www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางพระพุทธศาสนา
พระธาตุแช่แห้ง
พระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง ทางด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองน่าน
เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์ มีอายุนานกว่า ๖๐๐ ปีมาแล้ว พญาการเมืองเจ้าผู้ครองนครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสุโขทัยมาบรรจุไว้
องค์พระธาตุเป็นสถูปแบบพื้นเมือง เดิมเป็นสถูปทรงลังกา แต่ได้หักพังไป และได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์สืบกันมาหลายรูปแบบ
รูปร่างจึงเปลี่ยนแปลงไปตามช่างฝีมือ และคตินิยมของแต่ละยุคสมัย การปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช
ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ และการบูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ - ๒๕๓๘ เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ล่าสุด
องค์พระธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละสิบเอ็ดว่าหนึ่งศอก
สูงหนึ่งเส้นเจ็ดวาสามศอกห้านิ้ว บุด้วยทองเหลืองตลอดทั้งองค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบอยู่ชั้นใน
และมีพระระเบียงล้อมอยู่โดยรอบ กว้างหนึ่งเส้นสิบวา ยาวสองเส้น ภายในมีวิหารใหญ่อยู่หนึ่งหลัง
ประดิษฐานพระพุทธรูปทันใจ
ภายนอกบริเวณด้านหน้าพระธาตุเป็นอุโบสถ กุฏิสงฆ์ วิหารพระนอน พระธาตุเจดีย์องค์น้อยนัยว่าเป็นที่บรรจุพระธาตุพระอรหันตสาวก
และมีถนนพระยานาคลาดลงไปสู่เบื้องล่าง
เทศกาลนมัสการ และปิดทองพระธาตุประจำปีตกอยู่ในกลางเดือนสี่ (เดือนหกเหนือ)
ระหว่างวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ และแรมค่ำ มีมหรสพสมโภช และมีการจุดบอกไฟเป็นพุทธบูชา
พระธาตุเขาน้อย
พระธาตุเขาน้อย ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของของตัวเมืองน่านบนยอดเขาเล็ก
ๆ ลูกหนึ่ง จากยอดเขาลูกนี้จะมองเห็นภูมิประเทศเมืองน่านได้อย่างชัดเจน ภายในพระธาตุเขาน้อยเป็นที่บรรจุพระพุทธเกศา
และพระบรมสารีริกธาตุ
ตามตำนานมีว่า วันหนึ่งพระเจ้าฟูเข็งกับพระนางปทุมวดีมเหสี ได้เสด็จไปประพาสป่า
และได้ขึ้นไปบนเขาน้อยเพื่อทอดพระเนตรบริเวณเมือง ขณะที่ประทับอยู่นั้นได้เกิดมีแสงสว่างจับกลุ่มอยู่ที่ตอไม้แห้งตอหนึ่ง
พระเจ้าฟูเข็งทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็มีความปิติ และทราบว่าเป็นอภินิหารของพระบรมสารีริกธาตุ
จึงรับสั่งให้ข้าราชบริพารขุดตอไม้แห้งนั้น ก็ได้พบผอบทองแดงมีรูปลักษณะคล้ายเต้าปูนใบหนึ่ง
ภายในผอบนั้นมีห่อผ้าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ จึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ในพระราชนิเวศน์
และทำการสมโภช จากนั้นจึงรับสั่งให้ประชาชนช่วยกันขุดเขาน้อยให้เป็นอุโมงค์ลึกเจ็ดวา
แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งทรงสร้างโกศทองคำบรรจุผอบทองแดงไว้อีกชั้นหนึ่ง
ภายนอกหุ้มด้วยโกศเงิน แล้ววางลงในเรือสำเภา นำเข้าบรรจุไว้ในอุโมงค์ที่ขุดไว้บนเขาน้อย
ปิดปากอุโมงค์ด้วยศิลา แล้วสร้างพระเจดีย์ทับปากอุโมงค์ จากนั้นได้ทำการฉลองทั้งกลางวันและกลางคืน
ต่อมาเจ้าผู้ครองนครน่านหลายองค์ได้อาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ จากที่ต่าง ๆ
มาบรรจุหลายครั้ง และสร้างองค์พระธาตุเจดีย์ให้สูงขึ้น โดยสร้างเป็นพระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส
กว้างด้านละสามวาสองศอก สูงเจ็ดวาสามศอก มีกำแพงล้อมยาวด้านละแปดวาสามศอก
มีประตูเข้าออกสามด้าน มีวิหารอยู่คู่กับองค์เจดีย์
กำหนดเทศกาลนมัสการ และปิดทองในกลางเดือนหก (เดือนแปดเหนือ) เริ่มตั้งแต่ตอนเย็นของวันขึ้นสิบสี่ค่ำ
ถึงวันขึ้นสิบห้าค่ำ และแรมค่ำ มีมหรสพสมโภช และมีการจุดบอกไฟ (จรวด) เป็นพุทธบูชา
เจดีย์วัดหัวข่วง
เจดีย์วัดหัวข่วง ตั้งอยู่ที่วัดหัวข่วง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง ฯ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาท
หรือเรือนธาตุ อิทธิพลศิลปะล้านนา ฐานล่างทำเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยม สันฐานบัวลูกแก้วสองชั้น
มีชั้นหน้ากระดานคั่นกลาง ฐานบัวลูกแก้วชั้นบนย่อเก็จรับกับเรือนธาตุไปจรดชั้นบัวถลาใต้องค์ระฆัง
ส่วนเรือนธาตุมีซุ้มจรนำด้านละซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด ที่มุมผนังทั้งสองข้างปั้นเป็นรูปเทวดาทรงเครื่องยืนพนมมือ
เหนือชั้นอัสดงตอนสุดเรือนธาตุ เป็นชั้นบัวถลาซ้อนกันสามชั้น องค์ระฆังมีขนาดเล็ก
ไม่มีบัลลังก์ ลักษณะรูปทรงโดยส่วนรวมคล้ายคลึงกับเจดีย์วัดโลกโมลี อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเมืองเกษเกล้า ประมาณปี พ.ศ.๒๐๓๑
แต่ส่วนฐานล่างและชั้นบัวถลาของเจดีย์ยืดสูงขึ้น ทำให้มีลักษณะเรียวสูงกว่า
แสดงถึงพัฒนาการทางรูปแบบ ที่ช่างเมืองน่านดัดแปลงนำไปใช้ในระยะหลัง สันนิษฐานว่า
มีอายุไม่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๒
วัดภูมินทร์
วัดภูมินทร์ ตั้งอยู่ที่บ้านภูมินทร์ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง ฯ โบสถ์ และวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียว
ประตูไม้ทั้งสี่ทิศ และสลักลวดลายงดงาม ฝีมือช่างล้านนาไทย มีจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงวิถีชีวิต
วัฒนธรรมของยุคสมัยที่ผ่านมา และเรื่องคันธกุมารชาดกกับพุทธประวัติ
ตามพงศาวดารเมืองน่าน วัดภูมินทร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๙ พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์
เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างขึ้นหลังจากขึ้นครองนครน่านได้หกปี มีปรากฏในพงศาวดารเมืองเหนือว่า
เดิมชื่อวัดพรหมมินทร์
ความงามของวัดภูมินทร์ที่ไม่เหมือนใครคือ อุโบสถทรงจตุรมุข พระประธานจตุรพักตรนาคสดุ้งขนาดใหญ่
อุโบสถเทินไว้กลางลำตัวนาค โดยทำเป็นบันไดเข้าสู่ในวิหารทั้งสี่ด้าน ด้านหน้าประดับราวบันไดด้วยนาคเลื้อย
ผ่านตามราวบันไดตรงกลางเจาะช่องประตูออกได้ ลำตัวพญานาคนี้ทำให้มีลักษณะคล้ายกับนาคเลี้อยผ่านวิหารออกมา
โดยส่วนเศียรชูขึ้นบนราวบันได มีลักษณะพญานาคสองตัวรองรับวิหารไว้ ส่วนบันไดที่เหลือด้านข้างตั้งรูปสิงห์ไว้
ภายในตรงกลางวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองขนาดใหญ่สี่องค์ หันพระปฤษฎางค์ชนกันอยู่บนฐานชุกชี
หันพระพักตรออกตรงประตูวิหารทั้งสี่ทิศ
วัดภูมินทร์ ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ โดยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช
ฯ ผู้ครองนครน่านใช้เวลาแปดปีจึงแล้วเสร็จ งานจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเขียนสี
มีการใช้ลายเส้นอย่างงดงามเป็นภาพจิตรกรรมอันเลืองชื่อไปทั่วประเทศ บานประตูแกะสลักลึกเป็นสามชั้นบนไม้สักทองแผ่นเดียวขนาดใหญ่
หนาประมาณสี่นิ้ว สลักเป็นลวดลายเครือเถา รวมทั้งสัตว์นานาชนิด
พระเจ้าทองทิพย์
ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าติโลกราชให้สร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงชัยชนะที่พระองค์ยึดเมืองน่านไว้ได้
เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๒ - ๑๙๙๓ เป็นพระพุทธปางมารวิชัย คงได้รับอิทธิพลทางรูปแบบส่วนหนึ่งจากพระพุทธรูปปางมารวิชัย
วัดเจดีย์ และได้รับอิทธิพลทางสุนทรียภาพของพระพุทธรูปศิลปะล้านนา กล่าวคือ
พระวรกายอวบ พระนาสิกใหญ่ สันพระนาสิก พระหนุ เป็นต่อมกลมนูนออกมาด้านหน้า
พระพุทธรูปทันใจ
พระพุทธรูปทันใจ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๑ เมตร ๗๘ เซนติเมตร
สูง ๒ เมตร ๓๕ เซนติเมตร ตามพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ
ให้สร้างพระพุทธรูปทันใจโดยกำหนดให้สร้างภายในวันเดียว เมื่อสร้างเสร็จแล้ววันรุ่งขึ้นก็ทำพิธีฉลองทันที
สันนิษฐานว่าสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๑
พระเจ้าทันใจ หมายถึงพระพุทธรูปที่สร้างเสร็จภายในวันเดียว โดยเริ่มสร้างตั้งแต่รุ่งเช้า
เมื่อดวงอาทิตย์แรกขึ้นก็ลงมือปั้นหล่อองค์พระพุทธรูป ตกแต่งให้สำเร็จเรียบร้อยในวันนั้น
ก่อนดวงอาทิตย์ตกดิน ถือว่าได้อานิสงส์แรงมาก เพราะเป็นการทำให้สำเร็จโดยรวดเร็วทันใจปรารถนา
สร้างโดยผู้มีบุญและมีศรัทธาแรงกล้า
ปัจจุบันพระพุทธรูปพระเจ้าทันใจ ประดิษฐานอยู่ที่วิหารพระเจ้าทันใจ
ในบริเวณวัดพระธาตุแช่แห้ง
พระประธานวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
พระประธานองค์ใหญ่ในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง
ขนาดหน้าตักกว้าง ๔ เมตร ๕๐ เซนติเมตร สูง ๖ เมตร ชาวเมืองเรียกพระเจ้าหลวง
เป็นลักษณะศิลปกรรมแบบล้านนาไทย สังฆาฏิปั้นลวดลายก้านต่อดอก ลงรักปิดทองติดกระจก
ประทับอยู่บนฐานชุกชีทำเป็นรูปตัวมุข ชาวเมืองนับถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง
กล่าวกันว่าได้แสดงอภินิหารบอกเหตุล่วงหน้าเกี่ยวกับชะตาของเมืองน่านด้วย
พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี
พระพุทธนันทบุรี ฯ เป็นพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย หล่อด้วยทองสำริด สูง
๑๔๕ เซนติเมตร มีข้อความจารึกไว้ที่ฐานว่า พระเจ้าฬารผาสุมเป็นผู้สร้าง สร้างเมื่อปี
พ.ศ.๑๙๖๙ เดิมลงรักพอกปูนหุ้มไว้ และประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ทิพย์ทางด้านทิศตะวันออก
เพิ่งค้นพบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะสวยงามมาก ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่หอไตรปิฎก
ซึ่งได้ปรับปรุงให้เป็นวิหารพระพุทธนันทบุรี ฯ ถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง
โบสถ์วิหารในสถาปัตยกรรมไทลื้อ
ลักษณะเด่นของโบสถ์วิหารในสถาปัตยกรรมไทลื้อ คือการวางหลังคารูปทรงตะคุ่มลาดต่ำ
และลดหลั่นลงมาทีละชั้น การแก้รูปทรงของพื้นหลังคา ซึ่งแผ่กว้างให้เป็นส่วนที่ย้อยลงมา
วิธีวางหน้าจั่วเน้นทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ส่วนการวางรูปวิหารให้เตี้ยแจ้
เจาะหน้าต่างเล็ก ๆ แคบ ๆ เป็นลักษณะของวิหารทรงโรง การเปิดประตูกว้างทางด้านทิศตะวันออก
แบบประตูเล็กทิศเหนือใต้ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องทิศที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย
ตัวอย่างที่สำคัญได้แก่วัดต้นแหลง วัดหนองแดง วัดพระธาตุเป็งสะกัด และวัดหนองบัว
สถาปัตยกรรมแบบล้านนา มีลักษณะที่สำคัญคือ การกำหนดรูปทรงวิหารแบบซ้อนหลังคา
ซ้อนด้านหน้าสามครั้ง ทรงหลังคาลาดต่ำลงมาส่วนล่างมาก เช่นวิหารพระธาตุแช่แห้ง
ทิ้งจังหวะหลังคาลด เป็นระยะบางครั้งตอนกลางสันหลังคาอาจมีมุขเล็กครอบบนสุด
เช่น วิหารวัดบุญยืน ช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ เป็นตัวลำยองแบบวางนอนทอดตัวไปตามแนวหลังคา
ส่วนแบบซ้อนหลังคาด้านหน้าสองชั้น ลดหนึ่งตับ ตัววิหารหรืออุโบสถยกพื้นสูงหลังคาทรงสูง
บันไดด้านหน้าเปิดกว้าง เช่นวิหารวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวิหารที่เป็นอาคารทรงจตุรมุขโดยทำบันไดเข้าสู่ในวิหารทั้งสี่ด้าน
ทางด้านหน้าประดับราวบันไดด้วยนาคเลื้อยผ่านตามราวบันได ตรงกลางเจาะช่องประตูออกได้
เช่นวิหารวัดภูมินทร์
สถาปัตยกรรมร่วมสมัย
มีลักษณะเด่นคือ เป็นรูปแบบที่ผสมผสานกับแนวคิดสมัยใหม่ โดยเฉพาะการเน้นความสวยงามของลวดลายประดับบริเวณหน้าบันและรอบตัววิหาร
ซุ้มประตูหน้าต่างใช้เป็นลวดลายไทย และพญานาค รวมทั้งลวดลายศิลปะปูนปั้นอีกด้วย
ตัวอย่างสำคัญได้แก่วัดมิ่งเมือง และวัดดู่ใต้ เป็นต้น
เจดีย์
พระธาตุเจดีย์แบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสถูปแบบสุโขทัย
พะเยา เชียงใหม่ และลำพูน เป็นศิลปะเฉพาะรูปแบบหนึ่งของน่าน เช่นพระธาตุวัดช้างค้ำวรวิหาร
สำหรับเจดีย์ทรงปรางค์ เป็นพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุดโขทัย ที่เห็นได้ชัดคือวัดสวนตาล
นอกจากนั้นยังมีลักษณะเจดีย์ทรงระฆังกลมบัลลังก์สี่เหลี่ยมย่อเก็จ ฐานแปดเหลี่ยมได้รับอิทธิพลจากพม่า
เช่นพระบรมธาตุแช่แห้ง เจดีย์วัดพญาวัดเป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยมซ้อนกันสี่ชั้น
มีชั้นบัวหงายคั่น ฐานย่อเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นฐานสี่เหลี่ยมเรียงซ้อนลดหลั่นห้าชั้น
แต่ละชั้นจะมีซุ้มจรนำ ก่อยอดเป็นวงโค้ง ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืน
เจดีย์วัดหัวข่วง ลักษณะทรงปราสาทหรือเรือนยอด ฐานล่างเป็นกระดานสี่เหลี่ยมรับฐานบัวลูกแก้วสองชั้น
มีชั้นหน้ากระดานคั่นกลาง ฐานชั้นบนเรือนธาตุมีซุ้มจระนำ แต่ละซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป
เหนือชั้นอัสดงตอนบนสุด เป็นชั้นบัวถลาซ้อนกันสามชั้น องค์ระฆังมีขนาดเล็ก
ไม่มีบัลลังก์
หอไตร
ในจังหวัดน่านหอไตรส่วนใหญ่ปลูกไว้บนบก ที่เด่นที่สุดคือ หอไตรวัดช้างค้ำวรวิหาร
มีลักษณะโครงสร้างอย่างเดียวกับวิหารและโบสถ์ นอกจากนั้นยังมีหอไตรวัดภูมินทร์
วัดหัวข่วง วัดนาปัง และวัดทุ่งน้อย เป็นต้น
จิตรกรรมฝาผนัง
จิตรกรรมฝาผนังของจังหวัดน่าน
มีทั้งเรื่องพุทธประวัติชาดก และปัญญาสชาดก อันเป็นคัมภีร์ที่รจนาขึ้นทางภาคเหนือ
เช่นเรื่อง คันธกุมาร และจันทคาธชาดก
จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดภูมินทร์
เขียนขึ้นระหว่าง ปี พ.ศ.๒๔๑๐ - ๒๔๑๗ เป็นเรื่องคันธกุมารชาดกพุทธประวัติ
แบ่งออกเป็นสามลักษณะคือ แสดงเรื่องชาดก ตำนานพื้นบ้าน และวิถีชีวิตของชาวน่านในอดีต
ได้แก่ การแต่งกาย การทอผ้า และการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ
จิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดช้างค้ำวรวิหาร
สันนิษฐานว่า คงจะเขียนระยะเวลาเดียวกันกับที่วัดภูมินทร์ เนื่องจากตัวอาคารสร้างพร้อมกัน
ภาพส่วนใหญ่ลบเลือน คงเหลือให้เห็นเป็นการแสดงเรื่องความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต
จิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดหนองบัว
วัดหนองบัวอยู่ในเขตอำเภอท่าวังผา ภาพจิตรกรรมเขียนขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๒๔๑๐
- ๒๔๔๙ เป็นเรื่องจันทคาธชาดก และภาพอดีตของพระพุทธเจ้า บางภาพแสดงเรื่องวิถีชีวิตของชาวน่านในอดีต
จิตรกรรมฝาผนังฐานชุกชีในวิหารวัดหนองแดง
วัดหนองแดงอยู่ในเขตอำเภอเชียงกลาง สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นระหว่าง ครึ้งหลังของพุทธศตวรรษที่
๒๕ เป็นภาพแสดงเรื่องพระมาลัย มีลักษณะฝีมือแตกต่างไปจากจิตรกรรมฝาผนังของวัดอื่น
ๆ
|