www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
ประเพณีสงกรานต์
มีจัดกันทั่วไปทั้งในส่วนจังหวัด อำเภอ และทุกตภบล ส่วนมากจะจัดกันตามวัด
ตามสนามโรงเรียน ศาลากลางบ้าน หรือในหมู่บ้านที่ชุมชนหนาแน่น
ประเพณีสงกรานต์เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓ เมษายน คือ วันมหาสงกราต์ เป็นต้นไป
มีการทำบุญที่วัดใกล้บ้านของตน ในตอนเช้าปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า ซึ่งเรียกว่า
ทำบุญและปล่อยสัตว์ จากนั้นจะมีการสรงน้ำพระ การละเล่นพื้นเมือง เช่น เล่นสะบ้า
มอญซ่อนผ้า งูกินหาง ลูกช่วง พุ่งกระสวย เสือกินวัว เตย ตะกร้อ (ตะกร้อวง
และตะกร้อลอดบ่วง) ชักเย่อ วิ่งสามขา ฟุตบอล เป็นต้น ส่วนมากเป็นการเล่นที่ถอดแบบมาจากการเล่นในโรงเรียน
ส่วนการเล่นแบบประเพณีเก่า ๆ ลดน้อยลง
ในตอนกลางคืนบางแห่งมีการเล่นลงผี
(เชิญผี) เช่น ผีแม่ศรี ผีอึ่งอ่าง ผีลิงลม ผีลอบ ผีไซ ผีสุ่ม ผีข้อง ผีกระหูด
ผีครก ผีสาก เป็นต้น แต่ละอย่างมีคำร้องเชิญต่าง ๆ กันมีลูกคู่ กระทุ้งเส้า
ตีเกราะเคาะไม้รอบวง เป็นการเชิญหรือเรียกผีต่าง ๆ เพราะถือกันว่า ยามตรุษ
ยามสงกรานต์ ได้ปล่อยผีทุกจำพวกมารับส่วนบุญของวงศาคณาญาติ นอกจากนั้นมีการขนทรายเข้าวัด
ก่อพระเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ อาบน้ำผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ในวันสุดท้ายของการเล่นสงกรานต์ของแต่ละหมู่บ้าน
จะมีการทำบุญพระทรายน้ำไหล
(ชาวบ้านเรียกกันนั้น ๆ ว่า วันไหล) จะมีการเล่นสาดน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน
และทำกระทงลอยทุกข์ลอยโศก ขอให้โชคดี ในหมู่บ้านใกล้ ๆ กันมักจะไปไหล
หมุนเวียนกันไปในแต่ละท้องที่ บางแห่งมีการจุดพลุ จุดตะไล และดอกไม้ไฟด้วย
ในเขตเทศบาลเมืองระยอง ทางเทศบาลได้เชิญชวนประชาชนจัดขบวนแห่ พระพุทธอังคีรส
ฯ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำเมืองระยอง ไปรอบตลาดในเขตเทศบาล
เสร็จแล้วสรงน้ำพระพุทธรูป ปิดทอง รับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ในวันที่ ๑๓
เมษายน ของทุกปี
ประเพณีตักบาตรเทโว
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เทโวโรหณะ
เป็นวันทำบุญตักบาตรในวันลาพรรษา
หรือวันออกพรรษา
ทางวัดจะกำหนดงานในวันแรม ค่ำเดือนสิบเอ็ด
ตามประวัติของพระพุทธศาสนามีว่า สมัยเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงแสดงยมกปาฎิหารย์แล้ว ได้เสด็จไปจำพรรษาในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงพระสัทธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา
เมื่อออกพรรษาแล้วได้เสด็จกลับมาสู่มนุษยโลก
ในวันนี้ทางวัดส่วนมากจะจัดให้มีการทำบุญตักบาตรเป็นพิเศษเสมือนรับพระพุทธองค์
โดยนิมนต์พระสงฆ์ในวัดอุ้มบาตรลงมาจากบันไดพระอุโบสถ หรือจากหอพระ หรือลงจากอารามสู่ลานวัดบิณฑบาตรจากผู้ที่มาทำบุญ
ในจังหวัดระยอง จะมีพิธีตักบาตรเทโวเป็นประจำทุกปี ส่วนมากทางวัดจะจัดตั้งโต๊ะเป็นรายทาง
ที่พระภิกษุสงฆ์เดินบิณฑบาตร โต๊ะที่ตั้งไว้เพื่อวางของที่จะตักบาตร ซึ่งนิยมเป็นอาหารแห้ง
ส่วนอาหารคาวหวานจะนำถวายที่อาสนะบนวัดอีกครั้งหนึ่ง
พิธีตักบาตรเทโวในบางแห่ง จะจัดคนแต่งตัวเป็นเทวดา อุ้มบาตรนำหน้าพระภิกษุสงฆ์ที่เดินออกมาจากอุโบสถ
ของตักบาตรในวันนี้นิยมตักบาตรด้วยข้าวต้มผัด หรือข้าวต้มลูกโยน ซึ่งตามแบบเดิมนั้นจะเอาข้าวหนียวมาห่อด้วยใบมะพร้าวไว้หางยาว
แล้วใช้วิธีจับหางของห่อข้าวต้มลูกโยน โยนเข้าไป
ประเพณีแข่งเรือยาว
กระทำในเดือนสิบสอง ในแต่ละอำเภอ สำหรับอำเภอแกลง ประเพณีแข่งเรือยาวที่ปาน้ำประแสร์
จะจัดขึ้นในวันกลางเดือนสิบสอง ตรงกับวันงานทอดผ้าป่ากลางน้ำ
และวันลอยกระทงในบริเวณแม่น้ำประแสร์
การจัดการแข่งขันโดยคณะกรรมการจัดผ้าป่ากลางน้ำ จะมีเรือจากหมู่บ้านและตำบลใกล้เคียงมาร่วมแข่งขัน
บางปีจะมีเรือยาวจากจังหวัดจันทบุรีมาร่วมแข่งขันด้วย เรือยาวที่เข้าร่วมแข่งขันจะเป็นเรือประจำวัดต่าง
ๆ บางลำก็เป็นเรือของชาวบ้าน งานแข่งขันเริ่มตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. เรือที่เข้าแข่งขันมีหลายขนาด
มีการตกแต่งให้สวยงามทั้งตัวเรือและคนพาย บางลำฝีพายเป็นชายล้วน บางลำก็เป็นหญิงล้วน
บางลำก็มีทั้งชายและหญิง ฝีพายมีทั้งหนุ่มสาวและคนแก่
การแข่งขันจะเริ่มด้วยการเปรียบเทียบจำนวนคนพายเท่า ๆ กัน หรือแตกต่างกันเล็กน้อย
เมื่อได้แจ้งคณะกรรมการการแข่งขันเรียบร้อยแล้ว เรือเหล่านั้นจะพายไปตามลำแม่น้ำเพื่อให้ประชาชนได้ชม
และเพื่อความสนุกสนานของฝีพายในเรือนั้น โดยมีการร้องรำทำเพลงกันอย่างครึกครื้น
การประกวดเรือประเภทสวยงามและประเภทความคิด จะประกวดในภาคเช้า หลังจากอาหารกลางวันแล้ว
จะเริ่มการแข่งขันคือเวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. จะแข่งครั้งละ สามถึงสี่ลำ ตามจำนวนเรือที่เข้าแข่งและจำนวนฝีพาย
เมื่อได้เรือที่ชนะที่หนึ่งของแต่ละรอบแล้ว จะให้เรือที่ชนะในรอบแรกเข้าแข่งขันในรอบชนะเลิศ
เรือที่ชนะเลิศจะได้รับของรางวังมากเป็นพิเศษ ส่วนมากรางวัลที่ได้กันจะนำไปถวายวัด
นอกจากแข่งขันเรือพายแล้ว ยังมีการประกวดเทพีนาวาจากสาวสวยประจำเรือที่มาร่วมงาน
เมื่องานเะสร็จสิ้นลงในเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. ผู้ที่มาชมงานแข่งเรือจะได้นั่งเรือบริการให้เปล่าของชาวประมงประแส
ซึ่งบริการรับส่งให้ตลอดงาน
ประเพณีลงแขก
เป็นการช่วยการทำงานโดยวิธีผลัดเปลี่ยนกันเป็นบ้าน ๆ ไป เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
การลงแขกมีหลายงานด้วยกันเช่น ไปแขกเกี่ยวข้าว ไปแขกถากลาน ไปแขกนวดข้าว และไปแขกปลูกบ้านเป็นต้น
การไปแขกนั้นเจ้าภาพหรือที่เรียกว่า เจ้าของแขก
จะกำหนดวันให้ชาวบ้านที่เป็นเพื่อนฝูงในหมู่บ้านนั้นทราบ
ชาวบ้านที่ทราบกำหนด และข้าวในนาของตนยังไม่สุก ก็ไปร่วมลงแขกเกี่ยวข้าวบ้านนั้นก่อน
ชาวบ้านจะเรียกว่าไปแขก หรือจะไปเอาแรงกัน ไปหนึ่งคนดรียกว่าหนึ่งแรง ไปสองคนเรียกว่าสองแรง
ต่อไปเมื่อเราลงแขกบ้าง ก็จะมาช่วยแรงเรา ถ้าติดสองแรงก็จะมาช่วยสองคน
เรียกว่ามาใช้สองแรง ไม่ใหได้เปรียบเสียเปรียบกัน การลงแขกจะทำงานได้มากและเร็วตามที่ต้องการ
สนุกสนาน ได้งานเป็นที่พอใจ
การแห่นางแมว
เป็นประเพณีการขอฝนของชาวบ้าน เมื่อเห็นว่าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝนแล้ง
ชาวนา ชาวสวน ลำบากเพราะขาดน้ำ ชาวบ้านจะมีพิธีทำบุญกลางทุ่ง
เพื่อขอฝน
และมีการแห่นางแมวอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า จะทำให้ฝนตก
เมื่อชาวบ้านตกลงว่าจะจัดแห่งนางแมวเพื่อขอฝน ก็จะหานางแมวตัวเมียตัวหนึ่งไปใส่กรง
หรือใส่กระชัง สำหรับขังปลาหรือภาชนะอื่น ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสม ปิดฝาให้แน่นเพื่อไม่ให้แมวหนีออกไปได้การแห่นิยมทำในตอนหัวค่ำ
โดยใช้ไม้หามสิ่งที่ใส่นางแมวนั้น คณะที่ไปร่วมขบวนแห่ล้อมนางแมวมีคนหนึ่งถือพานเครื่องไหว้บูชา
ซึ่งเป็นที่ใส่เงิน และภาชนะใส่สิ่งของที่ชาวบ้านมอบให้ด้วยก็ได้ เป็นผู้นำร่องเชิญขอฝน
คณะที่ร่วมขบวนแห่ก็มีเครื่องดนตรีที่ให้จังหวะต่าง ๆ เช่น ฉิ่ง กรับ และโหม่ง
เป็นต้น
เมื่อพร้อมแล้ว ขบวนแห่เริ่มออกเดิน และร้องบทแห่นางแมว
มีการให้จังหวะสนุกสนานไปด้วยในตัว สำหรับคำร้องนั้นแต่ละตำบลแต่ละท้องที่จะผิดเพี้ยนกันไปบ้าง
แต่มีความหมายทำนองเดียวกัน การแห่จะแห่ไปยังทุก ๆ บ้าน ตามหมู่บ้านของตน
หรือหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อขบวนแห่ไปถึงบ้านผู้ใดเจ้าของบ้าน หรือลูกหลานจะออกมาต้อนรับ
เอาน้ำสาดตัวนางแมว และมีของรางวัลมามอบให้คณะแห่นางแมวด้วย เช่นเหล้า ข้าวสารมะพร้าว
หรือเงิน เป็นต้น แล้วแต่เจ้าของบ้าน จะเห็นสมควร
เมื่อแห่ไปครบบ้านในละแวกนั้นแล้ว คณะแห่นางแมวมักจะทำข้าววต้ม หรือข้าวมัน
รับประทานกันแล้วรวบรวมเงิน และสิ่งของที่ชาวบ้านให้มา จัดเป็นผู้าป่าไปทอดที่วัด
หรือไม่ก็นำถวายวัด ถวายพระ เพื่อเป็นการกุศลอีกทอดหนึ่ง
ประเพณีปักเฉลว
เฉลวคือเครื่องทำด้วยตอก หักขัดกันเป็นมุม ตั้งแต่ห้ามุมขึ้นไป (ลักษณะเป็นตาชะลอม)
เช่นเดียวกับเฉลวปักหม้อยาต้มสมัยโบราณ แต่เฉลวของชาวนาตามประเพณีดังกล่าวเป็นเฉลวขนาดใหญ่
กว้างประมาณ ๒๐ นิ้ว
อุปกรณ์ในการทำเฉลว ได้แก่ ตอกสำหรับสานเฉลว
ยอดไม้ไผ่หรือทางระกำยาวประมาณ ๒ เมตร ตัดกิ่งหรือใบออกกไป เกลาให้สวยเหลือใบตอนยอดไว้เล็กน้อย
หนึ่งในสามของยอดไม้นี้ผูกติดกับเฉลว สำหรับเอาไปปักในนาข้าว หมากพลูหนึ่งคำ
ข้าวกระยาสารท ดินเหนียว เมี่ยง มะขาม กล้วย อ้อย ส้ม ขมิ้น ดินสอพอง แป้ง
ด้ายยาวสามเส้น รัดต้นข้าวสามกอ และเงินไม่จำกัดจำนวน
กำหนดเวลาปักเฉลว
ถึงเดือนสิบสิ้น เป็นวันสารท ชาวบ้านจะทำกระยาสารทนำไปทำบุญที่วัด และเลี้ยงลูกหลาน
ถึงเดือนสิบเอ็ดกลางเดือน จะช่วงที่ชาวนาจะปักเฉลว และต้องนำไปปักในวันศุกร์ที่นาแปลงใดแปลงหนึ่งของตน
เมื่อสานเฉลวและผูกไม้สำหรับปักเรียบร้อยแล้ว จะต้องห่อข้าวกระยาสารท และของกินสำหรับคนแพ้ท้องคือ
เริ่มตั้งครรภ์ เช่น ดินเหนียว เมี่ยง มะขาม หรือส้มต่าง ๆ กล้วย อ้อย เป็นต้น
นำไปผูกติดกับเฉลวด้วย และจะต้องมีขมิ้น ดินสอพอง แป้ง ซึ่งเป็นเครื่องทาตัวสำหรับเด็ก
มีความหมายว่า ในช่วงระยะนี้ข้าวในนากำลังแตกกองาม และจะเริ่มตั้งท้องแล้วต่อไปก็จะให้ลูก
ให้รวงข้าวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ เป็นพระคุณของแม่โพสพ จึงจำเป็นต้องบูชาระลึกถึง
ประหนึ่งในเดือนสิบ เดือนสิบเอ็ดนี้แพ้ท้องเพราะข้าวเริ่มท้อง จึงเตรียมของสำหรับคนมีท้องมาไว้ให้ด้วย
ส่วนเครื่องสำหรับเด็กนั้น เตรียมมาให้ไว้เมื่อคลอดลูกแล้ว จะได้ใช้บำรุงเลี้ยงลูกให้อุดมสมบูรณ์
ซึ่งหมายความว่าให้ข้าวในนาออกรวงได้อุดมสมบูรณ์ ชาวนาจะได้ข้าวมาก ๆ มิใช่ว่าข้าวออกมาแท้งหรือเป็นโรคมีข้าวลีบมาก
ซึ่งชาวนาไม่ปรารถนา ส่วนด้ายขาวสามเส้นนั้นนำไปรัดต้นข้าวสามกอที่ริมโคลนหลักเฉลว
คำกล่าวในการปักเฉลว
แม่โพศรีแม่โพสพ แม่นพดารา แม่จันทร์นารี แม่ศรีสุชาดา มาเถิดนะแม่นา มาเถิดนะแม่นา
ขวัญเอย ขวัญเอ่ย
ประเพณีทำขวัญข้าว
จัดทำกันในหมู่ชาวบ้านชาวนาทั่วไป เพื่อขออภัยและเรียกขวัญแม่โพสพ เป็นสิริมงคลดลบันดาลให้มั่งมียิ่งขึ้น
ปกติจะทำกันในวันศุกร์ซึ่งถือว่าเป็นวันขวัญข้าว
เมื่อชาวนานวดข้าวและขนข้าวไปเก็บในยุ้งฉางเรียบร้อยแล้ว พอถึงวันศุกร์ก่อนสิ้นเดือนสาม
ชาวนาบ้านใดจะทำขวัญข้าวจะต้องหาหมอขวัญ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีหมอขวัญอยู่ทั่วไป
เช่นเดียวกับหมอทำขวัญนาค และหมอทำขวัญเสา เมื่อปลูกบ้านยกเรือนใหม่
ก่อนทำขวัญชาวนาจะพาลูกหลานไปเก็บข้าวที่หล่นตามท้องนา และขอบลานนวดข้าวของตน
ขณะเก็บข้าวตกก็เรียกขวัญไปด้วย ส่วนมากกล่าวสั้น ๆ ว่า "ขวัญเอ่ย
ๆ หรือขวัญเหน่ย ๆ" เมื่อเก็บข้าวตกได้ก็เอาห่อผ้าไปปักเป็นธงไว้
ณ ที่ทำขวัญในยุ้งฉางของตนเพื่อทำพิธี
การทำพิธีต้องทำบายศรี ส่วนมากใช้บายศรีปากชาม มีไข่ต้มปักยอดบายศรีพร้อมเครื่องบูชาคือ
ดอกไม้ธูปเทียนเหมือนกับการทำขวัญอื่น ๆ ทำขนมต้มขาวต้มแดง หรือขนมอื่น ๆ
เช่นแกงบวดมันเผือก แกงบวดฟักทอง มีขันน้ำพระพุทธมนต์ ปูเสื่อบนข้าวในยุ้งฉาง
วางสิ่งของที่เตรียมไว้ ธงข้าวตกที่เก็บมาปักไว้ข้างหน้าใกล้ ๆ กับขนมนั้น
ส่วนกระทงเล็กปักธูป นำไปวางไว้ทั้งสี่ทิศของยุ้งข้าว หมอขวัญกล่าวชุมนุมเทวดา
ทำน้ำมนต์โดยกล่าวคำทำขวัญเป็นทำนองแหล่ มีใจความถึงขั้นตอนในการทำนา ตั้งแต่ต้นจนได้ข้าวเปลือกนำมาเก็บไว้ในยุ้งฉาง
และระลึกถึงคุณของข้าวและแม่โพสพ
คำกล่าวคำขวัญจะมีสามตอน เมื่อหมอขวัญกล่าวจบแต่ละตอน ผู้มาร่วมพิธีอยู่หน้ายุ้งข้าวก็จะโห่รับสามครั้ง
เมื่อเสร็จพิธีแล้ว นำน้ำพระพุทธมนต์ไปประพรมข้าวในยุ้งกับรอบ ๆ ยุ้งและนำไปประพรมวัวควาย
ตลอดจนเครื่องมือทำนา ส่วนขนมในสำรับก็นำมาเลี้ยงดูกันในหมู่ลูกหลาน
การทำบุญลาน
คือการทำบุญที่ลานนวดข้างหลังจากนวดข้าวประจำปีเสร็จแล้ว ในหมู่บ้านนั้น ๆ
จะนัดทำบุญลานกัน ถือว่าเป็นการทำบุญข้าวใหม่ประจำปีไปด้วย เดิมนิยมทำกันทุกบ้านที่มีลานนวดข้าว
การนวดข้าวในจังหวัดระยอง ชาวนาจะเก็บเกี่ยวข้าวในนาทุกแห่งที่มีมัดเป็นฟ่อนและกองไว้ในแต่ละแห่ง
(โดยมากกองละ ๑๐ ฟ่อน) แล้วนำมาเข้าลานประดับลอมใหญ่เป็นลอมเรือน หรือลอมเพิง
แล้วแต่เจ้าของลานเพื่อรวมนวดข้าวในคราวเดียวกัน แล้วคุ้ยข้าวหรือผัดข้าวเสร็จแล้วนำเข้าเก็บในยุ้งฉาง
เป็นอันเสร็จนาในปีนั้น ๆ
หลังจากนั้นจึงกำหนดวันทำบุญโดยบอกไปตามเพื่อนบ้านใกล้เคียงให้มาร่วมฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
และทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ถ้าบ้านใดมีฐานะดีก็จะมีมหรสพสมโภชในตอนกลางคืนเช่น
หนังตลุง เป็นต้น การทำบุญลานไม่ได้ทำกันทุกบ้าน จะทำเฉพาะบ้านที่ได้ข้าวมาก
หรือมีกำลังพอจะทำได้เท่านั้น
การทำบุญกลางทุ่ง
เป็นประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวระยอง เช่นเดียวกับการทำบุญข้าวใหม่
หรือการทำบุญข้าวหลาม
จะทำกันในอำเภอที่อยู่ห่างไกลออกไป ซึ่งมีการทำนาเป็นอาชีพหลัก จะทำกันในประมาณเดือนสาม
จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ทำบุญเดือนสาม
การทำบุญเริ่มจากพวกผู้ชายในหมู่บ้านช่วยกันไปตัดไม้ไผ่และทางมะพร้าวมาปลูกปะรำแล้ว
เอาฟางข้าวหรือเสื่อตามแต่จะหาได้มาปูรองให้พระสงฆ์นั้ง แต่ปัจจุบันมีการปลูกศาลาถาวรในหมู่บ้าน
เพื่อที่จะไม่ต้องทำปะรำทุกปี
สำหรับพิธีสงฆ์ที่ถือปฎิบัติกันมาคือ นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์สองคืน
ซึ่งเรียกว่า การสวดมนต์เย็น
พอรุ่งขึ้นตอนเช้า ชาวบ้านก็จะนำภัตตาหารมาถวายพระภิกษุสงฆ์ นิยมนิมนต์พระสงฆ์เก้ารูปเช่นเดียวกับพิธีมงคลทั่ว
ๆ ไป เพราะถือว่าการทำบุญนี้ทำเพื่อรับขวัญข้าวใหม่ ที่เพิ่งจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ
ถือเป็นการทำบุญประจำหมู่บ้าน
เมื่อถวายภัตตาหารเช้าในวันแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ช่าวบ้านจะกลับบ้านเพื่อเผาข้าวหลาม
เตรียมที่จะนำมาทำบุญในวันรุ่งขึ้น ที่เรียกว่าการทำบุญข้าวหลาม นั้นน่าจะมีที่มาจาการนี้
ในเช้าวันที่สอง ชาวบ้านจะนำอาหารและข้าวหลามมาทำบุญ ก็จะทำบุญส่งความทุกข์
ความเจ็บไข้หรือไม่ดีต่าง ๆ โดยจะทำเป็นภาชนะคล้ายเรือ (ทำด้วยกาบหมาก) มาวางไว้
พอใส่บาตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็นำข้าว อาหาร น้ำ และขนม ไปใส่ในภาชนะนั้น
พอพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้วก็สวดมนต์ ชาวบ้านก็จะช่วยกันลากเรือกาบหมากออกไป
เพื่อเป็นการอุทิศให้กับดวงวิญณาญที่เร่ร่อน หรือสิ่งใดที่ไม่ดีในชีวิตของเราให้ทิ้งไปในเรือกาบหมากให้หมด
แล้วช่วยกันลากออกไปให้ไกลพอประมาณแล้วไว้ข้างทางนั้น
ในเวลากลางคืนหลังจากพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้ว ก็จะมีมหรสพให้ชม เช่น
ลิเก หลังตะลุง ภาพยนต์ เป็นต้น
ความเชื่อเรื่องแม่ซื้อ
เป็นที่เชื่อถือกันมาว่า แม่ซื้อเป็นผีประจำตัวเด็กแรกเกิด จะมีแม่ซื้อประจำวันเกิด
นอกจากนั้นยังมีแม่ซื้อเมืองบน (ชั้นฟ้า) แม่ซื้อกลางหน (ท้องฟ้า เวหา กลางอากาศ)
แม่ซื้อเมืองล่าง (อยู่บนพื้นดิน) และยังมีที่กระท่อม สะดือ สำไส้ และตามเนื้อตามตัวอีก
รวมแล้วมี ๒๘ คน แม่ซื้อนอกจากจะพิทักษ์รักษาเด็กแล้วยังชอบรบกวนเด็ก ให้ไม่สบายต่าง
ๆ จึงต้องออกอุบายซื้อเด็กจากแม่ซื้อ มีเครื่องเซ่น เครื่องพลี ปั้นรูปเด็กให้แม่ซื้อเอาไปชื่นชมแทน
ความเชื่อเรื่องแม่ย่านาง
ชาวประมงเชื่อว่าแม่ย่านางเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเรือ ที่ต้องเคารพยำเกรง
เพื่อที่จะได้ปลอดภัยและช่วยให้เกิดโชคลาภ ดังนั้น การปฎิบัติใด ๆ ที่จะทำให้แม่ย่านางพอใจชาวประมงก็จะปฎิบติอย่างเคร่งครัด
เช่นไม่ทะเลาะกันขณะอยู่ในเรือ ไม่ทำเรือสกปรก ไม่ดื่มสุราก่อนออกเรือ ไม่เหยียบโขนเรือ
และไม่นำผู้หญิงมาร่วมเพศในเรือ เป็นต้น
การไหว้แม่ย่านางเรือ
จะมีการไหว้ทุกครั้งที่ออกเรือ นอกจากนั้นทุกวันพระสิบห้าค่ำ วันตรุษจีน วันตรุษสงกรานต์
ก็ถือเป็นประเพณีมีการไหว้แม่ย่านางด้วย ผู้ที่ทำหน้าที่ไหว้แม่ย่านางคือ
ไต้ก๋งเรือ จะไหว้ในตอนเช้า เครื่องไหว้ได้แก่ หัวหมู ไก่ ผลไม้ต่าง ๆ เช่น
กล้วย ส้ม มะพร้าวอ่อน เป็นต้น นอกจากนั้นก็มี ขนมถ้วยฟู ดอกไม้กำใหญ่ ธูปเก้าดอก
และมีการจุดประทัดด้วย โดยมีขั้นตอนเริ่มจาก ตั้งเครื่องเซ่นไหว้ที่บริเวณหัวเรือ
ผูกดอกไม้กำใหญ่ไว้กับโขนเรือ ไต้ก๋งจุดธูปเก้าดอก แล้วนำไปปักที่เครื่องเซ่นอย่างละดอก
เหลือไว้หนึ่งดอกสำหรับปักที่หัวเรือ เพื่อบอกให้แม่ย่านางคุ้มครอง ขอลาภผลให้จับปลาได้มาก
ๆ เมื่อธูปหมดดอกแล้วจะลาเครื่องเซ่นไหว้ แล้วนำก้านธูปทั้งหมดไปรวมกันไว้ที่โขนเรือ
แล้วจุดประทัด นำน้ำมะพร้าวอ่อนมารดที่โขนเรือ และเสากระโดงเรือ แบ่งเครื่องเซ่นไหว้อย่างละเล็กละน้อย
ไปวางไว้ใกล้โขนเรือเพื่อถวายแม่ย่านาง จากนั้นจึงเผากระดาษเงินกระดาษทอง
แล้วโยนลงทะเลเป็นอันเสร็จพิธี
ประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำ
เป็นของชาวปากน้ำประแสร์ อำเภอแกลง เป็นประเพณีที่มีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย
โดยมีการทอดผ้าป่าเวลากลางวัน และลอยกระทงเวลากลางคืนของวันขึ้นสิบห้าค่ำ
เดือนอ้าย (เดือนหนึ่ง)
ประเพณีนี้มีสืบทอดกันมากว่าร้อยปี ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวัดที่แหลมสน พระราชทานนามว่า วัดสมมติเทพฐาปนาราม
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินชายทะเลภาคตะวันออกทางชลมารค
ได้เสด็จประทับที่แหลมสน อำเภอแกลง การทอดผ้าป่ากลางน้ำน่าจะเกิดมีมาหลังจากนั้นไม่นาน
การทอดผ้าป่ากลางน้ำชาวบ้านจะนำพุ่มผ้าป่าไปปักไว้กลางแม่น้ำประแสร์ โดยพุ่มผ้าป่าจะใช้กิ่งไม้จากต้นฝาด
ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามป่าชายเลนโดยทั่วไป ประดับพุ่มผ้าป่าให้สวยงามจากนั้นไปนิมนต์พระสงฆ์มาชักผ้าป่า
ตามพิธีกรรมในทางพระพุทธศาสนา โดยนิมนต์พระสงฆ์ลงเรือไปยังพุ่มผ้าป่ากลางลำแม่น้ำประแสร์
ชาวบ้านที่ร่วมพิธีจะพายเรือ หรือแจวเรือของตนเข้าร่วมพิธีที่กลางแม่น้ำนั้น
หลังจากเสร็จพิธีการทอดผ้าป่ากล่าวนำแล้ว ชาวบ้านจะร่วมกันสนุกสนานรื่นเริงโดยการจัดการละเล่น
มีการแข่งเรือพาย แข้งพายกะโล่ แข่งพายเรือ ข้ามลำไม้ไผ่ และแข่งมวยทะเล
การทอดผ้าป่ากลางน้ำมีวิวัฒนานาการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันขบวนเรือแห่พุมผ้าป่า
โดยเรือประมงขนาดใหญ่จำนวนนับร้อยลำแล่นอยู่ในลำน้ำประแสร์ โดยแล่นวนไปวนมา
ภายในเรือมีเครื่องดนตรีตามที่ชอบเช่น แตรวง กลองยาว ปี่พาทย์ บรรเลงอยู่ตลอดเวลา
มีการจัดพุ่มผ้าป่า โดยใช้กิ่งต้นฝาดตกแต่งประดับประดา พร้อมทั้งเครื่องไทยธรรม
นิมนต์พระสงฆ์ลงเรือชักพุ่มผ้าป่าภายในเรือกลางลำน้ำประแสร์ การละเล่นมีการแข่งเรือยาวและเรือหางยาว
บนฝั่งบริเวณที่เรือปากน้ำประแสร์ จะมีเวทีมีการละเล่น การแสดงนาฎดนตรี การประกวดเทพี
ตามหน้าบ้านของช่าวบ้านปากน้ำประแสร์ จะนำพุ่มผ้าป่ามาปักไว้หน้าบ้านของตน
บ้านละหนึ่งพุ่มตามศรัทธา ตกแต่งให้สวยงาม แล้วนิมนต์พระสงฆ์จากวัดตะเคียนงามมาชักพุ่มผ้าป่า
|