www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
จังหวัดพังงา
จังหวัดพังงาตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย ทางด้านทะเลอันดามัน
มหาสมุทรอินเดีย พื้นที่ที่ของจังหวัดพังงาเคยเป็นสถานที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาตร์มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมายหลายแห่ง
มีพื้นที่ประมาณ ๔,๑๗๐ ตารางกิโลเมตรหรือ ประมาณ ๒,๖๐๐ ล้านไร่ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่
๙ ของจังหวัดในภาคใต้ มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดระนอง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดสุราษฎรธานี และจังหวัดกระบี่
ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดภูเก็ต
ทิศตะวันตก ติดต่อกับทะเลอันดามันมหาสมุทรอินเดีย
ลักษณะภูมิประเทศ
ภูมิประเทศของจังหวัดพังงา ประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน มีที่ราบตามชายฝั่งทะเลที่ราบหุบเขา
มีช่ายฝั่งทะเลยาว ๒๔๐ กิโลเมตร ตลอดแนวด้านตะวันตกมีเกาะแก่งประมาณ ๑๐๕ เกาะ
มีแม่น้ำลำคลอง และลำธารหลายสายกระจายอยู่ในเขตอำเภอต่าง ๆ
พื้นที่มีลักษณะเป็นรูปยาวรีวางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ ๑๑๓
กิโลเมตร มีความกว้างจากทิศตะวันออก - ตะวันตก ทางตอนเหนือของจังหวัดประมาณ
๒๕ กิโลเมตร และตอนใต้ ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศดังนี้
บริเวณเทือกเขาและที่ราบสูงทางด้านตะวันออก
บริเวณนี้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดมีลักษณะเป็นกลุ่มภูเขาน้อยใหญ่จำนวนมาก
ที่วางตัวสลับซับซ้อน ทอดตัวยาวตามแนวเหนือ - ใต้ มีเทือกเขาที่สำคัญคือเทือกเขาภูเก็ตซึ่งเป็นเทือกเขาที่ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาตะนาวศรี
มีความสูง ๒๐๐ ถึง ๑,๐๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล แนวสันเขานี้ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดสุราษฎรธานี
และจังหวัดกระบี่ บริเวณพื้นที่อำเภอเมือง ฯ อำเภอทับปุด แหละบางส่วนของอำเภอกะปง
บริเวณที่ราบเชิงเขาตอนกลาง
บริเวณตอนกลางของพื้นที่ตามแนวเหนือ-ใต้ มีลักษณะภูมิประเทศแบบที่ราบเชิงเขา
พื้นที่ส่วนใหญ่มีความสูงประมาณ ๒๐ - ๑๒๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ได้แก่พื้นที่ในเขตอำเภอเมือง
ฯ อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอท้ายเหมือง
บริเวณที่รบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกและด้านใต้
เป็นที่ราบแคบ ๆ ตลอดแนวชายฝั่งทะเลยาวประมาณ ๒๔๐ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลของอำเภอคุระบุรี
อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอเมือง ฯ และอำเภอทับปุด
บริเวณที่ราบดินตะกอนลำน้ำ
ได้แก่ บริเวณสองฝั่งคลองคึกคักและแม่น้ำตะกั่วป่าในเขตอำเภอตะกั่วป่า คลองวังทัง
คลองห้วยทราย และคลองนาแฝก ในเขตอำเภอท้ายเหมือง คลองหล่อยุง คลองวัดเขา และคลองหินเขาในเขตอำเภอตะกั่วทุ่ง
และแม่น้ำพังงาในเขตอำเภอเมือง ฯ
บริเวณเกาะนอกฝั่งทะเล
จังหวัดพังงามีเกาะใหญ่น้อยประมาณ ๑๐๕ เกาะ เกาะเหล่านี้เกิดจากการจมตัวของฝั่งทะเลในอดีต
ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอคุระบุรี และอำเภอเกาะยาว
ทรัพยากรธรรมชาติ
จังหวัดพังงามีทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณ์มากจังหวัดหนึ่งของภาคใต้ ทรัพยากรที่สำคัญได้แก่
แหล่งน้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า ดิน แร่ธาตุ และทรัพยากรทางทะเล
ทรัพยากรน้ำ
พื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำรหัสที่ ๒๕ (พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีต้นน้ำเกิดจากแนวเทือกเขาภูเก็ตที่เป็นเทือกเขาต่อเนื่องกับเทือกเขาตะนาวศรี
ไปลงสู่ทะเลอันดามันและเวิ้งอ่าวพังงา
- แม่น้ำพังงา
มีต้นกำเนิดจากภูเขากะทะคว่ำในเขตอำเภอกะปง ไหลมาบรรจบกับคลองหรา และไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวพังงา
มีความยาวประมาณ ๔๕ กิโลเมตร เดิมเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญเคยมีเรือสำเภาเข้ามาขนถ่ายสินค้าถึงตัวเมืองพังงา
แต่ปัจจุบันแม่น้ำสายนี้อยู่ในสภาพตื้นเขิน เรือไม่สามารถแล่นเข้ามาได้ และไม่ได้รับการพัฒนาใช้ประโยชน์ในการเกษตร
และอุปโภคบริโภค
- คลองตะกั่วป่า
เกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอกะปง ไหลมาบรรจบกับคลองเหล คลองรมณีย์ และไหลลงสู่ทะเลอันดามัน
ที่อำเภอตะกั่วป่า มีความยาวประมาณ ๓๐ กิโลเมตร สมัยก่อนเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญในเชิงพาณิชย์
และคมนาคม เคยมีเรือแล่นเข้าไปถึงอำเภอกะปงได้ แต่ปัจจุบันมีสภาพเช่นเดียวกับแม่น้ำพังงาที่อยู่ในสภาพตื้นเขินอันเป็นผลมาจากการทำเหมืองแร่
ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในเขตอำเภอตะกั่วป่าเป็นประจำทุกปี จำเป็นที่จะต้องขุดลอกเพื่อให้ระบายน้ำได้ทันในฤดูที่ฝนตกหนัก
- คลองนางย่อม
มีต้นกำเนิดจากเขาพระหนี หรือเขานมสาวและเขาพ่อตาหลวงแก้ว ไหลลงสู่ทะเลอันดามันที่ตำบลทุ่งรัก
อำเภอคุระบุรี มีความยาวประมาณ ๒๔ กิโลเมตร คลองสายนี้เป็นแหล่งน้ำสำคัญเพื่อการเกษตรกรรมบริเวณสองฝั่งคลอง
คลองสายนี้หากได้รับการพัฒนาจะสามารถนำน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรได้ถึง ๑๖,๐๐๐
ไร่
- คลองนาเตย
มีต้นกำเนิดจากทิวเขาโตนย่านไทร เขาหม่น เขาตีนโตนใน ไหลลงสู่ทะเลอันดามันที่ตำบลท้ายเหมือง
มีความยาวประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ปัจจุบันคลองสายนี้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของโครงการคลองนาเตย
อำเภอท้ายเหมือง
- คลองถ้ำ
มีต้นกำเนิดจากทิวเขาแสกเพิง เขาวังกอ ไหลลงสู่อ่าวพังงาที่ตำบลถ้ำ อำเภอตะกั่วทุ่ง
ยาวประมาณ ๑๓ กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของโครงการฝายคลองถ้ำ ตำบลตากแดด
อำเภอเมือง ฯ
- คลองลำไตรมาศ
มีต้นกำเนิดจากท่าเขาทำหมอน ไหลลงสู่ทะเลอันดามันที่ตำบลปะรุ่ย อำเภอทับกุด
ยาวประมาณ ๒๓ กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของโครงการฝายคลองลำไตรมาศ
อำเภอทับปุด
นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำลำธาร และคลองหลายสายที่มีความยาวตั้งแต่ ๔ - ๒๐ กิโลเมตร
อื่น ๆ อีก
ทรัพยากรป่าไม้
โดยรวมแล้วจังหวัดพังงา มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์มากกว่าอีกหลายจังหวัดในอดีต
พื้นที่ป่ามีปริมาณ ๒,๙๙๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑,๘๗๐,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ
๗๒ ของพื้นที่จังหวัด ประกอบด้วยป่าบก ประมาณ ๒,๕๕๕ ตารางกิโลเมตร และป่าชายเลนประมาณ
๔๓๘ ตารางกิโลเมตร สภาพป่าดังกล่าวถูกบุกรุกทำลายอย่างรวดเร็ว จนเหลือสภาพป่าสมบูรณ์อยู่ประมาณ
๑,๒๒๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗๖๖,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๒๙ ของพื้นที่จังหวัด
- ป่าดงดิบ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบ ประกอบด้วยป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าไผ่ มีสภาพเป็นป่าแน่นทึบ
สภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้มีค่านานาชนิด มีพื้นที่ประมาณ
๙๒๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕๗๕,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๒๒ ของพื้นที่จังหวัด
- ป่าชายเลน
จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดต่าง
ๆ ด้านฝั่งทะเลอันดามัน และยังเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์กว่าจังหวัดอื่น
ๆ มีพันธุ์ไม้มีค่าหลายชนิด มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ ๓๐๗ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ
๑๙๒,๐๐๐ ไร่
- ป่าสงวนแห่งชาติ
มีอยู่รวม ๗๓ ป่ามีพื้นที่ประมาณ ๒,๔๗๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑,๕๔๗,๐๐๐
ไร่
- อุทยานแห่งชาติ
มีอยู่ ๗ แห่ง เป็นพื้นที่ประมาณ ๑,๑๐๖ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๖๙๑,๐๐๐
ไร่ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติทางบก และอุทยานแห่งชาติทางทะเลคือ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
(๔๐๐ ตารางกิโลเมตร) อุทยานแห่งชาติศรีพังงา (๒๔๖ ตารางกิโลเมตร) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
(๑๓๕ ตารางกิโลเมตร) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน (๑๑๘ ตารางกิโลเมตร) อุทยานแห่งชาติเขาลำปี
- หาดท้ายเหมือง (๗๒ ตารางกิโลเมตร) อุทยานแห่งชาติหาดแหลมสน (พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดระนอง)
และอุทยานแห่งชาติเขาหลัก - เขาลำรู่ (๑๒๕ ตารางกิโลเมตร)
- วนอุทยาน
มีอยู่ ๒ แห่ง มีพื้นที่ประมาณ ๐.๕ ตารางกิโลเมตร คือ วนอุทยานนางมโนราห์
และวนอุทยานน้ำตกรามัญ
ประชากร
ประชากรในจังหวัดพังงาส่วนใหญ่มีเชื้อชาติไทย รองลงมาเป็นเชื้อสายจีนใช้ภาษาถิ่นใต้สื่อสารในท้องถิ่นประชากรนับถือศาสนาพุทธร้อยละ
๗๗ และนับถือศาสนาอิสลามร้อยละ ๓๒ อีกร้อยละ ๑ นับถือศาสนาอื่น นอกจากนี้มีประชากรที่เป็นคนต่างด้าวสัญชาติพม่า
และมอญที่เดินทางมาเป็นผู้ใช้แรงงานจำนวนหนึ่ง ชนกลุ่มน้อยมีเพียงกลุ่มเดียวคือ
ชาวเลมีอยู่ประมาณ ๑,๕๐๐ คน อาศัยอยู่ตามแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์
อำเภอคุระบุรี และในหลายพื้นที่ที่ติดกับชายฝั่งทะเลของอำเภอท้ายเหมือง บ้านทับปลา
บ้านขนิม บ้านท่าดินแดง บ้านท่าปากแหว่ง เกาะคอเขา และหมู่เกาะสุรินทร์ ชนกลุ่มนี้จะมีภาษาพูดเป็นของตนเอง
ประชากรในจังหวัดพังงามีอาชีพหลักที่สำคัญคือ การเกษตรกรรม การประมง และการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การทำอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และการค้าปลีก
|