www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณสถานและโบราณวัตถุ
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
พบโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ คือ ขวานหินขัด เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยสำริด
ภาชนะดินเผา ลูกปัดแก้ว และเครื่องประดับชนิดต่าง ๆ ซึ่งพบบริเวณห้วยม่วง
แหล่งโนนบ้านฮ้าง แหล่งโนนปลาฝา และแหล่งโนนมะขาม อำเภอกุฉินารายณ์
สมัยทวารวดี
พบโบราณวัตถุจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วไปเกือบทุกอำเภอ แบ่งประเภทได้ดังนี้
ประเภทเครื่องมือเครื่องใช้
พบสิ่งที่ทำด้วยโลหะคือ สำริด และเหล็ก เช่น ลูกกระพรวน มีด เครื่องประดับลูกแก้ว
เครื่องถ้วยชาม หม้อ ไห คนโท พบมากที่เมืองฟ้าแดดสงยาง นอกจากนั้นยังพบที่บ้านสามโคก
ตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย ที่บ้านคอนเรียบ บ้านช้างอียอ อำเภอเมือง ฯ ที่บ้านหนองบัวนอก
ตำบลหลักเหลี่ยม อำเภอนามน และที่บ้านห้วยม่วง อำเภอกุฉินารายณ์
ประเภทศิลาจารึก
พบที่บ้านมะค่า อำเภอท่าคันโท ที่บ้านโนนศิลา วัดภูค่าว อำเภอสหัสขันธ์ ที่บ้านห้วยม่วง
อำเภอกุฉินารายณ์ ที่บ้านส้มป่อย อำเภอเขาวง และที่บ้านสว่าง กิ่งอำเภอฆ้องชัย
จารึกด้วยอัษรปัลลวะ เป็นภาษามอญโบราณ มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖
ประเภทใบเสมา
พบกระจายอยู่ในพื้นที่หลายอำเภอคือ อำเภอกมลาไสย บริเวณเมืองฟ้าแดดสองยาง
นอกจากนั้นยังพบที่อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอนามน อำเภอยาวตลาด
อำเภอท่าคันโท และกิ่งอำเภอฆ้องชัย ใบเสมามีทั้งลักษณะที่สลักเป็นรูปสถูป
หรือมีสันตรงกลางแผ่น และสลักเป็นภาพ เล่าเรื่องเกี่ยวกับชาดก และพุทธประวัติที่งดงามมาก
ประเภทพระพิมพ์ดินเผา
พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีทุกแห่ง ที่เมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย เป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้นยังพบในเขตอำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอนาบน และอำเภอเมือง
ฯ
ประเภทพระพุทธรูปสลักบนหน้าผา
พบที่หน้าผาภูปอ ตำบลภูปอ อำเภอเมือง ฯ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์
สลักบนหน้าผาสององค์ องค์แรกประดิษฐานอยู่ที่เชิงเขา เป็นปางปรินิพพาน โดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ
ปลายพระบาทมีผ้ารอง (สังฆาฎิสี่ชั้น) ตามที่ปรากฎหลักฐานในมหาปรินิพพานสูตร
ส่วนองค์ที่สองประดิษฐานอยู่บนภูปอ เบื้องล่างองค์พระสลักเป็นรูปพระแท่นบรรทม
มีเสารองรับ
นอกจากนั้นที่วัดภูค่าว บ้านสีนวล อำเภอสหัสขันธ์ ยังพบพระพุทธรูปปางไสยาสน์สลักบนเพิงผา
มีลักษณะแปลกกว่าพระพุทธไสยาสน์องค์อื่นคือ บรรทมตะแคงซ้าย พระเศียรไม่มีพระเกตุมาลา
เชื่อกันว่าเป็นพระสาวกคือพระโมคคัลลานะ
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๖ พระเจ้าศรีโคตรบุตรต่อยอดพระธาตุพนมสำเร็จ
จะประกอบพิธีสมโภชฉลอง จึงแจ้งข่าวแก่หัวเมืองต่าง ๆ ให้มาร่วมฉลอง ได้มีชาวเมืองต่าง
ๆ มาร่วมสมโภชเป็นจำนวนมาก แม้ในเมืองที่อยู่ไกลมีผู้คนจากดินแดนเขมรได้เดินทางมาร่วมสมโภช
แต่พอมาถึงบ่อคำม่วงก็ได้ทราบข่าวว่าการสมโภชได้เสร็จสิ้นไปแล้ว จึงได้ตกลงกันให้ฝังสมบัติที่นำมาไว้ที่ภูค่าง
และสลักรูปของพระพุทธไสยาสน์ไว้ ณ เพิงผาแห่งนั้น พร้อมตั้งปริศนาไว้มีความหมายว่า
เบื้องหน้าพระพุทธไสยาสน์นี้ ได้ฝังสมบัติไว้ ถ้าผู้ใดพบให้นำสมบัตินั้นไปทำบุญทำทานด้วย
สมัยลพบุรี เป็นโบราณวัตถุอิทธิพลเขมร
แยกประเภทได้ดังนี้
ภาชนะดินเผาเคลือบ ศิลปะลพบุรี ขุดได้กลางลำน้ำปาว
ภาชนะประเภทถ้วยชาม พบที่บ้านหนองแปน กิ่งอำเภอฆ้องชัย
โกลนพระพุทธรูปสองชิ้น พบที่วัดภูค่างพุทธนิมิต บ้านโสกทราย อำเภอสหัสขันธ์
พระพุทธรูปปางนาคปรก พบที่บ้านเชียงสา ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด
ภาชนะดินเผา ที่บ้านร้าง บ้านยางเทียม ตำบลห้วยเม็ก อำเภอห้วยเม็ก
พระพุทธรูปปางนาคปรก บ้านนาสีนวล ตำบลบึงนาเรือง อำเภอห้วยเม็ก
ภาชนะดินเผาและเครื่องประดับอาคารสถานที่ บ้านโนนสะอาด อำเภอสมเด็จ
พระพุทธรูปศิลปะลพบุรี ที่วัดกลางกุดสิมคุ้มเก่า อำเภอเขาวง
พระพุทธรูปหินศิลปะลพบุรี ที่วัดป่าสักวัน บ้านโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์
ฐานศิวลึงค์ พบที่พระเจ้าคอกุด บ้านส้มป่อย ตำบลสงเปือย อำเภอเขาวง
ภาชนะดินเผา พบที่บ้านหนองแสง อำเภอเขาวง และวัดสิมนาโก อำเภอกุฉินารายณ์
สมัยวัฒนธรรมไทยลาว
ตรงกับสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้รับอิทธิพลทางศิลปะแบบล้านช้าง ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปที่สำคัญของกาฬสินธุ์
เช่น
พระพุทธรูปสำริดนิรโรคันตราย (พระองค์คำ) ประดิษฐานอยู่ที่วัดกลาง อำเภอเมือง
ฯ
พระพุทธรูปสำริดบ้านภูแล่นช้าง ประดิษฐานอยู่ที่วัดภูแล่นช้าง กิ่งอำเภอนาคู
พระเจ้าใหญ่ บ้านกลางหมื่น อำเภอเมือง ฯ
พระเจ้าใหญ่ วัดปฐมเกษาราม อำเภอกมลาไสย
พระแก้วมรกต บึงนาเรียง บ้านนาเรียง อำเภอร่องคำ
พระเจ้าใหญ่บ้านต้อน อำเภอเมือง ฯ
พระพุทธบุษราคัมมิ่งมงคล วัดสิมนาโก อำเภอกุฉินารายณ์
พระพุทธนาคมิ่งมงคล กิ่งอำเภอนาค
พระพุทธหนองอีบุตรมิ่งมงคล อำเภอห้วยผึ้ง
สำหรับพระพุทธลักษณะของพระพุทธรูปอิทธิพลศิลปะล้านช้างนี้จะมีความแตกต่างกับพระพุทธรูปสมัยอื่นอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะพระกรรณมีความคล้ายคลึงไปทางสกุลช่างทวาราวดี และสกุลช่างอู่ทอง ส่วนพระรัศมีและการประดับตกแต่งมากเป็นพิเศษ
มักประดับเพชรพลอยสีต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ นิ้วพระหัตถ์มีทั้งแบบธรรขันต์และแบนิ้วทั้งสี่ทางเท่ากัน
นอกจากนั้นยังมีปางห้ามญาติตามแบบอย่างพระบาง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของลาว
ศิลปหัตถกรรมและงานช่าง
จิตรกรรม
มีภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำเซ่งเม่ง อยู่ใกล้บ้านม่วง อำเภอกุฉินารายณ์
ลักษณะของแหล่งที่พบ เป็นก้อนหินทรายขนาดใหญ่ กว้างประมาณ ๑๓ เมตร สูงประมาณ
๒ เมตร มีภาพเขียนด้วยสีแดงคล้ายน้ำหมาก เป็นภาพฝ่ามือจำนวน ๑๓ ภาพ
ใช้วิธีเขียนสองแบบคือวิธีทาบและวิธีทาบก่อนแล้วเขียนลายก้นขดลงบนฝ่ามือ
นอกนั้นยังพบที่ถ้ำลายมือภูผาผึ้ง บ้านหนองห้อง อำเภอกุฉินารายณ์ พบที่เพิงผาหินทราย
เป็นภาพฝ่ามือคนจำนวน ๑๗๑ ภาพ มีทั้งมือเด็กและมือผู้ใหญ่ ใช้วิธีทาบ ๑๖๕
ภาพ และใช้วิธีทาบก่อนแล้วเขียนลายก้นขดลงบนอุ้งมือ จำนวน ๖ ภาพ
ต่อมาในยุควัฒนธรรมไทย - ลาว พบว่ามีภาพฝาผนังเรื่องทศชาติชาดกที่มีฝีมือการเขียนเป็นเลิศ
เชื่อว่าเป็นฝีมือช่างหลวงพบที่บ้านหนองสง ตำบลลำปาว อำเภอเมือง ฯ และภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดบ้านนาจาน
ตำบลไผ่ อำเภอเมือง ฯ เป็นเรื่องราวในพระพุทธศาสนา เป็นฝืมือช่างพื้นบ้านที่งดงามมาก
สถาปัตยกรรม
สิ่งก่อสร้างที่เป็นผลงานของช่างพื้นบ้านชาวอีสานยังประโยชน์ใช้สอยให้เกิดขึ้นนานัปการ
ตั้งแต่เถียงนา ตูบเรือนเหย้า เรือนที่อยู่อาศัย บรรดาศาสนสถาน เช่น โบสถ์
(สิม) ศาลาการเปรียญ (หอแจก) หอไตร หอกลอง ฯลฯ ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสานซึ่งมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม
ความเชื่อ สังคมและเผ่าพันธุ์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่พบในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์
แบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ
สถาปัตยกรรมที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิม
เช่น บ้านอีสาน บ้านผู้ไท ลักษณะองค์ประกอบและเนื้อที่ใช้สอยของเฮือน (เรือน)
อีสาน มีดังนี้
เฮือนใหญ่ (เรือนใหญ่)
ส่วนมากมีความยาวช่วงเสา ใต้ถุนโล่ง เรียกว่า เฮือนสามห้อง ชั้นบนมีสามส่วน
ห้องเปิง เป็นเรือนนอนของลูกชาย
ฝาเรือนมีหิ้งสำหรับไว้ของที่เคารพบูชา เช่น พระพุทธรรูป หรือรูปบูชาต่าง
ๆ ห้องพ่อ - ห้องแม่
บางทีก็มีฝากั้นบางทีก็โล่ง ห้องนอนลูกสาว
มีฝากั้นและประตู
ชั้นล่าง ส่วนหนึ่งจะเป็นคอกวัว คอกควาย อีกส่วนหนึ่งเป็นบริเวณพักผ่อนตอนกลางวันและใช้ทำงานหัตถกรรมพื้นบ้าน
ใต้พื้นบ้านมีหิ้งไว้ใส่ของเช่น จอบ เสียม ของใช้ทำไร่นา
เกยหรือชานโล่ง
เป็นชายที่มีหลังคาคลุม ชั้นบน พื้นเกยจะต่ำกว่าพื้นเฮือนใหญ่ โดยจะมีพื้นไม้เหยีบขึ้นไปเข้าเฮือนใหญ่
เกยใช้เป็นที่นอนของสมาชิกในครอบครัว ที่กินอาหาร และที่รับแขก ชั้นล่างไม่ค่อยใช้ประโยชน์มากนักเพราะใต้ถุนเตี้ย
อาจใช้เป็นที่เก็บของ
เฮือนโขง (เรือนโข่ง)
ประโยชน์ใช้สอยเหมือนเกย ผิดกันที่รูปร่างของหลังคา และโครงสร้างซึ่งแยกจากเฮือนใหญ่
สามารถรื้อไปปลูกใหม่ไวด้ ในวกรณีที่สมาชิกในครอบครัวต้องการเฮือนเหย้า การต่อเชื่อมหลังคาใช้
ฮังริน (รางน้ำ) ไม้สองแผ่นยาด้วยขี้ชี ในกรณีที่ไม่มีชานแดดและเฮือนไฟ (เรือนครัว)
ก็จะใช้พื้นที่นี่ทำครัวได้
เฮือนแฝด (เรือนแฝด)
รูปร่างและประโยชน์ใช้สอยเหมือนเฮือนโร่ง แต่ลักษณะโครงสร้างไม่เหมือนกันคือ
โครงสร้างของเฮือนแฝด ทั้งขื่อและคานฝากกับเฮือนใหญ่ ระดับพื้นสูงงเท่ากัน
ชานแดด (ชานนอก)
ระดับพื้นของชานแดด จะลดระดับลงมาอีก ใช้เป็นที่นั่งพักผ่อนและกินอาหาร ชานแดดจะมีหลายแห่งคือชานนแดดด้านหน้าและด้านหลังเฮือนใหญ่
บางแห่งเรียกชานมน ชั้นล่างของชานแดด ไม่ค่อยใช้ประโยชน์มากนัก เพราะใต้ถุนเตี้ย
เฮือนไฟ (เรือนครัว)
ชั้นบนส่วนมากเป็นเฮือนสองห้อง ใช้เป็นครัวประกอบอาหาร ซึ่งจะมีกระบะดินรองพื้นสำหรับก่อไฟ
ไม่มีเตา แต่จะมีก้อนดินสามก้อน (ก้อนเส้า) รองรับภาชนะหุงต้ม ภายในห้องเป็นที่เก็บภาชนะอาหารแห้ง
ชั้นล่างใช้เก็บฟืน และไม้ที่สะสมไว้ สร้างเรือน
ฮ้างแอ่งน้ำ (ร้านแอ่งน้ำ)
เป็นเพลิงหมาแหงน มีฐานสำหรับวางแอ่งวน้ำดินเผาพร้อมฐานรอง ความสูงพอเหมาะกับการยืนตักด้วยกระบวยกะลามะพร้าวได้
เล้าข้าว (ยุ้งข้าว)
ลักษณะยกใต้ถุนสูงพอดีกับการเทียบเกวียนข้าวเปลือกเข้ายุ้งข้าวได้ สามารถเก็บข้าวเปลือกได้นานเป็นปีจนถึงหน้าทำนาใหม่
ใต้ถุนเล้าข้าวส่วนมากจะเป้นเล้าเป็ด เล้าไก่ เพื่อให้เป็ดไก่เก็บข้าวหลุมจากเล้าข้าวมาเป็นอาหาร
สถาปัตยกรรมเกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ
มีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญมีคุณค่าทางศิลปะและปวระวัติศาสตร์คือ
พระธาตุยาคู
เป็นเจดีย์ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาเจดีย์ที่ง ๑๔ แห่ง ที่พบในเมืองฟ้าแดดสงยาง
องค์พระธาตุกว้าง ๑๖ เมตร เป็นศิลปะแบบทวารวดี ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ไม่สอปูน
มีเจดีย์แบบอยุธยาซ้อนทับ และมีการสร้างเพิ่มเติมในสมัยรัตนโกสินทร์ สภาพปัจจุบันสูง
๑๕ เมตร
อูบบุง วัดบึงนยาเรียง
บ้านนาเรียง อำเภอร่อนคำ ลักษณะเป็นสถูป (อูบมุง) ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส ปลายสอบเข้าหากัน
เป็นรูปโครง ก่อด้วยอิฐสอปูนปิดทึบ เจาะเป็นช่องหน้าต่างสี่ด้าน
สิม โบสถ์วัดบึงมาเรียง
เป็นสิมโบราณ ลักษณะเป็นสิมทึบ ก่ออิฐสอปูนทั้งสี่ด้าน ตัวสิมยกฐานสูง ทรงสอบเข้าหากัน
มีหลังคาปีกนกครอบอาคาร ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษา
จังหวัดกาฬสินธุ์มีภาษาที่ใช้ในท้องถิ่นอยู่สามภาษาคือ
ภาษาไทยอีสานหรือภาษาไทยลาว
เป็นภาษาของคนส่วนใหญ่ เป็นภาษาพูด ส่วนภาษาเขียนเรียกว่า ภาษาไทยน้อย จารลงไว้ในหนังสือผูก
ใช้อักษรสองแบบคืออักษรไทยน้อยและอักษรตัวธรรม
ปัจจุบันภาษาไทยอีสานจะใช้เป็นภาษาพูดในท้องถิ่น ส่วนภาษาเขียนจะใช้ภาษาไทยกลางเป็นหลัก
ภาษาไทยหรือภูไท
มีลักษณะทางภาษาศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับภาษาไทยอีสานเป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้พูดกัน
ไม่มีภาษาเขียน ใช้พูดกันประมาณร้อยละ ๒๐
ภาษาญ้อ
ใช้พูดกันในบางหมู่บ้านมีไม่มากนัก ประมาณร้อยละ ๑๐
วรรณกรรม
เรื่องที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ ตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง
ตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองฟ้าแดด
ฯ เป็นเมืองโบราณ สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ ตั้งอยู่บริเวณบ้านเสมา
ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย มีพื้นที่ประมาณ ๓๐๐ - ๕๐๐ ไร่ แผนผังเป็นรูปไข่
ล้อมรอบด้วยคูเมืองสองชั้น กว้างประมาณ ๑๘ เมตร วัดโดยรอบยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร
มีโบราณสถานหลายแห่ง มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาดังนี้
เมื่อประมาณสองพันวปีมาแล้ว ชนเผ่าไทยได้อพยพมาจากเมืองหนองแส น่านเจ้า ลงมาทางใต้
ได้สร้างเมืองขึ้นสองเมืองคือ เมืองเชียงโสม และเมืองฟ้าแดด ทั้งวสองเมืองติดต่อกันโดยทางเรือเท่านั้น
เมืองฟ้าแดดมีพระยาฟ้าแดดครองเมือง ส่วนเมืองลูกหลวงคือเมืองสงยาง มีต้นยางสูงสวยงามมากรวมเรียกว่าเมืองฟ้าแดดสงยาง
พญาฟ้าแดดมีชายาชื่อจันทาเทวี มีธิดาชื่อนางฟ้าหยาด พระบิดาได้สร้างปราสาทเดี่ยวกลางน้ำเป็นที่อยู่ของบธิดา
ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่กลางทะเลหลวง (ปัจจุบันเรียก โนนสาวเอ้)
พญาฟ้าแดด เป็นเผ่าแมนฟ้า ได้ขุดสระไว้รอบตัวเมือง สระที่ขุดพบสันนิษฐานว่ามีสระแก้ว
สระขวัญ สระเงิน สระทอง สระพลิ้ว (สระน้ำฝน) สระเกศ สระบัวแดง (อุบลรัตน์)
สระบัวเขียว สระบังขาว (ปทุม) สระบัวขาบ (โกมุท) สระชุบศร และสระอื่น ๆ อีกหลายสระ
ซึ่งสมัยก่อนเรียกตระพังทองตระพังเงิน บริเววณเมืองเก่าสมัยนั้นกว้างใหญ่มาก
มีซากอิฐหินทั่วไป ส่วนเมืองเชียงโสมนั้นมีเพียงกุด บึง หนอง เท่านั้น มีดาบคู่เป็นสัญญลักษณ์
(ปัจจุบันน้ำในเขื่อลำปาวท่วมหมดแล้ว) ชาวบ้านเรียกกุดเชียงโสม
พระยาจันทะราชได้ยกกองทัพมาเมืองฟ้าแดด ฯ เพื่อชิงนางฟ้าหยาด โดยได้ขอกำลัง และความร่วมมือไปยังหัวเมืองต่าง
ๆ ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกันคือ พญาเชียงส่ง พญาเชียงสา พญาเชียงเดือ พญาเชียงช้อย
(ครองเมืองสาหุตร์กุดกอก) และพญาเชียงยืน (ครองเมืองปัตตานครหรือเมืองสายบาตร์)
ส่วนที่เป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใดมีพระยาเชียงเหียน และเมืองอื่น ๆ มีเมืองศรีแก้ว
ฝักแว่น เมืองหงส์ เมืองหนองหาน
การรบครั้งนี้กล่าวว่ามีกำลังพลเป็นแสน เลือดไหลนองท่วมแผ่นดิน ในที่สุดฝ่ายพระยาจันทะราชแพ้
ตัวพระยาจันทะราชตายในที่รบ จากการชนช้างกับพญาฟ้าแดด
ฝ่ายนางฟ้าหยาดเมื่อรู้ข่าวว่าคนรักคือพญาจันทะราชตาย ก็เสียใจและเป็นลมตายตามคนรักไป
เมื่อพญาฟ้าแดดทราบเรื่อง จึงให้นำศพนางกับพญาจันทะราชบรรจุลงในหีบใบเดียวกัน
เมื่อเสร็จพิธีเผาแล้วก็ให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิไว้คู่กัน ก่อนบรรจุอัฐิลงไว้ในเจดีย์
พญาฟ้าแดดได้ให้ช่างหล่อพระพุทธรูปทองคำ จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ให้ช่าวเมืองฟ้าแดดหล่อพระพุทธรูปให้ได้ครบทุกหลังคาเรือน
จะสร้างด้วยอิฐหรือดินก็ได้ แล้วบรรจุไว้ในพระเจดีย์ทั้งสอง
ฝ่ายพญาธรรมน้องพญาจันทะราช ผู้ครองเมืองเชียงโสมต่อมามีความแค้นพญาฟ้าแดดอยู่
จึงได้ขอความร่วมมือไปยังประเทศต่าง ๆ คือ ประเทศเม็ง (มอญ) ประเทศดลา (ไทยใหญ่)
ประเทศม่าน (พม่า) ประเทศญวน ประเทศลาวและลื้อ ประเทศเขมร ประเทศโกย (อยู่ในพวกม่าน)
ปรากฎว่ายังมีกองทัพมาช่วยพญาเชียงโสมเกือบทุกหัวเมือง ทางพญาฟ้าแดดยอมแพ้
ขอส่งส่วยและเครื่องบรรณาการ ยอมเป็นนาวาประเทศแต่โดยดี
ความเชื่อและพิธีกรรม
ความเชื่อเกี่ยวกับโลกและจักรวาล
ชาวกาฬสินธุ์สืบทอดวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง มีความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติใกล้ชิดกับกลุ่มคนไทยในล้านช้าง
มากกว่าวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ความเชื่อในการกำเนิดโลก
มีอยู่สองแนวด้วยกันคือ ตามแนวพระพุทธศาสนา (อัคคัญสูตร) และตามแนวความเชื่อดั้งเดิมของสังคม
คือ สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้พญาแถน หรือแถนฟ้าหลวง หรือแถนฟ้าชื่น เป็นผู้สร้างเป็นผู้กำเนิด
ในหนังสือนิทานเรื่องขุนบรม ได้กล่าวว่า มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดจากผลน้ำเต้าปุ้ง
สองผล ภายในน้ำเต้าปุ้งสองผลนี้มีมนุษย์ชายหญิงมากมาย สรรพสัตว์ต่าง ๆ ออกมาตามรอยรู
ที่แถนสิ่ว (ไช) แถนซี (เจาะ) ความเชื่อนี้ตลอดไปถึงพวกไทยใหญ่ ไทยลื้อ
ไทยเขิน ด้วย
สำหรับมนุษย์คู่แรก คือ ปู่สังกะสา กับย่าสังกะสี ทำนองเดียวกันกับปู่และย่า
ของภาคเหนือ และยายกะลา ตากะเล ในภาคกลาง
ความเชื่อเรื่องวีรบุรุษและรัฐ
มีอยู่ในนิทานเรื่องขุนบรม เชื่อว่าขุนบรม เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของแถนฟ้าชื้น
แถนฟ้าให้ท่านมาเกิดในโลกมนุษย์ เพื่อเป็นผู้ปกครองประชาชนที่เกิดจากผลน้ำเต้าปุ้งสองผลดังกล่าว
ในนิทานได้กล่าวถึงหน้าที่ของชนชั้นปกครอง พร้อมทั้งบริวารที่เป็นมูลนาย เพื่อช่วยเหลือนการปกครอง
ซึ่งมีเชื้อสายมาจากผีแถนฟ้า ผีฟ้า เช่นเดียวกัน ชื่อของบริวารเหล่านั้นพร้อมทั้งบทบาทหน้าที่ต่าง
ๆ ปรากฎอยู่ในฮีตสิบสอง คองสิบสี่ของอีสาน คือ เง่าเมือง
หมายถึง อำมาตย์ผู้ซื่อสัตย์ (ขุนธรรมราช) ตามเมือง หมายถึง นักปราชญ์ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
(ขุนแสงมโนศาสตร์) ขางเมือง
(แปเมือง) เขตเมือง
(ขุนอุ่น ขุนคลี) เมฆเมือง
หมายถึง เทวดาอารักษ์ หลักเมือง (เฒ่าเยอ แม่ย่างาม เฒ่าไล แม่มด )
ฝาเมือง หมายถึง
ทหาร (ขุนคัว ขุนลางเชิง)
ความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณ
ได้ผสมผสานกับพระพุทธศาสนาอย่างกลมกลืน ภูตผีที่สำคัญคือ ผีแถน ซึ่งมีลักษณะเป็นเทพมากกว่าผี
มีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับ พญาแถน คือ
พิธีแห่บั้งไฟ
เพื่อให้พญาแถนให้ฝนแก่มนุษย์ เป็นการเตือนพญาแถนว่า มนุษย์ต้องการฝน
การลำผีฟ้าเพื่อรักษาโรค
บางแห่งเรียกลำผีแถน โดยมีความเชื่อว่าโรคที่เกิดจากการกระทำของภูติผี หรือโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ
ญาติพี่น้องจะหาหมอทำ (ธรรม) มาทำพิธีตั้งขันห้าขันแปด (เครื่องบูชา)
มีหมอแคนมาเป่า เจ้าพิธีจะลำแบบหมอลำเนื้อความใหม่ ทำนองขับไล่ผี และเชิญพญาแถนมาช่วยปกป้อง
คุ้มภัยพิบัติทั้งปวง
ผีมเหศักดิ์หลักเมือง
เช่นเดียวกับหลักเมืองของภาคกลาง ตามหมู่บ้านมีทุกหมู่บ้านเรียก หลักบ้าน
มักจะตั้งอยู่ในที่เด่นชัด เช่นทางสามแพร่งในหมู่บ้าน บริเวณใกล้หลักบ้าน
จะมีศาลากลางบ้านเป็นส่วนใหญ่ สำหรับใช้ในพิธีกรรมตอกหลักบ้าน หลักเมือง เรียกว่า
บุญซำฮะ ซึ่งจะกระทำในเดือนเจ็ด
พ่อเชื้อแม่เชื้อผีประจำตระกูล
เชื่อว่าเป็นผีประจำเชื้อสายของแต่ละตระกูล ประจำอยู่ในบ้านเรือน ต่างแต่ว่าไม่มีทุกบ้าน
จะมีเฉพาะบ้านที่เป็นต้นตระกูล
ความเชื่อผีอื่น ๆ
มีผีที่สามารถให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ เช่น ผีประจำไร่นา ช่วยให้ธัญพืชงอกงาม
ผีตาแฮก ก็เป็นผีที่ทำให้ธัญพืชเจริญงอกงาม และฝนตกต้องตามฤดูกาล
ผีอีกประเภทหนึ่งคือ ผีฟ้า นัยว่าเป็นแถน นั่นเอง ต่างแต่ว่าพวกคนทรงนับถือ
และนำมาทำพิธีกรรมในกลุ่มของตน เรียกว่า นางเทียม จึงมักเรียกว่า ผีฟ้านางเทียม
นางเทียมจะเชิญวิญญาณให้มาเข้าทรง
|