www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางธรรมชาติ
พื้นที่ป่า
ในอดีตจังหวัดชุมพรมีพื้นที่ป่าซึ่งเป็นป่าดิบชื้นขึ้นหนาแน่นอยู่ทั่วไป และมีพื้นที่ป่าชายเลนตามแนวชายฝั่งทะเล
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ มีอยู่ประมาณร้อยละ ๖๘ ของพื้นที่จังหวัด มาถึงปี พ.ศ.๒๕๔๑
ลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๑๗.๕
จากการที่พื้นที่ป่ามีปริมาณลดลงตามลำดับอย่างรวดเร็ว ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินการแบ่งเขตดูแลรักษา
และจัดการป่าออกเป็น ๔ ประเภทคือ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
มีอยู่สี่แห่งด้วยกันคือ
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมหลวงชุมพร
ด้านทิศเหนืออยู่ในเขตอำเภอท่าแซะ อำเภอบางสะพานน้อย
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมหลวงชุมพร
ด้านทิศใต้ อยู่ในเขตอำเภอท่าแซะ และอำเภอเมือง ฯ และต่อไปยังอำเภอกระบุรี
จังหวัดระนอง
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งระยะ - นาสัก
อยู่ในเขตอำเภอสวี และอำเภอเมือง
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อม
อยู่ในเขตอำเภอพะโต๊ะ
อุทยานแห่งชาติ
มีอยู่สองแห่งด้วยกันคือ
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร (เดิมชื่อหาดทรายรี)
ครอบคลุมพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ตอนกลางด้านตะวันตก ทิศเหนือจรดเกาะจรเข้
ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว ทิศใต้จรดบ้านห้องครก ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน ทิศตะวันออกจรดเกาะง่ามใหญ่
ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง ฯ ทิศตะวันตกจรดป่าชายเลน คลองวิสัย ตำบลวิสัยเหนือ
อำเภอเมือง ฯ
อุทยาน ฯ ประกอบด้วยพื้นน้ำทะเล หาดทราย อ่าว ป่าชายเลน ภูเขา และเกาะน้อยใหญ่มากกว่า
๔๐ เกาะ และมีระบบนิเวศน์เป็นป่าชายหาด ป่าชายเลน พื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้งแนวปะการัง
ในเขตอำเภอปะทิว อำเภอเมือง ฯ อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก และอำเภอหลังสวน ที่มีหาดและแนวปะการังสวยงาม
เป็นสิ่งสำคัญของการท่องเที่ยวทางทะเลในจังหวัดชุมพร
- อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว
อยู่ในเขตอำเภอทุ่งตะโก และอำเภอสวี และครอบคลุมไปถึงเขตจังหวัดระนอง
วนอุทยาน
มีอยู่เพียงแห่งเดียวคือ วนอุทยานน้ำตกกะเปาะ อยู่ในเขตอำเภอท่าแซะ
ป่าสวนแห่งชาติ
มีอยู่ ๒๖ แห่งชาติ กระจายอยู่ทั่วเขตจังหวัด มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของจังหวัด
ในด้านการทำสงครามกับพม่า
ต้นน้ำลำธารและแหล่งน้ำสำคัญ
ลักษณะทางภุมิศาสตร์ของจังหวัดชุมพรทางทิศตะวันตกประกอบด้วยเทือกเขาสูง ตอนกลางเป็นที่ราบลูกคลื่น
และลาดเทไปสู่ที่ต่ำทางทิศตะวันออก จึงมีแหล่งต้นน้ำลำธารและลำคลองน้อยใหญ่หลายสาย
ทำให้มีน้ำดื่มน้ำใช้ได้เพียงพอตลอดปี เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ในฤดูมรสุมอาจมีน้ำไหลบ่ารุนแรง
เกิดภาวะน้ำท่วมได้
ต้นน้ำลำธารในพื้นที่ป่าชายแดนไทย - พม่า
เกิดจากน้ำที่ไหลจากเทือกเขาตะนาวศรี บริเวณหุบเขากระทะครอบ ในเขตอำเภอบางสะพาน
จังหวัดประจวบ ฯ หุบเขาด้านตะวันตกของอำเภอท่าแซะ ตลอดถึงอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
ไหลมาบรรจบกันเป็นลำน้ำน้อยใหญ่ เช่น
- คลองรับร่อ
เกิดจากคลองพันวาน คลองบางท่า คลองสะพุง คลองอาธรรม และคลองพะงัน
- คลองท่าแซะ
เกิดจากคลองขะมิ้ว คลองวัว คลองพละ คลองบางทะลาย
- แม่น้ำท่าตะเภา
เกิดจากคลองท่าแซะ ที่ไหลผ่านเขตตำบลต่าง ๆ ของอำเภอท่าแซะตอนเหนือ มาบรรจบกันที่บ้านปากแพรก
ตำบลนากระดาน อำเภอท่าแซะ
- คลองชุมพร
ต้นกำเนิดจากหุบเขาติดต่อกับอำเภอกระบุรี สำน้ำไหลมารวมกันเป็นคลองสายนี้
ต้นน้ำลำธารน้ำตกกะเปาะ
อยู่ในเขตพื้นที่สองอำเภอคือ บริเวณตำบลหงษ์เจริญ อำเภอท่าแซะ ตำบลทะเลทรัพย์
อำเภอปะทิว เป็นแหล่งต้นน้ำที่มีป่าร่มรื่น เขตวนอุทยานน้ำตกกะเปาะมีแอ่งน้ำเป็นชั้น
ๆ มีน้ำไหลตลอดปี แหล่งน้ำนี้ก่อให้เกิดน้ำตกเล็ก ๆ สำหรับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
ใช้ในชีวิตประจำวันมีอยู่สองแห่งคือ น้ำตกกะเปาะ ในเขตอำเภอท่าแซะ และน้ำตกทุ่งยอ
อยู่ในเขตอำเภอปะทิว
ต้นน้ำลำธารเขตป่าสงวนบางน้ำจืด
เป็นพื้นที่ต้นน้ำจากแถบเทือกเขาเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของอำเภอปะทิว เช่น เขามะโรง
เขาดินสอ ไหลมารวมกันเป็นแอ่งน้ำในเขตตำบลทะเลทรัพย์ แล้วไหลลงสู่ทะเลที่บ้านปากคลอง
อำเภอปะทิว
ตันน้ำลำธารเขตติดต่อกับอำเภอละอุ่น
จังหวัดระนอง อยู่ในเขตอำเภอสวี ทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นเขตเทือกเขากับเขตแดนระหว่างจังหวัดชุมพร
กับจังหวัดระนอง เกิดจากแหล่งน้ำทางทิศตะวันออกของเขาแม่แคน ไหลผ่านป่าดงดิบ
ทับจางวางหรือคลองทุบทู่ ไหลลงมารวมกับลำน้ำอื่น ๆ เช่น คลองหินดำ คลองดินแดง
(ตีนแดง) คลองถ้ำประทุน คลองน้ำลอดน้อยในเขตเขาทะลุ ตำบลเขาค่ายไหลมาบรรจบกันเป็นคลองสวี
พื้นที่ต้นน้ำยังเป็นบริเวณป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ระหว่างเทือกเขาหินปูนสลับซับซ้อน
เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่เกษตรกรต้องใช้น้ำในการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ และผลไม้ต่าง
ๆ
ต้นน้ำลำธารในเขตพื้นที่ป่าปากทรง - พะโต๊ะ
เป็นแหล่งน้ำที่มีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวอำเภอพะโต๊ะ และอำเภอหลังสวน
เกิดจากเทือกเขาภูเก็ต โดยเฉพาะภูเขาแดนและภูเขายายหม่อน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารไหลรวมกันเป็นลำน้ำน้อยใหญ่
เช่น คลองเสาะ คลองปากทรง ลำน้ำทั้งสองสายไหล มาบรรจบกันที่ตำบลปากทรง เป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำหลังสวน
จากคลองน้ำไหลไปบรรจบแม่น้ำหลังสวน ที่ตำบลพะโต๊ะ จากคลองพระรักษ์ คลองเอนก
คลองเงิน ไหลไปบรรจบแม่น้ำหลังสวน ในเขตตำบลพระรักษ์ คลองปังหวาน ไหลไปบรรจบแม่น้ำหลังสวนในเขตตำบลปังหวาน
ต้นน้ำลำธารดังกล่าวเป็นจุดกำเนิดน้ำตกที่สวยงามของอำเภอพะโต๊ะ ได้แก่ น้ำตกเหวโหลน
ในเขตตำบลปากทรง และน้ำตกจำปูน ในเขตตำบลพระรักษ์ เป็นจุดกำเนิดน้ำตกที่สวยงามของ
อำเภอหลังสวน ในเขตตำบลนาเขาได้แก่ น้ำตกห้วยเหมือง และน้ำตกผางาม
ต้นน้ำลำธารในพื้นที่ป่าสงวนป่าละแม
เป็นแหล่งน้ำสำคัญของชาวละแม เกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอพะโต๊ะ ไหลผ่านตำบลต่าง
ๆ ในเขตอำเภอละแม ได้แก่ ตำบลละแม ตำบลทุ่งคาวัด ตำบลทุ่งหลวง โดยมีคลองเสร็จ
ไหลมาบรรจบกับคลองละแม ที่ตำบลละแม และไหลลงสู่ทะเลในเขตตำบลละแม
แหล่งน้ำสำคัญ
ได้แก่ แม่น้ำลำคลองหลายสายด้วยกัน ดังนี้
- แม่น้ำท่าตะเภา
เกิดจากการรวมตัวกันของคลองท่าแซะกับคลองรับร่อ ที่บ้านปากแพรก ตำบลท่ากระดาน
อำเภอท่าแซะ แล้วไหลผ่านตำบลหาดพันไกร บางลึก ท่าตะเภา บางหมาก แล้วไหลลงสู่ทะเล
ในเขตตำบลปากน้ำ อำเภอเเมือง ฯ มีความยาวประมาณ ๓๓ กิโลเมตร
- แม่น้ำชุมพร เกิดจากเทือกเขาในเขตตำบลปากจั่น
อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ไหลไปทางทิศตะวันออกถึงบ้านคอนสมอ แล้วไหลผ่านตำบลวังไผ่
บ้านขุนกระทิง ตำบลตากแดด อำเภอเมือง ฯ มีความยาวประมาณ ๕๐ กิโลเมตร
- แม่น้ำหลังสวน
ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในเขตตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ แล้วไหลวกไปทางตะวันออกผ่านสวตำบลปังหวาน
วังตะกอ หาดยาย หลังสวน แหลมทราย พ้อแดง บางมะพร้าว อำเภอหลังสวน ยาวประมาณ
๑๐๐ กิโลเมตร
- คลองรับร่อ ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาตะนาวศรี
บริเวณชายแดนไทยกับพม่า ผ่านหหุบเขาต่าง ๆ ลงมาทางใต้ เข้าเขตอำเภอท่าแซะ
แล้วไหลไปทางตะวันออก ผ่านเขตตำบลรับร่อ ทุ่งข้ามไปบรรจบคลองท่าแซะ ในเขตตำบลนากระดาน
เป็นแม่น้ำท่าตะเภา มีความยาวประมาณ ๖๕ กิโลเมตร
- คลองท่าแซะ
ต้นน้ำจากเทือกเขาในเขตอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวน ฯ แล้วไหลผ่านเขตตำบลสองพี่น้อง
สลุย ทรัพย์อนันต์ ท่าแซะ นากระดาน อำเภอท่าแซะ ไปบรรจบคลองรับร่อเป็นแม่น้ำท่าตะเภา
มีความยาวประมาณ ๗๗ กิโลเมตร
- คลองสวี ต้นน้ำเกิดจากภูเขาในเขตตำบลละอุ่นเหนือ
อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง แล้วไหลไปทางเหนือจากนั้นวกไปทางตะวันออกเข้าเขตอำเภอสวี
ผ่านเขตตำบลเขาทะลุ นาสัก ทุ่งระยะสวี นาโพธิ์ ปากแพรก
ท่าหิน แล้วไหลลงสู่ทะเล ในเขตตำบลด่านเสวี อำเภอสวี มีความยาวประมาณ
๗๕ กิโลเมตร
- คลองตะโก
ต้นน้ำเกิดจากภูเขาในเขตอำเภอหลังสวน แล้วไหลผ่านเขตตำบลทุ่งตะโก ทุ่งตะไคร้
ปากตะโก แล้วไหลลงสู่ทะเลในเขตตำบลปากตะโก มีความยาวประมาณ ๒๐
กิโลเมตร
- คลองสวีเฒ่า
ต้นน้ำเกิดจากภูเขาในเขตตำบลทุ่งระยา อำเภอสวี ไหลไปทางทิศตะวันออก ผ่านเขตตำบลนาโพธิ์
แล้ววกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านเขตตำบลปากแพรก แล้วไหลลงสู่ทะเล
ในเขตตำบลวิสัยใต้ อำเภอสวี มีความยาวประมาณ ๓๐ กิโลเมตร
- คลองละแม
ต้นน้ำเกิดในตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ ไหลไปทางตะวันออกลงสู่ทะเล ในเขตตำบลละแม
อำเภอละแม มีความยาวประมาณ ๓๖ กิโลเมตร
ฝั่งทะเลและชายหาดที่สำคัญ
ชุมพรมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลยาว ๒๒๒ กิโลเมตร ทำให้มีชายหาดและอ่าวอยู่มากมาย
ที่สำคัญเรียงตามลำดับจากอำเภอเหนือสุดคือ อำเภอปะทิว ถึงอำเภอใต้สุดคือ อำเภอละแม
มีดังนี้
อ่าว
มีอยู่ด้วยกัน ๖ อ่าวคือ
- อ่าวถ้ำธง - อ่าวบางเบิด
อยู่ในเขตตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว มีหาดทรายยาว ชายฝั่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ่
๑ เมตร ตลอดแนวชายฝั่งในฤดูมรสุม จะมีลมแรงพัดเอาทรายสีขาวขึ้นไปกองเป็นแนวคล้ายเนินทรายเตี้ย
ๆ สลับซับซ้อนสวยงาม น้ำทะเลใสสะอาดเป็นธรรมชาติที่มีเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น
- อ่าวทุ่งมหา
อยู่ในเขตตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว เป็นอ่าวที่มีความสวยงามคล้ายรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว
ทางด้านตะวันออกของอ่าว มีเกาะหลายเกาะ เช่น เกาะเรียว เกาะพระ
เกาะรังนก ฯลฯ เกาะดังกล่าวเหล่านี้ได้อาศัยเป็นที่จอดเรือหลบลมของชาวประมง
เป็นอ่าวที่มีระดับน้ำตื้น ในฤดูร้อนน้ำน้อย สามารถเดินข้ามน้ำไปยังเกาะต่าง
ๆ ที่อยู่ไกล ๆ ได้
- อ่าวบางสนหรืออ่าวหน้าทับ
อยู่ในเขตอำเภอปะทิว มีหาดทรายสีขาว น้ำทะเลใสสะอาด หาดทรายยาว เป็นแหล่งหาซื้ออาหารทะเลที่มีชื่อของอำเภอปะทิว
- อ่าวทุ่งวัวแล่น อยู่ในเขตอำเภอปะทิว
มีหาดทรายขาวสะอาดสวยงามมีชื่อมากแห่งหนึ่งของจังหวัดชุมพร มีสถานที่พักตากอากาศหลายแห่ง
- อ่าวพนังดัก
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ บริเวณอ่าวกว้างขวาง ชายหาดยาวเต็มไปด้วยทิวมะพร้าว
มีความงามตามธรรมชาติเหมาะที่จะใช้
เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
- อ่าวทุ่งมะขาม
อยู่ในเขตหาดทรายรี อำเภอเมือง ฯ แบ่งออกเป็นอ่าวทุ่งมะขามนอกและอ่าวทุ่งมะขามใน
โค้งอ่าวมีลักษณะเป็นครึ่งวงกลมสองวงวางเรียงกัน โดยมีแหลมหินมีหินก้อนใหญ่น้อยวางอยู่อย่างแปลกตาเป็นจุดแบ่งเขตของอ่าวทั้งสอง
ทางด้านเหนือเป็นอ่าวทุ่งมะขามใน มีหาดทรายขาวทอดตัวขนานกับทิวมะพร้าว ยาวประมาณ
๑ กิโลเมตร ถัดไปจากแหลมหินเป็นอ่าวทุ่งมะขามนอก มีโค้งอ่าวซึ่งประกอบด้วย
หาดทรายสีขาวนวลทอดตัวยาวไปทางใต้ประมาณ ๓ กิโลเมตร มีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่หนาแน่นตลอดแนว
หาดทราย
มีอยู่ หาดด้วยกันคือ
- หาดบ่อเมา
อยู่ในอ่าวบ่อเมา ในเขตอำเภอปะทิว เป็นหาดทรายขนาดกลาง ริมหาดมีหมู่บ้านชาวประมง
- หาดคอสน
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ เป็นหาดทรายผสมดินเลน มีหอยทะเลชุกชุม
- หาดภราดรภาพ
อยู่ในเขตตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง ฯ เป็นหาดทรายยาวประมาณ ๓ กิโลเมตร สวยงาม
ทอดขนานไปกับทุ่งมะพร้าว
- หาดผาแดง
อยู่ถัดจากหาดภราดรภาพไปทางใต้อีกประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีลักษณะเป็นหน้าผาดินสีแดงสูงประมาณ
๑๐ เมตร จากจุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ท้องทะเล เกาะแก่งและหาดทรายในบริเวณนั้นได้ดี
- หาดทรายรี
อยู่ในเขตตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง ฯ อยู่ถัดจากหาดผาแดงไปทางใต้ประมาณ ๑
กิโลเมตร เป็นหาดทรายสีขาวสะอาดตา เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ
พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้เสด็จมาประทับ และสิ้นพระชนม์
ณ ตำบลหาดทรายรีแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ มีอนุสรณ์สถานสำคัญคือ ศาลกรมหลวงชุมพร
ฯ สวนสมุนไพรหมอพร และเรือรบกรมหลวงชุมพร
- หาดทรายรีสวี
อยู่ในเขตตำบลท่าหิน อำเภอสวี เป็นหาดทรายขนาดใหญ่ ทอดตัวยาวขนานกับทิวมะพร้าวที่มีอยู่มากมายในบริเวณนั้น
เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ
- หาดอรุโณทัย
อยู่ในเขตตำบลปากน้ำตะโก อำเภอทุ่งตะโก เป็นหาดทรายขนาดใหญ่ ยาวประมาณ ๖ กิโลเมตร
ถัดจากหาดทรายขึ้นไปเป็นทิวสนขึ้นอยู่หนาแน่น ส่วนทางด้านเหนือเป็นแนวของต้นมะพร้าว
- หาดคอเขา
อยู่ในเขตตำบลนาพญา อำเภอหลังสวน เป็นหาดที่สะอาด เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบธรรมชาติและท้องทะเล
ถัดจากหาดทรายขึ้นมาเป็นเนินเขา ที่เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด
- หาดตะวันฉาย
อยู่ในเขตตำบลละแม อำเภอละแม เป็นหาดทรายยางเต็มไปด้วยทิวมะพร้าวมีความงดงามตามธรรมชาติเหมาะแก่การพักผ่อน
- หาดทะเลงาม
อยู่ที่หมู่บ้านดอนแค ตำบลสวนแตง อำเภอละแม เป็นหาดทรายที่ทอดตัวยาว ๘ กิโลเมตร
มีทิวมะพร้าวขึ้นขนานไปกับแนวชายหาด อยู่ติดกับอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎรธานี
มีสถานที่พักตากอากาศ
เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ
บ่อน้ำร้อนถ้ำเขาพลู
อยู่ในบริเวณถ้ำเขาพลู ในเขตตำบลสวนแตง อำเภอละแม มีอยู่สามบ่อด้วยกันคือ
บ่ออารีธารทิพย์ บ่อพฤกษาชลธาร และบ่ออมฤตธารา ความร้อนของน้ำในบ่อประมาณ
๕๐ - ๖๐ องศาเซลเซียส บริเวณบ่อน้ำร้อน แวดล้อมไปด้วยไม้ป่านานาพันธุ์
ถ้ำเขาเกรียบ
อยู่ในเขตตำบลบ้านควน อำเภอหลังสวน มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม
จัดว่าเป็นถ้ำที่มีความสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ถ้ำเขาเงิน
อยู่ในเขตตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน ในบริเวณเดียวกันกับสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ชุมพร
เป็นสถานที่แสดงเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เคยเสด็จประพาส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒ และได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปฎิสังขรณ์พระเจดีย์
พร้อมจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ที่บริเวณหน้าถ้ำซึ่งมีลักษณะคล้ายกระโจมขนาดใหญ่
มีปล่องทะลุถึงด้านบน
เขาทะลุ อยู่ที่บ้านกลาง ตำบลเขาทะลุ
อำเภอสวี เอกลักษณ์ของเขาลูกนี้คือ การมีบริเวณช่องทะลุที่ปลายยอดเขา สามารถมองทะลุภูเขาออกไปยังอีกด้านหนึ่งได้
จึงเป็นที่มาของชื่อภูเขารวมทั้งชื่อตำบลที่ภูเขานี้ตั้งอยู่
สุสานปะการัง
อยู่ที่บริเวณชายหาดเกาะไข่ ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว เป็นสถานที่สะสมซากปะการังน้ำตื้นประเภทต่าง
ๆ เช่น ปะการังเขากวาง ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังเห็ด และปะการังชนิดอื่น ๆ
ในปริมาณมากซากปะการังเหล่านี้เกิดจากการพัดทำลายของพายุเกย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒
และถูกคลื่นลมทะเลพัดพามากองรวมกัน ในบริเวณดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่หลายสิบตารางเมตร
ซากปะการังดังกล่าวมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี
เนินทรายบ้านถ้ำธง
อยู่บริเวณเขาถ้ำธง อำเภอปะทิว ลักษณะเป็นเนินทรายยาวเหยียดติดต่อกันเป็นรูปโค้งและรูปแฉก
โดยพื้นที่ด้านในเป็นที่ลุ่มน้ำขัง แต่เดิมบริเวณเนินทรายนี้เป็นส่วนหนึ่งของอ่าว
ต่อมามีสันทรายเกิดขึ้นจากการพัดพาของคลื่นทะเล ทำให้ด้านหลังของสันทรายกลายเป็นที่ลุ่มน้ำขัง
บริเวณสันทรายนี้ประกอบด้วย เนินทรายที่มีเม็ดทรายขนาดเล็กละเอียดกว่าเม็ดทรายบริเวณชายหาด
และมีพืชขึ้นปกคลุมบางแห่งของเนินทรายที่มีความสูง ๑๐ - ๒๐ หลา จากระดับน้ำทะเล
ลักษณะเช่นนี้มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย
เนิน ๔๙๑
ตั้งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างพรมแดนไทยกับพม่า ในเขตตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ สถานที่นี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดชุมพร
เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๙ พม่าได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่โดยรอบบริเวณเนินแห่งนี้
ต่อมาได้มีการเจรจากัน จนพม่าถอนกำลังออกไป ปัจจุบันจังหวัดชุมพรได้พัฒนาเนินแห่งนี้
ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
|