www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางพระพุทธศาสนา
ศาสนสถานและศาสนวัตถุ
วัดโขด (ทิมธารา)
เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดระยอง มีหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
ในปี พ.ศ.๒๒๐๗ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้ริเริ่มสร้างวัดนี้ตามที่เล่าสืบต่อกันมาว่า
เป็นเจ้าเมืองระยองชื่อทิม ดังนั้นวัดโขดจึงมีชื่อว่าวัดโขด (ทิมธารา)
โบราณสวถานที่คงเหลืออยู่ในวัดได้แก่ อุโบสถเก่า และเจดีย์หลังอุโบสถเก่า
ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม หลังคาบางส่วนหักพังลงมา
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอุโบสถเก่า เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง
ลักษณะแอ่นโค้งเล็กน้อย ลดมุขสองชั้น หน้าบันปูนปั้นทึบ ลายประดับด้วยดอกไม้
ใบไม้ ตุ๊กตาเคลือบ (ตุ๊กตาจีน) หน้าอุโบสถมีชายยื่นออกมา ทำด้วยไม้ มุงกระเบื้อง
ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเขียนสีโบราณ น่าจะเป็นฝีมือจิตรกรท้องถิ่น
เขียนในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีฝีมืองดงาม ใช้สีสด กำหนดเอาสีเขียวเป็นหลักแล้วตัดเส้นด้วยสีดำ
นอกจากนี้ก็มีสีทอง สีแดง ฯลฯ ปัจจุบันสีซีดลง บางตอนลบเลือนมาก นับเป็นวัดเดียวในจังหวัดระยองที่มีภาพสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของสถาปัตยกรรม
ค่าย คู กำแพงเมือง ลักษณะการแต่งกายแบบไทย - จีน มีชาวจีนผูกผมเปีย
ภาพทั้งหมดเป็นภาพทศชาติชาดก ครบทั้งสิบชาติคือ พระเตมีย์ พระมหาชนก พระสุวรรณสาม
พระเนมิราช พระมโหสถ พระภูริทัต พระจันทกุมาร พระนารท พระวิฑูรบัณฑิต และพระเวสสันดร
ส่วนผนังด้านตรงข้ามกับพระประธาน (ผนังหุ้มกลอง) เป็นภาพกินรีและภาพสำเภาจีน
มีชาวจีน ผูกเปีย ตรงหน้าพระประธานออกไปนั้นยังมีภาพมารวิชัยเขียนไว้ แต่เลือนลางมาก
วัดลุ่ม (มหาชัยชุมพล)
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ พระยาวชิรปราการ
(สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ได้มาตั้งค่ายพักกำลังพลที่บริเวณวัดแห่งนี้
และเล่าสืบต่อกันมาว่าได้ทรงผูกช้างไว้กับต้นสะตือ ซึ่งยังปรากฎอยู่จนถึงทุกวันนี้
ครั้งนั้นกรมการเมืองระยอง ได้ยกกำลังเข้าโจมตีค่ายของพระยาวชิรปราการ ทางด้านทิศเหนือของวัดเนิน
(ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) แต่พระยาวชิรปราการ สามารถตีทัพของกรมการเมืองระยองแตกกลับไป
จึงได้รับการยกย่องให้เป็น พระเจ้าตาก แต่พระนามเดิมว่า สิน จึงเรียกกันว่า
พระเจ้าตากสิน
วัดลุ่ม จึงเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ สมเด็จพระเจ้าตากสิน
ฯ ได้ทรงใช้เป็นที่รวบรวมกำลังพล เพื่อกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่าในเวลาต่อมา
วัดบ้านเก่า (ทองธาราม)
ตั้งอยู่ที่บ้านเก่า อำเภอเมือง ฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๕ กโลเมตร ตัววัดตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำระยอง
ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน
วัดบ้านเก่า เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดระยอง มีชื่ออยู่ในประวัติการเดินทัพของพระยาวชิรปราการ
และในนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า สร้างในสมัยสุโขทัย
และขอมยังมีอำนาจอยู่สมัยนั้น มีวัดเก่าแก่ที่มีอายุใกล้เคียงกับวัดบ้านเก่าคือ
วัดละหารใหญ่และวัดกระชัง (วัดร้าง) ต่อมาถูกขอมรุกราน ผู้คนพากันอพยพหนีไปอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา
วัดจึงถูกทิ้งร้างจนมีสัตว์ป่ามาอาศัยอยู่ในโบสถ์ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลงได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งมาบูรณะวัด
ซึ่งในเวลานั้นเรียกกันว่า วัดน้ำวงเวียนตะเคียนเจ็ดต้น
อุโบสถเก่า
ไม่ปรากฎว่าสร้างเมื่อใด สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นมาพร้อมกับวัด ซึ่งในสมัยนั้นคงไม่นิยมทำซุ้มประตูและหน้าต่าง
อุโบสถหลังนี้จึงไม่มีซุ้มประตู หน้าต่าง กระเบื้องหลังคาเป็นกระเบื้องว่าว
คงจะเปลี่ยนจากกระเบื้องดินเผาแบบเดิมที่ชำรุดและไม่สามารถหาแบบเดิมมาทดแทนได้
หลังคาอุโบสถเป็นมุขลดสองชั้น ช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้กรันเกราที่ทนทานมาก แกะสลักไว้อย่างสวยงาม
ปัจจุบันอยุ่ในสภาพหักชำรุด เครื่องบนเป็นไม้ ใบเสมาโดยรอบเป็นหินทรายแดง
หักพังทับถมกันอยู่ พื้นอุโบสถเป็นศิลาแลง พบวัตถุโบราณหลายชนิด เช่น เงินพดด้วง
แหวนเงิน แหวนทอง กระปุกขนาดเล็ก และลูกปัด เป็นต้น
เจดีย์เก่า
สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๑๒๗ เป็นเจดีย์ฐานสิงห์สี่เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐแดง
ยอดเจดีย์หักพังลงมาเกือบหมด แต่ยังพอมองเห็นเค้าโครงร่างได้ เป็นเจดีย์ทรงระฆังซึ่งนิยมสร้างในสมัยอยุธยา
มีบัวมาลัยเป็่นแบบกลมเกลี้ยง เมื่อยอดเจดีย์พังลงมาได้พบพระพุทธรูปทองคำ
และโบราณวัตถุหลายอย่าง นับเป็นเจดีย์เก่าแก่องค์หนึ่งของจังหวัดระยอง
หอไตรกลางน้ำ
เป็นหอไตรโบราณแบบทรงไทย ปัจจุบันไม่มีฝากั้น หลังคาทรงไทยใต้ถุนสูง สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง
มีชานโดยรอบ ตัวห้องเก็บพระไตรปิฎก
ปัจจุบันสระน้ำที่หอไตรสร้างอยู่ตื้นเขิน มีน้ำบ้างเฉพาะฤดูฝน หลังคาหอไตรมุงด้วยกระเบื้องดินเผา
หน้าบันสลักลวดลายบนเนื้อไม้เป็นลายเทพพนม ขอบจั่วไม่มีช่อฟ้าในระกา ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม
และไม่ได้ใช้เก็บพระไตรปิฎกแล้ว
วัดบ้านค่าย
อยู่ในเขตตำบลบ้านค่าย อำเภอบ้านค่าย สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือต้นสมัยรัตนโกสินทร์
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่สองสิ่งคือ พระพุทธบาทจำลองและเจดีย์
มณฑปพระพุทธบาท
เป็นมณฑปยอดปรางค์ ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงไทยเครื่องไม้มุงกระเบื้องเคลือบ
ประกอบด้วยซุ้มหน้าบันสี่ทิศ หลังคาลดมุขสามชั้น ยอดปรางค์เป็นสี่เหลี่ยมฐานกว้างเรียงไปถึงส่วนยอด
เดิมเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด มีฐานบัวแกะสลักลายงดงาม หน้าตักกว้าง
๕๐ เซนติเมตร และพระพุทธบาทจำลอง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕
เจดีย์ก่ออิฐถือปูน
รูปสี่เหลี่ยมบนฐานสิงห์ ย่อมุมไม้สิบสอง ตรงกลางของแต่ละมุมมีรูปครุฑขี่นาคทำด้วยปูนปั้น
องค์ระฆังยาวมาก ยอดเจดีย์ชำรุด ยังมีเจดีย์อีกองค์หนึ่งซึ่งชำรุดหักพังไปแล้ว
ทางวัดได้เก็บวัตถุโบราณบางส่วนที่พบบริเวณเจดีย์เอาไว้ได้แก่ กระปุกเคลือบ
ตะกรุด พระพุทธรูปทองคำ และเมื่อคราวรื้ออุโบสถหลังเก่าได้พบศิลาแลงเป็นรากฐานและพบเงินพดด้วงเป็นจำนวนมาก
วัดสารนาถธรรมาราม
อยู่ในเขตอำเภอแกลง เป็นวัดที่มีอุโบสถสวยงามที่สุดในหัวเมืองชายทะเลตะวันออก
ส่วนที่เด่นที่สุดของวัดคือ อุโบสถ ซึ่งมีขนาดใหญ่ กว้าง ๓๒ เมตร ยาว ๔๔ เมตร
สูงนับถึงยอดพระบรมธาตุเจดีย์ ๓๖ เมตร เป็นอุโบสถทรงจตุรมุข หลังคาลดสี่ชั้น
ประดับช่อฟ้าใบระกา ตามศิลปไทยเดิม
หน้าบันจำหลักเป็นภาพพุทธประวัติจากสังเวชนียสถานสี่คือ
ด้านทิศเหนือเป็นภาพตอนประสูติ
ด้านทิศตะวันออกเป็นภาพตอนตรัสรู้ ด้านทิศใต้เป็นภาพตอนแสดงปฐมเทศนา
ด้านทิศตะวันตกเป็นภาพตอนเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ตรงกลางหลังคาสร้างเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ขนาดย่อม ฐานกว้างประมาณ ๗ เมตร สูงประมาณ
๖ เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทโธคลัง พระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งของเมืองระยอง
ใต้พื้นอุโบสถสร้างเป็นห้องใต้ดิน สำหรับจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของพระพุทธศาสนา
มุมกำแพงแก้วทั้งสี่มุม สร้างพระเจดีย์จำลองจากพระมหาธาตุเจดีย์ที่สำคัญมาประดิษฐานไว้คือ
มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพระธาตุพนม มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นพระปฐมเจดีย์
มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นพระบรมธาตุไชยา และมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นพระสถูปพุทธคยา
สำหรับพระสถูปพุทธคยาจำลองนั้น สร้างได้ถูกสัดส่วนงดงามคล้ายองค์จริงมาก ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือจากสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย
สร้างเสร็จเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๕
กำแพงแก้วรายล้อมอุโบสถ มีเจดีย์เล็กทรงระฆังแบบลังกาเป็นเจดีย์บริวารรายรอบ
๓๘ องค์เท่ากับจำนวนมงคลในพระพุทธศาสนา
วัดหนองหว้า
อยู่ในเขตอำเภอแกลง มีอุโบสถที่มีลักษณะแปลกกว่าอุโบสถหลังอื่น ๆ คือ ลักษณะทั่วไปเป็นอาคารทรงไทย
มีชานเดินโดยรอบอุโบสถ ตั้งอยู่กลางน้ำสระน้ำธรรมชาติ จึงไม่มีการฝังลูกนิมิตรเรียกว่า
อุทกเขปสีมา
วัดป่าประดู่
อยู่ในเขตตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง มีปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ
พระป่าเลไลยก์วัดป่าประดู่
เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่มากับวัดป่าประดู่ เป็นพระพุทธรูปป่างป่าเลไลยก์
แบบพุทธศิลป์สมัยทวารวดี มีความสูงจากพระบาทถึงพระเกตุมาลาได้ ๖ เมตร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง
ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ ลักษณะของพระพุทธรูป น่าจะเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนต้น
(อู่ทองยุคที่ ๒) พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในอุโบสถหลังเดิม
เป็นที่มาของชื่อวัดแต่เดิมว่า วัดป่าเลไลยก์
เนื่องจากอุโบสถเก่าชำรุดทรุดโทรม และคับแคบมาก จึงได้สร้างอุโบสถขึ้นใหม่
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ อุโบสถหลังเดิมจึงกลายเป็นวิหารไป อุโบสถหลังเดิมนี้ มีวิหารทิศขนาดเล็กรายรอบทั้งสี่ทิศ
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธไสยาสน์
เรียกกันทั่วไปว่า พระนอนวัดป่าประดู่
เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ ๖ วา สูงถึงยอดพระรัศมี ๓.๖๐
เมตร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่ของวัด
เมื่อพิจารณาดูพุทธลักษณะแล้วเฉพาะ ในส่วนพระพักตร์ และสังฆาฎิ น่าจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น
(อู่ทองยุคที่ ๓)
พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ ไสยาสน์ในลักษณะตะแคงซ้ายเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองระยองมาแต่โบราณ
เป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองระยองมาช้านาน
รอยพระพุทธบาทจำลองวัดป่าประดู่
เป็นรอยพระพุทธบาทที่เก่าแก่ แกะสลักจากไม้ ขนาดกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร
ยาวประมาณ ๑๕๐ เซนติเมตร กล่าวกันว่าเดิมอยู่ที่วัดเก๋ง ต่อมาเมื่อวัดเก๋งกลายเป็นวัดร้างจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ผนังพระวิหารพระป่าเลไลยก์
วัดป่าประดู่
รอยพระพุทธบาท เป็นพระพุทธบาทซ้อนกันสี่รอยซึ่งเป็นที่หาได้ยาก รอยพระพุทธบาทสี่รอย สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์
ที่ได้เสด็จมาโปรดมนุษย์โลกในภัทรกัปนี้ แล้วได้ประทานรอยพระพุทธบาทเหยียบซ้อนกันไว้ตามลำดับคือ
พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ และพระสมณโคดม
พระเจดีย์กลางน้ำ
อยู่ในเขตตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง ฯ เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดย่อม สูงประมาณ ๑๐
เมตร ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำระยอง ท่ามกลางป่าชายเลน มีน้ำล้อมรอบ พื้นที่ประมาณ
๕๒ ไร่ มีสะพานไม้ลูกระนาดข้ามไปสู่พระเจดีย์
พระเจดีย์องค์นี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ ในสมัยพระยาศรีสมุทรโภคชัยชิตสงคราม
(เกตุ ยมจินดา) เป็นเจ้าเมืองระยอง สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ชาวเรือ
หรือผู้โดยสารเรือที่เดินทางผ่านเข้าไปถึงบริเวณนั้นได้ทราบว่า
เข้ามาถึงเมืองระยองแล้ว สันนิษฐานว่า สร้างเจริญรอยตามแบบพระสมุทรเจดีย์
หรือพระเจดีย์กลางน้ำเมืองสมุทรปราการ
พระเจดีย์กลางน้ำองค์นี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดระยอง เป็นส่งที่ชาวระยองเคารพสักการะมาก
ประมาณกลางเดือนสิบสองของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก จะมีงานประเพณีทอดกฐิน
งานห่มผ้าเจดีย์กลางน้ำ นอกจากนั้นมีงานลอยกระทง และแข่งเรือยาวด้วยเป็นที่สนุกสนาน
ประเพณีห่มผ้าเจดีย์นั้น ผ้าที่นำมาห่มจะต้องเป็นผ้าสีแดง มีความยาว ๖ เมตร
ใช้คนสองคนปีนขึ้นไปห่มส่วนบนของพระเจดีย์ บริเวณรอบ ๆ องค์เจดีย์มีการปลูกป่าสนเป็นที่ร่มรื่นสวยงาม
เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองในเวลาว่าง
พระเจดีย์วัดเก๋ง
วัดเก๋งหรือวัดจันทอุดมในอดีตเคยเป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดระยอง ปัจจุบันร้างไปแล้วคงเหลือแต่ชื่อและเจดีย์เก่าแก่อีกองค์หนึ่ง
ที่ดินเดิมของวัดเก๋งอยู่ในความครอบครองของวัดป่าประดู่
ปัจจุบันได้อนุญาตให้กระทรวงสาธารณสุขใช้เป็นที่สร้างโรงพยาบาลระยอง ดังนั้นองค์เจดีย์จึงอยู่ภายในบริเวณโรงพยาบาลระยอง
ทางโรงพยาบาลเป็นผู้ดูแลรักษา อาณาเขตขององค์เจดีย์มีรั้วกั้นโดยรอบ
เจดีย์องค์นี้สร้างในสมัยพระยาศรีสมุทรโภคชัยโชคชิตสงคราม ซึ่งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดระยอง
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ องค์เจดีย์มีลักษณะทรงระฆัง
ฐานเชิงบาตรและบัวมาลัยได้สัดส่วน ก้านฉัตรประกอบด้วยเสาลูกมะหวด โดยส่วนต่าง
ๆ ของเจดีย์มีครบแบบ รูปลักษณ์ของเจดีย์มาตรฐานทั่วไป นับจากฐานเขียงขึ้นไปจนถึงยอดเจดีย์
ได้สัดส่วนกันอย่างเหมาะเจาะ แม้จะเสริมฐานเขียงให้สูงขึ้นไปก็ตาม นับได้ว่าเจดีย์วัดเก๋ง
เป็นเจดีย์ที่สวยงามองค์หนึ่ง แม้ปลียอดและหยาดน้ำค้างจะหักหายไปก็ตาม เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นรุ่นเดียวกับเจดีย์กลางน้ำระยอง
วัดเก๋งเดิมเคยใช้เป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีต่าง ๆ ของทางราชการ เช่น พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการ
ปัจจุบันเจดีย์วัดเก๋ง คงเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญ คู่บ้านคู่เมืองระยอง ซึ่งชาวระยองให้ความสำคัญ
และเป็นที่สักการะบูชา
พระพุทธอังคีรส
เป็นพระพุทธรูปประจำเมืองระยอง โดยจำลองแบบพระพุทธสิหิงค์ซึ่งประดิษฐาน ณ
พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ทิพยอาสน์ ขนาดเท่าองค์จริงแต่สร้างด้วยเนื้อเงินบริสุทธิ์
หน้าตักกว้าง ๖๕ เซนติเมตร หนึ่งองค์กับสร้างด้วยทองสำริดขนาดเล็กกว่าองค์จริงขนาดหน้าตักกว้าง
๔๘ เซนติเมตร อีกองค์หนึ่ง ทางจังหวัดได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต
แล้วได้จัดให้มีพิธีหล่อพระพุทธรูปขึ้นที่สวนศรีเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ แล้วนำไปตกแต่งที่กรมศิลปากร
ได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปเข้าสู่เมืองระยอง ซึ่งได้จัดพิธีรับเสด็จอย่างมโหฬาร
มีการจัดซุ้มต้อนรับขบวนแห่ของอำเภอต่าง ๆ แล้วนำไปประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดป่าประดู่
เพื่อทำพิธีพุทธาภิเษกหลังจากนั้นได้อัญเชิญไปประทับ ณ พลับพลาภายในบริเวณสวนศรีเมือง
เพื่อสมโภช และให้ประชาชนนมัสการ
ต่อมาคณะกรรมการโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง (นายดำรง สุนทรศารทูล) ได้กราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเพื่อให้ทรงขนานพระนามให้เพื่อเป็นสิริมงคล
ซึ่งพระองค์ได้ทรงถวายพระนามว่า พระพุทธอังคีรสธรรมราชา
สิหิงคปฎิมาบรมโลกนาถ ระยองประชาราษฎร บรมบพิตร
|