www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
วัดพม่า
วัดพม่านับเป็นศิลปะกรรมที่สวยงามไปอีกแบบหนึ่ง และเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองลำปาง
ซึ่งมีวัดพม่าอยู่มากกว่าสิบแห่ง สาเหตุที่มีวัดพม่าดังกล่าวเพราะแต่เดิมชาวพม่าได้เข้ามาทำการค้าขาย
และทำไม้สัก รวมทั้งชาวพม่าที่มีฐานะดีได้หลบหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ในขณะที่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
วัดศรีชุม
วัดศรีชุม ตั้งอยู่ในเขตตำบลสวนดอก อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดพม่าที่สวยงามที่สุดของประเทศไทย
มีสถาปัตยกรรมที่สำคัญประกอบด้วยโบสถ์ แบะยอดปราสาทที่มีความสวยงามวิจิตรพิสดารมาก
วัดศรีชุม เดิมเป็นวัดไทยมาก่อน สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ โดยคหบดีชาวพม่าในสมัยเจ้าหลวงนรนันชัยชวลิต
ผู้ครองนครลำปาง เป็นยุคที่จังหวัดลำปางเป็นศูนย์การค้า การทำไม้ ชาวพม่าที่มาทำป่าไม้มีจิตศรัทธาสร้างวัด
โดยนำช่างฝีมือเยี่ยม จากเมืองมัณฑะเลประเทศพม่ามาสร้าง มีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ
คือ
วิหารยอดปราสาท มีลักษณะเป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นอาคารแบบตึก ชั้นบนเป็นอาคารแบบไม้
หลังคายอดปราสาทเป็นศิลปะแบบพม่า ประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลัก และสังกะสีแกะสลักเป็นลวดลายที่มีฝีมือละเอียดอ่อนสวยงาม
ซุ้มทางเข้าวิหารตรงเชิงบันได และไม้สลักเป็นช่อไม้เลื้อยมีความสวยงามมาก
โบสถ์ยอดปราสาท มีลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน ประดับลวดลายกระจกสีต่าง
ๆ หลังคาเป็๋นยอดปราสาท เป็นชั้น ๆ ตกแต่งด้วยแผ่นโลหะแกะสลักอย่างงดงาม
วัดศรีชุม ได้ขึ้นทะเบียนคุ้มครองโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕
วัดศรีรองเมือง
วัดศรีรองเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนท่าคราวน้อย อำเภอเมือง ฯ ลักษณะการก่อสร้างคล้ายวัดศรีชุม
แต่ไม่สวยงามเท่า ภายในวัดมีวัตถุโบราณ ได้แก่ ธรรมมาสน์ และของใช้ต่าง ๆ
ที่เจ้านายสมัยก่อนถวายให้กับวัดมีพระประธานแกะสลักจากไม้สักขนาดตักกว้าง
ประมาณสองเมตร วิหารเครื่องไม้ หลังคาจั่วซ้อนชิ้นเล็กชิ้นน้อยสวยงามแปลกตา
เป็นที่รู้จักกันดีของผู้มาเยือน
วัดศรีรองเมืองได้ขึ้นทะเบียนคุ้มครองโบราณสถานอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากรแล้ว
วัดป่าฝาง
วัดป่าฝางอยู่ที่ถนนสนามบิน ตำบลพระบาท อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕
สมัยเดียวกันกับวัดศรีชุม ประกอบด้วยอาคารสองชั้น ชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้
ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ และที่อยู่ของพระสงฆ์ รูปทรงของอาคารสวยงาม แต่ไม่มีการตกแต่งลวดลายมากนัก
มีเจดีย์รูปแปดเหลี่ยมคล้ายกับเจดีย์วัดพระธาตุดอยสุเทพ คงจะจำลองมาจากเจดีย์ในพม่า
ส่วนบนทาสีทอง เป็นเจดีย์ที่สวยแปลกตาที่สุดในลำปาง
ศาสนวัตถุที่เป็นโบราณวัตถุ
วัดต่าง ๆ หลายแห่งในจังหวัดลำปาง เป็นแหล่งสะสมวัตถุที่ทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม
โบราณคดีและประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งของโบราณวัตถุได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุของชาติแล้ว
แหล่งสะสมโบราณวัตถุสำคัญของจังหวัดลำปาง ได้แก่ วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดพระแก้วดอนเต้า
วัดเจดีย์ซาว วัดประตูต้นผึ้ง วัดน้ำล้อม วัดพระเจ้าทันใจ วัดปงสนุก วัดประตูป่อง
วัดศรีล้อม วัดศรีหลวงแจ้ซ้อน วัดปลายนาหลวง วัดปลายนาเฮี้ย วัดบ้านหลุก วัดป่าตันหลวง
วัดท่าผา วัดไหล่หิน วัดและอุมลอง เป็นต้น
โบราณวัตถุดังกล่าว ปรากฏอยู่ในรูปของประติมากรรมที่เป็นงานปั้น งานแกะสลัก
งานโลหะ บางอย่างอยู่ในลักษณะของงานช่างฝีมือ งานช่างไม้ งานจิตรกรรม งานช่างปูน
และเครื่องเขินโบราณ วัตถุเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นลำปาง บางชิ้นเป็นงานศิลปะฝีมือช่างโบราณระดับช่างหลวง
บางส่วนเป็นงานที่สะท้อนลักษณะพื้นบ้าน วัตถุเหล่านี้เป็นศิลปวัตถุอันเนื่องมาจากพระพุทธศาสนา
ได้แก่ พระพุทธรูป ซึ่งมีทั้งงานโลหะ งานแกะสลัก และงานปูนปั้น ธรรมมาสน์
ตู้พระธรรม หีบพระธรรม ขันเหลี่ยม ขันแก้วทั้งสาม สัตตภัณฑ์ เสลี่ยง จองเปิก
ปราสามหรือวิหารจำลอง และปราสาทหอสรง อาสนะ มณฑปพระพุทธรูป ซุ้มโขง เครื่องราชกกุธภัณฑ์
(เครื่องบวชพระเจ้า) นาคทัณฑ์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุต่าง
ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๗ - ๒๕๓๖ รวม ๕๘ วัดด้วยกัน
พระแก้วมรกต
พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน แกะสลักจากมรกตขนาดใหญ่
หน้าตักกว้าง หกนิ้วครึ่ง สูงแปดนิ้ว ไม่มีพระเกตุมาลา ฐานทำด้วยทองคำหนัก
๑๙ บาท กับสลึงเฟื้อง มีชฎาทองคำสวม มีเครื่องทรงเป็นสร้อยสังวาลทำด้วยทองคำหนักเจ็ดบาท
ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นพระพุทธรูปล้ำค่าของเมืองลำปางมานับหลายร้อยปี
พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า
สมัยที่เมืองลำปางมีชื่อว่า กุกกุตตนคร มีพระมหาเถระองค์หนึ่ง เป็นเจ้าอาวาสวัดม่อนดอนเต้า
คิดจะสร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งด้วยไม้จันทน์แดง แต่หาไม้จันทน์แดงไม่ได้ ครั้งนั้นมีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อนางสุชาดา
วันหนึ่งนางพบแตงโมลูกหนึ่งลูกโต ผิวสวยกว่าปกติจึงนำไปถวายพระมหาเถระองค์นั้น
เมื่อพระมหาเถระผ่าแตงโมก็พบแก้วมรกตก้อนใหญ่ อยู่ในผลแตงโมจึงนำไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป
แต่ไม่สามารถแกะได้ จนมีเทวดามาช่วยแกะสลักได้สำเร็จมีความสวยงามยิ่งนัก ชาวเมืองทราบก็พากันมานมัสการเป็นจำนวนมาก
อำมาตย์เมืองลำปางเกิดความริษยา จึงไปฟ้องเจ้าเมืองว่านางสุชาดาเป็นชู้กับพระมหาเถระ
เจ้าเมืองเชื่อโดยไม่ได้สอบสวน จึงให้เอานางสุชาดาไปประหารชีวิต พระมหาเถระเมื่อทราบข่าวเกรงภัยจะมาถึงตัว
จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตองค์นั้น ไปฝากไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง แล้วตัวท่านก็หายสาบสูญไปต่อมาเจ้าเมืองสำนึกผิดก็เสียใจถึงแก่พิราลัย
พระแก้วมรกตจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงสืบมาจนถึงปัจจุบัน
พระแสนแช่ทองคำ
พระแสนแช่ทองคำ เป็นพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๙.๕ นิ้ว
สูง ๑๕ นิ้ว หนัก ๙๓.๕ บาท สร้างขึ้นโดยการตีตกแต่งแบบไม่ได้ใช้การหล่อทั้งองค์
แต่ใช้วิธีสร้างขึ้นมีสลักประกอบรวมเป็นองค์ขึ้น คือส่วนพระเศียรชั้นนอกเป็นชั้นลายเม็ดพระศก
มีลายฝังอัญมณีแก้วยี่หร่าสีน้ำเงิน ขนาดเม็ดยาวกว่าหนึ่งเซนติเมตร หนึ่งเม็ดสีขาว
สีแดงเข้ม และสีทับทิม ทรงจิกพระเมาฬีชั้นในนี้ถอดได้ โดยมีหลอดทองคำสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุยาวสองนิ้วครึ่ง
ทรงกลม กระบอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางสองเซนติเมตร สร้างแบบพระเศียรสองฤดู ขณะที่ได้มาไม่ปรากฏพระบรมสารีริกธาตุ
ส่วนของพระเศียร และพระกรรณทั้งสองข้างสร้างแบบสลักถอดได้ พระศอมีรูสำหรับสอดสลักเพื่อเข้าต่อกับตัวองค์พระ พระกรทั้งสองข้างและสังฆาฏิแยกส่วนได้เช่นเดียวกัน
องค์พระกลวง ลักษณะฝีมือสร้างประณีตระดับช่างหลวง
พระแสนแช่ เป็นแบบเชียงแสนสมัยที่สาม มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐
พุทธลักษณะที่จัดอยู่ในส่วนสัดพระสีหลักษณะได้แก่ พระรัตนพิมพ์
(พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต) พระแก้วดอนเต้า ปลายพระหัตถ์เสมอกันตามอิทธิพลสมัยพระพุทธชินราช เค้าพระพักตร์อิทธิพลสุโขทัย
พระพุทธนิโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ
พระพุทธนิโรคันตราย ฯ เป็นพระพุทธรูปแบบสมัยสุโขทัยประยุกต์เชียงแสน ทองสำริดลงรักสีดำ
จึงเรียกว่า หลวงพ่อดำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเททองหล่อ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑
ประดิษฐานอยู่ในมณฑปทรงไทยแบบจตุรมุข ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า
มีขนาดหน้าตักกว้างประมาณสี่ศอก ทรงพระราชทานให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ทั้งสี่ทิศของประเทศไทย
ด้านทิศเหนืออยู่ที่จังหวัดลำปาง
พระเจ้าไม้แก่นจันทน์
พระเจ้าไม้แก่นจันทน์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบเชียงแสนรุ่นหลัง
หรือแบบสิงห์สาม แกะสลักจากไม้แก่นจันทน์ ฐานแกะสลักเป็นรูปกลีบบัว ศิลปะแบบปาละ
ฐานรองลงไปสลักลวดลายประดับอัญมณี ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๒ เซนติเมตร สูง ๔๒ เซนติเมตร
ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดป่าตันหลวง อำเภอแม่ทะ
ตามตำนาน จากหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลโปรดให้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้
ต่อมากษัตริย์ในสุวรรณภูมิ ได้อัญเชิญมาสักการบูชาในดินแดนสุวรรณภูมิ จนเวลาผ่านไปกว่าพันปี
พระเจ้าอาทิจจักษ
กษัตริย์สุวรรณภูมิได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองแจ้ตาก เป็นเวลาประมาณ ๙๓๐
ปี จากนั้นก็ได้มีผู้อัญเชิญไปยังเมืองต่าง ๆ คือ เมืองวิเชตนคร (แจ้ห่ม)
สิบปี ที่โสสุทธนคร(แก่งสร้อยหรือสบสวยแขวงเมืองแจ้ห่ม) สิบปี ที่วัดปทุมาราม
หรือวัดดอกบัว หกสิบปี
ที่วัดป่าแดงหลวงดอนชัยเมืองพะเยาใน
ปี พ.ศ.๒๐๐๐ ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๐๒๒ พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่
โปรดให้อัญเชิญพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ไปเชียงใหม่ โดยผ่านเมืองแพร่ เขลางค์
ลำพูน แล้วนำไปประดิษฐานที่วัดอโสการาม หรือวัดศรีภูมิ สิบห้าปี ถึงปี พ.ศ.๒๐๓๖
ได้อัญเชิญกลับไปประดิษฐานที่วัดป่าแดงหลวงดอนชัย เมืองพะเยาตามเดิม
พ.ศ.๒๐๖๕ พระเมืองแก้ว
โปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดบุพพาราม เชียงใหม่ ภายหลังไปอยู่ที่วัดเจ็ดยอด
จากนั้นได้อัญเชิญกลับไปที่พะเยาอีก
พ.ศ.๒๓๓๐ เจ้าฟ้าเมืองพะเยา
หลบหนีภัยพม่าไปตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านปงสนุก เมืองลำปางได้อัญเชิญพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ไปด้วย
และได้ประดิษฐานอยู่ในนครลำปางสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ณ วัดป่าตันหลวง อำเภอแม่ทะ
พระเจ้าทองทิพย์
พระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยแบบเชียงแสนรุ่นหลังคือแบบสิงห์สาม
หน้าตักกว้าง ๗๓ เซนติเมตร สูง ๙๗ เซนติเมตร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดบ้านทรายมูล
ตำบลเสด็จ อำเภอเมือง ฯ
จากตำนานท้องถิ่นได้ความว่า พระเจ้าทองทิพย์เป็นพระพุทธรูปสกุลช่างเชียงแสน
ประดิษฐานอยู่ที่เมืองลำปางในช่วงหลังปี พ.ศ.๒๓๐๐ หลังจากการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองเชียงแสนเข้ามาอยู่ที่เมืองลำปาง
ซึ่งจะมีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ห้าองค์ โดยถือเอาพระเจ้าทองทิพย์ วัดทรายมูลเป็นองค์ประธาน
ตามตำนานยังกล่าวถึงการหล่อพระเจ้าทองทิพย์ตอนแรกหล่อได้ไม่เต็มองค์ พระอินทร์ต้องลงมาช่วยหล่อจึงสำเร็จ
ดังปรากฏรอยต่อระหว่างฝีมือมนุษย์กับฝีมือเทวดา ระดับพระอินทร์ที่องค์พระ
พระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ มีความสำคัญเท่าเทียมกันกับพระแก้วมรกตวัดพระธาตุลำปางหลวง
พระเจ้าไม้แก่นจันทน์และพระพุทธสิหิงค์
จิตรกรรม
ศิลปะการวาดรูป ระบายสี ซึ่งอยู่ในลักษณะจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ วิหาร ตู้พระธรรม
หีบพระธรรม ตลอดจนภาพพระบฏ ในเขตจังหวัดลำปางมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีความงดงามทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม
เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ภาพจิตรกรรมฝาผนังในจังหวัดลำปางที่เด่น
ๆ ได้แก่จิตรกรรมฝาผนังวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีอายุประมาณ
๔๐๐ ปี นับว่าเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ จิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง
จิตรกรรมฝาผนังวัดนาแส่ง วัดสบลี วัดบุญวาทย์วิหาร วัดช้างเผือก วัดแสนเมืองมา
จิตรกรรมฝาผนังวัดวิหารน้ำแต้ม
วัดพระธาตุลำปางหลวง วิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารบริวาร ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือขององค์พระธาตุ
ฯ ในบริเวณพุทธาวาส เป็นวิหารเครื่องไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เบื้องหลังพระประธานมีจิตรกรรมฝาผนังลายรดน้ำปิดทองรูปต้นโพธิ
ภาพจิตรกรรม ฯ บนแผ่นไม้แผงคอสองของวิหาร เป็นเรื่องประวัติพระอินทร์เป็นนิทานธรรมบท
ซึ่งพบอยู่เพียงแห่งเดียวในล้านนา นอกจากนั้น เป็นเรื่องพระนางสามาวดี ซึ่งเป็นนิทานธรรมบท
ทั้งสองเรื่องเป็นนิทานอธิบายพระสูตในพระไตรปิฎกที่พระพุทธโฆษาจารย์ แปลจากลังกาเป็นภาษาบาลี
เมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๐ สันนิษฐานว่า แพร่หลายเข้ามาในไทยพร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐
จากรูปแบบศิลปะและตัวอักษรธรรมล้านนาที่อธิบายประกอบภาพ รวมทั้งเอกสารตำนานต่าง
ๆ พอสรุปได้ว่า ภาพเขียนในวิหารน้ำแต้มได้รับอิทธิพลจากศิลปะพุกาม ในช่วงพุทธศตวรรษที่
๒๒ - ๒๓
จิตรกรรมฝาผนังวิหารหลวง
วัดพระธาตุลำปางหลวง วิหารหลวงเป็นวิหารประธานของวัด ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาส
วิหารหลวงได้รับการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ และคงรักษารูปแบบตามคติโบราณไว้ได้
ด้านในของแผงคอสอง มีจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ฝีมือช่างแบบศิลปะกรุงรัตนโกสินทร์
เป็นเรื่องชาดกนอกนิบาต (เป็นชาดกนอกพระไตรปิฎก ซึ่งแต่งขึ้นโดยพระเถราจารย์ชาวล้านนาเป็นภาษาบาลี)
เรื่องพรหมจักรซึ่งได้เค้าโครงเรื่องมาจากเรื่องรามเกียรต์ และเรื่องเวสสันดร
จิตรกรรมฝาผนังวัดนาแส่ง
วัดนาแส่งตั้งอยู่ในเขตตำบลนาแส่ง อำเภอเกาะคา เป็นวัดที่ตั้งขึ้นมาโดยผู้อพยพจากเมืองเชียงแสนมาอยู่ในเขตเมืองลำปาง
ในสมัยพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๘๗ - ๒๓๖๘
ภายในวิหารวัดนาแส่งที่ผนังทั้งสี่ด้าน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นบนแผ่นไม้แผงคอสอง
เป็นเรื่องราวในเวสสันดรชาดก ส่วนภาพเขียนบนผนังด้านหลังพระประธาน เป็นภาพเขียนแสดงการเกิด
แก่ เจ็บ ตาย ผนังด้านหน้าแสดงเรื่องไตรภูมิ และจักรวาล โดยมีจุดกลางภาพเป็นภาพเขาพระสุเมร
อันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ด้านซ้ายขวาของจุดกึ่งกลาง มีภาพลักษณะคล้ายภาพนรก
สวรรค์
มีการสอดแทรกเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ทางสังคม การแต่งกาย สถาปัตยกรรม การประกอบอาชีพ
ซึ่งสะท้อนลักษณะของสังคมในขณะนั้น เป็นประโยชน์ในการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่น
จิตรกรรมฝาผนังวัดสบลี
วัดสบลีตั้งอยู่ในเขตตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน เป็นวัดเล็ก ๆ สร้างด้วยฝีมือชาวบ้าน
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวาดบนแผงคอสอง ซึ่งเป็นแผ่นไม้กระดาน เขียนด้วยสีฝุ่นใช้สีน้ำเงิน
แดง ขาว และเหลือง เป็นหลัก ตัดเส้นด้วยสีน้ำเงิน เป็นฝีมือช่างแบบพื้นบ้าน
อายุของภาพอยู่ประมาณร้อยปีมาแล้ว เป็นภาพเรื่องพระเวสสันดรชาดก และชาดกนอกนิบาติ
ปะปนกัน
วิหารวัดสบลีได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑
จิตรกรรมฝาผนังวัดแสงเมืองมา
วัดแสงเมืองมาตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง ฯ วิหารหลังปัจจุบัน
สันนิษฐานว่าสร้าง หรือบูรณะจากวิหารหลังเดิมในสมัยรัตนโกสินทร์ ภาพจิตรกรรมในวิหารเขียนลงบนแผ่นไม้ด้านบนของผนังทั้งสี่ด้าน
ส่วนที่ติดกับชายคา เขียนด้วยสีฝุ่น สีคราม สีน้ำตาล สีเขียว และสีเหลือง
โดยใช้สีขาวและสีดำผสมกับสีต่าง ๆ เพื่อให้เกิดน้ำหมักของสีที่แตกต่างกัน
จิตรกรสร้างความลึกของภาพโดยอาศัยส่วนประกอบของภาพ เช่น พื้น ต้นไม้ ภูเขา
และท้องฟ้า
จิตรกรรมในวิหารดังกล่าว เป็นจิตรกรรมที่เขียนขึ้นตามคติโบราณ
เป็นภาพแสดงทศบารมีของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าทศชาติ จากลักษณะการแต่งกาย
และรายละเอียดอื่น ๆ พออนุมานได้ว่าเป็นภาพที่เขียนขึ้นประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จิตรกรได้รับแนวคิดจากวิธีวาดภาพแบบรัตนโกสินทร์
ผสมผสานกับแนวคิดดั้งเดิมในการวาดภาพแบบท้องถิ่น ที่มีอิทธิพลของพม่าและไทยใหญ่ผสมผสานอยู่
วิหารวัดแสงเมืองได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว วิหารได้รับการบูรณะซ่อมแซมตามหลักวิชา
จิตรกรรมฝาผนังวัดบุญวาทย์วิหาร
เป็นจิตรกรรมที่วาดบนฝาผนังทั้งสี่ด้านภายในพระอุโบสถ ตั้งแต่เหนือแนวหินอ่อนขึ้นไปจนจรดเพดาน
ลักษณะจิตรกรรมเป็นแบบไทยประเพณีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว รองพื้นขาว ใช้สีเหลือง แดง ดำ ขาว เขียว ฟ้า น้ำเงิน
และสีเทา ทิวทัศน์และบรรยากาศเป็นแบบทัศนียวิสัย
ภาพที่เขียนเป็นภาพพุทธประวัติ และเวสสันดรชาดก ทั้งสองเรื่องเขียนแยกกันโดยมีลายเส้นลวดกั้น
เรื่องพุทธประวัติเขียนไว้ที่ฝาผนังตอนบน เหนือแนวขอบประตูหน้าต่างโดยรอบทั้งสี่ด้าน
ส่วนเรื่องเวสสันดรชาดก เขียนไว้ที่ผนังห้องภาพระหว่างประตูและหน้าต่างโดยรอบทั้งสี่ด้านเช่นกัน
จิตรกรรมฝาผนังวัดช้างเผือก
วัดช้างเผือกตั้งอยู่ในเขตตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมือง ฯ มีอีกชื่อว่าวัดบ้านไร่ทุ่งฝาย
มีจิตรกรรมที่ผนังโบสถ์ทั้งสี่ด้าน โดยแบ่งเป็นส่วนบนติดกับชายคาเป็นภาพทศชาติ
ด้านล่างระหว่างหน้าต่างเป็นภาพพรรณพฤกษาและรูปดอกบัว ตรงส่วนพื้นที่หน้าต่างไม้จะมีภาพวาดที่อธิบายคำพังเพยต่าง
ๆ ของชาวไทยภาคกลาง พื้นที่ด้านข้างขอบหน้าต่างเป็นภาพพระมาลัย ที่แผ่นไม้กระดานบนคอสองมีภาพจิตรกรรมอยู่ด้วย
ผนังด้านหน้ามีภาพพระมาลัยโปรดโลก ด้านซ้ายมือเป็นรูปพระมาลัยเทศน์โปรดมนุษย์
ตรงกลางเป็นภาพพระมาลัยเทศน์โปรดเทวดาบนสวรรค์ ด้านขวามือเป็นภาพพระมาลัยโปรดสัตว์นรก
ลักษณะจิตรกรรมเป็นจิตรกรรมปรเพณีไทยในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า
ฯ ร่วมสมัยกับจิตรกรรมฝาผนังวัดบุญวาทย์วิหาร
|