www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
ศิลปหัตถกรรมและงานช่าง
ประติมากรรมพระพุทธรูป
ที่ปรากฎอยู่ในเขตจังหวัดปทุมธานี มีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ
หลวงพ่อเพชรวัดสองพี่น้อง
ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดสองพี่น้อง ตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก เป็นพระพุทธรูปศิลา
ปางมาวิชัย ศิลปสมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง
หลวงพ่อโตและหลวงพ่อเพชรวัดสิงห์
ประดิษฐานอยู่ในศาลาดินของวัดสิงห์ ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก
หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง
ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอยุธยา หน้าตักกว้าง สามศอก หนึ่งคืบ ห้านิ้ว
หลวงพ่อเพชร
เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ขนาดยาวห้าศอก หนึ่งคืบ ห้านิ้ว
หลวงพ่อนรสิงห์
ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดกร่าง ตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคก เป็นพระพุทธรูปหินทราย
ปางมารวิชัย สมัยอยุธยา
หลวงพ่อขาว
ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ วัดเกาะเกรียง ตำบลบางคูลัด อำเภอเมือง ฯ เป็นพระพุทธรูปหินทราย
ปางมารวิชัย สมัยอยุธยา หน้าตักกว้าง ๑.๕๐ เมตร สูง ๒.๒๐ เมตร
หลวงพ่อเงิน
ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในอุโบสถวัดพลับสุทธาวาส ตำบลเชียงราก อำเภอสามโคก
เป็นพระพุทธรูปโลหะ (เงิน) ปางมารวิชัย สมัยอยุธยา แต่เดิมหุ้มด้วยปูนลงรักปิดทอง
หลวงพ่อดำ ประดิษฐานอยู่ในวิหารทรงมณฑป
วัดแก้วเกษตร ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง
๒๖ นิ้วครึ่ง สูง ๕๑ นิ้ว เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดกลางคลองบางซื่อบน จังหวัดนนทบุรี
หลวงพ่อวัดนางหยาด
ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดนางหยาด (ร้าง) ตำบลบ้านอิ้ว อำเภอสามโคก เป็นพระพุทธรูปหินทราย
ปางมารวิชัย สมัยอยุธยา
พระยอดธงกรุวัดไก่เตี้ย อยู่ในตำบลกระแชง
อำเภอสามโคก จัดสร้างขึ้นเพื่อนำไปประดิษฐานไว้บนปลายยอดธงของกองทัพมอญ และแจกจ่ายให้บรรดาแม่ทัพนายกองไว้คุ้มครองป้องกันตัวในการยกทัพไปช่วยไทยรบกับเมืองเชียงใหม่
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๔
สถาปัตยกรรมธรรมาสน์
ธรรมาสน์เป็นที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ใช้ในการแสดงพระธรรมเทศนา ส่วนมากจะจัดตั้งไว้ที่ศาลาการเปรียญด้านใดด้านหนึ่ง
สร้างด้วยไม้ที่ช่างบรรจงสร้างให้มีรูปทรงที่งดงาม มีลวดลายแกะสลัก ลงรักปิดทองร่องชาด
ประดับกระจก ยกพื้นสูง มีบันไดสำหรับขึ้น - ลง แยกประเภทได้ดังนี้
ธรรมาสน์ตั่ง
มีรูปร่างคล้ายเก้าอี้หรือตั่ง ขาสิงห์ไม่สูงนัก มักมีพนักพิงและมีเท้าแขนสองข้าง
รูปทรงคล้ายที่นั่งบนหลังช้าง (กูบ)
มีขนาดที่นั่งกว้างพอที่จะนั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบได้
สร้างด้วยไม้แกะสลักลวดลาย
ธรรมาสน์แบบตั่งไม่นิยมตั้งไว้ประจำศาลาการเปรียญ มักจะยกนำไปใช้เป็นงาน ๆ
ไป เสร็จใช้งานแล้วจะนำไปเก็บไว้ในกุฏิ เพราะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก
ธรรมาสน์ตั่งที่วัดสำแล เป็นธรรมาสน์ไม้แกะสลักปิดทองร่องชาดที่งดงามมาก ทางวัดได้รับพระราชทานตั่งนี้เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓
ธรรมาสน์บุษบก เป็นธรรมาสน์มีหลังคา
รูปทรงทั่วไปเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีทั้งย่อมุมไม้สิบสองและไม่ย่อมุม
ผังหกเหลี่ยมแปดเหลี่ยมและทรงกลม ส่วนยอดมักทำเป็นรูปปราสาทลดหลั่นกันลงมาสี่
- ห้าชั้น ส่วนกลางประกอบด้วยเสาย่อมุมไม้สิบสองประจำยามอก กรอบซุ้มเรือนแก้วประกอบลายแกะสลักสาหร่ายรวงผึ้ง
กาบพรหมศร กระจังปฏิญาณและพนักพิง ส่วนฐานเป็นฐานสี่เหลี่ยม หรือย่อมุมไม้สิบสองลดหลั่นกันลงมาสาม
- สี่ชั้น ประกอบด้วยลายกระจังฐานสิงห์แกะสลักเป็นรูปครุฑ สิงห์ เทพนมโดยรอบทางขึ้นทำเป็นบันไดนาคแกะสลักลวดลายงดงาม
บันไดมีสาม - ห้าขั้น
ธรรมาสน์บุษบกในจังหวัดปทุมธานีมีอยู่หลายวัดเช่น วัดรัะงสิต วัดสำแล วัดมะขาม
วัดสะแก วัดเจดีย์ทอง วัดท้ายเกาะ วัดน้ำวน วัดบางคู วัดใน วัดบางหลวง วัดชินวรารามวรวิหาร
วัดเสด็จ วัดบัวแก้วเกษร วัดไผ่ล้อม วัดเทียนถวาย วัดป่างิ้ว วัดหงส์ วัดโคก
วัดโบสถ์ วัดบางกระดี่ วัดจันทน์กะพ้อ ที่สร้างในสมัยอยุธยา ที่คงเหลืออยู่ไม่มากนัก
เช่นที่วัดโบสถ์ วัดมะขาม ในเขตอำเภอเมือง ฯ และวัดสะแกในเขตอำเภอสามโคก เป็นต้น
ธรรมาสน์ยอดโดม เป็นธรรมาสน์ที่มีหลังคาเป็นยอดโดม
ถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี พบที่วัดสองพี่น้อง วัดเมตารางค์ อำเภอสามโคก
และวัดโคก วัดรังสิต อำเภอเมือง ฯ เป็นต้น
รูปทรงส่วนยอดหลังคาเป็นผังสี่เหลี่ยมปูด้วยไม้โค้งมนทั้งสี่ด้านสี่มุมคล้ายฝาชี
แต่เป็นเหลี่ยมยอดบัวตูม เชิงชายประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกระจังโดยรอบ ต่ำลงมาเป็นฐานบัว
ช่องลมไม้ฉลุลายเครือเถาประกอบสี่ด้านและต่อด้วยกันสาดคลุมหลังคายื่นออกมาโดยรอบ
มีคันทวยประดับด้วยลายฉลุ เพดานประดับด้วย ดาวฉลุสวยงาม ตอนกลางมีเสาสี่เหลี่ยมสี่ต้นรับโครงหลังคา
ที่นั่งทำเป็นพนักกั้นโดยรอบสามด้าน ด้านหลังทำพนักโค้งมนเป็นพนักพิง สำหรับนั่งแสดงธรรม
ส่วนฐานทำเป็นกรอบแท่งสี่เหลี่ยมฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีลวดลายประดักกรอบทั้งสี่ด้านเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์
บันไดทำเป็นบันไดนาค
ธรรมาสน์ยอดนางชี
มีส่วนบนของหลังคาตัดเรียบ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ฐานประกอบด้วยลายหน้ากระดานดอกไม้ลายฉลุ
ตามมุมหลังคาทั้งสี่ด้าน ประดับด้วยดอกไม้กลึงเป็นบัวหัวเสา รับโครงหลังคาเพดานซึ่งทำเป็นกรอบไม้ย่อมุม
ประดับด้วยดาวเพดานในวงกลม ภายในซุ้มหลังคาเป็นที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชา แต่มีขนาดใหญ่กว่า
พระสงฆ์สามารถขึ้นไปนั่งแสดงธรรมได้ โดยที่โต๊ะแถวกลางตัวแรกใช้สำหรับขึ้นลง
ตัวที่สองตรงกลางเป็นที่นั่งแสดงธรรม โดยมีพนักพิงด้านหลัง เสริมขึ้นมาลวดลายของโต๊ะแต่ละตัวพื้นจะแกะสลักลายบัวหงาย
ขอบด้านข้างแกะสลักเป็นลายเครือเถาดอกพุดตาน ขาโต๊ะตัดตรง ประดับด้วยการปิดทอง
ร่องชาด ประดับกระจก
ธรรมาสน์ยอดนางชี พบในเขตอำเภอสามโคก ที่วัดท้ายเกาะใหญ่ วัดพลับสุทธาวาส
วัดศาลาเหนือ และวัดศาลาแดง
สังเค็ด
เป็นธรรมาสน์ขนาดใหญ่สมัยอยุธยา ใช้สำหรับให้พระสงฆ์ขึ้นสวดมนต์ สาม-สี่รูป
มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแอ่นท้องสำเภา หลังคามีมุขยื่นออกทั้งสองด้าน
ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ตามแบบอย่างสถาปัตยกรรมไทย ดาวเพดาน หน้าบัน
แกะสลักได้อย่างงดงาม มีเสารับโครงหลังคาหกต้น และสลักลายแข้งสิงห์ ตอนกลางเป็นที่นั่งพระสงฆ์
สังเค็ด ที่พบในเขตจังหวัดปทุมธานีมีอยู่ที่วัดมะขาม และวัดบางคูลัด คงใช้สำหรับการเทศน์มหาชาติ
จิตรกรรมฝาผนัง ในเขตจังหวัดปทุมธานีมีจิตรกรรมฝาผนังอันทรงคุณค่าอยู่หลายแห่งด้วยกันคือ
วัดเจตวงศ์ เป็นวัดร้าง อยู่ในตำบลบางแขยง
อำเภอเมือง ฯ จิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์มีอยู่ทั้งสี่ด้าน จัดเป็นฝีมือชั้นครูสมัยอยุธยา
ด้านหน้าพระประธาน เป็นภาพพระพุทธประวัติ ตอนมารผจญ มีการลงสีชาดเป็นพื้น
พระพุทธเจ้าประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์ ด้านซ้ายมีกองทัพพญามาร พญามารแสดงด้วยภาพพญายักษ์ทรงเครื่องสีเขียว
มีหลายแขน ขี่ช้างนำไพร่พลเข้าล้อม ไพร่พลในกองทัพพญามารถูกจินตนาการเป็นรูปต่าง
ๆ เช่น จีน จาม พราหมณ์ ฝรั่ง แขก ยักษ์ขี่ม้า เสือ สิงห์ อยู่ในท่วงท่าพร้อมรบ
ส่วนด้านขวาเป็นภาพที่เกี่ยวเนื่องกันคือ กองทัพพญามารกำลังพ่ายแพ้ ปรากฎภาพแม่พระธรณีบีบมวยผม
ทำให้กองทัพพญามารจมน้ำ ถูกสัตว์ต่าง ๆ ทำร้าย เช่น ปลา จรเข้ เป็นต้น ด่านล่างยังมีภาพเหล่าเทวดา
นั่งประคองอัญชลีอยู่ทั้งสองด้าน
ภาพด้านขวาและซ้ายของพระประธานบริเวณคอสองมีภาพอดีตพระพุทธเจ้าประทับนั่งเรียงลำดับเป็นแถว
ลงพื้นด้วยสี
แดง
ภาพอดีตพระพุทธเจ้าอยู่ในซุ้มดอกไม้ประดิษฐ์สวยงาม ภายในซุ้มลงพื้นด้วยสีเขียว
ด้านข้างมีพระสาวกนั่งประนมมือหันหน้า
เข้าหาพระพุทธเจ้าโดยมีฉัตรทรงสูงสี่ชั้นเป็นฉัตรดอกไม้ประดิษฐ์กั้นภาพสลับกันต่อเนื่องกันไปตลอดฝาผนัง
ด้านบนมีภาพเขียนเป็นเกลียวคลื่นเป็นริ้ว ๆ โดยมีภาพเหล่าคนธรรพ์ วิทยาธร
โผล่ออกมา
ระหว่างช่องหน้าต่างทั้งสองข้างเป็นภาพพระพุทธประวัติเป็นตอน ๆ บนพื้นสีแดง
ด้านหลังพระประธานเป็นภาพพระพุทธเจ้าขนาบด้วยทั้งสองข้าง ตอนบนสุดเป็นหมู่เมฆ
มีเทวดาพนมมือ เพดานเขียนภาพดอกไม้ร่วงเป็นช่อดอกสีขาวชมพู
วัดป่ากลางทุ่ง
อยู่ในเขตอำเภอเมือง จิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์อยู่ในสภาพลบเลือนแต่ยังคงเหลือร่องรอยอันงดงาม
ภาพดังกล่าวอยู่บริเวณคอสองของผนังด้านข้าง และด้านหลังพระประธานวาดเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว
ฐานชุกชีประดับด้วยกนกลายเทศน์ ผ้าทิพย์ปูลาดลง ด้านหน้าประดับด้วยดอกบัวและลายประจำยาม
พื้นผนังลงด้วยสีแดง ระหว่างหน้าต่างด้านข้าง เป็นภาพพุทธประวัติเป็นตอน ๆ
สลับกันไป ส่วนฝาผนังด้านสกัดไม่ปรากฏมีจิตรกรรม
วัดสิงห์
อยู่ในตำบลสามโคก อำเภอสามโคก มีภาพจิตรกรรมอยู่หลังซุ้มเรือนแก้วหลวงพ่อโตซึ่งมีลักษณะเป็นผนังสามเหลี่ยมภายในอาคารศาลาดิน
เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับยืน ซ้ายขวาเป็นพุทธสาวกประคองอัญชลี
|