www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
จังหวัดกาฬสินธุ์
จังหวัดกาฬสินธุ์ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพ
ฯ ตามทางหลวงแผ่นดิน ประมาณ ๕๒๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๖,๙๕๐ ตารางกิโลเมตร
หรือประมาณ ๔,๓๔๒,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๔.๕ ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงคือ
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดอุดร ฯ และจังหวัดสกลนคร มีลำน้ำปาวและลำน้ำพองกับห้วยพันชาดเป็นแนวแบ่งเขต
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดสกลนครและจังหวัดมุกดาหาร โดยมีสันปันน้ำของเทือกเขาภูพานเป็นแนวแบ่งเขต
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดมหาสารคาม
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดมหาสารคาม โดยมีลำน้ำชีเป็นแนวแบ่งเขต และบางส่วนติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ของจังหวัดอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑๐๐ - ๓๐๐ เมตร องค์ประกอบด้านภูมิศาสตร์ของจังหวัดแบ่งออกเป็นสามตอนคือ
พื้นที่ตอนบน
ในเขตอำเภอท่าคันโท อำเภอคำม่วง กิ่งอำเภอสามชัย อำเภอเขาวง และกิ่งอำเภอนาดู
เป็นที่สูงบริเวณเทือกเขาภูพาน มีแนวเขาสลับซับซ้อน สลับกับที่ราบระหว่างหุบเขาแคบ
ๆ เป็นเขตป่าไม้ที่สำคัญได้แก่ ป่าดงมูล และป่าดงแม่แผด ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญคือ
ลำน้ำปาว และลำน้ำพาน สามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูฝนในพื้นที่ประมาณ ๓๓๘,๐๐๐
ไร่ และส่งน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง ในพื้นที่ประมาณ ๒๖๕,๐๐๐ ไร่
พื้นที่ตอนกลาง
เป็นป่าโปร่งสลับกับเนินเขาและที่ราบทุ่งหญ้าเมืองร้อนในเขตอำเภอหนองกุงศรี
อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอสมเด็จ อำเภอห้วยผึ้ง อำเภอนามน อำเภอกุฉินารายณ์และอำเภอห้วยเม็ก
พื้นที่ตอนล่าง
เป็นที่ราบลุ่ม เป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของจังหวัด มีแนวลำน้ำเป็นบริเวณที่รับน้ำชลประทาน
จากโครงการหลวงชลประทานลำปาว ลำน้ำชี ลำน้ำพานและยังมีหนองบึงขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอยางตลาด อำเภอกมลาไสย อำเภอร่องคำ กิ่งอำเภอดอนจานและกิ่งอำเภอฆ้องชัย
ภูเขา
ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ตอนบนของจังหวัด ในบริเวณอำเภอท่าคันโท ได้แก่ภูโน
ภูพระ บริเวณอำเภอคำม่วง และอำเภอเขาวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอภูพาน
ส่วนพื้นที่ตอนกลางของจังหวัด จะมีภูเขาบริเวณอำเภอกุฉินารายณ์ และอำเภอห้วยผึ้ง
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพานเช่นกัน
ป่าไม้
ในเขตภูเขาบริเวณตอนเหนือตามแนวเทือกเขาภูพานเป็นพื้นที่ป่าประมาณ ๑,๑๔๕,๐๐๐
ไร่ ประมาณร้อยละ ๒๖ ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด
เป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ประมาณ ๗๗๐,๐๐๐ ไร่ กระจายอยู่ในพื้นที่ ๑๐
อำเภอ เป็นป่าสงวน ฯ
๑๔ แห่ง อุทยานแห่งชาติ
๑ แห่ง คือ อุทยาน ฯ ภูพาน วนอุทยาน
๓ แห่งคือ วนอุทยานภูพระ วนอุทยานภูผาวัว และวนอุทยานภูแฝก
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
๑ แห่งคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสีงาม เขตห้ามล่าสัตว์ป่า
๒ แห่งคือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนลำปาว
ป่าดงมูลมีพื้นที่มากที่สุด ประมาณ ๒๕๙,๐๐๐ ไร่ รองลงมาคือ ป่าภูพาน
มีพื้นที่ประมาณ ๒๑๕,๐๐๐ ไร่ ป่าดงแม่แฝด มีพื้นที่ประมาณ ๑๑๙,๐๐๐ ไร่
แหล่งน้ำธรรมชาติ มีอยู่หลายแหล่งด้วยกันคือ
ลำน้ำปาว ลำน้ำพานและห้วยยาง
ทั้งสามสายมีแหล่งกำเนิดจากเทือกเขาภูพาน แล้วแยกสาขาออกไปสู่พื้นที่ใน ๗
อำเภอของจังหวัดคือ อำเภอท่าคันโท อำเภอคำม่วง อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอหนองกุงศรี
อำเภอยางตลาด อำเภอเมือง ฯ และอำเภอกมลาไสย ลำน้ำที่สำคัญคือ ลำน้ำปาวที่ไหลไปรวมกันเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่
จนมีการสร้างเขื่อนลำปาวซึ่งเป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
ลำน้ำยังหรือลำพยัง
มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพานในบริเวณที่เรียกว่าวังคำ แล้วไหลไปบรรจบกับลำน้ำสายเล็ก
ๆ แล้วไหลผ่านอำเภอเขาวง
อำเภอกุฉินารายณ์และอำเภอนามน จากนั้นไหลไปเข้าเขตอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วจึงไหลไปบรรจบกับลำน้ำชี
ลำน้ำชี
มีส่วนหนึ่งไหลผ่านเขตอำเภอกมลาไสยและอำเภอยางตลาด เป็นระยะทางประมาณ ๔๗ กิโลเมตร
ลำน้ำอื่น ๆ
ได้แก่ ห้วยโพธิ ห้วยสีทน ในเขตอำเภอเมือง ฯ ห้วยแกงในเขตกิ่งอำเภอดอนจาน
ห้วยผึ้ง ห้วยผา ห้วยสะทด ในเขตอำเภอห้วยผึ้ง มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพาน
ลำห้วยสานาเวียง อยู่ในเขตอำเภอเขาวง ลำห้วยมะโน ห้วยยางและห้วยขาม
มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพาน อยู่ในเขตกิ่งอำเภอนาคู
หนองบึง
มีอยู่ทั่วไปในบริเวณที่ราบลุ่มตอนใต้ของจังหวัดในเขตอำเภอกมลาไสย อำเภอร่องคำ
อำเภอเมือง ฯ และอำเภอกุฉินารายณ์ตอนใต้ ส่วนในอำเภอห้วยผึ้งก็ยังมีหนองไค่นุ่นและหนองบึงอื่น
ๆ อีก
การชลประทาน
มีการแบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็นสามระดับคือ
โครงการชลประทานขนาดใหญ่
ได้แก่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เป็นโครงการชลประทานประเภทเก็บกักน้ำและส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก
อยู่ในตำบลลำปาว อำเภอเมือง ฯ มีความจุ ๑,๔๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์คือ
อำเภอเมือง ฯ อำเภอยาวตลาด อำเภอกมลาไสย และกิ่งอำเภอฆ้องชัย
โครงการชลประทานขนาดกลาง
มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอยู่ ๑๘ แห่ง ความจุ ๘๘ ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทานในความรับผิดชอบประมาณ
๘๐,๐๐๐ ไร่ ในพื้นที่ ๗ อำเภอ และ ๒ กิ่งอำเภอคือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอยาวตลาด
อำเภอห้วยผึ้ง อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอห้วยเม็ก อำเภอสมเด็จ อำเภอเขาวง กิ่งอำเภอนาดู
และกิ่งอำเภอดอนจาน
โครงการชลประทานขนาดเล็ก
มีทั้งประเภทอ่างเก็บน้ำ และฝายทดน้ำในเขตพื้นที่ ๑๔ อำเภอ และ๔ กิ่งอำเภอ
เป็นอ่างเก็บน้ำ ๑๒๐ แห่ง กักเก็บน้ำได้ประมาณ ๒๒ ล้านลูกบาศก์เมตร และฝายทดน้ำ
๖๕ แห่ง รวมพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ ๖๑,๐๐๐ ไร่
การใช้ประโยชน์จากดิน
แบ่งการใช้ประโยชน์ออกเป็นสามส่วนคือ
พื้นที่การเกษตร
ประมาณ ๒,๕๘๓,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๕๙ ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นพื้นที่ทำนา
ทำไร่ ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอก และไม้ประดับ ตามลำดับ
พื้นที่เขตป่าสงวน
มีจำนวน ๑๔ ป่า พื้นที่ประมาณ ๑,๑๑๕,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๒๖ ของพื้นที่จังหวัด
เป็นพื้นป่าเพื่อการอนุรักษ์ประมาณ ๗๗๐,๐๐๐ ไร่
พื้นที่อยู่อาศัย
ประมาณ ๖๑๕,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๑๔ ของพื้นที่จังหวัด
ทรัพยากรธรรมชาติ
ป่าไม้
ชาวบ้านในท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธิ์ จำแนกป่าออกเป็น ๖ ประเภทด้วยกันคือ
ป่าภู
ได้แก่ ป่าบริเวณที่สูงและภูเขา หรือป่าดิบเขา
ป่าดง
ได้แก่ ป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ เป็นป่าที่มีไม้ใหญ่หนาแน่นและทึบกว่าป่าชนิดอื่น
ป่าโคก
ได้แก่ ป่าเต็งรัง อยู่บริเววณตอนกลาง มีลักษณะเป็นรูปลอนคลื่น พื้นที่เป็นดินทรายผสมกรวด
และหินลูกรัง
ป่าเหล่า
ได้แก่ ป่าที่เกิดใหม่หลังจากการบุกเบิกที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์
ป่าหญ้า
ได้แก่ ป่าที่มีหญ้าจำพวกหญ้าคา หญ้าแขม หญ้าเลา ขึ้นหนาแน่น หลังจากที่ป่าดงได้ถูกทำลายไป
ป่าบุ่งป่าทาบ
ได้แก่ ป่าริมฝั่งลำน้ไที่มีน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี
น้ำ
แห่งน้ำสำคัญของจังหวัดกาฬสินธิ์ ประกอบด้วย
แหล่งน้ำธรรมชาติ
มีลำน้ำ ห้วย ลำธาร และคลอง รวม ๔๘๙ สาย มีที่ใช้ได้ในฤดูแล้ง ๔๖๗ สาย มีหนองบึง
๘๙๘ แห่ง ใช้งานได้ในฤดูแล้ง ๘๒๔ แห่ง มีน้ำพุ น้ำชับ ๕ แห่ง ใช้งานได้ในฤดูแล้ง
๓ แห่ง
แหล่งน้ำชลประธาน
ประกอบด้วยแหล่งน้ำตามโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
และโครงการขนาดเล็กที่สร้างเสร็จแล้ว รวม ๑๙๖ โครงการ กักเก็บน้ำได้ ๑,๔๔๑
ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ ๔๔๕,๐๐๐ ไร่
ประชากร
ประชากรของจังหวัดกาฬสินธิ์ เป็นชาวไทยอีสาน เช่นเดียวกับประชากรของจังหวัดอิ่น
ๆ ในภาคอีสาน นอกจากนั้นยังมีชาวพื้นเมืองอื่น ๆ ที่มีวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม
คือ กลุ่มผู้ไท
ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง บ้านหนองห้าง อำเภอกูฉินารายณ์ บ้านกุดสิม อำเภอเขาวง
และกลุ่มย้อ ในตำบลแซงบาดาล
อำเภอสมเด็จ
ประชากรที่อยู่ในชุมชนเมือง
ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพค้าขาย รับราชการ รับจ้าง การอุตสาหกรรม ผลิตสินค้าหรือบริการต่าง
ๆ ประชากรเหล่านี้อยู่ในเขตเทศบาลเมือง ฯ และเขตสุขาภิบาลต่าง ๆ มีทั้งหมด
๒๑ แห่ง
ประชากรที่อยู่ในชนบท
เป็นประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัด ประมาณร้อยละ ๙๐ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา
ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ โดยอาศัยแรงงานธรรมชาติแและกรรมวิธีดั้งเดิม อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน
ประชากรที่เป็นคนพื้นเมือง มีภาษาพูดและขนบธรรมเนียม ประเพณีคล้ายคลึงกันเกือบทั้งจังหวัด
มีชาวผู้ไท ประมาณ ห้า - หก หมื่นคน ที่พูดภาษาเพี้ยนไปเล็กน้อย ประเพณีส่วนใหญ่คล้ายกันจนแยกไม่ออก
นอกจากนั้นยังมีภาษาที่เพี้ยนไปเล็กน้อยเช่น พวกข่า โซ่ และญ้อ ที่มีอยู่เป็นส่วนน้อย
ส่วนชนต่างชาติมีอยู่น้อยได้แก่ คนจีน คนญวน ซึ่งมาอยู่นานแล้ว ดังนั้นปัญหาชนกลุ่มน้อยจึงไม่มี
ชาวกาฬสินธิ์ส่วนใหญ่รักสงบ ร้อยละ ๙๙ นับถือศาสนาพุทธ และปฏิบัติตามครรลองทางศาสนาอย่างเคร่งครัด
นอกจากนั้นยังยึดถือตามขนบธรรมเนียมประเพณีฮีตสิบสอง และงานเทศกาลประจำปีที่สำคัญของแต่ละท้องถิ่น
|