www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษา
พื้นที่ของจังหวัดชัยภูมิติดต่อกับพื้นที่ของจังหวัดในภาคกลาง ทำให้อิทธิพลของภาษากลาง
จึงเข้ามามีอิทธิพลต่อภาษาถิ่นอยู่ไม่น้อย ภาษาของคนชัยภูมิส่วนใหญ่ ใช้ภาษาถิ่นอีสาน
ในส่วนของอำเภอเมือง ฯ ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่นมีสำเนียงของชาวเมืองเวียงจันทน์แฝงอยู่ โดยเฉพาะหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ บ้านนาเสียว บ้านนาวัง บ้านเล่า
ส่วนพื้นที่ใดติดต่อกับเขตจังหวัด ก็จะมีพื้นสำเนียงภาษาของจังหวัดใกล้เคียง
ปรากฎอยู่ เช่น
ภาษาไทยสำเนียงโคราช
จะปรากฎอยู่แถบอำเภอจตุรัส บางหมู่บ้าน และบางส่วนของตำบลบ้านค่าย อำเภอเมือง
ฯ อำเภอเทพสถิต อำเภอบำเหน็จณรงค์ ตำบลหนองบัวโคก ตำบลบ้านขาม ตำบลจตุรัส
ตำบลกะฮาด ตำบลตาเนิน อำเภอเนินสง่า
ภาษาไทยกลาง
หรือภาษาราชการ ประชาชนในเขตอำเภอเมือง ฯ ส่วนมาก ที่รับราชการและที่ค้าขาย
ในตัวเมืองส่วนมากใช้ภาษากลาง
ภาษาชาวบน
มีกลุ่มชนเผ่าชาวบน หรือชาวดง อยู่ที่บางพื้นที่ของจังหวัดชัยภูมิ และยังคงรักษาภาษาของชาวบนไว้
อย่างมีเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น สำนวน หรือบทเพลง ได้แก่ เพลง หยอกเด็ก เป็นต้น
จารึก
เท่าที่ค้นพบในเขตจังหวัดชัยภูมิ มีดังนี้
จารึกภูเขียว
ใช้อักษณขอมโบราณ เป็นภาษาสันสกฤต จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ จารึกบนศิลาเป็นหลักเหลี่ยม
ขนาดกว้าง ๔๓ เซนติเมตร สูง ๘๗ เซนติเมตร จารึกเพียงหนึ่งด้าน มี ๑๑ บรรทัด
มีคำแปลดังนี้
"พระจุฬามณี ผู้มีปัญญาที่ประกอบด้วยธรรมเป็นสำคัญเป็นเครื่องประดับ ผู้เกิดในตระกูลสูงที่ถึงพร้อมด้วยปัญญา
อันก่อให้เกิดความรู้เป็นนิตย์ ผู้สนใจต่อการทำประโยชน์แก่ชาวโลก ที่ทรงไว้ด้วยคุณธรรมเป็นที่รู้กันว่า
เป็นผู้ให้กำลังอำนาจ และความรุ่งเรืองแก่ราชอาณาจักรของพระเจ้าศรีชยสิงหวรมัน
และเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของประชาชน ในราชอาณาจักรนั้น ผู้เป็นแก้วมณีที่เกิดจากพระนางลักษมี
ย่อมก่อให้เกิดความยินดี (แก่ประชาชนทั้งหลาย)"
จารึกวัดบูรณ์ปะโค
เป็นจารึกในแผ่นเงิน แผ่นทองคำ พบตกหล่นอยู่ที่ฐานเจดีย์โบราณของวัดบูรณ์ปะโค
ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถ จารึกด้วยภาษาโบราณมีข้อความที่แปลความ เป็นประวัติความเป็นมาของเมืองบำเหน็จณรงค์
และวัดบูรณ์ปะโค ข้อความในแผ่นจารึกความว่า
"จำเดิมแต่ปางก่อนมา ด่านชวนทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระฤทธิฤาชัยในเมืองด่านชวน
ยกขึ้นเป็นเมืองบำเหน็จณรงค์ แต่ ณ ปีกุน
ครั้งอยู่มาถึง ณ วัน ค่ำ ปีมะเส็ง ฉศก คุณอุตะมะกับพระฤทธิฤาชัย เจ้าเมืองและทายกทั้งปวง
ได้สร้างดบสถ์ ฝังลูกนิมิต พัทธเสมา ไว้ในพระพุทธศาสนา วัดปะโค
ครั้นอยู่มาพระพุทธศักราชล่วงไปได้ ๒๓๘๒ พระวะษา กากระสังวัดฉร จุลศักราช
๑๒๐๑ ปัญญเอกา คนอุปะทหกัณหา กับหลวงยกบัตร ทายกเมืองบำเหน็จณรงค์ มีน้ำใจเลื่อมใสศรัทธา
ก่อสร้างพระประธานไว้ในพระเจดีย์ศิลา ไว้ในวัดปะโค เมืองบำเหน็จณรงค์ ในพระพุทธศาสนา
อันให้ได้แก่ พระนิพพาน น ปัตจะโยโหตุ "
จารึกวัดกู่บ้านหนองบัว
จารึกด้วยอักษรขอมเป็นภาษาสันสฤกต พระพุทธศควรรษที่ ๑๘ พบที่วัดกู่บ้านหนองบัว
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ ศิลาจารึกหลักนี้ไม่มีสำเนาจารึก มีเพียงแผ่นจำลอง
รูปอักษร ที่มีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เบื้องหลังแผ่นจำลองรูปอักษร มีคำอธิบายประกอบเป็นสองข้อ
คือ
๑. ก้อนศิลาก้อนนี้ มีอยู่ที่วัดกู่บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ
กว้าง ๘ นิ้ว ยาว ๑ ศอก เป็นรอยชำรุดหักไปครึ่งหนึ่ง ครึ่งที่หายไม่ทราบตกไปอยู่ที่ใดหาไม่พบ
๒. มีบัวอักษรจะเป็นอักษรภาษาใดอ่านไม่ออก แต่แผ่นศิลาจารึกตัวอักษรนั้น แตกหลุดไป
เป็นกาบหายไปประมาณครึ่งส่วน .... ยังไม่มีการอ่านแปล ฯลฯ
จารึกวัดกู่บ้านหนองบัวนี้ มีรูปอักษรเหมือนกันกับจารึกด่านปะคำ จารึกพิมาย
จารึกปราสาท จารึกปราสาทตามเมียนโตจ และจารึกสุรินทร์ ๒ แสดงว่าเป็นจารึกของพระเจ้าชัยวรมันอีกหลักหนึ่ง
ซึ่งเป็นหลักที่ ๖ ที่พบในเขตแผ่นดินไทย
ข้อความในจารึก เป็นการยอพระเกียรติ์พระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ว่าพระองค์ได้ชัยชนะในการทำสงคราม
ได้ขยายอาณาจักรออกไปกว้างขวาง จนเป็นเกียรติ์ประวัติของพระองค์ อีกทั้งทรงมีพระเมตตาโอบอ้อมอารี
บริจาคทานเป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั่วไป พระองค์มีรูปกายที่งดงามกว่ากามเทพ
ได้บริหารประเทศให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง
คำแปลคำจารึก ซึ่งมีอยู่ ห้าโศลก ดังนี้
โศลกที่ ๑
พระองค์ผู้มีพระบาทเหมือนดอกบัว เป็นเครื่องประดับเหนือเศียรของพระราชาทั้งปวง
ผู้มีศัตรูอันพระองค์ชนะแล้วในสงคราม ได้รับแล้วซึ่งสตรี คือ แผ่นดิน ผู้นำไปซึ่งเกียรติยศของพระองค์
ผู้มีรัตนะ คือคุณความดีเป็นเครื่องประดับ
โศลกที่ ๒
ผู้มีสายน้ำ คือ ทานอันพระองค์ให้เพิ่มขึ้นแล้ว ด้วยความเพลิดเพลิน ในกาลทุกเมื่อ
ผู้ซึ่งมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ คือ ทานและความเจริญรุ่งเรือง ผู้เป็นที่รักแห่งศัตรูของเทพที่พระองค์ทรงให้ลำบากแล้ว
ด้วยเครื่องสังเวย ผู้แม้เหมือนพระกฤษณะ แต่มีวรรณะขาว
โศลกที่ ๓
พระองค์ยังมีนางลักษมี ผู้อันพระราชาทั้งหลายปรารถนาแล้ว ซึ่งได้โดยยาก ผู้ทรงอุเบกขา
ซึ่งเข้ามาใกล้แล้ว ก็ยังนางกีรติ ผู้แล่นไปในทิศทั้งหลายให้ยินดีแล้ว น่าอัศจรรย์หนอ
ความงามอันวิจิตรแห่งอินทรียทั้งหลาย
โศลกที่ ๔
สตรีทั้งหลาย ผู้มีศัตรูอันตนไหว้แล้ว แม้เมื่อสามีถูกชนะแล้วด้วยรัศมี เพราะเห็นพระองค์สละอยู่
ซึ่งความเศร้าโศก เพราะเหมือนกับรู้ว่ากามเทพ ก็ถูกชนะด้วยความงาม (ของพระองค์)
ได้กระทำแล้วซึ่งชื่อของตนให้มีความหมาย
โศลกที่ ๕
เมื่อประชาชนมีโรคถึงความหายนะ ตามภาระแห่งกรรมด้วยการสิ้นไปแห่งอายุ เพราะบุญ
พระองค์ผู้เป็นพระราชา ได้กระทำโด ที่สมบูร์ทั้งสาม เพื่อประกาศยุคอันประเสริฐ
ตำนาน
ตำนานของจังหวัดชัยภูมิ มีอยู่มากมายหลายเรื่องด้วยกัน จากตำนานที่เกี่ยวข้องกับสถานที่
ที่มีอิทธิพลจากวรรณคดี ตำนานที่มาของหมู่บ้าน เป็นต้น
ตำนานภูแลนคา
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งก่อนมีพรานป่า ที่มาจากเมืองขุขัณฑ์ มีชื่อว่า
ปู่ด้วง มีหมาคู่ใจชื่อ ไอ้ทอก ซึ่งเป็นหมาที่มีลักษณะพิเศษ มีความยาวแปดศอก
ตั้งแต่เล็ก วันหนึ่งปู่ด้วงกับไอ้ทอกเข้าป่าเพื่อหาของป่าอย่างเคย แต่ไม่พบสัตว์ใดจนเย็น
จึงพบแลนฝูงหนึ่งมีจ่าฝูงตัวใหญ่มาก ไอ้ทอกไล่ตามแลนใหญ่ตัวนั้นไป จนข้ามคืนยังไม่กลับมา
ปู่ด้วงจึงออกตามหาอยู่สามวัน จึงไปพบไอ้ทอกนอนเฝ้าแลนที่หนีมาจนมุมอยู่ในรู
โดยที่ส่วนหัวและลำตัวอยู่ในรู ส่วนหางอยู่นอกรู เมื่อปู่ด้วงไปถึงไอ้ทอกก็ขาดใจตายตามแลน
ปู่ด้วงจึงฝังไอ้ทอกไว้ในบริเวณนั้น ส่วนแลนก็ยังติดอยู่ในรู ชาวบ้านจึงเรียกภูเขา
ที่เกิดจากตัวแลนไปซุกอยู่ว่า ภูแลนคา เพราะแลนตัวนั้นไม่เน่าเปื่อย อยู่เป็นเวลานานหลายปี
ตำนานพระธาตุหนองสามหมื่น
มีที่มาจากวรรณคดี เรื่องสังข์ทอง เรื่องมีอยู่ว่าพระสังข์ ปลูกกระท่อมอาศัยอยู่กับรจนา
บริเวณตะวันออกของหนองสามหมื่น เมื่อพระสังข์มาตีคลีกับพระอินทร ในบริเวณนั้น
คือ ใกล้กับวัดพระธาตุหนองสามหมื่นในปัจจุบัน ลูกคลีเกิดตกลงไปในน้ำ ต้องใช้คนถึงสามหมื่นคนมาดำหาลูกคลี
หนองน้ำดังกล่าวปัจจุบันยังปรากฎอยู่ใกล้กับวัด ส่วนลูกคลีบางลูกกระเด็นไปบนภูเขา
จึงปรากฎชื่อ ภูเขาลูกหนึ่งว่า ภูคลี อยู่ในเขตอำเภอเกษตรสมบูรณ์
ตำนานต้นกำเนิดของแคน
แคนเป็นเครื่องดนตรีอีสานชนิดหนึ่ง ใช้เป่าประกอบการแสดงหมอลำ หรือใช้เป่าประกอบจังหวะทำนองเพลง
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อประมาณ สองพันเจ็ดร้อยปี มาแล้ว มีชายคนหนึ่งชื่อ โห
มีภรรยาชื่อ คำนาง อยู่แขวงเมืองพาราณสี มีอาชีพเป็นนายพราน นายโห ออกล่าเนื้อมาขาย
และแจกให้ชาวบ้านแถวนั้นกินเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่ง นายโหบอกภรรยาว่า สัตว์แถวนั้นมีน้อย
ต้องไปหาไกลออกไป
ฝ่ายพระอินทรเห็นพรานโห กำลังไล่ยิงกวางป่าอยู่ เห็นว่ามนุษย์มีใจอำมหิต เที่ยวฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
จึงบันดาลให้พรานโห จับกวางไม่ได้ และเพื่อที่จะแก้ไขความมีใจอำมหิตของคน
จึงเห็นว่าเป็นเพราะมนุษย์ขาดเครื่องดนตรีขับกล่อม พระอินทร์จึงให้พระวิษณุกรรมลงมายังโลกมนุษย์
เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ
พระวิษณุกรรมจึงแปลงเป็นแมลงภู่เจาะแพะลำกู่ริมลำธารให้มีเสียงดัง ส่วนพรานใหเบื่อจับกวางไม่ได้
จึงมานยั่งพักอยู่ใต้ต้นไทรริมลำธาร แล้วหลับไป พอตื่นขึ้นก็ได้ยินเสียงจากลำกู่
ฟังแล้วไพเราะมาก จึงอยากได้เสียงนี้ไปไว้ที่บ้าน จึงเดินตามไปดูเสียงนั้น
ซึ่งมีเจ็ดเสียงคือ จิ๋ว เล็ก รองเล็ก กลาง รองกลาง ใหญ่ และรองใหญ่ พรานใหจึงตัดลำกู่มา
ลักษณะของลำกู่คล้ายไม้ไผ่ แต่ลำเล็กกว่าคือลำเท่านิ้วมือ พรานใหจึงตัดลำกู่และไม้มาทำกาบเสียงที่ได้ยิน
แต่พยายามทำแบบต่าง ๆ อยู่ทั้งวัน แต่ก็ไม่ได้เกิดเสียงเหมือนที่ได้ยิน เหนื่อยเข้าจึงหลับไปอีก
พระอินทร์เห็นพรานใหหมดปัญญา จึงได้เนรมิตปีกแมลงภู่ติดอยู่ที่ลำกู่ พร้อมกับเนรมิตเครื่องเป่าไว้อันหนึ่ง
เมื่อพรานใหตื่นขึ้นมาแล้วเห็นสิ่งที่พระอินทร์เนรมิตไว้ให้ก็เกิดปัญญาทำได้
ตอนนั้นยังไม่เรียกว่า แคน เรียกว่า เสียงจากลำกู่
เมื่อพรานใหกลับมาถึงบ้านก็ทำการประดิษฐลำกู่ เป่าดูได้เสียงที่ไพเราะเพราะพริ้งมาก
ฝ่ายภรรยาก็ไปหาเครื่องไม้มาขัดเครือเถา ต่อมาจึงเรียกเครื่องนั้นว่าเครือ
เครือหญ้านาง
พรานใหและภรรยาก็มีอาชีพทำเสียงลำกู่ขาย และสอนวิชาเป่าลำกู่ให้ชาวบ้านจนเป่าได้ดี
อยู่มาวันหนึ่งพรานให้นั่งเป่าลำกู่อยู่ที่บ้าน เสียงลำกู่ลอยไปเข้าพระกรรณของพระยาพาราณสี
พระองค์จึงถามเสนาว่าใครเป่าเสียงนี้เพราะดีมาก เสนาตอบว่าพรานใหเป็นผู้เป่า
พระยาพาราณสีนึกได้ว่า มเหสีของพระองค์ป่วยมานาน ถ้าได้ฟังเสียงนี้คงจะดีขึ้น
จึงให้เสนาไปพาตัวพรานใหมาเป่าลำกู่ให้มเหสีฟัง เมื่อมเหสีได้ฟังแล้ว จึงตรัสอุทานเป็นสำเนียงไทยอาหม
มีข้อความตอนหนึ่งว่ายังแคนใครแน คำนี้จึงได้มาเรียกลำกู่ว่า เสียงแคน
วรรณกรรมพื้นบ้าน
ส่วนใหญ่เป็นมุขปาฐะ มีการจดจำสืบต่อกันมา โดยมีการบันทึกเรื่องราวในรูปแบบของหมอลำเรื่องต่อกลอน
และคำผญา เช่นเรื่องท้าวก่ำ กาดำ สังข์ทอง ขูลู นางอั้ว ผาแดงนางไอ่ นางแตงอ่อน
มีผู้รวบรวมวรรณกรรมมุขปาฐะไว้ในรูปนิทานพื้นบ้านประมาณ ๕๐ เรื่องเช่น นกกระซุมหัวล้าน
คำพญาและคำโตงโตย
คำพญาคือคำร้อยกรองที่ผู้พูดแสดงความฉลาดหรือไวปัญญา มีความหมายลึกซึ้งกว้างขวาง
มีเหตุผลไม่ได้โต้เถียง นิยมพูดกันอยู่ในภาคอีสานทั่วไป คำผญาในเมืองชัยภูมิ
นับว่าเก่าแก่มาก ตัวอย่างเช่น
"เห็นว่าเวียงจันทน์ฮ้าง เป็นโฟน ขี่หมาจอก |
คันห่าบางกอกฮ้าง
ยังซิฮ่าย กั่วเวียง |
เห็นว่าเวียงจันทน์เศร่า สาวเฮย อย่าฟาวหว่า |
มันชิโชคบั้นหล่า
แตงช้าง หน่วยปลาย" |
คำผญาบทนี้เป็นเรื่องราวของคนเวียงจันทน์ ต่อว่าตอนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ไปตีเมืองเวียงจันทน์แตก
คำโต่งโตย
เป็นคำร้อยกรองที่ผู้พูดสรรหามาใช้เพื่อสื่อความหมายในการติดต่อระหว่างบุคคลต่อบุคคล
บุคคลต่อชุมชน มีลักษณะการกล่าวสรรเสริญ ชมเชย เกี้ยวพาราสี อบรมสั่งสอน คติธรรม
เป็นคำกลอนที่มีการสัมผัสคำระหว่างวรรคต่อวรรคคือ คำท้ายของวรรคต้นจะสัมผัสกับคำที่สามของวรรคต่อไป
คำโต่งโตย จะแตกต่างจากคำผญา ที่จำนวนคำและวรรค คือคำผญาจะใช้คำตั้งแต่สองคำขึ้นไป
แต่ไม่เกินห้าคำ
การละเล่น
นาฎศิลป์และดนตรี
การละเล่นของเด็ก
มีลักษณะการเรียนรู้สืบทอดกันเป็นช่วง ๆ จากรุ่นพี่ไปยังรุ่นน้อง ทุกคนจึงเรียนรู้กติกาการเล่นโดยไม่ต้องมีการฝึกสอน
การละเล่นของเด็กในจังหวัดชัยภูมิเหมือนกับการเล่นของเด็กไทยในเกือบทุกภาค
การละเล่นของเด็กชัยภูมิที่น่าสนใจได้แก่ ตะลุมปุก ขโมยลักวัว นางแมว
วิ่งวัวเทียมเกวียน แมงผีเสื้อ โอ้นหล่มชา กาลักไข่
ขะมุกเขม่า รีรีข้าวสาร แย้ลงรู เตย
ปักอี สะบ้า ดึงหนัง
(ชักเย่อ) หยู่สาว
มอญซ่อนผ้า โค้งตีเกวียน
วิ่งขาโกณถก ตี่จับ
เก็บหอย ไม้หึ่ง วิ่งเปี้ยว
จานซ้อนใบ หูมากกบกับ วิ่งกระสอบ
การละเล่นของผู้ใหญ่
มักจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เพื่อลดความเคร่งเครียดในการทำงาน และผ่อนคลายอารมณ์
ส่วนมากจะเล่นกันในช่วงประเพณีสงกรานต์ การละเล่นที่สำคัญในจังหวัดชัยภูมิได้แก่การแสดงหมอลำ
หมอลำคือ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถร้องเป็นกลอนเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกันเป็นเรื่องยาว
ๆ และมีการประสมประสานคำคล้องจองกัน ที่ไพเราะน่าฟัง หมอมลำมีหลายประเภทได้แก่
หมอลำพื้น มีสองอย่างคือ หมอลำพื้นรักษาคนไข้ (บัวคน) และหมอลำพื้นแสดงเป็นเรื่องตามนิทาน
หมอลำกลอน มี ห้าอย่างคือ หมอลำกลอนคู่ หมอลำกลอนชิงชู้ หมอลำกลอนชิงผัว หมอลำกลอนสามเกลอชิงนาง
และหมอลำกลอนซิ่ง
การแสดงนาฎศิลป์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่
นาฏศิลป์เป็นศิลปการแสดงขับร้อง ฟ้อนรำ และดนตรี มีมาตั้งแต่โบราณ และสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
โดยได้มีวิวัฒนาการมาตามลำดับ แสดงถึงวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของคนในสังคมนั้น
ๆ จนเกิดเป็นแบบแผนที่สวยงาม
จังหวัดชัยภูมิได้มีผู้รู้เกี่ยวกับการฟ้อนรำ ได้นำเอาประวัติศาสตร์ ตำนาน
วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ถ่ายทอดออกมาเป็นการแสดงนาฎศิลป์
นำมาแสดงในโอกาศต่าง ๆ ดังนี้ รำลาวชัยภูมิ รำสดุดีเจ้าพ่อพระยาแล รำเบญจรงค์
ฟ้อนดอกกระเจียว ระบำปรางค์กู่ ฟ้อนตาดโตน เซิ้งสาวสราญ รำบำอัฎฐเทวมาลี เซิ้งหมอนขิด
|