเงินหลายร้อยเหรียญ ในบริเวณเมืองแห่งนี้ ตัวเหรียญประทับตราพระอาทิตย์ครึ่งดวงตราสังข์ และมีตราอื่น ๆ อีกเล็กน้อย มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ บริเวณนอกกำแพงเมืองอู่ตะเภาทางด้านทิศตะวันออกห่างจากกำแพงเมืองออกไปประมาณ ๕๐๐ เมตร มีซากโบราณสถานก่อด้วยศิลาแลง และอิฐปัจจุบันเหลืออยู่เพียงส่วนที่เป็นฐานและเนินดิน ได้มีการขุดพบชิ้นส่วนธรรมจักรพบร่วมกับเสาแปดเหลี่ยมมีฐานก่อด้วยอิฐ มีลักษณะเป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง๒ เมตร มีการแกะสลักลวดลายที่กงด้านนอกที่ซี่กำทุกซี่มีตัวอักษร ที่พื้นกงทุกซี่โดยรอบด้านข้างธรรมจักรและสลักเป็นรูปสิงห์แบกทั้งสองด้าน อักษรที่จารึกเป็นอักษรปัลลวะ ภาษาบาลีมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปและเทวรูปในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย
จากการศึกษาผังเมือง ซากโบราณสถานคันดินกั้นน้ำ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของตัวเมืองเพื่อกักและทดน้ำ ให้ไหลมาเก็บไว้ในสระภายในตัวเมือง เมืองอู่ตะเภาน่าจะเป็นแหล่งชุมชนที่เจริญและอุดมสมบูรณ์ยิ่งแห่งหนึ่งในเขตภูมิภาคนี้
บ้านหนองบัว อยู่ในเขตตำบลเที่ยงแท้อำเภอสวรรคบุรี สภาพพื้นที่เดิมเป็นป่าละเมาะ โบราณวัตถุที่พบมีเศษภาชนะดินเผาเครื่องมืออาวุธทำจากหิน แหวนดีบุก แว ลูกปัดหิน และกำไลสำริด
เมืองดงคอน อยู่ในเขตตำบลดงคอน อำเภอสวรรคบุรี มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมนกว้างในแนวตะวันออก- ตะวันตก ประมาณ ๕๕๐ เมตร ยาวในแนวเหนือใต้ ประมาณ ๗๕๐ เมตร คูเมืองกว้างประมาณ ๒๐ เมตร ไม่พบซากกำแพงเมือง พบซากโบราณสถานอยู่นอกเมือง ๑ แห่ง ชาวบ้านเรียกว่า
โคกปราสาทมีแผ่นอิฐที่มีขนาดใหญ่กว่าที่พบในเมืองอื่น ๆ มีขนาดกว้าง ๒๖ เซ็นติเมตรยาว ๕๑ เซ็นติเมตร พบภาพสลักนูนต่ำบนแผ่นศิลา เป็นภาพพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาบข้างซ้ายด้วยธรรมจักรด้านซ้ายเป็นรูปสถูป พบฐานพระพุทธรูปทำด้วยศิลาขนาดใหญ่เป็นรูปดอกบัวบาน ศีรษะตุ๊กตาดินเผาเศษภาชนะดินเผาหลายชนิด ตะเกียงน้ำมันดินเผา แท่งหินบดยา ระฆังหิน สิ่งของที่ทำด้วยโลหะเช่น กำไล ลูกกระพวน ใบหอก ขวาน เหรียญประทับตรามีอักษรปัลลวะประทับอยู่ด้วยเช่นตราสังข์ และศรีวัตสะ ตราพระอาทิตย์ครึ่งดวง และตราสังข์ ตราแม่วัวลูกวัวและอักษรปัลลวะ มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒
แหล่งชุมชนโบราณอื่น ๆ ยังมีแหล่งชุมชนโบราณอีกหลายแห่ง เช่นที่บ้านท่าราบ ตำบลธรรมามูล อำเภอเมืองฯ เมืองโบราณที่ดอนกลาง และ เมืองโบราณไร่ตากี๋ อยู่ที่บ้านวัดใหม่ตำบลหนองบัว อำเภอวัดสิงห์ เมืองโบราณที่หนองห้วยตำบลหนองบัว อำเภอวัดสิงห์ เมืองโบราณบ้านหนองไอ้งอนตำบลหนองขุ่น อำเภอวัดสิงห์ เมืองโบราณบ้านไร่- สวนลาว ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา
เมืองโบราณสมัยทวาราวดี ในเขตจังหวัดชัยนาท ส่วนใหญ่เป็นชุมชนหรือเมืองขนาดเล็กมีเมืองอู่ตะเภา และเมืองดงคอนที่เป็นเมืองใหญ่ เมืองอู่ตะเภาคงเป็นเมืองที่เจริญมากในระยะหนึ่งแล้วเสื่อมไป การพบร่องรอยเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ทำให้ทราบถึงวิถีชีวิตของผู้คนในครั้งนั้น
เราได้ทราบการนับถือพระพุทธศาสนาในสมัยทวาราวดี ในเขตจังหวัดชัยนาท จากการที่ได้ขุดพบ
ธรรมจักรศิลาพบพระพุทธรูปสำริด ภาพแกะสลักพระพุทธรูปบนแผ่นศิลาแบบนูนต่ำ และได้ทราบการรับเอาอารยธรรมจากอินเดียและการติดต่อค้าขายกับเมืองต่าง ๆ ในสมัยนั้น จากการพบเหรียญเงินที่เมืองอู่ตะเภาและเมืองดงคอน
ชุมชนโบราณในสมัยทวาราวดี เป็นชุมชนที่พัฒนาตัวเองต่อเนื่องมาถึงสมัยลพบุรีสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ สมัยลพบุรี
อารยธรรมเขมรได้เข้าสู่ประเทศไทย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ เรียกอารยธรรมและศิลปกรรมนั้นว่า สมัยลพบุรี โดยได้เริ่มเข้าสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันทางภาคอีสานใต้ก่อนแล้วจึงขยายตัวไปสู่ภาคกลาง และภาคเหนือของไทยตามลำดับ ในระยะต่อมา ในจังหวัดชัยนาทได้พบแหล่งอารยธรรมเขมรสมัยลพบุรี หลายพื้นที่ในเขตเมืองเก่าสวรรคบุรีและชัยนาท เมื่ออารยธรรมสุโขทัยได้แผ่อิทธิพลลงมาทางใต้ผ่านกำแพงเพชร พิจิตรนครสวรรค์ แล้วจึงมาสู่จังหวัดชัยนาท ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนศาสนสถานเช่นเดียวกับสุโขทัยโดยมีการกลมกลืนระหว่างศิลปกรรมเขมรสุโขทัย และสุพรรณภูมิ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นเดิมเข้าด้วยกัน
หลักฐานที่แสดงถึงวัฒนธรรมเขมร ได้แก่แผ่นศิลาทับหลังทำด้วยศิลาทราย สลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณศิลปกรรมเขมรสมัยบาปวน ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ อยู่ติดกับพระพุทธรูปหลวงพ่อฉายอยู่ด้านที่วิหารวัดพระแก้ว อำเภอสรรคบุรี สันนิษฐานว่า เจดีย์ที่วัดพระแก้วอาจจะสร้างทับศาสนสถานแบบเขมรอยู่ก็ได้
ได้มีการค้นพบโบราณวัตถุสมัยลพบุรี อีกหลายแห่งในเขตเมืองชัยนาทเก่า ได้แก่พระพุทธรูปศิลาทรายปางนาคปรกหลายองค์พระพุทธรูปปางนี้เป็นคติความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่เรียกว่า
รัตนไตรมหายานซึ่งสลักเป็นรูป
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและ
พระปรัชญาปารมิตาขนาบสองข้างพระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งเป็นศิลปะแบบเขมรแบบบายน มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘
นอกจากนี้ยังพบหินบดยา ทำด้วยศิลาทรายที่เมืองอู่ตะเภา เมืองดงคอน จึงอาจกล่าวได้ว่าเมืองชัยนาทเก่าเมืองสรรคบุรี และแหล่งชุมชนโบราณในเขตจังหวัดชัยนาท เคยได้รับอิทธิพลเขมรมาก่อนและเมื่อได้รับอิทธิพลของสุโขทัยกับสุพรรณภูมิมากขึ้น ศิลปเขมรก็เสื่อมสลายไป สมัยสุโขทัย
ในสมัยสุโขทัยพื้นที่ของเมืองชัยนาทมีเมืองสำคัญอยู่สองเมืองคือ เมืองชัยนาทและเมืองสรรค์ เมืองชัยนาทแต่เดิมตั้งอยู่ในเขตตำบลชัยนาท อำเภอเมืองฯ อยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้ลำน้ำเจ้าพระยาเป็นคูเมืองและกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออก ทางด้านเหนืออยู่ติดกับปากแม่น้ำน้อย(ปากคลองแพรกศรีราชา)จึงอาศัยลำน้ำน้อยเป็นคูเมือง และกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก ทางด้านทิศใต้แต่ก่อนมีแนวกำแพงเมืองเป็นมูลดินแต่ปัจจุบันถูกทำลายไปหมดแล้ว เมื่อครั้งสร้างประตูน้ำพระบรมธาตุ เมืองชัยนาทเก่าน่าจะเป็นเมืองโบราณมาก่อนในลักษณะเมืองซ้อนเมืองดังจะสังเกตได้จากองค์พระบรมธาตุที่วัดบรมธาตุวรวิหาร ที่สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์เป็นสถาปัตยกรรมอู่ทองผสมกับสุโขทัย
เมืองชัยนาทสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเลอไท (พ.ศ. ๑๘๖๐ - ๑๘๙๗) แห่งกรุงสุโขทัยมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดวาอารามให้เรียบร้อยสมบูรณ์ เพื่อให้เมืองชัยนาทเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงสุโขทัยแต่เมืองชัยนาทน่าจะอยู่ในอิทธิพลของ แคว้นสุพรรณภูมิ และแคว้นกัมโพช (ละโว้)มาก่อน พระเจ้าเลอไทเพียงแต่มารวบรวมให้เป็นเมืองหน้าด่านในภายหลัง
เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๓ และต่อมาเมื่อปีพ.ศ. ๑๘๙๖ พระเจ้าเลอไท สวรรคต กรุงสุโขทัยเกิดความไม่สงบ พระเจ้าอู่ทองเห็นเป็นโอกาสจึงทรงยกกองทัพไปตียึดเมืองชัยนาทได้ แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้
ขุนหลวงพะงั่วซึ่งครองเมืองสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) มาครองเมืองชัยนาท ต่อมาเมื่อเหตุการณ์ที่กรุงสุโขทัยสงบลงพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ขึ้นครองราชย์จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้าอู่ทอง และขอเจรจาขอเมืองชัยนาทคืน พระเจ้าอู่ทองก็ทรงคืนให้ขุนหลวงพะงั่วจึงต้องกลับไปครองเมืองสุพรรณภูมิตามเดิม
ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (พ.ศ. ๑๙๑๓ - ๑๙๓๑) เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้วในปี พ.ศ. ๑๙๑๔ ได้เสด็จยกกองทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ตีได้เมืองชัยนาทไปจนถึง
เมืองพระบาง(นครสวรรค์) และในปี พ.ศ. ๑๙๑๖ ได้ทรงยกกองทัพไปตี
เมืองชากังราวแต่ไม่สำเร็จ ในปี พ.ศ. ๑๙๑๘ ได้ทรงยกกองทัพไปตี
เมืองสองแคว(พิษณุโลก) ได้แล้วกวาดต้อนชาวเมืองมากรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่๑ ได้ยกทัพไปตีเมืองชากังราวอีกสองครั้ง ในปี พ.ศ. ๑๙๑๙ และ ๑๙๒๑ จึงไปตีเมืองชากังราวได้พระมหาธรรมราชาแห่งกรุงสุโขทัย สู้ไม่ได้ต้องยอมเจรจา ยอมให้กรุงศรีอยุธยามีอำนาจเหนือกรุงสุโขทัยเมืองชัยนาทจึงตกอยู่ในฐานะเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยานับแต่นั้นมา
เมืองสรรค์หรือเมืองแพรกเป็นเมืองโบราณอยู่ในเขตตำบลศรีราชา อำเภอสรรค์บุรี และเมืองชัยนาทตกอยู่ในอิทธิพลของกรุงสุโขทัยเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาเมื่ออารยธรรมสุโขทัยเริ่มอ่อนตัวลงกลุ่มชนทางตอนใต้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น จนมีศิลปกรรมต่าง ๆ เป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มชนทางสุพรรณภูมิและคงจะขยายมาถึงเมืองชัยนาท เมืองแพรก หรือเมืองสรรค์บุรีด้วย จนเกิดวัฒนธรรมศิลปกรรมแบบผสมผสานระหว่างสกุลช่างสุพรรณภูมิ สุโขทัย และอยุธยาขึ้น เช่นเจดีย์วัดพระแก้ว เจดีย์วัดพระยาแพรกพระปรางค์ทรงกลีบมะเฟืองที่วัดมหาธาตุ เมืองสรรคบุรี พระปรางค์แบบอยุธยาที่วัดสองพี่น้องรวมถึงเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ศิลปะสุโขทัยที่วัดโตนดหลาย เมืองสรรคบุรี เป็นต้น สมัยอยุธยา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชัยนาทคงมีเมืองสำคัญอยู่สองเมืองคือ เมืองชัยนาท และเมืองสรรค์ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เกิดเมืองมโนรมย์ขึ้นอีกเมืองหนึ่งเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ระหว่างเมืองชัยนาทกับเมืองพระบาง
ในปี พ.ศ. ๑๙๕๒ สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ.ศ.๑๙๓๘ - ๑๙๕๒) ได้สละราชสมบัติถวายให้เจ้านครอินทร์หลานขุนหลวงพะงั่วที่ครองเมืองสุพรรณบุรีอยู่เดิม และได้พระนามว่า สมเด็จพระนครินทราธิราช (พ.ศ.๑๙๕๒ - ๑๙๖๗) พระองค์ได้ส่งราชโอรส ๓ องค์ ไปครองเมือง ๓ เมือง คือ เจ้าอ้ายพระยาครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยาครองเมืองสรรค์ และเจ้าสามพระยาครองเมืองชัยนาท ต่อมาเจ้าสามพระยาได้ขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยาต่อจากพระราชบิดา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๑
ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ.๒๐๗๒ - ๒๑๑๑) พระองค์ได้กระทำพิธีมัธยมกรรมที่ตำบลชัยนาทบุรีซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับเมืองชัยนาทเดิม แล้วทรงสถาปนาเมืองชัยนาทใหม่ขึ้นในปีพ.ศ. ๒๐๗๗
ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.๒๑๑๒ - ๒๑๓๓) กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ได้ยกลงมาถึงเมืองชัยนาทและตั้งทัพลงที่เมืองนี้ด้วย ให้กองทัพหน้าตั้งทัพที่
ปากน้ำบางพุทราแขวงเมืองพรหม สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถทรงยกกองทัพไปตีทัพที่
บ้านชะไวแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ แล้วทรงให้พระราชมนู และขุนรามเดชะคุมกองทัพหน้ายกเข้าตีข้าศึกแตกพ่ายกลับไปเมืองชัยนาทพระเจ้าเชียงใหม่จึงถอยทัพกลับ
ในรัชสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช เมืองชัยนาท และเมืองสรรค์อยู่ในฐานะเมืองลูกหลวงต่อมาในรัชสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองลูกหลวงได้เลื่อนไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลกเมืองชัยนาท และเมืองสรรค์ จึงลดความสำคัญลงไป ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช(พ.ศ. ๒๑๓๓ - ๒๑๕๖) เมืองชัยนาท และเมืองสรรค์น่าจะอยู่ในฐานะเมืองจัตวาเท่านั้นเจ้าเมืองทั้งสองจึงกลับมาเป็นเมืองท้ายพระยามหานคร ผู้ว่าราชการเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาตามนามเมืองเช่นพระยาสรรค์ พระยาชัยนาท พระยาไชยนฤนาท ตลอดมาจนถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยรัตนโกสินทร์ สำหรับเมืองมโนรมย์ก็น่าจะอยู่ในฐานะเดียวกัน สมัยธนบุรี
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕) พระองค์ทรงใช้เมืองชัยนาทเป็นชัยภูมิในการตั้งรับพม่าที่ยกมาทางเหนือ เมื่ออะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่ายกทัพมาตีเมืองเหนือของไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกทัพหลวงโดยขบวนเรือไปตั้ง ณ เมืองชัยนาท แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้ แล้วจัดกองทัพไปตีทัพพม่าที่เมืองนครสวรรค์แล้วพระองค์เสด็จกลับกรุงธนบุรี ต่อมาทรงเห็นว่าการรบที่นครสวรรค์ติดพันอยู่หลายวันพระองค์จึงได้เสด็จยกทัพออกจากกรุงธนบุรีอีกครั้งในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๓๑๙ พอเสด็จไปถึงเมืองชัยนาท พม่าก็ทิ้งค่ายที่นครสวรรค์ หนีไปทางเมืองอุทัยธานีจึงได้มีรับสั่งให้กองทหารไทย และกองทหารมอญ ติดตามไปทันทัพพม่าที่บ้านเดิมบางนางบวชแขวงเมืองสุพรรณบุรีต่อเมืองสรรค์ ฝ่ายไทยตีทัพพม่าแตกพ่ายไป ด้วยเหตุนี้จังหวัดชัยนาทจึงถือเอาวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนา จังหวัดชัยนาท สมัยรัตนโกสินทร์
เมืองชัยนาทยังคงมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง แต่ลดความสำคัญลงไปมาก ส่วนเมืองสรรค์และเมืองมโนรมย์ ได้ลดฐานะลงเป็นเมืองเล็ก
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการกวาดต้อนครัวชาวลาว และชาวเขมรมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แถบนี้เชื้อสายชาว
ลาวเวียง (เวียงจันทน์)ครั้งแรกได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านโค้ง ปัจจุบันคือตำบลพลับพลาชัยอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และที่บ้านหนองแห้ว กิ่งอำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาจต่อมาได้แยกย้ายไปอยู่ที่ตำบลกะบกเตี้ย ตำบลสุขเดือนห้า กิ่งอำเภอเนินขามและที่ตำบลสะพานหิน กิ่งอำเภอหนองมะโมง กลุ่มเชื้อสาย
ลาวคั่งมาจากเมืองหลวงพระบางเข้ามาอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังการปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์การที่ได้ชื่อนี้เนื่องจากเดิมชนกลุ่มนี้ อาศัยอยู่แถบ
ภูคังที่หลวงพระบางคนทั่วไปจึงเรียกว่า
ลาวภูคังต่อมาจึงเพี้ยนเป็น ลาวคัง เมื่ออพยพมาครั้งแรกได้มาอยู่ที่บ้านหนองดินแดงและบ้านโพรงมะเดื่อ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดนครปฐม แล้วได้อพยพไปอยู่ที่เขากระจิวจังหวัดกาญจนบุรี ได้อพยพเข้ามาอยู่ในเขตเมืองชัยนาท ที่ตำบลกุดจอก กิ่งอำเภอหนองมะโรงต่อมาได้แยกย้ายไปอยู่ที่ตำบลหนองมะโรง ตำบลวังตะเคียน ตำบลสะพานหินกิ่งอำเภอหนองมะโรง และที่บ้านหนองพังนาค ตำบลเสือโฮก อำเภอเมือง ฯ
กลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมร อยู่ที่หมู่บ้านทุ่งโพธิ ตำบลกะบกเตี้ย กิ่งอำเภอเนินขามเข้าใจว่าอพยพเข้ามาตั้งครั้งกรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๓๒๑ ที่เจ้าพระยาสุรสีห์ลงไปเกณฑ์พลเมืองเขมร๑๐,๐๐๐ คน ต่อเรือรบ แล้วยกกำลังไปสมทบกองทัพเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ที่ยกไปตีเมืองเวียงจันทน์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้มีการจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคใหม่จากระบบกินเมืองที่เป็นอยู่เดิม มาเป็นระบบเทศาภิบาล โดยการรวมการปกครองหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาลสำหรับมณฑลนครสวรรค์ ได้รวมหัวเมืองทางริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือขึ้นไปจนถึงแม่น้ำปิงได้แก่ เมืองชัยนาท เมืองสรรคบุรี เมืองมโนรมย์ เมืองอุทัยธานี เมืองพยุหคีรีเมืองนครสวรรค์ เมืองกำแพงเพชร เมืองตาก รวม ๘ หัวเมือง ขึ้นเป็นมณฑลนครสวรรค์โดยตั้งที่ทำการที่เมืองนครสวรรค์ (ปากน้ำโพ) ในครั้งนั้นเมืองมโนรมย์ และเมืองนครสวรรค์ได้เป็นอำเภอขึ้นกับเมืองชัยนาทเรียกว่าอำเภอมโนรมย์ และอำเภอสวรรค์ ส่วนอำเภอเมืองชัยนาท ขณะนั้นเรียกว่าอำเภอบ้านกล้วยต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้จัดตั้งอำเภอสรรพยา และอำเภอบ้านเชี่ยนขึ้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเมืองชัยนาทสามครั้ง ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๔๔ ครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๙ และครั้งที่สามเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๔๖๘) ได้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัดและอำเภอเมืองเป็นอำเภอ เช่น อำเภอเมืองสวรรค์ เป็นอำเภอสรรค์ อำเภอเมืองมโนรมย์เป็นอำเภอมโนรมย์
|