www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
ภูมิปัญญาชาวบ้าน
การประกอบอาชีพ
อาชีพดั้งเดิมที่เคยทำมาหาเลี้ยงชีพได้ปรับเปลี่ยนไป แต่ยังมีหลายหมู่บ้านที่ได้รักษาวัฒนธรรม
ดั้งเดิมเอาไว้ แต่ได้เปลี่ยนจากการผลิต เพื่อใช้บริโภคในครอบครัว เป็นผลิตเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขาย
การทอสื่อที่บ้านเชียงสา ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด เป็นอาชีพรองจากการทำนา
เมื่อเข้าไปในหมู่บ้าน จะพบว่าใต้ถุนบ้าน ลานบ้าน จะเต็มไปด้วยไหล (กา) ที่แห้งแล้ว
และกำลังตกให้แห้ง บางครอบครัวก็กำลังจักให้เป็นเส้น เพื่อตากให้แห้งจะได้นำไปทอเป็นเสื่อต่อไป
ในแต่ละวันครอบครัวหนึ่ง จะทอเสื่อได้ประมาณ ๓ - ๔ ผืน แล้วแต่ความยากง่ายของลายเสื่อ
มีรายได้ประมาณวันละ ๒๐๐ บาท ต่อครอบครัว
ประเพณีอีกอย่างหนึ่ง ที่ชาวบ้านปฎิบัติมาตลอดคือ การนำเสื่อไปทอดถวายตามวัดต่าง
ๆ ในหมู่บ้านใกล้เคียง หรือบางครั้งไปทอดถวายวัดที่จังหวัดอื่น ครั้งละไม่น้อยกว่า
๒๐๐ ผืน ถือว่าได้บุญเหมือนการทอดผ้าป่า
การจำหน่ายเสื่อ จะมีพ่อค้ามาซื้อที่หมู่บ้าน บางครอบครัวก็นำไปขายเองตามตลาดใกล้เคียง
การทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน
เดิมชาวบ้านผู้ไทย บ้านโพน ทอผ้าแพรวา เป็นผ้าที่สไบเฉียง ใช้คลุมไหล่ และคลุมผม
ในโอกาสงานเทศกาลงานประเพณี หรืองานสำคัญ ผ้าไหมแพรวา เป็นผ้าที่แสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน
และสืบทอดกันมา โดยเฉพาะบ้านโพน และเกือบทุกหมู่บ้านของตำบลบ้านโพน อำเภอคำม่วง
ปัจจุบันมีการสืบทอดการทอผ้าแพรวา ในหลายอำเภอคือ อำเภอคำม่วง อำเภอสหัสขันธ์
อำเภอสามชัย เกือบทุกครัวเรือน
ผ้าแพรวา แต่เดิมทอไว้ใช้ไม่ได้จำหน่าย สีเป็นสีแดงครั่ง ทอลวดลายหรือขิดต่าง
ๆ ไว้ในผืนเดียวกันได้หลายลาย ส่วนมากเป็นลายสัตว์ ดอกไม้ มาประยุกต์เป็นลายวิจิตรสวยงาม
เช่น ลายนาคหัวจุ้ม ดอกซ่าน ดอกหางปลาวา เป็นต้น
อุปกรณ์ในการทอผ้าไหมแพรวา ที่สำคัญประกอบด้วย ไหมสี่หลา หลอด ไม้ ไม้เก็บลาย
ฟืน เขาสั้น เขายาว กง ตีนกง กระสวย และกรรไกร การทอผ้าไหมแพรวา จะมีผ้าแม่แบบเป็นตัวอย่าง
ในการเก็บดอกลายต่าง ๆ เรียกว่า ผ้าแส่ว ได้แก่ ผ้าที่มีพื้นสีขาวปัก หรือขิดด้วยสีดำ
สีน้ำเงิน เพื่อให้มองเห็นชัดเจน
ผ้าบ้านเสียวและบ้านโพนงาม
บ้านเสียว อยู่ในเขตอำเภอยาวตลาด เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ เริ่มแรกชาวบ้านเริ่มเย็บผ้าห่ม
โดยออกแบบเป็นรูปแบบที่หลากหลาย สำหรับผ้าชาวบ้านจะไปซื้อจากโรงงาน ที่กรุงเทพ
ฯ โดยตรง ในจำนวนครั้งละมาก ๆ
บ้านโพนงาม เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ประกอบอาชีพเย็บผ้าเหมือนบ้านเสียว อยู่ในตำบลโพนงาม
อำเภอกมลาไสย เริ่มต้นจากการซื้อด้ายมาทำเครือหูก ต่อมาได้เปลี่ยนจากการทำเครือหูก
มาเป็นการเย็บหมอน ที่นอนสำเร็จรูป โดยมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป ตามความต้องการของตลาด
ศูนย์พัฒนาฝีมือการแกะสลักหินนากระเดา
เริ่มจากมีผู้ที่ทำงานแกะสลักหิน ที่วังจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แล้วได้ไปท่องเที่ยวในเขมร ถึงปราสาทหินนครวัด เพื่อดูศิลปการสลักหิน เมื่อได้เดินทางกลัมาบ้าน
นากระเดา
ก็ได้เริ่มนำหินจากภูพานมาแกะสลักเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ ส่วนมากจะแกะสลักเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา
เช่น พระพุทธรูป ลูกนิมิตร หรือแกะเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ทั้งยังแกะสลักรูปเหมือนอีกด้วย
บ้านกะเดาอยู่ในเขตอำเภอนาดู ปัจจุบันมีช่างสลักหินที่ศูนย์ ฯ ประมาณ ๗๐ คน
ศิลปกรรมและงานช่าง
ภูมิปัญญาชาวบ้านของจังหวัดกาฬสินธุ์ส่วนใหญ่ก็มีอยู่ทั่วไปตามหมู่บ้านต่าง
ๆ เหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ
งานศิลปกรรมด้านสถาปัตยกรรมถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา
ได้แก่ อุโบสถ เจดีย์ มณฑป ศาลาการเปรียญ หอระฆัง ซุ้มประตู เมรุ พระพุทธรูป
กลุ่มช่างบ้านสิกาน ตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย หมู่บ้านสิกานเป็นหมู่บ้านช่างที่มีความสามารถในงาน
ศิลปกรรมด้านสถาปัตยกรรมสิ่งปลูกสร้าง และถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา
ผลงานจากกลุ่มช่างบ้านสิกานดังกล่าวได้กระจายไปอยู่ในวัดทั่วภาคอีสาน ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง
ตลอดถึงประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนา เช่น ประเทศลาว
ศิลปกรรมด้านนาฏดุริยางคศิลป์
ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านคือ ดนตรีโปงลาง
ซึ่งมีต้นกำเนิดที่กาฬสินธุ์และจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สนับสนุนพัฒนาดนตรีโปงลาง
ให้เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดทั้งในระดับภาค ระดับประเทศ
และระดับนานาชาติ
โปงลางได้พัฒนามาด้วยภูมิปัญญาของคนกาฬสินธุ์อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการนำท่อนไม้ที่มีขนาดต่างกันมาเพียงไม่กี่ท่อน
มาเคาะเป็นเสียงสูงต่ำ จากหกท่อนเป็นเก้าท่อน สิบสองท่อนและสิบสามท่อน ตามลำดับ
และมีระดับเสียงเกือบครบทุกระดับเหมือนดนตรีสากล ขาดแต่เพียงเสียงทีเท่านั้น
ช่างทำดนตรีโปงลางของจังหวัดกาฬสินธุ์มีอยู่หลายหมู่บ้าน แต่เป็นที่รู้จัก
และเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปคือบ้านกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ บ้านหนองสอ
ตำบลลำปาว อำเภอเมือง ฯ บ้านโพนทอง ตำบลโพนทอง อำเภอเมือง ฯ
การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำโปงลาง ส่วนใหญ่จะถ่ายทอดในเครือญาติสืบต่อกันมา
เริ่มจากท้าวพรหมโคตร ซึ่งพาครอบครัวอพยพจากประเทศลาว มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านกวางหมื่น
จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ทำเครื่องดนตรีประเภทตีขึ้น โดยใช้ไม้หมากเลื่อม ซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนมีสีขาวเคาะเสียงดังกังวาน
มาตัดเป็นท่อน ๆ เจาะรูแล้วใช้เถาวัลย์ร้อยเรียงจำนวน ๖ ท่อน นำไปแขวนไว้ตามเถึยงนา
ใช้ตีไล่สัตว์ไม่ให้มารบกวนพืชไร่ หรือใช้ตีเคาะจังหวะเป็นท่วงทำนองสาย ที่ผู้ตีจินตนาการขึ้นมาตามอารมณ์
ตีฟังกันเล่นในหมู่คนที่ออกไปทำไร่ทำนา เลี้ยงสัตว์ ยังไม่ได้นำเข้าไปตีในหมู่บ้าน
เนื่องจากมีความเชื่อว่าเครื่องดนตรีประเภทนี้เป็นเครื่องตี
คล้ายเกราะหรือกอลอที่มีไว้ตีเพื่อแจ้งเหตุหรือลางร้าย
หากนำเข้าไปตีในหมู่บ้านจะทำให้เกิดเหตุร้าย ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ต่อมาท้าวพรหมโคตรได้ถ่ายทอดวิธีการทำ และตีเกราะนี้ให้แก่นายปาน แล้วนายปานได้ปรับปรุงจากหกท่อนเป็นเก้าท่อน
ต่อมานายขานน้องชายนายปาน ได้รับสืบทอดวิธีการทำ และการตีจากนายปาน จนได้รับการยกย่อง
และได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่นายเปลื้อง ฉายรัศมี และนายเปลื้อง ฯ
ได้ปรับปรุงจากเก้าท่อนเป็นสิบสอง และสิบสามท่อน ตามลำดับ และได้ถ่ายทอดความรู้นี้ให้แก่คนทั่วไป
และนักเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์จังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อมานายเปลื้อง ฯ ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง
(ดนตรีพื้นบ้าน) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙
การพัฒนาดนตรีพื้นบ้านโปงลางในปัจจุบันได้กระจายออกไปอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนในสถานศึกษา
ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและประชาชนทั่วไป มีการจัดงานมหกรรมโปงลางแพรวาและกาชาดเป็นประจำทุกปี
เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง
อยู่ที่บ้านเสมา (บ้านบักก้อน) ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญแห่งหนึ่ง
ในภาคอีสานของไทย ได้มีนักวิชาการให้ความสนใจทำการศึกษาค้นคว้ากันอย่างกว้างขวาง
นักวิชาการคนแรกที่ทำการศึกษาเป็นชาวฝรั่งเศส ได้เขียนบทความเกี่ยว กับเมืองโบราณแห่งนี้ว่า
"กนกนคร ถิ่นมอญโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโบราณวัตถุ" บทความดังกล่าว
ได้กล่าวถึงลักษณะสัณฐานของคูเมืองว่า เป็นลักษณะของเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี
เหมือนอย่างเมืองในสมัยทวารวดี ที่พบในภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๖
จากการขุดค้นได้พบโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ มากมาย เช่น ซากสถูปเจดีย์
ใบเสมาหินทราย และพระพิมพ์ดินเผาเป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต
โบราณสถาน และโบราณวัตถุ
จากการขุดแต่งแล้วจำนวน ๑๔ แห่ง พบว่าในส่วนของเจดีย์มีทั้งลักษณะที่เป็นฐานสี่เหลี่ยม
แปดเหลี่ยมและทรงกลม เจดีย์ที่มีสภาพสมบูรณ์กว่าแห่งอื่นที่ชาวบ้านเรียกว่า
พระธาตุยาคู โบราณสถานส่วนใหญ่เป็นซากเจดีย์
มีอยู่เพียงสี่แห่งที่เป็นซากของโบสถ์ วิหาร โบราณสถานทุกแห่งใช้อิฐเป็นวัสดุในการก่อสร้าง
นอกจากนั้นยังมีรูปปูนปั้นประดับอีกด้วย
โบราณวัตถุที่พบเป็นรูปเคารพในพระพุทธศาสนาและลวดลายปูนปั้นอีกเป็นจำนวนมาก
พระพิมพ์บางองค์มีจารึกอยู่เบื้องหลัง พบในเสมาหินทรายเป็นจำนวนมาก มีทั้งที่สลักเป็นรูปสถูปอยู่ตรงกลางแผ่นและสลักเป็นภาพเล่าเรื่อง
ปฏิมากรรมปูนนปั้นเศียรพระพุทธรูป เศียรเทวดา และเศียรบุคคลมีอยู่หลายชิ้น
นอกจากนั้นยังพบปฏิมากรรมหล่อด้วยสำริดเป็นบุคคลยืนสองชิ้น และยังพบภาชนะเครื่องปั้นดินเผาอยู่ด้วย
ผ้าไหมแพรวา
เป็นชื่อเฉพาะที่ชาวอีสานทั่วไปใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่ง ที่ใช้สำหรับคลุมไหล่หรือใช้ห่มสไบเฉียงของชาวผู้ไทย
ซึ่งมักนำออกมาแต่งกายในโอกาสพิเศษ งานเทศกาล และงานประเพณี
แพรวามาจากคำว่าแพรกับวา แพรเป็นคำที่ชาวอีสานเรียกผ้า วาคือความยาวของผ้าหนึ่งวา
ลักษณะเด่นของผ้าไหมแพรวา
คือ เป็นผ้าแพรวาขิดสีแดง ทอลวดลายต่าง ๆ ในผืนเดียวกัน สลับลายถึงห้าลายมากว่าห้าสี
จึงต้องใช้ฝีมือ และความชำนาญเป็นอย่างสูง ผ้าแพรวาจะมีลายกั้นกลางระหว่างดอก
ช่วงดอกเรียกว่าดอกอ้อมคั่นลาย จะสลับดอกขวางไปเรื่อย ๆ จนเกือบถึงเชิงผ้า
จึงจะมีลวดลายปลายเชิงผ้าเรียกว่า ลายซ่อนลายเชิง จากนั้นจะเป็นเชิงผ้าคือลายที่อยู่สุดท้ายของปลายผ้า
การทอผ้าแพรวา
ผ้าทอแบบดั้งเดิมของชาวผู้ไทย บ้านโพน จะเป็นการทอที่เน้นสีแดงเป็นส่วนใหญ่
การทอผ้าลายประเภทแตกต่างกันอยู่ที่การใช้งาน วิธีการทอเป็นแบบเดียวกับการทอผ้าขิดหรือผ้าจก
คำว่า ขิด คือการสะกิดหรือล้วง เป็นลักษณะของการปักผ้า ดังนั้น ผ้าแพรวาจึงเป็นผ้าทอที่ผสมผสานกับการปัก
หากมองอย่างผิวเผิน ผ้าขิดกับผ้าแพรวาจะคล้ายกัน ต่างกันที่ผ้าแพรวา มีลายมากกว่าหนึ่งสี
จึงทำให้การทอผ้าแพรวานั้นละเอียดอ่อนและสวยงามกว่าผ้าขิดหลายเท่า
ผ้าไหมแพรวากาญจนาภิเษก
เป็นผ้าไหมแพรวาที่ยาวที่สุด ที่กลุ่มแม่บ้านโพนทอง ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทอขึ้น
เพื่อนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการเผยแพร่ผ้าไหมแพรวาของจังหวัดกาฬสินธุ์ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น
ผ้าไหมแพรวาผืนดังกล่าวยาว ๙๙ เมตร มีสีสันสวยงาม และเป็นลวดลายวิจิตรบรรจงอย่างยิ่ง
ประกอบด้วยลายหลักต้นแบบโบราณ รวม ๖๐ ลาย ใช้เวลาทอ ๙๓๐ วัน ใช้คนทอ ๒,๗๙๐
คน ใช้เส้นไหมที่มีน้ำหนักกว่า ๒๐ กิโลกรัม ลวดลายดั้งเดิมจำนวน ๖๐ ลาย มีชื่อเรียกดังนี้
ลายพันมหาอุ้มจันกิ่ง ลายนาคสองแซ่อุ้มกาบแบด ลายดอกกระบวนหัวหย่อน ลายดอกแบดไต่เครือ
ลายใบปุ่นก้านทอง ลายดอกแบดขอ ลายนาคคอคด ลายกาบแบด ลายนาคหัวส้อย (แฉก)
ลายใบปุ่นหว่าน ลายนาคกันตี ลายจันกิ่ง ลายดอกก้ามปู ลายดอกส้าน ลายดอกฮูดัง
(จมูก) ลายพันมหาน้อย ลายกระบวนแองกิ่ง ลายผีเสื้อ ลายนาคหัวจุ้ม ลายดาวอุ้มแบด
ลายใบปุ่นอุ้มจันกิ่งอุ้มดอกส่าน ลายนาคสี่แขน ลายกาบแบดอุ้มใบปุ่นหว่าน ลายพันมหาใหญ่
ลายนาคแขนสร้อย ลายแบดขออุ้มจันกิ่ง ลายดาวอุ้มใบปุ่นอุ้ม กาบแบดอุ้มดอกส้าน
ลายพันมหาอุ้มกาบแบด ลายนาคหกแขน ลายดอกแบดขออุ้มกาบแบด ลายดอกนาคสิบสองแขนอุ้มใบปุ่น
ลายดอกจันกิ่งอุ้มใบปุ่นหว่าน ลายดอกดาวอุ้มดอกส้าน ลายใบปุ้นก้านกองอุ้มดอกส้าน
ลายกระบวนหัวขวาง ลายดอกพันมหาประกอบดอกส้าน ลายดอกแบดกาบอุ้มแบดขออุ้มกาบแบด
ลายดอกใบปุ่นอุ้มดอกแก้ว ลายใบปุ่นอุ้มดอกแก้ว ลายนาคหัวจุ้มอุ้มพันมหา ลายดอกดาวอุ้มแบดกาบตัดอุ้มใบปุ่น
ลายดอกแก้วอุ้มใบปุ่น ลายนาคหัวซ้อง ลายดอกแบดอุ้มหางปลาวา ลายดอกนาคคลี่แขนอุ้มกาบแบด
ลายดอกขอไตเครือ ลายแบดขออุ้มล้าน ลายแบดอุ้มล้าน ลายพันมหา ลายดอกยากไต่เครือ
ลายดอกดาวจุ้ม ลายดอกนาคแขนสร้อย ลายแบดกาบต้นอุ้มกระบวนแองกิ่ง ลายดาวจุ้มใหญ่
ลายหงส์ ลายต้นส้น ลายดาวอุ้มกาบแบด ลายปีกดอกส้าน ลายดอกจันทร์กิ่งอุ้มกาบแบด
ลายใบปุ่นอุ้มจมูก
กลองกิ่งหรือกลองเส็ง
ไม่ทราบว่ากลองกิ่งมีมาแต่เมื่อใด แต่จะนำมาใช้แห่ในบุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ)
หลังจากเสร็จแห่ก็นำมาเส็งกลองกัน (ตีแข่งกัน)
กลองกิ่งทำจากไม้ประดู่แดง ทำเป็นรูปทรงกระบอกกลวง ด้านหน้ากลองกว้างประมาณ
๔๐ เซนติเมตร ด้านล่างกลอง (ก้นกลอง) กว้างประมาณ ๓๐ เซนติเมตร มีความสูงประมาณเท่าครึ่งของความกว้างหน้ากลอง
หุ้มด้วยแผ่นหนังทั้งด้านหน้า และด้านล่างดึงเข้าหากันโดยใช้หนังเรียกว่าหนังชักและหนังหูกลอง
ข้างกลองห่างจากหน้ากลองประมาณ ๒๐ เซนติเมตร เจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด ๑๐
x ๑๕ เซนติเมตร เรียกว่า รูแพ เพื่อเป็นการระบายเสียงเวลาตี ข้างในกลองเหนือรูแพจะเป็นปุ่ม
เรียกว่า ลิ้นกลอง เพื่อทำหน้าที่ปรับระดับเสียงของกลอง
การขุดกลอง
ก่อนลงมือขุดกลอง ช่างต้องเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะของเซลส์ไม้ตรง ไม่คู้หรือมีตา
มีเส้นผ่าศูนย์กลางของแกนไม้ ประมาณ ๕๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑ เมตร จำนวนสองท่อน
เครื่องมือที่ใช้ขุดได้แก่ขวาน สิ่ว สว่าน เสียม กบ และง่อง โดยขุดตรงกลางขอนไม้ให้กลองเป็นโพรง
มีความหนาบางตามความต้องการของช่าง
การทำหนังหน้ากลอง
เดินนิยมทำจากหนังวัว ปัจจุบันนิยมใช้หนังควาย เพราะเหนียวและทนทานกว่า เวลาตีจะดังกว่าหนังวัว
โดยจะเลือกหนังควาย ที่มีอายุประมาณ ๕ - ๑๐ ปี และไม่อ้วนเกินไป ควายตัวหนึ่งจะทำหนังหน้ากลองได้สองหน้า
ส่วนที่เหลือใช้ทำก้นกลอง หนังหูกลองและหนังชัก ก่อนนำหนังไปห่มหน้ากลอง
ต้องผึ่งแดดให้แห้ง แล้วใช้มีดที่คมมากขูดให้หนังบางจนเป็นที่พอใจ (ยิ่งหนังบาง
กลองยิ่งมีเสียงดัง)
ไม้ตีกลอง
นิยมทำจากไม้เต็ง เพราะมีคุณสมบัติเหนียวทนทาน เวลาตีมีน้ำหนักดี ไม้ยาวประมาณ
๗๐ เซนติเมตร เหลาให้กลมตรงปลายไม้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เซนติเมตร
ขัดด้วยกระดาษทราย ตรงโคนไม้บริเวณมือจับพันด้วยผ้าให้พอดีถ้าเวลาตี
การเส็งกลอง
นิยมตีแข่งกันบนเวทีเป็นคู่ ๆ แต่ละคู่ต้องมีกลองสองใบ ต้องตรึงหน้ากลองให้ตึงที่สุด
โดยการหมุน (ขัน) หนังชักของกลองเข้าที่ จะค่อย ๆ ปรับระดับเสียงของกลองแต่ละคู่ให้มีเสียงเดียวกัน
(เคงกลอง) จากนั้นนำกลองที่เตรียมไว้ดีแล้วตั้งประกบคู่บนเวที หันด้านรูแพของกลองเฉียงเข้าหาคู่แข่งขันไปสู่ผู้ฟัง
การตีกลองแข่งขัน ตีฝ่ายละห้าคน ๆ ละหนึ่งยก ยกละประมาณสองนาที การตัดสินจะพิจารณาจากเสียงกลอง
คู่ที่ชนะต้องมีเสียงใส แหลมสูง และต้องตีให้ชนะสามในห้ายก และกลองต้องไม่ขาด
ฟ้อนโปงลาง มีแหล่งกำเนิดที่ภูพานเป็นจุดแรก แล้วแพร่หลายไปจนทั่วถิ่นอีสาน
ท่ารำสวยงาม สมกับลีลาการฟ้อนของชาวไทยอีสาน
ลายของโปงลางนั้น นำมาจากธรรมชาติ ซึ่งมีผู้จินตนาการขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับเรื่องราวทำนองเพลง
บุคคลสำคัญ
บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์
มีอยู่หลายท่านด้วยกัน นับตั้งแต่ผู้ก่อตั้งเมืองกาฬสินธุ์ ไปจนถึงผู้ที่มีส่วนสานต่อในระยะต่อมา
ที่ได้สร้างเมืองอื่น ๆ ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์
พระยาไชยสุนทร (ท้าวโสมพะมิต)
เกิดเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๒๗๕ บิดาเป็นโอรสของพระเจ้าไชยองค์เว้ มารดาเป็นหลานสาวของเจ้าผ้าขาว
รับราชการในราชสำนักนครเวียงจันทน์ จนได้เป็นพญาโสมพะมิต เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๐
พญาโสมพะมิตและอุปฮาดเมืองแสนฆ้องโปง เมืองแสนหน้าง้ำ ได้เกิดความความขัดแยังกับพระศิริบุญสาร
ผู้ครองนครเวียงจันทน์ จึงรวบรวมผู้คนเป็นสมัครพรรคพวกประมาณหนึ่งหมื่นคน
เดินทางข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งชุมชนที่บ้านผ้าขาว บ้านพันนา บริเวณพระธาตุเชิงชุม
ในจังหวัดสกลนคร ปัจจุบัน เจ้าศิริบุญสารยกกองทัพติดตามมา เพื่อนำผู้คนเหล่านี้กลับเวียงจันทน์
ท้าวโสมพะมิต จึงได้พาผู้ครอพยพข้ามสันเขาภูพาน ลงมาทางใต้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกลางหมื่นได้ปีเศษ
แล้วจึงได้อพยพไปตั้งบ้านเมืองที่แก่งสำโรง ดงสงเปือย ริมฝั่งลำน้ำปาว
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕
ในปี พ.ศ.๒๓๒๖ ท้าวโสมพะมิต ได้เดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ ได้เฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ขอพระราชทานนามเมือง และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ยกฐานะบ้านแก่งสำโรง ขึ้นเป็นเมืองกาฬสินธุ์
ให้ท้าวโสมพะมิตเป็น พระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ คนแรก
พระยาไชยสุนทร ปกครองเมืองกาฬสินธุ์ มาจนถึงปี พ.ศ.๒๓๔๕ จึงมอบราชการงานเมืองให้
ท้าวหมาแพง ดูแลแทนต่อไป
พระอรรถ เปศลสรวดี (เจริญ ทรัพยสาร)
เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๒ เป็นชาวกรุงเทพ ฯ ได้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดกาฬสินธุ์
คนที่ ๑๗ ได้พัฒนาสร้างคุณประโยชน์ นำความเจริญมาสู่จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นอันมาก
กล่าวคือ ได้สร้างสุขศาลาเป็นครั้งแรก สร้างโรงเรียนประจำจังหวัด ตัดถนนหนทางหลายสาย
สร้างสะพานเสิงปักดอก ซึ่งเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดของภาคอีสาน ยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร
ในการก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ แทบจะไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ แต่ได้ใช้วิธีขอร้องจากกำนัน
ผู้ใหญ่บ้าน และชาวเมืองทั้งหลายให้ช่วยกันสนับสนุน
พระราษฎรบริหาร (เกษ)
เป็นบุตรท้าวโคตร ซึ่งเป็นราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์ เดิมท้าวเกษ เป็นราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๙ ท้าวเกษได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอแยกเมืองไปตั้งตั้งเมืองใหม่ ณ ริมลำน้ำปาว ทางทิศใต้ของเมืองกาฬสินธุ์
ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งเมืองขึ้น ชื่อว่าเมืองกระมาลาไสย (กมลาไสย)
และได้โปรดเกล้า ฯ ให้ราชวงศ์เกษ เป็นพระราษฎรบริหาร เจ้าเมืองกมลาไสยคนแรก
มีเมืองบริวารหลายเมือง เช่น เมืองสหัสขันธ์ และเมืองกุดสิมนารายณ์
พระธิเบศรวงศา (กอ)
เป็นบุตรพระยากล้า (หาญดอกเลา) หลานพระยาคำพิทูรย์ (เจ้าฟ้าคำแดง) เจ้าเมืองน้อยอ้อยหนู
(ปัจจุบันอยู่ในประเทศเวียดนาม ใกล้เมืองเดียนเบียนฟู พระยากล้าได้อพยพติดตามบิดาลงมาทางใต้
ในปี พ.ศ.๒๓๓๔ เข้าสวามิภักดิ์กับเจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งได้มอบหมายให้ครองเมืองวัว
(อยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม) ส่งเครื่องบรรณาการต่อเมืองเวียงจันทน์
มีนามว่า พระยากล้า
พระยากล้า ปกครองชาวผู้ไทยจนมีความสงบสุข เมื่อถึงแก่กรรมได้มีแย่งชิงอำนาจ
พระธิเบศรวงศา (กอ) ผู้เป็นบุตรคนโตได้พาพรรคพวกอพยพมาทำมาหากินบนหลังภูพาน
ต่อมาเห็นว่าเป็นทำเลไม่เหมาะ จึงได้อพยพลงมาจากหลังเขาได้พบกับลำน้ำใหญ่
(ลำน้ำยัง) และมีลำห้วยอีกหลายสาย เห็นว่าเหมาะแก่การทำมาหากิน และกุดน้ำที่พบมีใบเสมา
แกะสลักเป็นลาย จึงถือเอานิมิตหมายอันนี้ ตั้งเป็นชื่อบ้านว่า กุดสิมนารายณ์
ในปี พ.ศ.๒๓๘๘ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกฐานะบ้านกุดสิมนารายณ์
ขึ้นเป็นเมืองกุดสิมนารายณ์ และแต่งตั้งราชวงศ์กอ เป็นพระธิเบศร์วงศา เจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์
คนแรก
พระธิเบศร์วงศา (กอ) เป็นบรรพบุรุษของชาวผู้ไทย จังหวัดกาฬสินธุ์ ถึงแก่กรรมเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๐๕
พระพิชัยอุดมเดช
เป็นชาวเมืองวัว เป็นมหาดเล็กเจ้าอนุวงศ์ ที่นครเวียงจันทน์ มียศเป็นหมื่นเดช
แล้วสมัครไปอยู่กรุงเทพ ฯ ต่อมาเมื่อไทยทำศึกกับญวน และมีนโยบายจะเผด็จศึกยวน
ให้สำเร็จโดยเร็ว จึงได้แต่งตั้งแม่ทัพนายกอง ไปกวาดต้อนเอาครอบครัว จากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้มาอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง
เพื่อตัดกำลังทางเสบียงอาหารของญวน หมื่นเดชผู้ชำนาญท้องที่เดิมของตนอยู่แล้ว
ก็รับอาสาเป็นผู้นำกองทัพไทยไปกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองวัว ด้วยความดีความชอบครั้งนี้
หมื่นเดชจึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เป็น พระพิชัยอุดมเดช เจ้าเมืองภูแล่นช้าง ขึ้นต่อเมืองกาฬสินธุ์
พระพิชัยอุดมเดช ครองเมืองภูแล่นช้าง มาด้วยความสงบสุข จนถึงแก่กรรม
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๓
|