www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
วัดมหาสมณาราม ตั้งอยู่ในเขตตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง ฯ เดิมชื่อวัดสมณะ
หรือวัดมหาสมณ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมาประทับเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่
ต่อมาเมื่อได้สร้างพระนครคีรีแล้ว จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะวัดแห่งนี้ พระราชทานนามว่า
วัดมหาสมณาราม แต่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า
วัดเขาวัง เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร
อุโบสถวัดมหาสมณาราม ฯ
ภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถเขียนด้วยสีฝุ่น กล่าวกันว่าเป็นฝีมือของ ขรัวอินโข่ง
จิตรกรเอกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเขียนภาพของขรัวอินโข่งมีลักษณะเฉพาะตัวคือ
จะวางภาพเต็มพื้นที่ทั้งหมด ไม่มีภาพเทพชุมนุมเรียงเป็นแถวแบบเดิม มีแต่ภาพเหล่าเทวดานางฟ้า
ปรากฎตามก้อนเมฆบ้าง ภาพที่เขียนจะอยู่ในเนื้อเดียวกันทั้งหมด จะมีการแบ่งภาพเป็นตอน
ๆ ฉากหลังมักเป็นภาพธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร ผนังหน้าพระอุโบสถ เขียนภาพการเดินทางไปนมัสการพระพุทธบาท
ถือว่าเป็นภาพชิ้นเยี่ยมของพระอุโบสถประกอบด้วยทิวทัศน์อันงดงาม มณฑปพระพุทธบาทตั้งอยู่บนไหล่เขาซึ่งอุดมไกด้วยต้นไม้นานาชนิด
เบื้องล่างเป็นภาพที่มีความงามตามธรรมชาติ มีการจัดภาพอย่างงดงามลงตัว เป็นประโยชน์ในการศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณี
วัดโคก
วัดโคก ตั้งอยู่ในเขตตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง ฯ ศาลาการเปรียญเป็นที่เก็บรักษาพระพุทธรูปหลายองค์
มีอยู่สององค์ที่มีจารึกที่ฐาน เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ สร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๘
ที่วัดโคก มีสมุดข่อยซึ่งเขียนตำรายาแผนไทยที่มีสรรพคุณใช้รักษาโรคต่าง ๆ
และมีวรรณกรรมของเมืองเพชรบุรีอยู่หลายเรื่อง
วัดถ้ำแกลบ
วัดถ้ำแกลบ ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาหลวงทางด้านทิศคะวันออกเฉียงใต้ ในเขตตำบลธงชัย
อำเภอเมือง ฯ การที่ได้ชื่อว่า วัดถ้ำแกลบ เนื่องจากมีถ้ำแกลบอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัด
จึงเป็นที่มาของชื่อวัด และนิทานพื้นบ้านเรื่องเมืองลับแล
วัดโรงเข้
วัดโรงเข้ ตั้งอยู่ที่บ้านโรงเข้ ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมือง ฯ จากสิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่
เช่น วิหา สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะมีมาแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย
วัดหนองควง
วัดหนองควง ตั้งอยู่ในเขตตำบลมะพร้าว อำเภอเมือง ฯ สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น
มีเจดีย์ทรายตั้งอยู่หน้าอุโบสถสององค์ มีฐานสิงห์สองชั้นค่อนข้างสูง
มีบัวกลุ่มรองรับองค์ระฆังซึ่งเป็นทรงสี่เหลื่อม
อุโบสถหนองควง หน้าบันเครื่องลำยองเป็นปูนปั้นที่ละเอียดงดงาม
ช่อฟ้าเป็นรูปมนุษย์หรือเทวดา ระหว่างกลางจั่วทำเป็นรูปกินนรทั้งสองข้าง ในส่วนของหางหงส์ชำรุดหักหายไป
เครื่องลำยองด้านทิศตะวันตกหลุดหายไปทั้งหมด
ด้านทิศตะวันออกเป็นลวดลายปูนปั้นประดับเครื่องถ้วยชามเคลือบ ปัจจุบันชำรุดหลุดหายไปเกือบหั้งหมด
ด้านทิศตะวันตกเป็นลวดลายรูปต้นมักกะลีผลออกผลมาเป็นผุ้หญิง มีเฉพาะขาบ้าง
ครึ่งตัวบ้าง ทั้งตัวบ้าง พร้อมทั้งมีรูปครุฑเชยชมต้นมักกะลีผล นอกจากนั้นยังมีสัตว์และนกนานาชนิด
ด้านล่างทำเป็นรูปป่าหิมพานต์
วัดคงคาราม
วัดคงคาราม ตั้งอยู่ริมถนนบันไดอิฐ ในเขตตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง ฯ
ในรัชมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงบูรณะปฏิสังขร
และสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นวรวิหาร
วัดลาด
วัดลาด ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าราบ อำเภอเมือง ฯ มีศาลาการเปรียญตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอุโบสถ
เป็นอาคารไม้ทรงไทยขนาดใหญ่ ตัวไม้ส่วนใหญ่นำมาจากวัดป่าแก้ว ซึ่งเชื่อกันว่า
เดิมเป็นพระตำหนักของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ศาลาการเปรียญวัดลาด
เป็นเรือนไม้ทรงไทยได้รับการบูรณะมราแล้วหลายครั้ง หลังคาชั้นเดียว มีปีกนกยื่นออกมาสองตับ
มุงด้วยกระเบื้องกาบ แล้วฉาบปูนทับไว้อีกช้นหนึ่ง มีกระเบื้องเชิงชายช่อฟ้า
ใบระกา หางหงส์ เป็นไม้แกะสลัก หน้าบันไม้แกะสลัก ปิดทอง ด้านหน้าเป็นรูปราหูอมจันทร์และลายกนก
ด้านหลังเป็นลายกนกเปลว ฝาเป็นฝาปะกนเจาะช่องหน้าต่างด้านละเจ็ดช่อง เสาไม้แปดเหลี่ยมเขียนลายรดน้ำปิดทอง
ปัจจุบันเหลือเพียงสี่คู่ มีสภาพลบเลือนมาก ฝ้าเพดานและบริเวณคอสองตกแต่งด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะ
มีจารึกบอกปีที่สร้างคือ พ.ศ.๒๔๗๘
วัดนาค
วัดนาค ตั้งอยู่ในเขตตำบลช่องสะแก อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดเก่าแก่ ปรากฏหลักฐานว่าใบเสมาเป็นศิลปะสมัยอู่ทอง
ทำด้วยหินทรายแดง ยอดเสมาเป็นรูปดอกจันทร์ กลางฐานเสมา จำหลักเป็นลายดอกไม้กลีบซ้อนเป็นชั้น
ๆ สันนิษฐานว่าน่า จะเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
วัดแรก
วัดแรก ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าราบ อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดเก่าแก่ พบโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก
ส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผา อุโบสถเป็นเครื่องไม้ มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว
หลังคามุงกระเบื้องประดับช่อฟ้า ใบระกา ฝาสาบบัว พื้นกระดาน ยกใต้ถุนสูง นับเป็นอุโบสถไม้แห่งเดียวในเขตอำเภอเมือง
ฯ
ในบริเวณใกล้เคียงกับวัดแรก มีกลุ่มวัดร้างอยู่หลายแห่ง เช่น วัดค้างคาว วัดปากน้ำ
วัดปีบ วัดโคกหม้อ วัดวิหารน้อย วัดเกษ วัดเลา วัดกก วัดเสมาสามชั้น วัดธงเขียว
และวัดอินทราราม เป็นต้น
วัดถ้ำหว้า
วัดถ้ำหว้า ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหว้า ตำบลคลองขนาน อำเภอเมือง ฯ หลักฐานที่เหลืออยู่ได้แก่
ใบเสมาหินทรายแดงขนาดเล็ก ชิ้นส่วนกระเบื้องกาบู กระเบื้องเชิงชาย ลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์
และพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย จำนวนสามองคประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีเป็นแบบฐานสิงห์
วัดหนองหว้า
วัดหนองหว้า ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหว้า ตำบลหนองขนาน อำเภอเมือง ฯ เชื่อกันว่าบ้านหนองหว้าเป็นบ้านเดิมของสมเด็จพระสังฆราชแตงโม
เมื่อท่านได้มาบูรณะวัดใหญ่สุวรรณาราม สันนิษฐานว่า คงได้บูรณะวัดหนองหว้าด้วย
สิ่งก่อสร้างในวัดส่วนใหญ่ได้รับการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงเกือบหมด เหลือเพียงบานประตูไม้แกะสลักของอุโบสถหลังเก่า
เป็นไม้แกะสลักลวดลายละเอียดงดงาม ลักษณะคล้ายบานประตูศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม
บริเวณใกล้เคียงวัดหนองหว้ามีวัดร้างอีกวัดหนึ่ง ชื่อวัดดอนบ้านใหม่
ปรากฎหลักฐานที่เหลืออยู่คือ อุโบสถศิลปะสมัยอยุธยา
วัดท่าไชยศิริ
วัดท่าไชยศิริ ตั้งอยู่ที่ริมฝั่งขแงแม่น้ำเพชรบุรี ที่บ้านสิงขร ตำบลสมอพลือ
อำเภอบ้านลาด เดิมชื่อวัดใต้ เป็นวัดที่มีมาแต่สมัยอยุธยา ทางด้านทิศตะวันตกห่างออกไปประมาณ
๓๐๐ เมตร มีวัดร้างอยู่สองวัดคือ วัดกลาง และวัดเหนือ
ที่ท่าน้ำของวัดริมแม่น้ำเพชรบุรีมีน้ำใสสะอาดมาก ถือกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
นำไปใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในฐานะเป็นน้ำเสวย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเสวยน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีเป็นอย่างยิ่ง
โปรดให้มีการส่งน้ำเสวยเข้ามาเป็นประจำ และได้ดำเนินสต่อมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๕
ศาลาท่าน้ำเป็นศาลาทรงไทย มีข้อความด้วยบอกว่า ร.ศ.๑๓๐
วัดกลาง
วัดกลาง ตั้งอยู่ที่บ้านสมอพลือ ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด เป็นวัดเก่าสมัยอยุธยาตอนปลายมีเจดีย์ตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถ
สององค์ ลักษณะเป็นศิลปะอยุธยา พบโบราณวัตถุจำนวนมากโดยเฉพาะภาชนะดินเผา เครื่องถ้วยจีน
กระเบื้องเชิงชาย และชิ้นส่วนพระพุทธรูปสำริด
วัดโพธิเรียง
วัดโพธิเรียว ตั้งอยู่ที่บ้านโพธิเรียง ตำบลทาบ อำเภอบ้านลาด มีพระปรางค์ย่อมุมไม้ยี่สิบ
เจดีย์ทรงกลมฐานแปดเหลี่ยม ซุ้มประตูทรงเจดีย์ ภาพเขียนพระพุทธรูปปางสมาธิ
เป็นภาพร่างลายเส้นสีดา หมู่กุฎิสงฆ์ (เดิม) หอระฆัง (เก่า) หลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงไทย
วัดถ้ำรงค์
วัดถ้ำรงค์ตั้งอยู่ที่บ้านถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด ภายในวัดมีถ้ำหินปูนขนาดใหญ่มีการสร้างพระพุทธรูปปูนปั้นไว้ตามซอกหิน
ผนังถ้ำ จำนวนสิบองค์
วัดศาลาเขื่อน
วัดศาลาเขื่อน หรือวัดศาลาเขียน ตั้งอยู่ที่ตำบลตำหรุ อำเภอบ้านลาด
มีจารึกที่อุโบสถบนแผ่นไม้สักมีข้อความว่า
"พุทธศักราช ๑๓๔๕ พระวาสปีวอก วัดวาศก ตามากบ้านขนอน ตามีศาลาเขียน นายมีบ้านสะหานน้อย
นายเพชรบ้านปากเหมือง ชวนกันให้มีพระมหาชาด วัดศาลาเขียนสามปี ได้เงิน ๔ ชั่ง
๗ ตำลึง ๑ บาท ๓ สลึง สร้างอุโบสถสิ้นเงินทองกันนั้น แล้วยังไม่พอ ทายกผู้มีชื่อเป็นอันมากช่วยเป็นเงิน
๒ ชั่ง ๑๓ ตำลึง แล้วเสร็จเป็นเงิน ๗ ชั่ง สมาสลึงเฟื้อง"
วัดเขาทะโมน
วัดเขาทะโมน ตั้งอยู่บนเขาทะโมน บ้านเขาทะโมน ตำบลท่าเสม อำเภอบ้านลาด เขาทะโมนเป็นเขาหินปูนลูกโดด
ปรากฎหลักฐานจากหนังสือสมุดราชบุรี มีความตอนหนึ่งว่า "เขาทะโมนมีวัดที่เขา
๑ วัด มีถ้ำอยู่ ๓ ถ้ำ เรียกว่า ถ้ำพระยาแกรก ถ้ำยอด ถ้ำยา และถ้ำอื่น ๆ อีก
เมื่อถึงเวลาหน้าเทศกาลมีราษฎรไปนมัสการทุก ๆ ปี"
วัดเขาน้อย
วัดเขาน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านหนองแก้ว ตำบลบ้านลาด อำเภอบ้านลาด อุโบสถตั้งอยู่บนเนินเขา
ซุ้มประตูทำยื่นออกมาจกาผนังเป็นซุ้มทรงมงกุฎ ประดับลวดลายปูนปั้น มีเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนยอดเขา
ทางด้านทิศใต้ของอุโบสถ
วัดในกลาง
วัดในกลาง ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านแหลม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ ทางวัดได้รื้ออุโบสถเพื่อขุดหลุมลูกนิมิต
ได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก เช่น ลูกนิมิต จำนวน ๙ ลูก ภาชนะดินเผา ภาชนะสำริด
และเครื่องประดับ เป็นต้น
ศาลาการเปรียญวัดในกลาง
เป็นอาคารทรงไทยขนาดเจ็ดห้องด้านกว้างขนาดสี่ห้อง มีประตูทางเข้า ด้านหน้าและด้านหลัง
ด้านละสองประตู หน้าต่างด้านข้างมีด้านละเจ็ดบาน มีทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ยกเป็นชานก่ออิฐฉาบปูน ถัดจากชานออกมาทางด้านนอกมีศาลาทรงไทยขนาดเล็กเป็นศาลาโปร่ง
ตั้งสกัดอยู่ทั้งสองด้าน
ฝาอาคารเป็นฝาปะกนลูกฟักทาสีแดง ชานฝาเป็นขาสิงห์คั่นด้วยกระจังปฎิญาณ หลังคาเป็นเครื่องไม้ซ้อนสองชั้น
มีหลังคาในประธานหนึ่งตับ มีปีกนกลาดออกอีกด้านละสองตับ เดิมมุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย
มีมุขยื่นออกมาทั้งสองด้าน มีเสารับมุมด้านละสองตับ หัวเสาเป็นบัวแวงใต้บัวเป็นลูกแก้วและกระจังคอเสื้อ
เครื่องลำยองเป็นไม้แกะสลัก หน้าบันเรียบ ใต้หน้าบันเป็นกระจังรวนและสาหร่ายรวงผึ้ง
มีคันทวยรองรับรอบศาลา จำหลักจากไม้เรียกว่า คันทวยหัวนาค จำนวน ๑๖ ตัว มีลวดลายงดงาม
ลักษณะศาลาการเปรียญวัดในกลาง คล้ายกับศาลาการเปรียญวัดใหญ่ ฯ แต่การตกแต่งไม่ละเอียดเท่า
วัดกุฎิ
(ท่าแร้ง)
วัดกุฎิ ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำเพชรบุรี ที่บ้านกุ่มนอก ตำบลท่าแร้ง
อำเภอบ้านแหลม อุโบสถหลังเก่าเป็นอาคารทรงไทย มีบานประตูไม้จำหลักลาย ลายกามีขดเลียนแบบธรรมชาติ
แทรกสัตว์เล็ก ๆ เช่น นก และงู เป็นต้น
หอไตร
เป็นอาคารไม้ยกพ้นสูงสองชั้น ชั้นล่างโปร่งกันด้วยลูกกรงไม้ฉลุลาย มีชายคายื่นออกมาเป็นกันสาด
ชั้นบนด้านนอกกั้นด้วยลูกกรงไม้ฉลุลายเช่นกัน ฝาด้านบนทำเป็นบานเกร็ดถี่ ๆ
ช่องลมเป็นไม้ฉลุลาย
หอระฆัง
เป็นอาคารประยุกต์สถาปัตยกรรมไทยกับตะวันตก ก่ออิฐถือปูนส่วนบนเป็นยอดปราสาทจตุรมุขแบบไทย
ส่วนล่างเป็นแบบตะวันตก
วัดกุฎิ
วัดกุฎิ ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย สันนิฐานว่า เป็นวัดเดียวกับวัดกาจับ
ซึ่งเป็นวัดโบราณสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาถูกกองทัพพท่าทำลาย ชาวบ้านจึงได้ย้ายมาสร้างวัดขึ้นใหม่แห่งนี้
อุโบสถเป็นอาคารทรงไทย หน้าบันทั้งสองด้านเป็นลายสลักไม้ ด้านหน้าเป็นลายเหรียญเงินตรามงกุฎ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหลังเป็นลายเหรียญเงินตราแผ่นดิน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง
ทศชาติชาดก สวยงามมาก
วัดห้วยโรง
วัดห้วยโรง ตั้งอยู่ในเขตตำบลห้วยโรง อำเภอเขาย้อย มีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง
ที่ผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ ที่เพดานมีจิตรกรรมเขียนเป็นรูปดอกไม้
และการละเล่นของไทย เช่น รูปหัวล้านชนกัน เป็นต้น
วัดโพธิ
(บางเค็ม)
วัดโพธิ ตั้งอยู่ที่บ้านบางเค็ม ตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย ใบเสมาของอุโบสถหลังเดิม
เหลืออยู่จำนวนหกใบ เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย มีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง
วัดกาจับศรัทธาธรรม
วัดกาจับศรัทธราธรรม ตั้งอยู่ที่บ้านกาจับ ตำบลห้วยโรง อำเภอเขาย้อย
เดิมเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่บนเส้นทางถนนโบราณ ที่เรียกว่า ถนนท้าวอู่ทอง พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดง
ศิลปะสมัยอยุธยาอยู่เป็นจำนวนมาก และพบสิ่งก่อสร้างเป็นอิฐขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่า
เป็นฐานอุโบสถหลังเดิมสกัดจากหินทรายแดง พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปยืนสำริด และเศษภาชนะดินเผาประเภทเครื่องสังคโลก
และเครื่องลายครามเป็นจำนวนมาก
วัดท่าคอย
วัดท่าคอย ตั้งอยู่ที่บ้านท่าคอย ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง อุโบสถเป็นอาคารทรงไทย
ฐานเป็นฐานปัทม์ มีลักษณะอ่อนโค้ง ซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มเรือนแก้วประดับลวดลายปูนปั้น
หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ลวดลายคล้ายกับหน้าบันอุโบสถวัดมหาธาตุ
ภาพในอุโบสถมีภาพเขียนที่เพดาน
อุโบสถวัดท่าคอย
เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน ขนาดยาวห้าหลัง (๑๓.๐๐ เมตร) กว้างสองห้อง (๑๑.๗๕
เมตร) ด้านหน้ามีพาไลยื่นออกไป รองรับด้วยเสาไม้กลมห้าต้น ฐานปัทม์มีลักษณะอ่อนโค้งตัวอาคารสอบเล็กน้อย
ผนังด้านข้างมีเสาอิง ประดับลายปูนปั้นหัวเสาด้วยบัวแวง และเฟื่องอุบะ เจาะช่องหน้าต่างสองบานที่ห้องที่สอง
และห้องที่สี่เป็นซุ้มเรือนแก้วประดับลวดลายปูนปั้น บันแถลงลดสองชั้น หน้าบันของซุ้มหน้าต่างทางด้านใต้
ห้องที่สองเป็นรูปเทพพนม ห้องที่สี่เป็นรูปหน้ากาล ซุ้มหน้าต่างทางด้านทิศเหนือ
ห้องที่สองเป็นรูปยักษ์ยืนถือกระบอง ห้องที่สี่เป็นรูปเทพพนม ด้านหน้าทิศตะวันออกมีประตูสองด้านเป็นซุ้มเรือนแก้วแบบซุ้มหน้าต่าง
ลายหน้าบันเป็นซุ้มประตูเป็นรูปเทพพนม ผนังด้านหลังทึบ
หลังคาเรือนไม้บุกระเบื้องสองชั้น ลดสามตับ เครื่องลำยองไม้จำหลัก หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ด้านหน้าตอนบนเป็นรูปเทพพนม ล้อมรอบด้วยก้านขดกนกหางโต ตอนล่างป็นรูปมกรสองตัวหันหน้าเข้าหากัน
ด้านหลังตอนบนเป็นรูปเทพพนม ตอนล่างเป็นลายก้านขดกนกหางโต
ภายในอุโบสถ มีภาพเขียนที่เพดานห้องที่หนึ่ง และห้องที่ห้า โดยเฉพาะลายดาวรอบเพดาน
ในห้องที่หนึ่งเป็นดาวดวงใหญ่ ตรงกลางเขียนภาพหยินหยาง
พระพุทธบาทเขาลูกช้าง
รอยพระพุทธบาท ตั้งอยู่บนเขาหินปูน ที่บ้านเขาลูกช้าง ตำบลท่าไม้รวก
อำเภอท่ายาง มีประวัติเล่าสืบกันมาว่า พรานป่าผู้ค้นพบ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เสด็จมาทอดพระเนตร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๙ ได้มีการสร้างมณฑปไม้ครอบรอยพระพุทธบาท
นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมเรื่อง นิราศเขาลูกช้าง ซึ่งผู้เขียนมีหน้าที่เป็นนายกองคุมเลกมาทำทาง
และที่ตั้งพลับพลาบริเวณท่ากบชี ซึ่งเป็นท่าน้ำแม่น้ำเพชรบุรีที่จะขึ้นไปยังเขาลูกช้าง
เพื่อเตรียมการรับเสด็จ
ถ้ำเขาย้อย
ถ้ำเขาย้อย ตั้งอยู่ในเขตตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก
สิ่งก่อสร้างในถ้ำไม่มีประวัติแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ได้มีการบูรณะปรัปปรุงกันมาโดยตลอด
ภายในถ้ำเขาย้อย มีพระพุทธไสยาสน์ยาวประมาณ แปดวา ประดิษฐานอยู่นิยมเรียกว่า
ถ้ำพระนอน
หรือถ้ำพระพุทธไสยาสน์ ตามผนังถ้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ
และปางมารวิชัย นอกจากนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลอง ทางด้านทิศตะวันตกของถ้ำมีถ้ำแฝดอยู่ติดกับถ้ำพระนอน
เรียกว่า ถ้ำอู่ทอง
ถ้ำพระเขานาขวาง
ถ้ำพระเขานาขวาง อยู่บนเขานาราว ที่บ้านนายาว ตำบลนายาว อำเภอชะอำ ตัวถ้ำอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ
๑๐ เมตร ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันตก ตัวถ้ำกว้างประมาณ ๑๒ เมตร ภายในถ้ำด้านในสุด
มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน
ทางด้านทิศตะวันออกของเขานาขวาง พบร่องรอยชุมชนสมัยอยุธยาที่มีหลักฐานว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่
ถ้ำเขาหลวง
ถ้ำเขาหลวง อยู่บนเขาหลวง อยู่ในเขตตำบลธงชัย อำเภอเมือง ฯ เป็นถ้ำขนาดใหญ่สองถ้ำติดต่อกัน
มีสิ่งก่อสร้าง เช่น พระพุทธรูปและเจดีย์
|