www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
จังหวัดสิงห์บุรี
จังหวัดสิงห์บุรี ตั้งอยู่ในภาคกลางตอนบน อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ ไปทางทิศเหนือประมาณ
๑๔๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๘๒๓ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕๑๔,๐๐๐ ไร่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท และอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
ทิศตะวันออก ติอต่อกับอำเภอบ้านหมี่และอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอไชโย อำเภอโพธิ์ทอง และอำพเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และอำเภอเดิมบางนางบวช
จังหวัดสุพรรณบุรี
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนตื้นซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเวลานาน
มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรเดิม เหมาะแก่การทำกสิกรรม
พื้นที่กว่าร้อยละ ๘๐ เป็นที่ราบเรียบกว้างขวาง มีความลาดเอียงของพื้นที่น้อยมาก
จึงเกิดเป็นหนองบึงขนาดต่าง ๆ อยู่ทั่วไป พื้นที่มีระดับความสูงเฉลี่ยประมาณ
๑๗ เมตร จากระดับน้ำทะเล ในตอนเหนือและลาดต่ำลงมาทางตอนใต้ ซึ่งมีความสูงเฉลี่ยประมาณ
๔ เมตร จากระดับน้ำทะเล ดังนั้นในฤดูน้ำหลากจึงมักมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน
ๆ พื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีสภาพค่อนข้างราบ
พื้นยังดินเป็นลูกคลื่นลอนลาด อันเกิดจากการกัดเซาะของน้ำบนผิวดิน จนเกิดเป็นร่องกว้างอยู่ทั่วไป
ลักษณะทางธรณี สัณฐานของพื้นที่ แบ่งออกได้เป็นสี่แบบคือ
พื้นที่ที่เป็นคันดินตามธรรมชาติ
อยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อยและร่องน้ำเก่า มีลักษณะเป็นที่ราบแคบ
ๆ กว้างไม่เกินหนึ่งกิโลเมตร มีความยาวขนานตามแนวลำน้ำ มีระดับค่อนข้างสูงกว่าที่ราบข้างเดียว
ส่วนมากเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนและเป็นแหล่งชุมชนใหญ่ ๆ เช่น อำเภอเมือง
ฯ อำเภออินทร์บุรี อำเภอพรหมบุรีและอำเภอท่าช้าง เป็นต้น
พื้นที่ที่เป็นที่ราบลุ่ม
น้าท่วมถึงอยู่ใกล้แม่น้ำ หลังคันดินธรรมชาติเกิดจากการเอ่อล้นของน้ำ จึงมีลักษณะแบนราบเรียบกว้างขวาง
มีระดับค่อนข้างต่ำ มักมีน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรจำพวกนาข้าว
พื้นที่เป็นลอนลาด
อยู่ทางด้านทิศตะวันตก บริเวณอำเภอค่ายบางระจัน และบางส่วนของอำเภอบางระจัน
มีลักษณะเป็นลูกระนาด หรือลูกคลื่นลอนลาด เกิดจากน้ำผิวพื้นพัดพากัดเซาะจนเป็นร่องกว้าง
มีระดับค่อนข้างสูง น้ำท่วมไม่ถึง ใช้เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรจำพวกพืชไร่
เช่นอ้อย ข้าวโพด เป็นต้น
พื้นที่เป็นหนองบึง
อยู่ทางตอนกลางของพื้นที่ใกล้เม่น้ำลำคลองและที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึง มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มต่ำ
มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลาที่มีระดับต่ำมาก น้ำจากบริเวณข้างเดียว จึงไหลมารวมกัน
มีลักษณะสัณฐานกลมมน ในบริเวณที่มีระดับน้ำขังค่อนข้างตื้น มักใช้ทำนาน้ำลึก
ส่วนที่มีน้ำขังมาก ๆ มักปล่อยให้ว่างเปล่า
มีห้วยหนองคลองบึงตามธรรมชาติ อยู่ ๑๗๗ แห่งด้วยกัน ในเขตอำเภอต่าง ๆ ดังนี้
- อำเภอเมือง ฯ
มีหนองบัว หนองบอน ห้วย (คลอง) บางต้นโพธิ์ ฯลฯ
- อำเภออินทร์บุรี
มีคลองเชียงราก คลองบางปูน หนองกระทุ่ม หนองกะทะ หนองสาหร่าย หนองพิณพาทย์
หนองวิเชียร หนองผักชี บางอีจีน คลองขวาง ฯลฯ
- อำเภอบางระจัน
มีห้วยใหญ่ ห้วยสลอด หนองรี หนองกระทุม ฯลฯ
- อำเภอท่าช้าง
มีหนองลาด หนองสวนจันทร์ บึงกระดี่แดง ฯลฯ
- อำเภอพรหมบุรี
มีหนองปลิง หนองหลวง หนองน้ำค้าง ฯลฯ
- อำเภอค่ายบางระจัน
มีหนองกรด หนองกระจับ ฯลฯ
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรน้ำ
พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ริมฝั่งเม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อยและแม่น้ำลพบุรี
จึงเรียกดินแดนนี้ว่า ดินแดนแห่งแม่น้ำสามสาย
คือ
- แม่น้ำเจ้าพระยา
เป็นเสมือนเส้นชีวิตของชาวจังหวัดสิงห์บุรี แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านเขตจังหวัดสิงห์บุรี
จากเหนือมาใต้ในเขตอำเภออินทร์บุรี อำเภอเมือง ฯ และอำเภอพรหมบุรี โดยไหลผ่านกลางพื้นที่แนวตะวันตกเฉียงเหนือไปตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด
- แม่น้ำน้อย
เป็นแม่น้ำขนาดเล็ก ไหลผ่านพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกและตอนกลางในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปทิศตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน
ไหลผ่านเขตอำเภอบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน และอำเภอท่าช้าง
- แม่น้ำลพบุรี
เป็นแม่น้ำขนาดเล็ก ที่ไหลแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใกล้วัดเสถียรวัฒนดิษฐ์
ผ่านเขตตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมือง ฯ ไปจนถึงวัดมณีชลขันฑ์ ในเขตอำเภอเมือง ฯ
จังหวัดลพบุรี แล้วไหลผ่านอำเภอบ้านแพรก จังหวัดลพบุรี ไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอยุธยา
- ลำน้ำแม่ลา
ไหลผ่านเขตอำเภออินทร์บุรี อำเภอบางระจัน และอำเภอเมือง ฯ ยาวประมาณ ๑๘ กิโลเมตร
ส่วนกว้างสุดประมาณ ๑๘๐ เมตร เริ่มต้นที่บ้านดอนแฝก ตำบลพัทยา ส่วนริมฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งชุมชนในเขตอำเะภอบางระจัน
ตำบลแม่ลา เรียกลำน้ำช่วงนี้ว่า แม่ลาตอนกลาง
เริ่มต้นจากบ้านปากลาด ตำบลบางกระบือ อำเภอเมือง ฯ มีน้ำแม่ลาเป็นเสมือนบ่อเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน
- ลำน้ำการ้อง
เป็นลำน้ำขนาดเล็ก กว้างประมาณ ๓๐ - ๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๓ กิโลเมตร อยู่ในเขตตำบลห้วยชัน
อำเภออินทร์บุรี เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก จะมีลำคลองขนาดเล็กเชื่อมต่อกับลำน้ำแม่ลา
เสมือนเป็นลำน้ำสายเดียวกัน
- ลำน้ำเชียงราก
มีลักษณะเหมือนลำน้ำแม่ลา และลำน้ำการ้อง ชาวบ้านเรียกว่า คลองเชียงราก อยู่ในเขตตำบลชีน้ำร้าย
และตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี เป็นลำน้ำที่มีปลาชุกชุม เช่นเดียวกับอีกสองลำน้ำที่กล่าวแล้ว
- น้ำบาดาล
พื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีเป็นบริเวณที่ราบประกอบด้วยตะกอนกรวดทรายและดินเหนียวที่เกิดจากการพัฒนาของแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขา
น้ำบาดาลในเขตจังหวัดสิงห์บุรีมีต้นกำเนิดจากน้ำฝนที่ตกลงมา แล้วไหลซึมไปกักเก็บไว้ในชั้นกรวดทรายที่วางตัวสลับกับชั้นดินเหนียว
ชั้นน้ำโดยทั่วไปอยู่ที่ระดับความลึก ตั้งแต่ ๒๕ - ๑๒๕ เมตร แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
แต่โดยทั่วไปแล้ว ชั้นน้ำบาดาลที่อยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะอยู่ในระดับลึกกว่าบริเวณด้านทิศตะวันออก
และทิศตะวันตก ซึ่งใกล้ขอบแอ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา
แหล่งน้ำบาดาลในเขตจังหวัดสิงห์บุรี เป็นแหล่งที่มีศักยภาพสูงแห่งหนึ่งของประเทศไทย
แบ่งออกได้เป็นสองชนิดคือ
- แหล่งน้ำบาดาลตะกอนน้ำ
หรือชั้นน้ำเจ้าพระยา วางตัวขนานกับลำน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อำเภออินทร์บุรี
อำเภอเมือง ฯ อำเภอพรหมบุรี มีความหนาของชั้นตะกอนกว่า ๑๐๐ เมตร
น้ำบาดาลจะเกิดอยู่ในชั้นตะกอนกรวดทรายที่มีความลึกประมาณ ๒๕ - ๑๒๕ เมตร ปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถสูบขึ้นมาใช้ได้มีปริมาณตั้งแต่
๑๐ - ๒๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
- แหล่งน้ำบาดาลในตะพักลุ่มน้ำใหม่ หรือชั้นน้ำเชียงราย
เป็นชั้นน้ำบาดาลที่ประกอบด้วยตะกอนดินเหนียวและกรวดทรายที่มีความหนาไม่มาก
ทำให้มีศักยภาพในการให้น้ำต่ำกว่าแหล่งแรก ชั้นน้ำนี้จะพบบริเวณด้านตะวันออก
ตั้งแต่เขตอำเภออินทร์บุรี ถึงอำเภอพรหมบุรี และด้านตะวันตก วางตัวขนานกับชั้นน้ำเจ้าพระยา
ตั้งแต่อำเภอบางระจัน ถึงอำเภอค่ายบางระจัน มีความลึกไม่เกิน ๗๐ เมตร ให้ปริมาณน้ำ
๑ - ๓๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
ทรัพยากรป่าไม้
จังหวัดสิงห์บุรีไม่มีป่าไม้ สภาพป่าเป็นเพียงป่าละเมาะและป่าชุมชน ป่าชุมชนที่สำคัญได้แก่
ป่าชุมชน บ้านคูเมือง ป่าชุมชนค่ายบางระจัน ป่าชุมชนวัดตะโหนด ป่าชุมชนวัดกระทุ่มปี่
ป่าชุมชนวัดโบสถ์ ฯลฯ
แร่ธาตุ
มีแหล่งทรายบกและทรายแม่น้ำอยู่ในเขตอำเภอค่ายบางระจัน อำเภอบางระจัน อำเภออินทร์บุรี
อำเภอสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี ทรายที่ได้มีทั้งทรายที่ใช้ถมที่ และทรายที่ใช้เป็นส่วนผสมของซีเมนต์
ทรายบกที่ขุดมาใช้มาจากชั้นทรายที่เกิดจากร่องน้ำเก่า ดินชั้นบนที่ปกคลุมเหนือชั้นทรายมีความหนาแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
โดยทั่วไปชั้นดินจะหนาประมาณ ๔ - ๗ เมตร ชั้นทรายหนาประมาณ ๑๐ เมตร เครื่องมือที่ใช้ส่วนมากจะใช้เรือขุดและเรือดูด
เพื่อลำเลียงทรายเข้าเครื่องคัดแยกขนาดเป็นกรวด ทรายหยาบและทรายละเอียด กองไว้ข้างบ่อเพื่อรอออกจำหน่าย
|