www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางพระพุทธศาสนา
ศาสนาและศานวัตถุ
ศาสนสถานในเมืองฟ้าแดดสงยาง
พบร่องรอยของศาสนสถาน จำนวน ๑๔ แห่ง ลักษณะของแผนผังตลอดจนลายปูนปั้นที่ใช้ประดับ
มีลักษณะทางศิลปกรรมแบบทวารวดี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ และพบว่ามีการสร้างต่อเติมศาสนสถานดังกล่าวในสมัยต่อมา
ดังปรากฎหลักฐานรูปสี่เหลี่ยมทรงกลม และแปดเหลี่ยม
สถูปเจดีย์ต่าง ๆ มีจำนวนมากกว่า ๑๐ องค์ มีองค์ใหญ่ที่สำคัญคือ พระธาตุยาคู
พระธาตุยาคู
เป็นเจดีย์ใหญ่ และสมบูรณ์ที่สุด มีขาดกว้าง ๑๖ เมตร เป็นศิลปะแบบทวารววดี
ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ไม่สอปูน ฐานอิฐที่เหลือเพียง ๑.๑๕ เมตร มีเจดีย์แบบอยุธยาซ้อนทับ
และมีหลักฐานปรากฎว่ามีการสร้างต่อเพิ่มเติมใหม่อีกในสมัยรัตนโกสินทร์
สภาพปัจจุบันองค์พระธาตุ สูง ๑๕ เมตร รอบองค์พระธาตุมีใบเสมาสลักภาพพระพุทธประวัติปักอยู่
ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุของพระสงฆ์ ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ตั้งแต่ครั้งอพยพมาตั้งหมู่บ้าน
ณ ที่แห่งนี้
ศาสนสถานอื่น ๆ ได้แก่พระอุโบสถ สิมและอูบมุง
พระอุโบสถวัดกลาง กาฬสินธุ์
วัดกลางกาฬสินธุ์เป็นพระอารามหลวง มีพระอุโบสถ์ที่มีลักษณะโดดเด่นสวยงาม สร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๒ มีขนาดกว้าง ๘๐ เมตร ยาว ๑๗ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย
หลังคาลดสามชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ และสาหร่ายรวงผึ่งหน้าบันทั้งสองด้าน
ประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้นอย่างวิจิตรงดงาม รวมถึงคันทวยที่เป็นรูปสัตว์ในหิมพานต์คล้ายนกยูงสามหัว
บานประตู และหน้าต่างเป็นไม้แกะสลักอยู่ภายในกรอบปูนปั้น ที่ทำเป็นซุ้มเรือนแก้ว
พระอุโบสถยกพื้นสูง มีบันไดขึ้นทางด้านหน้าและด้านหลัง มียักษ์ถือกระบองยืนเฝ้าบันไดทั้งด้านหน้า
และด้านหลัง ด้านละสองตน
กำแพงแก้วรอบพระอุโบสถเป็นกำแพงย่อมุมไม้สิบสอง ที่มุมมีรูปเทวดาประจำมุมละองค์ทางขึ้นของกำแพงแก้วทั้งสี่ด้านประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้น
เป็นรูปสัตว์ในหิมพานต์แบบต่าง ๆ บนกำแพงรอบพระอุโบสถ ได้ประดับปูนปั้นเป็นภาพปริศนาภาษิตโบราณ
และนิทานพื้นบ้าน
อูบมุงวัดบึงนาเรียง
อยู่ที่บ้านมาเวียง อำเภอร่องคำ เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่มีลักษณะเป็นสถูป
(อูบมุง) ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปลายสอบเข้าหากันเป็นรูปโดม ก่อด้วยอิฐสอปูนปิดทึบ
เจาะเป็นช่องหน้าต่างสี่ด้าน ภายในเชื่อว่าบรรจุอัฐิธาตุของพระอรหันต์สาวก
สิมวัดกลางโคกค้อ
อยู่ในเขตอำเภอยาวตลาด เป็นสิมขนาดเล็ก มีสัดส่วนสวยงาม เป็นสิมโปร่ง หลังคาทรงโค้งรับกับปีกนก
ศาสนวัตถุ
ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ ใบเสมา
พระพุทธรูปสลักบนหน้าผา
พบที่หน้าผาภูปอ ตำบลภูปอ อำเภอเมือง เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ฝีมือช่างสมัยทวารวดี
สลักบนหน้าผามีอยู่สององค์ องค์แรก
ประดิษฐานอยู่บนเชิงเขาแสดงปางปรินิพพาน โดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ปลายพระบาทมีผ้ารอง
(สังฆาฎิสี่ชั้น) ตามคติที่ปรากฎในมหาปรินิพพานสูตร ส่วนองค์ที่สอง
ประดิษฐานอยู่บนภูปอ เบื้องล่างองค์พระสลักเป็นรูปพระแท่นบรรทม มีเสารองรับ
ที่วัดภูค่าว บ้านสีนวล อำเภอสหัสขันธ์ มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ สลักบนเพิงผา
มีลักษณะแปลกไปจากพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์อื่น ๆ คือ บรรทมตะแคงด้านซ้าย
แทนที่จะตะแคงด้านขวา ในท่าสีหไสยาสน์ นอกจากนั้น พระเศียรไม่มีพระเกตุมาลา
เชื่อกันว่าเป็นภาพสลักรูปพระโมคคัลลานะ ผู้เป็นพระสาวก
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๖ พระเจ้าศรีโคตรบูรณ์
ต่อยอดพระธาตุพนม สำเร็จจะประกอบพิธีสมโภช จึงแจ้งข่าวแก่หัวเมืองต่างๆ
ให้มาร่วมฉลอง นายสาและพรรคพวกได้เดินทางมาร่วมฉลองด้วย แต่เมื่อมาถึงบ่อคำม่วง
ก็ได้ทราบข่าวว่าการสมโภชพระธาตุพนมได้เสร็จสิ้นแล้ว จึงตกลงกันให้ฝังสมบัติที่นำมาไว้ที่ภูค่าว
และสลักรูปพระไสยาสน์ไว้ ณ เพิงผาแห่งนี้
พระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ
ได้แก่ พระพุทธรูปตั้งแต่สมัยลพบุรีลงมา มีอยู่ดังนี้
พระพุทธรูป ที่บ้านโนพระเจ้าคอกุด บ้านส้มป่อย ตำบลสงเปือย อำเภอเขาวง
อยู่ในสมัยทวารวดี
พระพุทธรูปปางนาคปรก ที่บ้านเชียงสา ตำบลบัวบาน อำเภอยาวตลาด อยู่ในสมัยลพบุรี
พระพุทธรูปปางนาคปรก ที่บ้านนาสีนวล ตำบลบึงนาเรียง อำเภอห้วยเม็ก อยู่ในสมัยลพบุรี
พระพุทธรูป ที่วัดกลางกุดสิมคุ้มเก่า อำเภอเขาวง อยู่ในสมัยลพบุรี
พระพุทธรูปหิน ที่วัดป่าสักวัน บ้านโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ อยู่ในสมัยลพบุรี
พระพุทธรูปสำริด นิโรคันตราย (พระองค์ดำ) ประดิษฐานอยู่ที่วัดกลาง
อำเภอเมือง ฯ อยู่ในสมัยล้านช้าง
พระพุทธรูปสำริด ประดิษฐานอยู่ที่วัดภูแล่นช้าง บ้านภูแล่นช้าง
กิ่งอำเภอนาคู อำเภอกมลาไสย อยู่ในสมัยล้านช้าง
พระแก้วมรกต บึงนาเรียง บ้านนาเรียง อำเภอร่องคำ อยู่ในสมัยล้านช้าง
พระเจ้าใหญ่บ้านต้อน อำเภอเมือง ฯ อยู่ในสมัยล้านช้าง
พระพุทธบุษราคำมิ่งมงคล วัดสิมนาโก อำเภอกุฉินารายณ์ อยู่ในสมัยล้านช้าง
พระพุทธหนองอีบุตรมิ่งมงคล อำเภอห้วยผึ้ง อยู่ในสมัยล้านช้าง
พระพรหมภูมิปาโล ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาภูสิงห์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย
ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์
- ใบเสมา
พบใบเสมากระจายอยู่ในพื้นที่หลายอำเภอ คือ อำเภอกมลาไสย พบมากในบริเวณเมืองน้ำแดดสงยาง
อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอนามน อำเภอยาวตลาด อำเภอท่าคันโท และกิ่งอำเภอฆ้องชัย
ใบเสมาดังกล่าว มีลักษณะที่สลักเป็นรูปสถูป หรือมีสันตรงกลางแผ่น และสลักเป็นภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับชาดก
และพระพุทธประวัติ ที่งดงามมาก เป็นศิลปะสมัยทวารวดี พอประมวลได้ดังนี้
- กลุ่มใบเสมา ที่วัดภูค่าวพุทธนิมิตร บ้านโสกทราย อำเภอสหัสขันธ์ เป็นแผ่นเรียบหัก
ไม่ปรากฎทิศทาง
- ใบเสมาหิน จำนวน ๖ หลัก เป็นประเภทแผ่นเรียบ ปักอยู่บริเวณเนินดิน ที่บ้านโนนศิลา
อำเภอสหัสขันธ์
- ใบเสมาหิน ที่บ้านหนองห้าง ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ เป็นภาพเล่าเรื่องวิฑูร
ชาดก
- ใบเสมาบ้านนางาม ตำบลบ่อแก้ว อำเภอเขาวง เป็นเสมาหินทรายแผ่นเรียบ
- ใบเสมาหิน ที่บ้านสังคมพัฒนา ตำบลหลักเหลี่ยม อำเภอนามน
- ใบเสมาหิน ที่บ้านหนองห้าง ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ เป็นแท่งหินสี่เหลี่ยม
ยอดกลมแหลม
- ใบเสมา ที่วัดบ้านทรัพย์ อำเภอท่าคันโท เป็นใยเสมาแผ่นเรียบ ยอดแหลม
- ใบเสมาที่วัดบ้านนาบง ตำบลหนองหิน อำเภอหนองกุงศรี เป็นรูปสี่เหลี่ยมปลายแหลม
- ใบเสมา ที่วัดบ้านดงสว่าง ตำบลสงเปือย อำเภอนามน
- ใบเสมา ที่บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอนามน
- ใบเสมา ที่ศาลเจ้าปู่เจ้าท่า วัดบ้านท่ากลาง ตำบลเจ้าท่า อำเภอกมลาไสย
- ใบเสมา ที่วัดกลางกุดสิมคุ้มเก่า ตำบลสงเปือย อำเภอเขาวง
- ใบเสมา ที่วัดบ้านหนองแสง ตำบลสงเปือย อำเภอเขาวง
- ใบเสมา ที่บ้านดอนแคน ตำบลบ่อแก้ว อำเภอเขาวง
- ใบเสมา ที่บ้านดอนน้อย บ้านดอนนาแก ตำบลหลุบ อำเภอเมือง ฯ
- ใบเสมาหิน ที่วัดสว่างอารมณ์ บ้านอุ้มเม่า อำเภอยาวตลาด
- ใบเสมาหิน ที่วัดบ้านขมิ้น ตำบลขมิ้น อำเภอเมือง ฯ
- ใบเสมาหิน ที่วัดดอนย่งบาง บ้านดอนย่านาง อำเภอยาวตลาด
- ใบเสมาหิน ที่วัดโนนศิลาเสิง บ้านโนนศิลาเสิง อำเภอกมลาไสย
- ใบเสมาหิน ที่โรงเรียนโนนศิลาสว่างวิทย์ บ้านโนนศิลาเสิง อำเภอกมลาไสย
- ใบเสมาหิน ที่วัดโพนมาดี ตำบลสงเปือย อำเภอเขาวง
- ใบเสมาหิน ที่วัดเหนือ บ้านบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์
- ใบเสมาหิน ที่วัดกกตาล ตำบลหูลิง อำเภอกุฉินารายณ์
- ใบเสมาหิน ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อำเภอเมือง ฯ
- ใบเสมาหิน ที่พิพิธภัณฑ์วัดกลาง อำเภอเมือง ฯ
- ใบเสมาหิน ที่วัดสว่างคงคา อำเภอเมือง ฯ
- ใบเสมาหิน ที่วัดเหนือ อำเภอเมือง ฯ
- ใบเสมาหิน ที่วัดสิมนาโก ตำบลนาโก อำเภอกุฉินารายณ์
- พระพิมพ์ดินเผา
พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นแบบเดียวกับพระพิมพ์ดินเผาที่พบในเมืองนครจัมปาศรี
เมืองกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม และยังเหมือนกับพระพิมพ์ดินเผาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในภาคใต้ พระพิมพ์บางองค์มีจารึกอยู่ด้านหลัง
|