ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > เมืองไทยของเรา > เมืองเก่าของไทย

เมืองเก่าของไทย
ภาคกลาง
กรุงเทพฯ
กาญจนบุรี
จันทบุรี
ฉะเชิงเทรา
ชลบุรี
ชัยนาท
ตราด
นครนายก
นครปฐม
นนทบุรี
ปทุมธานี
ประจวบฯ
ปราจีนบุรี
เพชรบุรี
ระยอง
ราชบุรี
ลพบุรี
สมุทรปราการ
สมุทรสงคราม
สมุทรสาคร
สระแก้ว
สระบุรี
สิงห์บุรี
สุพรรณบุรี
อยุธยา
อ่างทอง
อุทัยธานี
ภาคเหนือ
กำแพงเพชร
เชียงราย
เชียงใหม่
ตาก
นครสวรรค์
น่าน
พะเยา
พิจิตร
พิษณุโลก
เพชรบูรณ์
แพร่
แม่ฮ่องสอน
ลำปาง
ลำพูน
สุโขทัย
อุตรดิตถ์
ภาคอีสาน
กาฬสินธุ์
ขอนแก่น
ชัยภูมิ
นครพนม
นครราชสีมา
บุรีรัมย์
มหาสารคาม
มุกดาหาร
ยโสธร
ร้อยเอ็ด
เลย
สกลนคร
สุรินทร์
ศรีสะเกษ
หนองคาย
หนองบัวลำภู
อุดรธานี
อุบลราชธานี
อำนาจเจริญ
ภาคใต้
กระบี่
ชุมพร
ตรัง
นครศรีธรรมราช
นราธิวาส
ปัตตานี
พัทลุง
พังงา
ยะลา
ระนอง
สงขลา
สตูล
สุราษฎร์ธานี

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพุทธศาสนา

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

            วัดพระธาตุหริภุญชัย ฯ  เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่กลางตัวเมืองลำพูน มีพื้นที่ประมาณ ๒๘ ไร่  สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ในสมัยพญาอาทิตยราช แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ พื้นที่สร้างวัดเป็นราชฐานของพระองค์ ซึ่งทรงอุทิศถวายให้เป็นวัด เพื่อเป็นพุทธบูชา หลังจากที่พระบรมสารีริกธาตุได้ปรากฎให้พระองค์เห็นในบริเวณดังกล่าว
            โบราณสถานที่สำคัญในวัดพระธาตุ ฯ มีดังนี้

            องค์พระธาตุหริภุญชัย  เป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่งของนครหริภุญชัย พญาอาทิตยราชสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อันมีพระบรมธาตุกระหม่อม พระบรมธาตุกระดูกอก พระบรมธาตุกระดูกนิ้วมือ และพระบรมธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง ตามพระพุทธทำนาย
            ลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุ  ตามที่ปรากฏในหนังสือตำนานพระธาตุหริภุญชัยกล่าวว่า มีลักษณะเป็นสถูปสี่เหลี่ยมทรงปราสาท มีซุ้มทวารเข้าออกทะลุกันได้ทั้งสี่ด้าน มีปราสาทเหลี่ยมอยู่มุมละองค์ ก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีอายุมาในเมืองนี้ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระโกศ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
            ในสมัยพญาสรรพสิทธิแห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ ได้ปฏิสังขรณ์เจดีย์เดิม และได้ขุดร่องทวารประตูเข้าออกทั้งสี่ เพื่อความปลอดภัย รูปทรงสัญฐานองค์พระบรมธาตุ คงเป็นลักษณะเดิม
            ต่อมาในสมัยพญามังราย ได้ซ่อมแซมดัดแปลงองค์พระธาตุขึ้นใหม่ จากทรงปราสาทเป็นทรงเจดีย์ ฐานกลมแบบลังกา และในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ได้ให้ปิดทององค์พระธาตุ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๕๑
            ปี พ.ศ.๑๙๙๐  พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เชียงใหม่ร่วมกับพระมหาเมธังกรเถระ ได้ก่อพระเจดีย์ให้สูงขึ้นเป็น ๙๒ ศอก กว้างยาวขึ้นเป็น ๕๒ ศอก ตามรูปร่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ลักษณะทางสถาปัตยกรรมประกอบด้วยฐานปัทม์แบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเกียวกลมสามชั้นรับฐานบัว ซึ่งมีลักษณะคล้ายมาลัยเถ่าสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม องค์ระฆังประดับด้วยลวดลายดอกไม้สี่กลีบ ระหว่างลายดอกไม้สี่กลีบ มีการดุนนูนเป็นภาพพระพุทธเจ้ารอบองค์ระฆัง เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์ย่อมุม ส่วนบนเป็นปล้องไฉน ปลีกยอดเหนือสุดทำเป็นฉัตรเก้าชั้น นอกจากนั้นพระเจ้าติโลกราช ได้โปรดให้ก่อกำแพงโดยรอบเขตพุทธาวาส และสร้างซุ้มประตูโขงประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ทางประตูด้านทิศตะวันออกหน้าวิหารหลวง ทางทิศใต้ ทางทิศตะวันตกและทางทิศเหนือ
            ในปี พ.ศ.๒๐๕๔  พระเจ้าแก้วกษัตริย์นครเชียงใหม่ โปรดให้หุ้มบุองค์พระธาตุด้วยทองจังโก ที่เป็นแผ่นทองแดง และให้ปิดทองทั้งหมด กับให้สร้างระเบียงหอกทำด้วยทองเหลือ ซึ่งสั่งทำจากเมืองเชียงแสน ทำเป็นรั้วล้อมโดยรอบองค์พระธาตุ โปรดให้สร้างวิหารหลวง ทางด้านทิศตะวันออกขององค์พระธาตุ เป็นศิลปะแบบล้านนา นอกจากนี้ยังสร้างกำแพงเมือง และขุดคูโดยรอบกำแพงเมืองขึ้นใหม่ เป็นการย่นย่อกำแพงเมืองใหม่นี้ ทำให้วัดสี่มุมเมือง สร้างในสมัยพระนางจามเทวี กลายเป็นวัดนอกกำแพงเมืองไป
            ในปี พ.ศ.๒๓๒๙  พระเจ้ากาวิละผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้ตั้งฉัตรหลวงสี่มุม และยกฉัตรยอดเป็นทองคำเนื้อเจ็ด ฐานฉัตรกว้างหนึ่งเมตร
            สุวรรณเจดีย์หรือปทุมวดีเจดีย์  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุหริภุญชัย เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะการก่อสร้างแบบเดียวกับเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม หรือเจดีย์กู่กุดที่วัดจามเทวี องค์เจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ เป็นเจดีย์ทรงปราสาท มีฐานสี่เหลี่ยมซ้อนขึ้นไปห้าชั้น แต่ละชั้นประดับซุ้มจรนำทั้งสี่ด้าน ด้านละสามซุ้ม ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปดินเผาประทับยืน มีร่องรอยการลงรักปิดทอง ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่กี่องค์ ส่วนบนสุดของเจดีย์เป็นกลีบบัวปูนปั้นด้วยแผ่นโลหะ ส่วนยอดปลายสุดทำเป็นกรวยแหลมเรียวยาวขึ้นไป สุวรรณเจดีย์องค์นี้มีพระพิทพ์ที่สำคัญ และมีชื่อเสียงของเมืองลำพูนคือ พระเปิม
            เจดีย์เชียงยัน  หรือเจดีย์เชียงยืน  ตั้งอยู่นอกกำแพงด้านทิศเหนือขององค์พระธาตุ ตามตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยพญาอาทิตยราช โดยพวกแม่ครัวที่มาช่วยทำอาหารเลี้ยงพวกศรัทธาชาวบ้านชาวเมือง เมื่อก่อสร้างพระธาตุหริภุญชัย องค์เจดีย์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ลักษณะทางสถาปัตยกรรมตรงส่วนของฐานเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสซ้อนขึ้นไปสี่ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวค่ำ และบังถลาเป็นส่วนรองรับฐานสูง เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ ตัวเรือนธาตุทั้งสี่ด้าน ทำเป็นซุ้มจระนำ เหนือส่วนของเรือนธาตุขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยมซ้อนขึ้นไปรองรับองค์สถูป ที่เป็นทรงระฆังแบบลังกา เหนือเรือนธาตุทำเป็นเจดีย์จำลองทรงสี่เหลี่ยม ตรงมุมทั้งสี่เหลือองค์ระฆังไม่มีบัลลังก์ แต่ทำเป็นยอดบัวกลุ่มสลับกับบัวลูกแก้ว ลดหลั่นกันไปถึงส่วนยอด ลวดลายที่ประดับและประกอบซุ้มจระนำและผนังย่อเก็จ ประกอบไปด้วยลายบัวคอเสื้อประจำยาม และบัวเชิงล่าง ลักษณะเป็นลายดอกเบญมาศและใบไม้ประดิษฐ์ล้อมรอบในกรอบเส้นลวด ซึ่งเป็นรูปแบบลวดลายที่นิยมทำกันในสมัยพระเจ้าติโลกราช

            หอระฆัง  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระธาตุ เป็นหอสำหรับแขวนระฆัง และกังสดาลขนาดใหญ่ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ด้านบนแขวนระฆังขนาดใหญ่ หล่อขึ้นในสมัยเจ้าหลวงดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่เจ็ด ชั้นล่างห้อยสดาลขนาดใหญ่ หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓ ที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ นำมาไว้เป็นเครื่องบูชาองค์พระธาตุ ฯ

            หอไตรหรือหอธรรม  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุ จากศิลาจารึก ลพ.๑๕  ซึ่งจารึกเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๔๓ ในสมัยพระเมืองแก้ว ได้กล่าวถึงพระเมืองแก้วกับพระราชมาดา ได้สถาปนาหอไตรปิฎกหรือหอธรรมมณเฑียร เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎกครอบที้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พร้อมทั้งอรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา รวมทั้งสิ้นเป็นคัมภีร์ ๔๒๐ พระคัมภีร์ ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ใบลานทั้งหมด
            ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของหอไตร มีลักษณะเช่นเดียวกับหอไตรของวัดพระสิงห์ และวัดเชียงมั่น เมืองเชียงใหม่ ถือว่าเป็นแบบที่นิยมสร้างกันทั่วไป ในดินแดนล้านนาไทย สร้างเป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นอาคารเครื่องไม้ ตัวอาคารหอไตรตั้งอยู่บนฐานขนาดใหญ่ มีบันไดขึ้นลงด้านหน้าสองข้างบันไดมีสิงห์โตประดับที่หัวเสา ชั้นล่างมีประตูทางเข้าทางเดียว ชั้นบนทำเป็นบันไดขนาดเล็ก ๆ ตั้งอยู่ด้านหน้าตรงประตูเข้า ชั้นล่างตัวอาคารประดับด้วยไม้แกะสลัก ปิดทองประดับกระจก มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาลดชั้นประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ หลังคามุงด้วยแผ่นดีบุก
            วิหารหลวง  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกขององค์พระธาตุ สร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้ว ผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๗ เป็นแบบพื้นเมืองทรงล้านนา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ วิหารถูกพายุพัดล้มลง จึงได้บูรณะขึ้นใหม่ ภายในวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาว พระเสตังคมณีศรีหริภุญชัย ประทับอยู่เหนือบุษบกที่แกะสลัก ลงรักปิดทองอย่างสวยงาม
            วิหารพระละโว้  ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือขององค์พระธาตุ  ตัววิหารสร้างใหม่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่เรียกว่า พระละโว้
            วิหารพระพุทธ  ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ขององค์พระธาตุ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ลงรักปิดทองเรียกว่า พระพุทธ
            วิหารพระทันใจ  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกขององค์พระธาตุ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปทันใจ
            วิหารพระพันตน  ตั้งอยู่หลังวิหารพระละโว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมาก
            วิหารพระบาทสี่รอย  ตั้งอยู่หลังวิหารพระพุทธ ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ที่จำรองมาจากอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
            วิหารพระไสยาสน์  ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของวิหารพระละโส้ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง
            วิหารพระกลักเกลือ หรือพระเจ้าแดง  ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวิหารพระเจ้าทันใจ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง
            เขาพระสุเมรุจำลอง  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุ ทางด้านหน้าของหอไตรมีลักษณะคล้ายเจดีย์ขนาดเล็กทรงกลม ก่ออิฐถือปูน ส่วนยอดทำลดหลั่นขึ้นไปเจ็ดชั้น มีการประดับสำริดซึ่งหล่อเป็นชั้น แล้วนำมาประกอบกัน ส่วนฐานที่รองรับยอดปราสาทที่อยู่ด้านบนสุดคือ สัตตบริภัณฑ์ หรือภูเขาที่ล้อมรอบเข้าพระสุเมรุทั้งเจ็ดชั้น โดยมีเกษียรสมุทรคั่นระหว่างเขาแต่ละชั้น สัตตบริภัณฑ์นี้ได้ทำเป็นรูปป่าไม้ มีสัตว์ป่าและเหล่าอสุรที่อาศัยอยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ ด้านบนสุดทำเป็นปราสาทหกเหลี่ยมเล็ก ๆ แต่ละด้าน มีซุ้มประตูโค้ง ส่วนยอดของปราสาทมีลักษณะเหมือนยอดมณฑป
            โบราณสถานภายในบริเวณวิหารคตทั้งหมดของวัดพระธาตุ ฯ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒
วัดสี่มุมเมือง
            เป็นวัดที่พระนางจามเทวีโปรดให้สร้างขึ้นประจำทิศทั้งสี่ของนครหริภุญชัย เพื่อเป็นพุทธปราการปกป้องคุ้มครองพระนครดังนี้
            วัดพระคงฤาษี หรืออาพัทธาราม  ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือ เป็นวัดโบราณมาแต่เดิม บริเวณวัดกว้างขวางมาก ต่อมาถูกลุกล้ำจากชาวบ้าน ทำให้บริเวณวัดเล็กลง เป็นวัดที่มีชื่อเสียงจากพระพิมพ์ที่เรียกว่า พระคง
            บริเวณวัดพระคง มีเจดีย์ที่มีลักษณะแปลกออกไปจากเจดีย์องค์อื่น ๆ ในเมืองลำพูน เชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดนี้ ต่อมาได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในหลายยุคหลายสมัย แต่ยังคงรูปแบบเดิมไว้ คือ มีลักษณะเป็นเจดีย์เหลี่ยม มีซุ้มคูหาสี่ด้าน ประดิษฐานรูปฤาษีสี่ตน คือ  ด้านเหนือ สุเทวฤาษี  ด้านใต้ สุกกทันตฤาษี  ด้านทิศตะวันออก สุพรหมฤาษี  ด้านทิศตะวันตก สุมณนารกฤาษี  ต่อมาได้มีการซ่อมแซมและดัดแปลงพระเจดีย์ขึ้นใหม่ ในสมัยเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้าหลวงลำพูนองค์ที่แปด ได้ให้ช่างพอกหุ้มฤาษีทั้งสี่ แล้วแปลงให้เป็นพระพุทธรูป
            ในสมัยเจ้าหลวงอินทยงยศเกิดอัคคีภัยในเมืองลำพูนครั้งใหญ่ จนคุ้มหลวงที่อยู่ตรงศาลากลางจังหวัดในปัจจุบันถูกไฟไหม้หมด ชาวเมืองต่างโจษขานกันว่า เหตุที่ไฟไหม้ครั้งนี้เกิดจาก การที่เจ้าหลวงองค์ที่แปดได้พอกฤาษีทั้งสี่ตนดังกล่าวแล้ว
            ในปี พ.ศ.๒๔๗๔  ได้เกิดอสุนีบาตต้องเจดีย์วัดพระคงฤาษี พระพุทธรูปปูนปั้นที่พอกเค้าแกนเดิมของรูปฤาษีทั้งสี่ได้แตกออก เห็นรูปฤาษีที่เป็นโครงศิลาแลงปรากฏออกมา จึงให้มีการดัดแปลงเจดีย์วัดพระคงเสียใหม่ โดยตัดมุมเจดีย์ทั้งสี่ด้าน แล้วประดิษฐานรูแฤาษีสี่ตนไว้ประจำด้านละตน และปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปที่แตกชำรุดไว้เช่นเดิม
            วัดดอนแก้ว หรือวัดอรัญญิกรัมมการาม  เป็นวัดสำคัญและเก่าแก่มาก ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง ฯ ในสมัยพระนางจามเทวีถือว่าเป็นวัดในเมือง ภายหลังสายน้ำปิง และแม่กางได้เปลี่ยนทางเดินโดยพระยามังราย จึงทำให้วัดนี้อยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำกวง ปัจจุบันวัดดอนแก้วเป็นวัดร้าง มีการขุดพบซากโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปหินทรายปางสมาธิที่ชำรุด ซึ่งได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ให้สมบูรณ์ แล้วนำมาประดิษฐานไว้บนฐานเจดีย์ ในวัดพระธาตุหริภุญชัยทั้งสามองค์ พระพุทธรูปหินทรายดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปศิลปะทวาราวดี มีลักษณะพุทธศิลป์แบบคุปตะ ซึ่งเป็นต้นเค้าของพระเครื่อง หรือพระพิมพ์ขนาดเล็ก  คือ พระคง พระบาง พระเปิม นอกจากพระพุทธรูปและพระพิมพ์ต่าง ๆ ที่ขุดค้นพบในบิรเวณวัดแห่งนี้แล้ว ยังพบศิลาจารึกต่าง ๆ อีกมาก
            ในอดีตวัดดอนแก้าได้รับการเอาใจใส่จากกษัตริย์ในราชวงศ์จามเทวีวงศ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเจ้าสรรพสิทธิ์ธรรมิกราช ได้ออกผนวชและบำเพ็ญที่วัดนี้พร้อมกับพระโอรสสององค์ ดังมีเรื่องราวที่ปรากฎในศิลาจารึกที่ขุดพบ
            วัดประตูลี้ หรือวัดมหารัตนาราม  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ เป็นวัดที่มีพระพิมพ์ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่มากมาย เช่น พระเหลี้ยมหลวง พระเหลี้ยมหม้อ พระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยม พระลือหน้ามงคล พระบางจิ๋ว พระสามท่ากาน พระสามแบบซุ้มกระรอกกระแต พระสิบแปด พระสิบสอง พระหูยาน  นอกจากนี้ยังพบพระพิฆเนศซึ่งทำด้วยหินทรายแกะสลักขนาดใหญ่
            เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙  ได้พบโถโบราณเนื้อดินเผา มีรูปลักษณะคล้ายตะเกียงโบราณแบบโรมัน มีฐานเป็นชั้น ๆ ตรงกลางปอง มีคอยาวเรียวขึ้นไปถึงบริเวณปาก ภายในโถบรรจุพระเหลี้ยมหลวงประมาณ ๓๐๐ องค์ เป็นพระพิมพ์ดินเผาเนื้อค่อนข้างหยาบ
          วัดมหาวัน หรือวัดมหาวนาราม  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง เป็นวัดสี่มุมเมืองที่มีสถาพสมบูรณ์ที่สุด โบราณวัตถุที่มีอยู่คู่กับวัดมาตั้งแต่เดิมคือ พระพุทธสักขีปฏิสากร หรือพระหินศิลาดำ หรือที่เรียกกันในนามว่า พระรอดหลวง หรือแม่พระรอด ปัจจุบันประดิษฐานนอยู่บนแท่นแก้วหน้าองค์พระประธาน ในวิวารหลวงที่สร้างขึ้งใหม่
            พระหินศิลาคำนี้  พระนางจามเทวีได้อัญเชิญมาจากกรุงละโว้ กับพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์คือ พระเจ้าละโว้และพระแก้วขาว (พระเสตังคมณี) เมื่อครั้งเสด็จมาครองเมืองหริภุญชัย
            กษัตริย์ที่ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดมหาวันคือ พญาสรรพสิทธิ์ ได้สร้างวัดมหาวันกับเจดีย์ และให้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งคือ พระประธานของวัดมหาวัน มีพุทธลักษณะที่งดงาม
            วัดมหาวัน มีพระรอดซึ่งเป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ และยังมีการขุดพบพระพิมพ์ชนิดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูป พระบูชาสมัยโบราณต่าง ๆ อีกมาก
วัดจามเทวี

            วัดจามเทวี เป็นวัดที่มีความสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีความเก่าแก่มากวัดหนึ่งในจังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ที่ถนนจามเทวี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๑๒ ไร่ โดยทั่วไปเรียกว่า วัดกู่กุด ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด กล่าวกันว่า พระราชโอรสของพระนางจามเทวี คือพระเจ้ามหันตยศ และพระเจ้าอนันตยศ โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อถวายพระเพลิง แล้วให้สร้างเจดีย์เหลี่ยมมียอดหุ้มด้วยทอง เรียกชื่อว่า สุวรรณจังโกฏิ
            จากศิลาจารึกวัดกู่กุด (ลพ.๒) ได้กล่าวถึงการปฏิสังขรณ์รัตนเจดีย์กู่กุด ที่ได้หักพังเสียหาน เนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ฉะนั้นลักษณะทางศิลปกรรมขององค์เจดีย์ที่วัดกู่กุด น่าจะอยู่ในสมัยพระเจ้าสรรพสิทธิ์ คือ พุทธศตวรรษที่ ๑๗
            วัดจามเทวีถูกทิ้งร้างจนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๙  เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้อาราธนาครูบาศรีวิชัย มาช่วยก่อสร้าง โบสถ์ วิหาร กุฏิ ตลอดจนบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานที่สำคัญภายในวัด แล้วสถาปนาวัดจามเทวีขึ้นใหม่ มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ มีชื่อว่าวัดจามเทวีมาจนทุกวันนี้
            โบราณสถานที่สำคัญในวัดจามเทวีคือ พระเจดีย์กู่กุด และพระเจดีย์แปดเหลี่ยม
             พระเจดีย์กู่กุด  มีลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลง ฐานล่างทำดป็นหน้ากระดานสามชั้น องค์เจดีย์มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันไปห้าชั้น แต่ละชั้นจะมีซุ้มจระนำด้านละสามซุ้ม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานอภัย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นหุ้มศิลาแลงแบบนูนสูง รวมทั้งหมด ๖๐ องค์ จระนำเป็นซุ้มโค้งแบบสองหยัก ซึ่งเป็นลักษณะซุ้มสมัยทวารวดีตอนปลาย กนกบันเป็นกนกผักกูด ตัวเหงาที่ปลายซุ้มเป็นแบบทวาราวดี บริเวณมุมทั้งสี่ของแต่ละชั้น ยกเว้นชั้นบัวกลุ่มและปล้องไฉน ส่วนยอดบนสุดหักหายไปจึงเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า เจดีย์กู่กุด
            พระเจดีย์องค์นี้ถือเป็นแบบสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญในศิลปกรรมหริภุญชัย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘  มีรูปแบบคล้ายสัตตมหาปราสาท ที่เมืองโบลนนาลวะ ประเทศศรีลังกา และเป็นแบบที่แพร่หลายเคยพบร่องรอยเจดีย์แบบนี้ที่เวียงท่ากาน เวียงโน และนิยมสร้างกันในสมัยต่อมาในแคว้นล้านนาและสุโขทัย เช่น วัดเจดีย์เหลี่ยม จังหวัดเชียงใหม่  วัดพญาวัด จังหวัดน่าน  วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย
              เจดีย์แปดเหลี่ยม  ลักษณะทางสถาปัตยกรรมมีแผนผังเป็นรูปแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป แบ่งออกได้เป็นสามส่วนคือ ส่วนฐานประกอบด้วย ฐานแปดเหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวถลา รองรับองค์เรือนธาตุ โดยส่วนของเรือนธาตุทำเป็นฐานลดท้องไม้ลงเล็กน้อย จากระดับผนังของเรือนธาตุ ส่วนเรือนธาตุมีผังเป็นรูปแปดเหลี่ยมทรงสูง แต่ละด้านประดับซุ้มจระนำ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ซุ้มมีลักณธเป็นโค้งสามวง ภายนอกประกอบด้วยทรงผักเพกา หรือเรียกว่า ซุ้มเคล็ก  ส่วนสันมุมทั้งแปดจะก่อเรียงอิฐยื่นออกมาจากผนัง ได้ระดับเดียวกับกรอบซุ้ม เป็นการแบ่งขอบเขตแต่ละด้าน  ส่วนยอดถัดจากตัวเรือนธาตุขึ้นไปเป็นบัวถลาลดท้องไม้สองชั้น ขนาดเล็กลดหลั่นกันขึ้นไปเล็กน้อย รองรับฐานแปดเหลี่ยมเตี้ย ๆ มีลักษณะลดท้องไม้เช่นกัน ที่บริเวณท้องไม้แต่ละด้าน จะมีซุ้มทรงสามเหลี่ยม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ ถัดขึ้นไปเป็นชั้นลวดบัวรองรับองค์ระฆังทรงกลม ส่วนยอดสุดหัดหายไปแล้ว
            เจดีย์แปดเหลี่ยมนี้ ก่อด้วยอิฐทั้งองค์ ภายนอกฉาบปูนและปั้นปูนประดับ มีการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง ส่วนโครงสร้างมีการซ่อมแซมจนเต็มรูป
            เจดีย์ทั้งสององค์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
วัดประตูป่า
            วัดประตูป่า  ตั้งอยู่ที่บ้านประตูป่า ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง ฯ ตามประวัติกล่าวว่าสร้าง เมื่อปี พ.ศ.๑๓๐๑ ครั้งที่พม่ายกทัพมาตีเมืองเหนือ เจ้านายฝ่ายในและชาวบ้านได้อพยพไปอยู่ที่ประตูป่า เห็นว่าสงบเงียบ จึงได้ช่วยกันสร้างวัด และได้นิมนต์พระสงฆ์จากหมู่บ้านเวียงยองคือ ครูบาเล็ก
            วัดประตูป่า มีโบราณสถานที่สำคัญ และสวยงามมากคือ หอไตร  ซึ่งสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง มีเสารองรับอาคารชั้นบนเป็นหอไตรชั้นเดียวใต้ถุนสูง อาคารด้านบนทำเป็นห้องสี่เหลี่ยมมีระเบียง รอบระเบียงเป็นระเบียงทึบแบบฝาลูกฟัก หน้าต่างทำเป็นช่องแคบ ๆ ด้านหน้าประตูทางเข้า คันทวยหูช้างแกะสลักเป็นรูปลิง และลายกนก มีรูปเทพนมแกะสลักอยู่ที่มุมทั้งสี่ หน้าบันแกะสลักเป็นลายเครือเถาพรรณพฤกษาประดับกระจกสี หลังคาเป็นหลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องดินขอ ประกอบด้วยช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ซึ่งเป็นไม้แกะสลักประดับกระจกสี
            หอไตรวัดประตูป่า ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓
วัดหมูเปิ้ง
            วัดหมูเปิ้ง  ตั้งอยู่ที่บ้านหมูเปิ้ง ตำบลเมืองจี้ อำเภอเมือง ฯ  สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๐ เดิมเป็นวัดร้าง มีหมูป่ามาหาอาหารในบริเวณ จึงได้ชื่อว่า วัดหมูเปิ้ง
            วัดหมูเปิ้ง มีโบราณสถานที่น่าสนใจคือ ซุ้มประตูโขง ซึ่งมีลวดลายปูนปั้นประดับอย่างสวยงาม การปั้นลวดลายเป็นแบบศิลปะล้านนา ลักษณะเดียวกับเรือนธาตุเจดีย์ล้านนา คือ มีการประดับลวดลายพรรณพฤกษา ในส่วนบัววัดเกล้า ประจำยามอก ส่วนบริเวณด้านบนของซุ้ม ทำเป็นสายเครือเถาพรรณพฤกษาประดับ ต่อเนื่องกันไปตามแนวความโค้งของซุ้ม ปลายซุ้มจะเป็นตัวเหงาโค้งกนกแบบสามตัว ตัวซุ้มประตูโขง โครงสร้างก่อด้วยอิฐฉาบปูน
            ภายในวัดยังมีอาคารที่น่าสนใจคือ หอไตรมีลักษณะเป็นกึ่งอุโบสถคือ เป็นเรือนชั้นเดียวใต้ถุนสูง โถงชั้นล่างใช้เป็นอุโบสถ มีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น มีระเบียงกันเตี้ย พื้นยกสูงจากพื้นดินเล็กน้อย มีเสาสี่แถว ๆ ละห้าต้น ตัวหอไตรชั้นบนเป็นเรือนไม้ หลังคาสองชั้นลด มุงด้วยกระเบื้องดินขอ ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา  หางหงส์แกะสลักด้วยไม้ประดับกระจกสี หน้าต่างทำเป็นช่องเล็ก ๆ มีร่องรอยลวดลายการปิดทอง หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้ายหลังแกะเป็นลายเครือเถา ปิดทองประดับกระจกสี ด้านนอกตัวอาคารทำเป็นระเบียงไม้ แกะสลักโดยรอบ แนวระเบียงทำเป็นช่องแคบ ๆ ไม่มีประตูทางเข้าออก การขึ้นไปบนหอไตรใช้เกรินหรือบันได ไม้พาดไปบนช่องเหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เจาะไว้ทางเพดานอุโบสถชั้นล่าง ซึ่งแยกออกจากพื้นหอไตรเป็นคนละส่วนกัน
วัดต้นก๊อ
            วัดต้นก๊อ  ตั้งอยู่ติดกับวัดต้นแก้ว ที่บ้านเวียงยองตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง ฯ ปัจจุบันเป็นวัดร้างไม่ปรากฏประวัติ โบราณสถานที่สำคัญเหลือเพียงเจดีย์ที่อยู่ในบริเวณวัดต้นแก้ว
            ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ส่วนฐานล่างสุดเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมจตุรัสซ้อมกันสามชั้น รองรับชั้นฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อเก็จ  ส่วนกลางประกอบด้วยชุดบัวถลาแปดเหลี่ยม รองรับองค์ระฆัง ซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมมากตั้งแต่ประมาณครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ส่วนบนเป็นบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนยอดทำเป็นปล้องไฉน
            เจดีย์ต้นก๊อ ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘
วัดพระยืน

            วัดพระยืน เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ที่บ้านพระยืน ตำบลเวียงยอง อำเภอเมอง ฯ โบราณสถานที่สำคัญของวัดคือ พระเจดีย์ ตามศิลาจารึกวัดพระยืนกล่าวว่า พระมหาสุมนเถระสร้าเสริมพระอัฏฐารส เมื่อปี พ.ศ.๑๗๑๓ ตามชินกาลมาลัปกรณ์กล่าวว่า พระเจ้าถือนา ได้อาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัย ให้ขึ้นมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ล้านนา ได้พำนักอยู่ที่วัดพระยืน และได้ร่วมกับพระเจ้าถือนา สร้างมณฑปหนึ่งองค์ พระพุทธรูปสี่องค์ ประดิษฐานไว้ในพุทธมหาวิหารคือ พระยืน
            เจดีย์วัดพระยืน ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
วัดเกาะกลาง
            วัดเกาะกลาง  ตั้งอยู่ในเขตตำลบเกาะกลาง อำเภอป่าซาง ตามประวัติกล่าวว่า ตระกูลของเศรษฐีอินตา ซึ่งเป็นชาวมอญแห่งบ้านหนองคู่ได้สร้างขึ้น
            วัดเกาะกลาง เป็นวัดเก่าแก่ที่มีโบราณสถานอยู่หลายแห่ง ที่สำคัญคือ เจดีย์ก่ออิฐถือปูน ทรงปราสาท ยอดระฆัง มีลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยม มีซุ้มยื่นออกทั้งสี่ด้าน แต่ละซุ้มประดับลวดลายปูนปั้น ลักษณะเป็นซุ้มโค้งแหลม ซ้อนกันสองชั้น มีลานปูนปั้นเป็นลายพรรณพฤกษา บริเวณปลายชั้นซุ้มเป็นรูปมกร หรือตัวกิเลน ด้านละตัว ซุ้มชั้นที่สองทำเป็นเป็นลายพรรณพฤกษา ส่วนบัวรัดเกล้า และบัวเชิงแต่ละชั้น และส่วนเรือนธาตุ ประดับลวดลายปูนปั้นลายพรรณพฤกษา ส่วนเหนือชั้นเรือนธาตุ ทำเป็นชั้นบัวลูกแก้วรองรับองค์ระฆังทรงกลม
วัดป่าเหียง
            วัดป่าเหียง หรือวัดกองงาม  ตั้งอยู่ที่บ้านกองงาม อำเภอป่าซาง ตามประวัติกล่าวว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐ มีโบราณสถานที่สวยงามมากคือ หอไตรกลางน้ำ ตัวหอเป็นอาคารสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง รูปทรงสี่เหลี่ยม มีระเบียงล้อมรอบ บริเวณชายคาปีกนก มีการประดับตกแต่งด้วยไม้สลัก เป็นลายเครือเถา และลายพรรณพฤกษา ทาชาติปิดทอง ศันทวยหูช้าง ทำเป็นไม้แกะสลัดเป็นลวดลายเครือเทา หลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ โดยทำเป็นไม้สลักปิดทองประดับกระจกสี ส่วนหน้าบันแกะสลัดลวดลายพรรณพฤกษา ปิดทองประดับกระจกสี
            หอไตรวัดป่าเหียง ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓
วัดสันกำแพง
            วัดสันกำแพง  ตั้งอยู่ในเขตตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง เดิมเป็นวัดร้างจนถึงประมาณปี พ.ศง๒๓๙๐ จึงมีผู้มาพบว่ามีวัดอยู่ มีกำแพงถึงสามชั้น เมื่อได้ช่วยกันบูรณะแล้วได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๕ ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญคือ
           เจดีย์  ก่ออิฐถือปูน ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงพม่า ฐานเขียง ชั้นล่างประดับด้วยเจดีย์จำองทั้งสี่มุม ถัดขึ้นไปเป็นบานบัวลูกแก้วอกไก่ ที่มุมทั้งสี่มีรูปสถูปจำลองประดับอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังและปลียอด
          หอไตร  สร้างด้วยไม้ทั้งหลังอยู่กลางน้ำทำเป็นสองชั้น มีรูปแบบศิลปะล้านนา มีการแกะสลักไม้เป็นลวดลาย และประดับกระจกอย่างสวยงาม หลังคาเป็นชั้นลด กรอบหน้าจั่วเป็นตัวนาค
วัดพระพุทธบาทตากผ้า

            วัดพระพุทธบาทตากผ้า  ตั้งอยู่บนเนินเขาระหว่างดอยม่อนช้างกับดอยเครือ ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง มีพื้นที่ประมาณ ๑๗๕ ไร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองลำพูนประมาณ ๒๒ กิโเมตร
            เดิมวัดนี้เป็นวัดราษฎร์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ และได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ สิ่งสำคัญในวัดมีดังนี้
           วิหารจตุรมุข  ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสองรอย คือ รอยพระพุทธบาทใหญ่ และรอยพระพุทธบาทเล็ก ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทไว้บนผาลาดนี้ และตรัสพยากรณ์ไว้ว่า สถานที่แห่งนี้จะปรากฎชื่อว่า พระพุทธบาทตากผ้า โดยนิมิตที่พระพุทธองค์มาหยุดตากผ้ากาสาวพัสตร์
            เมื่อพระนางจามเทวีมาครองเมืองหริภุญชัย มีศรัธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก เป็นองค์อุปถัมภ์ดำเนินการสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท ถวายเป็นพระพุทธบูชา เมื่อสิ้นราชวงศ์จามเทวี กษัตริย์ในราชวงศ์มังราย ก็ได้อุปถัมภ์บำรุงรอยพระพุทธบาทสืบต่อมา
            ในปี พ.ศ.๒๓๗๕  ครูหลายท่านพร้อมด้วยศรัทธาต่าง ๆ ได้ร่วมกันสร้างวิหารหลังใหญ่ครอบมณฑปไว้อีกชั้นหนึ่ง
            ในปี พ.ศ.๒๔๗๒  คณะสงฆ์จังหวัดลำพูนพร้อมด้วยศรัทธา ได้ไปนิมนต์ครูบาศรีวิชัย มาเป็นประธานในการสร้างวิหารจตุรมุขครอบรอยพระพุทธบาท ดั่งที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน
            อุโบสถ  เป็นอาคารทรงไทย หลังคาลดสองชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสีทอง ฝาผนังเป็นศิลาแลงโบปูน ประตูหน้าต่างบานไม้แกะสลักลายไทย ลงรักปิดทองอย่างสวยงาม หน้าต่างมี ๑๒ ช่อง บนซุ้มหน้าต่างประดับลวดลายเป็นสิบสองนักบัตร ฝีมือประณีตบรรจงมาก
            พระอุโบสถหลังใหม่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ กำหนดกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงตัดลูกนิมิตร ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาพระอุโบสถ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙
            พระประทานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว แบบพระพุทธชินราช มีพระอัครสาวกทั้งสองคือ พระโมคลาน์กับพระสารีบุตร ยืนประนมมืออยู่เบื้องซ้ายขวา
            วิหารพระเจ้าทันใจ  เป็นวิหารทรงไทย สร้างด้วยศิลาแลง หลังคาและหน้าบันสลักลวดลายสวยงาม ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่เรียกว่า พระเจ้าทันใจ
            รอยตากผ้า  ตามตำนานกล่าวว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ที่นี้ ได้ทรงหุยดพักผ่อนพระอิริยาบถจากการเดินทาง แล้วจึงมีพุทธฎีกาตรัสพระอานนท์ให้นำเอาจีวรที่ซักแล้วไปตากนผาลาดใกล้กับบริเวณที่ประทับ ปรากฎเป็นรอยตารางรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสคล้าย ๆ กับผ้าจีวรพระอยู่บนลานหิน เป็นตารางคล้ายขอบคันนาของอินเดีย วางสลับกันไปมา

            พระธาตุเจดีย์สี่ครูบา  คั้งอยู่ยอดดอยเครือเดิม ในครั้งพุทธกาล ครูบาศรีวิชัยดำริที่จะสร้างเจดีย์ไว้บนยอดดอยเครือ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แต่ท่านได้มรณภาพเสียก่อน คณะศิษย์ของท่าน จึงได้ดำเนินการสร้างองค์พระธาตุเจดีย์ขึ้น ตามแบบพระบรมธาตุหริภุญชัย พระสถูปภายในสร้างตามแบบพระเจดีย์พระเจ้าล้านทอง ซุ้มประตูทำแบบวัดพระธาตุลำปางหลวง
            ภายในองค์พระธาตุเจดีย์ มีพระสถูปบรรจุพระเจดีย์เล็ก เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ครูบาศรีวิชัยได้รวบรวมไว้ รอยสถูปเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของครูบาทั้งสององค์ เพื่อเป็นอนุสรน์ถึงคุณความดีที่ท่านบำเพ็ญมาตลอด
วัดกู่ป่าลาน
           วัดกู่ป่าลาน เดิมเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ป่าลาน ตำบลบ้านธิ มีโบราณสถานที่สำคัญคือ อาคารทรงมณฑป หรือกู่ป่าลาน ภายหลังได้มีผู้มาสร้างเป็นวัดขึ้นใหม่
            ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของกู่ป่าลาน เป็นอาคารทรงมณฑป ก่ออิฐถือปูน ฐานชั้นแรกเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ปรพกอบด้วยฐานบัวค่ำ และชั้นลูกแก้วซ้อนกันสองชั้น รองรับเรือนธาตุ  ด้านทิศตะวันออกเจาะเป็นช่องเข้าไปภายใน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนอีกสามด้านก่อเป็นผนังทึบ  ทำเป็นซุ้มจระนำ ซึ่งมีร่องรอยแสดงว่าเป็นซุ้มวงโค้ง ผนังประตูประดับด้วยลวดลายปูนปั้น
            ส่วนล่างของเรือนธาตุที่เสากรอบซุ้มจระนำ และผนังย่อมุมประดับด้วยลูกแก้วอกไก่ และชั้นบัวหงาย ส่วนบนของเรือนธาตุ เฉพาะที่เสากรอบจระนำ ประดับเป็นชั้นลูกแก้วอกไก่สองชั้น ส่วนยอดของกู่ชำรุด
            ประติมากรรมปูนปั้นที่ประดับผนังของอาคาร เฉพาะผนังเรือนธาตุ ในส่วนต่าง ๆ คือ ส่วนล่างของเรือนธาตุ ชั้นเส้นลวดประดับแถวลูกประคำเส้นลวด ส่วนบริเวณท้องไม้เป็นลวดลายดอกประจำยามเรียงต่อกันไป เรือนธาตุที่ผนังย่อมุมเป็นลายประดับกาบล่าง ทำเป็นกรอบรูปสามเหลี่ยม เส้นหยักภายในประดับด้วยลายพรรณพฤกษา ลายปูนปั้นที่ประดับผนังทางทิศตะวันตก เป็นลวดลายพรรณพฤกษาในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าซ้อนกันสองชั้น กรอบทำเป็นเส้นลวดลายสองแถว ระหว่างกลางคั่นด้วยแผ่นกลมเรียงต่อกัน ระหว่างกรอบชั้นนอก และกรอบชั้นในเป็นลายดอกไม้ใบไม้
วัดพระธาตุห้าดวง
            วัดพระธาตุห้าดวง  ตั้งอยู่ที่บ้านสันดอนเวียง ตำบลลี้ อำเภอลี้ เดิมเป็นวัดร้าง มีซากฐานอุโบสถวิหาร และฐานเจดีย์อยู่กลางลานวัด ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ครูบาศรีวิชัยได้มาทำการบูรณะเจดีย์ห้าองค์นี้ ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ นายอำเภอลี้ได้ทำการพัฒนา และตั้งหมู่บ้านขึ้น ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งพระอธิการให้มาอยู่ประจำวัด และมีการประกาศยกฐานะเป็นวัดมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา
            เจดีย์ในวัดมีอยู่ห้าองค์ มีองค์ใหญ่เป็นประธานอยู่ตรงกลางหนึ่งองค์ และมีเจดีย์องค์เล็กอีกมุมละหนึ่งองค์ ลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ส่วนฐานล่างสุดของเจดีย์เป็นฐานเขียงในผังรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกัน เพื่อรองรับฐานในผังรูปสี่เหลี่ยมทรงสูง ส่วนกลางประกอบจากฐานในผังกลมซ้อนลดหลั่นกัน รองรับบัวปากระฆัง ความสูงสอบอันเกิดจากชุดฐานบังคับให้ทรงระฆัง ที่ต่อเนื่องขึ้นไปมีขนาดเล็ก ส่วนนี้จึงมีทรงที่เพรียวยิ่งกว่าเดิม ส่วนบนเหนือทรงระฆัง มีบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมรองรับปล้องไฉน ต่อเนื่องขึ้นไปด้วยปลียอดและฉัตร
วัดป่าป๋วย
            วัดป่าป่วย  ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านป่าป่วย ตำบล้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗
            วัดนี้มีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจคือ หอไตร ซึ่งเป็นอาคารขนาดเล็ก ใต้ถุนสูง ชั้นบนเป็นเครื่องไม้แผนผังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กั้นฝาทึบทั้งสี่ด้าน ไม่มีช่องหน้าต่อ ด้านหน้า และด้านหลังมีช่องประตูด้านละช่อง มีระเบียงไม้ล้อมรอบ เป็นระเบียงทึก แต่เจาะเป็นช่องสำหรับประดับไม้แกะสลักด้านละสมช่อง
            ส่วนหลังคาเป็นทรงไทยลดชั้น ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ปิดทองประดับกระจก หน้าบันแกะสลักเป็นลวดลายก้านขดปิดทองประดับกระจก
วัดคงฤาษี
            วัดคงฤาษี  เป็นวัดขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่บ้านคงฤาษี ตำบลบ้างโฮ่ อำเภอบ้านโฮ่ สถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดคือ หอไตร ซึ่งเป็นอาคารขนาดเล็ก ใต้ถุนสูง ด้านบนเป็นเครื่องไม้ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กั้นฝาทึบทั้งสี่ด้าน ไม่มีช่องหน้าต่าง ด้านหน้าหลังมีช่องประตูด้านละช่อง มีระเบียงไม้แกะสลักลวดลายโดยรอบ ด้านหน้าและด้านหลังเจาะช่องเอาไว้ อาจเป็นที่สำหรับพาดบันได เนื่องจากไม่มีการทำบันไดเอาไว้
            ส่วนบนระหว่างเสาระเบียงด้านซ้ายการประดับไม้แกะสลัก ตัวเสาระเบียงมีการปิดทองลวดลายก้านขดอย่างสวยงาม ส่วนหลังคาเป็นทรงไทยลดชั้น มุงกระเบื้อง ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา กางหงส์ ปิดทองประดับกระจก หน้าบันแกะสลักเป็นลวดลายปิดทอง ประดับกระจกสี ส่วนเพดานหน้าประตูทั้งสองด้าน มีลายเขียนสีเป็นลายดอกไม้สี่กลีบ
วัดทาดอยครั่ง
            วัดทาดอยครั่ง  ตั้งอยู่บนภูเขาในเขตตำบลทาขุมเงิน อำเภอแม่ทา มีพื้นที่ประมาณ ๕๘ ไร่ เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่น่าสนใจอยู่มาก เช่น เจดีย์ขนาดเล็กศิลปะล้านนา และวิหารที่สวยงาม มีการประดับตกแต่งด้วยไม้แกะสลักอย่างสวยงาม โดยเฉพาะในส่วนหน้าบันและผนังด้านหน้า ภายในวิหารมีซุ้มโขงที่เคยใช้ประดับพระพุทธรูป ดัวซุ้มประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้นที่สวยงาม
            โบราณวัตถุที่สวยงาม มีธรรมาสน์ และสัตตภัณฑ์เป็นต้น
วัดม่อนจอมธรรม
            วัดม่อนจอมธรรม  ตั้งอยู่เชิงเขาที่บ้านห้วยเดื่อ ตำบลทาขุนเงิน อำเภอแม่ทา เดิมเป็นวัดร้าง มีภูเขาเล็ก ๆ ที่เป็นหินชะโงกสูงประมาณ ๕๐ เมตร บนหินชะโงกมีหน้าผาและร่องรอยที่ประดับด้วยพระพิมพ์ (พระสิบสอง) เป็นจำนวนมาก ใต้หน้าผามีลานหินที่ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจของสงฆ์ บริเวณเชิงเขามีร่องรอยบันไดนาค โบสถ์ วิหาร

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์