www.dooasia.com > เมืองไทยของเรา > เมืองเก่าของไทย
พระปทุมสุรราช ได้พากันอพยพจากบ้านเวียงดอนทองมาอยู่ที่บ้านดอนมดแดงริมแม่น้ำมูล ต่อมาได้ไปราชการสงครามปราบเมืองเขมรได้ชัยชนะ ขยายพระราชอาณาเขตกรุงรัตนโกสินทร์ออกไป และได้เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งแต่นั้นมา ในปี พ.ศ. ๒๓๓๔ ทางเมืองนครจำปาศักดิ์เกิดขบถอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ตั้งตัวเป็นใหญ่ ยึดเมืองนครจำปาศักดิ์ได้ พระปทุมสุรราชเจ้าเมืองอุบลจึงได้มีใบบอกไปยังฝ่ายหน้าผู้น้อง ให้ร่วมกันยกกำลังไปปราบอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ทั้งสองพี้น้องได้ยกกำลังไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์กลับคืนมาได้ ก่อนที่กองทัพเมืองนครราชสีมาจะยกมาถึง และให้เจ้าฝ่ายหน้าติดตามจับอ้ายเชียงแก้วเขาโองได้ แล้วประหารชีวิตเสีย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเจ้าฝ่ายหน้าขึ้นเป็นเจ้า มีพระราชทินนามว่า เจ้าพระยาพิชัยราชขัติยวงศา เจ้านครจำปาศักดิ์ ให้ย้ายจากบ้านสิงห์ท่า ไปอยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ ทางบ้านสิงห์ท่าได้ให้ท้าวคำม่วงผู้เป็นน้องชายปกครองแทน ในปี พ.ศ. ๒๓๕๔ เจ้าพระยาวิชัยราชขัติยวงศาถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้านู หลานเจ้านครจำปาศักดิ์องค์เดิม คือพระเจ้าไชยกุมารเป็นผู้ครองนครจำปาศักดิ์สืบต่อไป ทำให้เจ้าราชวงศ์สิงห์ บุตรเจ้าพระยาวิชัยราชขัติยวงศาไม่พอใจ จึงขอกลับไปอยู่บ้านสิงห์ท่า และได้ปรับปรุงบ้านสิงห์ท่าให้ใหญ่โตรุ่งเรืองขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๓๕๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง ชื่อ เมืองยโสธร หรือยศสุนทร ให้เจ้าราชวงศ์สิงห์เป็นเจ้าครองเมือง มีราชทินนามว่า พระสุนทรวงศา พระราชทานเครื่องยศตามตำแหน่งเจ้าเมืองประเทศราช ให้เมืองยโสธรส่งส่วยบำรุงราชการเป็นของหลวงคือ น้ำรักสองเลขต่อเบี้ย ป่านสองเลขต่อขวด มีอาณาเขตปกครอง คือ ทิศเหนือถึงภูสีฐาน ด่านเมยยอดยัง ทิศใต้ถึงห้วยก้ากวาก ทิศตะวันออกถึงบ้านคำพระคำมะแว ลำน้ำเซ ทิศตะวันตกถึงลำห้วยไส้ไก่วังเจ็ก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเกิดศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เมืองยโสธรก็ได้รับเกณฑ์เข้าร่วมศึกครั้งนี้ด้วยได้ชัยชนะ ได้รับพระราชทานเชลยเมืองเวียงจันทน์ ๕๐๐ ครอบครัว และพระราชทานปืนใหญ่ไว้สำหรับเมืองหนึ่งกระบอกชื่อว่า ปืนนางป้อง ยังปรากฏอยู่ที่ศาลหลักเมืองยโสธรมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อพระสุนทรราชวงศาเห็นได้เป็นเจ้าเมืองแล้ว ได้นำศิลาจากบ้านแก้งหินโงมมาสร้างพระพุทธบาทจำลอง แล้วสร้างวัดป่าอัมพวัน และวัดกลางศรีไตรภูมิไว้เป็นวัดคู่เมือง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๗ ได้เกิดศึกฮ่อยกกำลังมาตีเมืองหนองคาย เมืองยโสธรถูกเกณฑ์ให้ยกกำลังไปสมทบ กองทัพจากกรุงเทพ ฯ เป็นจำนวน ๕๐๐ คน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๖ พวกฮ่อได้ยกกำลังมาตั้งอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ เมืองยโสธรได้รับเกณฑ์ให้เอากำลังช้างม้าโคต่างๆ ไปเป็นพาหนะบรรทุกเสบียงไปเลี้ยงกองทัพ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบเมืองประเทศราช มาเป็นการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมืองอุบลราชธานีเป็นเมืองเอก มีเมืองขึ้น ๔๑ เมือง เมืองยโสธรอยู่ใน ๔๑ หัวเมืองดังกล่าวด้วย ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้ยกกำลังจากเมืองญวนมาตีเมืองสมโบกของไทย เมืองยโสธรได้ถูกเกณฑ์ให้ไปช่วยรักษาเขตแดนโดยนำกำลังไปสมทบกองทัพจากกรุงเทพ ฯ สามกองทัพ กองทัพละ ๑,๐๐๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้เปลี่ยนชื่ออำเภออุทัยยโสธรเป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว เปลี่ยนชื่ออำเภอปจิมยโสธร เป็นอำเภอยโสธร เมืองยโสธรจึงลดฐานะจากเมืองมาเป็นอำเภอตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |