www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
แหล่งโบราณคดี
มีแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดจันทบุรีอยู่ ๗ แห่ง ด้วยกันดังนี้
แหล่งโบราณคดีเขาแก้ว
อยู่ในตำบลหนองตามา อำเภอโป่งน้ำร้อน เป็นภูเขาหินปูน อยู่ระหว่างเขาโกนและเขาตาชะเมา
อยู่ห่างจากชายแดนไทย กับกัมพูชาประมาณ ๓ กิโลเมตร ยอดสูงสุดของเขาแก้วสูง
๒๕๘ เมตร จากระดับน้ำทะล มีถ้ำอยู่ ๑๖ ถ้ำ รอบ ๆ เขาแก้วมีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ใกล้เคียงคือ
คลองบอน
อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑ กิโลเมตร คลองเหม็น
อยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ ๕๐๐ เมตร และคลองแก้ว
อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออก ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร คลองทั้งสามมีน้ำไหลไม่ตลอดปี
แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ สำรวจพบครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ ได้เก็บตัวอย่างเครื่องมือหินกะเทาะมาวิเคราะห์
ได้มีการสำรวจถ้ำทั้ง ๑๖ ถ้ำ และสำรวจเฉพาะถ้ำขนาดใหญ่ ๓ ถ้ำ ผลการสำรวจมีดังนี้
ถ้ำหมายเลข ๑
อยู่บริเวณหัวเขาทางทิศใต้ เป็นถ้ำขนาดใหญ่แบ่งออกได้เป็นสามส่วนคือ
ส่วนที่หนึ่ง
เป็นเพิงผาอยู่ด้านหน้าของถ้ำ กว้างประมาณ ๑๕ เมตร ลึกประมาณ ๘ เมตร แสงสว่างเข้าได้ทั่วถึง
พื้นถ้ำบริเวณเพิงผาใกล้ผนังถ้ำทางทิศตะวันตก มีรอยขุดมูลค้างคาวเป็นหลุมใหญ่
ลึกกว่า ๑ เมตร ทำให้หลักฐานทางโบราณคดีส่วนหนึ่งถูกขุดขึ้นมาด้วย บริเวณเพิงผาหน้าถ้ำพบเครื่องมือหินกะเทาะจำนวนมาก
อาจเป็นสถานที่ผลิตหรือทำเครื่องมือหิน ลักษณะเครื่องมือหินกะเทาะเป็นแบบโหบินเฮียน
มีอายุประมาณ ๑๐,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ ปี มาแล้ว
ส่วนที่สอง
เป็นห้องขนาดเล็ก ปากทางเข้ากว้างประมาณ ๑.๕๐ เมตร ภายในเป็นคูหากว้างประมาณ
๓ เมตร แสงส่องเข้าถึงทั้งคูหาห้อง ที่ผนังห้องด้านในมีช่องสูงจากพื้นถ้ำประมาณ
๒ เมตร จากช่องนี้สามารถปีนขึ้นเพื่อเข้าสู่ส่วนที่สาม ซึ่งเป็นห้องอยู่อยู่ด้านในสุด
ส่วนที่สาม
เป็นห้องอยู่ด้านในสุด ลักษณะเป็นถ้ำเกือบกลม กว้างประมาณ ๑๐ เมตร ภายในห้องแสงสว่างเข้าถึงได้เพียงเล็กน้อย
ทำให้ค่อนข้างมืดเกือบสนิท
หลักฐานที่พบในถ้ำหมายเลข ๑ เป็นเครื่องมือหินกะเทาะรูปไข่ เครื่องมือหินกะเทาะเกือบกลม
เครื่องมือรูปหยดน้ำ สะเก็ดหินมีทั้งกะเทาะหน้าเดียวและกะเทาะสองหน้า ทำจากหินไลโอไลท์
แอนดีไซท์ และทัฟท์ ในลักษณะหินกรวดมน ซึ่งพบอยู่ทั่วไปบริเวณพื้นที่ใกล้
ๆ กับถ้ำ และพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน มีทั้งแบบผิวเรียบและตกแต่งเป็นลายขูดขีด
รวมทั้งพบกระดูกสัตว์ เขาสัตว์พวกเก้ง กวาง และชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์หลายชิ้น
ถ้ำหมายเลข ๒
บริเวณพื้นถ้ำยังไม่ถูกรบกวน หลักฐานผิวหน้าดินจึงพบไม่มาก พบเพียงเครื่องมือสะเก็ดหิน
โกลนเครื่องมือหินขัด เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน
ถ้ำหมายเลข ๓
บริเวณถ้ำยังไม่ถูกรบกวนเช่นเดียวกับถ้ำหมายเลข ๒ พบเศษชิ้นส่วนเครื่องมือหินกะเทาะค้อนหินที่ชำรุดหักกลาง
มีร่องรอยการใช้งานที่ส่วนปลาย เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน ลายขูดขีด และลายกดประทับ
ถ้ำเขาแก้ว
อาจเป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบกิจกรรมของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ
๑๐,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ ปี มาแล้ว และอาจจะมีพัฒนาการต่อเนื่อง หรือทิ้งร้างไปแล้วกลับมาใช้ใหม่อีกในช่วงเวลาที่ทำเครื่องมือหินขัดขึ้นใช้
เมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
แหล่งโบราณคดีบ้านคลองบอน
อยู่ที่บ้านคลองบอน ตำบลหนองตามา อำเภอโป่งน้ำร้อน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ เจ้าของที่ได้พบเศษภาชนะดินเผา
ขวานหิน กำไลหิน และเศษกระดูกมนุษย์จำนวนมาก กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจ เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๓๖ พบว่าเดิมดินมีเศษภาชนะดินเผา ขวานหิน กำไล และเศษกระดูกมนุษย์กระจายอยู่เต็มบริเวณเนินดิน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๙ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้นำนักศึกษาเข้าทำการขุดค้น และได้มีการขุดทดสอบอีกครั้งในปี
พ.ศ.๒๕๔๑
ลักษณะของแหล่ง
เป็นที่ราบเนินเขา รูปร่างพื้นผิวดินเป็นลูกคลื่นลอนลาด มีภูเขาล้อมรอบทั้งสี่ด้าน
มีลำน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ แต่มีน้ำไหลไม่ตลอดปีขนาบอยู่สองข้าง ทางทิศตะวันออกมีคลองบอน
อยู่ห่างจากแหล่งโบราณคดีประมาณ ๕๐๐ หลา ทางทิศตะวันตกมีคลองกันทึม
อยู่ห่างออกไปประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ด้านทิศเหนือมีลำน้ำเก่าซึ่งตื้นเขิน
การขุดค้นในปี
พ.ศ.๒๕๓๙
แบ่งการขุดค้นออกเป็นสามหลุม หลุมที่ ๑ และ ๒ พบหลักฐานคือ
๑. ระดับผิวหน้าดิน พบเศษภาชนะดินเผาที่แตกหักเป็นชิ้นเล็ก ๆ กระจายอยู่โดยทั่วไป
มีหินปูนและหินกรวดแม่น้ำอยู่บ้าง
๒. ระดับ ๐ - ๓๐ เซนติเมตร พบเศษภาชนะดินเผา เศษกำไลหิน เบี้ยดินเผา
โกลนขวาน ขวานหินขัด ดินแผ่ไฟ ถ่าน เมล็ดพืชจำพวกมะละกอ กระดูกสัตว์ เศษเปลือกหอยน้ำจืด
๓. ระดับ ๓๐ - ๔๐ เซนติเมตร พบเศษภาชนะดินเผา ขวานหินขัด เศษกำไลหิน เปลือกหอย
หินปูน ก้อนหินแกรนิตขนาดใหญ่ เศษกระดูกสัตว์ บริเวณโซน ๔ พบเศษกระดูกเผาจำนวนมาก
ซึ่งน่าจะเริ่มเข้าสู่ชั้นวัฒนธรรม และพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ด้วย
๔. ระดับ ๔๐ - ๕๐ เซนติเมตร พบกลุ่มภาชนะดินเผา กระดูกสัตว์ ดินเผาไฟ เปลือกหอยน้ำจืด
เศษกำไลหินขัด ขวานหินขัด เครื่องมือสะเก็ดหิน เครื่องมือปลายแหลมทำจากกระดูกสัตว์
กระดูกมนุษย์ พบชิ้นส่วนกระโหลกมนุษย์ซึ่งต่อเนื่องกับระดับ ๓๐ - ๔๐ เซนติเมตร
หลักฐานที่พบกับโครงกระดูกคือ กลุ่มภาชนะดินเผา วางอยู่บริเวณหน้าอกโครงกระดูก
กำไลหินอ่อนสีขาวสวมอยู่ในแขนข้างขวาของโครงกระดูก รวมทั้งขวานหินขัด ๑ ชิ้น
และพบลูกปัดทำจากเปลือกหอยอยู่ร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์
๕. ระดับ ๕๐ - ๗๐ เซนติเมตร พบโครงกระดูกมนุษย์กับบริเวณโซน ๕ จึงทำการขุดแต่งตามโครงกระดูก
๖. การขุดค้นในหลุมขุดค้นที่ ๑ พบโครงกระดูกมนุษย์อีกหนึ่งโครง พบกลุ่มภาชนะดินเผาที่แตกหักจำนวน
๖ ใบ ชิ้นส่วนลูกธนู ๑ ชิ้น เปลือกหอยจำนวนมาก ชิ้นส่วนขวานหินขัดอยู่ร่วมกับโครงกระดูก
การขุดทดสอบ
การขุทดสอบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ จำนวน ๒ หลุม ได้ผลดังนี้
หลุมทดสอบที่ ๑
พบหลักฐานดังนี้
๑. ระดับ ๐ - ๔๐ เซนติเมตร เป็นการปรับระดับหน้าผิวเดิมตามธรรมชาติ ซึ่งระดับผิวหน้าดินลึกที่สุดเท่ากับ
๔๐ เซนติเมตร พบเศษภาชนะดินเผาจำนวนน้อย พบโบราณวัตถุขนาดเล็ก เป็นขวานหินที่แตกชำรุดสองชิ้น
สามารถมาต่อเป็นชิ้นเดียวกันได้
๒. ระดับ ๔๐ - ๕๐ เซนติเมตร พบเศษภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนมนุษย์ขนาดเล็ก เศษกระดูกสัตว์จำนวนมาก
เศากำไลหินขัดขนาดเล็ก ๖ ชิ้น
๓. ระดับ ๕๐ - ๖๐ เซนติเมตร พบกระดูกสัตว์ปนอยู่กับเศษภาชนะดินเผา พบเบ็ดตกปลาที่มำจากกระดูกสัตว์
๑ อัน ขวานหินขัด ๒ อัน
๔. ระดับ ๖๐ - ๘๐ เซนติเมตร ไม่พบหลักฐานใด ๆ สันนิษฐานว่าเป็นชั้นดินเดิม
หลุมทดสอบที่ ๒
สมมุติชั้นละ ๑๐ เซนติเมตร พบหลักฐานดังนี้
๑. ระดับ ๐ - ๔๐ เซนติเมตร ปรับสภาพผิวหน้าเดิม พบเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก
๒. ระดับ ๔๐ - ๕๐ เซนติเมตร พบเศษภาชนะดินเผาหนาแน่นมาก ที่หลุมด้านทิศตะวันออก
พบเศษภาชนะดินเผาชิ้นใหญ่ ขวานหินขัด ๑ อัน เศษกำไลหินขัด ๓ ชิ้น
๓. ระดับ ๕๐ - ๖๐ เซนติเมตร พบเศษภาชนะดินเผาต่อเนื่องและหนาแน่นมากขึ้น พบเบี้ยดินเผา
เศษกำไลหินขัด และขวานหินขัดมากขึ้น
๔. ระดับ ๖๐ - ๗๐ เซนติเมตร เศษภาชนะดินเผาที่พบลดลง พบเศษชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ที่แตกหักเป็นชิ้นเล็ก
ๆ หลายชิ้น พบโพรงดินขนาดใหญ่ รวมทั้งดินเผาไฟและเศษถ่านกระจายเป็นกลุ่มเล็ก
ๆ อยู่ทั่วไป
๕. ระดับ ๗๐ - ๘๐ เซนติเมตร พบเบี้ยดินเผาและเศษภาชนะดินเผาจำนวนน้อย พบรูหรือโพรงดินเพิ่มมากขึ้น
พบเศษชิ้นส่วนมนุษย์ ๗ ชิ้น
๖. ระดับ ๘๐ - ๙๐ เซนติเมตร พบใบมีดทำจากหิน ฟันสัตว์ เปลือกหอยขม เศษถ่าน
และเศษชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์
๗. ระดับ ๙๐ - ๑๐๐ เซนติเมตร พบชิ้นส่วนกระดูกขนาดใหญ่เป็นกระดูกขาท่อนบน
และท่อนล่างด้านขวา พบเศษภาชนะดินเผาส่วนขอบปากค่อนข้างจะเต็มใบ แต่อยู่ในสภาพแตกหักชำรุด
พบลูกปัดทำจากเปลือกหอยอยู่ใกล้กระดูกขาท่อนบน
ลักษณะของโครงกระดูกนอนหงายเหยียดยาว หันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ รอบ
ๆ คอพบลูกปัดเปลือกหอยจำนวนมาก รูปทรงกลมขนาดเล็ก และรูปอักษรตัว N อยู่โดยรอบคอ
ที่แขนทั้งสองข้างมีกำไลเปลือกหอยสวมอยู่ข้างละวง บริเวณช่วงขาพบภาชนะดินเผาที่แตกหักชำรุดวางอยู่สามใบ
เมื่อพิจารณาชั้นดินกับหลักฐานทางโบราณคดี รวมทั้งสภาพแวดล้อมแล้ว อาจกล่าวได้ว่าบริเวณแหล่งโบราณคดีแห่งนี้
มีชั้นวัฒนธรรมเดียวสมัยเดียวเท่านั้นคือ เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ประชุมประกอบพิธีกรรม
การฝังศพของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินใหม่ตอนปลาย มีอายุอยู่ประมาณ
๔,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
แหล่งโบราณคดีคลองกันทึม
(คลองกระทือ) อยู่ที่บ้านโพธิ์ ตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน
ลักษณะของแหล่ง
เป็นที่ราบเนินเขา โดยมีเขาโสมอยู่ทางทิศใต้ เขาคลองบอนอยู่ทางทิศเหนือ ระหว่างเขาทั้งสองลูกมีคลองกันทึม
ซึ่งเป็นลำน้ำธรรมชาติมีต้นน้ำอยู่บริเวณเขากันตุง และห้วยสะตอนทางทิศเหนือ
มีน้ำไหลตลอดปี ไหลผ่านแหล่งโบราณคดีนี้ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก ส่วนทางใต้มีลำคลองขนาดเล็ก
ระหว่างลอนลูกคลื่นเชิงเขา มีน้ำไหลไม่ตลอดปี บริเวณที่พบหลักฐานโบราณคดีอยู่กึ่งกลางเนิน
มีพื้นที่ประมาณสองไร่เศษ
หลักฐานทางโบราณคดี พบกระจายตัวอยู่ตามผิวหน้าดิน มีความหนาแน่นปานกลาง
จากการพัดพาของน้ำจากยอดเนินลงมา ทำให้หลักฐานทางโบราณคดีไปสะสมที่ริมคลอง
ที่สำรวจพบมีดังนี้
- เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน มีลักษณะหนาเนื้อหยาบคล้ายไห ตกแต่งด้วยลายขูดขีด
ลายนูนขีดผสมกดจุด ผิวเรียบ สีส้ม ดำ น้ำตาล
- เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องถ้วย มีลักษณะบางเนื้อละเอียด ตกแต่งด้วยลายเขียนสีที่ผิวด้านนอก
และด้านในของภาชนะมีสีฟ้า
- ก้อนขี้แร่เหล็ก หรือตะกรัน หนึ่งก้อน เหรียญเงินตรานก เศษกำไลหินไม่เป็นวง
ขวานหินขัด เศษกระดูกมนุษย์ เศษกระดูกสัตว์ขนาดใหญ่
สรุปหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ
๑. แหล่งโบราณคดีนี้อยู่ห่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านคลองบอน ประมาณ ๓ กิโลเมตร
ตามสภาพภูมิศาสตร์เปรียบเทียบกับเครื่องมือหินที่พบ น่าจะอยู่ในช่วงอายุเดียวกัน
หรือใกล้เคียงกันคือ สมัยหินใหม่ตอนปลาย
๒. เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน มีเทคโนโลยีการผลิต และมีการตกแต่งลวดลายเหมือนกัน
จึงน่าจะอยู่ในช่วงอายุเดียวกัน คือสมัยหินใหม่ตอนปลาย
๓. การพบก้อนขี้แร่ของเหล็กหรือตะกรัน ทำให้พิจารณาได้ว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้อาจจะมีพัฒนาการต่อเนื่องจากยุคหินใหม่ตอนปลายถึงยุคโลหะ
๔. การพบเศษกระเบื้องดินเผาเนื้อเครื่องถ้วยและเหรียญเงินหน้าเดียวเป็นรูปนกอีกด้านหนึ่งผิวเรียบ
สันนิษฐานว่า เป็นเหรียญของเขมร มีอายุประมาณ ๙๐๐ ปีมาแล้ว แหล่งโบราณคดีแห่งนี้น่าจะมีพัฒนาการต่อเนื่องจนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์
แหล่งโบราณคดีบ้านโพธิ์ (สนามรบ)
อยู่ที่บ้านโพธิ์ ตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน ลักษณะเป็นเนินดินอยู่ริมฝั่งซ้ายของคลองพระพุทธ
ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่รวมของคลองทรายขาว คลองบัวเสม็ด คลองคลบคลา พบหลักฐานทางโบราณคดีกระจายอยู่ทั่วไป
บริเวณที่หนาแน่นอยู่ห่างจากตะพักริมน้ำประมาณ ๑๐ เมตร
หลักฐานที่พบ
กระจายตัวอยู่ค่อนข้างหนาแน่นตามผิวหน้าดิน แบ่งออกเป็น
- เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน ลักษณะเนื้อหยาบ หนา เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
มีการตกแต่งด้วยลายขูดขีด ลายกดจุด ลายขูดขีดผสมกดจุด และผิวเรียบ มีสีส้มและสีน้ำตาล
- เศษภาชนะดินเผาเครื่องถ้วย
- ลูกกระสุนดินเผาหนึ่งลูก ทรงกลมผิวเรียบหนึ่งลูก
- สะเก็ดหินหนึ่งชิ้น
- ก้อนขี้แร่เหล็กหรือตะกรันหนึ่งก้อน
สรุปหลักฐานที่พบ
น่าจะมีช่วงอายุสมัยหินใหม่ตอนปลายและสมัยโลหะ
แหล่งโบราณคดีเขาโกน
อยู่ที่เชิงเขาโกน บ้านคลองบอน ตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน อยู่ห่างจากแหล่งโบราณคดีเขาแก้วประมาณ
๒ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นที่ราบลอนลูกคลื่นเชิงเขา มีเขาโกงซึ่งเป็นเทือกเขาหินปูนอยู่ทางทิศตะวันออกระยะประมาณ
๘๐๐ เมตร ทางทิศเหนือมีเขาแก้ว ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนอยู่ห่างออกไปประมาณ
๒ กิโลเมตร มีลำน้ำธรรมชาติคือ คลองบอนไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตก และมีคลองเหม็นไหลผ่านทางทิศใต้
คลองทั้งสองมีน้ำไหลไม่ตลอดปี พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐
หลักฐานที่พบ
มีอยู่หลายรายการด้วยกันคือ
- กำไลสำริด สวมอยู่ในขาของโครงกระดูก
- กำไลสำริด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ เซนติเมตร ๔ วง
- กำไลสำริด ขนาดเล็ก ๗ วง (สมบูรณ์ ๔ วง ไม่สมบูรณ์ ๓ วง)
- เหล็กรูปทรงคล้ายต่างหู ๓ วง (สมบูรณ์ ๒ วง ไม่สมบูรณ์ ๑ วง)
- แหวนเกลียวเชือก ๑๓ วง
- แหวนลักษณะเรียบคล้ายปลอกมีด ๖๑ วง
- อ่างดินเผาเคลือบสีมะกอกปากผาย อยู่ในสภาพแตกชำรุด ๑ ใบ
- เศษไหเคลือบสีน้ำตาลดำ
- มีดทำจากเหล็ก ๒ เล่ม
- ลูกปัดแก้วสีน้ำเงินและสีเหลือง จำนวนหนึ่ง
สรุปหลักฐานที่พบ
หลักฐานต่าง ๆ ราษฎรขุดพบ จึงไม่ทราบข้อมูลรายละเอียด หลังจากนั้นจึงได้ทำการสำรวจเบื้องต้นสรุปได้ดังนี้
- จากการพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยสำริด ในขณะที่แหล่งโบราณคดีที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันหลายแหล่งไม่พบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยสำริด
ดังนั้น แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ จึงอาจเป็นที่อยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เริ่มขึ้นในยุคโลหะที่ใช้สำริด
คือเมื่อประมาณ ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว หรืออาจเป็นที่อยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ในยุคหินใหม่ตอนปลายที่ใช้เครื่องมือหินขัด คือเมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ถึง ๒,๕๐๐
ปีมาแล้ว และมีพัฒนาการต่อเนื่องทางสังคมและวัฒนธรรมมาจนถึงโลหะที่ใช้สำริด
- แหล่งโบราณคดีแห่งนี้อาจมีการพัฒนาการทางสังคม และวัฒนธรรมต่อเนื่อง จนเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ที่เริ่มเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๔
- จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ทำด้วยสำริดและลูกปัดแก้ว ไม่พบแหล่งผลิตในแหล่งโบราณคดีที่อยู่ใกล้เคียงกัน
ดังนั้นคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่อาศัยอยู่บริเวณแหล่งโบราณคดีนี้ น่าจะมีการแลกเปลี่ยนติดต่อทางวัฒนธรรมกับชุมชนที่อยู่ห่างออกไป
หรือมีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนชายฝั่งทะเล โดยผ่านฟูนานที่มีบทบาทสำคัญเรื่องการค้าทางทะเลในช่วงพุทธศตวรรษที่
๙ - ๑๑ ฟูนานตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากน้ำโขง บริเวณเมืองออกแก้ว
แหล่งโบราณคดีบ้านคลองเหล็กบน
อยู่ในตำบลเขาแก้ว อำเภอท่าใหม่ พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
ส่วนที่พบเครื่องมือหินคือ ขวานหินขัด และส่วนที่พบกำไลสำริด ส่วนที่พบเครื่องมือหินมีบริเวณกว้างครอบคลุมพื้นที่ประมาณ
๑ ตารางกิโลเมตร พบหลักฐานที่มีปริมาณหนาแน่นแยกออกได้เป็นสามกลุ่ม
บริเวณแหล่งโบราณคดีมีเขาล้อมรอบหลายลูกคือ เขาสนน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เขาแก้วกำปรางและเขาจุดอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เขากรงเหล็กอยู่ทางทิศใต้
และมีเทือกเขาจันทบุรีประกอบด้วยเขาสอยดาวเหนือและเขาสอยดาวใต้ อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออก
มีลำน้ำธรรมชาติคือคลองแพร่งหน้าผาซึ่งเป็นคลองสายยาวไหลผ่านแหล่งโบราณคดีจากทิศตะวันตกไปทิศเหนือแล้ววกกลับทางทิศตะวันออก
คลองสะพานหินอยู่ทางทิศเหนือ คลองกรงเหล็กอยู่ทางทิศใต้ ระหว่างลอนลูกคลื่นมีลำน้ำไหลจากทิศตะวันออก
ผ่านกลางแหล่งไปสู่คลองสะพานหินทางทิศเหนือ
หลักฐานที่พบ
พบบนผิวหน้าดินจากเจ้าของที่ดินที่เก็บรวบรวมไว้และจากการสำรวจ มีดังนี้
- เครื่องมือหินกะเทาะรูปไข่ กะเทาะด้านเดียว มีรอยกะเทาะขนาดใหญ่ตรงกึ่งกลาง
แล้วตกแต่งโดยรอบ กว้าง ๕.๕ เซนติเมตร ยาว ๑๒.๓ เซนติเมตร หนา ๑ - ๔ เซนติเมตร
ทำจากหินทราย อีกชิ้นหนึ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน ทำด้วยหินชนวน
- เครื่องมือหินกะเทาะรูปไข่ กะเทาะสองด้าน มีการตกแต่งความคม กว้าง ๔.๔ เซนติเมตร
ยาว ๑๐.๓ เซนติเมตร หนา ๑.๔ เซนติเมตร ทำจากหินกรวดแม่น้ำ
- เครื่องมือหินกะเทาะแบบบาง กะเทาะด้านเดียว อาจใช้เป็นใบมีด กว้าง
๓.๒ เซนติเมตร ยาว ๑๐.๑ เซนติเมตร หนา ๐.๗ เซนติเมตร ทำจากหินทราย
- เครื่องมือหินกะเทาะรูปทรงกลม กะเทาะด้านเดียว มีรอยกะเทาะโดยรอบ
เส้นผ่าศูนย์กลาง ๙.๒ เซนติเมตร หนา ๑.๖ เซนติเมตร ทำจากหินปูน
- ขวานหินขัดแบบมีบ่า รูปทรงแบนทั้งสองด้าน บ่ากว้าง ๓.๐ เซนติเมตร
ตัวขวานกว้าง ๕.๖ เซนติเมตร ยาว ๘.๖ เซนติเมตร หนา ๑.๖ เซนติเมตร ทำจากหินทราย
- ขวานหินขัดแบบมีบ่า ด้านหน้าแบน ด้านหลังโค้งแบบหลังเต่า มีร่องรอยการแต่งคม
บ่ากว้าง ๒.๘ เซนติเมตร ตัวขวานกว้าง ๔.๔ เซนติเมตร ยาว ๘.๗ เซนติเมตร หนา
๑.๘ เซนติเมตร ทำจากหินแอนดีไซท์
- ขวานหินขัด ชำรุดหักบริเวณกึ่งกลางกว้าง ๔.๑ เซนติเมตร ยาวจากปลายคมขวานถึงส่วนที่หัก
๓.๗ เซนติเมตร หนา ๑.๕ เซนติเมตร ทำจากหินควอทไซท์ อีกชิ้นหนึ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน
แต่เล็กกว่าทำจากหินควอทไซท์ และยังมีหินลับทำจากหินกรวดแม่น้ำ
- เครื่องมือหินปลายแหลมรูปทรงคล้ายลูกดอก กะเทาะด้านเดียว กว้าง ๔.๓ เซนติเมตร
ยาว ๘.๖ เซนติเมตร ทำจากหินทราย
- เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน มีทั้งแบบผิวเรียบและแบบตกแต่งผิว เป็นลายกดประทับและลายขูดขีด
กับเศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องเคลือบ สีเคลือบเป็นสีน้ำตาล สีเทา เนื้อแกร่ง
- ฝาจุดปิดภาชนะ ส่วนจุกเป็นรูปทรงทูน เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เนื้อดินสีเหลือง
แบบดินเผาไฟ
- กำไลสำริด ลักษณะทรงกลมเรียบ ปลายสุดของกำไลทั้งสองด้านโค้งงอเข้าหากัน
แล้วปล่อยเป็นช่องว่างไว้ไม่ได้เชื่อมต่อกัน เส้นผ่าศูนย์กลางรอบใน ๕.๕ เซนติเมตร
รอบนอก ๖.๓ เซนติเมตร
สรุปหลักฐานที่พบ
พอสรุปได้ดังนี้
- การพบเครื่องมือหินกะเทาะแบบโหบินเฮียน คล้ายกับที่พบในแหล่ง ฯ เขาแก้ว
อาจเป็นที่อยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ใช้เครื่องมือหินกะเทาะที่มีอายุประมาณ
๑,๐,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว
- การพบเครื่องมือหินขัด และภาชนะเครื่องปั้นดินเผาเนื้อเครื่องดิน คล้ายกับที่พบในแหล่ง
ฯ บ้านคลองบอน อาจจัดอยู่ในช่วงสมัยเดียวกันคือ สมัยหินใหม่ตอนปลายมีอายุประมาณ
๔,๐๐๐ - ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
- แหล่ง ฯ แห่งนี้ อาจมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องจนเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ โดยการพบเครื่องเคลือบดินเผาร่วมอยู่ด้วย
แหล่งโบราณคดีบ้านท่าใหม่
อยู่ในตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ ตั้งอยู่บนที่ราบริมทะเล ลักษณะเป็นที่ราบลุ่มมีแอ่งน้ำธรรมชาติอยู่โดยรอบแหล่ง
ฯ มีแหล่งน้ำซับอยู่ทางทิศเหนือ และทิศตะวันออกไหลไปลงคลองตลาด ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแหล่ง
ฯ ทางทิศตะวันออกมีเขาวัว และทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มีเขาพลอยแหวน
หลักฐานที่พบ เป็นการพบจากผิวหน้าดินจากเจ้าของที่ดินและพบโดยการสำรวจ ประกอบด้วยขวานหินขัด
และเศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ มีทั้งแบบผิวเรียบและตกแต่งผิวด้วยลายขูดขีด
และลายกดประทับ
แหล่ง ฯ แห่งนี้เป็นแหล่ง ฯ ที่สำรวจพบใหม่ล่าสุด จากหลักฐานที่พบพอสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า
อาจเป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ยุคสุดท้าย ต่อเนื่องกับยุคประวัติศาสตร์
แหล่งโบราณคดีบ้านขุนซ่อง
อยู่ที่บ้านขุนซ่อง ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว ตั้งอยู่บนที่ราบระหว่างภูเขา
สูงจากระดับน้ำทะเล ๖๒ เมตร พบโบราณวัตถุประเภทภาชนะดินเผาความร้อนต่ำ มีทั้งแบบผิวเรียบ
และแบบลายเชือกทาบ และพบเครื่องสังคโลก ใบดาบเหล็ก เต้าปูนสำริด
แหล่งโบราณคดีอีกแห่งหนึ่ง อยู่ในเขตตำบลขุนซ่องเช่นกัน เป็นเนินดิน พบโบราณวัตถุหลายชนิดในสมัยอยุธยา
แหล่งโบราณคดีบ้านบ่อชะอม
อยู่ในตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว เป็นเนินดินเชิงเขา อยู่บนที่ราบแคบ ๆ ระหว่างเทือกเขาชะเมากับเขาฆ้อง
ชาวบ้านขุดพบโบราณวัตถุหลายชนิด เป็นไหสี่หู ขนาดเล็ก แบบเตาแม่น้ำน้อย สิงหบุรี
และกำไลสำริด พื้นที่แถบนี้เป็นเส้นทางเดินลัดระหว่างที่ราบลุ่มเจ้าพระยา
ในภาคกลางได้
แหล่งโบราณคดีใต้น้ำเรือสำเภาโบราณบางกะไชย
๒ เป็นซากเรือโบราณ หนึ่งในสองลำ
ที่พบจมอยู่ในอ่าวบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ ระดับลึก ๘ เมตร ห่างจากฝั่ง ๒
กิโลเมตร พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ในตัวเรือพบโบราณวัตถุจำนวนมาก มีทั้งที่เป็นสินค้าบรรทุกมาในระวางเรือ
เช่น ก้อนทองแดง ไม้แดงที่ใช้สำหรับย้อมสี หมากดิบ และข้าวของเครื่องใช้ประจำเรือ
ได้แก่ เครื่องถ้วยลายครามของจีน เครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาเผาโบราณที่แม่น้ำน้อย
สิงห์บุรี จากแหล่งเตาบ้านบางปูน สุพรรณบุรี และแหล่งเตาปะขาวหาย พิษณุโลก
การกำหนดอายุของเรือลำนี้ ใช้การศึกษาเปรียบเทียบ เครื่องถ้วยจีนที่พบจัดอยู่ในสมัยพระเจ้าหวั่นหลีแห่งราชวงศ์เหม็ง
(พ.ศ.๒๑๑๕ - ๒๑๖๗) และตัวอักษรจีนที่พบบนกล่องคันชั่ง แสดงถึงปีจอ ในรอบปีนักษัตรของจีน
ตรงกับปี พ.ศ.๒๑๕๓ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ
|