www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
จังหวัดชุมพร
จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดเหนือสุดของภาคใต้บริเวณคอคอดกระ อยู่ห่างจากกรุงเทพ
ฯ ตามทางหลวงหมายเลข ๔ (เพชรเกษม) ประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร และตามทางรถไฟสายใต้ประมาณ
๔๘๐ กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงคือ
ทิศเหนือติดต่อกับอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และประเทศพม่า
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทยหรือทะเลจีนใต้
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดระนอง และประเทศพม่า
จังหวัดชุมพรมีลักษณะพื้นที่ยาว และแคบคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวตามแนวชายฝั่งทะเลประมาณ
๒๒๐ กิโลเมตร มีความกว้างประมาณ ๔๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๓.๗๕ ล้านไร่
หรือประมาณ ๖,๐๑๐ ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
ด้านทิศตะวันตกมีเทือกเขาตะนาวศรี
และเทือกเขาภูเก็ต เป็นแนวกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า
จึงมีลักษณะเป็นพื้นที่สูงลาดเขาจากทิศตะวันตก สู่พื้นที่ต่ำทางทิศตะวันออก
ประกอบด้วยภูเขาและป่าไม้ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญสายสั้น ๆ หลายสาย
ไหลลงสู่ที่ต่ำทางด้านทิศตะวันออกเช่น แม่น้ำตะเภา
แม่น้ำหลังสวน และแม่น้ำสวี เป็นต้น
บริเวณตอนกลางของจังหวัดมีลักษณะเป็นที่ราบ ลูกคลื่นและที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก
มีพื้นที่ประมาณหนึ่งในสี่ของพื้นที่จังหวัด ด้านทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบตามแนวชายฝั่งทะเลของอ่าวไทย
ชายหาดค่อนข้างเรียบ หาดทรายกว้างมีความโค้งเว้าน้อย สวยงามมาก จึงเป็นสถานที่พักผ่อน
และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด
แม่น้ำลำคลอง
มีอยู่หลายสายในเกือบทุกอำเภอ ที่สำคัญมีดังนี้
- อำเภอเมือง ฯ
ได้แก่ แม่น้ำชุมพร แม่น้ำท่าตะเภา และคลองหัววังพนังตัก
- อำเภอท่าแซะ
ได้แก่ คลองรับร่อ และคลองท่าแซะ
- อำเภอสวี
ได้แก่ แม่น้ำสวี และคลองสวีเฒ่า
- อำเภอทุ่งตะโก
ได้แก่ แม่น้ำตะโก
- อำเภอละแม
ได้แก่ คลองละแม
ฝั่งทะเลและชายหาด
ที่สำคัญเรียงลำดับจากเหนือมาใต้ มีดังนี้
- อำเภอปะทิว
ได้แก่ หาดถ้ำธง หาดบ่อเมา และทุ่งวัวแล่น
- อำเภอเมือง ฯ
ได้แก่ อ่าวพนังตัก หาดคอสน หาดภราดรภาพ หาดผาแดง หาดทรายรี และอ่าวทุ่งมะขาม
- อำเภอสวี
ได้แก่ หาดทรายรี อำเภอสวี
- อำเภอทุ่งตะโก
ได้แก่ หาดอรุโณทัย
- อำเภอหลังสวน
ได้แก่ หาดคอเขา
- อำเภอละแม
ได้แก่ หาดตะวันฉาย และหาดทะเลงาม
ทรัพยากรธรรมชาติ
จังหวัดชุมพร มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีค่าทั้งบนบกและในทะเล
ได้ชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้เมืองหนึ่ง ทรัพยากรดังกล่าว ได้แก่
ทรัพยากรแร่ธาตุ ป่าไม้ ประมง ทรัพยากรทางทะเล ทรัพยากรทางการเกษตร และทรัพยากรการท่องเที่ยว
ทรัพยากรแร่ธาตุ
มีอยู่ทุกอำเภอ เท่าที่สำรวจพบมีดังนี้
- แร่ดีบุก
พบที่อำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ อำเภอท่าแซะ อำเภอปะทิว และอำเภอละแม
- แร่โมน่าไซท์
พบที่อำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ และอำเภอท่าแซะ
- แร่มังกานีส
พบมากที่อำเภอเมือง ฯ
- แร่ตะกั่ว
พบที่อำเภอสวี อำเภอละแม
- ทรายแก้ว
พบที่อำเภอสวี อำเภอละแม อำเภอปะทิว และอำเภอเมือง ฯ
- แร่พลวง
พบที่อำเภอหลังสวน อำเภอสวี และอำเภอท่าแซะ
- แร่โคลัมไบท์
พบที่อำเภอพะโต๊ะ
- แร่เซอร์คอม
พบที่อำเภอปะทิว
ทรัพยากรป่าไม้
มีพันธุ์ไม้เศรษบกิจขึ้นอยู่หนาแน่น ในอดีตมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มากจังหวัดหนึ่ง
มีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ ๒,๐๘๒,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๕๕ ของพื้นที่จังหวัด
แต่ปัจจุบันเหลือป่าไม้อยู่เพียงประมาณ ๗๑๔,๐๐๐ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๑๙
ของพื้นที่จังหวัด มีป่าสงวนอยู่ ๒๖ แห่งคิดเป็นพื้นที่ประมาณ ๑,๘๐๗,๐๐๐
ไร่ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ๑ แห่ง พื้นที่ประมาณ ๒๓๔,๐๐๐ ไร่
วนอุทยาน ๑ แห่ง พื้นที่ประมาณ ๔,๓๐๐ ไร่
ไม้สำคัญได้แก่ ไม้ยูง ยาง เคี่ยม ตะเคียน หลุมพอ สีเสียด จำปา ตาเสือ เป็นต้น
ในอดีตมีหวายชนิดหนึ่งคือหวายชุมพร มักจะขึ้นอยู่ตามต้นน้ำลำคลองทั่วไป ปัจจุบันหาได้ยากมาก
ทรัพยากรประมง
จากทำเลที่ตั้งซึ่งมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ ๒๒๐ กิโลเมตร มีเกาะแก่งในทะเลเกือบ
๕๐ เกาะ ความลึกเฉลี่ยของระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๐ - ๓๐ เมตร บริเวณนี้จึงเหมาะกับการทำการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ดังนี้
- การทำประมงชายฝั่งทะเล
มีการทำประมงขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีเรือประมงขนาดใหญ่ไม่มากนัก ทำการประมงได้ปีละ
๗ - ๙ เดือน โดยห้ามทำการประมงในฤดูปลาวางไข่ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม
- การทำประมงน้ำจืด
มีปลาน้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่จำนวนมาก ที่เป็นปลาพื้นเมืองเช่น
ปลาดุก ปลาช่อน ฯ แหล่งน้ำะรรมชาติขนาดใหญ่ และมีปลาชุกชุมที่สุดคือ หนองใหญ่
อำเภอเมือง ฯ
- การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
มีการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล บริเวณอำเภอชายฝั่งตั้งแต่อำเภอปะทิว ไปจนถึงอำเภอละแม
การเลี้ยงหอยมีอยู่สองชนิดคือ
หอยแมลงภู่ และหอยนางรม บริเวณอำเภอเมือง ฯ อำเภอสวีและอำเภอละแม การเพาะเลี้ยง
สัตว์น้ำในกระชัง มีการเลี้ยงปลากะพงขาวและปลาเก๋า เลี้ยงที่อำเภอปะทิว อำเภอหลังสวน
และอำเภอทุ่งตะโก
ทรัพยากรทางทะเล
นอกจากมีทรัพยากรประมงแล้วยังมีทรัพยากรประเภทอื่นอีกมากคือ
- ปะการังน้ำตื้น
พบมากที่หมู่เกาะทองหลาง เกาะเสม็ด เกาะมัดตรา เกาะอีแรด เกาะสาก เกาะจรเข้และเกาะไข่
- ปะการังน้ำลึก
พบมากและสวยงามที่สุดที่เกาะทะลุ เกาะกะโหลก หมู่เกาะหินหลักงาม เกาะง่ามใหญ่
เกาะง่ามน้อย เกาะร้านไก่และเกาะร้านเป็ด
- ปูไก่
จัดเป็นสัตว์ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดชุมพร มีขนาดเท่าปูแสม เวลาร้องเสียงเหมือนเสียงลูกไก่
พบอยู่ทุกเกาะแก่งในเขตจังหวัดชุมพร มีมากที่สุดที่เกาะมัดตรา
ทรัพยากรการเกษตร
เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพของประชากร มีทั้งพืชสวนและพืชไร่ ดังนี้
- มะพร้าว
ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง มีปลูกอยู่ทุกอำเภอ ที่มีมากได้แก่อำเภอสวีและอำเภอเมือง
ฯ มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ไร่
- ปาล์มน้ำมัน
เป็นพันธุ์ผสมซึ่งเป็นพันธุ์ดี มีปลูกมากที่อำเภอปะทิว อำเภอหลังสวน อำเภอท่าแซะ
และอำเภอละแมมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ ๒๓๕,๐๐๐ ไร่
- ยางพารา
เป็นยางพันธุ์ดี อำเภอที่ปลูกมากที่สุดคืออำเภอปะทิว รองลงมาได้แก่อำเภอพะโต๊ะและอำเภอท่าแซะ
มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ ๓๖๒,๐๐๐ ไร่
- กาแฟ
มีพื้นที่ปลูกกาแฟมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศคือร้อยละ ๙๐ เป็นกาแฟพันธุ์โรบัสต้าปลูกมากที่สุดในอำเภอสวี
รองลงมาคืออำเภอพะโต๊ะ และอำเภอท่าแซะ ส่วนใหญ่ปลูกพืชอื่นแซม
- สับปะรด
เป็นพืชไร่ที่เริ่มมีการปลูกหลังจากถูกพายุใต้ฝุ่นเกย์พัดผ่านเขตจังหวัดชุมพร
ส่วนใหญ่ปลูกแซมในพืชสวนมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ ๒๕,๐๐๐ ไร่ พันธุ์ที่นิยมปลูกคือพันธุ์ปัตตาเวีย
- ไม้ผล
มีการปลูกกันมานาน โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนล่างของจังหวัดที่มีชื่อเสียงคือ
อำเภอหลังสวน ผลได้ทื่สำคัญคือ เงาะ มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ ๖๖,๐๐๐ ไร่ ปลูกมากที่อำเภอหลังสวน
รองลงมาคืออำเภอทุ่งตะโกและอำเภอพะโต๊ะ ตามลำดับ ทุเรียน มีพื้นที่ปลูกประมาณ
๑๔๐,๐๐๐ ไร่ ปลูกมากที่อำเภอหลังสวน รองลงมาคืออำเภอเมือง ฯ และอำเภอสวี มังคุด
มีพื้นที่ปลูกประมาณ ๕๙,๐๐๐ ไร่ ปลูกมากที่อำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะและอำเภอเมือง
ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีพืชอื่น ๆ ได้แก่กล้วยเล็บมือนาง ลองกองและส้มโชกุน เป็นต้น
ทรัพยากรการท่องเที่ยว
มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งทั้งที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
มีทั้งที่เป็นธรรมชาติทางทะเล ภูเขา ถ้ำ น้ำตกและวนอุทยาน
- จำพวกหาดทรายงาม
เช่น หาดคอสน หาดภราดรภาพ หาดผาแดง หาดทรายรี อ่าวทุ่งมะขาม ในเขตอำเภอเมือง
และหาดทะเลงามในเขตอำเภอละแม
- จำพวกหาดคอเขา
เช่น อำเภอปะทิวมีหาดบ่อเมา หาดแหลมแท่น หาดสะพลี หาดทุ่งวัวแล่น อำเภอทุ่งตะโก
มีหาดอรุโนทัย อำเภอหลั่งสวนมีหาด เกาะพิทักษ์ อำเภอละแมมีหาดตะวันฉาย
- เกาะแก่งทางทะเล
เช่น อำเภอเมือง ฯ มีเกาะเสม็ด เกาะมัดตรา (เกาะตังกวย) เกาะทะลุ เกาะมะพร้าว
เกาะแรด เกาะทองหลาง อำเภอปะทิวมีเกาะไข่ เกาะจรเข้ เกาะง่ามใหญ่ เกาะง่ามน้อย
- จำพวกภูเขา ถ้ำ น้ำตกและวนอุทยาน
เช่น อำเภอเมือง ฯ มีถ้ำสนุกสาขารมณ์ ถ้ำขุนกระทิง วนอุทยานเขาพาง อำเภอหลังสวนมีถ้ำเขาเงิน
ถ้ำเขาเกรียบ น้ำตกห้วยเหมือง น้ำตกผาเมือง อำเภอสวีมีถ้ำทิพย์ปรีชา อำเภอท่าแซะมีถ้ำรับร่อ
(เทพเจริญ) วนอุทยานน้ำตกกะเปาะ อำเภอปะทิวมีถ้ำพิสดาร ถ้ำเขาทะเลทรัพย์
ถ้ำเขาตีนเป็ด น้ำตกทุ่งยอ ถ้ำลับแล (ถ้ำนางทอง) อำเภอพะโต๊ะมีน้ำตกเหลวโหลม
แก่งปกไฟ อำเภอทุ่งตะโกมีน้ำตกทับช้าง& อำเภอละแมมีบ่อน้ำร้อน และถ้ำเขาพลุ
ประชากร
จังหวัดชุมพรมีประชากร (พ.ศ.๒๕๔๑) ประมาณ ๔๕๒,๐๐๐ คน อำเภอที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดคือ
อำเภอเมือง ฯ และอำเภอพะโค๊ะ เป็นอำเภอที่มีประชากรหนาแน่นน้อยที่สุด
ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธคิดเป็นประมาณร้อยละ ๙๗.๒๐ รองลงมาได้แก่ ศาสนาอิสลาม
ประมาณร้อยละ ๑.๘๖ ศาสนาคริสต์ประมาณร้อยละ ๐.๔๗ ศาสนาอื่น ๆ ประมาณร้อยละ
๐.๔๗
ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิมมีนิสัยอ่อนโยน รักถิ่นฐาน รักความสงบ
มีจิตใจโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีชนกลุ่มน้อยอยู่หลายกลุ่มคือ
กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น
เป็นคนไทยโดยกำเนิดแต่ได้อพยพไปทำมาหากินในประเทศพม่า เขตหมู่บ้านบกเปี้ยน
ต่อมาได้หนีภัยสงครามกลับเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ในเขตตำบลสลุย และเขตตำบลสองพี่น้อง
อำเภอท่าแซะ ชาวบ้านทั่วไปเรียกชนกลุ่มน้อยนี้ว่า คนลังเคี่ย ต่อมาทางราชการให้ชื่อว่าคนไทยพลัดถิ่น
กลุ่มลาวโซ่ง
อพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดราชบุรี มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านดอนรวย
ตำบลบางหมาก อำเภอเมือง ฯ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีวัฒนธรรมของตนเองอย่างต่อเนื่อง
เช่นการแต่งกายชุดพื้นเมืองเรียกว่า ชุดไทยทรงดำ ซึ่งส่วนใหญ่จะใส่ในงานเทศกาลสงกรานต์
ในงานนี้จะมีการฟ้อนรำชุดไทยทรงดำ โดยใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบการรำ และยังมีการเล่นแคนของบรรดาชายหนุ่ม
โดยไปเล่นเป่าแคนที่บ้านของหญิงสาวหมู่บ้านอื่น
กลุ่มกะเหรี่ยงพุทธ
เป็นชนกลุ่มน้อยที่หนีภัยจากการสู้รบในประเทศพม่า เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวรบ้านปืนแตก
(แพรกยิงกัน) ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าแซะ อยู่ห่างจากบริเวณแนวชายแดนไทยประมาณ
๒ กิโลเมตร
กลุ่มกะเหรี่ยงคริสต์
เป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพมาจากประเทศพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายแดนไทยในเขตตำบลสองพี่น้อง
อำเภอท่าแซะ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์
การเมืองและการปกครอง
จังหวัดชุมพรแบ่งเขตการปกครองเป็น ๘ อำเภอ ๗๐ ตำบล ๖๘๓ หมู่บ้าน
ความมั่นคง
จังหวัดชุมพรมีอาณาเขตด้านทิศตะวันตกในเขตอำเภอท่าแซะติดต่อกับประเทศพม่า
ในเขตอำเภอบกเปี้ยน จังหวัดมะริด โดยมีเทือกเขาตะนาวศรี และเทือกเขาภูเก็ตเป็นเส้นแบ่งเขตแดน
ตามสนธิสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๑๐ และแลกเปลี่ยนสัตยาบันที่กรุงเทพ
ฯ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๑ โดยอาศัยสันปันน้ำเทือกเขาที่อยู่ในเขตอำเภอท่าแซะ
ยาวประมาณ ๕๒ กิโลเมตร กับร่องน้ำลึกแม่น้ำกระบุรี ที่อยู่ในเขตอำเภอท่าแซะประมาณ
๘ กิโลเมตร เป็นเส้นแบ่งเขตแดน พื้นที่ในเขตอำเภอท่าแซะที่ติดต่อกับสหภาพพม่ามีสี่ตำบลคือ
ตำบลหงษ์เจริญ ตำบลรับร่อ ตำบลสลุย และตำบลสองพี่น้อง ซึ่งมีช่องทางเข้าออกบริเวณชายแดน
เป็นช่องทางเดินเท้าที่สำคัญอยู่สองช่องทางคือ
- ช่องหินดาษ
(บ้านถ้ำดิน) อยู่ในเขตตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ ใช้เป็นเส้นทางชักลากไม้หาของป่าและล่าสัตว์
สภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ภูเขา
- ช่องขะมิ่ว
อยู่ในเขตตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าแซะ เป็นช่องทางเดินเท้า
ช่องทางดังกล่าว มีผลกระทบต่อความมั่นคงและทรัพย์สินของราษฎรไทยในบริเวณแนวชายแดน
มีการอพยพราษฎรบริเวณชายแดน และการปฎิบัติการของกองกำลังกะเหรี่ยงบางส่วนได้ล่วงล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย
เป็นภาระของกำลังทหารฝ่ายไทยในการผลักดันให้ออกไปจากราชอาณาจักร
คณะกรรมการชายแดนไทยส่วนภูมิภาคระหว่างไทยกับพม่า ได้มีการประชุมสมัยพิเศษเมื่อ
วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๖ ณ กรุงย่างกุ้ง เพื่อแก้ปัญหาเนิน
๔๙๑ ผลการประชุมทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงให้ทหารพม่าปรับย้ายกำลังออกจากเนิน
๔๙๑ จึงไม่มีกำลังฝ่ายใดบนเนิน ๔๙๑
|