www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษา
ชนพื้นเมืองเดิมของจังหวัดอุบล ฯ เป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาตระกูลมอญ
- เขมร ต่อมาเมื่อกลุ่มชนวัฒนธรรมไทย-ลาว เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมดั้งเดิม ภาษาพื้นเมืองดั้งเดิมในปัจจุบัน
คงเหลืออยู่บ้างในกลุ่มผู้สูงอายุ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล แถบชายแดน ลาว
และเขมร เช่น แถบ อำเภอสำโรง อำเภอเดชอุดม อำเภอน้ำยืน อำเภอนาจะหลวย อำเภอบุณฑริก
และอำเภอโขงเจียม เป็นต้น เรียกว่า ภาษาส่วย
ได้แก่ส่วยบ้านสะโหง่น ส่วยบ้านเวินบึก
วรรณกรรมพุทธศาสนา
เมืองอุบล ฯ เคยเป็นดินแดนภายใต้ความปกครองของขอม ซึ่งนับถือทั้งศาสนาพุทธ
และศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมล้านช้างแผ่เข้ามา ทำให้พุทธศาสนามีอิทธิพลสูงในดินแดนแถบนี้
นักปราชญ์ชาวพุทธ นำเอาพุทธประวัติในอดีตชาติที่เป็นพระโพธิสัตว์ มารจนาเป็นวรรณคดี
โดยจารลงในใบลานเรียกว่าหนังสือผูก เช่นมหาชาติคำเฉียง พระมาลัยเลียบโลก สังฮอมธาตุ
อุรังคนิทาน เสตพน อุปคุต กาละนับมื้อส่วย ปฐมกัลป เป็นต้น
วรรณกรรมประวัติศาสตร์
มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน เช่น ท้าวฮุ่งขุนเจือง พื้นเวียงจันทน์ นิทานขุนบูลม
(บรม) ตำนานนครจำปาศักดิ์ และที่สำคัญคือพื้นเมืองอุบลซึ่งจารไว้ในใบลาน สำนวนอีสานอักษรไทยน้อย
วรรณกรรมนิทาน
เป็นเรื่องให้ความบันเทิงสนุกสนาน แต่ผู้รจนาได้ผูกโยงไปสู่เรื่องราวทางพุทธศาสนา
คือส่วนใหญ่ตัวเอกของเรื่องจะได้รับกล่าวอ้างว่าเป็นพระโพธิสัตว์ หรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับความเชื่อดั้งเดิมได้แก่ความเชื่อเรื่อง
ผี แถน และพญานาค จะสอดแทรกคติความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสาน
วรรณกรรมนิทานที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่นเรื่อง จำปาสี่ต้น นางผมหอม สินไช
ท้าวสีทน ไก่แก้ว กำพร้าผีน้อย ลินทอง นางแตงอ่อน เสียงสะหวาด ขุนทึงขุนเทือง
ท้าวขูลู และนางอั้ว เป็นต้น
วรรณกรรมคำสอน
มีทั้งนิทาน บทสอนใจ บทผญาสุภาษิต ที่สอนจริยธรรม และหน้าที่พึงปฏิบัติต่อกันในสังคม
เช่น ธรรมดาสอนโลก ปู่สอนหลาน หลานสอนปู่ ท้าวคำสอน ฮีตสิบสองคองสิบสี่ พระยาคำกอง
สอนไพร่ สิริจันโทวาท คำสอน เป็นต้น
วรรณกรรมเบ็ดเตล็ด
เป็นวรรณกรรมประเภทบทประพันธ์ที่ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ บทสูตขวัญ กาพย์เซิ้งในพิธีขอฝน
คำผญาใช้เกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว และนิทานตลกขบขันต่าง ๆ
วรรณกรรมมุขปาฐะ
ประเพณีการลงข่วงมีมาแต่โบราณ ทำให้ผู้คนได้สังสรรค์กัน เกิดการถ่ายทอดเรื่องราวข่าวคราวต่าง
ๆ สู่กันฟัง มีทั้งเรื่องราวทางโลก ทางธรรม ตำนาน นิทาน นิทานก้อม บทกลอนคำสอนที่เรียกว่าบทผญา
เพลงกล่อมเด็ก เพลงประกอบการละเล่น ตลอดจนบทพยากรณ์เหตุการณ์บ้านเมืองต่าง
ๆ นานา เป็นเรื่องที่สนุกสนานมีผู้นิยมฟังกันมาก
จารึก
จังหวัดอุบล
ฯ มีหลักฐานทางโบราณคดีอยู่เป็นจำนวนมากหลายยุคหลายสมัย มีจารึกตัวอักษรปรากฏเป็นสองระยะ
ระยะแรกสมัยเจนละประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ ใช้อักษรปัลลวะมีจารึกปากน้ำมูล
และจารึกวัดสุปัฏนาราม
จารึกปากน้ำมูล
เป็นศิลาจารึกทำด้วยหินทรายสีน้ำตาล มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ สมัยเจนละ
จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ลักษณะเป็นรูปใบเสมาสี่เหลี่ยมด้านเท่ามีอยู่สองหลัก
ขนาดกว้าง ๓๕ เซนติเมตร สูง ๒๕๐ เซนติเมตร หนา ๓๖ เซนติเมตร และขนาดกว้าง
๓๙ เซนติเมตร สูง ๑๕๐ เซนติเมตร หนา ๒๙ เซนติเมตร หนัก ๘ ตัน พบบริเวณใกล้ปากแม่น้ำมูล
ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม ทั้งสองหลักมีข้อความเหมือนกัน ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
อุบล ฯ ข้อความในศิลาจารึกเป็นข้อความเดียวกันกับจารึกถ้ำภูหมาไน ตำบลโขงเจียม
อำเภอโขงเจียม
จารึกระยะที่สอง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๑ เป็นต้นมา จารึกด้วยตัวอักษรขอม ที่เรียกว่าตัวธรรมเป็นภาษาลาว เป็นจารึกอันเนื่องในพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก
พบตามวัดต่าง ๆ ที่สร้างในระยะแรก ที่ก่อตั้งเมืองอุบล ฯ เช่น จารึกวัดมหาวนาราม
(วัดป่าใหญ่) จารึกวัดเลียบ จารึกวัดเวฬุวนาราม จารึกวัดบ้านตำแย
จารึกวัดมหาวนาราม
มีอยู่จำนวนเจ็ดหลัก สองหลักแรกจารึกบนแผ่นศิลาทำด้วยทรายผสมปูนคล้ายคอนกรีต
(เรียกว่าซะทราย) อีกห้าหลักจารึกบนฐานพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระเจ้าใหญ่อินแปง
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของเมืองอุบล ฯ
- หลักที่ ๑
ลักษณะเป็นใบเสมาขนาดใหญ่กว่าทุกหลักติดกับฐานพระเจ้าใหญ่อินแปงด้านพระหัตถ์ซ้าย
สูง ๙๗ เซนติเมตร กว้าง ๕๓ เซนติเมตร หนา ๑๘ เซนติเมตร มีอักษรจารึก ๒๔ บรรทัด
มีข้อความว่า
จุลศักราชได้ ๑๕๙ ตัว ปีเชิงมด พระเจ้าปทุมได้มาตั้งเมืองอุบล ฯ ได้ ๒๖ ปี
ศักราชได้ ๑๔๒ ตัว ปีซะง้า จึงถึงอนิจกรรมล่วงไปด้วยลำดับปีเดือน หั้นแล้ว
ศักราชได้ ๑๕๔ ตัว ปีเต่าสัน พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ ได้ขึ้นเสวยเมืองอุบล
ฯ ได้ ๑๕ ปี ศักราช ๑๕๔ ตัว ปีรวงเร้าจึงได้สร้างวิหารอารามในวัดหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์สัสดี
เพื่อให้เป็นที่สำราญแก่พุทธเจ้า ศักราชได้ ๑๖๙ ปี เมิงเม้า มหาราชศรีสัทธรรมวงศา
พาลูกศิษย์สร้างพระพุทธรูปดิน หล่ออิฐซะทรายใส่วัด ล่วงเดือน ๕ เพ็ง วัน ๑
มื้อรวงไก๊ ฤกษ์ ๑๒ ลูก ชื่อว่าจิตต์อยู่ในราศีกันย์ เบิกแล้วยามแถใกล้ค่ำ
จึงได้ชื่อว่าพระเจ้าอินแปง ให้คนและเทวดาคอยลำแยงรักษาบูชาอย่าให้อมาลาย
อันตรายแก่พระพุทธรูปเจ้าองค์วิเศษ เพื่อให้เป็นมุงคุณแก่บ้านเมือง มหาราชครูตนสร้างจึงมีคำเลื่อมใส
จึงทอดน้องหญิง ชื่อว่าแม่ปุ้ยกับทั้งอีปุ้ยหลานหญิงให้เป็นข้าโอกาสแก่พุทธรูปอินทร์เจ้าองค์นี้
ลูกหญิงชื่อว่าสาวหล้า สาวตวย สาวทุม ให้เป็นข้าโอกาสพุทธรูปเจ้านี้แล นางเพี้ยโคตรกับทั้งลูกเป็น
๔ แล นางเพี้ยแก้วกับลูกเป็น ๓ แล แม่พากับลูกเป็น ๕ มอบตนเป็นข้าโอกาสพุทธรูปเจ้าองค์นี้
แม่พระชาลีกับสาวดวงและอีบุญ ๓ คนนี้ มอบตนเป็นข้าโอกาสด้วยคำเลื่อมใส บ่ได้เอาข้าวของพุทธรูปเจ้า
ครั้นว่าไผอยากออกจากโอกาสให้ปัจจัยไทยธรรมให้สมควร คำเลื่อมใสพุทธเจ้าจงออกเทอญ
เป็นโทษ เป็นกรรมแล พระยาตนใดมากินบ้านกินเมืองนี้ บ่ใช้เวียกบ้านการเมืองแก่ข้าโอกาสฝูงนี้
ได้ชื่อว่าเคารพพระเจ้านัยหนึ่งชื่อว่าประกอบธรรม พระยาตนใดมานั่งเมืองนี้
มาดูศิลาเลขอันนี้ รู้ว่าพระพุทธรูปเจ้ามีข้อยโอกาสจึงบ่ใช่เวียกบ้านการเมือง
พระยาตนนั้นบอกข้อยโอกาสให้ปฏิบัติพุทธรูปเจ้าจักได้กุศลบุญกว้างขวาง เหตุเคารพพุทธรูปเจ้านั้นแล
นัยหนึ่งพระยาตนใดอยู่ดินกินเมืองที่นี้ให้บูชาเคารพพุทธเจ้าองค์นี้ด้วยเครื่องสักการะบูชาเยิงใดเยิงหนึ่ง
คือมหรสพคบงัน เมื่อเดือน ๕ เพ็ง ดังนั้นจักได้คำวุฒิศรีสวัสดิ์แก่ชาวบ้านชาวเมือง
เหตุพระพุทธรูปประกอบด้วยบุญลักษณะ เหตุดังนั้นเทวดาจึงให้คำวุฒิศรีสวัสดิ์ด้วยเดชะคุณพุทธรูป
นัยหนึ่งอาญาเมืองตนเชื่อว่าพรหมวรราชสุริยวงศ์ ได้สร้างวิหารอารามให้สถิตย์แก่พุทธรูปเจ้า
ทางนรีสุดท่าทางกว้างจุแดนดง คนผู้ใดผู้หนึ่งมาเฮ็ดนาในดินโอกาสนี้ผิว่าได้เกวียน
๑ ให้เก็บค่าดินถังหนึ่ง ๒ เกวียน ๒ ถัง ให้เก็บขึ้นตามสัญญา ดังหลังนั้นเทอญ
- หลักที่ ๒
เป็นจารึกบนใบเสมาเช่นเดียวกับหลักที่ ๑ แต่มีขนาดเล็กกว่า มีอักษรบันทึกอยู่
๑๐ บรรทัด ติดกับฐานพระเจ้าใหญ่อินแปงด้านพระหัตถ์ขวา มีขนาดกว้าง ๓๗ เซนติเมตร
สูง ๕๕ เซนติเมตร หนา ๑๐ เซนติเมตร มีข้อความดังนี้
จุลศักราชได้ ๖๙ ตัว ปีเปิงเหม้าเดือน ๕ เพ็ง วัน ๑ มื้อรวงไก๊ ฤกษ์ ๑๒ ลูก
ชื่อว่าจิตต์อยู่ในราศีกันย์เปิกแล้ว ยามแถใกล้ค่ำมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา
ป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ สร้างพุทธรูปดินก่ออิฐซะทราย หมายใส่นามโคตรชื่อว่าพระเจ้าใหญ่อินแปงให้คนแลเทวดาคอยลำแยง
รักษาบูชา อย่าให้มีอนาลายอันตรายแก่พระพุทธรูปเจ้าองค์ละลักษณะ ตราบท่อเท่า
๕๐๐๐ วัสสา สัพพญฺตญา ณ ปัจจโยโหติ
- หลักที่ ๓
เป็นจารึกฐานพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในบรรดาที่มีจารึกด้วยกัน หน้าตักกว้าง
๕๕ เซนติเมตร สูง ๑๕๐ เซนติเมตร มีอักษรจารึก ๓ บรรทัด มีข้อความว่า
พุทธศักราชได้ ๒ พัน ๓ ร้อย ....พระวัสสา เดือนล่วงแล้ว ๙ เดือน วันล่วงแล้ว
๒๑ วัน ปัจจุบันนี้ ปีเถาะ ตรีศกอยู่ในเหมันตฤดู เดือน ๓ ขึ้น ๗ ค่ำ วัน ๔
มหาราชครูธรรมคุตวัดป่ามณีโชติสร้าง พระพุทธรูปองค์แสน ๓ หมื่น ไว้โชตนาศาสนาตราบท่อเท่า
๕ พัน พระวัสสา นิพพานปัจจโยโหตุ
- หลักที่ ๔
เป็นจารึกใต้ฐานพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๗ เซนติเมตร สูงวัดจากฐาน
๙๐ เซนติเมตร มีอักษรจารึกไว้ ๕ บรรทัด ว่าด้วยการสร้างพระพุทธรูป
- จารึกหลักอื่น
มีอยู่สามหลัก เป็นจารึกใต้ฐานพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ กัน จารึกด้วยอักษรธรรมเช่นเดียวกับหลักอื่น
ๆ ที่กล่าวมาแล้ว มีข้อความกล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปเช่นเดียวกับหลักที่
๒ - ๔
จารึกวัดบ้านตำแย
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีอยู่สามหลัก หลักที่ ๑ และหลักที่ ๒ เป็นจารึกบนฝาผนังด้านหน้าสิมวัดบ้านตำแย
อยู่เหนือประตูเป็นอักษรไทยน้อย จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ หลักที่ ๓ เป็นจารึกที่ฐานพระพุทธรูปทองเหลือง
ซึ่งเดิมเป็นพระประธานในสิม จารึกด้วยอักษรธรรมอีสาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๐ กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูป
ศิลาจารึกหน้าที่วำการอำเภอโขงเจียม
เป็นศิลาจารึกรูปเสาเสมา ทำด้วยหินทรายสีน้ำตาลเข้ม ขนาดกว้าง ๓๙ เซนติเมตร
สูง ๑๒๖ เซนติเมตร จารึกเป็นอักษรไทย และไทยน้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ กล่าวถึงเจ้านายบุคคลสำคัญที่ปกครองหัวเมืองลาวกาวในขณะนั้น
จารึกของจังหวัดอุบล ฯ ยังมีอีกมาก ทั้งจารึกสมัยก่อนตั้งเมืองอุบล ฯ ที่เป็นจารึกสมัยเจนละ
และสมัยเมืองพระนคร ส่วนมากอยู่ที่วัดสุปัฏนาราม อำเภอเมือง ฯ ซึ่งมีประวัติเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น
และจารึกสมัยหลังก่อนตั้งเมืองอุบล ฯ ในเขตอำเภอเมือง ฯ และอำเภออื่น ๆ ทั้งหมดเป็นตัวอักษรไทยน้อย
และอักษรธรรมอีสาน ส่วนมากเป็นจารึกสั้น ๆ
ตำนาน
บริเวณแถบเมืองอุบล ฯ เต็มไปด้วยเรื่องเล่า ตำนาน นิทาน และมุขปาฐะ ที่รู้จักกันแพร่หลายพอประมวลได้ดังนี้
ตำนานเมืองอุบล
(พื้นเมืองอุบล ) เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับการอพยพหลบภัยของบรรพบุรุษของชาวเมืองอุบล
ฯ คือ พระวอ พระตา ซึ่งอพยพลูกหลานไพร่พลหนีราชภัยจากเมืองเวียงจันทน์มาจนถึงเมืองอุบล
ฯ
ตำนานพระพือ
เป็นเรื่องราวของเทวรูปที่สร้างจากแท่นหินขนาดใหญ่ อยู่ในหลืบถ้ำกลางแม่น้ำมูล
บริเวณแก่งสะพือเมื่อฤดูน้ำแล้ง จึงมองเห็นองค์เทวรูปพระพือซ่อนอยู่ในถ้ำใต้แก่งหิน
เชื่อกันว่าพระพือเป็นเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ ได้มีการนำพระพือไปไว้ที่วัดสระแก้ว
ริมฝั่งแม่น้ำมูลใกล้แก่งสะพืออันเป็นบริเวณที่เคยมีซากโบราณสถานสมัยอาณาจักรเจนละ
ตำนานบั้งไฟ ณ โนนสาวเอ้
ประเพณีการจุดบั้งไฟมีมูลเหตุมาจากความเชื่อเรื่องผีฟ้าพระยาแถน
ผู้อยู่บนฟ้ามีหน้าที่สอดส่องดูแลมวลมนุษย์ ก่อนฤดูกาลทำนา พระยาแถนจะบันดาลให้ฝนตกมาสู่โลกมนุษย์สม่ำเสมอ
ต่อมาได้เกิดมีผู้มีบุญญาธิการชื่อ พระยาคันคาก มีอิทธิฤทธิ์มาก ช่วยเหลือปัดเป่าทุกข์ภัยให้แก่คนทั่วไปเป็นอันมาก
ผู้คนต่างนิยมเลื่อมใส จนลืมบูชาพระยาแถนเช่นที่เคยปฏิบัติ พระยาแถนโกรธจึงไม่ยอมให้ฝนตกในแดนมนุษย์
เป็นเวลาเจ็ดปีเจ็ดเดือน มนุษย์ทั้งหลายพากันเดือดร้อน จึงให้พญานาคไปรบกับพระยาแถนแต่แพ้กลับมา
ครั้งที่สองได้ให้พญาต่อ-แตน ยกไปรบแต่ก็แพ้กลับมาอีก พระยาคันคากจึงอาสาไปรบกับพระยาแถน
โดยวางแผนให้ปลวกก่อจอมปลวกให้สูงขึ้นไปถึงเมืองแถน ให้พวกมอดไปกัดแทะด้ามอาวุธต่าง
ๆ ของพระยาแถน พระยาคันคากพร้อมด้วยสัตว์ต่าง ๆ เช่นแมลงป่อง งู มด ปลวก ผึ้ง
ต่อ แตน ยกกำลังขึ้นไปต่อสู้กับพระยาแถน สร้างความเจ็บปวด รำคาญแก่พระยาแถนจนต้องยอมแพ้
แล้วสัญญาจะบันดาลให้ฝนตกในเมืองมนุษย์ ทั้งนี้โดยขอเพียงให้ส่งสัญญาณขึ้นไปเตือนเท่านั้น
พระยาคันคากบอกว่าจะจุดบั้งไฟขึ้นไปเป็นสัญญาณบอกแถนในเดือนหก หรือเดือนเจ็ดของทุกปี
นอกจากนั้นฝูงกบ เขียด อึ่งอ่างต่าง ๆ จะช่วยส่งเสียงขึ้นมาด้วย และผู้คนจะแกว่งโหวตส่งเสียงเตือนว่าหมดฤดูทำนาแล้ว
เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนสิบเอ็ด เดือนสิบสอง ให้ฝนหยุดตก เกิดเป็นประเพณีบุญบั้งไฟบอกแถน
ถือปฏิบัติกันสืบมา
บุญบั้งไฟเป็นบุญใหญ่ประจำปี เป็นประเพณีรวมพี่น้อง และญาติจากหมู่บ้านข้างเคียงทั้งใกล้และไกลมาช่วยบุญ
ส่วนใหญ่จะพักกันในป่า หรือเนินดินก่อนเข้าหมู่บ้าน เพื่อให้สาว ๆ ที่มาด้วยประแป้งแต่งตัว
(เอ้ย่องในภาษาลาว) จึงเรียกที่พักดังกล่าวว่า โนนสาวเอ้
มีอยู่ในหลายหมู่บ้าน
ตำนานนางเพานางแพง ณ ดงปู่ตา
เป็นเรื่องที่เล่าสืบกันมาว่านางเพา และนางแพงเป็นวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ สิงสถิตย์อยู่ใต้น้ำ
มีอิทธิฤทธิ์ให้คุณให้โทษแก่ผู้ที่เชื่อถือ ทั้งสองสาวพี่น้องมีความงาม พูดคำไหนคำนั้น
ไม่ชอบการโกหก จะปรากฏกายบนบกเพื่อขอยืมฟืนจากชาวบ้านลงไปทอหูก หากยืมไปเจ็ดวันเมื่อถึงเวลาตามกำหนด
นางจะนำฟืนไปคืนทันที นางมีสมบัติแก้วแหวนของมีค่ามากมาย รวมทั้งผ้าผ่อนแพรพรรณที่สวยงาม
เมื่อถึงเทศกาลต่าง ๆ จึงมีผู้ไปยืมของจากนางเสมอโดยแต่งขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ ไปริมฝั่งน้ำบริเวณที่เชื่อว่านางสิงสถิตย์อยู่
ทำพิธีไหว้วอนขอยืม ครั้นตื่นเช้าให้ไปเอาของตามที่ยืมได้ แต่ต้องนำไปคืนตามกำหนดเวลา
มิฉะนั้น นางจะทำโทษ หรืออาจไม่ให้อีกต่อไป
บริเวณที่เชื่อว่ามีวิญญาณนางเพานางแพงสิงสถิตย์อยู่ คือ ริมฝั่งแม่น้ำใหญ่
เช่น กุดนางเพานางแพง
ริมฝั่งลำโดมใหญ่ บ้านท่าโพธิศรี อำเภอเดชอุดม บริเวณศาลนางเพานางแพง
ปากแม่น้ำมูล อำเภอโขงเจียม ต้นไทรใหญ่ใกล้วัดป่าเรไร
บ้านท่าข้องเหล็ก อำเภอวารินชำราบ และมุ่งสะทั่ง
ริมฝั่งแม่น้ำมูล ตำบลมุ่งสะมะแลง กิ่งอำเภอสว่างวีรวงศ์ เป็นต้น เหตุที่นางเพานางแพงสิงสถิตย์อยู่ใต้น้ำ
เพราะเมื่อครั้งยังมีชีวิตนางทั้งสองได้ลงเรือเดินทางตามลำน้ำโขงจนถึงบริเวณที่แม่มูลไหลมาบรรจบแม่น้ำโขง
บังเอิญเรือล่ม ทุกคนในเรือเสียชีวิตหมด วิญญาณของนางทั้งสองจึงสิงสถิตย์อยู่ใต้น้ำ
นาฏศิลป์และดนตรี
นาฏศิลป์ของชาวจังหวัดอุบล ฯ ส่วนใหญ่ดำเนินการในลักษณะกลุ่ม หรือหมู่คณะ
ดังต่อไปนี้
ลำพื้น
เป็นลำที่เก่าแก่ที่สุด เป็นต้นกำเนิดของการลำแบบอื่น ๆ คำว่าพื้นแปลว่าเรื่องราว
หรือนิทาน เรื่องที่นำมาแสดง
จะเป็นนิทานชาดก เช่น จำปาสี่ต้น นางสิบสอง สังข์ศิลป์ชัย การะเกด พระเจ้าสิบชาติ
เป็นต้น ส่วนมากผู้ลำจะเป็นผู้ชาย ในอดีตเป็นการลำบนบ้าน ต่อมานิยมลำที่ลานบ้าน
บางแห่งจะลำบนเวทียกพื้น ผู้ฟังจะนั่งล้อมรอบ กลางเวทีมีหลักปักไว้ผู้ไต้
หรือติดรางวัล เพราะลำพื้นไม่มีค่าจ้าง แล้วแต่สินน้ำใจของผู้ฟัง อาจให้ในลักษณะเป็นค่าครู
ซึ่งในอดีตจะมีราคา ๕๐ สตางค์ ๓ สลึง ๑ บาท หรือหกสลึง ผู้แสดง
ประกอบด้วยหมอลำชายหนึ่งคน
หมอแคนหนึ่งคน หมอลำคนเดียวสวมบทบาททุกตัวในท้องเรื่อง
การแต่งกาย
จะนุ่งโสร่งสวมเสื้อคอกลมสีขาว
มีผ้าขาวม้าพันเอว เมื่อรับบทขี่ม้าจะใช้ผ้าขาวม้าสอดเข้าระหว่างขา ใช้ผ้าห่มเฉียงแทนสไบเมื่อรับบทนางเอก
ถ้ารับบทโจร จะใช้ผ้าขาวม้าโพกศีรษะ ถ้ารับบทเป็นชายหนุ่มจะใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว
และถ้ารับบทเป็นผู้ชายแก่จะใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่า ส่วนหมอแคนก็แต่งแบบเดียวกัน
วิธีแสดง
เริ่มจากหมอลำทำคายหรือเครื่องบูชาครู เมื่อไหว้ครูเสร็จ หมอลำจะนำคายไปวางในที่สูง
เพื่อป้องกันมิให้บุคคลอื่นล่วงเกิน และดำเนินเรื่องไปจนจบถึงสว่าง
ลำกลอน
กลอนหมายถึงบทร้อยกรองต่าง ๆ ลำกลอนเป็นกลอนลำหลายเรื่องมีทั้งนิทานพื้นบ้าน
นิทานชาดก คำสอน คดีโลก คดีธรรม การเมือง ประเพณี ประวัติศาสตร์ สารคดีต่าง
ๆ แบ่งออกเป็น ลำกลอนธรรมดา
ซึ่งเกิดจากประเพณีสำคัญสองแบบคือ การเทศน์โจทย์เป็นลำกลอนประเภทลำไต่กลอน
ลำแข่งกลอน และลำโต้วาที การเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวเป็นลำกลอนประเภทลำเกี้ยว
การเทศน์โจทย์
เป็นวิธีการสอนธรรมะของพระภิกษุในพุทธศาสนาครั้งพุทธกาล โดยการสนทนาถามตอบปัญหาธรรม
ลำชิงชู้
เป็นการลำที่เด่นในเรื่องการชิงชู้หักสวาทกัน มีผู้แสดงชายสองคน หญิงหนึ่งคน
ฝ่ายชายทั้งสองคนต่างใช้ความสามารถของตนในการเกี้ยวสาว โดยวิธีประชันคารมทับถมกัน
หรือแข่งขันสติปัญญา ความรู้ ความร่ำรวยกัน เมื่อฝ่ายหญิงตัดสินใจเลือกผู้ใด
ผู้นั้นจะเป็นผู้ชนะ ส่วนผู้แพ้จะแสดงความเสียใจและเสียดาย ถ้าผู้แสดงเป็นชายหนึ่งคนหญิงสองคน
แสดงภาพการชิงผัวเรียกว่า ลำชิงผัว
ถ้าผู้แสดงเป็นชายสามคนหญิงหนึ่งคน ลักษณะการลำคล้ายลำชิงชู้เรียกว่า ลำสามเกลอ
การเล่นโปงลาง
โ ปงลางเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นกันในภาคอีสาน เดิมเป็นชื่อของโปง เป็นเครื่องมือของคนชนบท
เพื่อตีบอกเวลา เช้า เย็น โปงที่ตีบอกเวลาจะแขวนไว้ที่วัด นอกจากนั้นก็เป็นกระดิ่งผูกคอวัวควาย
เพื่อเป็นสัญญาณบอกเจ้าของว่าวัวควายของตนอยู่ที่ไหน ความไพเราะของเสียงโปง
ทำให้มีผู้คิดนำโปงมาร้อยติดกันเป็นพวง แขวนไว้บนค่าคบไม้ ใช้ไม้เคาะเป็นเสียงดนตรี
โปงลางทำด้วยท่อนไม้ร้อยต่อกันเหมือนระนาด ลูกของโปงลางแต่ละลูกมีความยาวไม่เท่ากัน
มีทั้งหมดสิบสองลูก เจาะรูทั้งสองด้าน ร้อยให้ลูกโปงลางติดต่อลดหลั่นกันเป็นลำดับตามความยาวของลูกโปงลาง
แล้วนำไปแขวนกับกิ่งไม้ หรือขาตั้ง หรือต้นเสาเพื่อยกระดับให้สูงขึ้นจากพื้น
เมื่อเลิกแสดงแล้วก็ม้วนเก็บ
|