www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์
พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี
(คอซัมบี ณ ระนอง ) เป็นผู้พัฒนาเมืองตรังให้เจริญก้าวหน้าจากที่ได้ชื่อว่าเมืองป่า
เมืองลี้ลับ จนกลายเป็นเมืองเกษตรกรรม และเมืองท่าค้าขายที่ยิ่งใหญ่ทางภาคใต้ฝั่งอันดามัน
เป็นบุตรพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซูเจียง ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองระนอง
เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๐ ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ ในขณะดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตและองคมนตรี
พระยารัษฎา ฯ ไม่ปรากฎว่าได้เข้าศึกษาในสำนักใด แต่สามารถพูดภาษาต่าง ๆ ได้ถึงเก้าภาษา
คือภาษาไทย อังกฤษ มลายู ฮินดูสตานี และภาษาจีนต่าง ๆ อีกห้าภาษา พระยารัตนเศรษฐี
(คอซิมก๊อง ณ ระนอง) พี่ชายซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองระนอง ได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๒๕ และในปีเดียวกัน ได้เป็นผู้ช่วยเมืองระนอง มีบรรดาศักดิ์เป็นพี่หลวงบริรักษ์โลหะวิสัย
ต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองกระบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗
ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระอัษฎงคตทิศรักษา
และได้เป็นเจ้าเมืองตรังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระรัษฎานุประดิษฐ์
ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓
พระยารัษฎา ฯ ได้เร่งรัดปรับปรุงเมืองตรังตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปรับปรุงด้านการคมนาคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญด้านการพัฒนา ปรับปรุงเมืองตรังให้เป็นเมืองเกษตรกรรม
ได้จัดการดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ด้วยการให้ทุกบ้านมีเลขทะเบียนบ้าน
มีรายละเอียดของผู้อยู่อาศัย จำนวนโคกระบือ จัดทำรูปพรรณโค กระบือ จดทะเบียนเรือ
กำหนดสถานที่จอดเรือเพื่อป้องกันการลักลอบขนดินปืนจากเรือต่างประเทศ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่
ติดตามจับโจรผู้ร้ายได้ข้ามแดน โดยไม่ต้องกลับมาเอาหนังสือสูตรนารายณ์หรือหนังสืออนุญาตจับผู้ร้าย
วิธีตามจับโคกระบือที่ถูกขโมย ให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ตามรอยเท้าโคกระบือไป รอยเท้าไปสิ้นสุดหมู่บ้านใดตำบลใด
ก็ให้เจ้าหน้าที่หมู่บ้านนั้นตามรอยต่อไป บ้านเรือนราษฎรทุกหลังต้องมีเกราะ
(เหลาะ) สำหรับไว้ตีบอกเหตุเมื่อถูกโจรผู้ร้ายเข้าปล้นทุกบ้านจะต้องตีเกาะบอกต่อ
ๆ กันไป พร้อมทั้งช่วยกันจับผู้ร้าย บ้านใดไม่ให้ความร่วมมือจะถูกพิจารณาโทษตามควรแก่เหตุ
เมื่อเมืองตรังเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยแล้ว ในปี พ.ศ.๒๓๓๖ พระยารัษฎา ฯ ได้ดำเนินการย้ายที่ตั้งเมืองจากควนธานี
ไปที่กันตังด้วยความมุ่งมั่น
ที่จะให้เมืองใหม่ที่กันตัง มีความเจริญเท่าเทียมกับเมืองปีนัง มีการวางผังเมืองใหม่โดยมีช่างชาวอิตาลีมาช่วย
พัฒนาทางน้ำให้กันตังเป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือ ด้านการคมนาคมทางบกให้เร่งดำเนินการตัดถนนหลายสาย
ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้สำรวจและตัดถนนบนเขาบรรทัดเพื่อติดต่อกับเมืองพัทลุง เป็นการเชื่อมดินแดนฝั่งตะวันตก
กับตะวันออกโดยผ่านเขาพับผ้า
ตลอดเวลา ๑๑ ปี ในตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ทำให้เมืองตรังเจริญรุดหน้าในทุกด้านและมีความสงบสุขอย่างแท้จริง
พระยารัษฎา ฯ เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานสนองพระราชดำริห์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในการเร่งรัดปรับปรุงเมืองตรัง ให้สำเร็จผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นเมื่อท่านได้ดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง
จนเกิดผลดีเป็นที่ประจักษ์ ถึงขีดความสามารถจนได้รับพิจารณา ให้ไปดำรงตำแหน่ง
เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ แต่พระยารัษฎา ฯ ได้ปฏิเสธการขึ้นไปดำรงตำแหน่งสูงและเกียรติยศสูงกว่าสมุหเทศาภิบาล
บ้านนอกอย่างเทียบกันไม่ได้ ด้วยเหตุผลอันน่าสรรเสริญสมควรเป็นเยี่ยงอย่างว่า
"ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเสนาบดีนั้นเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า
ฯ แต่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นความจำเป็นของประเทศว่าเสนาบดี เป็นแต่เพียงผู้สั่งงาน
และมีเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญอยู่แล้ว ไม่สำคัญเท่าสมุหเทศาภิบาล ที่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับราชการฉลองพระกรุณาอยู่ขณะนี้
เป็นตำแหน่งที่รับผิดชอบแทนพระองค์
ในหน้าที่ปกครองประชาชนให้ได้ผลสมความมุ่งหมายของรัฐบาล
ถ้าได้ทรงพระกรุณาเลือกหาตัว เสนาบดีกระทรวงเกษตรได้ใหม่แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะขอฉลองพระกรุณาธิคุณในตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลไปตามเดิม..."
พระครูบริสุทธิศีลาจารย์ทิสังฆปาโมกข์
(หลวงปู่ลบ) เป็นปูชนียบุคคลที่มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา และการศึกษาในเมืองตรัง
และจัดว่าเป็นผู้วางรากฐานทางการศึกษาของเมืองตรังอย่างเท้จริงผู้หนึ่ง
หลวงปู่ลบ เป็นบุตรขุนรามสุรเดช (ปาน) เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๗ ที่ตำบลบางหมาก
อำเภอกันตัง บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๒ ปี พออายุได้ ๑๙ ปี ได้ลาสิกขา
เข้ารับราชการเป็นเสมียนตรีอยู่สองปี
ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดควนธานี และได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดตรัง
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓
ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ พระยารัษฎา ฯ ได้ย้ายเมืองจากควนธานีไปตั้งใหม่ที่กันตัง ได้นิมนต์หลวงปู่ลบจากวัดควนธานีให้ไปร่วมสร้างบ้านแปงเมือง
โดยได้สร้างวัดกันตัง เดิมอยู่ใกล้สถานที่ราชการอื่น ๆ ที่คับแคบ ต่อมาจึงย้ายมาตั้งวัดอยู่
ณ ที่ตั้งอยู่ปัจจุบัน
หลวงปู่ลบ ได้ช่วยพระยารัษฎา ฯ ในด้านการศึกษาอย่างเต็มกำลัง โดยจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในบริเวณวัดชื่อว่า
โรงเรียนลบจรุงวิทยา นับเป็นโรงเรียนตัวอย่างของจังหวัดตรังแห่งแรก โดยได้จัดหาครูจากที่ต่าง
ๆ เช่น นครศรีธรรมราช โรงเรียนดังกล่าวปัจจุบันคือ โรงเรียนเทศบาลวัดตรังคภูมิพุทธาวาส
พระครูสุทธิโสภณ
เป็นพระนักพัฒนาที่มีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวัด และชุมชนให้มีความเจริญก้าวหน้า
อย่างแท้จริง ในระยะเวลาอันต่อเนื่องยาวนาน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่ชุมชนเป็นเอนกประการ
พระครูพิสิทธิโสภณ (เอก สิรินทโร) เจ้าอาวาสวัดรัตนาภิมุข (วัดปากเหมือง)
นามเดิม เอก ทองหนับ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ โยมบิดามารดาชื่อ นายหลบ นางเขียว
ทองหนัน บ้านเดิมอยู่ที่ตำบลนาโยงเหนือ อำเภอนาโยง อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดพระพุทธสิหิงค์
ตำบลนาโยง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙
งานสำคัญในขั้นต้นคือ ริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิวิสุทธิโสภณ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่เยาวชน
บำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ช่วยเหลือชาวบ้านที่เจ็บป่วยและยากจนในท้องถิ่น
ให้มีที่พัก อาหาร และฝึกวิชาชีพให้ เมื่อสงครามมหาเอเซียบูรพา เชลยญี่ปุ่นที่ได้รับการสงเคราะห์จากท่าน
ทหารเชลยญี่ปุ่นที่มาอาศัยวัดได้ช่วยกันบุกเบิกตัดถนนเข้าวัด สำเร็จเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๙
ในอดีตพื้นที่ตำบลนาโยงเป็นที่ช่องสุมของผู้ก่อการร้าย ท่านได้ช่วยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองติดต่อกับผู้ก่อการร้าย
ให้ผู้ก่อการร้ายเข้ามอบตัวต่อทางราชการ และท่านได้รับพวกนี้มาฝึกอบรมโดยความร่วมมือของ
กอ.รมน.ภาค ๔
- ด้านการศึกษา
ท่านได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พร้อมกับริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนมัธยมประจำตำบล
และจัดหาทุนเพื่อการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลน ริเริ่มจัดตั้งและอำนวยการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดรัตนาภิมุข
และศูนย์อบรมเด็กก่อนวัยเรียนที่วัดควนสวรรค์ ตำบลนาหมื่นศรี
- ด้านสาธารณสุข
ได้จัดทำโครงการน้ำประปาหมู่บ้าน โดยใช้พื้นที่วัดเป็นสถานที่ผลิตน้ำประปา
แล้วแจกจ่ายให้ชาวบ้าน โดยไม่คิดค่าตอบแทน มีการขุดบ่อบาดาลขยายการผลิตประปาหมู่บ้าน
มีการรวบรวมสมุนไพรในท้องถิ่นสร้างสวนสมุนไพรขึ้น จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรขึ้นที่วัดรัตนาภิมุข
ตามโครงการใช้สมุนไพรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
- ด้านการฟื้นฟู อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
ท่านได้จัดกิจกรรมในวันสำคัญต่าง ๆ และส่งเสริมเผยแพร่การละเล่นตามประเพณีพื้นบ้านเช่น
หนังตะลุง มโนราห์ ชัดต้ม
ชักพระบก โดยจัดในรูปการสาธิต การแสดง และการแข่งขัน สนับสนุนส่งเสริมฟื้นฟูการทอผ้าของกลุ่มสตรีนาหมื่นศรี
โดยทำหน้าที่เป็นประธานอำนวยการและที่ปรึกษา
ท่านได้นำโครงการบวร
ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน โครงการส่งเสริมการเกษตร เพื่อทำนาแบบวัฒนธรรมพื้นบ้าน
สร้างองค์ความรู้เรื่องการทำนาสู่ภาคปฏิบัติ มีผู้ร่วมโครงการคือกลุ่มชาวบ้าน
ผู้ปกครอง นักเรียน มาร่วมกันสอนนักเรียน
จากผลงานของท่านที่ได้สร้างสรรค์ไว้เป็นจำนวนมาก ตลอดเวลาอันยาวนาน ทำให้ท่านได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่าง
ๆ เช่น สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย สถาบันราชภัฎภูเก็ต ฯลฯ
|