|
www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
จังหวัดขอนแก่น
จังหวัดขอนแก่นตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดเลยจังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดมหาสารคาม ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดนครราชสีมาทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐ - ๒๐๐ เมตร ลาดเทไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีที่ราบลุ่มบางตอนแถบลุ่มแม่น้ำชี แม่น้ำพองและแม่น้ำเชิน ภูมิประเทศทางด้านทิศตะวันตกเป็นที่ราบสูงแคบ ๆ และภูเขา ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ภูมิประเทศแบ่งออกได้เป็น ๓ ลักษณะคือ บริเวณที่ราบสูงตะวันตก เป็นบริเวณพื้นที่ภูเขาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ และภูกระดึง มีลักษณะเป็นลอนคลื่นตื้นถึงลึก บริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตอำเภอภูผาม่านอำเภอชุมแพ อำเภอสีชมพู อำเภอภูเวียง กิ่งอำเภอหนองนาคำ อำเภออุบลรัตน์ อำเภอน้ำพองอำเภอฝาง อำเภอหนองเรือ อำเภอมัญจาคีรี และกิ่งอำเภอโคกโพธิชัย บริเวณที่ราบตอนกลาง มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนตื้นมีที่ดอนสลับที่นา บางส่วนเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ อยู่ในพื้นที่ตอนกลาง และตอนใต้ของอำเภอกระนวนกิ่งอำเภอซำสูง ด้านตะวันออกของอำเภอเขาสวนกวาง อำเภอน้ำพอง และทางตอนเหนือของอำเภอเมือง บริเวณแอ่งโคราช มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนตื้นสลับกับที่นาบางส่วนเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำชีมีที่สูงอยู่บ้าง อยู่ในพื้นที่ตอนกลางอำเภอเมือง ฯ ตอนกลางอำเภอบ้านฝาง ด้านตะวันออกของอำเภอมัญจาคีรี อำเภอบ้านไผ่ กิ่งอำเภอโนนศิลา อำเภอชนบท อำเภอพระยืน กิ่งอำเภอบ้านแฮด อำเภอแวงใหญ่ อำเภอแวงน้อย และอำเภอหนองสองห้อง ภูเขา ในเขตจังหวัดขอนแก่นมีภูเขาอยู่เป็นจำนวนมาก ภูเขาที่สำคัญมีดังนี้ ภูผาม่าน เป็นภูเขาหลายแนวสลับซับซ้อน ทอดตัวยาวมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ และภูกระดึงประกอบไปด้วยภูเปือย ภูหินกอง ภูโคก ภูผักหนาม ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่านซึ่งอยู่ในเขตอำเภอภูผาม่าน และอำเภอชุมแพ ติดต่อกับ อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลยตรงบริเวณผานกเค้า ซึ่งเป็นหน้าผาสูงชันยอดแหลม ลักษณะคล้ายนกเค้ายืนอยู่บนฝั่งแม่น้ำพองมียอดสูง ๗๑๕ เมตร จากระดับน้ำทะเล ภูผาม่านทอดยาวติดต่อกับเทือกเขาเพชรบูรณ์ในเขตอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ภูเวียง เป็นภูเขามีแนวโค้งรูปวงรีตั้งอยู่โดดเดี่ยวทางด้านทิศตะวันออกเป็นทิวเขาเตี้ย ๆ แนวเดียวไม่มียอดเขาสูงทางด้านทิศตะวันตก มีทิวเขาหลายแนวซ้อนกัน มียอดเขาสูงหลายยอด ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือมียอดเขาสุง ๗๒๓ เมตร ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มียอดเขาสูง ๗๐๑ เมตร ภูเวียงอยู่ในเขตอำเภอภูเวียงอำเภอชุมแพ อำเภอสีชมพู และกิ่งอำเภอหนองนาคำในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียง ภูผาคำ เป็นทิวเขาต่อเนื่องมาจากทิวเขาเพชรบูรณ์ในเขตจังหวัดชัยภูมิเข้ามาในเขตจังหวัดขอนแก่น บริเวณช่องสามหมอ เขตติดต่อระหว่างอำเภอแก้งคร้อจังหวัดชัยภูมิ กับกิ่งอำเภอโคกโพธิชัย จังหวัดขอนแก่น ไม่มียอดเขาสูง มีความสูงเฉลี่ยประมาณ๔๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ภูผาแดง เป็นทิวเขาต่อจากภูผาคำ เข้าไปในเขตกิ่งอำเภอโคกโพธิชัย และกิ่งอำเภอมัญจาคีรีถึงบริเวณช่องฝาง ไม่มียอดเขาสูง มีความสูงเฉลี่ยประมาณ ๔๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ภูเม็ง เป็นทิวเขาแยกออกจากภูผาแดง บริเวณช่องฝาง ผ่านเข้าไปในเขตอำเภอหนองเรือและสูงขึ้นเป็นภูเขาใหญ่ ในเขตบ้านหนองแวงหัวภู ตำบลบ้านเม็ง มียอดเขาสูงอยู่สองแห่งสูง ๖๖๕ เมตร และ ๖๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล แล้วค่อย ๆ ลาดต่ำลงสู่ระดับพื้นดินเริ่มจากซำบอนซึ่งเป็นแหล่งน้ำซับเชิงเขาบริเวณนี้เป็นแนวหินติดต่อกันไป ผ่านเขตบ้านหนองบัว บ้านนาฝาย ตำบลหนองบัวอำเภอบ้านฝาง แบ่งสันเขาภูคำน้อย แนวหินยาวติดต่อกัน ทั้งหมดนี้เรียกว่า ฝายพญานาค ภูพานคำ เป็นทิวเขาต่อจากภูพานคำน้อย ยกระดับสูงขึ้นเป็นภูเขาใหญ่ ในเขตตำบลโคกสูงอำเภออุบลรัตน์ และถูกตัดขาดโดยลำน้ำพองจึงเรียกว่า พองหนีบ ต่อมาได้มีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำพองตรงบริเวณพองหนีบชาวบ้านจึงเรียกว่าเขื่อนพองหนีบ หรือเขื่อนน้ำพอง มีชื่อเป็นทางการว่าเขื่อนอุบลรัตน์ภูพานคำมียอดสูง ๕๖๔ เมตร จากระดับน้ำทะเล และทอดยาวไปต่อกับทิวเขาภูแอ่นซึ่งทอดยาวเข้าไปในเขต อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ภูโน เป็นทิวเขาต่อจากภูเค็ง ภูเชือกภูแผ่ว ภูแอ่น ภูท่าคันโท ติดต่อกับเทือกเขาภูพาน ผ่านเขตอำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์เข้ามาในจังหวัดขอนแก่นทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอกระนวน มียอดเขาสูง๔๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ภูวัด เป็นทิวเขายาวติดต่อกันไปในเขตอำเภออุบลรัตน์อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่นกับ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู และอำเภอหนองแสงจังหวัดอุดรธานี มียอดสูง ๖๓๕ เมตร จากระดับน้ำทะเล เขาสวนกวางเป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ยอดสูง ๔๕๙ เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นแนวยาวอยู่ทางเหนือกั้นเขตพื้นที่อำเภอเขาสวนกวางจังหวัดขอนแก่น กับอำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี แม่น้ำ จังหวัดขอนแก่นมีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านเขตจังหวัดสามสายด้วยกันคือ แม่น้ำพอง ต้นน้ำเกิดจากน้ำตกขุนพองบนภูกระดึงจังหวัดเลยไหลผ่านจากทางตะวันตกมาทางตะวันออก เข้าเขตจังหวัดขอนแก่น บริเวณผานกเค้าทิวเขาภูเปือย เขตติดต่อระหว่างอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น กับอำเภอภูกระดึงจังหวัดเลย ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และไหลต่อไปในเขตอำเภอน้ำพองอำเภอเมือง ฯ ไปบรรจบกับแม่น้ำชีที่บ้านหนองแสง ตำบลโพนงาม อำเภอโกสุมพิสัยจังหวัดมหาสารคาม มีความยาวที่ผ่านเขตจังหวัดขอนแก่น ประมาณ ๑๒๕ กิโลเมตร แม่น้ำเชิน ต้นน้ำเกิดจากธารน้ำหลายสายในเทือกเขาเพชรบูรณ์ และภูผาม่านด้านทิศตะวันตกเช่นน้ำตกตาดใหญ่ น้ำตกตาดฟ้า และธารน้ำอื่น ๆ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงลานแม่น้ำเชินไหลไปทางทิศตะวันออกเป็นแนวกันเขตแดนระหว่างอำเภอชุมแพ อำเภอหนองเรือจังหวัดขอนแก่น กับอำเภอคอนสารจังหวัดชัยภูมิ และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำพองที่บ้านกุดตะก่าตำบลโนนทอง อำเภอหนองเรือ ปัจจุบันอยู่ในอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ มีความยาวประมาณ๘๕ กิโลเมตร แม่น้ำชี ต้นน้ำเกิดจากภูหลวงในเทือกเขาเพชรบูรณ์ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดชัยภูมิ แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเข้าเขตจังหวัดขอนแก่นผ่านเขตอำเภอแวงน้อย อำเภอแวงใหญ่ กิ่งอำเภอโคกโพธิชัย อำเภอชนบท อำเภอมัญจาคีรีอำเภอบ้านไผ่ กิ่งอำเภอบ้านแฮด อำเภอพระยืน และอำเภอเมือง ฯ แล้วไหลเข้าเขตอำเภอโกสุมพิสัยจังหวัดมหาสารคาม มีความยาวในเขตจังหวัดขอนแก่นประมาณ ๑๐๘ กิโลเมตร แหล่งน้ำสำคัญ แหล่งน้ำสำคัญของจังหวัดขอนแก่นเกิดจากสองฝั่งแม่น้ำพอง และแม่น้ำชีเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากนี้ก็เป็นแหล่งชลประทานตามโครงการ ๒๑ โครงการมีพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมด ประมาณ ๑๐,๙๒๐ ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ชลประทานประมาณ ๓๐๒,๐๐๐ ไร่ โครงการชลประทานขนาดใหญ่คือ โครงการน้ำพอง-หนองหวาย ทดน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์มีพื้นที่ชลประทาน รวม ๒๕๙,๐๐๐ ไร่ เขื่อนอุบลรัตน์ ชาวบ้านเรียกว่า เขื่อนพองหนีบ เพราะบริเวณที่สร้างเขื่อนเดิมชื่อพองหนีบ ซึ่งเป็นที่ลำน้ำพองไหลลงสู่หุบแคบๆ ของภูเขาสองลูกคือ ภูพานคำ และภูพานคำน้อย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เริ่มสร้างเขื่อนปิดกั้นลำน้ำพองเสร็จในปีพ.ศ. ๒๕๐๙ เขื่อนอุบลรัตน์เป็นเขื่อนหินทิ้ง แกนกลางเป็นดินเหนียว สันเขื่อนยาว๘๐๐ เมตร กว้าง ๖ เมตร ฐานกว้าง ๑๒๐ เมตร เก็บกักน้ำได้สูงสุด ๑๘๕.๒๐เมตร จุน้ำได้ประมาณ ๒.๕๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต๒๕.๒๐๐ กิโลวัตต์ อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนอุบลรัตน์เป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดขอนแก่นครอบคลุมพื้นที่อำเภออุบลรัตน์ อำเภอหนองเรือ และอำเภอภูเวียง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำที่ดีที่สุดของภาคอีสาน บึงแก่นนคร เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่กลางเมืองขอนแก่นมีพื้นที่ประมาณ ๖๐๔ ไร่ เดิมชื่อบึงบอนขอนแก่น เพราะมีต้นบอนขึ้นอยู่ทั่วไปบริเวณริมบึงและมีขอนไม้ล้มจมอยู่ในบึงเป็นจำนวนมาก ขอนไม้ดังกล่าวล้วนแต่เป็นขอนไม้แก่นทั้งสิ้นต่อมาเมื่อมีการย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านโพนทอง ซึ่งตั้งอยู่ริมบึงบอน ทางฝั่งตะวันตกไปอยู่ที่บ้านโนนทันซึ่งอยู่ริมบึงบอนด้านตะวันออก ชาวบ้านจึงเรียกบึงนี้ว่าบึงเมืองเก่า ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๔๔ ได้มีการทำคันดินรอบบึงเมืองเก่า บึงแห่งนี้จึงเป็นแหล่งน้ำสำคัญของชุมชนที่อยู่รอบบึงคือบ้านเมืองเก่า บ้านโนนทัน และบ้านตูม บึงเมืองเก่าได้เปลี่ยนชื่อเป็นบึงแก่นนครเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ บึงทุ่งสร้าง เป็นทุ่งกว้างใหญ่เป็นทางน้ำฝนไหลไปสู่ห้วยพระคือแล้วไหลลงสู่แม่น้ำชี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้มีการสร้างทำนบกันน้ำระหว่างบ้านหนองใหญ่กับบ้านโคกกลาง ทุ่งสร้างจึงกลายเป็นบึงกว้างใหญ่ ปัจจุบันบึงทุ่งสร้างเหลือพื้นที่อยู่ประมาณ๑,๗๐๐ ไร่ มีความลึกเฉลี่ย ๑.๕๐ เมตร กักเก็บน้ำได้ประมาณ ๓ ล้านลูกบาศก์เมตรมีสภาพตื้นเขิน รกร้างว่างเปล่า บึงหนองโคตร มีพื้นที่ประมาณ ๗๖๐ ไร่ อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองขอนแก่นระหว่างบ้านศรีฐาน บ้านคำไฮ และบ้านกอก อยู่ในสภาพตื้นเขิน แก่งน้ำต้อน เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่มากเดิมมีพื้นที่ ประมาณ ๑๒,๐๐๐ ไร่ ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ ๖,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตตำบลเมืองเก่าตำบลดอนช้าง และตำบลบ้านหว้า อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น ประมาณ ๘ กิโลเมตรลักษณะเป็นบึงค่อนข้างแบนราบเป็นแอ่งกะทะ ต้นน้ำสำคัญของบึงคือห้วยใหญ่ ส่วนน้ำได้จากแม่น้ำชีเฉพาะในปีที่น้ำล้นตลิ่งเท่านั้นเมื่อน้ำลดน้ำจะไหลลงแม่น้ำชีทางด้านกุดกว้าง แก่งกุดโตก มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่ลักษณะเป็นแอ่งกะทะ อยู่ในเขตตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน ห่างจากบ้านโต้นประมาณ๑ กิโลเมตร มีต้นน้ำที่ไหลลงคือห้วยแข้ หนองกองแก้ว อยู่ในเขตอำเภอชนบท มีพื้นที่ประมาณ๘,๓๘๐ ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพตื้นเขินมาก กุดคาว มีพื้นที่ประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่เดิมมีน้ำมากและลึก อยู่ใกล้กับบ้านหัน ตำบลกุดเค้า อำเภอมัญจาคีรี กุดคาวมีปลานานาชนิดโดยเฉพาะปลาค้าวจนน้ำมีกลิ่นคาวจึงเรียกว่ากุดคาว แล้วเพี้ยนมาเป็นกุดค้าว ปัจจุบันอยู่ในสภาพตื้นเขินมาก หนองเบ็น มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่อยู่ในเขตตำบลหนองแปน อำเภอมัญจาคีรี ห่างจากตัวอำเภอออกไปประมาณ ๕ กิโลเมตรท้องน้ำค่านข้างแบนราบเป็นแอ่งกะทะ บึงละหานนา อยู่ที่บ้านละหานนา อำเภอแวงน้อยมีพื้นที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ มีลักษณะเป็นแอ่งกะทะไหลลงแม่น้ำชีผ่านที่ราบลุ่มลำห้วย แก่งละว้า มีพื้นที่ประมาณ๑๐,๕๐๐ ไร่ มีลักษณะยาวขนานกับแม่น้ำชี อยู่ในเขตหลายอำเภอคือ บ้านละว้า บ้านหนองข้าวนกตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ บ้านดอนดู่ ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอชนบท ตำบลโคกสำราญกิ่งอำเภอบ้านแฮด ในฤดูแล้งน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำชีหมด คงมีน้ำอยู่ในส่วนที่เป็นแอ่ง ละเลิงเค็ง อยู่ที่บ้านละเลิงเค็งอำเภอหนองสองห้อง มีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ ส่วนที่เป็นหนองน้ำประมาณ๗๐๐ ไร่ มีน้ำมากในฤดูฝน ในฤดูแล้งมีน้ำอยู่เพียงบางแห่ง เป็นแหล่งนกเป็ดน้ำมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากละเลิงเค็งได้รับน้ำจากลำห้วยม่วง ห้วยแอก และลำห้วยอื่น ๆ ไหลมารวมกัน หนองอี่เริง อยู่ที่บ้านศิลา ตำบลศิลาอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่ เป็นแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร ป่าไม้ ป่าไม้โดยทั่วไปในเขตจังหวัดขอนแก่นเป็นป่าไม้เบญจพรรณ ในอุทยานแห่งชาติต่าง ๆเป็นบริเวณที่มีป่าไม้หนาทึบ ในอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จะมีป่าดงลานซึ่งเดิมมีต้นลานขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นพื้นที่กว้างขวางจนเรียกว่าสวนป่าดงลานพื้นที่ป่ามี ประมาณ ๑,๘๓๑,๐๐๐ไร่ มีป่าสงวนแห่งชาติ ๒๒ ป่า อุทยานแห่งชาติ ๔ แห่ง ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ ๒๒ แห่งมีพื้นที่รวม ประมาณ ๑,๗๐๗,๐๐๐ ไร่ แต่ละแห่งมีพื้นที่โดยประมาณดังนี้ ป่าดงลาน ๓๔๐,๕๐๐ ไร่ ป่าภูเวียง ๒๑๘,๐๐๐ ไร่ ป่าภูระงำ ๑๕๘,๐๐๐ ไร่ ป่าโสกแต้๕๑,๐๐๐ ไร่ ป่าดงขำ ๖๙,๐๐๐ ไร่ ป่าโคกหลวง ๑๒๙,๕๐๐ ไร่ ป่าโนนน้ำแบ่ง ๑๕๒,๐๐๐ไร่ ป่าเขาสวนกวาง ๓๙,๐๐๐ ไร่ ป่าหนองอ่าง ๑๒,๐๐๐ ไร่ ป่ากุดน้ำใส ๖,๐๐๐ ไร่ป่าสาวะถี ๒๗,๐๐๐ ไร่ ป่าหนองนกเขียน ๒๒,๐๐๐ ไร่ ป่าโคกหลวงแปลง ๓ ๙๗,๕๐๐ไร่ ป่าหัวฝาย ๑๕,๐๐๐ ไร่ ป่าโคกตลาดใหญ่ ๓๘,๐๐๐ ไร่ ป่าห้วยเสียว ๔๑,๕๐๐ป่าภูเม็ง ๑๔,๐๐๐ ไร่ ป่าดงมูล ๑๐๙,๐๐๐ ไร่ ป่าอุบล-หัวลิง ๕,๕๐๐ ไร่ ป่ากุดดุก-นายม๔,๐๐๐ ไร่ ป่าหนองเม็กหลุมพุก ๑๒๘,๐๐๐ ไร่ ป่าสำราญ ๒๙,๐๐๐ ไร่ อุทยานแห่งชาติ ในเขตจังหวัดขอนแก่นมีอุทยานแห่งชาติอยู่ ๔ แห่งด้วยกัน ดังนี้ อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อุทยานแห่งชาติน้ำพอง อุทยานแห่งชาติภูเวียง อุทยานแห่งชาติภูเก้า - ภูพานคำ ประชากร ประชากรในจังหวัดขอนแก่น มาจากเผ่าพันธุ์เดียวกันเป็นส่วนใหญ่ คนในพื้นที่เป็นชาวพื้นเมืองเดิมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์คาบเกี่ยวกับสมัยประวัติศาสตร์ มีร่องรอยทางโบราณคดีปรากฏ เช่น ชุมชนโบราณโนนนกทาบ้านนาดี ตำบลกุดธาตุ กิ่งอำเภอหนองนาคำ และที่โนนเมืองบ้านนาโพธิ์ อำเภอชุมแพมีอายุอยู่ประมาณ ๓,๐๐๐ ปีเศษ ต่อมาในสมัย และสมัยลพบุรีได้พบโครงกระดูก และเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ในยุคสมัยนั้นไม่ทราบว่าเป็นเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธุ์ใดแน่นอน เพราะดินแดนที่ราบสูงกว้างใหญ่มีชนชาติโบราณเข้ามาอาศัยอยู่นานแล้วเช่นชุมชนบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น พื้นที่จังหวัดขอนแก่นเดิมเคยอยู่ในอำนาจการปกครองของขอมมาก่อนมีโบราณสถานศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์ปรากฏอยู่ทั่วไป จากนั้นจึงตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ ประชาชนลาวได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่ราบสูงการอพยพของประชากรปรากฏชัดยิ่งขึ้น ในสมัยธนบุรี และต้นสมัยรัตนโกสินทร์ การอพยพของประชากรเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ในเขต จังหวัดขอนแก่น แบ่งเป็นเส้นทางใหญ่ได้สามทางคือ อพยพมาจากแขวงหลวงพระบาง ได้เข้ามาทางจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขต อำเภอภูผาม่าน อำเภอชุมแพ และอำเภอสีชมพูสำเนียงภาษาพูดเหมือนกับชาวหลวงพระบางใช้วรรณยุกต์จัตวาเป็นส่วนใหญ่ อพยพมาจากแขวงเวียงจันทน์ เนื่องจากหลีกหนีภัยสงครามและถูกต้อนมาอันเนื่องจากการสงคราม เข้ามาทางจังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภูเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขต อำเภอภูเวียง อำเภอสีชมพู อำเภอชุมแพ และอำเภอหนองเรือสำเนียงภาษาใช้วรรณยุกต์ตรีเป็นส่วนมาก อพยพมาจากแขวงจำปาศักดิ์ เมื่อขอมสิ้นอำนาจการปกครองดินแดนที่ราบสูงโคราชแล้วชาวลาวก็ได้เริ่มอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น โดยมาอยู่ที่เมืองท่งซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ปัจจุบันอยู่ในเขต อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดแล้วจึงอพยพขึ้นมาตามลำน้ำชี มาตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนกระจายในพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดขอนแก่นในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอน้ำพอง อำเภอบ้านไผ่ อำเภอชนบท อำเภอมัญจาคีรี ฯลฯออกเสียงสำเนียงภาษาใช้วรรณยุกต์โทเป็นส่วนมาก เหมือนสำเนียงพูดของชาวจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ด
|
|