www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางพระพุทธศาสนา
วัดเกาะ
วัดเกาะ ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเพชรบุรี ในเขตตำบลท่าราบ อำเภอเมือง
ฯ เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีหลักฐานระบุข้อความไว้ที่จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถว่า
สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๒๗๗ ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
จิตรกรรมฝาฝนังของวัดนี้ มีลักษณะพิเศษประการหนึ่งคือ มีภาพชาวต่างชาติปะปนอยู่ในสังคมเมืองเพชรบุรีในสมัยอยุธยา
นับเป็นงานศิลปกรรมชิ้นเอกของเมืองเพชรบุรี
อุโบสถวัดเกาะ
อุโบสถแห่งนี้ไม่เจาะช่องหน้าต่าง มีภาพจิตรกรรมที่ผนังทั้งสองด้าน เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว
เป็นภาพพุทธประวัติ ระบุปีที่เขียนไว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๗ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
สมเด็จ ฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะ
ในจดหมายเหตุระยะทางไปมณฑลราชบุรี พ.ศ.๑๒๑ มีความตอนหนึ่งว่า
"ที่ฐานพระเจดีย์มีจาฤก ๓ องค์ว่า พระพุทธศักราช ๒๒๗๗ สุภมดุ ปีขาลฉศก อุบาสิกาทองผู้แม่มีสัทธาในพระสาดใดสาง
จุลศักราช ๑๐๙๖ พระเจดีย์ เล พระเจ้าอัฎมหาถารไว้ในพระสาสน้า ให้ถาวรตั้งมั่นถวน
ห้าพันวษา เป็นปไจยแกนิฤภารอีก ๒ องค์ อย่างเดียวกัน ตั้งแต่ชื่อ"
วัดเกาะมีธรรมาสน์ที่สวยงาม และเป็นแม่แบบของการแกะสลักคันทวย กระจัง และล่องกุนของธรรมาสน์อีกหลายแห่ง
ธรรมาสน์หลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔ โดยช่างฝีมือของกลุ่มช่างวัดเกาะ
ธรรมาสน์เป็นอาสนสำหรับพระสงฆ์นั่งแสดงธรรม รูปแบบธรรมาสน์ของแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันไป
ธรรมาสน์สมัยโบราณจะเป็นที่นั่งยกพื้นสูง นิยมแกะสลักด้วยไม้ มีเสาคล้ายโต้วแต่มีที่กั้นข้างบน
อีกด้านหนึ่งเป็นบันไดสำหรับขึ้นลง มีการลงรักปิดทองสวยงาม
วัดธ่อ
วัดธ่อ ตั้งอยู่ในเขคตำบลท่าราบ อำเภอเมือง ฯ อุโบสถเป็นศิลปสมัยอยุธยา
มีการบูรณะในสมัยต่อมาหลายครั้ง ที่สำคัญคือ ภาพจิตรกรรมในอุโบสถ แม้จะลบเลือนไปมาก
แต่ยังคงภาพความงดงามอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตรกรรมหลังพระประธาน เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย
อุโบสถวัดธ่อ
มีภาพจิตรกรรมทั้งสี่ด้านแต่สภาพลบเลือนมาก ด้านหลังพระประธานเป็นภาพซุ้มเรือนแก้ว
สองข้างซุ้มเขียนภาพเทวดานั่งประนมมือถือดอกบัว อยู่ด้านข้างพระประธานข้างละองค์
แทรกด้วยลายดอกไม้ร่วงกรอบภาพด้านบนเขียนลายเส้นลวดลูกฟักก้ามปู ด้านล่างเขียนลายเส้นลวดประจำยามก้ามปู
เว้นช่องลายเขียนอักษรกำกับภาพไว้ และเขียนภาพแบ่งเป็นห้อง แต่ภาพส่วนใหญ่ลบเลือนมาก
สันนิษฐานว่า เป็นป่าหิมพานต์
วัดไผ่ล้อม
วัดไผ่ล่อม ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าราบ อำเภอเมือง ฯ อุโบสถเป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา
ที่มีลักษณะพิเศษอีกแห่งหนึ่งของเมืองเพชรบุรี ด้านหน้าประดิษฐานพระประธานขนาดใหญ่
แวดล้อมด้วยพระพุทธรูปหินทรายแดง พอกปูนหลายองค์ ลงวดลายปูนปั้นที่ฐานชุกชี
และผ้าทิพย์ของพระพุทธรูปล้วนมีความงดงาม และเป็นลวดลายในสมัยอยุธยา
บริเวณผนังมีลวดลายปูนปั้นเรื่อง พระพุทธโฆษาจารย์ เดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่ลังกา
มีการจัดองค์ประกอบของภาพคล้ายงานจิตรกรรม ส่วนบนเป็นภาพรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่
มีภาพจำลองอาคารรูปแบบต่าง ๆ มีความปราณีตงดงาม นับได้ว่าเป็นภาพปูนปั้นที่มีองค์ประกอบต่อเนื่องกันแห่งเดียวในประเทศไทย
อุโบสถวัดไผ่ล้อม เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน
เครื่องบนเสียหายทั้งหมด ฐานอ่อนโค้ง มีลักษณะพิเศษคือ แบ่งออกเป็นสองส่วน
ส่วนหน้าประดิษฐานพระประธาน ส่วนด้านหลังเป็นห้องว่าง สันนิษฐานว่าทำขึ้นภายหลัง
ผนังด้านที่ติดกับส่วนหน้าและส่วนหลัง เจาะช่องประตูตรงกลางผนัง ด้านละหนึ่งช่อง
ผนังด้านหลังเจาะเป็นช่องหน้าต่างทรงสูง ซุ้มประตูหน้าต่างทำเป็นซุ้มบันแถลงประดับลวดลายปูนปั้น
ผนังด้านนอกมีเสาอิง บัวหัวเสาเป็นบัวแวง และมีลายกรวยเชิง หน้าบันด้านทิศตะวันตกประดับลวดลายปูนปั้น
ตรงกลางเป็นรูปคล้ายแพนหางนกยูง ประกอบด้วยลายช่อหางโต ที่ผนังกั้นส่วนหน้าและส่วนหลัง
หน้าบันประดับลายปูนปั้นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ประกอบด้วยลายช่อหางโต คั่นด้วยลวดลายประจำยาม
ก้ามปู ลูกฟัก ถัดมามีลวดลายปูนปั้นเป็นเรื่องพระพุทธโฆษาจารย์เดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่ลังกา
การจัดองค์ประกอบลายปูนปั้นเป็นแบบภาพจิตรกรรม ส่วนบนทำเป็นรูปรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่
มีภาพสิ่งก่อสร้างหลายรูปแบบ โดยฌแพาะรูปทรงปราสาท เป็นอาคารทรงสูงลดหลั่นจำนวนเจ็ดชั้น
ด้านล่างสุดเป็นภาพเรือคล้ายเรือในขบวนพยุหยาตรา
วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร
วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าราบ อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดที่มีมาแต่สมัยอยุธยา
ไม่ปรากฎหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด สันนิษฐานว่า ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ โดยพระสุวรรณมุนี ที่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชแตงโม
ในเวลาค่อมา
อุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นอาคารทรงไทย
ก่ออิฐถือปูนไม่มีช่องหน้าต่าง ผนังด้านหน้า (ทิศตะวันออก) เจาะเป็นประตูสามช่อง
ประตูช่องกลางมีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่สูงกว่าประตูทั้งสองข้าง ผนังด้านหลังเจาะเป็นประตูสองช่อง
ช่องประตูเป็นแบบเรียบไม่มีการตกแต่ง บานประตูเป็นแผ่นไม้สักหนา ด้านนอกทาสีแดง
ด้านในมีภาพเขียนรูปทวารบาล เสาอิงที่ผนังด้านหน้ามีบัวหัวเสาและลายลัดเกล้า
ยกเว้นเสาอิงด้านหลังที่ไม่มีลายรัดเกล้า
เครื่องบนหลังคาเป็นหลังคาทรงจั่วสองชั้น ไม่มีมุข มุงด้วยกระเบื้องกาบ ผืนหลังคามีด้านละสามตับ
ประดับด้วยกระเบื้องเชิงชายทุกชั้น จั่วด้านหน้าประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
ประดับกระจกสี หน้าบันด้านตะวันออก ประดับลวดลายปูนปั้น มีรูปครุฑอยู่ตรงกลางล้อมด้วยลายกนกก้านขด
หน้าบันด้านตะวันตกปั้นเป็นรูปเทพขี่อสูร ล้อมรอบด้วยกนกเปลว
- จิตรกรรมในพระอุโบสถ
เป็นจิตรกรรมสีฝุ่น ผนังด้านหน้าของพระประธาน พื้นที่ระหว่างเสาในประธาน ซึ่งเป็นเสานางแนบ
เขียนเป็นภาพพุทธประวัติตอนผจญมาร พื้นที่นอกเสาประธาน เหนือช่วงประตู ด้านซ้ายและขวาเขียนเป็นลายพรรณพฤกษาจนถึงฝ้าเพดาน
หลังบานประตูเขียนเป็นรูปภาพทวารบาล
ภาพเขียนในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวิจารณ์ไว้ในพระราชหัตถเลขา
เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ มีความตอนหนึ่งว่า
"รูปเทพชุมนุม ที่นั่งเป็นชั้น ๆ ในผนังพระอุโบสถดูได้ทุกตัว แลเห็นได้ว่าไม่มีฝีมือแห่งใดในกรุงเทพ
ฯ เหมือนเลย เช่น หน้ายักษ์ไม่ได้เขียนเป็นหัวโขน เขียนเป็นหน้าคนที่อ้วน
ๆ ยุ่น ๆ ที่ซึ่งเป็นกนกก็เขียนเป็นหนวดเครา แต่อย่าเข้าใจว่าเป็นภาพกาก เขียนแบบแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนนั้นรู้ความคิดเดิมว่ายักษ์
หมายความว่าเป็นคนชนิดใด เทวดาเป็นคนชนิดใด การนุ่งห่มเครื่องแต่งตัวรู้ว่าจะสอดสวมอย่างไร
ไม่ได้เขียนพุ่ง ๆ อย่างเช่นทุกวันนี้ รูปนั้นจะอยู่ข้างจะลบเลือนมาก เพราะเหตุว่าคงจะได้เขียนก่อน
๓๐๐ ปีขึ้นไป เว้นแต่ด้านหน้ามารผจญที่จะชำรุดมากจึงได้เขียนเพิ่มขึ้นใหม่
ก็แลเห็นได้ถนัดว่าความคิดไม่ตลอด ละร่องรอยเสาปูน แต่ทาสีน้ำมันเขียนลายลดน้ำเปลี่ยนแม่ลายต่างกันทุก
ๆ คู่ แต่กรอบเชิงอย่างเดียวกันกรอบเชิงงามนัก "
สมเด็จ ฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ถึงจิตรกรรมที่วัดใหญ่สุวรรณาราม
ในจดหมายเหตุระยะทางไปมณฑลราชบุรี ร.ศ.๑๒๑ มีความตอนหนึ่งว่า
" วัดนี้เป็นวัดเก่าที่สุดที่ได้เห็นมา แต่ยังดีมาก มีเขียนเหลือเห็นมาก แต่ของเก่าก็มีแต่โบสถ์ก่อหลังหนึ่ง
เครื่องประตูกับการเปรียญไม้เครื่องประดุหลังหนึ่ง อายุ ๓๐๐ ฤา ๔๐๐ ปี .....โบสถ์นั้นมีเสาลายปิดแบบลายต่างกัน
พื้นเขียนเบญจรงค์ ด้านหน้ามารผจญ แต่ลบเสียมาก เห็นไม่ใคร่ได้ ด้านข้างเป็นรูปภาพชุมนุมมีรูปอินทร
พรหม เทวดา ยักษ์ นาค ครุฑ วิชาธร บานประตูกลางหน้าเทวดายืน ดีเต็มทีได้เครื่องเก่าชัดเจน
ประตูข้างหน้ารูปเสี้ยวกางไม่สู้ดี ประตูหลังข้าวรูปกินนร...."
- หน้าบันพระอุโบสถ
ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นลายก้านขดคล้ายกับหน้าบันศาลาการเปรียญซึ่งเป็นลายแกะสลักไม้
ส่วนด้านหลังพระอุโบสถเป็นลายกนกเปลว ตรงกลางมีเทพขี่อสูรสวยงามมาก มีลักษณะคล้ายกับหน้าบันอุโบสถวัดไผ่ล้อม
(ร้าง) และวัดสระบัว
ศาลาการเปรียญวัดใหญ่
เป็นเรือนไม้ทรงไทยขนาด ๑๐ ห้อง ยาว ๑๕ วา กว้าง ๕ วา หลังคาลดสองชั้นมีมุขทั้งสองด้าน
ด้านตะวันตกทำเป็นจั่วสองชั้น ด้านล่างมีเสารองรับเรียกว่า มุขประเจิด
มีหลังคาปีกนก ลาดลงมาอีกด้านละสามตับ มุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วยแล้วฉาบปูนทับตลอด
เชิงชายหลังคาประดับกระเบื้องดินเผามีลวดลายต่าง ๆ
ภายในศาลาการเปรียญ มีภาพจิตรกรรมสีฝุ่นผสมกาวอยู่ในสภาพลบเลือนมาก
เป็นภาพเทพชุมนุม เทพทวารบาล ภาพชีวิตสัตว์ต่าง ๆ ด้านหลังบานหน้าต่าง เขียนภาพเทพทวารบาล
ยืนประนมมืออยู่ใต้ฉัตรสามชั้น กับด้วยเส้นฟันปลา บานประตูขวาที่ด้านหน้าเขียนภาพทวารบาลคู่เดียว
ภายในศาลาโถมีเสาจำนวน ๑๔ ต้น เป็นเสาแปดเหลี่ยม เสาในประธานปิดทองลายฉลุตลอดทั้งเสา
ลายคล้ายกันเป็นคู่ ๆ ไม่ซ้ำกัน เครื่องบนหลังคาทั้งขื่อ แป กลอน เขียนลายตลอดทุกชิ้น
บานประตูเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นบานประตูไม้จำหลักเป็นลายก้านขดปิดทองงดงาม
ประณีตบรรจง ฝีมือคล้ายบานประตูพระวิหารวัดพนัญเชิง หรือวัดหน้าพระเมรุ
ตามตำนานกล่าวว่า ศาลาการเปรียญนี้ เดิมเป็นพระราชฐานที่พระมหากษัตริย์ในกรุงศรีอยุธยาสร้าง
พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าแตงโม
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสวัดใหญ่ ฯ เวลานั้นกำลังมีการต่อตีนหัวเสาและขื่อ
พระองค์ได้ทอดพระเนตรฝีมือการรักษาของเก่าว่าตัวไม้อันไหนควรเปลี่ยนหรืออันควรรักษาไว้
ทรงพอพระราชหฤทัยมาก ทรงรับสั่งให้เว้นหัวเสาต้นหนึ่งด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นเสาต้นที่แปดไว้ไม่ให้ลงรักหรือทาสีทับ
เพื่อให้คนชั้นหลังได้ศึกษา ยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้ ปรากฏพระราชหัตถเลขาของพระองค์
มีความตอนหนึ่งว่า
"หลังพระอุโบสถตรงกันแนวเดียว มีการเปรียญยาว เสาแปดเหลี่ยม เขียนลายรดน้ำ
ลายไม่ซ้ำกันทุกคู่ ฝากระดานประกน ข้างนอกเขียนลายทอง ข้างในเขียนลายน้ำกาว
บานประตูสลักซับซ้อน ซุ้มเป็นคูหางามเสียจริง"
- หอไตร
เป็นหอไตรที่ตั้งอยู่กลางสระน้ำ เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว มีสามเสาซึ่งเป็นลักษณะพิเศษ
ฝาปะกน หลังคาทรงจั่วยอดแหลม
ปัจจุบันมุงกระเบื้องเกล็ดเต่า มีสะพานทอดจากริมสระไปยังหอไตร
- หมู่กุฏิสงฆ์
ตั้งอยู่ทางด้านหลังของศาลาการเปรียญ ฝากุฏิเป็นฝาเรือนไทยสมัยโบราณ หกแบบ
ได้แก่ แบบฝาปะกน ฝาสำหรวจ (กรุด้วยแผ่นไม้) ฝาสายบัว ฝาลูกฟัก ฝาเพี้ยมและฝาถัง ด้านนอกเป็นฝาปะกน แต่ด้านในเรียบเหมือนไม้แผ่นเดียว เพราะทำลิ้นสอดไว้ประณีตงดงามมาก
วัดมหาธาตุวรวิหาร
วัดมหาธาตุวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองกระแซง อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเพชรบุรีมาแต่สมัยอยุธยา
มีลักษณะพิเศษคือ มีพระปรางค์ห้ายอด ล้อมรอบด้วยพระระเบียงคด ที่หน้าบันพระวิหารหลวงประดับลวดลายปูนปั้นศิลปะสมัยอยุธยา
มีความงดงามมาก
ใบเสมา เป็นใบเสมาคู่สมัยอยุธยาตอนปลาย ทำด้วยหินทรายแดง จำหลักลวดลายทั้งใบ
พระปรางค์วัดมหาธาตุ ฯ
เป็นพระปรางค์ห้ายอด ตั้งตระหง่านเป็นสง่าอยู่กลางเมืองเพชรบุรี ความสูงถึงยอดนภศูลประมาณ
๕๕ เมตร รอบฐานยาว ๑๒๐ เมตร สันนิษฐานว่ามีอายุมากกว่า ๑,๐๐๐ ปี หลักฐานจากสมุดเพชรบุรี
ระบุว่าได้พบอิฐสมัยทวาราวดี บริเวณป่าช้าวัดมหาธาตุ ฯ ด้านที่อยู่ติดกับวัดแก่นเหล็ก
เป็นแผ่นอิฐยาวประมาณหนึ่งศอก ปิดทับอยู่บนหลุมฝังศพ มีซากโครงกระดูกหนึ่งโครง
มีอักษรจารึกที่แผ่นอิฐนั้นมีความว่า "ข้าพเจ้าจีนแดงได้สร้างพระปรางค์ไว้ไม่สำเร็จ
ขอให้ข้าพเจ้าได้สร้างพระปรางค์นี้อีกต่อไป"
พระปรางค์วัดมหาธาตุ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์มาโดยตลอด
ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการบูรณะมาแล้ว ๕ ครั้ง คือ
ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม
และพระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค) รักษาการเจ้าเมืองเพชรบุรี
ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์
ครั้งที่สาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์
โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสุรพันธพิพิสุทธ (เทศ บุนนาค) ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์
โดยก่อให้สูงระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เสร็จองค์พระปรางค์ก็พังลงมา จึงได้ก่อขึ้นไปอีกประมาณสี่ศอก
งานค้างอยู่เพียงเท่านั้น เนื่องจากเจ้าพระยา ฯ ถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน
ครั้งที่สี่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระสุวรรณมุนี (ชิด) เจ้าอาวาส ได้มอบให้นายพิณ อินฟ้าแสง เป็นผู้ออกแบบ และขออนุญาตบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อทางราชการ
ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จเป็นองค์พระปรางค์ห้ายอด แต่ยังไม่มีลวดลายตกแต่งภายนอก
เพราะทุนทรัพย์หมดลง ใช้เวลาดำเนินการอยู่ ๑ ปี ๑๑ เดือน รวมเงิน ๑๓,๐๐๐ บาท
ในการบูรณะครั้งนี้ได้พบตลับลายครามบรรจุพระพิมพ์ขนาดเล็ก เป็นพระพุทธรูปทองและเงิน
และพบพระบรมสารีริกธาตุจำนวนสององค์
ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินี ไปยังวัดมหาธาตุ ฯ ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑,๕๐๐
บาท ร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์ด้วย ได้มีผู้ร่วมบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนมาก
การบูรณะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ เป็นพระปรางค์ที่สูงใหญ่สง่างาม ประกอบด้วย
ศิลปะปูนปั้นอย่างวิจิตรงดงาม รวมค่าก่อสร้างเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท
ครั้งที่ห้า ในรัชสมัยปัจจุบัน พระเทพสุวรรณมุนี เจ้าอาวาส ได้ทำการบูรณะ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ใช้เวลาประมาณปีเศษ โดยใช้เงินจากผู้มีจิตศรัทธา เป็นเงิน
๑๑ ล้านบาทเศษ
พระวิหารหลวง มีงานประติมากรรมที่หน้าบันและงานจิตรกรรมในพระวิหารหลวง
ดังนี้
- หน้าบัน
เป็นฝีมือของชาวเพชรบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปั้นเป็นรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ
และหนุมานแบกครุฑ ประกอบด้วยลายก้านขด ส่วนล่างของหน้าบันทำเป็นรูปเทพพนม
ช่อฟ้าและหางหงส์ก็ปั้นเป็นรูปเทพพนมเช่นกัน
- ภาพจิตรกรรม
บริเวณขื่อ เพดาน และผนังด้านหน้าพระประธาน ระหว่างช่องประตู เป็นภาพพุทธประวัติผนังทิศเหนือตอนบนสุด
เขียนลายเส้นลวดลูกฟักก้ามปู ถัดลงมาเขียนภาพเทพชุมนุมสามชั้น ชั้นละ ๒๙ องค์
แต่ละชั้นมีลายเส้นลวดกั้นแบ่งระดับ ระหว่างองค์เทพมีพัดกั้น ตรงลายลูกฟักที่เส้นลวด
เขียนชื่อผู้บริจาคเงินไว้ทุกช่อง ระหว่างช่องหน้าต่าง แบ่งผนังออกเป็นเจ็ดห้อง
เขียนภาพทศชาติชาดก ผนังด้านทิศใต้ จัดผนังแบบเดียวกับด้านทิศเหนือและเขียนภาพคล้ายกัน
แต่จำนวนเทพชุมนุมแต่ละชั้นมีน้อยกว่า
สมเด็จ ฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ในจดหมายเหตุระยะทางไปมณฑลราชบุรี
ร.ศ.๑๒๑ ได้กล่าวถึงภาพจิตรกรรมในพระวิหารหลวงไว้ มีความตอนหนึ่งว่า
"ผนังข้างบน ด้านหน้ามีมารประจญ ด้านข้างเทพชุมนุม หลังท้าวมหาชมพู ข้างล่างเรื่องมหาชาติ
เห็นจะราวพระยอดฟ้า ไม่สู้เก่านัก ไม่สู้ดี แปลกแต่เทพชุมนุมมีวิทยาธรนั่งด้วย
เห็นจะเอาอย่างวัดใหญ่"
วัดพระพุทธไสยาสน์
(วัดพระนอน)
วัดพระนอน ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขามไหศวรรย์ (เขาวัง) ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
อยู่ในเขตตำบลคลองกระแซง อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่า มีมาแต่สมัยอยุธยา
มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ มีประวัติว่าเดิมสร้างไว้ตรงกลางแจ้ง ต่อมาจึงได้มีการสร้างวิหารครอบองค์พระ
วัดเขาบรรไดอิฐ
วัดเขาบันไดอิฐ ตั้งอยู่บนยอดเขาบันไดอิฐ ซึ่งมีความสูงประมาณ ๑๒๐ เมตร
นับว่าเป็นเขาสูงที่สุดในเขตอำเภอเมือง ฯ อยู่ในเขตตำบลไร่ส้ม อำเภอเมือง
ฯ
ภายในเขตวัดเขาบันไดอิฐ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีถ้ำอยู่หลายแห่ง เป็นถ้ำมีขนาดต่าง
ๆ กัน และอยู่ติดต่อกัน มีชื่อเรียกต่างกัน เช่น ถ้ำประทุน ถ้ำฤาษี ถ้ำดุ๊ก
ถ้ำสว่างอารมณ์ และถ้ำช้างเผือก เป็นต้น สำหรับถ้ำดุ๊ก ได้ชื่อมาจากพระนามของดุ๊กโยฮันอัลเบรกต์
ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันชวิกแห่งเยอรมนี ซึ่งเสด็จมาเยือนประเทศไทย เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๕๓ และได้เสด็จประพาสวัดเขาบันไดอิฐในครั้งนั้น
อุโบสถวัดเขาบันไดอิฐ
เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูนขนาดห้าห้อง ฐานอ่อนโค้งมีเสาอิงประดับผนังด้านนอก
ปั้นบัวหัวเสาเป็นบัวแวง ประดับกระจกสี ผนังทางด้านทิศตะวันออก (ด้านหน้า)
เจาะเป็นช่องประตูสองช่อง ซุ้มประตูประดับลวดลายปูนปั้น หน้าบันของซุ้มประตูปั้นลายกนกหัวนาค
กนกก้านขดหางโตผสมลายพุ่ม ด้านหลังเจาะเป็นช่องหน้าต่างขนาดเล็กหนึ่งช่อง
ผนังด้านข้างทางทิศใต้ เป็นหน้าต่างสี่เหลี่ยมไม่มีซุ้มสองช่อง ทางด้านทิศเหนือเป็นหน้าต่างหนึ่งช่อง
และมีประตูที่ห้องที่สองถัดเข้ามาจากด้านหลังซุ้มประดับลวดลายปูนปั้น
หน้าบันพระอุโบสถประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ด้านทิศตะวันออกเป็นภาพลายกนกก้านขดหางโต
ผสมลายพุ่ม กนกล้อมรอบครุฑ หน้าอุดปีกนก ด้านซ้ายเป็นลวดลายกนกก้านขดหางโตมีครุฑเหนี่ยว
ส่วนหน้าบันด้านทิศตะวันตกเป็นลวดลายรูปครุฑ ประดับด้วยลายกนกช่อหางโต หน้าอุดปีกนกทั้งสองข้างลวดลายก้านขดหัวนาค
หลังคาลดสองชั้นเครื่องไม้ กระเบื้องโบกปูนทับกระเบื้องอีกชั้นหนึ่ง เครื่องลำยองประกอบด้วย
ตัวลำยอง นาคสะดุ้ง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ไม้ประดับกระจก มีคันทวยรองรับหลังคาปีกนก
โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้ประดู่ มีจันทัน ภายในเขียนลายบนไม้ทุกชิ้น
ลายสีขาวบนพื้นแดง เพดานเขียนลายดาว บริเวณมุมเป็นลายค้างคาว กรอบเป็นลายไม้เถา
|