|
|
|
|
|
|
|
|
www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางธรรมชาติ
พื้นที่ทางภาคตะวันตกของขอนแก่น โดยเฉพาะในเขตอำเภอภูผาม่าน และบางส่วนของอำเภอชุมแพ
เป็นบริเวณที่มีภูเขาใหญ่น้อยอยู่สลับซับซ้อน ติดต่อกันไปจนจรดเทือกเขาเพชรบูรณ์
และภูกระดึงทำให้ดูประการหนึ่งว่าบริเวณนี้เป็นทะเลภูเขา บรรดาภูเขาดังกล่าวเหล่านี้
ล้วนเป็นภูเขาหินปูนจึงก่อให้เกิดถ้ำมากมายเท่าที่สำรวจพบแล้วมีอยู่ถึง ๒๕
ถ้ำ มีความสวยงามตามธรรมชาติที่น่าเที่ยวชม ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน
และอุทยานแห่งชาติภูเวียง
โดยทั่วไป ภูเขามักมีลักษณะเป็นทิวที่เรียกว่าเทือกเขา แต่ในจังหวัดขอนแก่นมีภูเขาอยู่ลูกหนึ่ง
คือ ภูเวียง มีลักษณะโค้งเป็นวงกลมขนาดใหญ่ ภายในบริเวณโค้งวงกลมที่ภูเขาลูกนี้โอบล้อมไว้
เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีผู้คนเข้าไปตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก
จนกลายเป็นเมือง คือ เมืองภูเวียง
ลักษณะที่โดดเด่นของภูเขาอีกลูกหนึ่งคือ ภูผาม่าน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติภูผ่าม่าน
เป็นเทือกเขาที่มีหน้าผาสูงชัน รูปร่างเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ มองดูคล้ายผ้าม่านผืนใหญ่คลี่ตัวลงมาจากยอดเขา
ลงมาสู่พื้นเบื้องล่าง ภูเขาที่มีลักษณะโดดเด่น เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของจังหวัดขอนแก่นคือ
ผานกเค้า บนยอดเขาภูเปือยในเขต อำเภอชุมแพ หน้าผาแห่งนี้มีรูปร่างคล้ายนกเค้าแมว
ที่กำลังยืนเกาะอยู่บนโขดหินขนาดใหญ่ การชมภาพผานกเค้าให้ได้ภาพที่สง่างามอย่างชัดเจน
จะต้องไปอยู่ทางอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำพอง ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย
แล้วมองย้อนมาทางทิศตะวันออก จะได้มุมมองที่ดีที่สุด
อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน
ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยรวมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูเปือย
จังหวัดเลยเข้ากับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงลาน จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ประมาณ
๓๕๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๑๙,๐๐๐ ไร่ การที่ให้ชื่อว่าภูผาม่าน เป็นการเรียกตามชื่อภูเขาลูกหนึ่ง
ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอุทยาน เป็นเทือกเขาที่มีหน้าผาสูงชัน รูปร่างเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่
มองดูคล้ายผ้าม่านผืนใหญ่คลี่ตัวลงมาจากยอดเขาลงมาสู่เบื้องล่าง
อุทยาน ฯ มีขอบเขตทางด้านทิศเหนือจดเขตอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอภูกระดึง
จังหวัดเลย ทิศใต้จดเขตอำเภอชุมแพ และอำเภอภูผาม่าน อำเภอดอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
ทิศตะวันออกจดเขตอำเภอชุมแพ ทิศตะวันตกจดกับเขตอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์
มีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภอชุมแพ อำเภอภูผาม่าน อำเภอภูกระดึง ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน
สูงสลับซับซ้อนเป็นแนวยาวประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ภูเขาสำคัญได้แก่ ภูเปือย ภูโคก
ภูหินกอง ภูผักหนาม และภูผาม่าน ระหว่างภูเขาดังกล่าวมีที่ราบระหว่าง หุบเขา
เป็นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก สภาพป่า ประกอบด้วยป่าสามชนิด คือ
ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าแดง
อุทยาน ฯ ภูผาม่าน เป็นอุทยาน ฯ ที่มีถ้ำและน้ำตกมากที่สุดในประเทศไทย มีถ้ำถึง
๒๕ ถ้ำ คือ
ถ้ำผาพวง เดิมเรียกถ้ำร้อยพวง ปากถ้ำมีทิวทัศน์สวยงาม
ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก มีปล่องทะลุขึ้นไปยอดเขา ใช้เป็นจุดชมทิวทัศน์รอบถ้ำได้
ถ้ำพญานาคราช เป็นถ้ำที่สวยงามที่สุดของอุทยาน ฯ
ภายในถ้ำกว้างขวางมาก แบ่งออกเป็นห้อง ๆ แต่ละห้องมีหินงอกหินย้อยเป็นช่อชั้น เมื่อกระทบแสงไฟจะเกิดประกายแวววาบสลับแสงระยิบระยับสวยงามมาก
ถ้ำปู่หลุบ ภายในถ้ำมีอยู่ห้าห้อง แต่ละห้องมีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก มีบ่อน้ำผุดซึ่งมีน้ำขังอยู่ตลอดปี
ถ้ำภูตาหลอ มีหินงอกหินย้อยเป็นช่อชั้นสวยงาม
มีห้องโถงใหญ่เพดานถ้ำสูง พื้นถ้ำราบเรียบสามารถจุคนได้เป็นพันคน
ถ้ำค้างคาว ปากถ้ำอยู่ที่หน้าผาของภูผาม่าน
อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ ๑๐๐ เมตรภายในถ้ำเป็นอุโมงค์ใหญ่ลึกเข้าไปในภูเขา
เป็นที่อาศัยของค้างคาวนับล้านตัว เวลาใกล้ค่ำจะเห็นฝูงค้างคาวบินออกไปหากิน
แลเห็นเป็นสายสีดำออกจากปากถ้ำสู่ท้องฟ้าเป็นทางโค้งยาวสวยงามมาก
ถ้ำลายแทง ปากถ้ำอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ ๘
เมตร บนผนังถ้ำมีภาพเขียนสีแดง มีทั้งรูปคนและรูปสัตว์ ประมาณ ๗๐ ภาพ
ถ้ำอื่น ๆ ได้แก่ถ้ำพญาคางคก ถ้ำผาแดง ถ้ำพระ ถ้ำโสดาบัน ถ้ำอรหันต์ ถ้ำซำภู
ถ้ำพระอินทร์ ถ้ำเพียงดิน ถ้ำเณรน้อย ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำพ่อแก้ว ถ้ำโพธิญาณ ถ้ำซำขี้นาก
ถ้ำเสือ ถ้ำอีเจีย ถ้ำประกาสิทธิ์ ถ้ำปัญจวัคคีย์ ถ้ำเทพนิมิตร และถ้ำแม่แก้ว
น้ำตกตาดฮ้อง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เกิดจากลำน้ำพองที่มีต้นน้ำเกิดจากน้ำตกขุนนองบนภูกระดึง
น้ำตกตาดฮ้อง สูงประมาณ ๗๕ เมตร อยู่ระหว่างรอยต่ออุทยานแห่งชาติภูผาม่าน
และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง สายน้ำที่ตกลงมาจากหน้าผาสูงกระทบแผ่นหินเบื้องล่างเกิดเสียงดังกึกก้องทั่วแนวป่า
จึงได้ชื่อว่าน้ำตกตาดฮ้อง ปัจจุบันแผ่นหินเบื้องล่างแตกแล้วเสียงจึงดังไม่เท่าเดิม
น้ำตกตาดฟ้า มีความสูงประมาณ ๒๕ เมตร มีชั้นหินลดหลั่นไปสู่แม่น้ำเชิน ทำให้เกิดน้ำตกอีกสองแห่งคือ น้ำตกห้วยหม้อแตก และน้ำตกห้วยหินลาด
น้ำตกตาดใหญ่ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๘๐
เมตร มีโขดหินลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันไดหลายชั้น ก่อนที่จะไหลลงสู่ลำน้ำเชินในฤดูน้ำหลาก
จะมีสายน้ำพวยพุ่งลงสู่โขดหินเบื้องล่างสวยงามมาก
น้ำตกพะลานทอง เป็นน้ำตกขนาดเล็ก สูงประมาณ
๑๐ เมตร เกิดจากน้ำซับหลายสายไหลมารวมกันแล้วไหลลงสู่หน้าผาเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นลงไปสู่ธารน้ำเบื้องล่าง
เวลาน้ำหลากจะมีความสวยงามมาก
นอกจากนี้ยังมีน้ำตกขนาดเล็กอีกสองแห่ง คือน้ำตกสังขะยวน และน้ำตกข้าวหลาม
อุทยานแห่งชาติน้ำพอง
อุทยาน ฯ มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่สองจังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดชัยภูมิ
มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๓,๐๐๐ ไร่ หรือประมาณ ๒๐๐ ตารางกิโลเมตร ในเขตจังหวัดขอนแก่น
อุทยาน ฯ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภออุบลรัตน์ อำเภอภูเวียง อำเภอบ้านฝาง อำเภอหนองเรือ
อำเภอมัญจาคีรี และกิ่งอำเภอโคกโพธิ์เตี้ย ประกอบด้วยป่าอนุรักษ์ ๖ ป่า คือ
ป่าโสกแต้ ป่าภูเม็ง ป่าโคกหลวง ป่าภูผาดำ ป่าภูผาแดง และป่าโคกหลวง แปลงที่
๓
พื้นที่ของอุทยาน ฯ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาเช่น ภูคำน้อย ฝายพญานาค ภูเม็ง ภูผาแดง
ภูผาดำ เป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำชี และลำน้ำพอง แหล่งธรรมชาติที่สวยงามในอุทยาน ฯ
ที่อยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่นคือ
จุดชมวิวหินช้างสี เป็นกลุ่มหินขนาดใหญ่อยู่บนสันเขาป่าโสกแต้ อำเภอบ้านฝาง
ที่เรียกชื่อนี้เพราะด้านข้างขวาก้อนหินมีรอยดินที่ช้างใช้ลำตัวสีก้อนหินติดอยู่
ชาวบ้านจึงเรียกชื่อว่าหินช้างสี เดิมบริเวณนี้เป็นป่าอุดมสมบูรณ์มาก และมีช้างอาศัยอยู่
จุดชมวิวพระลานชาด เป็นลานหินที่มีต้นชาดขึ้นอยู่บนลานหิน ชาวบ้านจึงเรียกว่า พะลานชาด ณ จุดนี้สามารถชมทิวทัศน์ของป่าโสกแต้ได้เป็นอย่างดี
คำโพน มีลักษณะเป็นบ่อหินกลมคล้ายปล่องภูเขาไฟ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ
๕ เมตร อยู่ใกล้กับพะลานชาด
หน้าผา บริเวณคำโพน และพะลานชาดมีหน้าผาที่สามารถชมทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ได้ดี
ยอดเขาภูเม็ง ภูเม็งอยู่ในเขตอำเภอหนองเรือ เป็นบริเวณที่เป็นป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง
เป็นแหล่งสมุนไพรที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
บนยอดภูเม็งมีลานหิน และแท่นหินคล้ายเตียงนอนและหมอนวางไว้คล้ายเม็งของคนอีสาน
อุทยานแห่งชาติภูเวียง
ภูเวียงเป็นชื่อเทือกเขาที่มีลักษณะกลมคล้ายกระด้ง มีทางเข้าเป็นช่องเขาอยู่ทางด้านทิศตะวันออกด้านเดียวเรียกว่า
ปากช่อง มีลำน้ำบองไหลจากหุบเขาภูเวียงไปบรรจบกับลำน้ำพองที่บ้านห้วยบง ตำบลทุ่งชมพู
อำเภอภูเวียง ได้พบหลักฐานว่าภูเวียงเคยเป็นชุมชนโบราณเมื่อหลายพันปีมาแล้ว
โดยได้พบกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องมือเครื่องใช้ และโลหะสำริด มีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ภาพสลักบนหน้าผาเป็นรูปพระนอนสมัยทวาราวดี พบรอยเท้าและซากกระดูกไดโนเสาร์
อายุประมาณ ๒๐๐ ล้านปีมาแล้ว
อุทยาน ฯ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ประกอบด้วยป่าภูเวียงมีพื้นที่ประมาณ
๓๒๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๐๓,๐๐๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอภูเวียง
กิ่งอำเภอหนองนาคำ อำเภอสีชมพู และอำเภอชุมแพ ในเขตอุทยานไม่มีถ้ำมีแต่เพิงผา
ซึ่งเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งทับซ้อนกันหรือพิงกัน ทำให้เกิดเป็นเพิงให้อาศัยร่มเงาบังแดดบังฝนได้
ชาวบ้านเรียกเพิงผาดังกล่าวว่าถ้ำมีอยู่ด้วยกันห้าถ้ำคือ
ถ้ำฝ่ามือแดง อยู่ห่างจากบ้านหินร่องไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ
๔ กิโลเมตร ที่ผนังของเพิงผามีภาพฝ่ามือของมนุษย์ที่พ่นด้วยสีแดงรอยฝ่ามือ
เป็นนิ้วมือทุกนิ้ว สันนิษฐานว่า เพิงผาแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์สมัยโบราณที่ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์
ถ้ำหัวเมย มีลักษณะเป็นก้อนหินทรายขนาดใหญ่สามก้อนวางทับซ้อนกัน
ที่ผนังเพิงผาด้านทิศเหนือมีภาพลายเส้นเขียนด้วยสีแดง บางภาพเป็นกลุ่มเส้นตรงสั้น ๆ
ขีดคู่ขนานกันกลุ่มละสองสามเส้น บางกลุ่มก็เป็นเส้นหยัก ๆ เส้นเหล่านี้ส่วนใหญ่ขีดเป็นแนวนอน
ถ้ำหัวเมยอยู่ห่างจากถ้ำฝ่ามือแดง ประมาณ ๓๐๐ เมตร คำว่าหัวเมย แปลว่าควายป่า
ถ้ำคนนอน อยู่ห่างจากถ้ำหัวเมย ประมาณ ๓๐๐ เมตร
ทางด้านทิศตะวันออกของเพิงผาแห่งนี้มีลานหินกว้างประมาณ ๔ เมตร ยาวประมาณ
๑๕ เมตร ผู้ที่เดินทางผ่านมาและพรานป่าได้อาศัยลานหินแห่งนี้เป็นที่พักหลบแดดหลบฝน
และใช้อาศัยหลับนอนชั่วคราว จึงได้ชื่อว่าถ้ำคนนอน
ถ้ำหินเกิ้ง อยู่ทางด้านทิศใต้ของประตูตีหมา ซึ่งเป็นแหล่งที่พบกระดูกไดโนเสาร์ เป็นเพิงหินที่เกิดจากหินก้อนใหญ่ตั้งอยู่บนหินก้อนเล็กสองก้อน
ถ้ำเจีย เป็นถ้ำไม่ลึกนักเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวปากย่น อยู่ใกล้เคียงกับสุสานหอย ๑๕๐ ล้านปี และหลุมขุดค้นไดโนเสาร์ หลุม ๒
อุทยานแห่งชาติภูเก้า - ภูพานคำ
อุทยาน ฯ แห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๕๐ ของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘
มีพื้นที่ประมาณ ๓๒๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๐๑,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภออุบลรัตน์
และอำเภอภูเวียง อุทยาน ฯ ประกอบด้วยป่าของภูเขาสองลูกคือป่าภูเก้าในเขต จังหวัดหนองบัวลำภู
และป่าภูพานคำ ซึ่งบางส่วนอยู่ในเขต จังหวัดขอนแก่น มีลำน้ำพองไหลผ่านช่องเขาภูพานคำกับภูพานคำน้อย
เรียกว่าพองหนีบ
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|