www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
ศาสนาพิธีกรรม
ความเชื่อ
ประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดตรังนับถือศาสนาพุทธประมาณร้อยละ ๘๒ รองลงมาเป็นศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ
๑๗ ศาสนาคริสต์มีเพียงเล็กน้อยไม่ถึงร้อยละ ๑ ส่วนศาสนาอื่น ๆ แทบไม่มีเลย
พุทธศาสนาแพร่เข้าสู่เขตจังหวัดตรังมานาน
หลักฐานที่ปรากฎคือ โบราณวัตถุประเภทพระพิมพ์ดินดิบในถ้ำต่าง ๆ แถบอำเภอห้วยยอด
แสดงอิทธิพลของพระพุทธศาสนามหายานเป็นหลักฐานร่วมสมัยกับอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งมีอายุประมาณตั้งแต่
พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕ ต่อมามีตำนานพื้นบ้านเช่น ตำนานนางเลือดขาว สร้างวัดสร้างพระพุทธรูปและนำพระพุทธสิหิงค์เข้ามาเมืองตรัง
ตำนานการเดินทางไปร่วมบูรณะปฎิสังขรณ์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช แสดงถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
ลัทธิลังกาวงศ์ และยังมีศาสนวัตถุ ศาสนสถานแหลายแห่ง
เมื่อความเจริญทางด้านพระศาสนาจากส่วนกลาง เข้ามาพร้อมกบการบริหารราชการแผ่นดินยุคใหม่
ทำให้มีการปรับเปลี่ยนประยุกต์วัดวาอาราม ศาสนวัตถุ ศาสนาสถานที่สร้างขึ้นใหม่ในเขตชุมชนเมืองส่วนมาก
จึงสะท้อนอิทธิพลวัฒนธรรมพุทธศาสนาจากส่วนกลางอย่างเด่นชัด เช่นวัดตันตยาภิรม
พระอารามหลวงแห่งเดียวในจังหวัดตรัง วัดควนวิเศษ วัดประสิทธิชัย วัดคลองน้ำเจ็ด
วัดกุฎยาราม เป็นต้น ล้วนเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย มีเพียงวัดเดียวคือ วัดมัชฌิมภูมิ
หรือวัดหน้าเขา
ที่เป็นฝ่ายธรรมยุติ
พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ในจังหวัดตรัง มักให้ความศรัทธาพระสงฆ์มากกว่าพระศาสนา
การกล่าวถึงพระสงฆ์ผู้มีบารมีธรรมในเชิงยกย่องว่า พ่อท่าน
มักได้ยินกันบ่อยครั้งจนเป็นที่คุ้นเคย เช่น พ่อท่านลบ พ่อท่านวัน พ่อท่านแสง
พ่อท่านรุ่ง เป็นต้น
ปัจจุบันมีวัดและที่พักสงฆ์ในจังหวัดตรังอยู่ประมาณ ๑๖๕ แห่ง มีคณะสงฆ์อยู่ประมาณ
๑,๐๐๐ รูปเศษ
พุทธศาสนาฝ่ายมหายานผนวกกับลัทธิขงจื้อซึ่งแพร่หลายอยู่ในเขตจีนใต้ เข้ามาพร้อมกับคนไทยเชื้อสายจีนตั้งแต่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดตรังเมื่อประมาณ
๑๕๐ ปีมาแล้ว ในการเดินทางมาได้นำเอาตัวแทนสิ่งเคารพบูชามาด้วย เช่น รูปเคารพ
กระถางธูป ฯลฯ ภายหลังได้จัดสร้างสถานที่เป็นศูนย์รวมพิธีกรรมคือศาลเจ้า
ปัจจุบันมีอยู่ ๑๗ แห่ง ที่จดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว ศาลเจ้าเก่าแก่ในจังหวัดตรังได้แก่
ศาลเจ้าอิวอ่องเอี้ย
(เต่าหมู่กง)
ศาลเจ้าท่ามกงเยี่ย ศาลเจ้าหมื่นราม ศาลเจ้าเปากง ศาลเจ้าโป้เซ้ง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าพระร้อยเก้าซึ่งตั้งกระจายอยู่หลายที่
และยังมีศาลเจ้าอีกจำนวนไม่น้อยที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ตามกระแสการยกชูประเพณีพิธีกรรม
ศาสนาอิสลาม
ประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่เป็นหมู่เลในเขตอำเภอสิเกา กันตัง ปะเหลียน
ย่านตาขาว และกิ่งอำเภอหาดสำราญ
ในทำเนียบกรมการเมืองของเก่า พ.ศ.๒๓๕๕ กล่าวถึงตำแหน่งกรมการเมืองต่าง ๆ รวมทั้งกรมการเมืองฝ่ายอิสลาม
ซึ่งมีด่านทะเลฝ่ายอิสลามมีด้านเกาะลิบง ด่านชายฝั่ง ด่านตอนในและประวัติบอกเล่าของกลุ่มคนในตระกูลเก่าของอำเภอปะเหลียน
กล่าวว่า เมื่อบ้านหยงสตาร์และบริเวณใกล้เคียงมีกลุ่มไทยอิสลามอาศัยอยู่หนาแน่น
ทางการได้ตั้งหลวงจางวางราชสมบัติ (จอมซินตรี) ดูแลกลุ่มมุสลิมแถบชายทะเล
ปัจจุบันตรังเป็นจังหวัดหนึ่งที่ทางราชการกำหนดให้มีคณะ กก. อิสลามประจำจังหวัดดูแลกลุ่มมุสลิมในด้านการปฎิบัติกิจทางศาสนา
คติความเชื่อของมุสลิมประยุกต์ ปรับเปลี่ยนหรืองดเว้นไปบ้างตามสภาพสังคมแวดล้อมและค่านิยมส่วนท้องถิ่น
เช่นพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด มีพิธีอะซาน พิธีโกนผมไฟ พิธีตั้งชื่อเด็ก และพิธีอากีเกาะห์
แต่เนื่องจากความนิยมเฉพาะถิ่นจึงอาจมีพิธีอื่นเพิ่มขึ้น เช่น พิธีนำเด็กขึ้นเปล
พิธียกเด็กให้เป็นลูกคนอื่นเพราะความเจ็บป่วยเลี้ยงยาก การเปลี่ยนชื่อใหม่เพราะเชื่อว่าอักษรเป็นกาลกิณี
ตลอดจนการตั้งชื่อเด็กตามกระแสนิยม และมีไม่น้อยที่ตั้งชื่อจริงเป็นภาษาไทย
ชื่อรองเป็นภาษาอาหรับ ส่วนพิธีโกนผมไฟนั้นปัจจุบันมุสลิมบางรายมิได้ถือปฎิบัติ
ในส่วนวัฒนธรรมทางสังคมมีแนวทางปฎิบัติตามศาสนบัญญัติที่เรียบง่ายและประหยัด
ส่วนที่ปรับเปลี่ยนไปก็มี เช่นการแต่งกายตามความนิยมในท้องถิ่น การจัดขบวนขันหมากในพิธีแต่งงาน
การทำบุญครบ ๓ วัน ๗ วัน ๔๐ วัน ๑๐๐ วัน หรือครบรอบปีแก่ผู้ตายหรือการจัดเลี้ยงในพิธีการต่าง
ๆ ตามกระแสสังคมที่ปรากฎอยู่ทั่วไปในเขตจังหวัดตรัง จนบางครั้งแยกไม่ออกว่าไหนคือแก่น
ไหนคือกระพี้
ด้านการศึกษาเพื่อสืบทอดศาสนาอิสลามในจังหวัดตรัง ได้มีมัสยิดต่าง ๆ จัดให้มีการสอนศาสนาภาคพิเศษโดยใช้เวลาตอนเย็นหรือเสาร์-อาทิตย์
สอนคัมภีร์อัลกุรอ่าน หรือการบรรยายธรรม (คุฎบะห์) ในพิธีละหมาดโดยอิหม่าม
จังหวัดตรังยังไม่มีโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่ไห้การศึกษาเบื้องต้น ชาวไทยมุสลิมที่ประสงค์จะให้บุตรหลานเรียนศาสนา
คู่ไปกับวิชาสามัญ จึงส่งลูกหลานไปเรียนในจังหวัดสตูล ยะลา และปัตตานี
มุสลิมโดยทั่วไปจะเน้นให้ครอบครัวเป็นสถาบันหลักในการสืบทอดศาสนา แต่สำหรับจังหวัดตรังสถาบันครอบครัวยังปฎิบัติได้น้อย
อาจเป็นเพราะพ่อแม่ผู้เฒ่าผู้แก่ ยังมีความรู้ในหลักศาสนาไม่เพียงพอ จึงมีสถาบันอื่นให้การศึกษาแก่บุตรหลานของตน
ชาวไทยอิสลาม ในจังหวัดตรังเป็นผู้ตั้งมั่นในหลักศาสนา มีความเป็นอยู่อย่างสมถะ
เป็นมิตรสนิทสนมกับกับทุกคน โดยไม่แบ่งแยกกลุ่มศาสนา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ไม่ตำหนิเหยียดหยามซึ่งกันและกัน มุ่งแสวงความดีไปมาหาสู่กันทำให้เกิดความกลมเกลียวกันเป็นอย่างดี
คริสศาสนา
คริสศาสนาในจังหวัดตรังเริ่มแรกจำกัดอยู่ในหมู่ตลาดของเขตตรังเมือง ต่อมาจึงแพร่ขยายไปตามเขตอื่นบ้าง
แต่ไม่มากมีไม่ถึงร้อยละหนึ่ง แบ่งออกเป็นสองนิกายคือ
- นิกายโปรเตสแตนท์
ยึดคัมภีร์ใบเบิลเป็นหลัก ไม่ผูกพันกับอำนาจของสันตปาปาในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้มีการก่อตั้งสถานีประกาศขึ้น
โดยใช้สถานที่โรงพยาบาลทับเที่ยง แล้วตั้งเป็นคริสตจักรในอีกสองปีถัดมา มีสมาชิกเริ่มแรก
๑๐๐ คนเศษ
ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ได้สร้างโบสถ์แห่งแรกที่ทับเที่ยง บนที่ดินซึ่งซื้อไว้คราวเดียวกับการจัดซื้อที่ทำการคริสเตียน
โบสถ์หลังนี้สร้างด้วยไม้ไผ่ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๘ จึงได้สร้างเป็นอาคารถาวร
ก่ออิฐถือปูน ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโทชิค
ในสมัยต้นของการเผยแพร่ศาสนาคริสตชนส่วนใหญ่เป็นหมู่ตลาดเชื้อสายจีน ต้องใช้ภาษาจีนเกือบทุกครั้งในการประชุมนมัสการที่โบสถ์
จนประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๐ เวลานั้นการนับถือคริสตศาสนาได้ขยายไปสู่ชาวตรังกลุ่มอื่น
ๆ มากขึ้น ชาวตรังเชื้อสายจีนรุ่นใหม่พูดภาษาไทยได้มากขึ้น การประชุมนมัสการ
และการเทศนาธรรมจึงเปลี่ยนมาเป็นภาษาไทย
กิจกรรมของศาสนาเกิดชะงักงันในปี พ.ศ.๒๔๘๕ เพราะผลกระทบของสงครามมหาเอเชียบูรพา
แต่ก็ได้รับการฟื้นฟูใหม่ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ด้วยการเกื้อกูลของชาวไต้หวันผู้หนึ่ง
ผู้รับภารกิจฟื้นฟูคริสตจักรแถบเอเชียอาคเณย์ จากนั้นก็เจริญเรื่อยมา ในปี
พ.ศ.๒๕๒๗ คริสตจักรตรังได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ตั้งโบสถ์
จากคณะอเมริกันเพรสไปเทอเรียนมิชชั่น แล้วตั้งเป็นคริสตจักรภาคที่ ๑๖ ก่อนจะแยกมาตั้งเป็นคริสตจักรภาคที่
๑๗ ซึ่งมีพิธีสถาปนาจัดขึ้นที่โบสถ์คริสตจักรตรัง
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ปัจจุบันคริสตจักรภาคที่ ๑๗ มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น ๑๒ คริสตจักรอยู่ที่กระบี่
นครศรีธรรมราชและตรัง ในจังหวัดตรังมีคริสตจักรตรัง (ทับเที่ยง) คริสตจักรกันตัง
คริสตจักรห้วยยอด คริสตจักรย่านตาขาว คริสตจักรวังวิเศษ คริสตจักรโคกทราย
คริสตจักรโคกม่วง คริสตจักรอ่าวดง มีสมาชิกคริสเตียนในภาค ๑๗ รวมประมาณพันคนเศษ
คริสตจักรนิกายโปรเตสแต็นท์ ศรัทธาในเรื่องความรอดโดยพระคุณและความเชื่อผ่านทางพระเยซู
ยึดในศาสนบัญญัติสองประการคือ รักพระเจ้าด้วยสุดใจ สุดจิต สุดกำลัง และสุดความคิด
และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ประกอบศาสนพิธีโดยถือหลักความบริสุทธิ์แห่งจิตวิญญาณ
และพิธีการที่เรียบง่าย มีศาสนพิธีที่สำคัญสองประการที่ถือปฎิบัติคือ พิธีศีลมหาสนิท
(Communion) และพิธีบัพติสม์
(Baptism)
คริสเตียนชาวตรัง ดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบศีลธรรม ตามบทบัญญัติในคัมภีร์ได้ค่อนข้างสมบูรณ์
และได้ประยุกต์ธรรมเนียมปฎิบัติ บางประการให้กลมกลืนกับขนบธรรมเนียมประเพณี
ค่านิยมของท้องถิ่น เช่นการประกอบพิธีสมรส บางแห่งจัดให้คู่บ่าวสาวซึ่งต้องเป็นคริสเตียนทั้งคู่
กราบคารวะบิดามารดายกน้ำชาไหว้ญาติผู้ใหญ่ตามแบบจีน หรืออาจมีผูกผ้าแก่คู่บ่าวสาว
ในพิธีศพ
จะมีการจัดเลี้ยงตามแบบท้องถิ่นด้วย ส่วนพิธีสวดและพิธีฝังจะเป็นแบบคริสเตียน
ในด้านการศึกษาและถ่ายทอดหลักศาสนาทุกวันอาทิตย์ในการประชุมนมัสการที่โบสถ์
ศาสนาจารย์ ผู้ปกครองหรือศิษยาภิบาลจะหนุนใจคริสเตียน และให้ความรู้เกี่ยวกับข้อคัมภีร์
ประมาณครึ่งหนึ่งของคริสตชนในตรังสนใจประกอบกิจสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มอาสาสมัครเปิดสอนรวีวารศึกษา
(Sunday
School)
แก่เด็ก ๆ มีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อหนุนใจและสอนคัมภีร์ตามบ้าน ธรรมศาลา
และโรงเรียนคริสเตียนต่าง ๆ ด้วย นับเป็นการเติบโตโดยต่อเนื่อง และเป็นธรรมชาติ
คริสตศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ในจังหวัดตรัง มีกิจกรรมบริการสังคมด้านการแพทย์และการศึกษาโดยมีโรงพยาบาลทับเที่ยง
โรงเรียนอนุกูลทับเที่ยง และโรงเรียนยุวราษฎร์วิทยา (ปัจจุบันได้รวมกันเป็นโรงเรียนตรังคริสเตียนศึกษา)
เป็นเครือข่ายให้บริการแก่ชุมชนชาวตรังจนเป็นที่ยอมรับ
- นิกายคาทอลิก
ได้เริ่มที่ตรังในปี พ.ศ.๒๔๙๕ หลังสงครามคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน คณะบาทหลวงมิชชันนารีสติกมาตินชาวอิตาลี
จำนวน ๕ คน ได้เดินทางจากประเทศจีน เนื่องจากถูกรัฐบาลจีนขับไล่ออกจากประเทศ
คณะบาทหลวงได้เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเขตมิสซังคาทอลิกราชบุรี แลได้จัดให้มีกิจการโบสถ์และโรงเรียนขึ้นในพื้นที่ที่มีคณะทำงานในแต่ละจังหวัด
ที่จังหวัดตรังมีโบสถ์คาทอลิกนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ และโรงเรียนดรุโณทัย
ปัจจุบันมีคริสตชนคาทอลิกในจังหวัดตรังประมาณ ๒๐๐ คน
พราหมณ์
สกุลพราหมณ์ในจังหวัดตรังมีอยู่สองสกุลคือ รังษีกับสังขพราหมณ์ เป็นตระกูลที่มีบรรพบุรุษเป็นพราหมณ์จากตำบลควนหาด
จังหวัดพัทลุง เข้ามาตั้งรกรากที่ตำบลเกาะเบี้ยว อำเภอย่านตาขาว ต่อมามีบางส่วนได้แยกย้ายไปอยู่ที่ตำบลหนองครุด
อำเภอเมือง ฯ และตำบลโคกยาว อำเภอกันตัง
พราหมณ์ในจังหวัดตรัง ได้รับยกย่องจากทางบ้านเมืองให้เป็นผู้ร่วมประกอบพิธีทั้งรัฐพิธีและราชพิธี
หัวหน้าพราหมณ์ได้รับแต่งตั้งจากทางบ้านเมือง ให้มีบรรดาศักดิ์และทำหน้าที่ปกครองดูแลพวกพราหมณ์ด้วยกัน
หัวหน้าพราหมณ์คนแรกของเมืองตรังคือ ขุนไชยสงคราม
ต่อมาเป็นขุนชำนาญพิธี ขุนพรหมสมัย ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแลหมู่พราหมณ์ในจังหวัดพัทลุง
นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานีด้วย
การเป็นพราหมณณ์ต้องสืบทอดโดยตรงทางสายเลือดและมีคำสั่งจากบิดาให้เป็นพราหมณ์
แต่ไม่ได้บังคับ เดิมพราหมณ์ที่จังหวัดตรัง ต้องไปทำพิธีบวชที่จังหวัดพัทลุง
ต่อมาได้มีสถานที่ทำพิธีแห่งเดียวที่โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า กรุงเทพฯ ผู้ที่บวชพราหมณ์แล้วจะเป็นพราหมณ์ไปตลอดชีวิต
หลักการปฏิบัติของพราหมณ์และผู้ที่ศรัทธาในลัทธินี้จะถือศีลห้าเช่นเดียวกับพุทธศาสนา
เว้นการเสพมังสังสิบประการ เดิมนิยมสมรสในหมู่พราหมณ์ด้วยกัน ประเพณีเกี่ยวกับการตายนั้น
ถือว่าการสิ้นลมปราณในอาการนั่งเป็นการถูกต้องและเป็นบุญ ส่วนพิธีศพอนุโลมจัดตามประเพณีท้องถิ่น
พราหมณ์ในจังหวัดตรังได้สืบทอดความเป็นพราหมณ์มาประมาณ ๔ - ๕ ชั่วคน ในปี
พ.ศ.๒๕๐๕ มีพราหมณ์รุ่นสุดท้ายอยู่สี่คน เป็นพราหมณ์ในตระกูลรังษี ที่เกาะปิยาสามคน
พราหมณ์ตระกูลสังขพราหมณ์ที่หนองตรุดหนึ่งคน ปัจจุบันที่อำเภอย่านตาขาว มีพราหมณ์เพียงคนเดียวที่ยังคงสืบทอดการประกอบพิธีต่าง
ๆ
|