www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางวัฒนธรรม
แหล่งทางประวัติศาสตร์
เขาครึ่ง
อยู่ระหว่างเขตต่อของอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ และอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
เป็นภูเขาที่มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า เจ้าเมืองแพร่และเจ้าเมืองน่าน ในสมัยหนึ่งได้เดินทางมาพบกัน
ณ ที่นี้ และได้กำหนดเขตระหว่างเมืองทั้งสอง
ช่องเขาพลึง
เป็นช่องเขาติดต่อกันระหว่างจังหวัดแพร่ และจังหวัดอุตรดิตถ์ ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาท
แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ โดยเดินทัพผ่านช่องเขาแห่งนี้
บ่อเหล็กลอง
ตั้งอยู่บนภูเขาในพื้นที่ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง เป็นแหล่งแร่เหล็กที่มีคุณภาพดีที่สุดของอาณาจักรล้านนา
แร่เหล็กที่ขุดได้จากบ่อนี้เรียกว่า เหล็กลอง ในสมัยพระเจ้าติโลกราช
แห่งอาณาจักรลาน ยกทัพมาทำศึกกับกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองลอง
ได้เห็นช่างเหล็กใช้เหล็กเมืองนี้ทำอาวุธแจกจ่ายให้ทหาร เมื่อทางกรุงศรีอยุธยาได้เมืองแพร่เป็นประเทศราช
เจ้าเมืองลองต้องส่งเหล็กลองไปเป็นเครื่องราชบรรณาการ
บ้านเด่นไชย
อยู่ที่อำเภอเด่นชัย เป็นที่ชุมนุมพลของกำลังทหารจากเมืองใกล้เคียง
และกองทัพหลวงที่ยกมาปราบกบฎเงี้ยวที่เมืองแพร่ เมื่อปี พ.ศ. 2445
มรดกทางพระพุทธศาสนา
การสร้างวัดในจังหวัดแพร่ แบ่งออกได้เป็นสองลักษณะตามความมุ่งหมายคือ
เพื่อให้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจตามลักษณะแรกนี้ จะสร้างวัดขึ้นในแหล่งชุมชนในเขตกำแพงเมืองเก่ารอบ
ๆ คุ้มเจ้าหลวง เป็นวัดเก่าแก่มีอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณใกล้เคียงกัน
อีกลักษณะหนึ่งเป็นการสร้างวัดเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามตำนานทางพระพุทธศาสนา
วัดประเภทนี้จะสร้างขึ้นอยู่บนภูเขา หรือในเขตชุมชนรอบนอก
ศิลปะการก่อสร้างจะมีทั้งศิลปะล้านนา เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา พม่าและไทยใหญ่
บางวัดเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่ ได้แก่วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
บางวัดมีประวัติเก่าแก่สร้างมาพร้อมกับการสร้างพลนคร ได้แก่วัดหลวง
วัดที่สำคัญ ๆ ในจังหวัดแพร่ พอประมวลได้ดังนี้
วัดพระธาตุช่อแฮ
อยู่ที่ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมืองของเมืองแพร่มาเป็นเวลาช้านาน
พระธาตุเจดีย์บรรจุพระเกศา และพระธาตุข้อศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า องค์พระธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมบัลลังก์
ย่อมุมไม้สิบสอง ปลียอดกลม เป็นศิลปะแบบเชียงแสน บุด้วยทองดอกบวบ
สูง 33 เมตร ฐานที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ 11 เมตร
ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุช่อแฮ ในระหว่างวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน
4 หรือตรงกับเดือน 6 เหนือ
วัดพระบาทมิ่งเมือง
อยู่บริเวณใจกลางเมืองแพร่ เป็นวัดสำคัญประจำเมืองแพร่ เกิดจากการรวมวัดโบราณ
2 วัด คือ วัดพระบาท
และวัดมิ่งเมือง
ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน วัดทั้ง 2 วัดนี้ เป็นวัดขนาดใหญ่และเป็นวัดประจำเมืองแพร่
วัดพระบาท เป็นวัดที่อุปราชหรือเจ้าหอหน้าเป็นมรรคนายก มีพระพุทธบาทจำลองเป็นสัญญลักษณ์
วัดมิ่งเมือง เป็นวัดที่เจ้าผู้ครองนครเป็นมรรคนายก เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางใจเมือง
มีพระธาตุมิ่งเมืองเป็นสัญญลักษณ์ วัดทั้งสองแห่งนี้ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
สันนิษฐานว่าเจ้าผู้ครองแพร่เป็นผู้สร้าง และวัดพระบาทน่าจะสร้างขึ้นก่อน
ปี พ.ศ. 2480 วัดมิ่งเมืองก็น่าจะสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน วัดทั้งสองแห่งนี้รวมกันเป็นวัดเดียวกัน
เมื่อปี พ.ศ. 2492 และได้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีฃนิดวรวิหาร
มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2498
ปูชยวัตถุสำคัญของวัดคือ พระพุทธบาทจำลอง พระเจดีย์มิ่งเมืองและพระพุทธโกศัยศิริชัยศากยมุนี
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเมืองแพร่
วัดหลวง
อยู่ในบริเวณเขตกำแพงเมืองเก่า เป็นวัดเก่าแก่มีประวัติการสร้างคู่กันมากับเมืองแพร่
พระวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าแสนหลวง
พระประธานของเมืองพลนคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน
หุ้มด้วยทองคำทั้งองค์ มีตุงกระด้างทำด้วยไม้สักยาวประมาณ 3 เมตร แกะสลักลวดลายเป็นรูปพญานาค
4 คู่ ตอกติดกับเสาหงส์ มีลักษณะเป็นศิลปแบบพม่า มีพระธาตุไชยช้างค้ำประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณวัด
วัดหัวข่วง
อยู่ที่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง เป็นวัดเก่าแก่เชื่อกันว่าสร้างในสมัยเดียวกันกับพระธาตุช่อแฮ
และวัดพระหลวงธาตุเนิ้ง เมื่อปี พ.ศ. 1387 ขุนหลวงเจ้าเมืองพล (เมืองแพร่)
ชราภาพแล้ว จึงยกเมืองพลให้ท้าวพหุสิงห์ครอง ท้าวพหุสิงห์มีความศรัทธาในพระบวรพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า
หลังจากครองเมืองพลได้หนึ่งปี จึงให้ขุนพระวิษณุวังไชยไปว่าจ้างชาวเมืองเวียงพางคำเชียงแสน
มาซ่อมแซมบูรณะวัดหลวง แม่เฒ่าจันคำวงค์ แม่ของขุนหลวงพลเห็นฝีมือของช่างที่สามารถบูรณะวัดหลวงได้สวยงาม
จึงให้ช่างดังกล่าวสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง โดยใช้พื้นที่ที่ใช้เป็นข่วงเล่นกีฬาประจำเมือง
เป็นที่สร้างวัดและเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดหัวข่วงสิงห์ชัย
วัดพระนอน
อยู่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม อยู่ใกล้กับวัดหลวง
เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองแพร่ เป็นวัดเดียวที่ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสาน
ระหว่างศิลปะเชียงแสน ศิลปะสุโขทัย และศิลปะอยุธยาตอนปลาย ได้อย่างกลมกลืน
โดยที่พระอุโบสถเป็นศิลปะสมัยเชียงแสน ไม่มีการเจาะหน้าต่าง แต่เจาะผนังเป็นช่องแสงตามแบบศิลปะสุโขทัย
ลวดลายหน้าบันเป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย ผูกเป็นลายก้านขด มีภาพรามเกียรติ์ประกอบ
วิหารพระนอนมีรูปแบบการก่อสร้างเช่นเดียวกับพระอุโบสถ ตกแต่งบริเวณชายคาเป็นไม้ฉลุโดยรอบ
หลังคาประดับด้วยไม้แกะสลัก เป็นรูปพระยานาคบริเวณหน้าจั่ว ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์
ยาว 9 เมตร ลงรักปิดทองตลอดองค์ประดิษฐานอยู่ พระพุทธไสยาสน์องค์นี้
เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สร้างมาแล้วกว่าพันปี ทุกปีจะมีประเพณีไหว้พระนอน
ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7
(เดือน
9 เหนือ)
วัดศรีชุม
อยู่ที่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง ในเขตกำแพงเมืองด้านประตูศรีชุม
เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของเมืองแพร่ มีอายุนานกว่าพันปี เป็นวัดที่เคยมีความสำคัญมาก่อน
เพราะเดิมการถวายสลากภัต ต้องถวายที่วัดศรีชุมก่อน การถือน้ำพิพัตน์สัตยาก็ทำพิธีที่วัดนี้
พระอุโบสถและพระวิหาร เป็นสถาปัตยกรรมสมัยเชียงแสน พระพุทธรูปสำคัญ
3 องค์ ได้แก่พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน พระพุทธรูปยืนที่วัดนี้
เป็นพระพุทธรูปยืนที่สูงใหญ่ที่สุดของเมืองแพร่ ตามตำนานกล่าวว่า
สร้างขึ้นในสมัยเจ้าเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย
ทำด้วยทองสำริดสมัยเชียงแสน นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ศิลปะแบบล้านนา อายุประมาณพุทธสตวรรษที่
20 เป็นรูปทรงปราสาท ฐานย่อมุม 28 กว้างด้านละ 5 วา
วัดจอมสวรรค์
อยู่ที่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง เป็นวัดเก่าแก่สร้างด้วยศิลปะพุกาม (พม่า)
มีศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่สวยงามและทรงคุณค่า ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ
เมื่อปี พ.ศ. 2523 โบสถ์ ศาลาการเปรียญและกุฎิ อยู่ในอาคารเดียวกัน
ตัวอาคารสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง มีหลังคาเหล็กใหญ่ลดหลั่นกันเป็นชั้นรวม
9 ชั้น ฝาผนังแบ่งเป็นตอน ๆ คล้ายข้ออ้อย เสาและเพดานประดับกระจกสีทำเป็นลวดต่าง
ๆ มีบันไดขึ้นลงด้านหน้า 2 ข้าง ประดับด้วยทองเหลือง ตีและเจาะให้เป็นลวดลายแบบพม่า
เสาไม้ในส่วนของอาคารที่เป็นโบสถ์ลงรักปิดทอง ตกแต่งลวดลายคล้ายสีทองน้ำ
มีข้อความเป็นภาษาพม่า จารึกไว้รอบเสามีจำนวนทั้งสิ้น 35 ต้น เสาอื่น
ๆ อีก 14 ต้น ลงรักปิดทองและประดับกระจกสี เจดีย์มีรูปทรงแบบพม่าคือ
มีเจดีย์ใหญ่อยู่กลางรายล้อมด้วยเจดีย์เล็กทั้ง 4 ด้าน ๆ ละ 3 องค์
วัดพระธาตุจอมแจ้ง
อยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ ในเขตบ้านต้นไคร้ ตำบลป่าแดง อำเภอเมือง
ห่างจากพระธาตุช่อแฮไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร มีประวัติความเป็นมาคู่กันกับพระธาตุช่อแฮ
มีตำนานเล่ากันมาว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ เมื่อมาถึงดอยลูกหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของดอยธชัคบรรพต
เป็นเวลาจวนใกล้สว่าง (ใกล้ แจ้ง) จึงเรียกว่าดอยจวนแจ้ง และได้เรียกกันต่อมาว่าพระธาตุจอมแจ้ง
วัดพระธาตุจอมแจ้งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อทันใจ ซึ่งมีประวัติว่าใช้เวลาสร้างเพียงวันเดียว
วัดพระหลวง
|
อยู่ที่บ้านพระหลวง ตำบลดอนมูล อำเภอสูงแม่น เป็นวัดเก่าแก่ และสำคัญมากวัดหนึ่ง
ของจังหวัดแพร่ มีเจดีย์ศิลปะสุโขทัย องค์เจดีย์เอนเล็กน้อย คนทั่วไปจึงเรียกว่า
วัดพระหลวงธาตุเนิ้ง (เนิ้ง แปลว่า เอน) กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนพระธาตุ
หอระฆัง
และพระอุโบสถ เป็นโบราณสถานแห่งชาติ วัดนี้มีตำนานเล่าว่าวัดพระหลวง
และบ้านพระหลวงเดิมเป็นดงหลวง มีสัตว์ร้ายอาศัยอยู่ มีงูใหญ่หรือภาษาเหนือเรียกว่า
งูหลวง
งูหลวงนั้นขุดรูอาศัยอยู่ตรงบริเวณองค์พระเจดีย์ มักกินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านและพ่อค้าอยู่เสมอ
มีพ่อค้าคนหนึ่ง ม้าของตัวถูกงูตัวนี้กินไป จึงได้ฆ่างูตัวนี้แล้วตัดเป็นท่อน
ๆ ไว้ที่ปากรูงูนั้น
ต่อมาซากรูนั้นได้กลายเป็นท่อนเงินท่อนทอง จึงได้นำส่วนหนึ่งฝังไว้ที่รูงูนั้น
ต่อมาชาวบ้านมาสร้างวัด และสร้างเจดีย์ไว้บนรูงูแห่งนั้น |
วัดพระธาตุปูแจ
ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกหนึ่ง สูงประมาณ 150 เมตร อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้านบุญเริง
ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่
เชื่อกันว่าพระธาตุปูแจได้บรรจุพระธาตุตาตุ่มข้างขวาของพระพุทธเจ้า
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ มีประเพณีไหว้พระธาตุปูแจทุกปี
ในวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 3 (เดือน5 เหนือ)
วัดพระธาตุพระลอ
อยู่ที่บ้านพระธาตุพระลอ ตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง มีประวัติเกี่ยวเนื่องกับเวียงสรอง
ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีอยู่ในวรรณคดีไทยเรื่อง ลิลิตพระลอ เป็นที่ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ
พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอสอง
เดิมวัดพระธาตุพระลอเรียกธาตุหินส้ม
เนื่องจากก่อนที่จะสร้างพระธาตุพบว่ามีซากอิฐและหินกองใหญ่อยู่ที่นั้น
หินมีลักษณะเป็นหินส้ม สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย
รูปแบบของเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงลังกา ประเพณีการนมัสการพระธาตุพระลอ มีในวันขึ้น
15 ค่ำ เดือน 5 (เดือน 7 เหนือ) ของทุกปี
วัดสะแล่ง
อยู่ที่ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง เป็นวัดเก่าแก่สมัยเดียวกับ พระธาตุศรีดอนคำ
เป็นพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุพระอุระของพระพุทธเจ้า พระอุโบสถเป็นทรงล้านนาประยุกต์
ประวัติความเป็นมาของวัดมีว่า วัดนี้สร้างในสมัยพระนางจามเทวี
เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีโบราณวัตถุเป็นพระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ
ตั้งแต่สมัยทวาราวดี จนถึงอยุธยาตอนปลาย
มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่ดอยสะแล่งแก้วดอนมูล
หรือดอยสะแล่งหลวง เจ้าเมืองและชาวบ้าน ต่างพากันไปถวายบิณฑบาตแก่พระพุทธเจ้า
และพระสงฆ์สาวก เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารแล้ว ชายาเจ้าเมืองได้ถวายดอกสะแล่งเป็นพุทธบูชา
พระพุทธเจ้าทรงรับและอนุโมทนา แล้วทรงมีพุทธฎีกาพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาล
สถานที่แห่งนี้จะเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุของพระองค์ และสถานที่แห่งนี้จะมีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป
จากการที่ชายาเจ้าเมืองถวายดอกสะแล่งเปนพุทธบูชา และดอยแห่งนี้มีต้นสะแล่งอยู่
วัดนี้จึงมีชื่อว่า วัดสะแล่ง
วัดพระธาตุแหลมลี่
|
|
อยู่ที่บ้านแม่ลอง ตำบลปากกาง อำเภอลอง เป็นวัดเก่าแก่ในเขตอำเภอลอง
พระประธานในวิหารเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ชื่อ พระเววา โบสถ์อายุกว่า
200 ปี
ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดิน คันทวยเป็นไม้แกะสลัก เป็นรูปนาคและลายกนก
ตรีโบสถ์เป็นศิลปกรรมแบบล้านนาผสมพม่า พระธาตุเจดีย์ในวัดนี้มีอยู่
2 องค์ คือ
พระธาตุน้อย และพระธาตุแหลมลี่
พระธาตุน้อยมีฐานเหลี่ยม องค์พระธาตุเจดีย์เป็นรูปแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง
ด้านบนเป็นรูปทรงระฆังคว่ำ เป็นศิลปะสมัยล้านนาตอนต้น ปัจจุบันอยู่ในสภาพทรุดโทรม
ส่วนพระธาตุแหลมลี่เป็นรูปแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง
ได้มีการบูรณะจึงอยู่ในสภาพดี |
พระธาตุศรีดอนคำ
อยู่ที่บ้านห้วยอ้อ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง เป็นพระธาตุเจดีย์เก่าแก่
เชื่อกันว่าสร้างขึ้นพร้อมกับพระธาตุขวยปู พระธาตุปูตั๊บ พระธาตุไฮสร้อย
และพระธาตุแหลมลี่ องค์พระธาตุเจดีย์เป็นศิลปะแบบล้านนา เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอสอง
ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ งานนมัสการพระธาตุศรีดอนคำมีในระหว่างวันขึ้น
12 -15 ค่ำ เดือนสิบสอง (เดือนยี่เหนือ )
|